เครื่องบินตกอย่างจงใจ

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 เมษายน 2558

          อุบัติเหตุเครื่องบินตกของสายการบินลูกของ Lufthansa เมื่อเร็ว ๆ นี้สร้างความ ตื่นตระหนกแก่ชาวโลก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจงใจของกัปตันผู้ช่วยจนทำให้กว่า 100 ชีวิตสูญไปอย่างน่าสลดใจ

          การเดินทางด้วยเครื่องบินถือว่าปลอดภัยมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพาหนะประเภท อื่น ๆ ทั้งโลกในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกเฉลี่ยประมาณ 800 ราย ทั้ง ๆ ที่มีผู้เดินทาง ทั่วโลกนับพันล้านคน (หากคนเดียวเดินทางหลายครั้งก็นับไปในตัวเลขนี้ด้วย) แค่คนไทยตายจากอุบัติเหตุรถยนต์ใน 20 วัน (ตายวันละประมาณ 40 คน) ก็เท่ากับจำนวนคนตายจากเครื่องบินตกทั้งโลกแล้ว
 

          ตัวเลขแบบนี้ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์พอเพราะระยะทางของการเดินทางของรถและเครื่องบินไม่เท่ากัน ถ้าเดินทางยาวก็ย่อมมีจำนวนสูงเป็นธรรมดาดังนั้นจึงต้องปรับให้เป็นสถิติดังนี้ คือโดยเฉลี่ยทุก 100 ล้านไมล์ของการเดินทางมีจำนวนคนตายจากการโดยสารเครื่องบิน 0.01 คน จากรถโดยสารและรถไฟ 0.05 คน และจากรถยนต์ 0.72 คน
 

          ถ้าพิจารณาในด้านความเป็นไปได้ของการเสียชีวิตจากเครื่องบิน ผู้เดินทางคนหนึ่งในเที่ยวบินหนึ่งมีความเป็นไปได้ในการตายจากเครื่องบินตก 1 ใน 11 ล้าน (ในสหรัฐอเมริกา 1 ใน 23 ล้าน) ในขณะที่ความเสี่ยงจากการถูกปลาฉลามกัดตายคือ 1 ใน 3.7 ล้าน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเสี่ยงน้อยมาก
 

          อย่างไรก็ดีถ้าไปถามผู้โดยสารของเที่ยวบิน 9525 ตอนปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของสายการบิน Germanwings ซึ่งเป็นสายการบินลูกราคาประหยัดของสายการบิน Lufthansa อันเลืองชื่อแล้วคงไม่เห็นด้วย เพราะจู่ ๆ กัปตันผู้ช่วยก็จัดการลดความสูงของเครื่องบินจนชนภูเขาบริเวณเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส
 

          กล่องดำบันทึกเสียงที่เก็บมาได้แสดงให้เห็นว่า Andreas Lubitz กัปตันผู้ช่วยอายุ 27 ปี วางแผนฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า มีเสียงเขาสนับสนุนให้กัปตันไปเข้าห้องน้ำหลังจากที่เครื่องบินไต่ได้เพดานการบินแล้ว ทันทีที่กัปตันออกจากห้องบังคับการบินเขาก็ล็อกประตูทันทีและลดความสูงลงอย่างทันด่วน เทปบันทึกเสียงมีเสียงกัปตันทุบประตูให้เปิด แต่ก็ไม่ยอมเปิดจนสิ้นเสียงพร้อมกับเสียงหวีดร้องของผู้โดยสาร
 

          คำถามก็คือทำไม Lubitz ต้องทำอย่างนั้นด้วย? สายการบินรับคนป่วยสติแตกอย่างนี้เข้ามาทำงานได้อย่างไร ? อาการป่วยของเขาไม่ปรากฏให้ผู้คนเห็นเลยหรือ? ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ชี้ว่าเขาป่วยจากการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอหรือ?
 

          ยิ่งสอบสวนก็ยิ่งมึนงง เพราะระหว่างที่เขาฝึกบินภายใต้การดูแลของสายการบิน Lufthansa เขาหยุดการฝึกไป 9 เดือน เพื่อไปรักษาตัวซึ่งถือว่าผิดปกติและเขาก็กลับมาเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้เป็นกัปตันผู้ช่วย
 

          สายการบินใหญ่ไม่เคยทราบประวัติความจ็บป่วยทางจิตที่ทำให้เขาต้องออกไปพักรักษาตัวเลยหรือ? คำตอบที่พบอาจยิ่งทำให้เกิดคำถามที่น่ากลัวยิ่งขึ้น ขนาดสายการบินชั้นนำของโลกซึ่งมีระบบการควบคุมความปลอดภัยชั้นยอด มีประวัติความปลอดภัยเป็นเยี่ยม ยังมีเครื่องบินตกอย่างจงใจโดยนักบินเพื่อฆ่าตัวตายพร้อมผู้โดยสารเกิดขึ้นได้และนับประสาอะไรกับสายการบินอื่น ๆ ที่มีอยู่นับเป็นพัน ๆ ทั่วโลกในยุคสายการบินประหยัดและนโยบาย “open sky” หรือเปิดท้องฟ้าเสรีไม่มีการผูกขาดให้สายการบินแห่งชาติสายเดียวดังที่เคยเป็นมากันทั่วโลก
 

          หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ระบบการตรวจสอบความเจ็บป่วยของนักบิน สายการบิน ทั่วโลกมีระบบตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข็มข้นแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วก็ถือว่ามีระบบที่ดีมีมาตรฐานแต่ที่หลุดรอดไปได้ในกรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันโยงใยกับประเด็นจิตวิทยาสังคมและกฎหมายของเยอรมันอย่างเป็นพิเศษ
 

          ในประเทศนี้การเก็บความลับระหว่างคนไข้กับหมอถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว การฝ่าฝืนเพียงเล็กน้อยมีโทษทางกฎหมายรุนแรง แพทย์ผู้รักษา Lubitz ไม่ได้รายงานให้นายจ้างทราบเพราะถือว่าการเก็บความลับเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์
 

          เหตุที่คนเยอรมันแตกต่างจากคนในชาติอื่นในเรื่องความเป็นส่วนตัวเช่นนี้ก็เชื่อว่ามาจากประวัติศาสตร์ ในช่วงนาซีรุ่งเรืองของฮิตเลอร์ ความลับส่วนบุคคลแทบไม่มี ความเป็นส่วนตัวก็ไม่มี เป็นใครมาจากไหน มีสายเลือดอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งยิวจะต้องเปิดเผยหมด รัฐสอดส่องหาข่าวด้วยการใช้สายลับ เพื่อน เพื่อนบ้าน ญาติ เช่นเดียวกับยุคเยอรมันตะวันออก (ค.ศ. 1949-1990) ที่รัฐคอมมูนิสต์ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง
 

          เมื่อประวัติศาสตร์พลิกผันกลับ คนเยอรมันจึงอ่อนไหวต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นพิเศษ และภายใต้บริบทเช่นนี้ประวัติความเจ็บป่วยของนักบินจึงไม่ถึงมือนายจ้าง
 

          สาเหตุที่ Lubitz ฆ่าตัวตายก็เชื่อว่าเกี่ยวพันกับจดหมายจากแพทย์หลายคนที่ตรวจอาการของเขาซึ่งพบในอพาร์ทเม้นท์ แพทย์มีความเห็นว่าเขามีความผิดปกติทางจิตและกำลังสูญเสียการมองเห็นในตาข้างหนึ่ง ความหวาดเกรงว่าต้องออกจากงานเพราะความป่วยทำให้เขารู้สึกสิ้นหวัง เขามีความฝันว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นกัปตันของสายการบิน Lufthansa ให้ได้
 

          การเริ่มสูญเสียการมองเห็นในตาข้างหนึ่งเป็นผลพวงจากความเจ็บป่วยที่เรียกว่า Psychosomatic กล่าวคือความซึมเศร้า ความเจ็บป่วยทางจิตมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางกายขึ้น
 

          การระมัดระวังความเป็นส่วนตัวทำให้ไม่มีใครทราบว่าเขาเป็นใครมาจากไหนแม้แต่ในปัจจุบัน เหตุใดจึงป่วยทางจิตตั้งแต่อายุต้น 20 ปี ถึงแม้คนที่รู้จักเขาจะบอกว่าเขาเป็นคนปกติทุกอย่างก็ตามที
 

          คนที่ต้องรับความผิดไปเต็ม ๆ ก็คือสายการบิน Lufthansa เนื่องจากเป็นผู้ให้การฝึกฝน ดูแล สนับสนุนจนเขาได้เป็นนักบิน ทั้งที่สามารถเห็นอาการของเขาได้จากระบบการตรวจสอบตั้งแต่ตอนฝึกหัดเป็นนักบินในช่วงปี ค.ศ. 2009 อีกทั้งยังได้เป็นนักบินของสายการบินนี้มาแล้วถึง 2 ปี คำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือเขาสามารถหลุดรอดระบบการตรวจสอบความเจ็บป่วยของนักบินที่ตั้งไว้อย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยของการบินได้อย่างไร
 

          Murphy’s Law ซึ่งเป็นกฎที่รู้จักกันทั่วโลกบอกว่า “ถ้าสามารถมีอะไรที่จะผิดพลาดได้แล้ว ความผิดพลาดจะเกิดขึ้นเสมอ” ดูจะเป็นจริงในเรื่องนี้ จะทำอย่างไรให้การเป็นไปตาม Murphy’s Law ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้