Bill Cosby ไม่ได้ “เสียคนเมื่อแก่”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28
กรกฎาคม 2558 

ที่มา https://prod-images.tcm.com/Master-Profile-Images/BillCosby.jpg

        สามคดีของการเสียชีวิตในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นคดีเจ้าพ่อถูกสังหารและยังจับคนลงมือไม่ได้เพราะดูจะมีเจ้าภาพที่มีความเป็นไปได้หลายรายมาก คดีอุบัติเหตุรถยนต์ที่น่าสงสัยเพราะโยงสู่การโอนหุ้นให้พริตตี้-แคดดี้ท้อง ตลอดจนการฆ่าตัวตายของผู้ใหญ่มียศศักดิ์สูงอายุ ทำให้คิดว่าโลกเรามีอะไรที่ข้างหน้าข้างหลังไม่ตรงกันอยู่มากพอควร และเมื่อได้อ่านข่าวดาราตลกอเมริกัน Bill Cosby ข่มขืนหลายครั้งโดยใช้ยานอนหลับช่วยแล้วยิ่งเห็นประเด็นนี้มากขึ้น

          ชื่อ Bill Cosby ทำให้นึกถึงนักร้องเก่าแก่ชื่อคล้ายกันคือ Bing Crosby (ผู้ร้องเพลง White Christmas อันแสนคลาสสิก) เชื่อว่าพ่อแม่ Bill Cosby น่าจะจงใจตั้งชื่อลูกคนนี้เลียนแบบนักร้องชื่อดัง

          ผู้ใหญ่หลายคนคงจำ Bill Cosby ได้ เขาเป็น Afro-American หน้าตาดี มีภาพพจน์ของความเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยศีลธรรม ปัญญา รักเด็ก ตลก ขบขัน เขาดังมากจากภาพยนตร์โทรทัศน์ในยุคทศวรรษ 60 เรื่อง I Spy และในยุคทศวรรษ 70-80-90 ก็มีภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ เช่น The Electric Company / Fat Albert and the Cosby Kids / The Cosby Show ฯลฯ

          Cosby ดังมากจนเป็นผู้โฆษณาสินค้า Jell-o / Coca-Cola / Kodak / Texas Instruments ฯลฯ เขาเป็นฮีโร่ของเด็กจำนวนมากจากรายการโทรทัศน์เด็ก ผู้ใหญ่พ่อแม่ชอบเขาในความสุภาพ อารมณ์ขัน ความมีเหตุมีผล ความมีจริยธรรม ฯลฯ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีข่าวเกี่ยวกับเขาไปในทางลบมากมาย หญิงจำนวนมากออกมากล่าวหาว่าถูกเขาข่มขืนโดยใช้ยานอนหลับเป็นเครื่องมือ

          Cosby ปัจจุบันอายุ 78 ปี ถือได้ว่าเป็นนักแสดงที่มีการศึกษาดีที่สุดคนหนึ่ง เขาเรียนจบปริญญาเอกด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง University of Massachusetts, Amherst ในปี 1976 ผู้คนสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่คนมีชื่อเสียงดี ภาพพจน์ดี การศึกษาดี อย่างเขา จะกระทำสิ่งเหล่านี้กับผู้หญิงถึงกว่า 40 คน ระหว่างปี 1965-2008

          จุดเริ่มต้นของเขาคือการเป็นนักแสดงด้วยการเป็น “โชว์เดี่ยว” ยืนพูดเรื่องขำขันในคลับต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนเริ่มดังเมื่อได้รับเชิญให้ออกรายการ The Tonight Show ของ Johnny Carson ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากยาวนานหลายทศวรรษใน ค.ศ. 1963 จากนั้นก็เล่นภาพยนตร์หลายเรื่องเป็นตัวเอกในรายการและภาพยนตร์โทรทัศน์จำนวนมาก

          จุดพลิกผันของการเปิดเผยสิ่งชั่วร้ายที่เขาได้ทำไว้เกิดขึ้นในปี 2014 นักแสดงตลกชื่อ Hannibal Buress วิจารณ์ Cosby บนเวทีในเรื่องการชอบสั่งสอนเด็กผิวดำว่าควรแต่งตัว และชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และแถมอีกว่า “โธ่เอ๋ย ไอ้พวกชอบข่มขืนผู้หญิง” ปรากฏว่าคำพูดนี้กระจายไปทั่วอเมริกาด้วย social media ผลที่เกิดขึ้นก็คือสื่อต่าง ๆ พากันติดตามข้อกล่าวหานี้ซึ่งได้ยินกันมานานแล้ว ยิ่งสาวไปลึกก็ยิ่งมัดตัวเขายิ่งขึ้น สื่อไปพบหลักฐานคำให้การในคดีกล่าวหาว่า Cosby ข่มขืนของ Andrea Constand’s ในปี 2005 คดีนี้ได้ยอมความชดใช้เงินทองกันไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่พบก็คือคำให้การของ Cosby ในคดีนี้ซึ่งยอมรับกับศาลว่าเขาใช้ยานอนหลับ

          Quaaludes (ซึ่งตอนนั้นหาซื้อกันได้ตามร้านขายยาอย่างถูกกฎหมาย) กับผู้หญิงที่เขาอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย และยอมรับว่าใช้กับหญิงหลายคน ในตอนแรกศาลสั่งให้เก็บคำให้การนี้เป็นความลับ แต่ต่อมายอมปล่อยคำให้การนี้ออกมา

          ในกลางเดือนกรกฎาคม 2015 หนังสือพิมพ์ New York Times ได้นำคำให้การทั้งหมด มาตีพิมพ์เพราะถือว่าเป็นข้อมูลสาธารณะ ผู้คนทั่วโลกอ่านกันแล้วแทบช็อคเพราะมันให้ภาพที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ของ Cosby ที่มีมาเกือบตลอดชีวิต เขาใช้ยานอนหลับชนิดนี้กับสาวจำนวนมาก ต่างกรรมต่างวาระกันตลอดเวลากว่า 20 ปีจนเป็นนิสัย (นิสัยที่มีอยู่ลึก ๆ เขาเรียกว่าสันดาน)

          อย่างไรก็ดี หญิงสาวเกือบทั้งหมดไม่สามารถฟ้องร้องได้เพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ฟ้องร้องเอาเรื่อง กระนั้นก็ดีมีหญิงสาวหลายคนออกมากล่าวหา ด่าว่าเขาอย่างเสียหาย โดยกล่าวตรงกันเรื่องวิธีการของเขาในการใช้ยานอนหลับ

          Bill Cosby ในวัย 78 ปี โดนสังคมเล่นงานหนักตั้งแต่ประธานาธิบดีโอบามาที่ตอบคำถามว่าจะมีการถอดถอนรางวัล Medal of Freedom ซึ่ง Cosby ได้รับเมื่อตอนปี 2002 หรือไม่ เขาตอบว่าไม่มีกลไกที่จะถอดและไม่เคยถอดมาก่อน ไม่อยากแสดงความเห็นเฉพาะรายแต่ว่าถ้าคน ๆ หนึ่งใช้ยากับหญิงโดยเขาไม่รู้ตัว และมีเพศสัมพันธ์ด้วย อย่างนี้เรียกว่าข่มขืน สังคมอารยะไม่ควรทนกับการกระทำเช่นนี้

          Cosby สูญเสียงานโดยถูกตัดหมดไม่ว่าจะเป็นสัญญาในเรื่องใด พูดสั้น ๆ ได้ว่าถูกสังคมรังเกียจในหลากหลายรูปแบบ มีหลายคำถามที่เกิดขึ้น เช่น ภรรยาของเขาคนเดียวที่แต่งงานกันมากว่า 50 ปีกับลูก 5 คนรู้สึกอย่างไร? และที่สำคัญเขากระทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

          คนไทยมีคำพูดว่า “ผู้ใหญ่หลายคนมักเสียคนเมื่อแก่” ซึ่งจากการสังเกตดูก็พอมีหลักฐานยืนยัน แต่คนที่ เสียคน” ตั้งแต่หนุ่มจนแก่นั้นน่าแปลกใจ คนเราตอนหนุ่มอาจทำอะไรที่ไม่ดี ไปบ้าง หากปรับใจปรับตัวเปลี่ยนชีวิตก็พอรับได้ แต่คนที่ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองเลยโดยเฉพาะในเรื่องที่เลวทรามนั้นเป็นเรื่องของการกระทำที่คงเส้นคงวาอย่างน่ารังเกียจยิ่ง

          “เสียคนเมื่อแก่” ในบางกรณีนั้นความจริงก็คือมัน “เสีย” มานานแล้ว แต่แอบซ่อนเอาไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่หางเพิ่งมาโผล่ให้คนเห็นตอนแก่ดังเช่นกรณีของ Cosby

          คนจำนวนมากในโลกผิดหวัง และเสียใจที่หลงใหลภาพลักษณ์ “คนดี” ของ Bill Cosby มานานนับสิบ ๆ ปี บ้างก็ดีใจที่เห็นตัวจริงของเขาก่อนที่เขาจะตาย บ้างก็อยากฟังคำอธิบายของเขาเพราะเชื่อว่าทุกสิ่งมีคำอธิบาย (“ไม่ได้แก้ตัว แต่มีคำอธิบาย”) และบ้างก็ดีใจที่เรื่องนี้เตือนใจให้ระวังการรับภาพลักษณ์ สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไปหากเป็นสิ่งที่เขาต้องการให้เราเห็น

          สิ่งที่ต้องระวังที่สุดก็คือเรื่องการเห็นของมนุษย์ มนุษย์เชื่อตาตัวเองเหนือสิ่งอื่นใด แต่ทว่าคนส่วนใหญ่เห็นอย่างที่ตนเองอยากเห็น หรือเห็นอย่างที่ตัวเองเชื่อว่าควรจะเห็นโดยมิได้เห็นสิ่งที่อยู่ตรงนั้นจริง ๆ

Think Global, Act Local อีกครั้ง

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21
กรกฎาคม 2558

Photo by Kyle Glenn on Unsplash

          วลี Think Global, Act Local เป็นที่รู้จักกันดีในความหมายหนึ่ง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีความหมายกว้างขวางกว่าเก่าอย่างเป็นประโยชน์ต่อสังคม

          ถ้าจะให้ถูกต้องไวยากรณ์แล้วต้องเป็นว่า Think Globally, Act Locally (TGAL) แต่ในยุค Postmodern เช่นปัจจุบัน ผู้คนใช้กันตามใจชอบ ขาดกฎกติกาที่แน่นอนมั่นคง ดังนั้นจึงมีผู้เรียก ๆ สั้น ๆ ว่า Think Global, Act Local (ยุคนี้กัญชาถูกกฎหมายแล้วในบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นโทษร้ายแรง ชาย-ชายและหญิง-หญิงแต่งงานกันได้ นักกีฬาอาชีพก็ลงแข่งโอลิมปิกเกมส์ได้ ฯลฯ)

          ในภาษาอังกฤษ TGAL คือสิ่งที่เรียกว่า paradox กล่าวคือ local กับ global ขัดแย้งกัน ตัวอย่างที่คลาสสิคของ paradox ก็คือคำพูดของ Winston Churchill ที่ว่า “Never in the field of human conflict was so much owed by so many to so few” ในโอกาสที่กล่าวถึงบุญคุณของทหารอากาศอังกฤษซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับข้าศึกที่ได้ช่วยชีวิตคนอังกฤษไว้โดยสามารถป้องกันไม่ให้เครื่องบินเยอรมันถล่มอังกฤษได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

          มหาตมา คานธี ก็ใช้สำนวนที่เป็น paradox ในการกล่าวว่า “Whatever you do will be insignificant, but it is very important that you do it”.

          TGAL หมายถึง จงคิดในระดับโลกแต่กระทำในระดับท้องถิ่น วลีนี้ในตอนแรกหมายถึงว่าให้ตระหนักถึงโลกใบนี้ เมื่อชุมชน หรือท้องถิ่น (ประชาชน) กระทำสิ่งต่าง ๆ แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากนักวางผังเมืองดังสะท้อนในหนังสือชื่อ Cities in Evolution (1915) ของ Patrick Geddes ถึงแม้วลีนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือก็ตาม

          ใครเป็นผู้ริเริ่มใช้วลีนี้ยังไม่ชัดเจน บ้างก็ว่า David Brower ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends of the Earth เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นใน ค.ศ. 1969 บ้างก็ว่าที่ปรึกษาสหประชาชาติใช้วลีนี้ในปี 1972 อย่างไรก็ดี TGAL กลายเป็นชื่อของการสัมมนาใหญ่ในปี 1979 ซึ่งจัดโดยนักอนาคตวิเคราะห์ชาว คานาดาชื่อ Frank Feather

          ในตอนแรก TGAL สื่อความหมายในการร่วมกันดูแลโลกใบนี้ด้วยการกระทำอย่างระมัดระวังในระดับย่อยของท้องถิ่นต่าง ๆ ต่อมากินความไปถึงเรื่องการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ กล่าวคือต้องคิดในภาพรวมก่อนแล้วจึงกระทำในระดับย่อย ส่วนในเรื่องธุรกิจนั้นมีความหมายไปในทางการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงโลกใบนี้ซึ่งหมายถึงการระแวดระวังสิ่งแวดล้อม

          TGAL กินความหมายกว้างขึ้นกว่าเดิมทุกที “global” ในที่นี้มิได้หมายถึงโลกใบนี้ของเรา หากหมายถึงส่วนรวม และ “local” มิได้หมายถึงชุมชนหากหมายถึงสิ่งย่อย ๆ เช่น ประชาชน หรือองค์กร ดังนั้นสังคมจึงมีกรอบความคิดที่กว้างขึ้น และเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ในปี 2552 ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า

          “…..Social Enterprise (SE) คือธุรกิจเอกชน ซึ่งทำมาค้าขายเหมือนธุรกิจทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ 3 อย่างควบคู่กันไป คือ (ก) สร้างกำไร (ข) มุ่งสร้างสรรค์สังคม (ค) สนับสนุนสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line

          SE ไม่มุ่งกำไรสูงสุด หากมุ่งสร้างกำไรเพื่อนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม SE คือ องค์กร “Not – For – Profit” ในความหมายที่กำไรไม่ต้องแบ่งสรรคืนให้เจ้าของทุน หากนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ “การให้” แก่สังคมเพื่อสร้างสรรค์

          …..ในอังกฤษ ลักษณะ 3 อย่างที่ทำให้องค์การหนึ่งเป็น SE ก็คือ (1) ผลิตสินค้าและและบริการหรือค้าขายโดยแสวงหากำไร (2) มีวัตถุประสงค์ของการตั้งขึ้นมาอย่างชัดเจนเพื่อสังคม เช่น สร้างงานเพื่อชุมชน หรือ ฝึกฝนทักษะของชุมชนหรือ จัดหาบริการให้แก่ชุมชน ฯลฯ (3) ความเป็นเจ้าของนั้นไม่ถูกผูกขาด หากกระจายกันไปในกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้าบริษัท ชุมชน ฯลฯ กำไรถูกแบ่งสรรกลับคืนเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมหรือชุมชน

          อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มี SE กว่า 60,000 องค์กร เรียกองค์กรที่เป็น Social Enterprise นี้ว่าอยู่ใน Third Sector (First Sector คือ ภาครัฐ ส่วน Second Sector คือธุรกิจเอกชนปกติ) หรือ Social Economy ในนัยยะหนึ่งก็คืออีกทางเลือกหนึ่งของระบบเศรษฐกิจนอกเหนือไปจาก 2 แนวทางที่รู้จักกันคือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจที่รัฐกำกับควบคุม (สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์)….”

          เมื่อประชาชนอยากมีชีวิตที่มีความหมายมากกว่าอดีตที่เป็นลูกจ้างเอกชนโดยทำงานเพื่อทำให้เจ้าของทุนร่ำรวย จึงเกิดมีทางเลือกที่ถึงแม้จะทำงานแบบเดิมแต่กำไรสู่สังคม

          SE สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าแต่ละคนทำงานเพื่อให้ตนเองมีรายได้ แต่แรงงานที่ทุ่มเทไปนั้น (“ท้องถิ่น”) เป็นไปเพื่อสังคม (“โลก”) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าตระหนักถึง “โลก” และกระทำสิ่งที่สมควรทำในระดับ “ท้องถิ่น”

          อย่างไรก็ดีมีอีกหลายสิ่งในโลกที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ Think Locally, Act Globally ซึ่งนำความวิบัติมาสู่สังคม เอาตัวอย่างชัด ๆ ก็ได้ คือโครงการจำนำข้าว เวลาคิดทำโครงการนั้นพอเห็นชัดว่าเพื่อ “กำไร” ส่วนตัว (“local”) และกระทำอย่างกว้างขวางไปถึงข้าวทุกเม็ดและผลที่เกิดก็คือหนี้ภาครัฐกว่า 400,000 ล้านบาท และความปั่นป่วนของสังคม (“global”) ปัจจุบันยังเหลือข้าวในสต๊อกที่เสื่อมคุณภาพลงไปทุกวันในปริมาณที่คนไทยทั่วประเทศบริโภคกันได้ทั้งปี

          ศึกช่วงสงกรานต์ของปี 2551 และ 2552 ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คนไทย ทั้งเสียเลือดเนื้อและแตกแยกเพราะใช้ลิ่มเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และกระทำในขอบเขตกว้างขวางโดยมิได้คำนึงถึงผลเสียต่อส่วนรวมแม้แต่น้อย นี่คือผลพวงของการ “คิดแคบ” เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและสร้างความ “กว้างขวาง” ในความวิบัติ

          ถ้าประยุกต์เรื่อง TGAL ให้กว้างขวาง นายกรัฐมนตรีคงอยากเห็น TGAL ในสังคมไทยปัจจุบันในรูปของการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและแต่ละคนประคับประคองกันในระดับย่อยจนเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ส่วนกลุ่มไม่เห็นด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คงเห็น TGAL เหมือนกัน คือ เห็นแก่เสรีภาพของประชาชนโดยรวม และกระทำโดยส่วนย่อย คือ การประท้วงของประชาชน อย่างไรก็ดีสำหรับประชาชนตรงกลางจำนวนมากนั้นเบื่อหน่ายการเมืองแบบที่เป็นมายาวนานของบ้านเราภายใต้การมีเสรีภาพ แต่สิ่งที่ได้มาคือประชาชนตัวเล็กลง บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย จนกระทั่งยอมสละเสรีภาพชั่วคราวในภาพรวมเพื่อจัดรูปกันใหม่ อย่างนี้ประชาชนก็คิดแบบ TGAL เป็นเหมือนกันนะ

          ในเรื่องผลประโยชน์ของชาติ Think Globally, Act Locally สอนให้ประชาชนนึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยแต่ละคนทำหน้าที่ของตนเองภายใต้ความเป็นพลเมือง ถึงจะผิดพลาดในการตัดสินใจในบางครั้งไปบ้างก็อภัยให้กันได้ตราบที่มองชาติเป็นหลัก

          การใช้วิจารณญาณที่ดีมาจากประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์ที่สั่งสมก็มาจากการใช้วิจารณญาณที่ไม่ดีมาก่อนบ้างในอดีต

“หนังตื่นเต้นชื่อการเมืองมาเลเซีย”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14
กรกฎาคม 2558

Photo by mkjr_ on Unsplash

          การเมืองไทยก่อนหน้านี้ว่ากันว่าปนไปด้วยเรื่องคอรัปชั่น การลุแก่อำนาจ และเรื่องชู้สาว แต่ขณะนี้การเมืองมาเลเซียกำลังจะแซงหน้าไปแล้วเพราะมีครบเครื่องข้างต้นราวกับหนังตื่นเต้นของฮอลลีวู๊ด และแถมด้วยฆาตกรรมผู้หญิงท้อง

          นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนาย Najib Razak กำลังโดนศึกหนักกระหน่ำเพราะถูกกล่าวหาทั้งเรื่องการใช้อำนาจ คอรัปชั่น ชู้สาว และฆาตกรรมอีกด้วย ไม่มีครั้งใดที่การเมืองมาเลเซียอื้อฉาวสุด ๆ เท่าครั้งนี้

          หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ลงข่าวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ว่าผู้ตรวจสอบของมาเลเซียได้พบว่ามีเงินไหลจากกองทุนที่มีชื่อว่า 1MDB (1Malaysia Development Berhad) จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี

          หลักฐานจากการสอบสวนว่านาย Najib เกี่ยวพันโดยตรงกับกองทุนนี้สอดคล้องกับข้อสงสัยที่มีมานานพอควร ซึ่งบุคคลที่ออกมากล่าวหาคือลูกพี่ อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเดย์ ผู้ตำหนินายกรัฐมนตรี พรรครัฐบาล (UMNO) และรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมานานพอควรในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องคอรัปชั่นจากกองทุนนี้

          กองทุน 1MDB ตั้งโดยนาย Najib ในปี 2008 โดยใช้เงินรัฐบาลเมื่อตอนเขาเป็น รองนายกรัฐมนตรีเพื่ออำนวยให้เกิดการลงทุนในตะวันออกกลาง หลังจากตั้งไม่นานก็ก่อหนี้มูลค่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อซื้อทรัพย์สินในด้านพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ เมื่อแผนการที่จะขายหุ้นพลังงานล้มเหลว กองทุนก็ประสบปัญหาในการชำระหนี้จนต้องเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างน้อย 2 ครั้ง

          เมื่อมีการเปิดเผยการดำเนินงานของ 1MDB ประชาชนก็เห็นความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของธุรกรรมของกองทุน สังเกตเห็นได้ว่ากองทุนมักจ่ายเงินซื้อทรัพย์สินจากบริษัทเอกชนในราคาที่สูงเกินจริง และบริษัทเหล่านี้ต่อมาบริจาคเงินให้การกุศลอีกทีโดยมีนาย Najib เป็นหัวเรือใหญ่ของกองทุนการกุศลในช่วงเวลาก่อนหน้าเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ในบางรัฐในปี 2013

          ผู้ร้ายของเรื่องนี้คือ นาย Jho Low หนุ่มนักต่อรองผลประโยชน์ธุรกิจตัวยง และเป็นเพื่อนของลูกเลี้ยงนาย Najib อีเมล์ที่รั่วออกมาระบุว่าเขากู้ยืมเงินก้อนใหญ่โดยใช้บริการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐโดยไม่มีการอนุมัติจากธนาคารกลาง ยิ่งไปกว่านั้นเขามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานร่วมลงทุนของกองทุนกับบริษัทน่าสงสัยใน ABU Dhubi จนกองทุนสูญเงินไป 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

          กองทุน 1MDB อื้อฉาวในหลายเรื่องเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนในลักษณะซื้อทรัพย์สินจากเพื่อนเศรษฐีที่คุ้นเคยผู้บริหารกองทุนในราคาแพงแต่เวลาขายกลับขายราคาถูกจนหนี้ท่วมกองทุน นอกจากนี้ยังยักย้ายถ่ายเทเงินแบบซ่อนเงื่อนเข้าบัญชีนาย Najib อีกดังกล่าวแล้ว

          อื้อฉาวเรื่องเงินทองไม่พอ คดีเก่าที่ค้างคาใจคนมานานก็เริ่มมีการขุดคุ้ยขึ้นมาอีกเพื่อเล่นงานนาย Najib เรื่องก็มีอยู่ว่าในปลายปี ค.ศ. 2006 มีล่ามแสนสวยชาวมงโกเลียถูกฆ่าอย่างทารุณ และเมื่อพิสูจน์ศพก็พบว่าเธอกำลังท้องอยู่ ตำรวจถูกแรงกดดันให้เหยียบเบรคในคดีฆาตกรรมนี้ถึงแม้จะรู้ตัวฆาตกรแล้วก็ตาม

          ในกลางปี 2007 เมื่อคดีถึงศาลมีคำให้การพาดพิงว่ารองนายกรัฐมนตรี Najib เกี่ยวพันกับคดีฆาตกรรมนี้และมีรูปถ่ายกับเธอที่มีชื่อว่า Altantuya Shaariibuu อย่างไรก็ดีมีความพยายามของฝ่ายรัฐที่จะลากคดีให้ยาวขึ้น ยิ่งสาวก็ยิ่งนำไปสู่หลายคำถามที่หาคำตอบไม่ได้

          ประชาชนข้องใจว่าเมื่อรองนายก Najib ปฏิเสธการเกี่ยวพันแต่เหตุใดจึงไม่ยอมให้การในศาล ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการกล่าวหาอีกว่าภรรยาของนาย Najib อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่เธอถูกฆ่าด้วย

          มีข่าวลือหลายกระแสตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ที่หนักสุดคือการเขียน Blog ของอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเดย์ว่าสมควรรื้อฟื้นคดีฆาตกรรมนี้ขึ้นมาว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นคนสั่งฆ่า ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดเผยของอดีตนายตำรวจที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกที่ซิดนีย์หลังจากโดนศาลมาเลเซีย สั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอร่วมกับเพื่อนตำรวจอีกคนในคดีนี้ ซึ่งทั้งสองเป็นอดีตบอร์ดี้การ์ดของนาย Najib เขาบอกว่ามีนายใหญ่สั่งให้เขาฆ่าโดยไม่ยอมเปิดเผยชื่อ เขาสารภาพว่าร่วมกับเพื่อนใช้ปืนยิงศีรษะ 2 นัด และระเบิดร่างซ้ำอีกครั้ง มิใยที่เธอจะคุกเข่าขอชีวิตว่ากำลังท้องอยู่

          คำกล่าวหาก็คือเธอถูกฆ่าปิดปากเพราะกลัวว่าจะไปเปิดเผยเรื่องการมี “เงินทอน” แก่ “ผู้ใหญ่” หลายคนจากการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ จากฝรั่งเศสและสเปนมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงที่ นาย Najib เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แค่นั้นไม่พออดีตนายกรัฐมนตรีมหาเดย์ยังวิจารณ์การซื้อเครื่องบินเจ็ทเพิ่มเติมอีกว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเพราะมีเพียงพอแล้ว และกระหน่ำซ้ำด้วยเรื่องการเกิดหนี้ 11,000 ล้านเหรียญของกองทุน 1MDB อีก

          รัฐบาลมาเลเซียโดนโจมตีอย่างหนักเรื่องการอ่อนซ้อมในการจัดการวิกฤตเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ที่หายไป 1 ลำอย่างไร้ร่องรอย และถูกยิงตกอีกหนึ่งลำ จนทำให้สายการบินก็มีปัญหาการเงินอย่างหนัก เมื่อบวกเรื่องเหล่านี้เข้าไปอีก นายกรัฐมนตรี Najib จึงประสบศึกหนักที่สุดในชีวิต เพราะมนุษย์นั้นชอบเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชู้สาว ฆาตกรรม คอรัปชั่น อำนาจ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (เราถึงเห็นพล๊อตของละครตอนหัวค่ำและภาพยนตร์นานาประเทศวนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้) และมีความเอนเอียงที่จะเชื่ออย่างที่ตนเองอยากเชื่อ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงจบลงได้ยาก

          ล่าสุดสื่อต่างประเทศได้รายงานความยอกย้อนของธุรกรรมเงินกองทุนอย่างละเอียดว่าไหลไปที่ไหน และสุดท้ายไปเข้าบัญชีใครได้อย่างไร มีทั้งสำเนาเอกสาร Infographic รายละเอียดยอดเงิน วันที่โอน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารและชื่อผู้เกี่ยวพันในหลายประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงบุคคลหลายคนที่รายล้อมนายกรัฐมนตรี ความหนักแน่นของหลักฐานทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ตัวนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และพรรค UMNO จนรัฐบาลต้องออกมาขู่บังคับให้ The Wall Street Journal ชี้แจงคำกล่าวหา มิฉะนั้นจะฟ้องร้องข้อหาละเมิดกฎหมายลับการเงินและกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หลังจากที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้เผยแพร่เอกสารธนาคาร 9 ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้

          ถ้าข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นความจริงทั้งหมด ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมชั่วนั้นย่อมนำไปสู่ความเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ จากการฉ้อฉลเงินหลวงไปสู่การลุแก่อำนาจ ความรุนแรงปิดปากผู้รู้เห็นโดยการฆ่าภายใต้อำนาจที่มีล้นหลามและระหว่างทางก็มีเรื่องชู้สาวแถมอีกด้วย

          สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกประเทศ เพราะมันมิได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่ หากเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเกือบทุกประเทศ ถ้าตัวละครในขณะที่มีอำนาจตาไม่มืดมัวตระหนักว่า สิ่งชั่วร้ายที่ได้ทำไว้นั้นมีโอกาสถูกขุดคุ้ยขึ้นมาในภายหลังเสมอ เหตุการณ์เช่นนี้ก็คงเกิดขึ้นน้อยลง

          ความละอายต่อบาปอาจไม่สามารถหยุดยั้งความชั่วร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การเรียนรู้ว่าคนที่จะกระทำสิ่งเลวร้ายได้นั้นต้องมีลักษณะพิเศษคือ “ใจกล้า-หน้าทน-กล้าผจญความเครียด” ก็อาจฉุดไว้ได้บ้าง ใครที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ จงอยู่ให้ไกล

ตื่นใจกับเรื่องน่ารู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7
กรกฎาคม 2558 

Photo by mauro mora on Unsplash

          ในยุคที่คนไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ต้องใช้ความคิดริเริ่มขวนขวายหาอะไรใหม่ ๆ มานำเสนอผู้อ่าน เรียกว่าสู้กันเลือดสาดจนผู้อ่านได้รับรู้อะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและยากที่จะได้รู้ภายใต้เหตุการณ์ปกติ

          นิตยสาร Time ฉบับ July 6 / July 13, 2015 นำเสนอเรื่องน่ารู้มากมาย ผู้เขียนอ่านแล้วอดใจไม่ได้ ขอเลือกบางเรื่องมานำเสนอต่อในที่นี้

          สิ่งที่เขาทำก็คือเปลี่ยนข้อมูลเป็นคำตอบและนำเสนอในรูปของ infographic (information + graphic) ที่เข้าใจง่ายและงดงาม วิธีการเช่นนี้เรียกกันว่า data journalism

          เรื่องแรกคือการนำเสนอคำตอบต่อคำถามที่ว่า “นั่งตรงไหนของเครื่องบินจึงจะปลอดภัยที่สุด” การวิเคราะห์ใช้ข้อมูลจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินอย่างกว้างขวางและย้อนหลัง 30 ปี และพบว่าหลังจากเกิดอุบัติเหตุไฟอาจไหม้ทั้งลำภายใน 2-3 นาที ดังนั้นจึงมีกฎให้ทุกคนออกจากเครื่องบินภายในเวลาไม่เกิน 90 วินาที โดยประตูออกต้องห่างจากกันไม่เกิน 18 เมตร

          ส่วนที่อันตรายที่สุดคือที่นั่งริมทางเดินในบริเวณกลางลำ ส่วนที่อันตรายรองลงมาคือหนึ่งในสามของที่นั่งทั้งหมดที่อยู่ในส่วนหน้า (ชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจนั่นแหละ) ส่วนที่ปลอดภัยที่สุดคือหนึ่งในสามของที่นั่งที่อยู่ท้ายลำ ซึ่งที่ปลอดภัยมากกว่าเพื่อนก็คือที่นั่งตรงกลาง (อยากรอดตายก็ต้องทนทรมานมากหน่อยทั้งอึดอัดและโคลงเคลง) โดยเฉพาะที่นั่งตรงกลางของแถวท้ายสุดของเครื่อง

          โอกาสรอดของคนที่นั่งริมทางเดินตรงกลางลำซึ่งอันตรายที่สุดน้อยกว่าที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดซึ่งอยู่ท้ายลำร้อยละ 58 ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดของเครื่องบินคือตอน takeoff และ ตอน landing งานศึกษาพบว่าผู้โดยสารเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ดูการสาธิตการใช้อุปกรณ์ตอนฉุกเฉิน และร้อยละ 89 ของผู้โดยสารไม่อ่านใบระบุสิ่งที่ต้องทำเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินที่ใส่ไว้ในกระเป๋าหน้าที่นั่ง

          เรื่องที่สองคือคำตอบของคำถามว่า “อะไรคือการออกกำลังกายที่ได้ผลที่สุด” คำตอบคือการออกกำลังกายดีทั้งนั้น จะออกวิธีไหนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ซึ่งมีด้วยกัน 5 อย่าง

          อย่างแรกเพื่อความอึดและแข็งแรงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ (aerobic exercise ทำให้อากาศเข้าปอดได้ดีขึ้น) วิธีคือการวิ่ง ขี่จักรยาน และว่ายน้ำ อย่างที่สองคือเพื่อจิตและสมองที่คึกคัก การเดินอย่างเร็วคือวิธีการ เพราะงานศึกษาพบว่าทำให้จิตปลอดโปร่งและอาจช่วยกระตุ้นส่วนของสมองที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้

          อย่างที่สามเพื่อความคล่องตัว การยืดเส้นสายช่วยทำให้เกิดความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว โยคะคือวิธีการหนึ่งที่ได้ผล อย่างที่สี่เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เมื่อมีอายุมากขึ้นก็สูญเสียกล้ามเนื้อมากขึ้น การยกน้ำหนักช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกและเอ็นแข็งแรงขึ้น อย่างที่ห้าเพื่อลดน้ำหนัก งานศึกษาพบว่าการออกกำลังกายหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ และซ้ำ ๆ (กรรเชียง เรือบนบก หรือวิ่งอย่างเร็วและหยุดเป็นพัก ๆ) ช่วยลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี

          เรื่องที่สามคือการเอาคำในภาษาอังกฤษมาผสมกันเพื่อให้เกิดคำใหม่เพื่อสื่อความหมายได้ตรงเป้าและลึกซึ้งขึ้น ดูทันสมัยและกระชับ อย่างไรก็ดีบางคำก็ไม่เป็นที่นิยมและจางหายไปในที่สุด

          จากการสำรวจพบว่าคำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรียงลงไปมีดังนี้ sexpert (sex + expert) / bromance (brother + romance) / frenemy (friend + enemy) / dramedy (drama + comedy) / affluenza (affluent + influenza หรือรวยกันไปทั่ว)

          ส่วนคำที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อคือคำว่า framily (friends + family) / coopetition (cooperation + competition) และ swacket (sweater +jacket)

          เรื่องที่สี่คือสถิติเกี่ยวกับ Midori Goto นักเล่นไวโอลินเพลงคลาสสิกฝีมือสุดยอดระดับโลกชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น เธอเล่นเดี่ยวครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี และตั้งแต่นั้นมาจนอายุ 43 ปี ในปัจจุบันทุกการแสดงของเธอ บัตรเข้าชมจะขายหมดเกลี้ยง ชีวิตของเธออุทิศเวลาและเงินทองให้การศึกษาดนตรีและการกุศล

          ตอนเด็ก ๆ เธอฝึกซ้อมวันละ 5 ชั่วโมง ปัจจุบันวันละ 4 ถึง 6 ชั่วโมง เธอมีชุดเพลงใน CD 16 แผ่น แสดงคอนเสิร์ตสำคัญปีละ 100 ครั้ง นอนคืนละ 6 ชั่วโมง ไวโอลินของเธอสร้างเมื่อ ค.ศ. 1734 (ไวโอลินมีมูลค่ากว่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโดย Guarneri del Gesù ช่างผลิตไวโอลินมือเลิศคนหนึ่งของโลก)

          ชาวโลกรู้จักเธอในนามของ Midori เธอเกิดที่เมืองโอซาก้า แม่เธอค้นพบความอัจฉริยะทางดนตรีของเธอเมื่อเธอฮัมทำนองเพลงของ Bach ซึ่งแม่เธอเล่นไวโอลินเมื่อ 2-3 วันก่อนตอนเธออายุได้ 2 ขวบ แม่เธอจึงซื้อไวโอลินขนาดเล็กและเป็นผู้สอนให้เธอเล่นไวโอลิน เธอเล่นไวโอลินเพลงคลาสสิกในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกตอนอายุ 6 ขวบ ที่โอซาก้า เมื่ออายุได้ 11 ปี เธอกับแม่ก็ไปอยู่ที่นิวยอร์กเพื่อเรียนไวโอลินอย่างจริงจัง ที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์แห่งความน่าอัศจรรย์ของผู้หญิงเอเชียคนนี้ทางดนตรี

          สุดท้ายคือเรื่องของสัตว์ที่อันตรายที่สุด 5 ชนิด ยุงคือสัตว์ที่ดุร้ายที่สุด ฆ่ามนุษย์ ปีละ 755,000 คน รองลงมาคือหอยทาก 200,000 คน (คนกินไข่ที่อยู่ในน้ำซึ่งเข้าไปเพาะตัวจนทำให้ ตกเลือด) งู 94,000 คน และสุนัข 61,000 คน แมลงมีพิษ 12,000 คน ตัวเลขเหล่านี้อาจดูสูงแต่เมื่อดูตัวเลขรวมของการฆ่าฟันกันทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองแล้วสูงกว่าจำนวนที่สัตว์ฆ่าเป็นอันมากเพราะในแต่ละปีมีคนตายจากอุบัติเหตุรถยนต์และฆาตกรรมรวมแล้วปีละประมาณ 1.6 ล้านคน

          การแปรเปลี่ยนตัวเลขเป็นความรู้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์เผ่าพันธุ์ Homo sapiens ผู้มีความสามารถทางการคิดวิเคราะห์เป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวงอย่างไม่อาจเทียบกันได้แม้แต่หนึ่งเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ดีเผ่าพันธุ์นี้กำลังทำลายล้างโลกที่สรรพสัตว์อาศัยอยู่ด้วยกันมานับล้าน ๆ ปี ด้วยการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดความสมดุล

          ความรู้ข้างต้นและอื่น ๆ ไม่ว่าจะพิสดารและน่าตื่นใจเพียงใดก็ตามจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าไม่มีโลกใบนี้ให้เราอยู่อาศัย

Civility กับความสุขในงาน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30
มิถุนายน 2558 

Photo by Hybrid on Unsplash

          ถ้าถามว่า “สิ่งเล็ก ๆ” ใดที่ประกอบกันเป็นแรงผลักดันให้บุคคลหนึ่งประสบความสำเร็จในการงานก็ขอตอบว่าการมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน การมีมารยาท ความมีมิตรไมตรี การให้เกียรติคนอื่น การมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘civility’ คำตอบนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุน

          Christine Porath อาจารย์ที่ McDonough School of Business ที่ Georgetown University ได้ยืนยันไว้ในข้อเขียนใน International New York Times เมื่อเร็ว ๆ นี้

          ทุกคนคงจะรู้สึกคล้ายกันที่ไม่ชอบคนมารยาทไม่ดี พูดจาไม่ระรื่นหู กิริยาวาจาหยาบ ท่าทีไม่เป็นมิตร หน้าบึ้งบอกบุญไม่รับ ขาดน้ำใจ ไม่ให้เกียรติคนอื่น ฯ ในที่ทำงานใดหากได้คนเช่นนี้มาเป็นหัวหน้าจะทำให้เหล่าลูกน้องอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น

          ในอดีตผู้คนตระหนักถึง civility ว่าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ในสังคมไทยเราหนังสือ “สมบัติผู้ดี” (พ.ศ. 2455) แต่งโดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ระบุเป็นข้อ ๆ ว่า “ผู้ดี” คือ “คนที่ประพฤติปฏิบัติดีทั้งกาย วาจา และใจ” ควรกระทำและหลีกเลี่ยงอะไร ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือการสอนให้มี civility นั่นเอง

          เรื่องราวในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับ civility ก็คือกฎของการมี civility 110 ข้อ ซึ่งประธานาธิบดีคนแรกคือ George Washington ลอกด้วยลายมือตนเองตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี (ค.ศ. 1748) จากกฎที่พระฝรั่งเศสได้บัญญัติไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1595 ดังที่รู้จักกันในชื่อของ “Rules of Civility and Decent Behavior in Company and Conversation”

          สองตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นคน civil ของคนสมัยก่อน ในปัจจุบันเราเห็นความสำคัญของการเป็นคนลักษณะนี้กันน้อยลง ความเครียดในที่ทำงานจึงมีมากขึ้น มีความขัดแย้งกันในชีวิตประจำวันมากขึ้น และเราประสบกับความหยาบคายของมนุษย์มากขึ้น

          หนังสือ “Why Zebras Don’t Get Ulcers” (1994) โดย Robert M. Sapolsky แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ระบุว่าผู้ที่มีประสบการณ์กับตัวสร้างความเครียด เช่น incivility (ลักษณะตรงข้ามกับ civility) นาน ๆ และบ่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีปัญหา ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพโดยเจ็บไข้เป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน แผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ

          ตัวสร้างความเครียดซึ่งอาจมาในรูปของประสบการณ์โดยตรงจาก incivility หรือพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว หรือแม้แต่นึกถึงมัน ทำให้ระดับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า glucocorticoids มีระดับสูงขึ้นตลอดวันซึ่งอาจทำให้เกิดความเจ็บไข้ขนาดหนักขึ้นได้ เพิ่มความรู้สึกอยากกินอาหารและความอ้วนที่ตามมา

          คนที่สร้างความเครียดได้อย่างมากก็คือเจ้านายผ่านการมี incivility ซึ่งมักมาในหลายรูปแบบ เช่น เดินหนีจากการพูดคุยเพราะหมดความสนใจ ชอบหักหน้าคน เย้ยหยันลูกน้องต่อหน้าคนอื่นโดยเอาจุดบกพร่องหรือเรื่องส่วนตัวมาพูด พูดจาประชดประชัน เตือนลูกน้องให้ตระหนักถึงบทบาทหรือตำแหน่งต่ำกว่าตนในองค์กร ชอบเอาหน้าจากความสำเร็จแต่โทษคนอื่นเมื่อล้มเหลว ชอบยกตนข่มท่านรับโทรศัพท์กลางที่ประชุม ฯลฯ incivility ที่ประสบเช่นนี้จะมีผลทางลบต่อสุขภาพของลูกน้องโดยทั่วหน้า

          Christine Porath อยากรู้ว่าเหตุใดผู้นำองค์กรบางคนจึงมีพฤติกรรมของ incivility โดยศึกษาใน 17 อุตสาหกรรม ก็พบว่ากว่าครึ่งบอกว่าเพราะงานหนักเกินไป และมากกว่าร้อยละ 40 บอกว่าไม่มีเวลาพอที่จะเป็นคน civil

          คนที่บอกว่าไม่มีเวลาพอนั้นคงลืมไปว่าการได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่น ๆ โดยเฉพาะลูกน้องนั้นไม่ได้ใช้เวลาเพิ่มแต่อย่างใด น้ำเสียง และกิริยาท่าทางที่ไม่ต้องใช้คำพูดที่เรียกว่าภาษากายก็สามารถสื่อ civility ได้

          การสำรวจหมอและพยาบาล 4,500 คน พบว่าร้อยละ 71 มีความเห็นว่าพฤติกรรม หยาบคายตลอดจนการใช้คำพูดก้าวร้าวของบุคลากรทางการแพทย์ต่อกันมีผลทำให้เกิดความผิดพลาดซึ่งทำให้มีคนป่วยตายมากกว่าที่ควรจะเป็น

          งานวิจัยของ Deborah MacInnis และ Valerie Folkes แห่งมหาวิทยาลัย Southern California พบว่าผู้คนมีทางโน้มที่จะไม่กลับมาเป็นลูกค้าธุรกิจอีกหากมีความรู้สึกว่าในองค์กรนั้นมีลูกจ้างที่หยาบคาย ไม่ว่าจะหยาบคายกับตนเองหรือพบเห็นการหยาบคายกับลูกจ้างคนอื่น ๆ เนื่องจากลูกค้ามักจะด่วนสรุปจากเหตุการณ์ที่เห็นว่าเป็นองค์กรที่ไม่พึงปรารถนา

          งานวิจัยพบว่าสาเหตุที่เจ้านายบางคนไม่มี civility ก็เพราะเกรงว่าจะทำให้ดูเป็นผู้นำน้อยลง จะทำให้ถูกหาประโยชน์และอาจทำให้อำนาจของตนลดน้อยลง ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าการจะได้ความเคารพนับถือจากลูกน้องนั้น civility เป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากมนุษย์ใช้คำพูด การกระทำ และปฏิบัติกิริยาจากคนอื่นเป็นสิ่งกำหนดว่าตนเองเป็นอย่างไร ความเชื่อว่าคนอื่นมองเราอย่างไรมีส่วนอย่างสำคัญมากในการทำให้เราเป็นคนอย่างไร เมื่อได้รับ “สัญญาณ” จากคนอื่นผ่าน civility ว่ายอมรับนับถือ เราจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนมีคุณค่า ดังนั้น civility จึงเป็นสิ่งที่ดึงมนุษย์ขึ้นมา ในขณะที่ incivility เหยียบคนลงเพราะมันทำให้เขารู้สึกว่าตัวเล็กลง

          Christine Porath เสนอว่าผู้นำสามารถชนะใจลูกน้องและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานได้ด้วยการปรับตัวให้มี civility เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ตั้งใจฟัง ยิ้ม แบ่งปัน และขอบคุณลูกน้อง ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ civility เกิดขึ้นแล้วก็เป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายในที่ทำงานได้ไม่ยากอีกด้วย

          งานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่าบุคลิกภาพที่เกี่ยวพันกับความล้มเหลวของผู้บริหารได้แก่ความไม่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนอื่น การสร้างความรำคาญอันเกิดจากความหยาบคายและความไม่เป็น ‘คนน่ารัก’ และสไตล์การทำงานแบบข่มขู่ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับ incivility ทั้งสิ้น

          คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานมักเป็นคน civil เนื่องจาก civility เป็นพลังบวกซึ่งสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความรักชอบพอและชื่นชมจากคนรอบข้างจนได้รับความร่วมมือในการทำงาน ผู้คนอาจลืมการกระทำหรือสิ่งที่คนอื่นพูด แต่เขาจะไม่มีวันลืมความรู้สึกดี ๆ ที่ทำให้ตัวเขารู้สึกได้เลย

          บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนพูดว่าไม่เสียใจกับสิ่งที่ได้ทำไป แต่เสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำในตอนที่มีโอกาส civility กับคนรอบข้างในปัจจุบันคือโอกาสของทุกคนแล้วครับ

กาสิโนกับก้อนหินถามทาง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23
มิถุนายน 2558

Photo by Michał Parzuchowski on Unsplash

          การถกเถียงเรื่องอนุญาตให้เปิดบ่อนกาสิโนในบ้านเราเป็นเรื่องเก่าเสมือนคุ้นเคยมาแต่ชาติที่แล้ว ถ้าไม่ไร้เดียงสาจนเกินไปก็คงรู้ว่าการที่มีกลุ่มคนออกมาเสนอให้ทางการอนุญาตก็คือการโยนก้อนหินถามทาง ทางเลือกสำหรับผู้เขียนดูจะมีสองทางเลือกคือโยนก้อนหินไปในอากาศคืนกลับไปกลางวง กับวางก้อนหินบนพื้นเพื่อร่วมสร้างทางเดินไปสู่ความวิบัติของสังคม

          กลุ่มโอเปร่าผู้เห็นชอบร่วมประสานเสียงสอดคล้องกันโดยมีเหตุผลสนับสนุนหลักคือบ้านเราต้องเสียเงินทองมากมายให้บ่อนของประเทศข้างบ้าน แถมเสียโอกาสที่จะหารายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาบ้านเราโดยเฉพาะหลังจากเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว

          ข้อถกเถียงนี้คล้ายกับเรื่องสมมุติให้ anabolic steroid ซึ่งเป็นสารต้องมีใบสั่งแพทย์เพราะเป็นยาอันตรายหากใช้โดยไม่มีคำแนะนำที่ดีก็อาจตายได้เพราะมันจะทำลายไต ทำให้โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดต่ำลง ชนิดเลว (LDL) พุ่งสูงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูง บั่นทอนการทำงานของหัวใจห้องซ้าย ฯลฯ ผลดีก็ได้แก่ทำให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ กินอาหารอร่อย รู้สึกสบาย กล้ามเนื้อแข็งแรง ออกแรงได้ทนนาน ฯลฯ

          ปีหนึ่ง ๆ เราใช้สารนี้กันมหาศาล (อยู่ในลูกกลอน ยาผีบอกที่ไม่มี อย. ก็แยะ) เสียเงินตราต่างประเทศมากมาย ถ้าเราผลิตในบ้านเราเองและเปิดเสรีให้ซื้อกันได้ถูกกฎหมาย เหมือนเปิดบ่อนถูกกฎหมาย เงินก็ไม่ไหลไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังขายให้ต่างชาติได้เงินเข้าประเทศอีกด้วย คนไทยและต่างประเทศจะป่วยจะตายอย่างไรเป็นเรื่องความเสี่ยงของแต่ละคน

          เรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติเพราะการอนุญาตยาอันตรายอย่างเสรีไม่ใช่เรื่องที่แต่ละประเทศสามารถตัดสินใจได้ แต่ตรรกะในการเปรียบเทียบกับการอนุญาตเปิดบ่อนกาสิโนไม่ต่างกันคือเปิดเสรีเพื่อเงิน โดยไม่คำนึงผลเสียทางสังคมที่จะเกิดขึ้น

          ชีวิตคนไม่ใช่เรื่องตื้น ๆ ของตัวเลขเงินเหรียญและบาทที่ได้มาจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศหรือกำไร การมีบ่อนกาสิโนในสังคมมีผลกระทบด้านลบกว้างขวาง มีต้นทุนทางสังคมสูงและซับซ้อนกว่าผลตอบแทนการเงิน ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้

          (1) บ่อนกาสิโนเปิดช่องให้การฟอกเงินในบ้านเราเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น เป็นที่รู้กันดีในภูมิภาคว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่การฟอกเงินมีความคึกคักยิ่ง ทั้งฟอกเงินกันเองภายในและฟอกเงินจากนอก

          ฟอกเงินง่าย ๆ ของข้าราชการพ่อค้าและนักการเมืองก็คือซื้อล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัลแล้ว ซื้อธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ ซื้อของเก่า ซื้อเพชรนิลจินดา สังหาริมทรัพย์ที่มีค่าสูง ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีการใช้เงินต้นน้ำ เช่น เอาเงินสกปรก 4.5 ล้านบาทมาซื้อล็อตเตอรี่ใบรางวัลที่ 1 มูลค่า 4 ล้านบาท เพื่ออธิบายได้ว่ามีเงินอย่างถูกกฎหมายมาจากไหน แต่ในกรณีของบ่อนกาสิโนนั้นสะดวกกว่าเพราะไม่ต้องใช้เงินต้นน้ำ

          ถ้าคนเหล่านี้สนิทสนมกับเจ้าของบ่อนผู้ได้รับสัมปทาน หรือเป็นผู้มีอิทธิพลก็สามารถบีบเจ้าของบ่อนได้ สามารถอธิบายที่มาของความร่ำรวยจากการร่วมปั่นหุ้น รีดไถ กินหัวคิว คอรัปชั่น ฯลฯ ได้สบายมากโดยการขอใบยืนยันจากบ่อนว่าได้เงินก้อนใหญ่จากการพนัน (รัฐมนตรีคนหนึ่งที่โดนยึดทรัพย์อ้างว่าได้เงินจากบ่อนในออสเตรเลีย แต่หาใบยืนยันไม่ได้) การเปิดช่องให้ ฟอกเงินได้ง่ายเช่นนี้คือการสนับสนุนคอรัปชั่นทางอ้อม

          อย่าบอกว่าบ่อนต้องมีระบบบัญชีที่ดี มีการตรวจสอบ จะทำเช่นนี้ได้อย่างไร ก็ขอถามว่าแล้วทำไมข้าราชการไทยกับเอกชนสามารถสมคบกันโกงภาษีมูลค่าเพิ่มได้นับพันนับหมื่น ล้านบาทมาหลายปี ทั้ง ๆ ที่มีระบบข้อมูลที่ดีเลิศ การออกใบยืนยันแค่นี้นั้นเป็นเรื่องเล็กมากในประเทศไทย

          (2) บ่อนกาสิโนทำให้เด็กและผู้ใหญ่เห็นว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ ขนาดรัฐบาลยังอนุญาตให้เล่นการพนันกันเป็นหมื่นเป็นแสนบาทเลย แล้วการเล่นไพ่กินเงิน ปั่นแปะ พนันฟุตบอล เล่นหวยปิงปอง หวยหุ้น หวยรัฐบาล ฯลฯ มันจะอะไรกันนักกันหนา เราคาดเดาได้ว่าการกระจายตัวของการพนันในทุกระดับจะเกิดขึ้นเพราะคนไทยชาชินกับมัน (เมื่อก่อนคนไทยแต่งงานกับฝรั่งเป็นเรื่องแปลก ปัจจุบันเป็นเรื่องปกติและโก้เก๋สำหรับคนบางกลุ่มเอาด้วย) คงไม่มีใครอยากเห็นสังคมเรามีทางโน้มสู่อบายมุขเช่นนี้เป็นแน่

          (3) บ่อนกาสิโนที่พัทยา (อ้างว่าอยู่ในแหล่งคอมเพล็กซ์บันเทิง ฟังแล้วคุ้นหูจัง) หรือสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ชุมชนจะทำให้สะดวกต่อการเล่นการพนันกว่าเมื่อก่อน การไปบ่อนนอกประเทศเป็นเรื่องของคนมีเงินเดินทางและมีเงินเล่น บัดนี้คนไม่มีเงินมากก็เดินเข้าไปเล่นได้ และเล่นอย่างไม่ต้องห่วงพะวงกลัวถูกจับเหมือนบ่อนผิดกฎหมายในปัจจุบัน

          อย่าบอกว่าจะมีการตรวจสถานะการเงิน ตรวจบัตรคนเข้าไปเล่น มีกล้องวีดิโอจับภาพ มีมาตรการเข้มงวดห้ามคนไม่มีเงินเข้าไปเล่น ฯลฯ ลองดูบ่อนที่มะนิลาและจาร์กาต้า ก็จะเห็นว่าตอนเริ่มต้นก็มีมาตรการแบบเดียวกัน แต่ต่อมาคนขับแท็กซี่ คนใช้แรงงาน คนชั้นกลางใส่รองเท้าแตะเข้าไปเล่นกันโจ๋งครึ่ม เมื่อมาตรการของเรามีลักษณะ ‘ไฟไหม้ฟาง’ มาตลอดและการบังคับใช้กฎหมายของเราอ่อนแอ มันก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะอาชญากรรม เพราะคนไม่รักดีชอบคิดอย่างเขลา ๆ ว่าบ่อนเป็นแหล่งที่สามารถเพิ่มจำนวนเงินที่จี้ปล้นมาได้หลายเท่า หรือติดการพนันจนต้องประกอบมิจฉาชีพ

          (4) บ่อนกาสิโนถูกกฎหมายเป็นการเพิ่มจำนวนบ่อนให้คนเล่นได้เสียหายมากขึ้น เพราะพูดได้เลยว่าบ่อนผิดกฎหมายในเมืองใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะไม่หายไป (มีหวยรัฐบาลมานานแต่ก็ยังมีหวยใต้ดิน ประสบการณ์ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็เหมือนกัน) คนเล่นมีรสนิยมในการเล่นการพนันหลายแบบที่อาจไม่ตรงกับบ่อน ระยะทางเดินทาง การเอาใจให้เครดิตของ บ่อนเถื่อน ความสะดวกและเคยชิน ผลประโยชน์ ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้บ่อนเดิมคงอยู่จำนวนหนึ่ง

          บ่อนกาสิโนจึงเป็นช่องทางให้เกิดการขยายตัวของการพนันมากยิ่งขึ้นในหมู่ผู้มีเงิน ผู้พอจะมีเงิน และผู้มีเงินจากการกู้ยืม การพนันสร้างความเสื่อมเพราะทำให้คนเล่นเห็นคุณค่าของการทำงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวซึ่งเป็นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจน้อยลง (การพนันเป็นการโอนเงิน มิใช่กิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด) การหมกมุ่นในการพนันทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสได้รายได้ ทำให้เกิดการสูญเสียการผลิตของประเทศ

          การพนันไม่เคยทำให้คนรวยได้ยั่งยืนยกเว้นแต่จะเป็นเจ้ามือ งานวิจัยพบว่าการพนันทำให้คนเล่นเสียเปรียบและไม่มีวันรวยได้เพราะจิตวิทยาของมนุษย์ในเรื่องการพนันก็คือเมื่อได้มาก็จะกลับไปเล่นอีก และ “เสีย” ในที่สุด

          การพนันเป็นความบันเทิงสำหรับคนมีเงินที่รู้ขอบเขตของการเล่น คนในประเทศพัฒนาแล้วและคนมีการศึกษาส่วนใหญ่มีลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ดีคนจนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันออก การพนันคือความบันเทิง การเสี่ยงโชค และการทำงานผสมปนเปกัน คนจนที่มีอยู่มากมายในประเทศนี้จะเป็นเหยื่อของนายทุนการพนันเพราะมีโอกาสที่จะเล่นพนันอย่างสะดวก และบ่อยครั้งโดยไม่มีขอบเขต

          สังคมไทยมีหลายสิ่งที่เป็นจุดอ่อนไม่ว่าจะเป็นการขาดตรรกะในการคิดอย่างมีเหตุมีผล การขาดวินัย ความฟุ้งเฟ้อในการดำเนินชีวิต ฯลฯ การแพร่กระจายของการพนันผ่านการเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ตลอดจนความสะดวกคุ้นเคยง่ายดายยิ่งขึ้นเมื่อมี บ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย (เดาได้ว่าจาก 1 จะเพิ่มเป็น 2 เป็น 4 และเมื่อมีแล้วก็ยากที่จะเลิกได้) อยู่ใกล้บ้าน การพนันทำให้ชีวิตมีความสุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น บ้านที่เคยมีให้ครอบครัวพักพิงตอนหัวค่ำอาจหายไปกลางดึกได้ในวงพนัน

          แนวคิด “ชีวิตพอเพียง” “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหัวใจของการสร้างชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน ไม่สุ่มเสี่ยงต่อความผันผวนที่มากระทบ การพนันคือตัวบั่นทอนแนวคิดนี้เพราะเป็นตัวที่เพิ่มความสุ่มเสี่ยงให้แก่ชีวิต ทำไมเราต้องมีบ่อนเหมือนเพื่อนบ้าน เราจะมีอะไรดี ๆ สักอย่างที่ไม่เหมือนเพื่อนบ้านบ้างไม่ได้เชียวหรือ

          ผู้เขียนเข้าใจว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่ปรารถนาจะเห็นการปฏิรูป ไม่ว่าในเรื่องค่านิยมที่เหมาะสมสำหรับคนไทยในการปลอดอบายมุข ความมีวินัย การสร้างสังคมพอเพียงที่มั่นคง ฯลฯ ไม่นึกว่าจะได้ยินข้อเสนอเรื่องให้มีกาสิโนถูกกฎหมายเพียงเพื่อจะได้เงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ

          เราอยากเห็นข้อเสนอแก้ไขสังคมที่เป็นระบบชนิดที่เรียกว่าการปฏิรูป เราไม่ต้องการเห็นเพียง ‘ก้อนหิน’ ครับ

Internet of things

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16
มิถุนายน 2558

Photo by Markus Spiske on Unsplash

         ตู้เย็นที่บ้านส่งสัญญาณเตือนให้ซื้อไข่ไก่ เปิดเครื่องปรับอากาศจากระยะทางไกลเพื่อให้อุณหภูมิพอเหมาะก่อนถึงบ้าน เมื่อเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตมีข้อความบนมือถือทักทายระบุชื่อและสินค้าที่อยู่ในความสนใจลดราคาเป็นพิเศษ มีข้อมูลเรื่องการหายใจของทารกตลอดจนการ เต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกายตามเวลาจริงแก่พ่อแม่ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็น ผลพวงของสิ่งที่เรียกว่า internet of things (IoT)

          IoT คือเครือข่ายของสิ่งที่เป็นตัวตนจับต้องได้ (“things”) ที่มีสิ่งประดิษฐ์ electronic หรือ sensors หรือ software ฝังตัวอยู่ โดยเชื่อมต่อถึงกันเพื่อเพิ่มประโยชน์และคุณค่าของบริการโดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ผลิต กับ operator และ/หรือกับอุปกรณ์ที่มีสิ่งฝังตัวอยู่

          ตู้เย็นเตือนเรื่องไข่ไก่ได้ก็เพราะมี sensors ฝังตัวอยู่ในตู้ซึ่งส่งสัญญาณไปยังมือถือของเจ้าของตู้เย็นเมื่อพบว่าจำนวนไข่ไก่มีน้อยลง (อาจอยู่ใต้ฐานแผงวางไข่ไก่ เมื่อน้ำหนักเหลือน้อยก็ส่งสัญญาณ หรือรับสัญญาณสะท้อนมาจากจำนวนไข่ไก่ที่เหลือน้อย

          เครื่องปรับอากาศปรับอุณหภูมิได้ก็เพราะสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือติดต่อไปยังชิ้นส่วน electronic ที่ฝังตัวอยู่ในเครื่องปรับอากาศ

          RFID (Radio-frequency identification) ที่ฝังตัวอยู่ในรองเท้าส่งสัญญาณไปยังตัวรับที่อยู่ในร้านซึ่งมี profile ของรสนิยมบันทึกไว้ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่เก็บสะสมจากการซื้อในอดีต ร้านค้า ยิงข้อมูลตรงมาที่ลูกค้าที่เดินเข้ามาโดยเสนอสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงกว่าที่จะขายได้

          พ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกน้อยที่อยู่ห่างไกลไป สามารถรับข้อมูลชนิด real time จาก sensors และชิ้นส่วน electronic ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ที่อยู่ในห้องและส่งสัญญาณมาเข้าโทรศัพท์มือถือ

          ตัวอย่างข้างต้นกำลังเกิดขึ้นและจะมีมากกว่านี้อีกมาก ๆ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรียกว่า IoT ซึ่งเกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายของ ‘things’ (โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น เครื่องจักร RFIT อุปกรณ์จ่ายสัญญาณ) ที่มีชิ้นส่วน electronics / sensors / RFID / software / ชิบหรือวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ฝังตัวอยู่

          IoT เกิดขึ้นได้เพราะมีการนำเอาเทคโนโลยีในเรื่องต่าง ๆ เช่น การสื่อสารไร้สาย อินเตอร์เน็ต Micro-electromechanical systems (MEMS) ฯลฯ มาหลอมรวมกันจนเกิดเป็นประดิษฐกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน

          ไอเดียในเรื่องเครือข่ายของ smart devices ดังกล่าวข้างต้นมีมาตั้งแต่ปี 1982 โดยมีการสร้างตู้หยอดเหรียญซื้อโค้กที่ Carnegie Mellon University (เดิมชื่อ Carnegie Institute of Technology) ประดิษฐกรรมนี้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตเครื่องแรกของโลก ตู้นี้สามารถรายงานว่ามีสต๊อกเหลืออยู่กี่กระป๋อง กระป๋องที่ใส่เข้าไปเย็นหรือยัง ฯลฯ

          ในปี 1991 Mark Weiser เขียนบทความสำคัญชื่อ “The Computer of the 21th Century” และตามมาด้วยงานเขียนของนักวิชาการอีกหลายคนจนเกิดวิสัยทัศน์ในเรื่อง IoT ขึ้น

          ไอเดีย IoT พัฒนาเป็นลำดับจนเกิดโมเมนตัมในปี 1999 โดยเป็นความคิดในเรื่องการสื่อสารชนิด D2D (Device to Device จากอุปกรณ์ถึงอุปกรณ์ เช่น ตู้เย็นถึงมือถือ มือถือถึงเครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรถึงเครื่องจักร ฯลฯ)

          IoT ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ในตอนแรกคิดว่าการสื่อสารถึงกันผ่าน RFID เป็นเงื่อนไขสำคัญของ IoT โดยคิดว่าถ้าทุกสิ่งของและมนุษย์ทุกคนมี ID (identification) แล้ว คอมพิวเตอร์ก็สามารถจัดการได้เกือบทุกเรื่อง อย่างไรก็ดีเมื่อมีการพัฒนามากขึ้น ชิ้นส่วน electronics ก็หลากหลายชนิดขึ้น แต่ไอเดียของการมี ID ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มีประมาณการว่าก่อนหน้าปี 2020 ทั้งโลกจะมีอุปกรณ์ที่มีการฝังตัวเพื่อ IoT เกือบ 26,000 ล้านชิ้น

          เมื่อ IoT เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ทุก device ที่ตั้งอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวเพราะมนุษย์ (โทรศัพท์มือถือ) จำเป็นต้องมี ID ที่ไม่ซ้ำกัน (Unique identifier) จึงจะติดต่อถึงกันและกันได้ ดังนั้นจึงเกิด IPv4 (Internet Protocol Version4) ซึ่งเป็นระบบการให้ ID และที่อยู่ดังเรียกกันว่า IP Address ซึ่งก็ให้ได้เพียง 4,300 ล้าน จึงมีจำนวนไม่เพียงพอ IPv6 จึงถูกนำมาใช้แทนในปัจจุบันซึ่งให้จำนวน ID หรือ IP Address ได้มหาศาล (สามารถให้ IP Address ผ่าน IPv6 แก่ทุกอะตอมบนผิวโลกแล้วก็ยังมีเหลืออีก) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมนุษย์สามารถให้ ID หรือที่อยู่แก่ทุก device หรือทุก ‘things’ ในโลกได้

          ใน TED (เวทีพูดสรุปไอเดียใหญ่ ๆ ในโลกอย่างกระชับ / ดู application TED ใน YouTube) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Marco Annunziata ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยี IoT กำลังเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งเขาเรียกว่า Industrial Internet ซึ่งนำ intelligent machines มาเชื่อมต่อกันจนมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่สุดอย่างโลกไม่เคยเห็นมาก่อน

          ใบพัดลมที่ผลิตไฟฟ้าสามารถติดต่อถึงกันได้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปร่างของตัวใบพัดเองเพื่อรับลมให้ได้มากที่สุดเพื่อกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น MRI ที่ถ่ายภาพแล้วหมอผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้รับภาพพร้อมกันซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์ร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องบินส่งสัญญาณสื่อสารกับฐานรายงานให้ทราบถึงชิ้นส่วนที่อาจเสียเพื่อซ่อมแซมก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น

          การซ่อมแซมดูแลชิ้นส่วนก่อนเกิดปัญหาทำให้การบินปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ก่อให้เกิดเที่ยวบินล่าช้า สูญเสียรายได้โดยไม่จำเป็น ซึ่งการที่เครื่องบินจะทำเช่นนี้ได้ ภายในตัวเครื่องบินเองก็ต้องเป็น IoT กล่าวคือชิ้นส่วนทั้งหลายสื่อสารข้อมูลถึงกัน และเอาไปเปรียบเทียบกับสภาพปกติของการทำงาน หากผิดเพี้ยนไปก็ต้องรายงานไปยังเครื่องจักรอีกตัวหนึ่งเพื่อทดสอบ และต่อกันลงไปเป็นทอด ๆ จนรายงานฐานในที่สุด

          ในเรื่องการแพทย์ IoT ก็ก้าวไปไกลมาก telemedicine ซึ่งทำให้แพทย์ที่อยู่อีกแห่งไกลไปเป็นพันไมล์สามารถสื่อสารผ่าตัดคนไข้ได้ด้วยเครื่องมือ electronic ซึ่งการบังคับอยู่ที่หมอแต่มีดหมออยู่ที่ตัวคนไข้ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม

          ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีไลน์การผลิต หุ่นยนต์ตัวถัดไปสามารถตรวจสอบผลงานการขันน็อต ติดตั้งตัวถังของหุ่นยนต์ตัวก่อนหน้า ถ้าพบว่าบกพร่องก็แก้ไขให้ และส่งสัญญาณไปยังหุ่นยนต์ตัวถัดไปให้ดูแลรถยนต์คันนี้เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้มีโอกาสมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอีกได้เป็นอันขาด

          ตัวอย่าง IoT หนึ่งคือการกิน sensor เป็นเม็ดยาลงไปในกระเพาะเพื่อให้ส่งสัญญาณบอก เวลาที่ควรกินยาและควรเป็นยาใดเพื่อให้ได้ผลมากที่สุดเมื่อคำนึงถึงสภาพทางเคมีและชีวะที่กำลังเกิดขึ้นในลำไส้

          ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ IoT ที่เริ่มมีการนำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวัน และเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานมากขึ้นทุกที

          IoT หรือเครือข่ายของสิ่งของที่จับต้องได้ซึ่งมีชิ้นส่วน electronic ฝังตัวอยู่นั้น ‘things’ ที่เห็นบ่อยที่สุดตามคำจำกัดความของ IoT ก็คือโทรศัพท์มือถือซึ่งคนเป็นผู้บังคับ อย่างไรก็ดีในสภาพต่อไปมนุษย์ก็อาจเป็น ‘things’ ได้หากมีชิบหรือ IC (Integrated Circuit) ฝังอยู่ในตัวโดยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย

          Samuel Greengard ผู้เขียน “The Internet of Things” (2015) บอกว่า IoT จะผลิตข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาล (Big Data) ที่จำเป็นต้องมีผู้นำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ (ดังที่เรียกว่า data mining) ไม่ว่าในการค้า หรือการผลิต และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฐานนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของสิ่งรอบข้างและของพฤติกรรมมนุษย์

          IoT จะเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนอย่างนึกไม่ถึง แค่เพียงเวลา 8 ปี ของ “สังคม ก้มหน้า” ซึ่งตามคำจำกัดความเป็นลักษณะหนึ่งของ IoT เราก็เห็นกันแล้วว่าการใช้เวลาและความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปเพียงไร

          ถ้าตู้เสื้อผ้าบอกผมว่าวันนี้ยังไม่ได้นุ่งกางเกงใน ผมคงจะโกรธเพราะยุ่งกับเรื่องผมมากเกินไป แต่มันก็เตือนเพราะเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเอง สงสัยว่ามันจะรู้ดีกว่าผมหรือว่าในหน้าร้อนอย่างนี้มันอาจเป็นทางเลือกที่เข้าท่าก็เป็นได้

ปรากฏการณ์ dad bod

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9
มิถุนายน 2558 

Photo by Kelli McClintock on Unsplash

         คำสุดฮิตในภาษาอังกฤษในปัจจุบันคือ dad bod ซึ่งย่อมาจาก dad body การแพร่ กระจายของคำนี้อย่างบ้าคลั่งในอินเตอร์เน็ตในเวลาเพียง 2 อาทิตย์ บอกอะไรหลายอย่าง

          ชั่วเวลาข้ามคืน Pearson Mackenzie สาวน้อยวัย 19 ปี เรียนชั้นปีที่ 2 ที่ Clemson University ในรัฐ South Carolina ดังไปทั่วโลกจากข้อเขียนยาว 500 คำของเธอในเรื่องนี้ เธอเขียนอะไรจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดนี้

          Pearson เริ่มเขียนคอลัมน์ในสิ่งพิมพ์ระดับชาติชื่อ The Odyssey ซึ่งอ่านกันทั่วไปในหมู่นักศึกษาอเมริกันตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อคิวของเธอมาถึงในเดือนมีนาคม 2015 เธอก็ถามเพื่อน ๆ ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีที่แปลก ๆ เพื่อนก็แนะนำให้เขียนเรื่อง dad bod

          ข้อเขียนของเธอชื่อ “Why girls love dad bod” ในตอนต้นไม่มีคนสนใจมากนัก เมื่อข้อเขียนแพร่กระจายราวไฟไหม้ป่าเธอจึงแปลกใจมาก เธอดังขนาดรายการทีวี Good Morning America เชิญเธอออกรายการ

          Pearson เขียนว่าเพื่อนเธอคลั่งไคล้หนุ่มที่มีขนาดพุงเหมือนพ่อ (Dad Body) โดยให้คำจำกัดความว่า dad bod คือความสมดุลอันเหมาะสมระหว่างลงพุงเพราะเบียร์กับพุงที่มาจากการออกกำลังกายบ้าง เธอบอกว่า dad bod จะสื่อว่า “ฉันไปออกกำลังกายที่โรงยิมเป็นบางครั้ง แต่กินเบียร์หนักตอนเสาร์อาทิตย์ และมีความสุขที่จะกินพิซซ่าทีเดียว 8 ชิ้น คนลักษณะนี้ไม่เรียกว่าอ้วนแต่ก็ไม่ใช่คนที่มีหุ่นงามจนพอจะเป็นโมเดลโฆษณา”

          เธอเห็นว่า dad bod กำลังเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่ว ก่อนที่เธอจะเขียนคำนี้เธอไม่ได้คิดขึ้น แต่มีการใช้กันอยู่บ้างในอินเตอร์เน็ตก่อนหน้านี้ แต่คำนี้ดังก็เพราะเธอนำมาเขียนถึง

          เหตุผลที่สาว ๆ ชอบ dad bod ก็คือ (1) มันไม่ข่มพวกเรา หากถ่ายภาพในชุดบิกินี่กับหนุ่มหุ่นงาม กล้ามขึ้นเป็นมัด ซี่โครงขึ้นเป็นลูกระนาดแบบ Six-Pack (ชื่อที่เรียกเบียร์ที่ขายในอเมริกาซึ่งนิยมขายเป็นชุด 6 กระป๋อง ยึดติดกันด้วยแผ่นพลาสติก จนดูเรียงกันเป็นลอน) หญิงสาวจะรู้สึกด้วยและไม่มั่นคง พวกเราไม่ต้องการหนุ่มที่มีหุ่นงามราวกับรูปปั้น

          (2) เราอยากเป็นคนสวยน่ารัก เราอยากให้ใครเรียกเราว่าคู่ที่น่ารัก แต่เราก็ยังอยากเป็นจุดสนใจ เราอยากดูเป็นคนผอม ดังนั้นหากคู่กับคนมีพุงบ้างเราก็จะดูดี โดยเฉพาะเมื่อถ่ายรูปออกมา

          (3) เป็นนักกิน เจ้าของ dad bod กินทุกอย่างไม่เรื่องมาก โดยมีชีวิตเรื่องกินเหมือนคนปกติ

          (4) รู้ว่าจะได้อะไรมา เมื่อรู้ว่าหนุ่ม คู่รัก มีรูปร่างลักษณะใดเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะได้รู้ว่าเมื่อเป็นสามี และพ่อของลูกแล้วหุ่นจะเป็นอย่างไร (หนูรู้จักโลกน้อยไปหน่อยนะ) หุ่นอย่างนี้จะบอกให้รู้ว่าเราจะได้ชายรูปร่างแบบใดมาในอนาคต

          เหตุผลที่ Pearson บอกมาทั้งหมด ตลอดจนการแพร่กระจายของข้อเขียนในอินเตอร์เน็ตบอกให้รู้ว่า (1) เมื่อข้อเขียนใดโดนใจใครในโลกอินเตอร์เน็ตแล้ว มันไปได้ไกลและเร็ว มาก ๆ ด้วย สาว ๆ ที่นิยมชมชื่น dad bod ก็ส่งต่อกันไปอีกหลายทอด หนุ่ม ๆ ที่เริ่มลงพุงจะชอบมากที่สุดเพราะเพิ่งเอาชนะพวก Six-Pack ก็คราวนี้เอง

          (2) รูปร่างชายหนุ่มก็เป็นประเด็นได้ ไม่ใช่แค่ของหญิงสาวแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะพุงของชายซึ่งเคยเป็นปมด้อยก็สามารถกลายเป็นปมเด่นได้ ความสนใจถ้วนทั่วอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนในวัยหนุ่มสาวนั้นเขาสนใจเรื่องความสวยความงามของรูปร่างกันมากเพียงใด

          (3) dad bod คือสิ่งที่เป็นตัวแทนของ “คนปานกลาง” (ไม่ใช่หุ่นดีเลอเลิศ) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของมนุษย์ในทุกวัย ทุกแห่งทั่วโลก การชื่นชม dad bod ก็คือการชื่นชม ‘ความปานกลาง’

          (4) ไอเดีย dad bod ทำให้บรรดาชายหนุ่มสบายขึ้นเพราะไม่ต้องพยายามเป็น คนเพอร์เฟคอีกต่อไป เพียงแค่ ‘ปานกลาง’ ก็เป็นที่ยอมรับแล้ว การต้องออกกำลังกาย เข้าโรงยิมเพื่อความเป็น Six-Pack ไม่มีความสำคัญ “ความสบาย ๆ” สามารถปล่อยตัวกินอะไรตามใจได้ก็ใช้ได้แล้ว

          มีคนถามเธอว่าพ่อรู้สึกอย่างไรกับข้อเขียนนี้ เธอตอบว่าพ่อและเพื่อน ๆ พ่อชอบและบอกว่าเธอเป็นคนทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในรูปร่างของตนเองเป็นครั้งแรกในหลายปี

          dad bod เป็นที่กล่าวขวัญเพราะมันทำให้ผู้ชายลดความเครียดลงในการที่ต้องเป็นคน หุ่นงามเพื่อดึงดูดใจสาว บัดนาวมีคนมาบอกว่า ‘อ้วนลงพุง’ ก็ได้แล้วอย่างนี้จะไม่ชอบข้อเขียนได้อย่างไร

          ใครที่เอา ‘ข่าวดี’ อย่างนี้มาบอกก็อาจกลายเป็นดาราดังในอินเตอร์เน็ตได้ชั่วข้ามคืน ในสมัยโบราณผู้ที่เอาข่าวร้ายมาบอกอาจถูกตัดหัวได้ง่าย ๆ

          ในเวลาต่อไป mom bod อาจเป็นไอเดียดังก็ได้ แต่ถ้าหากเป็น grand mom bod คนที่เห็นโลกมามากเช่นผู้เขียนขอไม่มีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้น

John Nash แห่ง “A Beautiful Mind”

วรากรณ์ สามโกเศศ 
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2
มิถุนายน 2558

ที่มา https://www.scientificamerican.com/article/john-nash-mathematician-who-inspired-a-beautiful-mind-killed-in-car-crash/

         การประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตของ John Nash บุคคลสำคัญของโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้เตือนให้ นึกถึงคำพูดที่ว่าจุดสุดท้ายของคนไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เขาได้ทำมาในชีวิต และสำหรับบุคคลผู้นี้สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเขาได้ทิ้งสิ่งสำคัญไว้ให้โลก

          John Nash ในวัย 86 ปี และ Alicia ภรรยาในวัย 82 ปี เสียชีวิตทันทีเมื่อร่างของทั้งสองซึ่งมิได้รัดเข็มขัดนิรภัยถูกเหวี่ยงออกมานอกรถแท็กซี่ที่ทั้งสองโดยสารมาเมื่อตัวรถกระแทกอย่างแรงกับขอบถนนขณะชนกับรถคนอื่นบนทางด่วนในรัฐนิวเจอร์ซีย์

          ชีวิตของเขาเป็นที่รู้จักของชาวโลกอย่างกว้างขวางเมื่อฮอลลีวู๊ดเอามาทำเป็นภาพยนตร์ ในชื่อ “A Beautiful Mind” ในปี 2001 ซึ่งเป็นเรื่องของนักคณิตศาสตร์ระดับอัจฉริยะของมหาวิทยาลัย Princeton ป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) หวาดระแวง จิตหลอน ได้ยินเสียงคนพูด ฯลฯ จนทำงานไม่ได้อยู่กว่า 20 ปี ในที่สุดก็หายจากโรคและได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1994

          Nash จบปริญญาตรีและโทด้านคณิตศาสตร์พร้อมกันเมื่ออายุเพียง 20 ปี จาก Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันคือ Carnegie Mellon University) และจบปริญญาเอกในวัย 22 ปี จาก Princeton ในปี 1950 ด้วยวิทยานิพนธ์หนา 28 หน้า ซึ่งให้แนวคิดใหม่อันนำไปสู่รางวัลโนเบลในเวลาอีก 44 ปีต่อมา

          “A Beautiful Mind” แสดงให้เห็นการต่อสู้กับโรคจิตจนสามารถเอาชนะได้ในที่สุด โดยอาศัยความรักและการดูแลเป็นอย่างดีของภรรยา คือ Alicia ความหวังที่จะหายจากโรคและความรักที่สื่อสารถึงกันระหว่างสามีภรรยาปลุกเร้าจินตนาการและความรู้สึกของคนดูทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ภาพยนตร์ดีเด่นแห่งปี และอื่น ๆ อีกถึง 3 รางวัล (ในชีวิตจริง Nash หย่าภรรยาคนนี้ 4 ปี หลังจากมีอาการป่วย แต่อดีตภรรยาก็ช่วยดูแลจนหายจากโรค และกลับมาแต่งงานกันอีกครั้งในปี 2001)

          สิ่งที่ Nash ทิ้งไว้ให้โลกคือสิ่งที่เรียกว่า Nash Equilibrium (NE_ดุลยภาพ Nash) ซึ่งช่วยให้เข้าใจเรื่องของการหาผลประโยชน์ร่วมจากการแข่งขันระหว่างบุคคลซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับ โลกจริงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าการกำหนดกลยุทธ์ด้านธุรกิจ การเจรจาต่อรอง การทหาร การเมือง กฎหมาย การร่วมทุน การดำเนินชีวิตประจำวัน ศาสนา การเมืองระหว่างประเทศ ฯลฯ ได้อย่างมีประโยชน์ยิ่ง

          NE มาจาก Game Theory (ทฤษฎีเกมส์) ซึ่งนักคณิตศาสตร์ก่อนหน้าเขาคือ John von Neumann เป็นผู้บุกเบิกโดยชี้ให้เห็นว่าเกมส์ที่เล่นระหว่างบุคคลสองคนขึ้นไป เช่น หมากรุก ฟุตบอล บาสเกตบอล ฯลฯ ในเนื้อหาสาระไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ การต่อรอง สงคราม การเมือง ฯลฯ เพื่อให้ได้ชัยชนะ

          ตัวอย่างของ Game Theory ที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ Prisoner’s Dilemma ซึ่งกล่าวถึงนักโทษสองคนที่เผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากโดยไม่สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ กล่าวคือเมื่อถูกจับแต่ละคนก็มีทางเลือกสองทางคือสารภาพ หรือนิ่งเฉย ผู้จับเสนอให้ผลตอบแทนคือถ้าสารภาพและให้การปรักปรำอีกฝ่ายก็จะถูกปล่อย และลงโทษเพื่อนติดคุก 10 ปี

          ถ้าทั้งสองนิ่งไม่ยอมพูดก็จะโดนโทษติดคุกเพียงคนละ 1 ปี ด้วยข้อหาที่อ่อนเพราะไม่สามารถพิสูจน์ว่าทั้งสองผิดในกรณีรุนแรงได้ แต่ถ้าทั้งสองสารภาพ ทั้งสองก็โดนติดคุกคนละ 8 ปี

          หากดูเผิน ๆ การเงียบเฉยดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดเพราะติดเพียง 1 ปี แต่ก็จะดีก็ต่อเมื่อทั้งสองคนทำ Nash Equilibrium แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งสองจะสารภาพ

          เกมส์ชนิดนี้เรียกว่า Noncooperative Game คือต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะตัดสินใจอย่างไร และไม่ร่วมมือกัน (ถ้าร่วมมือกันก็อาจทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์) ในสถานการณ์อย่างนี้แต่ละฝ่ายจะเผชิญกับสองทางเลือก คือ ถ้าสารภาพก็อาจได้อิสรภาพ หรือ 8 ปีในคุก แต่ถ้านิ่งก็อาจติดคุก 1 ปี หรือ 10 ปี

          เมื่อเป็นเช่นนี้สารภาพน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และแต่ละฝ่ายก็รู้ว่าอีกฝ่ายมีแรงจูงใจที่จะสารภาพ ดังนั้นจึงมีทางโน้มที่จะสารภาพเหมือนกัน

          สถานการณ์สารภาพด้วยกันเช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย และจะไม่ออกจากสถานการณ์นี้เพราะหากเปลี่ยนเป็นนิ่งก็จะติดคุกนานขึ้น นอกเสียจากว่าอีกฝ่ายตัดสินใจอย่างเดียวกัน การติดต่อกันไม่ได้จึงเป็นความเสี่ยง ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงมีทางโน้มที่จะสารภาพ ซึ่งกลยุทธ์นี้แหละคือ Nash Equilibrium

          ถ้าพูดเป็นทางการหยาบ ๆ NE ก็คือสภาวะที่คนเล่นแต่ละฝ่ายไม่สามารถได้ประโยชน์โดยเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ฝ่ายเดียว โดยมีสมมติฐานว่าฝ่ายอื่น ๆ จะไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังทำอยู่

          ในโลกความเป็นจริงเหตุที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตไม่ฆ่าฟันกันใหญ่โตในสงครามเย็นก็เพราะอยู่ในสภาวะ NE กล่าวคือต่างฝ่ายต่างรู้ว่าถ้าเอาระเบิดปรมาณูไปถล่มอีกฝ่าย ตนเองก็จะถูกถล่มเช่นเดียวกัน ‘การยัน’ อยู่อย่างนี้เพราะตระหนักถึง mutual assured destruction (ความแน่นอนว่าจะถูกทำลายล้างร่วมกัน) คือ NE ซึ่งหมายถึง “สันติภาพ” หรือการรอดจากภัยระเบิดปรมาณู

          ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของสภาวะ ‘ยันกัน’ เช่นนี้ชัดเจนก็มีโอกาสผลักดันให้เกิดสภาวะเช่นนี้ ในข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่าง ๆ การไม่ฆ่าฟันกันก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น สงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ (การทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดว่าแต่ละฝ่ายมีอาวุธลับทำลายล้างร้ายแรงอาจนำไปสู่ NE ได้) การแข่งขันขึ้นราคาสินค้า (ถ้าขึ้นราคาก็แข่งกันตาย) การทำลายสิ่งแวดล้อม (ถ้าไม่ดูแลโลกให้ดีในที่สุดโลกก็จะทำลายคุณ) ฯลฯ

          ในชีวิตประจำวัน ถ้าผมและภรรยาต้องการประสานเวลากลับบ้านหลังจากทำงานนอกบ้านตอนเย็นเพื่อมีเวลาอยู่ด้วยกันให้นาน NE ก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าผมกลับบ้านเร็ว แต่ภรรยากลับบ้านดึก ผมก็เสียเวลาเปล่าและสูญโอกาสได้เงินจากการทำงาน ถ้าภรรยาผมกลับบ้านเร็วและผมกลับบ้านดึก เธอก็เสียเวลาเปล่าเช่นกัน NE จะเกิดขึ้นเมื่อเราทั้งสองกลับถึงบ้านเร็วด้วยกันจนมีเวลาอยู่ด้วยกันนาน หรือไม่ก็กลับบ้านดึกทั้งสองคนเสียเลยเพื่อให้ได้เงินมาก ๆ ทั้งสองสถานการณ์เป็น NE

          John Nash มีผลงานทางคณิตศาสตร์ในเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย ระหว่าง ค.ศ. 1945 ถึง 1996 เขามีผลงานตีพิมพ์ที่สำคัญถึง 23 ชิ้น เขานับตัวเองว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ซึ่งชอบเศรษฐศาสตร์ และคนเช่นเขานี้แหละที่ทำให้เศรษฐศาสตร์รุ่มรวยด้วยวิชาการซึ่งแตกสาขาออกไปอีกมากไม่ว่าในด้านสถิติ พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา ประชากรศาสตร์ ฯลฯ

          Equilibrium ของ Nash แตกต่างไปจาก Walrasian equilibrium ที่นักเศรษฐศาสตร์คุ้นเคยกันเช่นในเรื่องของดุลยภาพของราคา ค่าจ้าง ฯลฯ NE เป็นสถานะที่ผู้เล่นแต่ละฝ่ายจะไม่เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่เพราะคิดว่าตนเองจะได้ประโยชน์น้อยกว่าตราบที่คู่แข่งไม่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกันดังเช่นกรณีของ ‘การยัน’ ในกรณีข้อขัดแย้ง (เจ้าพ่อหลายพื้นที่ที่ไม่ฆ่ากันก็อธิบายได้โดย NE)

          การเข้าใจธรรมชาติของ NE ย่อมนำไปสู่การพยากรณ์ที่แม่นยำอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น เพื่อวางกลยุทธ์ในการแข่งขันและเพื่อกำกับควบคุมโดยภาครัฐ การบุกเบิกความคิดเช่นนี้และการวางรากฐานให้มีการต่อยอดในเรื่อง Game Theory มากยิ่งขึ้น และมีประโยชน์ยิ่งขึ้นในเวลาต่อมาคือสิ่งที่ John Nash ได้ทิ้งไว้ให้โลก

          เกมส์กับชีวิตจริงไม่แตกต่างกัน ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนเมื่อแรกเกิดก็เปรียบเสมือน ไพ่ที่ได้รับแจกมา บางคนได้รับไพ่ดีทั้งสถานภาพทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ และ DNA บางคนก็ได้รับไพ่ไม่ดี อย่างไรก็ดีเมื่อลงมือเล่นกัน คนมีไพ่ไม่ดีก็อาจชนะได้ถ้ามีกลยุทธ์และเข้าใจธรรมชาติของการแข่งขันดีกว่าพวกไพ่ดีแต่เล่นแย่           ชีวิตคือเกมส์และเกมส์ก็คือชีวิต การเข้าใจกลไกการทำงานและธรรมชาติของเกมส์เท่านั้นที่จะช่วยให้ไพ่ที่ได้รับแจกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น มิใช่แต่เพื่อตัวเองเท่านั้นแต่สำหรับคนอื่น ๆ ด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Dr.Ambedkar

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26
พฤษภาคม 2558

ที่มา https://cdn.dnaindia.com/sites/default/files/styles/full/public/2021/04/14/969726-941635-br-ambedkar.jpg

         โลกรู้จัก ดร.อัมเบดการ์ (Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar) ในฐานะผู้นำการปฏิวัติสังคมเพื่อความเท่าเทียมกันของคนอินเดียโดยเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และปลุกเร้าให้จัณฑาลซึ่งอยู่ในวรรณะต่ำสุดของสังคมอินเดียหันมานับถือศาสนาพุทธพร้อมกันเป็นจำนวน 500,000 คนในปี 1956 นอกจากนี้ผู้คนก็รู้จักในฐานะนักกฎหมาย

          ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียเมื่อได้รับอิสรภาพในปี 1947 แต่เหนือสิ่งอื่นใดโดยเนื้อแท้แล้ว Dr. Ambedkar เป็นนักเศรษฐศาสตร์ คนสำคัญของอินเดีย

          Dr. Ambedkar เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามของ Babasaheb ตอนเกิดอยู่ในวรรณะจัณฑาล แต่ต่อมาครูของเขาซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์ให้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลของครูเพื่อโอกาสในการศึกษา

          Babasaheb อธิบายเรื่องราวของปัญหาวรรณะซึ่งผูกพันกับปัญหาสังคมอย่างร้าวลึกไว้ในหนังสือเล่มสำคัญคือ Annihilation of Caste ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1936 และต่อมานักเขียนรุ่นใหม่ของอินเดีย อรุณธตี รอย (Arunddhi Roy) ได้เสริมเรื่องราวและขยายความหนังสือดังกล่าวในปี 2014 โดยเป็นหนังสือชื่อว่า The Docter and the Saint

          ผู้สนใจหนังสือของอรุณธตี รอย เล่มนี้กรุณาดูข้อเขียนของ ‘กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา’ เรื่อง “ดร.อัมเบดการ์กับการทลายโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคมอินเดีย (ระบบวรรณะ)” ตีพิมพ์ใน “ปาจารยสาร” ฉบับมกราคม-เมษายน 2558 ซึ่งค้นคว้ามาอย่างน่าสนใจ

          วรรณะที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “จัณฑาล” นั้นมาจากคำดั้งเดิมในภาษาอังกฤษที่ใช้กันในอินเดียว่า “Backward Class” “Scheduled Class” “Untouchable” ต่อมามีผู้ใช้คำว่า ‘Dalit’ (Broken People) เพื่อลดความรุนแรงทางภาษา แต่มีนักวิชาการให้ความเห็นว่า ‘Dalit’ ครอบคลุม Untochables ซึ่งเป็นฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดูถูกด้วย เช่น คริสต์ศาสนา ศาสนาพุทธ ฯลฯ ดังนั้นคำว่า Scheduled Caste และ Untouchable จึงถูกต้องกว่าสำหรับคนยากจนที่อยู่ในวรรณะต่ำสุดของสังคม

          เป็นเวลานับพันปีที่ระบบวรรณะถูกใช้เป็นกลไกในการจัดระบบสังคมอินเดียให้อยู่กันราบรื่น (ความเห็นของนักวิชาการซึ่งรวมไปถึงมหาตมะคานธีด้วย) โดยแบ่งเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ (ผู้ประกอบพิธี) กษัตริย์ (นักรบ) แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (ผู้ใช้แรงงาน)

          วรรณะเป็นการจัดช่วงชั้นในสังคม ซึ่งแต่ละวรรณะถูกกำหนดแต่กำเนิดโดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต แต่ละวรรณะแต่งงานกันเอง โดยลูกหลานเป็นสมาชิกของวรรณะ หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะก็จะกลายเป็น Untouchable หรือจัณฑาล คนกลุ่มจัณฑาลไม่ถือว่าเป็นวรรณะ หากเป็น ‘เศษสวะของสังคม’ ที่จะต้องรู้จัก ‘ที่’ ของตนเอง จะไปสัมผัสภาชนะหรืออยู่ในสถานที่หรือเลียนแบบการกระทำของคนวรรณะสูงกว่าไม่ได้เป็นอันขาด จะถูกลงโทษโดยสังคมถึงเจ็บตัว

          หาก Dalit ไปใช้แหล่งน้ำสาธารณะ เอาน้ำจากคลองมารดผักพืช ปรากฏตัวในที่ใกล้สถานที่มีงานมงคล ฯ อาจโดนทำร้าย สถิติปัจจุบันมีว่าอาชญกรรมที่กระทำต่อ Dalit โดยคนที่ไม่ใช่ Dalit นั้นเกิดขึ้นทุก 16 นาที ทุกวันหญิง Dalit มากกว่า 4 คนถูกข่มขืน ทุกอาทิตย์ถูกฆ่าตาย 13 คน 6 คนถูกลักพา เฉพาะในปี 2012 หญิง Dalit 1,574 คน ถูกข่มขืน และ 651 คน ถูกฆาตกรรม ปัจจุบันมี dalit ในอินเดียประมาณ 200 ล้านคน ในประชากร 1,300 ล้านคน

          ถ้าจะพิจารณาให้ดีแล้วพระพุทธเจ้าเป็นนักปฏิวัติสังคมฮินดูโดยแท้เพราะทุกคนเมื่อนับถือศาสนาพุทธแล้วเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่ามาจากวรรณะใด พระที่บวชทีหลังต้องไหว้พระที่แก่พรรษากว่า Babasaheb ปลุกเร้าการนับถือพุทธศานาเพื่อหลีกหนีความอยุติธรรมในสังคมอินเดีย ใน ค.ศ. 1956 เขานำการชุมนุมใหญ่และผู้มาชุมนุม

          พร้อมใจกันเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธถึง 500,000 คน จนมีส่วนทำให้ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนในอินเดียประมาณ 40 ล้านคน

          การเข้ามาช่วยเหลือเหล่า Untouchable ให้ลืมตาอ้าปากได้บ้างจนปัจจุบันร้อยละ 2.5 ของ Dalit เรียนจบเป็นบัณฑิตและมีจำนวนหนึ่งที่ได้เรียนหนังสือ สิ่งนี้ทำให้คนอินเดียที่ปรารถนาความเท่าเทียมกันชื่นชม Dr. Ambedkar จนลืมไปว่าคน ๆ นี้แหละที่เป็นแชมเปี้ยนของการเสนอให้ใช้ตลาดเสรีเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศอินเดียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1918

          Babasaheb เรียนจบเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics) ในยุคก่อนหน้าที่เศรษฐศาสตร์จะกลายเป็น economics ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวของมันเองอย่างแยกตัวจาก Politics ในยุคปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเรียนจบปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก Columbia ในปี 1917 และจบปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 1922 จาก LSE (London School of Economics and Politics)

          เมื่ออายุได้ 27 ปี ใน ค.ศ. 1918 เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ Sydenham College of Commerce and Economics ในบอมเบย์ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทั้งสองชิ้นล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐศาสตร์มหภาค ฯลฯ

          Babasaheb ปราชญ์เปรื่องในเรื่องเศรษศาสตร์ของอินเดียในยุคนั้น เขาเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าเรื่องการคลัง การเงิน การค้าระหว่างประเทศ ค่าเงินรูปี ระบบธนาคาร และเหนือสิ่งอื่นใดเขาเชื่อมั่นในเรื่องการมีกลไกตลาดเสรีผ่านการวางแผนที่กระจายอำนาจโดยไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐมากเกินไป

          แนวคิดของเขาสอดคล้องกับยักษ์ใหญ่แชมเปี้ยนตลาดเสรี ผู้รับรางวัลโนเบิล คือ Friedrich Hayek ในยุคเดียวกัน ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของ John Maymard Keynes ซึ่งเชื่อในเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาลผ่านนโยบายการเงินและการคลัง (แนวคิดนี้กำลังชนะและกระทำกันอยู่ทั่วโลก)

          อินเดียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Babasaheb เสียชีวิตในปลายปี 1956) ใช้แนวนโยบายต่อต้านตลาดเสรีจนเข้าไปใกล้แนวคิดสังคมนิยม เพียงเวลา 20 ปีหลังที่ผ่านมานี้เท่านั้นที่แนวคิดตลาดเสรีได้รับการยอมรับและเกิดขึ้นในอินเดีย

          มีนักเศรษฐศาสตร์บอกว่าในยุคหลังสงครามจนถึงเมื่อ 20 ปีก่อน “คนอินเดียทนเห็นคนบางคนรวยไม่ได้ เลยพร้อมใจกันจน” ถ้าแม้นผู้นำอินเดียนึกถึงความคิดของ Sasasaheb ซึ่งถือได้ว่าก้าวหน้ามากในโลกในช่วงเวลานั้นในเรื่องตลาดเสรี ไม่รู้ว่าอินเดียจะออกสตาร์ทเร็วกว่านี้มากมายหรือไม่