เรื่องง่าย ๆ ช่วยหัวใจแข็งแรง

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2 มิถุนายน 2558

          โรคหัวใจ มะเร็ง และอุบัติเหตุ คือสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตของคนไทย สำหรับมะเร็งนั้นมีขอบเขตกว้างขวางเพราะแตกต่างหลากหลายในลักษณะของการงอกผิดปกติที่อวัยวะต่าง ๆ ความเข้าใจสาเหตุของโรคจึงยากที่จะสรุปได้ ส่วนอุบัติเหตุนั้นดูเผิน ๆ กว้างกว่าเพราะเสียชีวิตได้หลายรูปแบบ แต่หากพิจารณาดูลึก ๆ จะพบว่าการดื่มแอลกอฮอร์คือสาเหตุหลักของอุบัติเหตุอันเกิดจากการเดินทางซึ่งมีสถิติสูงสุดของประเภทอุบัติเหตุทั้งหมด เพียงแต่โรคหัวใจเท่านั้นที่ตีวงได้แคบลงถึงสาเหตุและการป้องกัน

          นิตยสาร Time ฉบับกลางเดือนพฤษภาคม 2015 ได้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรม ง่าย ๆ ซึ่งจะทำให้มีหัวใจที่แข็งแรง ปลอดจากโรคหัวใจ ซึ่งทั้งหมดมาจากงานศึกษาวิจัยจำนวนมากชิ้นในหลายปีที่ผ่านมาจึงมีความน่าเชื่อถือ

          ความจริงแรกที่สามารถยืนยันได้อย่างหนักแน่นก็คือการรักษาร่างกายให้ฟิตอยู่เสมอเป็นสิ่งที่ดีสำหรับหัวใจ งานวิจัยล่าสุดพบว่าผู้ออกกำลังกายสม่ำเสมอในวัยกลางคนมีโอกาสน้อยที่จะประสบสภาวะหัวใจวาย (heart attack)

          นอกเหนือจากการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารที่ถูกหลักแล้ว นักวิจัยพบว่ายังมีอีกหลายสิ่งซึ่งมนุษย์สามารถกระทำเพื่อป้องกันอวัยวะที่สำคัญที่สุดของตน (เพื่อไม่ให้มีปัญหาเชิงกายภาพ มิได้กินความไปถึงอกหัก) คำแนะนำ 6 ประการมีดังต่อไปนี้

          (1) อย่าดูโทรทัศน์แบบไม่จำกัด งานศึกษาในปี 2011 พบว่าการใช้เวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อวันดูทีวีมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคหัวใจตลอดจนโรคเบาหวาน นักวิจัยพบในปี 2013 อีกด้วยว่าการปิดโทรทัศน์ไม่มีภาพไม่มีเสียงเป็นผลดีต่อร่างกายเพราะแม้เพียงเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้แล้ว

          (2) อย่าอยู่คนเดียว งานวิจัยของ Harvard พบว่าคนที่อยู่คนเดียวมีโอกาสที่จะตายด้วยโรคหัวใจวาย เส้นเลือดสมองอุดตัน (stroke) หรือปัญหาเกี่ยวกับความบกพร่องของหัวใจ อื่น ๆ มากกว่าคนที่อยู่กับครอบครัวหรือเพื่อน
เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าการมีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็งเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพดีและอายุยืน กลุ่มแพทย์ของสมาคมแพทย์หัวใจอเมริกัน (American Heart Association) แนะนำให้คนที่ชอบอยู่คนเดียวให้มีสัตว์เลี้ยงเพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้ (หรือไม่ก็ตายเร็วขึ้นหากเลี้ยงจำนวนมากเกินไป)

          (3) ฟังดนตรี งานวิจัยในปี 2015 พบว่าการฟังดนตรีเพียงวันละ 30 นาที ช่วยลดการแข็งตัวของเส้นหลอดเลือดหัวใจและการมีปัญหาของระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย เนื่องจากทั้งสองมีบทบาทสำคัญยิ่งว่าหัวใจจะทำงานหนักเพียงใดในการปั๊มเลือดผ่านเส้นเลือดต่าง ๆ ที่น่าสนใจก็คือไม่ว่าจะเป็นดนตรีคลาสสิก หรือดนตรีร๊อค (ตราบที่ไม่ใช่ประเภทเมททัล) ก็ให้ผลเหมือนกัน

          (4) บริโภคมันฝรั่งและหัวบีดรู๊ต ทั้งสองมีโปแตสเซียมสูงซึ่งสำคัญสำหรับการควบคุมระดับความดันโลหิต ถั่วลิสงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่งานวิจัยจาก Vanderbilt University และ Shanghai Cancer Institute เห็นตรงกันว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวพัน เช่น หัวใจวาย เส้นโลหิตสมองอุดตัน

          เนยถั่ว (Peanut Butter) อาหารเช้าของคนอเมริกันซึ่งเป็นที่นิยมมายาวนานได้รับการยืนยันในเรื่องประโยชน์อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ คนในโลกที่ไม่แพ้ถั่วคงจะหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นเพราะอุดมด้วยคุณค่าในราคาที่ถูก

          (5) แก้ไขปัญหาการกรน การกรนอยู่เสมอซึ่งในหลายกรณีอาจแสดงว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติในร่างกาย งานศึกษาในปี 2013 ชี้ให้เห็นว่าการกรนอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าเส้นโลหิตใหญ่ซึ่งเป็นเส้นทางนำเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจนไปยังสมองมีปัญหา
การกรนเสียงดังอาจเกี่ยวพันกับ sleep apnea (การหลับไม่สนิท มีการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ จนไม่รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นขึ้น) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงจากสภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจวาย และหลอดหัวใจสมองอุดตัน

          (6) ให้ผ่อนคลาย ใคร ๆ ก็รู้ว่าความเคลียดเป็นสิ่งพึงหลีกเลี่ยง วิธีการผ่อนคลายไม่ว่าจะเป็นโยคะ นั่งสมาธิ ช่วยป้องกันหัวใจได้ดี งานวิจัยล่าสุดพบว่าคนที่ให้ความสนใจแก่ความคิดของตนเอง ตระหนักในความรู้สึกของตนเองมีความเป็นได้กว่าร้อยละ 86 ที่จะมีสุขภาพหัวใจดี

          มีหลักฐานจากงานศึกษาว่าคนที่เซาว์น่าบ่อย ๆ สามารถช่วยให้หัวใจเข้มแข็ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่ามันมีผลคล้ายการออกกำลังกาย กล่าวคือทำให้เหงื่อออกและหัวใจเต้นแรง

          มนุษย์พยายามเข้าใจกลวิธีรักษาสุขภาวะหัวใจมายาวนาน งานศึกษาล่าสุดทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าการกระทำใดที่เป็นผลดีและผลเสีย อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคที่มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพหัวใจ

          เมื่อทราบแล้วสิ่งที่เหลือซึ่งสำคัญกว่าอะไรทั้งหมดก็คือการปฏิบัติ อย่างไรก็ดีหากผู้ใดไร้ซึ่งวินัยแล้ว การปฏิบัติเหล่านี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

          วินัยคือการกระทำสิ่งซึ่งต้องทำ ในช่วงเวลาที่ต้องทำ ไม่ว่าจะมีความรู้มากเพียงใด หากไม่ตระหนักประเด็นนี้แล้ว อย่ารู้เสียเลยจะดีกว่าเพราะจะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียดาย