จลาจลอเมริกาให้บทเรียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2
กันยายน 2557

Photo by Alex McCarthy on Unsplash

          จลาจลย่อย ๆ ในเมือง Ferguson ของสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนต้นเดือนสิงหาคมทำให้เกิดหลายประเด็นที่น่าเรียนรู้เพราะสิ่งเดียวกันอาจเกิดกับบ้านเราได้ในอนาคต

          เมือง Ferguson ตั้งอยู่ชานเมือง St Louis ของรัฐ Missouri ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Midwest มีประชากร 21,000 คน อันประกอบด้วยคน African-Americans (ดั้งเดิมเรียก Negros เปลี่ยนมาเป็น Blacks และเปลี่ยนมาเป็นชื่อนี้) ร้อยละ 67

          ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเยาวชนผิวดำอายุ 18 ปี แต่ตัวสูงใหญ่ถึง 6 ฟุต 4 นิ้ว ถูกตำรวจยิง ตายคาที่โดยนัดหนึ่งเข้าศีรษะในเวลากลางวันแสก ๆ ขณะเดินกับเพื่อนคนหนึ่งอยู่บนถนน รถตำรวจซึ่งมีตำรวจผิวขาวขับผ่านมาก็สั่งให้ขึ้นไปเดินบนถนน แต่ขัดแย้งกัน ตำรวจอ้างว่าถูกทำร้ายก่อนจนบาดเจ็บ แต่เพื่อนของ Michael Brown ผู้ตายให้การว่าตำรวจโดดเข้าจับตัว กอดรัดกันและเกิดการยิงขึ้นโดย Brown ไม่มีอาวุธ

          หลังเหตุการณ์ตำรวจก็ยังไม่ยอมเปิดเผยชื่อตำรวจผู้ยิง การให้ข่าวก็ติดขัดจนเกิดม๊อบคนผิวดำมาประท้วงหน้าสถานีตำรวจ เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตมีการปล้นร้าน ทุบกระจก ความคุกรุ่นมีตั้งแต่ 9 สิงหาคมซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ จนถึงคืนวันที่ 19 สิงหาคม ก็มีคนผิวดำมาประท้วงจำนวนมาก ตำรวจก็ใช้แก๊สน้ำตาและเตรียมสรรพอาวุธมาเต็มพิกัด (คล้ายบ้านเราเมื่อ 4-5 เดือนก่อน) เมื่อมีคนขว้างปาขวดและเข้าของใส่ตำรวจ การจลาจลก็เกิดขึ้นจนวุ่นวายไปหมด จนเกรงว่าจะลามไปถึงเมื่องอื่น ๆ ด้วย

          ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไร ฝ่ายสนับสนุนผู้ตายบอกว่าถูกยิงขณะยกมือยอมแพ้และตะโกนบอกให้หยุดยิงแล้ว (ผู้ประท้วงเอามาใช้เป็นท่าของการต่อต้าน) ฝ่ายตำรวจบอกว่าผู้ตายเพิ่งไปปล้นร้านชำมาเมื่อสิบนาทีก่อนหน้าและมีเทปแสดงให้ดูด้วย แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเยาวชนอายุ 18 ปีตายไปแล้วโดยถูกยิงขณะมือเปล่า

          คำถามก็คืออะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดจลาจลขึ้นจากกรณี ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ถ้าเราหาคำตอบได้บ้างก็อาจนำมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับสังคมอื่น

          สาเหตุแรก มาจากปัญหาเรื่องสีผิวซึ่งยังคุกรุ่นอยู่ใต้ผิวน้ำ การที่ Obama ชายผิวสีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีมิได้หมายความว่าปัญหาสีผิวหมดไปแล้วเชื่อกันว่ามีคนอเมริกันจำนวนล้าน ๆ คนที่ไม่ยอมรับประธานาธิบดี Obama เพราะรับไม่ได้กับการที่คนผิวดำซึ่งเคยเป็นทาสจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี (ถึงแม้ประธานาธิบดี Obama สืบเชื้อสายจากนักศึกษาชาว Kenya ที่ไปเรียนหนังสือต่อในสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้มาจากการเป็นทาสก็ตาม) สำหรับคนเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนอยู่พอควรทาง รัฐตอนใต้ยังคงรังเกียจสีผิวอยู่ถึงแม้ Voting Rights Act ที่ทำให้คนทุกผิวสีเท่าเทียมกันจะออกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้วก็ตาม ความเชื่อที่ว่า “ทาสเมื่อ 400 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ฐานะก็ควรคงไว้เช่นนั้น” (การค้าทาสคนผิวดำมีมาตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนในบริเวณนั้นก่อนที่จะมีประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 238 ปีก่อนด้วยซ้ำ) ก็ยังคงมีอยู่

          ความไม่ชอบกันอยู่แล้วประทุเป็นเรื่องขึ้นเพราะเมือง Ferguson มีตำรวจ 53 คน เป็นคนขาว 50 คน ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ในปี 1990 ของเมืองนี้ที่เคยมีคนขาวอยู่ถึงร้อยละ 75 แต่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีอยู่เพียงร้อยละ 30

          ถ้าดูสถิติของการเกิดอาชญากรรมก็พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนผิวขาวส่วนหนึ่งจึงรังเกียจ คนผิวดำ ถึงแม้คนผิวดำจะมีจำนวนเพียงร้อยละ 13 ของประชากร 300 ล้านคนทั้งประเทศ แต่ครึ่งหนึ่งของคดีฆาตกรรมทั้งหมดคนผิวดำเป็นคนก่อเหตุ และร้อยละ 90 ของคนผิวดำที่เสียชีวิตจากฆาตกรรมเป็นฝีมือของคนผิวดำด้วยกันเอง

          สาเหตุที่สอง คนผิวดำไม่ไว้ใจตำรวจอย่างแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นในสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือตำรวจมีปัญหาความไม่น่าเชื่อถือในสายตาของคนผิวดำ สิ่งที่ทำให้ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็อาจมาจากการที่ตำรวจไม่ “เคารพ” คนผิวดำอันเห็นได้จากการมักถูกตรวจค้นการมีสิ่งผิดกฎหมาย การจับกุมคุมขังอย่างรุนแรงอย่างขาดความ ‘เคารพ’ และจากการถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษในทุกสถานการณ์ (ถ้าเป็นตำรวจผิวขาวอาจตอบว่าก็สถิติอาชญากรรมมันเป็นอย่างนี้ จะ ‘เคารพ’ ได้อย่างไร ยังไง ๆ ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคนไม่ดี)

          เมื่อไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์จึงรุนแรงขึ้นจากความไม่พอใจของคนผิวดำซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นระดับผู้นำที่เดินทางมาจากเมืองใหญ่ไกล ๆ ในประเทศเพื่อมาร่วมชุมนุมประท้วงด้วย

          สาเหตุที่สาม “ความกลัว” มีบทบาทสำคัญในหลายเรื่อง ตำรวจไม่กล้าให้ข้อมูลเต็มที่เพราะกลัวว่าเรื่องจะลุกลามไปใหญ่โต ฝ่ายผู้ตายและกลุ่มผู้ประท้วงก็กลัวว่าเรื่องจะเงียบหายไปอย่างไม่เป็นธรรมจึงต้องประท้วงกันจริงจัง ตำรวจที่จับกุมก่อนยิงก็กลัวเช่นกันเพราะประเทศนี้มีปืนที่อยู่ในมือประชาชนกว่า 300 ล้านกระบอก หากไม่

          ระมัดระวังก็อาจเสียชีวิตได้อย่างไม่ยากนัก ดังนั้นจึงอาจกระทำการเกินกว่าเหตุได้

          สาเหตุที่สี่ ผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่าการระดมสรรพกำลังและสรรพอาวุธสไตล์ทหารของตำรวจในคืนวันที่ 19 สิงหาคม เพื่อรับมือผู้ชุมนุม เป็นการยั่วยุอย่างสำคัญจนเร้าใจให้เกิดการประท้วงจนกลายเป็นจลาจล

          การที่ตำรวจเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกามีอาวุธและเครื่องมือใช้เช่นเดียวกับทหารก็เนื่อง รัฐบาลกลางมอบให้เพื่อรับมือกับผู้ก่อการร้ายหลังจากเหตุการณ์ 9-11 ปัจจุบัน ‘ดีกรีความเป็นทหาร’ ในงานของตำรวจเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

          ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่บ้านเราควรนำมาพิจารณา ถ้าเราเปลี่ยน ‘คนผิวดำ’ เป็น ‘คนต่างด้าว’ ที่มาจากการเป็นแรงงานต่างชาติที่ทั้งผิดและถูกกฎหมายที่ไม่กลับบ้านและมีลูกหลานอยู่ในบ้านของเรา สถานการณ์ก็อาจไม่ต่างกันมากนัก ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าถ้าคนไทยขาดความเป็นพลเมือง (ไม่ยอมรับและไม่เคารพความแตกต่าง ไม่ใช้เหตุใช้ผล ไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นฯ) ใจไม่เปิดกว้างยังยึดติดอยู่กับประวัติศาสตร์เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว จนไม่อาจรับคนต่างชาติเหล่านี้เข้ามาในสังคมเราอย่างกลมกลืนได้ ดั่งเช่นที่เราเคยทำได้ดีมาโดยตลอด 800 กว่าปี ปัญหาปวดหัวเช่นนี้ก็อาจอยู่ไม่ไกล

          สาเหตุสำคัญที่สุดของความขัดแย้งก็คือความยากจน ถ้าตัวละครในเรื่องนี้ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจ ทุกคนอยู่ดีกินดีอย่างเสมอหน้ากันแล้ว คงไม่มีความไม่ไว้ใจสูงขนาดนี้และคงไม่มีใครอยากเสียเวลามาประท้วงเพราะคงต้องการใช้เวลาไปกับการทำมาหากินหรือหาความสุขกับเงินที่ตนเองหามาได้เป็นแน่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *