ร้องเพลง “Happy Birthday” เสียตังค์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
13 ตุลาคม 2558

 

          เกือบไป…..เกือบไป…..ที่ต่อไปนี้หากร้องเพลง “Happy Birthday” บนเวทีต้องจ่ายตังค์ ศาลในสหรัฐอเมริกาเพิ่งตัดสินเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าบริษัทที่อ้างว่ามีลิขสิทธิ์เพลงนั้นจริง ๆ แล้วไม่มี ชาวโลกจึงโล่งอกไประดับหนึ่งที่จะร้องเพลงนี้ได้ฟรี ๆ

          เพลง “Happy Birthday” ที่ใคร ๆ ในโลกก็รู้จักนั้นชื่อเดิมคือ “Happy Birthday to You” ในปี 1998 Guinness World Records ระบุว่าเพลงนี้เป็นเพลงภาษาอังกฤษที่รู้จักกันมากที่สุด (ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะเป็นเพลงที่คนรู้จักมากที่สุดในโลกเอาด้วยซ้ำ) เนื่องจากเป็นเพลงที่ร้องง่าย ๆ และติดหู

          ประวัติของเพลง “Happy Birthday” ก็คือทำนองมาจากเพลงชื่อ “Good Morning to All” ซึ่งแต่งโดยสองพี่น้องชาวอเมริกัน ชื่อ Patty และ Mildred Hills ในปี ค.ศ. 1893 คนแรกแต่งทำนอง ส่วนอีกคนแต่งเนื้อร้อง โดยตั้งใจแต่งให้เด็กเล็ก ๆ ร้องเนื่องจากทั้งสองเป็นครูโรงเรียนอนุบาลในรัฐ Kentucky

          “Good Morning to All” มีเนื้อร้องดังนี้ Good Morning to you / Good Morning to you / Good Morning dear Children / Good Morning to All (ลองพยายามร้องตามทำนองเพลง “Happy Birthday“ แล้วจะเห็นว่าเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กมาก ๆ เอาเพลงนี้มาฝึกให้เด็กเล็ก ๆ ออกเสียงภาษาอังกฤษก็ไม่เลวนะครับ)

          เพลง “Happy Birthday“ ตามทำนองเพลงของสองพี่น้องปรากฏในหนังสือเพลงที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1912 ทั้ง ๆ ที่เพลงนี้ร้องกันมาก่อนหน้านี้เกือบ 20 ปี สองพี่น้องเสียชีวิตไปก่อนที่ทำนองเพลงที่ตนเองแต่งจะเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง และต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนการฉลองวันเกิดแบบฝรั่งที่จะต้องร้องเพลงนี้ประกอบกับการจุดเทียนบนขนมเค็ก

          มีหลักฐานว่า Summy Company จดทะเบียนลิขสิทธิ์เพลง “Happy Birthday” ในปี 1935 โดยระบุว่าผู้แต่งคือ Preston Ware Orem และ R.R. Forman ต่อมาในปี 1988 บริษัท Warner / Chappell Music ซื้อบริษัท Summy ซึ่งทำให้ได้ลิขสิทธิ์เพลงนี้ติดมาด้วยโดยมีการประเมินมูลค่าของเพลงว่าตกประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

          บริษัทประกาศว่าอายุความของลิขสิทธิ์เพลงในสหรัฐอเมริกายังไม่หมดลงจนถึง ปี 2030 ใครที่เอาเพลงนี้ไปใช้ในการแสดงสาธารณะผิดกฎหมายนอกเสียจากว่าจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้บริษัท

          การที่มีการประเมินว่า “Happy Birthday” เป็นเพลงที่ทำเงินได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ (คาดว่าตั้งแต่แต่งมาได้ค่าลิขสิทธิ์ไปแล้ว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทำให้เป็นที่สนใจของสาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีกฎหมายสหรัฐออกมาขยายเวลาลิขสิทธิ์ไปอีก 20 ปี และศาลสูงตัดสินยืนยันว่าการขยายเวลาเช่นนี้ถูกต้อง

          ในปี 2013 บริษัท Good Morning to You Production ฟ้องบริษัท Warner / Chappell ว่าอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของเพลงอย่างไม่ชอบธรรม และในเดือนกันยายน 2015 ศาลขั้นต้นตัดสินว่าบริษัท Warner ไม่มีลิขสิทธิ์ของเพลงนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงหมายความว่าผู้คนสามารถเอาเพลงนี้ไปร้องในสาธารณะได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินอีกต่อไป

          ปัญหาที่จะเกิดตามมาก็คือบริษัทอาจถูกผู้ที่เคยจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ก่อนหน้านี้ทวงเงินคืน อย่างไรก็ดีแน่นอนว่าบริษัทจะอุทธรณ์ เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าท้ายสุดแล้วเราจะร้องเพลง “Happy Birthday” กันได้สะดวกปอดหรือไม่

          ขอเพิ่มเติมเรื่องเนื้อเพลงว่าเนื้อร้องดั้งเดิมของ “Happy Birthday” คือ Happy Birthday to You / Happy Birthday to You / Happy Birthday dear John / Happy Birthday to You

          ในเวลาต่อมา ตรงชื่อ John ก็เปลี่ยนเป็นชื่อเจ้าของวันเกิด ในประเพณีของคนอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไอร์แลนด์ เท่าที่เคยเห็นและได้ยินมา พอร้องเพลง “Happy Birthday” จบ ก็มักมีแขกร้องนำว่า “Hip Hip” และแขกทั้งหลายก็เปล่งออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “Hooray” ปกติแล้วจะร้องเป็นชุดแบบนี้ซ้ำ 3 ครั้ง

          ยังมีอีกเพลงหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับ “Happy Birthday” ซึ่งมักได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ในงาน วันเกิด งานแต่งงาน งานฉลองแต่งงาน หรือฉลองชัยจากกีฬา นั่นก็คือเพลง “For He’s a Jolly Good Fellow” ซึ่งเพลงนี้ Guinness World Records ระบุว่าเป็นเพลงในภาษาอังกฤษที่คนรู้จักมากเป็นอันดับสองรองจาก “Happy Birthday” ส่วนอันดับสามคือเพลง “Auld Lang Syne”

          เพลงนี้เอาทำนองมาจากเพลงฝรั่งเศสย้อนหลังไปไม่น้อยกว่าศตวรรษที่ 18 ว่ากันว่าคนรู้จักเพลงนี้ก็เพราะพระนาง Marie Antoinette ได้ยินนางสนมรับใช้ร้องเพลงลูกทุ่งฝรั่งเศสนี้ และชอบจึงเอามาเผยแพร่ ต่อมาก็แพร่ไปถึงอังกฤษและอเมริกาในประมาณกลางศตวรรษที่ 19

          เนื้อร้องของอังกฤษและอเมริกาแตกต่างกันเล็กน้อย เวอร์ชั่นของอังกฤษมีดังนี้ For he’s a jolly good fellow, for he’s a jolly good fellow / For he’s a jolly good fellow, and so say all of us / And so say all of us, and so say all of us / For he’s a jolly good fellow, for he’s a jolly good fellow / For he’s a jolly good fellow, and so say all of us!

          สำหรับอเมริกานั้นเปลี่ยนตรง “And so say all of us” เป็น “Which nobody can deny” ในทุกแห่ง ส่วน He นั้นเปลี่ยนเป็น She ตามสถานการณ์

          เพลงนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเช่นกันในเวลาต่อมาในประเทศยุโรปอื่น ๆ และมีเวอร์ชั่นของตนเองด้วย เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ปอร์ตุเกส สเปญ เดนมาร์ก ฯลฯ

          ในเรื่องเพลงวันเกิดกว่า 80 ประเทศในโลกใช้ทำนองเพลง “Happy Birthday” เป็นหลัก และนำเนื้อร้องที่แปลโดยตรงจากภาษาอังกฤษมาใช้หรือดัดแปลงเนื้อร้องขึ้นใหม่ ร้องกันทุกวันทั่วโลก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย หลายประเทศในกลุ่มอาหรับ ญี่ปุ่น เกาหลี ศรีลังกา เยอรมันนี ทันซาเนีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ (โปรดสังเกตไทยไม่มี)

          ยังมีเพลงวันเกิดอีกประเภทหนึ่งที่เป็นของสังคมนั้น ๆ เอง เช่น ไทย เบลเยี่ยม บราซิล เยอรมันนี อินโดนีเซีย ฯลฯ หรือมีทั้งสองลักษณะ เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย เยอรมันนี ฝรั่งเศส อินเดีย ฯลฯ และลักษณะสุดท้ายคือเพลงเกี่ยวกับวันเกิดที่ร้องโดยนักร้องอีกจำนวนมากมาย เช่น The Beatles / Twista / The Sugarcubes / Selena Gomez ฯลฯ

          การร้องเพลงวันเกิดเปรียบเสมือนการให้กำลังใจเจ้าของวันเกิดว่ามีเพื่อนที่มีความปรารถนาดี และเป็นวันประจำปีแห่งการใคร่ครวญบทบาทของตนเองในการได้มีอายุเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี