ใคร่ครวญ “การผ่าคลอด”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิตย์
17 พฤศจิกายน 2558

          ไม่ว่าถามคนท้องคนไหนในบ้านเราในเวลานี้ว่าจะคลอดอย่างไร คำตอบที่ได้รับอย่างเรียกได้ว่าท่วมท้นก็คือ “ผ่าท้อง” ได้ยินน้อยคนมากในกรุงเทพฯ ที่บอกว่าจะคลอดแบบธรรมชาติ ปรากฏการณ์นี้น่าตกใจเพราะคุณแม่เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงและอันตรายแอบซ่อนอยู่มากกว่าการคลอดแบบปกติ

          ปรากฎการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา หากเกิดเกือบทั้งโลก จากสัดส่วนการคลอดแบบผ่าที่อยู่ประมาณเลขตัวเดียว กลายเป็น 20, 30 และถึง 50 ของจำนวนการคลอดทั้งหมดในแต่ละปีก็ยังมีภายในช่วงเวลา 15-20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 5 ปีหลัง

          จีนนั้นโดดขึ้นไปจากอัตรา “ผ่าคลอด” ที่ต่ำมากในทศวรรษ 1970 จนขึ้นไปถึงร้อยละ 47 ของจำนวนการคลอดทั้งหมดในหนึ่งปี ในระดับโลก “การผ่าคลอด” เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีสัดส่วนอยู่ประมาณร้อยละ 40 เช่นเดียวกับอินเดีย และเวียดนามร้อยละ 36

          “การผ่าคลอด” นั้นภาษาอังกฤษเรียกว่า Caesarean section หรือสั้น ๆ ว่า C-sections เดิมเชื่อกันว่า Gaius Julius Caesar ยอดขุนพลและรัฐบุรุษโรมันซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนเกิดจาก “การผ่าคลอด” จึงเรียกชื่อการผ่าแบบนี้ตามชื่อของเขา แต่หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าแม่ของเขาไม่ตายหลังคลอดเขา ดังนั้นจึงไม่น่าเกี่ยวพันด้วย

          ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะในสมัยนั้นเมื่อแม่กำลังจะตายหรือพึ่งตายเท่านั้นที่เด็กอาจเกิดจาก C-sections ได้ กล่าวคือรีบผ่าออกเลย (ทางการแพทย์บอกว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 37 อาทิตย์ในระยะเวลาการท้องประมาณ 40 อาทิตย์ของมนุษย์จึงจะผ่าแล้วมีโอกาสรอด) C-sections จึงไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับ Julius Caesar เช่นเดียวกับ Caesar salad

          วัฒนธรรมจีนและอินเดียก็มีการกล่าวถึง C-sections อย่างไรก็ดีเป็นเวลาอีกนานมากกว่าที่ C-Sections จะปลอดภัยแม้แต่ในอังกฤษประเทศที่พัฒนาที่สุดในสมัยนั้น ใน ค.ศ. 1865 (สมัยรัชกาลที่ 4) แม่ยังตายถึงร้อยละ 85 พอจะอยู่รอดบ้างก็เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ค.ศ. 1917 เป็นต้นมา ปัจจุบัน C-sections พัฒนามาไกลมากจนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในหลายเรื่อง

          ในเบื้องต้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหนีความเจ็บปวด อันมนุษย์นั้นเมื่อมีความกินดีอยู่ดีสูงขึ้น ความอดทนต่อความเจ็บปวดจะน้อยลง ประการที่สอง เป็นเครื่องมือในการให้ทารกเกิดในฤกษ์ดีตามหลักโหราศาสตร์ (“ดวงเกิด” ถูกแทนที่ด้วย “ดวงถูกบังคับให้เกิด” การพยากรณ์จะแม่นยำได้อย่างไรยังสงสัยอยู่) หรือเกิดในฤกษ์ที่เป็น

          ประโยชน์ เช่น เกิดก่อน 17 พฤษภาคม จะได้เข้าโรงเรียนได้เร็วขึ้น หรือเกิดหลัง 1 ตุลาคม เวลาเกษียณอายุจะได้แถมอีก 1 ปี (คิดอะไรไกลขนาด 60 ปีล่วงหน้า)

          สาม เป็นเครื่องมือในการสร้างความสะดวกให้แก่ทั้งผู้คลอด (รู้แน่ว่าคลอดเมื่อใด จะได้กลับบ้าน และไปทำงานวันใด) และแพทย์ (หมอว่างพอดีในตอนนั้น หมอไม่ต้องคอยการเจ็บท้องจนไปไหนไม่ได้ หมอไม่ต้องถูกตามตัวกลางดึก ฯลฯ) สี่ เป็นเครื่องมือแสดงว่าเป็นคนสมัยใหม่อยู่ในเทรนด์และมีฐานะ (พอที่จะมีเงินหนีความเจ็บปวดได้) และห้า ในหลายกรณีเป็นเครื่องมือในการทำให้คุณแม่และคุณพ่อต้องจ่ายเงินเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าการคลอดแบบธรรมชาติและทำให้โรงพยาบาลมีรายได้สูงขึ้น

          C-sections ดูเผิน ๆ สะดวก ปลอดภัย และไม่มีผลเสียต่อทารก อย่างไรก็ดีงานศึกษาวิจัยล่าสุดหลายชิ้นพบหลักฐานว่ามีผลเสียต่อทารกในหลายเรื่องอย่างน่ากังวล

          ในเรื่องความเสี่ยง สถิติของประเทศพัฒนาแล้วสำหรับครรภ์ทั่วไปที่ไม่มีปัญหาระบุว่าความเสี่ยงในการเสียชีวิตจาก C-sections อยู่ประมาณ 13 ต่อ 100,000 การคลอด แต่สำหรับการคลอดธรรมชาตินั้นตัวเลขคือ 3.5 ต่อ 100,000 สรุปได้สั้น ๆ ว่า C-sections มีความเสี่ยงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติกว่า 3 เท่าตัว

          สิ่งที่ทำให้ C-sections เสี่ยงกว่าก็คือโอกาสในการติดเชื้อ แผลปริหลังผ่าตัด เสียเลือดขนาดหนัก ปัญหาจากการวางยาสลบ มีปัญหากับท้องต่อไป ฯลฯ ในขณะที่การคลอดแบบธรรมชาตินั้นถึงมีปัญหาก็มี ‘ก๊อกสอง’ คือทำ C-sections ได้ WHO แนะนำให้ทำ C-sections เฉพาะในกรณีที่มีปัญหาจากการคลอดปกติ เช่น ท่าของทารกทำให้คลอดยาก แม่มีปัญหาสุขภาพ เจ็บท้องอยู่นานมาก รกอยู่ในลักษณะที่ขัดขวางการคลอด หัวใจและความดันของแม่และ/หรือทารกอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ฯลฯ

          สิ่งที่งานวิจัยล่าสุดพบเกี่ยวกับ C-sections นั้นน่าสนใจมาก กล่าวคือพบว่า (1) การคลอดแบบปกติทำให้ทารกมีโอกาสได้รับ microbiota (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อยู่ร่วมในร่างกายมนุษย์ เช่น แบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยย่อยอาหาร) ของแม่มากกว่า ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของทารกในเวลาต่อไป (2) เมื่อทารกขาด microbiota จากแม่อาจทำให้สิ่งที่เรียกว่า bifidobacteria probiotics ซึ่งอยู่ในลำไส้ของทารกไม่เติบโตเต็มที่ ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถย่อยสลายสารอาหารที่อยู่ในนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารรุนแรงจนการเจริญเติบโตของทารกสะดุดได้ ทารกลักษณะนี้เมื่อโตขึ้นมีทางโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคไต และโรคเบาหวาน

          (3) C-sections อาจเป็นตัวไปกระทบ microbiota ที่ทารกมีแต่แรกจนทำให้เกิดการปรับระบบภูมิคุ้มกันของทารกไปในทางลบจนอาจเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดเมื่อโตขึ้นหรือแม้แต่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

          (4) การเปลี่ยนแปลงของ microbiota ในลำไส้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจมีสาเหตุมาจาก C-sections

          ปัจจุบันทารกจีนเกือบครึ่งหนึ่งในแต่ละปีลืมตาดูโลกด้วยวิธี C-sections และพบว่าในขณะเดียวกันก็มีการพุ่งสูงขึ้นของโรคเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็กอย่างผิดสังเกต งานศึกษาเชื่อว่า C-sections กับโรคเบาหวานในเด็กน่าจะมีความผูกพันกัน มีความเป็นไปได้สูงว่าเมฆทะมึนข้างหน้าของโรคเบาหวานในอนาคตของพลเมืองจีนมี C-sections เป็นตัวจุดประกายตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

          การแพร่กระจายของ C-sections ทั่วโลกเป็นเรื่องหนักอกขององค์การสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกซึ่งเชื่อว่ามีพิษแอบแฝงอยู่โดยที่คุณแม่ทั้งหลายยังไม่ทราบกันกว้างขวางนัก

          ที่น่าตกใจก็คือการที่ C-sections อาจกลายเป็นตัวชี้วัดฐานานุภาพในสังคมของ ครอบครัวจนทำให้เลือก C-sections อย่างขาดวิจารณญาณ และมองข้ามความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

          มนุษย์ทนความเจ็บปวดในการให้กำเนิดลูกโดยสำนึกว่าเป็นตัวแทนของความรักที่มีให้ลูก แต่เมื่อมนุษย์มีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ความเจ็บปวดจากการเป็นแม่ก็แปรเปลี่ยนเป็นเรื่องของความไม่สะดวกไปอย่างน่าเสียดาย