ความเห็นของ Stiglitz

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 มีนาคม 2556 

          ศาสตราจารย์ Joseph Stigitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลผู้มีชื่อเสียงได้มาพูดที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เรื่องทางโน้มเศรษฐกิจของโลก และจะเข้าร่วมงานสัมมนาซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ / World Bank / Australian National University / Aus AID และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เกี่ยวกับระบบการให้ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา / การศึกษาและผลตอบแทนจากตลาดแรงงาน และ ASEAN กับอุดมศึกษา

          ผมขอนำสิ่งที่ Stiglitz พูดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเล่าสู่กันฟัง

          Stiglitz ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคธรรมดา ๆ หากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ “อื้อฉาว” ที่เรียกว่า “อื้อฉาว” เพราะเห็นไม่ตรงกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในการควบคุมกำกับธุรกิจ ระบบการเมืองสหรัฐอเมริกา การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ EU และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

          อาจารย์ Stiglitz อายุ 70 ปี เคยสอนหนังสืออยู่หลายแห่ง ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Columbia เคยเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Clinton มีผลงานวิชาการมากมาย เคยเป็น Chief Economist ที่ World Bank ก่อนรับรางวัลโนเบิล

          Stiglitz พูดหลายเรื่องหลายประเด็น ในพื้นที่จำกัดของคอลัมน์นี้ ขอยกมา 5 เรื่องดังนี้ (1) เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและ EU จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นทศวรรษนี้ (รอไปอีกอย่างน้อย 7 ปี) ความรู้สึกที่เขามีต่อเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไปอยู่ในด้านลบ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้นเขาเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคสมัยของประธานาธิบดีบุชนั้นผิดฉกรรจ์ โดยเฉพาะในเรื่อง “รัดเข็มขัด” (austerity) Stiglitz เชื่อว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหนักกว่าเดิมด้วยนโยบายการคลัง (งบประมาณขาดดุล) มิใช่นโยบายการเงินด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มดังที่เป็นอยู่

          (2) การเมืองในสหรัฐนั้นปัจจุบันอยู่ในสถานะที่ขบกันแบบแก้ไม่ออก (ฟังดูคุ้น ๆ) กล่าวคือแต่ละพรรคต่างไม่ยอมกันจนทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ พยายามที่จะโทษกัน พรรครีพับลิกันคุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคเดโมแครตคุมวุฒิสภา การแก้ไขเกิดได้ทางเดียวคือต้องรอเลือกตั้งปี 2014

          (3) ความเชื่อที่มาจาก Adam Smith ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์เมื่อกว่า 200 ปีมาแล้วที่ว่าหากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีแล้วจะมีมือที่มองไม่เห็น เป็นพลังผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนจะมีความกินดีอยู่ดีขึ้น Stiglitz เชื่อว่าในโลกความเป็นจริงนั้นมันมีกฎหมายตลอดจนกฎเกณฑ์และประเพณีตลอดจนคนจ้องจะรวมหัวกันโกง (ผมเติมเอง) เป็นอุปสรรคอยู่มากมายจนทำให้กลไกตลาดไม่มีประสิทธิภาพ และถึงหากตลาดจะทำงานได้จริง ก็ต้องใช้เวลานานมาก

          ความเชื่ออย่างนี้จึงนำไปสู่การต้องมีกฎเกณฑ์ควบคุมภาคการเงินอย่างรัดกุมไม่ให้หละหลวมจนเกิดการสมคบกันหาประโยชน์จากวิกฤตการเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2008

          (4) Stiglitz เชื่อว่าการมีเงินสกุลเดียวกันของ EU คือสาเหตุที่ทำให้วิกฤตหนักขึ้น พลังอำนาจในการแก้ไขปัญหาของประเทศอยู่ที่การสามารถพิมพ์ธนบัตรของตัวเองได้ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่ปั้มเงินออกมาเป็นว่าเล่น (ส่วนค่าของเงินในที่สุดจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง) EU ฆ่า ตัวตายด้วยการเอาอำนาจนี้มารวมไว้ที่ส่วนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของรายประเทศ

          Stiglitz ไม่เห็นด้วยกับการมีเงินสกุลเดียวกันของ ASEAN หรือของภูมิภาคนี้เพราะ บทเรียนก็มีให้เห็นอยู่ชัดเจนแล้ว

          (5) ในเกือบทุกกรณี นักเศรษฐศาสตร์รู้ว่าหนทางแก้ไขปัญหานั้นคืออะไร ควรใช้เครื่องมือใด แต่ปัญหาของการแก้ไขเศรษฐกิจคือมีการเมืองเข้ามาผสมอยู่ด้วยโดยธรรมชาติ ดังนั้นนักการเมืองต้องรู้วิธีว่าจะเอาข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ไปใช้อย่างไรให้เกิดผล นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเดียวแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

          ผมแอบถาม Professor Stiglitz เป็นการส่วนตัวว่าภาพยนตร์สารคดีดังเรื่อง “Inside Job” ที่เล่าเรื่องการสมคบกัน “โกง” ประชาชนโดยกลุ่มธุรกิจการเงิน Wall Street นั้นมีความจริงอยู่เพียงไร ท่านตอบว่าไอ้ที่เล่ามานั้นน่ะมันเป็นเพียงส่วนเดียวของความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง ท่านพูดทิ้งไว้แค่นี้ให้สรุปเอาเอง

          จะหานักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบิลที่กล้าพูดขนาดนี้คงหาได้ไม่ง่ายนะครับ เพราะแค่ไม่พูดและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เป็นอยู่ก็ได้รับผลประโยชน์มากมายแล้ว