ความไม่รู้เกี่ยวกับอาเซียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 กันยายน  2558

          ใครไม่รู้จักคำว่า “อาเซียน” คงหาได้ยากในแผ่นดินไทย คนทั่วไปรู้เรื่องอาเซียนดี แต่ส่วนหนึ่งของความรู้นั้นอาจผิดก็เป็นได้ ลองมาดูกันว่าเราไม่รู้เรื่องอาเซียนกันมากน้อยแค่ไหน

          เรื่องแรก ASEAN ต้องออกเสียงว่า “อา-เซี่ยน” มิใช่ “อาเชี่ยน” หรือ “เอ-เซี่ยน” หรือ “เอ-เชี่ยน” เนื่องจากเป็นอักษรย่อชนิดที่เรียกว่า Acronym (เอาตัวแรกของคำมารวมกัน) ซึ่งมาจาก “Association of Southeast Asian Nations”

          สอง สมาชิก ASEAN น่าจะเป็นญาติกับศรีธนญชัย หรือเซียงเมี่ยงของลาว กล่าวคือเมื่อ ASEAN ร่วมกันประกาศว่าจะเป็นประชาคมอาเซียน (AC___ASEAN Community) ในปี 2015 ด้วยสามัญสำนึกผู้คนก็ต้องคิดว่าวันที่ 1 มกราคม 2015 คือการเป็น AC แต่เมื่อวันนั้นใกล้มาแต่สมาชิกทั้งหมดยังไม่พร้อมก็เลยประกาศว่าจะเป็น AC ในวันที่ 31 ธันวาคม 2015 (ไม่ได้บอกว่าจะเป็นเวลา 23:59 น.)

          สาม วันที่ 31 ธันวาคม 2015 เราจะเป็น AC นะครับ ไม่ใช่ AEC หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ซึ่งเคยเป็นแนวคิดดั้งเดิมว่ากลุ่มนี้จะเป็นเพียงการรวมตัวด้านเศรษฐกิจเท่านั้น จึงใช้คำว่าจะเป็น AEC (AFTA หรือ ASEAN Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของ AEC)

          ในปัจจุบันขอย้ำว่าเราจะเป็น AC หรือประชาคมอาเซียนกันไม่ใช่ AEC ดังที่ได้ยินคนพูดกันอยู่บ่อย ๆ ในสื่อ

          AC นั้นครอบคลุมหลายด้านตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขอยกตัวอย่างของความกว้างขวางของ AC เช่น มีความร่วมมือกันในด้านปราบปรามการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด ภัยพิบัติ การก่อการร้ายข้ามชาติ ฯลฯ

          สี่ ที่จริงเราก็เป็น AC กันมานานหลายปีแล้ว ดังเช่นเรื่อง (ก) เรามีแรงงานข้ามชาติจาก ASEAN ไม่ว่าลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ในประเทศกว่า 5 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพวกเรา (บ้านผมและบ้านใคร ๆ ก็ ASEAN ทั้งนั้นแหละ) ในประเทศ ASEAN อื่น ๆ ก็มีแรงงานทำงานข้ามกันไปมา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และทุกประเทศ

          (ข) อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าที่ค้าขายระหว่างประเทศ ASEAN เป็นศูนย์กว่าร้อยละ 90 ของจำนวนสินค้าทั้งหมดมานานกว่า 2 ปีแล้ว

          (ค) 9 ประเทศสมาชิกสามารถเดินทางถึงกันได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้า ยกเว้นพม่า (ซึ่งล่าสุดก็อนุญาตตามเพื่อน ASEAN ทั้งหมดแล้ว แต่ยังอาจขลุกขลักอยู่บ้าง) ยิ่งถ้าเป็นการเดินทางเข้าประเทศด้วยเครื่องบินโดยใช้พาสปอร์ตแล้วจะสะดวกมาก หากเข้าประเทศผ่านด่านด้วยรถไฟ หรือรถยนต์อาจไม่สะดวกเท่า แต่วีซ่าไม่เป็นสิ่งจำเป็นอีกต่อไปแล้วสำหรับพลเมือง ASEAN ด้วยกัน (หากประเทศใดไม่เห็นควรให้บุคคลบางคนเดินทางเข้าประเทศก็ปฏิเสธได้เสมอ)

          ห้า การเดินทางด้วยรถยนต์ผ่าน CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) ซึ่งเป็นประเทศ ASEAN บนแผ่นดิน (สามประเทศซึ่งไม่ใช่ก็คืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) นั้นสามารถทำได้อย่างสะดวกพอควร เนื่องจากมีถนนถึงกันหมดระหว่าง CLMV กับไทย และต่อผ่านไทยไปมาเลเซีย และสิงคโปร์ ข้อเสียก็คือยังต้องมีการเปลี่ยนรถมาใช้รถท้องถิ่นเมื่อข้ามประเทศในหลายกรณี

          ยิ่งไปกว่านั้นถนนไปถึงจีนจากภูมิภาคนี้ก็มีมาหลายปีแล้ว และมีแผนการสร้างถนนอีกหลายเส้น ตัดข้ามไปมาจากใต้ไปเหนือ ออกไปตก และเฉียงไปมาระหว่างทิศ

          อีกไม่นานกลุ่มประเทศเหล่านี้จะสามารถเดินทางไปอินเดียผ่านพม่าได้สะดวกซึ่งในอนาคตการเชื่อมต่อระหว่างจีนและอินเดียด้วยถนนนั้นจะเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่วนทางรถไฟนั้นมีทางเชื่อมจากจีนไปยุโรปอยู่แล้ว

          หก ถึงจะป็น AC ในปลายปีนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทันทีเหมือนเศกคาถา แรงงานจะข้ามไปทำงานกันอย่างคล่องตัว ข้ามไปเปิดธุรกิจกันในแต่ละประเทศโดยไม่มีปัญหา การค้าขายจะราบรื่นคล่องตัว นี่คือความฝันที่ไม่เป็นจริง

          ทุกสิ่งจะค่อย ๆ เกิดทีละน้อย เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ คนที่ปรับตัวได้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลากหลายมิติจะเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด

          เจ็ด ปัจจุบัน AC ดูจะด้อยความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจไปสำหรับกลุ่ม CLMV และไทย เนื่องจากการค้าขายกันในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV + ไทย + จีน) ด้วยกันเองดูจะสดใสและสะดวกในการเดินทางมากกว่า ขนาดประชากรก็ใหญ่และเริ่มมีเงินทองพอที่จะกลายเป็นตลาดใหญ่ได้ในเวลาอันใกล้

          แปด AC ต่างจาก EU ซึ่งเป็นการรวมตัวอีกลักษณะหนึ่งที่มีการใช้กฎหมายร่วมกันบางฉบับ มีการใช้เงินสกุลเดียวกันในบางส่วนของ EU มีข้อบังคับร่วมกันในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ฯลฯ สำหรับ AC นั้น แต่ละประเทศใช้กฎหมายของตนเอง ถึงแม้จะมีกฎบัตร ASEAN แต่ก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะบังคับให้รัฐบาลหรือประชาชนใน AC ปฏิบัติตามอย่างมีบทลงโทษ ทุกสิ่งอยู่บนความร่วมมือกันในทางบวก

          AC นั้นเป็นก้าวสำคัญของอนาคตไทยและเพื่อนบ้านทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ทั้งหมดนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นถนนสองทาง กล่าวคือต้องมีทั้ง give (สูญเสียประโยชน์บางอย่าง) และ take (ได้ประโยชน์บางสิ่ง) ถ้าสมาชิกคิดแต่จะได้อย่างเดียวแล้ว คงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นแน่

          การยอมรับความเป็นจริงเช่นนี้ใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ที่ต้องการความยั่งยืนมิใช่หรือ