รถไร้คนขับและจริยธรรม

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 กรกฎาคม 2558

          รถยนต์ขับเคลื่อนเองโดยไม่ต้องมีคนขับเกิดเป็นจริงขึ้นแล้วตามนิยายวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือเยอรมัน ต่างสามารถผลิตรถยนต์ไร้คนขับหลังจากใช้เงินลงทุนกันมหาศาลจนในปัจจุบันมีการทดลองวิ่งบนถนนสาธารณะในขอบเขตจำกัด อย่างไรก็ดีปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกก็คือเรื่องจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของรถเหล่านี้

          Driverless Car (DC) / Autonomous Car / Self-driving Car หรือ Robotic Car คือชื่อเรียกรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองราวกับมีคนขับ รู้ทิศทางที่จะไป ขับหลบหลีกรถคันอื่น หยุดจอดตามสัญญาณไฟจราจร จอดในที่อันควร จอดรับส่งผู้โดยสาร ฯลฯ

          ไอเดียในเรื่องนี้มีมานานแล้ว มีการทดลอง DC ขั้นแรกอย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แต่เริ่มมีการทดลองจริงจังในทศวรรษ 1950 และก็พัฒนามาเป็นลำดับ คันที่เป็น DC อย่างแท้จริงปรากฏตัวในทศวรรษ 1980 ในโครงการ Navlab ของ Carnegie Mellon University ในสหรัฐอเมริกา และจากความร่วมมือระหว่าง Mercedes-Benz กับ Bundeswehr University ก็มีการแสดงรถไร้คนขับในปี 1987

          หลังจากนั้นบริษัทรถยนต์และศูนย์วิจัยอีกแทบนับไม่ถ้วนของรถยนต์ยี่ห้อดังในยุโรปและญี่ปุ่นแข่งขันสร้าง DC ออกมา บริษัท Google ก็โดดเข้าร่วมด้วยโดยมุ่งสร้างซอฟต์แวร์ควบคุม DC โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า DC ของ Google ที่นำออกแสดงในปี 2014 คือ DC ที่ไม่มีทั้งพวงมาลัย คันเบรค และคันเร่ง คาดว่าในปี 2020 จะมี DC ลักษณะนี้ออกสู่ตลาด ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าก่อนปี 2025 จะมี DC ออกมาวิ่งบนถนนกันจริงจังจำนวนมาก

          4 รัฐในสหรัฐอเมริกาคือ Nevada / Florida / California และ Michigan ผ่านกฎหมายอนุญาตให้ DC วิ่งบนถนนสาธารณะได้ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป เช่น เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ เยอรมัน อนุญาตให้ DC ทดลองวิ่งบนถนนสาธารณะได้

          ประโยชน์ของ DC ที่เห็นได้ชัดก็คือการลดลงของอุบัติเหตุ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นหุ่นยนต์จึงกระทำทุกสิ่งได้รวดเร็วตามที่มนุษย์ใส่โปรแกรมสั่งไว้ ไม่มีง่วง ไม่มีอารมณ์ มองเห็นภาพรอบด้านในขณะที่เคลื่อนไหว สามารถตัดสินใจในสภาพแวดล้อมที่มีอันตรายได้รวดเร็วฉับพลันกว่ามนุษย์ นอกจากนี้ถ้ามี DC บนถนนจำนวนมากก็ช่วยลดการจราจรติดขัดลงเพราะ DC เหล่านี้คือคอมพิวเตอร์ที่เคลื่อนไหวได้ มันจะจัดการเรื่องการจราจรกันเองเพื่อหลีกหนีการติดขัด

          มนุษย์สามารถใช้รถยนต์ร่วมกัน (car pool) ได้สะดวกมากขึ้นเนื่องจาก DC วิ่งวนไปตามที่ถูกสั่ง ไม่ต้องกังวลเรื่องหาที่จอดรถ สามารถวนกลับมารับได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ อีกทั้งลดจำนวนตำรวจจราจร ลดจำนวนป้ายจราจร เคลื่อนไหวอย่างนิ่มนวล และการไม่มีพวงมาลัยของบางรุ่นทำให้มีพื้นที่ว่างในรถเพิ่มขึ้น

          ข้อเสียก็มีมากเช่นเดียวกัน ในสภาพที่ DC วิ่งปนกับรถที่ขับโดยมนุษย์บนถนน คนจำนวนมากยังมองไม่เห็นภาพว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร (จะลงจากรถไม่ชกปากก็ทำไม่ได้) ระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ควบคุม DC อาจมีปัญหาจนวิ่งไม่ได้ เกิดรถติดกันมโหฬาร และท้ายสุดอาจเป็นคาร์บอมบ์ที่ดีมากๆ ก็เป็นได้

          แต่ไม่ว่าจะมีผลเสียอยู่มากอย่างไร DC มาแน่นอนในเวลาอันใกล้เพราะประโยชน์ดูจะมีมากกว่าภายใต้โลกซึ่งระบบอิเล็กทรอนิกส์และคมนาคมมีความแน่นอนมากขึ้นทุกที และการแข่งขันระหว่างบริษัทใหญ่ของโลกรวมทั้ง Google ผลักดันให้เกิดความคึกคัก

          ในเรื่องการผลิต DC บริษัททั้งหลายสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้แล้ว แต่มีปัญหาหนึ่งที่ยังไม่มีใครคิดตก เช่น สถานการณ์ที่ DC คันหนึ่งตระหนักว่ามีรถบรรทุกซึ่งวิ่งเร็วกำลังจะชนท้ายซึ่งอาจทำให้ “เจ้านาย” เสียชีวิต โปรแกรมที่ใส่ไว้ใน DC ควรสั่งให้รถวิ่งขึ้นไปบนทางเท้าซึ่งอาจชนคนจำนวนมากตายหรือยอมให้รถชน “เจ้านาย” ตาย พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นประเด็นเรื่องจริยธรรม

          คนสร้างรถต้องการคำตอบนี้เพื่อใส่ไปในซอฟต์แวร์ และตราบที่ไม่สามารถตอบคำถามเชิงปรัชญานี้ได้ก็อาจมีปัญหาด้านกฎหมายและสังคมตามมา การต้องเลือกเช่นนี้ในกรณีที่มนุษย์เป็นผู้ขับ ภาระจากการตัดสินใจเป็นของผู้ขับแต่ละคน การตัดสินใจขึ้นอยู่กับความคิดในเรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์และคุณธรรม อย่างไรก็ดีการต้องใส่คำตอบเดียวกันทั้งหมดไว้ใน DC ทำให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมตามมา เช่น ชีวิตมนุษย์คนใดมีค่ามากกว่ากัน ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว

          ภายใต้ปัญหานี้บริษัทผู้สร้างและวิศวกรยานยนต์กำลังนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Asimov Laws (Asimov เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังก้องโลก มีชีวิตระหว่างปี 1920-1992) ซึ่งกฎแรกเกี่ยวกับหุ่นยนต์กล่าวว่า “เครื่องจักรที่เคลื่อนไหวได้เองต้องไม่ทำร้ายมนุษย์หรือไม่ทำงานจนทำให้มนุษย์เป็นอันตรายได้” นักวิชาการด้านจริยธรรมจำนวนมากมีความเห็นว่าต้องไม่ให้เครื่องจักรตัดสินใจเรื่องการทำให้มนุษย์เป็นอันตรายและถึงแก่ชีวิตเป็นอันขาด เรื่องเช่นนี้มนุษย์ต้องเป็น ผู้ตัดสินใจ มิฉะนั้นในที่สุดแล้วเราจะมีสังคมที่ไร้กฎกติกาเมื่อผู้ตัดสินใจไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

          DC ที่ออกมาวิ่งบนถนนถือได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าในระดับสูงมากเนื่องจากมันสามารถวิ่งหลบหลีกสิ่งกีดขวางด้วยความเร็วสูงและมีความสามารถในการขับขี่ที่ไว้ใจได้มากกว่ามนุษย์เนื่องจากไม่มีเจ็บป่วย ไม่มีง่วง (หุ่นยนต์ที่ดื่มเหล้าก่อนขับน่าจะหาได้ยากมาก) แต่เนื่องจากไม่มีหัวใจจึงไม่มีข้อยกเว้น ทุกอย่างจึงกระทำไปตาม

          “ใบสั่ง” หรือสิ่งที่ใส่ไว้ในซอฟต์แวร์ อย่างไรก็ดี คนนั่งเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ การผสมผสานระหว่างประสิทธิภาพกับความเป็นมนุษย์จึงเป็นประเด็นสำคัญของการเดินทางด้วย DC

          ขณะที่ DC วิ่งวนหลังจากส่ง “เจ้านาย” แล้ว เป้าหมายก็คือการกลับไปรับอีกครั้งตามเวลาที่กำหนดไว้โดยไม่สนใจว่ากำลังกีดขวางรถที่ขับโดยผู้ป่วยหนักสูงอายุที่กำลังรีบไปโรงพยาบาล สำหรับ DC แล้วรถทุกคันมีความหมายเท่ากันนอกเสียจากว่าจะมีโปรแกรมสั่งไว้

          การยกเว้นบางสิ่งเพื่อบางอย่างที่สำคัญกว่าเป็นเรื่องที่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นจึงจะสามารถคิดได้ และการสามารถคิดตัดสินใจเช่นนี้ได้คือข้อแตกต่างที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าหุ่นยนต์ และถ้าจะให้มนุษย์ตนนั้นเหนือกว่าคนอื่นได้อย่างแท้จริงแล้วก็ต้องอยู่เหนือตนเองให้ได้เสียก่อน