ฆาตกรรมเมืองใหญ่ในสหรัฐพุ่ง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 กันยายน  2558

          บางสิ่งมันอยู่ของมันดี ๆ แล้วก็เกิดระเบิดหรือพุ่งปรี๊ดขึ้นมาอย่างหาสาเหตุไม่ได้ เรื่องฆ่ากันตายในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในสิ่งเหล่านี้อย่างน่าแปลกใจ

          เป็นที่ทราบกันดีว่าอาชญากรรมและความรุนแรงในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาลดลงไปมากในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน นักวิชาการหลายคนพยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยพอสรุปสาเหตุได้ดังนี้ (ก) ชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะคนผิวดำโดยทั่วไปมีสัดส่วนในจำนวนผู้ก่ออาชญากรรมและความรุนแรงสูงกว่าคนขาวและคนอเมริกาใต้ (เม็กซิกันเป็นส่วนใหญ่) มายาวนาน เมื่ออัตราการเกิดของเด็กจากแม่วัยใสผิวดำลดต่ำลงมาก เด็กที่มีความเป็นไปได้สูงในการสร้างปัญหาเมื่อโตขึ้นจึงมีจำนวนลดน้อยลง จำนวนอาชญากรรมโดยเฉพาะฆาตกรรมจึงลดลงตามไปด้วย

          (ข) เทคโนโลยีสมัยใหม่ในเรื่องกล้อง CCTV / GPS ของรถยนต์ / การนำเอา IT มาใช้ในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจมีกว้างขวางขึ้น (ตรวจสอบ ID ตรวจประวัติผู้ต้องสงสัยและตรวจสอบหมายจับ ตรวจเช็คว่าเป็นรถขโมย การทราบตำแหน่งของรถผู้ต้องสงสัย ฯลฯ) การลักขโมยจึงลดน้อยลงไปอย่างมากเพราะถึงขโมยไปก็ถูกจับแน่นอน หรือขโมยแล้วก็เอาไปไม่ได้เพราะรถ ถูกสั่งให้เคลื่อนไหวไม่ได้ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่าน GPS งานศึกษาชี้ว่าการขโมยรถเป็นบ่อเกิดแห่งนานาปัญหาและความรุนแรงที่เกิดตามมา (คล้ายกับบ่อนการพนันบ้านเราเป็นต้นกำเนิดของปัญหา)

          (ค) ความเอาจริงของตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นผลพวงจากการบีบบังคับของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งถูกบังคับอีกทีหนึ่งจากประชาชนผ่านกลไกการเลือกตั้งปีเว้นปี ทำให้โจร ท้อใจลงไปมาก การป้องกันอาชญากรรมที่เข้มแข็งคือการปราบปรามอาชญากรรมที่ได้ผลที่สุด

          ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมและความรุนแรงโดยเฉพาะฆ่ากันตายลดลงไปและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่ายุคทศวรรษ 1970 และยุคต้นทศวรรษ 1980 อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดีเพียงตัวเลข 8 เดือนของปี 2015 ของหลายเมืองก็ให้สถิติที่น่าตกใจ

          ในเมือง Baltimore รัฐ Maryland ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง ในปี 2014 ทั้งปีคนฆ่ากันตาย 211 คน แต่แค่ 8 เดือนของปีนี้ฆ่ากันตายไปแล้ว 205 ราย และเช่นกันใน New York ฆ่ากันตาย333 คน (2014) และ 208 (8 เดือนของปี 2015) เมือง St. Louis 159 (2014) เป็น 112 (2015) เมือง Milwaukee 93 (2014) เป็น 105 (2015) Washington D.C. 105 (2014) เป็น 103 (2015) และ Hartford รัฐ Connecticut 19 (2014) เป็น 21 (2015)

          ขนาดฤดูร้อนของปี 2015 ยังไม่จบ สถิติยังขนาดนี้ ถ้าต่อไป 4 เดือนตัวเลขคง แซงหน้าของปีก่อนอย่างแน่นอน

          อะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้? สาเหตุแรก ผู้คนคิดไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “Ferguson effect” ซึ่งหมายถึงการระมัดระวังตัวและผ่อนปรนของตำรวจมากขึ้น เพราะเกรงว่าจะไป ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ตำรวจยิงอเมริกันดำตายในเมือง Ferguson รัฐ Missouri ในเดือนสิงหาคม ปี 2014 จนเกิดจลาจลปั่นป่วนและเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันในอีกหลายเมือง ทำให้ความตึงเครียดระหว่าง ผิวขาวและผิวดำซึ่งมีเชื้ออยู่บ้างแล้วเกิดระเบิดขึ้นมาในระดับชาติ

          เป็นธรรมชาติของตำรวจในเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นตำรวจผิวขาวที่จะต้องระวังตัว ลังเลและรีรอในการจัดการกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างซึ่งหน้ามากขึ้น เพราะเกรงว่าจะเกิดความผิดพลาด ขึ้นอีก ดังนั้นโจรทั้งหลายจึงได้ใจ

          สาเหตุที่สอง บ้างก็คิดว่าปัญหามิได้อยู่ที่ตำรวจซึ่งเข้มแข็งน้อยลงเท่านั้น หากเป็นผลมาจากผู้ประกอบอาชญากรรมด้วย ตราบที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงปืนได้ไม่ยากนักในประเทศนี้ การฆ่ากันประจำวันจึงยากที่จะหลีกเลี่ยง บางรัฐอาจมีกฎหมายเรื่องการครอบครองปืนและซื้อปืน แข็งขัน แต่ถ้ารัฐใกล้กันมีความเสรีในเรื่องปืน ประชาชนก็เข้าถึงปืนได้เช่นกัน

          งานศึกษาพบว่าผู้ก่อเหตุฆ่ากันมักเป็นคนหน้าเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า การไม่มีโทษประหารในสหรัฐอเมริกาอาจทำให้ความกลัวบทลงโทษจากอาชญากรรมน้อยลงจนก่อเหตุซ้ำ ๆ ก็เป็นได้

          สาเหตุที่สาม เกมส์และภาพยนตร์ที่ยั่วยุความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมส์ที่ใช้การฆ่าทำลายเป็นรางวัลเป็นสิ่งน่ากลัว การถูกหล่อหลอมตั้งแต่ยังเป็นเด็กให้สนุกและชื่นชอบความรุนแรงผ่านเกมส์อาจมีผลทางจิตใจเมื่อเวลาหลายปีผ่านไปก็เป็นได้

          ข้อสังเกตของการพุ่งขึ้นของการฆ่ากันตายครั้งนี้ก็คือในบางเมืองใหญ่ก็ไม่เกิดขึ้น เช่น Los Angels / Philadelphia ฯลฯ ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ยากต่อการประเมินว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักที่แท้จริง

          มีนักวิชาการหลายคนแสดงความเห็นว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นมากมาย สถิติยังเข้ามาไม่ครบ ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง มันอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์สั้น ๆ ที่เพิ่มไม่มากนักก็เป็นได้ และถึงเพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจเนื่องจากเป็นการเพิ่มของตัวเลขที่ลดลงเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี มันจะพุ่งสูงขึ้นสักเล็กน้อยในบางช่วงเวลาหนึ่งมิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด

          ตัวเลขการฆ่ากันที่พุ่งสูงขึ้นใน 30 เมืองของสหรัฐอเมริการะหว่างปีที่แล้วกับปีนี้อาจมิใช่เรื่องใหญ่โตนักหากไม่มีเหตุการณ์ที่ Ferguson ให้คนต้องใคร่ครวญ “Ferguson effect” จะรุนแรงมากน้อยเพียงใดคนอเมริกันย่อมรู้สึกหวาดหวั่นเพราะมันหมายถึงการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานลง ซึ่งคนที่จะรับไปเต็ม ๆ ก็คือประชาชนอเมริกัน

          ไม่ว่าตัวเลขสถิติฆาตกรรมจะขึ้นหรือลงเพียงใดก็ตามจงอย่าหลงใหลไปกับมันเพราะ สิ่งหนึ่งซึ่งแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้เสมอก็คือการสูญเสียทางเศรษฐกิจของครอบครัว น้ำตา และความเจ็บปวด