Emojis สื่อความหมาย

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8 ธันวาคม 2558 

          ท่ามกลางความเมามันของการส่งภาพ Good Morning Good night กันใน Line บ่อยครั้งก็มีภาพของคนแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ปรากฏในกรอบรูปกลมและเหลี่ยมบ้าง บ้างก็เป็นภาพลายเขียนเครื่องหมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับอารมณ์ทั้งสิ้น ไอ้ตัวที่ว่านี้เรียกกันว่า emojis ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจอยู่เบื้องหลัง

          ผู้เริ่มใช้ emojis คือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญี่ปุ่น เช่น NTT / DoCoMo / Softbank Mobiles ฯลฯ emojis มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น “e” (picture) + “moji (character) ซึ่งหมายถึงรูปภาพของลักษณะคน (ในอารมณ์ต่าง ๆ)

          บังเอิญคำว่า emojis ไปคล้ายกับ emotion (อารมณ์) ในภาษาอังกฤษจึงทำให้เข้าใจได้ง่ายว่าเป็นการสื่ออารมณ์ emojis อันแรกสุดมีมาแต่ ค.ศ. 1998 ในญี่ปุ่น สมาชิกคนหนึ่งของทีมที่ทำงานเรื่องโทรศัพท์มือถือของ NTT ชื่อ Shigetaka Kurita ได้ความคิดมาจากคำพยากรณ์อากาศซึ่งใช้สัญลักษณ์เป็นตัวแทนสภาพอากาศ และจากการ์ตูนซึ่งใช้สัญลักษณ์อยู่เป็นประจำเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึก เช่น หลอดไฟแสดงถึงการปลุกเร้าให้เกิดแรงจูงใจ Kurita สร้าง emojis ชุดแรก 180 ตัว เป็นตัวแทนของความรู้สึกต่าง ๆ ที่เขาสังเกตเห็นจากผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

          อีกฟากหนึ่งของโลกตะวันตกก็มีสิ่งซึ่งเรียกว่า emoticons ในโลกของโทรศัพท์เครื่องที่ซึ่งใช้เลขหรือเครื่องหมายต่าง ๆ ของภาษา เช่น วงเล็บ จุด ขีด ฯลฯ เอามาประกอบกันเป็นความหมาย เช่น 🙂 หมายถึงรอยยิ้ม หรือ ^^ หมายถึงความสุข ทั้ง emoticons และ emojis มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการสื่อความหมาย เพียงแต่ emojis ใช้รูปภาพ

          emoticon ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนมีคอมพิวเตอร์ กล่าวคือในศตวรรษที่ 19 มีคู่มือการส่ง โทรเลขของอเมริกาในปี 1857 ระบุว่าเลข 73 ในสัญลักษณ์ Morse code สื่อว่า “love and kisses” ต่อมาใช้เลข 88 แทน

          เมื่อ emojis ปรากฏอยู่ใน Apple’s iPhone ในปี 2007 จึงได้รับความนิยมขึ้นอย่างรวดเร็วจนโทรศัพท์มือถือระบบอื่นต้องเลียนแบบ และใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่นั้นมา

          emojis ให้ความสะดวกแก่ผู้ส่งข้อความผ่านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์ข้อความยืดยาวเพื่อสื่อว่ากำลังมีความรู้สึกหรือปฏิกิริยาอย่างไรต่อข้อความที่คนอื่นส่งมา นอกจากนี้ยังสามารถโต้ตอบได้รวดเร็ว และอาจสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำพูด

          บ่อยครั้งที่ผู้ใช้ไม่แน่ใจว่าจะส่งข้อความกลับไปอย่างไรเพื่อให้เป็นการสื่อสารที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ก็มักใช้ emojis เป็นคำตอบ

          เมื่อ emojis ไม่ใช่ขนม moji จึงมิใช่เรื่องง่ายนักในการใช้ emojis เพื่อสื่อข้อความอย่างที่ตนเองต้องการเสมอไป การเลือก emojis จากรูปที่มีอยู่ทั้งหมดโดยไตร่ตรองอย่างรอบคอบจึงเป็นคำแนะนำที่ควรแก่การรับฟัง

          รูปภาพเดียวกันภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็มีความหมายต่างกัน โชคดีที่ emojis จำนวนมากเป็นเพียงรูปหน้าคนเท่านั้นความเข้าใจผิดจึงมีไม่มากเพราะหน้าตามนุษย์นั้นแสดง ความรู้สึกเหมือนกันในทุกวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจ รอยยิ้ม ฯลฯ

          หากมีการสื่อความหมายต่าง ๆ โดยมือ นิ้ว แขน ฯลฯ ประกอบด้วยแล้วอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้โดยง่ายในวัฒนธรรมซึ่งไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นการยกนิ้วโป้งขึ้นดังเช่นการกด like ถือว่าหยาบคายในโลกอาหรับ (สัญลักษณ์ like ของ Facebook คงไม่ได้เช็คก่อนนำออกมาใช้)

          เมื่อ emojis ได้รับความนิยม ตลาดก็ตอบสนองด้วยการผลิต emojis ออกมาอีกหลายชุดซึ่งแสดงอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นและมีความหมายหลากหลาย

          ในปี 2015 Oxford Dictionaries ซึ่งทำการสำรวจทุกปีต่อเนื่องกันมายาวนานเพื่อค้นหา “คำแห่งปี” และก็ได้ประกาศผลออกมาซึ่งในตอนแรกนำความแปลกใจมาสู่ชาวโลก เนื่องจากในปีนี้ มิใช่เป็นคำ ๆ ดังที่เคยเป็น หากเป็น pictograph หรือ emojis ซึ่งมีชื่อทางการว่า “Face with Tears of Joy” กล่าวคือเป็นรูปวงกลมซึ่งมีหน้าตาที่ยิ้มแย้ม (ปากโค้งเปิด คิ้วปาดลง) และมีหยดน้ำตา 2 หยดออกจากตาทั้ง 2 ข้าง

          ความหมายของ emojis “คำแห่งปี” นี้ก็คือมีความสุข ดีใจ ปลื้มใจ สนุก จนน้ำตาเล็ด อย่างนี้เรียกว่า ‘สุดสุข’ ซึ่งมีผู้คนใช้กันมากมายในโลกเพื่อสื่อความหมายของความสุขจนถือได้ว่าเป็น emojis ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดในโลก การสำรวจของบริษัทรับจ้างของ Oxford Dictionaries พบว่า emojis ตัวนี้มีคนใช้เป็นร้อยละ 20 ของ emojis ทั้งหมดนี้ที่มีการใช้กันในอังกฤษในปี 2015 และ ร้อยละ 17 ของ emojis ทั้งหมดที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และ 9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2014

          วัยรุ่นมิใช่เป็นผู้ใช้ emojis เท่านั้น หากผู้ใหญ่จำนวนมากก็นิยมใช้เช่นกันโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในทางการเมือง Hillary Clinton ผู้สมัครแข่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงสมัครประธานาธิบดีในปี 2016 ถามผ่านข้อความในอินเตอร์เน็ตว่า “รู้สึกอย่างไรกับหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินไปเรียนมหาวิทยาลัย” โดยขอให้ตอบมาโดยใช้ emojis ไม่เกิน 3 อัน ปรากฏว่ามีคนส่งกันมากมายด้วย emojis ที่สื่อหลากหลายอารมรณ์

          emojis แท้จริงแล้วไม่ต่างไปจากการเอากระสุนปืนไปใส่ในกล่องจดหมายเพื่อขู่เข็ญหรือในสมัยโบราณของไทยที่มีประเพณีคายชานหมากของหญิงให้ชายเพื่อสื่อความปิ๊งจากหญิง และ การเอาดอกไม้ที่เหน็บไว้กลางอกให้ชาย ก็คือการสื่อความหมายทำนองเดียวกัน ถึงไม่มี emojis คนเขาก็สื่อความรักถึงกันได้

          emojis อาจสื่อความหมายที่ดีมากจากฝ่ายผู้ส่ง แต่อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกไซเบอร์ที่ทุกอย่างอาจหลอกลวงกันได้หมดแม้แต่อารมณ์ที่แท้จริง ดังนั้นจึงต้องพยายามรู้ทันการใช้ emojis