ปลอมตัวเป็นชายเพื่อให้ลูกอยู่รอด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 เมษายน 2558

          สังคมที่มีผู้หญิงคนหนึ่งแปลงร่างแต่งกายเป็นชายนานนับสิบ ๆ ปี เพื่อทำงานหาเลี้ยงลูกน่าจะเป็นสังคมที่มีปัญหาเกี่ยวกับโอกาสของสตรี เรื่องราวเช่นนี้เป็นที่สนใจของชาวโลก

          หญิงชาวอียิปต์ชื่อ Sisa Abu Daooh ต้องต่อสู้ชีวิตหนักเมื่อสามีเธอตายและทิ้งลูกสาวหนึ่งคนไว้ให้เลี้ยงดู เธอรู้ดีว่าสำหรับหญิงม่ายมีลูกติดที่อ่านหนังสือไม่ออกในประเทศนี้ โอกาสที่จะมีงานทำ มีเงินทองเลี้ยงลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่โดนรังแกทางเพศนั้นเป็นไปไม่ได้

          เธอปลอมตัวแต่งตัว พูดจา และแสดงอาการกิริยาเป็นชายเป็นเวลายาวนานถึง 43 ปี โดยเริ่มทำตั้งแต่เมื่ออายุ 21 ปี (ปัจจุบันเธออายุ 64 ปี) และกระทำได้สำเร็จ ไม่มีใครจับได้

          เธออยู่ที่เมือง Luxor หากินด้วยการขัดรองเท้า รับจ้างแบกหาม ทำงานก่อสร้าง เรียกได้ว่าสารพัดเพื่อความอยู่รอด ปัจจุบันเธอก็ยังรับจ้างขัดรองเท้าอยู่ที่สถานีรถไฟในเมือง Luxor

          ผู้สื่อข่าวเป็นผู้ไปพบและนำเรื่องราวของเธอมาตีแผ่ให้โลกรู้ คนอียิปต์และชาวโลกต่างชื่นชมการทำงานหนักของเธอ เธอดังจนประธานาธิบดีอียิปต์ต้องมอบรางวัล ‘Woman Breadwinner’ ให้เธอเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2015 ประธานาธิบดีบอกว่าเธอเป็น “ผู้หญิงทำงานที่เป็นพิเศษ”

          วันที่รับรางวัลที่ทำเนียบเธอก็แต่งกายเป็นชายไปรับ และบอกว่าเธอเคยชินกับเสื้อผ้าผู้ชายมา 43 ปี จึงไม่อยากเปลี่ยน จะทำงานต่อไปในชุดเดิมเหมือนที่เคยเป็นมา

          เหตุที่เรื่องนี้ดังมากในอียิปต์ก็เนื่องมาจากสังคมนี้มีการละเมิดทางเพศ (sexual harassment) กันอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นคำพูด ท่าทาง กิริยา จับมือถือแขน หรือลวนลาม(แตะอั๋ง) ฯลฯ ในสังคมส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันการกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมาย หากเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานก็มีโทษหนักขนาดไล่ออกกันทีเดียว

          การเกเรกับผู้หญิงเช่นนี้ในอียิปต์เกิดขึ้นมากจนมีผู้หญิงออกมาประท้วงเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อมีความจริงว่าในการชุมนุมประท้วงขับไล่ Mubarak ประธานาธิบดีอียิปต์ที่อยู่มายาวนานใน ค.ศ. 2011 และในการขับไล่ประธานาธิบดี Mubarak ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์ในอีก ปีต่อมา มีแก๊งชายฉกรรจ์ร่วมชาติข่มขืนหญิงอียิปต์ที่ออกมาประท้วงกลาง Tahir Square ซึ่งเป็นสถานที่นิยมสำหรับการนี้ (คล้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของไทย) ไม่ต่ำกว่า 500 คน โดยไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์การเมืองแต่อย่างใด

          ผู้หญิงที่ออกมาประท้วงหลายคนถูกจับไปและถูกบังคับให้ทดสอบ Virginity Test (ตรวจสอบความเป็นสาวบริสุทธิ์) ซึ่งเป็นเรื่องดูแคลนสร้างความอดสู ยิ่งไปกว่านั้นในครอบครัวก็มีความรุนแรง ถูกสามีตบตีหรือข่มขืนโดยสามีหากไม่เต็มใจหลับนอนด้วย และที่น่าตกใจก็คือเด็กผู้หญิงอียิปต์ถูกครอบครัวบังคับให้ทำ FGM (Female Genital Mutilation) โดยมีสถิติว่าในอียิปต์มีหญิงอายุเกิน 15 ปีที่ผ่าน FGM ถึง 48 ล้านคนในประเทศ 88 ล้านคน

          FGM หรือ คือการตัดอวัยวะเพศหญิงบางส่วนหรือทั้งหมด กล่าวคือตัด clitoris หนังหุ้ม clitorir แคมหรือ labia ทั้งใหญ่และเล็ก และในกรณีรุนแรงสุดคือตัดออกทั้งหมดอย่างหมดจดจนเหลือแต่ช่องคลอดและช่องปัสสาวะเท่านั้น

          FGM ไม่ใช่เรื่องของศาสนาแต่อย่างใด มันเป็นที่นิยมกระทำในอาฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น เอธิโอเปีย โซมาเลีย ซูดาน เอริเทเรีย มาลี เซียร์ราลีโอน อียิปต์ ฯลฯ ที่น่าตกใจก็คืออียิปต์ซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าก็ยังคงมี FGM อย่างเหนียวแน่น

          ความโหดร้ายของ FGM นั้นมีทั้งตัดสด ใช้ยาชา ใช้ยาสลบ โดยใช้ มีดโกนที่ไม่มีการฆ่าเชื้อโรคโดยหมอพื้นบ้าน บ้างก็ทำกับเด็กหญิงอายุไม่ต่ำกว่าอาทิตย์ บ้างก็ทำตอน 5 ขวบ และบ้างก็ทำตอนเป็นสาว

          สาเหตุของ FGM ก็คือความต้องการไม่ให้ผู้หญิงมีความรู้สึกใด ๆ ทางเพศ โดยเชื่อว่าจะทำให้เป็นภรรยาที่จงรักภักดี อยู่ในโอวาทสามี เป็นลูกสาวที่เลี้ยงง่าย และเป็นเครื่องประกันว่าจะเป็นสาวบริสุทธิ์จนถึงวันแต่งงาน

          พ่อแม่และญาติสนับสนุน FGM โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งดีสำหรับเด็กผู้หญิง (ตัวเองก็เคยโดนมาก่อน คงคล้ายกับแค้นจากการรับน้องใหม่) ปัจจุบันที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติลงมติให้ทุกประเทศหยุดการกระทำอย่างเด็กขาด แต่ก็มีการแอบกระทำกันอย่างลับ ๆ

          ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา อียิปต์จึงเป็นสังคมผู้ชายโดยแท้ ผู้หญิงเปรียบเสมือน “ทาส” ดังนั้น “ทาส” ที่โดดเดี่ยวเพราะสามีตาย และแถมยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีก จึงมีทางเลือกน้อยมาก

          การตัดสินใจของ Sisa จึงถือว่าฉลาดภายใต้เงื่อนไขของสังคมเช่นนี้ อย่างไร ก็ดีการต้องหลอกลวงผู้คนเป็นเวลา 43 ปี ไม่ใช่เรื่องสนุกหรือมีความสุข มหาตมะคานธีบอกว่า “เมื่อกายกับใจขัดแย้งกัน ความสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้” การโกหกหลอกลวงซึ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งดังกล่าวขึ้นจึงไม่น่าทำให้ Sisa มีความสุขใจนักแต่ก็ต้องต่อสู้เพื่อลูก

          Sisa สมควรได้รับความเห็นใจ ความชื่นชม และสังคมอียิปต์ควรใคร่ครวญ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เช่นนี้ว่ามีสาเหตุจากสิ่งใด และเป็นอุทาหรณ์ให้สังคมอื่น ๆ ด้วย

          ถึงเธอไม่มีหนวดไม่มีเครา มีเสียงพูดซึ่งคล้ายผู้ชายมากขึ้นเพราะดัดเสียงจนเป็นนิสัย ก็ไม่ก่อให้เกิดข้อสงสัยเนื่องจากเธอคงจะทำตนเป็นคนแปลกแยกจนไม่สนิทสนมกับใครเพื่อรักษาความลับ

          เธอทำทั้งหมดนี้ได้ตลอด 43 ปี ก็เพื่อการอยู่รอดของลูกสาวคนเดียวของเธอ