พังพินาศเพราะพิโรธ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23
ธันวาคม 2557

Photo by Icons8 Team on Unsplash

          ในยุคนี้ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ถั่วถุงเดียวสามารถทำให้ผู้คนโกรธแค้นจนต้องมีคนหลุดจากการเป็นผู้บริหารสำคัญของบริษัทใหญ่ระดับโลกและอาจต้องคดี     ตลอดจนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกหลายเรื่องในระดับประเทศได้


          ไม่น่าเชื่อว่าคนมีการศึกษาดีขนาดจบปริญญาตรีจาก Cornell University School of Hotel Administration  อันมีชื่อเสียง     และจบ MBA จาก University of Southern California จะเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องอื้อฉาวระดับโลกที่มาจากความไม่พอใจถั่วถุงเดียว

          เรื่องไม่น่าเชื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2014 บนเครื่องบินในแถวที่นั่งชั้นหนึ่งขณะที่เครื่องบิน Korean Air เที่ยวบินจาก New York ไป Inchon กำลังวิ่งแท็กซี่จะขึ้นนั้น   Cho Hyun Ah หรืออีกชื่อว่า Heather Cho ก็แผดเสียงขึ้นดังมากด้วยความโกรธ     พร้อมกับด่าทอชายหนุ่มผู้เป็นหัวหน้าพนักงานบริการอย่างรุนแรง     แถมเอาแฟ้มพลาสติกตีด้วย       เนื่องจากไม่พอใจที่เอาถั่ว macadamia มาเสิร์ฟเป็นถุง     โดยไม่เสิรฟ์มาในจานอย่างงดงาม

          ไม่มีใครต้านเธอได้เมื่อเธอสั่งให้เครื่องบินวิ่งกลับไปที่ตัวตึกสนามบินเพื่อไล่พนักงานคนนี้ลงจากเครื่อง      เหตุที่ไม่มีใครกล้าหือกับเธอก็เพราะเธอเป็นรองประธานกรรมการ Korean Air และประการสำคัญพ่อของเธอ Cho Yang Ho อายุ 65 ปี เป็นประธานกรรมการ Korean Air

          Korean Air เป็นบริษัทหนึ่งในหลายบริษัทของ Hanjin Group ซึ่งเป็นของครอบครัวเธอในกิจการธุรกิจที่เกี่ยวพันกับโรงแรม       การท่องเที่ยว        การบิน        การหย่อนใจ       ฯลฯ    หากครอบครัวต้องการให้ใครอยู่ในตำแหน่งใดก็ทำกันได้อย่างสะดวก     และเธอผู้อยู่ในวัยเพียง 40 ปี ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ตามเส้นทางนี้     โดยรับผิดชอบงานด้านการขายของบนเครื่องบิน      กิจการ catering บริการบนเครื่องบิน   ฯลฯ    อย่างมีฝีมือพอตัว

          เมื่อเที่ยวบินนี้ถึงเกาหลีก็เป็นเรื่องขึ้นมาทันที       โทรทัศน์สัมภาษณ์หนุ่มผู้ถูกไล่ลง               จากเครื่อง        สื่อเล่นเรื่องนี้ต่อ       พร้อมกับปฏิกิริยาที่รุนแรงในอินเตอร์เน็ตจากประชาชนที่ไม่พอใจการเบ่งและแสดงออกว่าใหญ่ค้ำฟ้า      สื่อต่างประเทศก็เล่นกันใหญ่ในเชิงขบขันว่า “going nuts on nuts” (going nuts = บ้า   เล่นคำกับ nuts หรือถั่วพอดี)     “Nutgate” (ล้อ Watergate)    ฯลฯ

          การที่ประชาชนไม่พอใจการกระทำใหญ่โตนี้ของเธอก็เพราะไม่พอใจการเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ของตระกูลเหล่านี้อยู่แล้ว (เรียกรวมกันว่า chaebol)   ซึ่งครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจเกาหลีมายาวนาน       อีกทั้งลูกหลานมีพฤติกรรมหยิ่งยะโส      ร่ำรวย     แสดงความใหญ่โตให้เห็นอยู่บ่อย ๆ                     ไม่เห็นหัวลูกจ้าง      สิ่งที่รับไม่ได้ก็คือการบังคับให้พนักงานคนนี้คุกเข่าต่อหน้าเธอ       รับฟังคำด่าอย่างสาดเสียเทเสีย

          ในตอนแรกบริษัทยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ ‘เกินไป’ ในการให้เครื่องบินวิ่งกลับไปที่ตึกเพื่อไล่พนักงานลง       ถึง Heather Cho จะออกมาขอโทษแต่ก็ไม่ได้พูดเรื่องลาออก     แต่เมื่อปฏิกิริยาจากประชาชนหนักขึ้น     พ่อจึงออกมาขอโทษและบอกว่าเลี้ยงลูกมาไม่ดี    จะให้ลูกสาวลาออกจาก                  ทุกตำแหน่งในกลุ่ม      เสียงก่นด่าของประชาชนจึงลดลงไป

          เหตุที่ประธาน Korean Air ออกมาแนวนี้      เข้าใจว่าก็คงเป็นเพราะแรงบีบจากผู้ถือหุ้นร่วมของ Korean Air     ซึ่งถือว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ    และผู้พ่อเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของครอบครัวโดยรวม     โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจกระทบต่อตำแหน่งประธานกรรมการ Pyeongchang Winter Olympics  ในปี 2018 ที่เขาดำรงอยู่

          ครอบครัวนี้คุ้นเคยกับความอื้อฉาวอยู่พอควรแล้ว     Cho ผู้พ่อเคยถูกศาลตัดสินว่า                          หนีภาษีในปี 2000     ลูกชายคนหนึ่งถูกตำรวจสอบสวนในปี 2005 ว่าทำร้ายหญิงชรา   และในปี 2012              ผู้พ่อก็ทะเลาะกับกลุ่มประชาสังคมที่วิจารณ์การบริหารมหาวิทยาลัย Inha  ซึ่งเป็นของ Hanjin Group

          Heather Cho เป็นภรรยาของศัลยแพทย์ตกแต่งชื่อดังของเกาหลี       เธอถูกวิจารณ์ว่าจัดการให้ตัวเองไปอยู่ฮาวายก่อนคลอดลูกแฝดชาย 2 เดือนเพื่อให้ลูกได้สัญชาติอเมริกันจะได้ไม่ต้องเป็นทหารเป็นเวลา 2 ปี เหมือนคนเกาหลีทั่วไป

          ผลกระทบจากการควบคุมอารมณ์ไม่ได้เพียงชั่วขณะของเธอมีผลกว้างไกลมากในโลกปัจจุบัน     เธอหลุดจากการแข่งขันกับน้องชายและน้องสาวในการสืบทอดบัลลังค์ต่อจากพ่อ     หลุดจากทุกตำแหน่งในทุกบริษัทของกลุ่ม      กำลังถูกพิจารณาดำเนินคดีว่าเป็นสาเหตุทำให้การบินเป็นปัญหา (เครื่องบินอื่นถูกกระทบเพราะเสียเวลาวิ่งไปส่งเจ้าหน้าที่ลงจากเครื่อง       ส่งเสียงดังสร้างความวุ่นวายบนเครื่องบิน)      ทางการกำลังพิจารณาตัดเที่ยวบินของ Korean Air เพื่อเป็นการลงโทษที่ทำให้ผู้โดยสารต้องถูกกระทบจากการกระทำที่ ‘เกินเหตุ’  นี้

          อีกประเด็นที่ถูกสอบสวนก็คือคำกล่าวหาว่าผู้บริหารสายการบินได้กำชับให้เจ้าหน้าที่บนเครื่องให้การเท็จในเรื่องพฤติกรรมของเธอบนเครื่องบิน       พูดสรุปง่าย ๆ ว่าโดนหนักมาก     และอัยการเกาหลีนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเอาจริงและดุขนาดเอาอดีตประธานาธิบดีถึงสองคนเข้าคุกข้อหาทุจริตมาแล้ว

          การกระทำของ Heather Cho ไปเปิดประเด็นการครอบงำของกลุ่ม Chaebol ในด้านเศรษฐกิจและการเมือง      มีข้อความทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมากที่ไม่พอใจอิทธิพลของกลุ่ม     และมีคำถามว่าเหตุใดกลุ่มธุรกิจหนึ่งจึงสามารถใช้ชื่อประเทศเป็นสายการบินได้ (มีคำแนะนำว่าควรใช้ Hanjin Air) อีกทั้งเป็นสายการบินแห่งชาติอีกด้วย      ถ้าเรื่องนี้มีการสานต่อไปไกลก็อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนชื่อสายการบินและไม่ให้เป็นสายการบินแห่งชาติอีกต่อไปก็เป็นได้

          มีคำถามว่า Heather Cho เป็นรองประธานกรรมการที่รับผิดชอบการให้บริการบนเครื่อง     เมื่อเห็นการให้บริการแบบยื่นถุงให้บนเฟิร์สคลาสก็ย่อมที่จะตำหนิได้     แต่ที่เธอกระทำนั้นรุนแรงเกินการเป็นมนุษย์ไป    และเธอเป็นเพียงผู้โดยสารคนหนึ่งและมิได้อยู่ในช่วงปฏิบัติภารกิจด้วย

          ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต      ไม่มีคลิป (เหตุการณ์พระตบหน้าฝรั่งบนรถไฟ        นักท่องเที่ยวจีนสาดน้ำร้อนและด่าทอพนักงานอย่างรุนแรงบนสายการบินประหยัดของไทย      “เหนียวไก่ย่าง”     ขับรถปาดหน้ากัน      ฯลฯ     คงไม่มีใครรู้ถ้าไม่มีกล้องที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ได้โดยง่าย)       ไม่มี social media     ฯลฯ    มนุษย์คงไม่ ‘เปล่าเปลือย’ (vulnerable) อย่างที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบันเป็นแน่

          การต้องมีสติ     การควบคุมอารมณ์     การระมัดระวังคำพูด และการกระทำของตนเองอยู่ตลอดเวลา      เป็นบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่อาจนำไปสู่เรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย     ล่าสุดถั่ว macadamia ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในเกาหลีเพราะคนเกาหลีรู้จักกันจริงจังก็จากเหตุการณ์นี้

คนใหญ่คนโตในปัจจุบันมีความเสี่ยงในการสูญเสียอำนาจอย่างรวดเร็วมากกว่ายุคใดที่ผ่านมา     ทั้งนี้เพราะโลกไซเบอร์เป็นดาบที่คมกว่าอาวุธใด ๆ ทั้งสิ้น

ใช้ Open Data ปราบคอร์รัปชัน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16
ธันวาคม 2557

Photo by Markus Spiske on Unsplash

          Open Data เป็นคำค่อนข้างใหม่แต่มีอิทธิฤทธิ์อย่างยิ่งในการปราบคอร์รัปชัน และกำลังเป็นกระแสที่มาแรงในระดับโลก ลองมาดูกันว่ามันช่วยให้ประชาชนมีความหวังในการจัดการ โรคร้ายนี้ได้อย่างไร

          Open Data มาจากแนวคิดที่ว่าข้อมูลบางอย่างควรที่จะมีการเปิดเผยอย่างเสรีให้ทุกคนนำไปใช้ และตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์ตามประสงค์อย่างไม่มีข้อจำกัดในเรื่องลิขสิทธิ์หรือการควบคุมในลักษณะต่าง ๆ

          เป้าหมายของ Open Data ก็คล้ายกับเรื่อง open ในเรื่องอื่น ๆ ในยุคเสรีนิยมของโลกปัจจุบัน เช่น Open Sky (เปิดท้องฟ้าเสรียอมให้มีสายการบินได้โดยไม่จำกัดและมิให้บริษัทใดผูกขาด อีกทั้งไม่ควบคุมราคาตั๋ว) Open Source (ไม่มีลิขสิทธิ์ในเรื่อง software ฯ) Open Access (การเปิดเสรีในการเข้าถึงบริการของรัฐ การใช้อินเตอร์เน็ต ฯลฯ)

          จริง ๆ แล้วหลักการในเรื่องนี้มีมานานแล้วเพราะสาธารณชนตระหนักดีว่าการเปิดเผยเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ดังเช่นความเป็นเสรีของเนื้อหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติของมนุษยชาติ ไม่ใช่ของบุคคลใดหรือบริษัทใด

          ในยุคอินเตอร์เน็ต Open Data ยิ่งมีความหมายมากขึ้นเพราะข้อมูลที่เปิดเผย เช่น จากภาครัฐซึ่งประชาชนเป็นนายนั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย

          กลุ่มประเทศ EU มีข้อตกลงในเรื่อง Open Data ของภาครัฐซึ่งเรียกว่า Open Government Data กล่าวคือประเทศสมาชิกควรเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เพื่อสองเรื่อง หนึ่ง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชน สอง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ สิ่งสำคัญที่อยู่ใจกลางของเรื่องนี้ก็คือการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ข้อถกเถียงสำคัญก็คือทั้งหมดเป็นเงินของประชาชน ดังนั้นเจ้าของก็มีสิทธิรู้ว่านำไปใช้จ่ายอะไรและอย่างไร

          อังกฤษเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากที่สุด ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษได้เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ผลปรากฏว่ากลุ่มประชาสังคมและประชาชนนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ประเมิน และได้ข้อสรุปมากมายที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณมากขึ้น

          เป็นที่มั่นใจได้ว่าพนักงานภาครัฐของอังกฤษจะระมัดระวังในการใช้จ่ายและทุ่มเทการทำงานมากขึ้นเพราะต่อนี้ไปมีผู้คนเป็นตาสับปะรดที่คอยจับตามองและเป็นแขนขาในการปราบคอร์รัปชันโดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวนำทาง

          ในปี 2007 จำนวน 30 กลุ่มสนับสนุน Open Government Data ได้ประชุมกันที่เมือง Sebastopol ในรัฐคาลิฟอร์เนียและได้ร่วมกันประกาศ 8 หลักการของ Open Government Data ดังต่อไปนี้

          ข้อ 1 complete ข้อมูลสาธารณะทั้งหมดต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ยกเว้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ ข้อ 2 primary ต้องเปิดเผยข้อมูลพื้นฐาน มิใช่การวิเคราะห์ข้อมูลมาให้แล้ว (ไม่ต้องการถูกบิดเบือนหรือทำให้เข้าใจผิด) ข้อ 3 timely ต้องเปิดเผยข้อมูลเร็วที่สุดที่ทำได้เพื่อรักษาคุณค่าของข้อมูล หากช้าไปก็ไม่ทันการณ์ เช่น ข้อมูลก่อนการประมูล หรือข้อมูลก่อนเริ่มโครงการ ฯลฯ

          ข้อ 4 accessible ต้องเปิดเผยอย่างกว้างขวางที่สุดให้แก่ประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์ที่กว้างขวางที่สุด ข้อ 5 machine processable ต้องเป็นรูปข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้เชิงอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อมูลที่ให้มาเป็นกล่องหรือมัดเชือกมาเพื่อให้ไปแกะหาความจริงเองใช้ไม่ได้) ข้อ 6 non-discriminatory เปิดเผยข้อมูลให้ใครก็ได้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ข้อ 7 non-proprietary ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ไม่ทำให้ใครเป็นเจ้าของหรือควบคุมได้แต่เพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

          ข้อ 8 license-free ข้อมูลต้องไม่มีข้อห้ามในเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือข้อจำกัดในเชิงการค้า อาจมีการผ่อนผันได้ในเรื่องเกี่ยวกับความลับทางการค้าหรือความมั่นคง

          ลองจินตนาการดูว่าถ้ามีการอัพโหลดข้อมูลงบประมาณไทยทั้งหมดสู่สาธารณชนจะเกิดอะไรขึ้นในสังคมเรา เชื่อว่าจะมีคนนำไปแยกว่าแต่ละจังหวัด แต่ละ อบต. ได้รับเงินงบประมาณเท่าใด มีการก่อสร้างโครงการใดบ้าง และถ้ายิ่งเปิดเผยผลการใช้งบประมาณปีที่ผ่านมาว่าใครเป็นผู้ประมูลได้ในโครงการใดด้วยราคาเท่าใด อบต. ใดได้รับเงินเท่าใด ใช้ทำอะไรไปบ้าง ฯลฯ นี่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ชะงัดโดยทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพียงนโยบาย Open Data ของภาครัฐก็สามารถปราบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ถ้าข้าราชการไทยระดับรองอธิบดีขึ้นไปทุกคนต้องเปิดเผยทรัพย์สินเหมือนรัฐมนตรีต้องเปิดเผยในปัจจุบัน หน้าตาของคอร์รัปชันในบ้านเราจะเปลี่ยนไปเพียงใด

          ปัจจุบัน Open Government Data ในบ้านเรามีอยู่พอควรแล้ว ไม่เชื่อลองเหลียวไปดูการเปิดเผยทรัพย์สินของสมาชิก สนช. ดูก็ได้ ขอแต่ให้อยู่ในรูปแบบของ machine processable เท่านั้นแหละ ข้าราชการและนักการเมืองไทยจะมีพฤติกรรมในเรื่องคอร์รัปชันเปลี่ยนไปมาก

          Open Data กำลังคืบคลานมาสู่บ้านเรา แต่ยังช้าอยู่ ในยุคปฏิรูปประเทศไทยไอเดียนี้สมควรได้รับการพิจารณาเพราะไม่เสียเงินเพิ่มและมีประสิทธิภาพยิ่งในการปราบคอร์รัปชัน           Open Government Data คมยิ่งกว่าดาบในการปราบโรคร้ายซึ่งเปรียบเหมือนกับปลวกที่กำลังกินบ้านเมืองของเราอยู่

ฆาตกรชื่อเก้าอี้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9
ธันวาคม 2557

Photo by Renè Müller on Unsplash

         ผู้คนมักเข้าใจว่าปืนและมีดคือเพชรฆาตทันควัน ส่วนความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดชนิดเลว (LDL) สูงคือเพชรฆาตผ่อนส่ง แท้จริงแล้วเก้าอี้นี่แหละคือฆาตกรอีกตัวหนึ่งที่มาแบบเงียบ ๆ และเป็นพ่อของเพชรฆาตผ่อนส่งข้างต้น

          นิตยสาร Scientific American ฉบับพฤศจิกายน 2014 รายงานว่างานศึกษาวิจัย 18 ชิ้น ใน 16 ปีที่ผ่านมาซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งหมด 800,000 คน สรุปตรงกันว่าเก้าอี้คือฆาตกร ตัวอย่างเช่นการศึกษาในปี 2010 ซึ่งรายงานไว้ในวารสาร Circulation สำรวจผู้ใหญ่ 8,800 คน เป็นระยะเวลา 7 ปี สรุปว่าคนที่นั่งมากกว่าวันละ 4 ชั่วโมงดูทีวี เมื่อเทียบกับคนที่นั่งดูทีวีน้อยกว่า วันละ 2 ชั่วโมงแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46

          งานศึกษาอื่น ๆ พบว่าการนั่งมากกว่าครึ่งวันในแต่ละวันทำให้ความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว และโดยทั่วไปในภาพรวมเมื่อคำนึงถึงสาเหตุของโรคต่าง ๆ รวมกันแล้วก็พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มคนที่นั่งกับกลุ่มคนที่กระฉับกระเฉงเดินไปมาแล้ว คนกลุ่มแรกนี้มีโอกาสตายสูงกว่าถึงร้อยละ 50

          ทำไมการแค่นั่งธรรมดาทำให้มีโอกาสตายสูงขึ้น? คำตอบง่าย ๆ ก็คือการนั่งเป็นระยะเวลานาน ๆ ไม่สอดคล้องกับการที่ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมา ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เคลื่อนไหวเดินไปมา มีความกระฉับกระเฉง การนั่งนาน ๆ อย่างไม่เคลื่อนไหวทำให้ระบบการทำงานเผาผลาญพลังงานของร่างกายซึ่งทำให้อาหารที่บริโภคเข้าไปถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานทำงานช้าลง เกิดการสะสมของไขมัน ความอ้วน (obesity) ตามมาจนนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักเกินปกติ

          การนั่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับคนไม่อ้วนเช่นกัน เช่น การนั่งหลังจากรับประทานอาหาร นำไปสู่การพุ่งสูงขึ้นของน้ำตาลในเลือด การเดินหลังอาหารสามารถลดยอดที่พุ่งสูงขึ้นได้ครึ่งหนึ่ง

          มนุษย์มีความเข้าใจผิดว่าปัญหาสุขภาพเกี่ยวพันกับการกินมากเกินไปโดยมองข้ามการนั่งแบบเจ่าจุกไป ถ้าจะมองให้ไกลออกไปก็จะพบว่านิสัยอันเกิดจากความเคยชินในเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายคือปัจจัยสำคัญของบรรดาปัญหาสุขภาพ ซึ่งนิสัยชอบเดินเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่านั่งโดยไม่ทำอะไรบนเก้าอี้นั้นแก้ไขง่ายกว่าการกินมากเกินไปด้วยซ้ำ

          ในประเทศญี่ปุ่นมีการรณรงค์ “10,000 ก้าวเพื่อสุขภาพ” และลามไปสู่หลายประเทศในปัจจุบัน เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมนี้เป็นที่นิยมซึ่ง 10,000 ก้าวนี้ก็เท่ากับการเดินไม่ต่ำกว่า 6 กิโลเมตรต่อวัน สำหรับคนไทยที่ไม่ได้เดินขึ้นรถไฟไกล ๆ เหมือนคนญี่ปุ่นอาจทำได้ยากหากไม่มีความมุ่งมั่น อย่างไรก็ดีหลักฐานเรื่องปัญหาสุขภาพข้างต้นก็น่าจะเพียงพอต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ชอบนั่งมาเป็นยืนและเดินแทนแล้ว

          นโปเลียน โบนาปาร์ต มีชื่อเสียงในเรื่องการยืนทำงาน กล่าวคือโต๊ะที่ทำงานมีความสูงอย่างเหมาะต่อการยืนทำงาน การไม่มีเก้าอี้ให้นั่งทำให้คนที่เข้าพบใช้เวลาสั้นจนเป็นการใช้เวลาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปัจจุบันบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นบางแห่งใช้การยืนประชุมแทนการนั่งเป็น ชั่วโมง ๆ ดังที่เคย และพบว่าสามารถหาข้อตกลงได้ในเวลาที่สั้นกว่า และสอดคล้องกับหลักสุขภาพตามที่ได้พบมาจากงานวิจัยอีกด้วย

          มีการทดลองสร้างโต๊ะทำงานสูงคล่อมสายพานเดินที่มีความเร็ว 1-2 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้คนทำงานต้องยืนและเดินช้า ๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้ทดลองพบว่าทำให้สมองตื่นตัว มีความเครียดน้อยลง น้ำหนักลดลง ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดลดลง ข้อสรุปนี้ปรากฏในวารสาร Health Services Management Research ในปี 2011

          ถ้าจะไปไกลถึงบรรพบุรุษของเรา ก็พบว่าการเดินทำให้เรามีวันนี้กัน นักชีววิทยา 2 คน คือ D.E. Lieberman และ D.M. Bramble เขียนบทความลงวารสาร Nature ในปี 2004 ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราที่สืบทอดลูกหลานมาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะความอึดทนทานในการเดินและวิ่งไล่ตามเหยื่อที่เป็นสัตว์อย่างไม่ลดละ จนในที่สุดสัตว์ก็ทนไม่ไหวต้องล้มลงและเป็นอาหารในที่สุด

          การเดินทนทานทำให้เกิดอาหารและมีพลังที่จะผลิตลูกหลาน ยีนส์จากผู้แข็งแรงจากการเดินเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงมาจนถึงพวกเรา (มนุษย์ทุกคนมีประวัติศาสตร์ของครอบครัวที่ยาวเท่ากันคือประมาณ 7,500 ชั่วคน หรือประมาณ 150,000 ปี ของช่วงเวลาที่มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนมนุษย์ใน ทุกวันนี้ คนที่คุยว่าตนเองมาจากครอบครัวที่เก่าแก่ กำลังลืมความจริงข้อนี้)

          เมื่อนิสัยการเดินทนทานฝังอยู่ในยีนส์ของพวกเรา จึงควรสนองตอบสืบทอดคุณลักษณะนี้ต่อไปเพื่อความแข็งแรงของมนุษยชาติและของตัวเราเอง

          การนั่งก้มหน้าตลอดเวลาดูสิ่งประดิษฐ์อัศจรรย์ในปัจจุบันซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ๆ ขัดแย้งกับความเป็น “สัตว์สังคม” ของมนุษย์ที่ทำให้เราอยู่รอดกันมาโดยอยู่เป็น หมู่เหล่า มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มิฉะนั้นคงถูกสัตว์ร้ายฆ่าตายหมดแล้ว

          หลักฐานงานศึกษาวิจัยมีท่วมท้นว่าการนั่งเจ่าจุกบนเก้าอี้ การมีชีวิตที่รัก การกิน นั่ง และนอนอย่างขาดความกระฉับกระเฉง ไม่ชอบการออกกำลังกายและไม่ชอบการเดิน คือการทำลายสุขภาพอย่างสำคัญ

          เดินให้มาก นั่งให้น้อย ไม่กินอาหารเกินพอดี มีชีวิตที่คึกคักกระฉับกระเฉง และมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อชีวิต ดูจะเป็นทางออกของการมีสุขภาพที่ดีถึงแม้จะทำให้คนที่อยากให้เราจากไปรำคาญมากขึ้นก็ตามที

          จงมองเก้าอี้ด้วยความระแวงเพราะมันคือฆาตกรตัวจริง

สงครามระหว่าง e-books และ print books

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2
ธันวาคม 2557

Photo by freestocks on Unsplash

         การพัฒนาและการแพร่กระจายของ IT ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมามีผลกระทบต่อการผลิตหนังสือและรสนิยมของคนอ่าน หนังสือที่เรียกว่า e-books เกิดขึ้นมากมายมาแทนที่หนังสือที่ใช้กระดาษธรรมดา (print books) มีคนพยากรณ์ว่าในเวลาไม่ช้า print books จะไม่มีที่ยืน ทางโน้มของทั้งโลกคือการกลายเป็น e-books หมด ลองมาดูกันซิว่าคำทำนายเช่นนี้จริงไหม

          หลังจากมนุษย์ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเมื่อ 6,000 ปีก่อน ความพยายามในการพิมพ์ตัวอักษรก็ตามมา เมื่อ 5,000 ปีก่อนมนุษย์ก็รู้จักวิธีพิมพ์ภาพ พิมพ์ตัวอักษรลงบนผ้า แผ่นหนัง ฯลฯ ในอินเดีย และจีน โดยการใช้ลูกกลิ้งหินและไม้ประทับอักษรแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก

          สิ่งที่เรียกว่าหนังสือหรือข้อความที่เขียนอยู่ในรูปของม้วน ๆ อยู่ยาวนานจนกระทั่งเมื่อ 2,000 ปีก่อนจึงคิดทำเป็นเล่มหนังสือ (codex) ดังที่เราอ่านกันอยู่ในปัจจุบันเพราะสะดวกกว่าที่เป็นม้วนมาก

          เมื่อการพิมพ์ด้วยลูกกลิ้งมีข้อจำกัด จึงใช้การคัดลอกหนังสือแทน ถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา อย่างไรก็ดีการลอกข้อความนั้นมีราคาแพงมาก ค่าจ้างคัดลอกอยู่ในราคาหนึ่งเหรียญ florin ต่อหน้า (ปัจจุบันมีราคา 200 เหรียญสหรัฐ) ถ้าหนา 100 หน้าก็ต้องจ่าย 100 florins ซึ่งเท่ากับ 20,000 เหรียญในราคาปัจจุบัน ราคาแพงเช่นนี้หนังสือจึงไม่แพร่หลาย คนส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เฉพาะคนชั้นสูงและเศรษฐีเท่านั้นที่เข้าถึงหนังสือ

          จุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์โลกก็คือการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์โดย Johannes Gutenberg ชาวเยอรมันใน ค.ศ. 1450 ภายในเวลา 200 ปี หลังจากนั้นจากจำนวนหนังสือเป็นหมื่นเล่มที่มีอยู่ในโลกได้เพิ่มเป็น 12 ล้านเล่ม ความคิด ปรัชญา ความคิดเห็น คำสอนในศาสนา ฯลฯ แพร่กระจายสู่คนธรรมดา ซึ่งแหลมคมยิ่งกว่าอาวุธเสียอีก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนังสือเป็นเล่มจากการพิมพ์ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

          จากหนังสือแบบใช้ตัวโลหะเรียงพิมพ์ก็พัฒนาขึ้นเป็นการพิมพ์ในระบบออฟเซ็ทสมัยใหม่และกลายเป็น e-books ที่ไม่ต้องใช้กระดาษเลยในที่สุด เมื่อ e-books เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนมีคำพยากรณ์มากมาย เช่น (ก) คนจะเลิกอ่าน print books ภายในเวลา 20 ปี (ข) ก่อนหน้าปี 2013 ครึ่งหนึ่งของจำนวนหนังสือจะเป็น e-books

          อย่างไรก็ดีสถิติที่นิตยสาร The Economist นำมาแสดงเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือ (ก) ในปี 2013 ตลาดขายหนังสือสหรัฐซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของโลกมียอดรายได้เพียงร้อยละ 30 ของยอดรายได้ทั้งหมดที่มาจาก e-books (ข) ในตลาดเยอรมันนี (อันดับ 3 ของโลก) มียอดรายได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มาจาก e-books

          ยิ่งไปกว่านั้นในระหว่างปี 2009-2018 การคาดการณ์ก็คือในปี 2018 ยอดรายได้จาก e-books กับ print books ใกล้เคียงกันในตลาดสหรัฐ ส่วนญี่ปุ่นนั้นในปี 2018 ยอดรายได้จาก print books ลดลง แต่ของ e-books นั้นเพิ่มมากก็จริงแต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมากของยอดรายได้ทั้งหมด

          สำหรับเยอรมันนียอดรายได้จาก print books ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยอดรายได้จาก e-books เป็นสัดส่วนที่น้อยมากของรายได้ทั้งหมด ในปี 2018 สถานการณ์ในจีน อิตาลี และอังกฤษก็คล้ายคลึงกัน กล่าวคือยอดรายได้จาก print books ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนยอดของ e-books เพิ่มไม่มาก แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมากของยอดรายได้ทั้งหมด

          กล่าวโดยสรุปก็คือคำพยากรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการตายของ print books ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด print books ยังคงมีสุขภาพดี โดยสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ของโลกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายอดขาย print books จะยังคงอยู่ในลักษณะเดิม กล่าวคือเป็นสัดส่วนใหญ่ของยอดขายหนังสือทั้งหมดไปอีกหลายทศวรรษ หรืออาจตลอดไปก็เป็นได้

          คำถามก็คือเหตุใดผู้คนยังคงพิสมัย print books อยู่ถึงแม้ e-books จะเป็นเครื่องมือที่สะดวก ไม่ต้องแยกหนังสือหลายเล่มซึ่งรวมกันมีราคาแพงกว่ามาก e-books ที่มีชื่อว่า kindle มีขนาดเท่าฝ่ามือ บางและเบา ซึ่งมีจอไม่เป็นไฟสว่างหากมีลักษณะเหมือนกระดาษ สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้นับพันเล่ม แต่ละเล่มสามารถดาวน์โหลดจาก Amazon.com ได้ในเวลาไม่ กี่วินาที และถ้าหากเป็น tablets / mobiles / computers ก็สามารถดาวน์โหลดหนังสือจำนวนมากได้ฟรี

          สาเหตุที่ print books มีสุขภาพดีก็เพราะ (1) สะดวกในการเปิดพลิกและค้นดูทั้งเล่มกลับไปมา (2) หนังสือที่ใช้สำหรับอ้างอิงเหมาะที่จะอยู่ในรูป print books (3) ไม่ทำร้ายสายตาและมีแบตเตอรี่ตลอดชีวิต (4) ความเคยชินกับวัฒนธรรมการอ่าน print books อีกทั้งชอบสัมผัสกระดาษและความเป็นธรรมชาติ และ (5) ให้ immersive experience ซึ่งหมายถึง “การอิน” “การฟิน” “การดื่มด่ำ” กับหนังสือที่เป็นเล่มแบบธรรมดาเป็นพิเศษ

          e-books เหมาะสำหรับการอ่านที่ “ฉาบฉวย” ไม่จำเป็นต้องพลิกกลับไปเพื่ออ้างอิง เช่น นวนิยายทั้งหลายไม่ว่าเรื่องรัก นักสืบ ผจญภัย วิทยาศาสตร์ ฯลฯ และนี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดหนังสือพิมพ์จึงมียอดขายตกกันทั่วโลก เนื่องจากข่าวในแต่ละวันอ่านแล้วก็ผ่านไป ข่าววันใหม่ก็มาแทน คนไม่แคร์ที่จะทิ้งไปหรือให้ใครไป e-books จึงเป็นที่นิยมเพราะถูกกว่าทันใจกว่า (ซื้อได้ทันทีและจ่ายเงินออนไลน์ในเวลาไม่กี่นาที) ดูทันสมัย สะดวกในการพกพา

          ในอนาคตเชื่อว่า print books จะอยู่ยั้งยืนยง โดยไม่ใช่สิ่งที่ถูกทดแทน (substitute) หากเป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกัน (complement) กับ e-books ตัวอย่างเช่นใช้ตำราคู่กับแผน DVD ที่เฉลยแบบฝึกหัดซึ่งมากับตำรา

          การที่สินค้าใดจะอยู่ได้นานเพียงใดขึ้นอยู่กับประโยชน์และรสนิยมของผู้ใช้เป็นสำคัญ

Trilemma หลักหนากว่า Dilemma

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25
พฤศจิกายน 2557

Photo by Tech Daily on Unsplash

         เราคุ้นกับคำว่า “dilemma” ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่เกิดการเลือกที่ลำบากระหว่างสองความเป็นไปได้ซึ่งบ่อยครั้งที่ทั้งสองทางเลือกไม่น่ารื่นรมย์เลย ปัจจุบันได้เกิดคำใหม่ขึ้นคือ trilemma เพื่อช่วยอธิบายสามสถานการณ์ของการเลือกที่เกี่ยวกับนโยบายด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ให้ชัดเจนขึ้น

          trilemma หมายถึงสถานการณ์ที่เกิดทางเลือกขึ้นเป็นสาม ตัวอย่างที่คลาสสิกก็คือเศรษฐกิจหนึ่งอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การเคลื่อนไหวอย่างเสรีของทุน นโยบายการเงินอย่างอิสระ แต่ไม่สามารถมีทั้ง 3 สิ่งได้

          ระบบ Gold Standard เริ่มใช้หลังข้อตกลง Bretton woods ใน ค.ศ. 1944 ก่อนที่ฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย หลายประเทศรวมทั้งไทยใช้กันอย่างประสบความสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่งจนล่มสลายไปในทศวรรษ 1970

          ภายใต้ระบบนี้เงินทุนไหลอย่างเสรี ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยมีนโยบายการเงิน (ปรับอัตราดอกเบี้ยและปริมาณเงิน) ที่มุ่งปรับให้อัตราแลกเปลี่ยนตรงกับที่กำหนดไว้กับราคาทองคำ สำหรับไทยเรากำหนดหนึ่งบาทเท่ากับทองคำบริสุทธิ์จำนวนหนึ่งซึ่งนำไปเทียบจนได้อัตราแลกเปลี่ยนหนึ่งเหรียญสหรัฐเท่ากับ 20 บาท นโยบายการเงินจึงจำต้องดำเนินไปเพื่อทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยไม่อาจใช้นโยบายการเงินอย่างเสรีเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้

          ถ้าต้องการอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (เป็นกุญแจสำคัญของระบบโดยกำหนดให้เงินทุนสกุลต่าง ๆ มีค่าเท่ากับทองคำจำนวนหนึ่ง โดยราคาทองคำคงที่) และนโยบายการเงินมีความเป็นเสรีก็จำเป็นต้องควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก

          ไม่มีเศรษฐกิจใดที่สามารถได้ทั้ง 3 สิ่ง มันเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า trilemma ของระบบ Gold Standard ในช่วงระยะเวลา ค.ศ 1944 ถึงทศวรรษ 1970 แต่ในห้วงเวลาต่อมาสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป นักเศรษฐศาสตร์หันมานิยมอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เพราะให้ความคล่องตัวแก่เศรษฐกิจมากกว่า (สังคมไทยได้ชิมรสขมขื่นของอัตราแลกเปลี่ยนที่พยายามทำให้คงที่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ค.ศ. 1996)

          อย่างไรก็ดียังมีหลายประเทศในโลกที่ไม่สบายใจกับการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เนื่องจากอัตราคงที่ช่วยให้เกิดความแน่นอนมากขึ้นในการค้าและการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ จีนคือตัวอย่างที่ยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่อยู่ในระดับหนึ่งในความเป็นจริง ยอมให้เงินทุนไหลเข้าไหลออก (ไหลออกยากกว่าไหลเข้า) เสรี แต่ก็ต้องมีนโยบายการเงินที่ไม่เสรีเต็มที่

          นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจตรง ๆ แล้ว trilemma ก็ครอบคลุมไปถึงเรื่องที่กว้างกว่านั้น Dani Rodrik แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขียนหนังสือชื่อ “The Globalization Paradox : Democracy and the Future of the World Economy” (2011) โดยเสนอความคิดว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกไม่สามารถได้ทั้ง 3 สิ่งคือประชาธิบไตย โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และการกำหนดชะตากรรมของชาติตนเอง กล่าวคือบางชาติอาจมีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ แต่ประชาชนจะไม่ยอมให้ความสามารถในการกำหนดชะตากรรมของชาติตนเองหลุดมือไปแน่นอน

          ถ้ายอมรับโลกาภิวัตน์ก็หมายความว่าต้องรับกฎกติกาที่กำหนดโดยองค์กรสากล หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่เสรีภาพของประชาชนในบางเรื่องก็จะถูกปิดกั้น เช่นในการเป็นประชาคมอาเซียนของไทย ซึ่งเป็นอีกก้าวใหญ่ของโลกาภิวัตน์ อาชญากรรมจากต่างชาติก็จะชุกชุมขึ้นถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีประสิทธิภาพเท่าเดิมเพราะการเดินทางไปมากันอย่างเสรียิ่งขึ้น ปรากฏการณ์นี้จะกระทบสิทธิเสรีภาพของคนไทย เพราะไม่อาจกระทำหลายสิ่งที่เคยทำ เช่น เดินเล่นริมทะเล หรือ ในสวนสาธารณะ (ถ้าสถานการณ์อาชญากรรมร้ายแรงขนาดนั้น)

          ถ้าต้องการการกำหนดชะตากรรมของตนเองเต็มที่ผ่านระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนไม่ต้องการให้มีกฎจากต่างชาติมาวุ่นวาย ก็จำต้องลดดีกรีของโลกาวัตน์ลง ประโยชน์จากส่วนนี้ก็จะต้องหายไปด้วย

          ในเรื่องสาธารณสุขเช่นกัน 3C’s ที่รู้จักกันคือ cost / coverage และ choice คือ trilemma บ้านเรามี universal health coverage คือครอบคลุมหมดทุกคนและ “ฟรี” แต่คนไข้เลือกโรงพยาบาล หมอ ยา และวิธีการรักษาไม่ได้ แต่ถ้าให้มีขอบเขตการเลือกของประชาชนเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีขีดจำกัดของการครอบคลุมหรือยอมให้ประชาชนเสียเงินเพิ่มขึ้น (อาจเป็นทั้งสองอย่างหลัง) เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่สามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างไม่จำกัดในเรื่องสาธารณสุข

          ในเรื่องภาษีมรดกของบ้านเราก็เข้าข่าย trilemma เช่นเดียวกัน ภาษีนี้สอดคล้องกับ กฎธรรมชาติที่ทุกคนควรมีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ใกล้เคียงกันเพราะอยู่ในสังคมเดียวกัน ภาษีนี้เกิดขึ้นได้เพราะกฎหมาย อย่างไรก็ดียังมีกฎสังคม (ไทย) ที่ชื่นชอบการเก็บสะสมทรัพย์ไว้ให้ลูกหลาน ดังนั้นทั้งสามกฎคือกฎธรรมชาติ กฎหมาย และกฎสังคม ไม่อาจไปด้วยกันทั้งหมดได้ในเรื่องภาษีมรดก ถ้าเลือกไม่มีภาษีมรดกเลยหรือมีในอัตราต่ำมาก กฎธรรมชาติที่ต้องการความเท่าเทียมกันก็จะขัดแย้งกับกฎหมายที่ออกมาแต่สอดคล้องกับกฎสังคมที่ต้องการให้มีการสะสมสมบัติให้ลูกหลาน

          trilemma ให้บทเรียนหลายประการดังนี้ ข้อ (1) ในเศรษฐศาสตร์ไม่มีคำตอบที่ “ถูก” ทุกทางเลือกนโยบายล้วนมี trade-offs (ได้แลกกับเสีย) ด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นความปรารถนาของประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกตั้งและนักการเมืองก็เปลี่ยนแปลงข้ามชั่วคน กล่าวคือในยุคสมัยหนึ่งอาจเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นสิ่งพึงปรารถนา แต่วันเวลาผ่านไปเมื่อได้รับบทเรียนควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อัตราแลกเปลี่ยนเสรีที่ยอมให้เคลื่อนไหวในขอบเขตหนึ่งก็เป็นทางเลือกใหม่หรือการเปลี่ยนจากปิดประเทศมาสู่โลกาภิวัตน์ เช่น เวียดนาม ลาว พม่า ฯ ก็เป็นการเปลี่ยนใจข้ามชั่วคนเช่นกัน

          ข้อ (2) นักเศรษฐศาสตร์ก็หวือหวาเป็นแฟชั่นไปตามยุคสมัยเหมือน ‘นัก’ อื่น ๆ เช่นกัน ยุคหนึ่งกลัวเงินเฟ้อจนมีการควบคุมค่าจ้างและราคา บางยุคก็ชื่นชมทุนนิยมเหลือหลาย เปิดตลาดเสรีเลียนแบบกันกว้างขวาง (จนเจ๊งกันไปหลายประเทศโดยเฉพาะในเรื่องความเป็นเสรีของตลาดการเงิน) เพราะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของตลาดผ่านการมีข่าวสารข้อมูลที่สมบูรณ์ ฯลฯ

          ข้อ (3) trilemma เพาะเชื้อพันธุ์แห่งการขาดเสถียรภาพ กล่าวคือการถูกบังคับให้เลือกทิ้งหนึ่งนโยบายในสามทางเลือก เช่น ตัวอย่างของ Rodrik คือเลือกโลกาภิวัตน์ เลือกประชาธิปไตย แต่ต้องยอมละทิ้งการกำหนดชะตากรรมของสังคมได้อย่างเต็มที่โดยต้องยอมรับกฎกติการะหว่างประเทศ ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะไม่พอใจถึงแม้คนส่วนใหญ่จะใช้กลไกประชาธิปไตยกำหนดการตัดสินใจก็ตามที

          ในทางตรงข้ามถ้าไม่เลือกประชาธิปไตยและเลือกการกำหนดชะตากรรมเต็มที่ก็วุ่นวายเพราะปัญหาการยอมรับจากต่างประเทศ และท้ายสุดการเลือกประชาธิปไตยกับการกำหนดชะตากรรมเองก็ทำให้ตกขบวนรถไฟโลกาภิวัตน์ของโลกอีกเช่นกัน           trilemma ชี้ให้เห็นความปวดหัวของผู้กำหนดนโยบายและการต้องเผชิญกับปัญหา การเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” มิได้เกิดเฉพาะในกรณีของ dilemma เท่านั้น

อะไรทำให้คุณภาพการศึกษาไทยเกิดหักเห

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18
พฤศจิกายน 2557

Photo by NeONBRAND on Unsplash

          ความเห็นเรื่องปฏิรูปการศึกษามีมากมายในปัจจุบันจนอาจเรียกได้ว่าเฝือ ถ้าเราเข้าใจเหตุแห่งความเป็นมาของการหักเหของคุณภาพการศึกษาไทยแล้ว อาจทำให้เห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น

          หลายคนสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้การศึกษาของเราซึ่งแต่ดั้งเดิมก็มีคุณภาพพอควรหักเหลดต่ำลงได้ขนาดนี้ คำตอบก็คือ (1) ระบบการศึกษาของเราแต่ก่อนเป็นระบบที่เรียกว่า “exclusive” คือเป็นการศึกษาเฉพาะคนชั้นสูง คนมีเงิน คนมีอำนาจ ฯลฯ แต่มาในยุคหลังการวางแผนเศรษฐกิจเมื่อประมาณ พ.ศ. 2505 ลักษณะของการศึกษาไทยก็เริ่มเปลี่ยนไป เรามีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประชาชนธรรมดามีความต้องการการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เมื่อกระแสของโลกตะวันตกในเรื่องความเท่าเทียมกันของโอกาสในการศึกษาพัดแรงขึ้น เราจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกว่า ‘inclusive’ กล่าวคือทุกคนมีโอกาสเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับระดับอุดมศึกษาของภาครัฐที่เบ่งบานอย่างยิ่งตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

          (2) เสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุควางแผนเศรษฐกิจเป็นต้นมาสร้างพลังผลักดันทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก จำนวนนักเรียนมีมากขึ้นจนการบริหารจัดการทำได้ยากมากขึ้นเป็นลำดับ

          ถ้าจำกันได้ เมื่อสมัยก่อนนักเรียนชั้นมัธยมปลายจะสอบข้อสอบเดียวกันพร้อมกันทั้งประเทศ แต่พอถึงราว พ.ศ. 2508-2509 แต่ละโรงเรียนออกข้อสอบและจัดสอบกันเองเนื่องจากภาระการบริหารงานสูงขึ้นมากจนไม่อาจทำได้อย่างเดิม

          (3) กระแสโลกที่มีทางโน้มเพิ่มจำนวนปีของการศึกษาภาคบังคับทำให้ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาเราปรับการศึกษาภาคบังคับจาก 4 เป็น 6 และ 9 ปีในที่สุด การเพิ่มจำนวนปีการศึกษาพร้อมกับเด็กที่เกิดปีละกว่า 1 ล้านคน เป็นเวลาต่อเนื่องกันนับสิบปีนับตั้งแต่การวางแผนเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมีการรับครูเข้าบรรจุเป็นจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคนในเวลาอันรวดเร็วเมื่อ 20-30 ปีก่อน (จำการเรียนครูภาคทไวไลท์กันได้ไหม ที่แห่เรียนตอนเย็น และเสาร์-อาทิตย์ มืดฟ้ามัวดินเพื่อจะได้เป็นข้าราชการครู)

          เมื่อมีความจำเป็นต้องผลิตและรับครูจำนวนมากมายในเวลาอันสั้นเพื่อรับมือกับความต้องการ คุณภาพของการผลิตและการคัดเลือกที่ไม่เข้มข้นทำให้มีครูจำนวนมากที่คุณภาพ ไม่สูง และไม่ได้ต้องการเป็นครูอย่างแท้จริง (ต้องการเพียงเป็นข้าราชการ) หลุดเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ครูที่รักความเป็นครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริงก็มีคละปะปนอยู่ด้วยอย่างไม่แน่ใจว่าส่วนใดมากกว่ากัน

          การรับครูจำนวนมากเช่นนี้ในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อนจึงมีผลทำให้ครูเกือบครึ่งหนึ่งในปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี และเป็นที่ทราบกันดีว่าคนในวัยนี้มีพลังกายและพลังใจลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ยิ่งครูที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นครูและอยู่ในวัยนี้ด้วยแล้ว เราพอจะมองเห็นได้ว่าคุณภาพครูเหล่านี้เป็นอย่างไร

          (4) ในภาพรวมครูมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 400,000 คน เป็นจำนวนที่มากอย่างสอดคล้องกับจำนวนนักเรียนปัจจุบันที่เกิดเพียงประมาณปีละ 800,000-850,000 คน แต่ครูกลับขาดแคลนในโรงเรียนนับหมื่นโรงเรียนในจำนวนกว่า 32,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นเวลายาวนานที่โรงเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 150 คนในชนบทขาดแคลนครูทั้ง ๆ ที่จำนวนครูรวมทั้งประเทศมีเพียงพอ สาเหตุมาจากครูส่วนใหญ่ต้องการสอนในโรงเรียนใหญ่ดัง ๆ ในกรุงเทพฯ หรือในตัวเมืองของจังหวัด เนื่องจากสามารถสอนพิเศษหารายได้ตอนเย็น ได้อยู่ใกล้ “ผู้ใหญ่” และ “กำนัน” เรียนต่อก็สะดวก โอกาสก้าวหน้ามีมากกว่าเป็นอันมาก ฯลฯ

          กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถโอนย้ายครูจากโรงเรียนเหล่านี้ที่มีครูเป็นสัดส่วนกับนักเรียนต่ำไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลนครูในพื้นที่ไกลออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นเพราะประเพณีหรืออะไรก็ไม่ทราบที่ยึดกันมาว่าถ้าครูไม่ยินยอมให้ย้ายโรงเรียนแล้วไม่อาจย้ายครูได้ (กลัวครู ช้ำใจจนสอนไม่ได้? ครูเส้นใหญ่จนบังคับไม่ได้?)

          การขาดแคลนครูในโรงเรียนนอกเมืองซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศศึกษาอยู่จึงเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน หลายโรงเรียนขาดแคลนครู แถมครูยังมีคุณภาพไม่ดีอีก ขาดจิตวิญญาณของการเป็นครู ได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนต่ำเพราะมีนักเรียนน้อย (เขาให้เงินอุดหนุนต่อหัวต่างกันไม่มากระหว่างเด็กในเมืองกับนอกเมือง) แต่โรงเรียนใหญ่ในเมืองรับเงินอุดหนุนมหาศาลเพราะมีนักเรียนมาก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กซึ่งอยู่ห่างไกลซึ่งเป็นจำนวนส่วนใหญ่ของประเทศถูกลงโทษสามเด้ง (เกิดมาจน ขาดแคลนครู โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนต่ำ)

          (4) การเมืองเข้าแทรกแซงในการโอนย้ายครู บวกคอรัปชั่นในบางกลุ่มของผู้บริหารโรงเรียน ไม่ว่าจัดซื้อ จัดจ้าง โอนย้ายครู เลือกซื้อแบบเรียน เงินบริจาค ฯลฯ สถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วก็เลยรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมองไปรอบบ้านเด็ก สังคมก็ให้ตัวอย่างที่เลวแก่เด็ก พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มุ่งแต่หาเงินเลี้ยงชีพ ตัวอย่างดี ๆ ที่เด็กเห็นมีน้อย เด็กเห็นว่าความไม่จริงใจ การโกหกหลอกลวง เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน

          (5) แต่ละรัฐบาลมีความฝันเฟื่องในเรื่องการศึกษาที่ไม่ประติดประต่อกัน บางพรรคบางรัฐบาลทำให้การศึกษเดินหน้าไป 5 ก้าว แต่ต่อมาอีกไม่กี่เดือนก็มีรัฐมนตรีใหม่ที่ทำให้ถอยไป 3 ก้าวมาแทน เปลี่ยนกันรวดเร็วราวกับเดินทางมาบนสายพานของโรงงานอุตสาหกรรม และก็เป็นอย่างนี้สลับไปมายาวนานอย่างไม่มีทิศทางที่แน่ชัดและไม่มีโครงการที่ต่อเนื่อง

          (6) เมื่อสิบกว่าปีก่อน หลักสูตรใจกว้างให้ครูมีวิจารณญาณในการเลือกสอนเนื้อหาได้กว้างขวาง ดังนั้นเด็กจึงเรียนพื้นฐานไม่เหมือนกัน ประวัติศาสตร์บางตอนครูบางคนก็ข้ามไปเพราะเห็นว่าไม่น่าสนใจ

          (7) โรงเรียนไม่มีอัตราจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการใหม่มานาน ดังนั้นครูบางส่วนจึงทำหน้าที่ธุรการปนเปไปกับการสอนเด็ก เมื่อถึงยุคสมัยฮิตของการตรวจประเมินโรงเรียน มีตัวชี้วัดมากมายดังเช่นปัจจุบัน ครูจำนวนมากก็หมกมุ่นอยู่กับงานเหล่านี้ เพราะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงโรงเรียน แต่ไม่กระทบต่อผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารส่วนกลางไม่ว่านักเรียนจะมีสัมฤทธิผลการศึกษาเป็นอย่างไร อ่านหนังสือไม่ออกกี่คน คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารส่วนกลางก็ได้รับเงินเดือนขึ้นเสมอ (แถมมีโบนัสอีกด้วย) ตำแหน่งก้าวหน้าอย่างไม่มีการเชื่อมโยงกับคุณภาพการศึกษาที่เด็กได้รับอย่างแท้จริง พูดง่าย ๆ ก็คือระบบเป็นไปในทางที่ทำให้ผู้บริหาร “ไม่ต้องมีความรับผิดรับชอบ” ต่อผลที่เกิดขึ้น

          (8) ในต่างจังหวัดครูต้องไปร่วมงานของจังหวัดเสมอในเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าส่งเสริมเรื่องใดก็ตาม อีกทั้งต้องเกณฑ์นักเรียนไปร่วมงานราชการ มีการพูดกันว่าครูในปัจจุบันนั้น “ทำทุกอย่างยกเว้นสอนหนังสือ”

          ครูรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่บังเอิญหลุดพลัดเข้าไปในโรงเรียนต่างจังหวัดต้องรับเหมางานเหล่านี้ทั้งหมด เพราะเป็นประเพณีว่าเมื่อเป็นผู้บริหารแล้วไม่สอนหนังสือ ยกเว้นผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูและรักและปรารถนาดีต่อเด็กอย่างแท้จริง

          การที่ต้องมีการปฏิรูปใด ๆ ก็เพราะสถานะเดิมนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจของสังคม อย่างไรก็ดีในสถานะที่มันเป็นอยู่นั้นมีผู้ “พอใจ” อยากให้มันดำรงอยู่ต่อไปเพราะได้รับผลประโยชน์ ดังนั้นการปฏิรูปจึงสร้างความเจ็บปวดให้คนที่ ‘พอใจ’ อยู่แล้วอย่างแน่นอน และถ้าไม่มีการออกแรง ‘ทุบโต๊ะ’ แล้ว ยากนักหนาที่จะเปลี่ยนแปลง หรือ ‘ปฏิรูป’ อะไรได้ เพราะคน ‘ที่พอใจ’ อยู่แล้วมีพลังในตัวอันเข้มแข็งและมีออร่าเจิดจรัสโดยธรรมชาติ

เชื่อเรื่องเศรษฐกิจได้ แต่…….

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11
พฤศจิกายน 2557 

ที่มา https://www.intergold.co.th/สำนักงานสถิติอังกฤษหั่/

          ผู้อ่านที่คุ้นเคยกันมักถามผู้เขียนว่าทำไมไม่เขียนเรื่องเศรษฐกิจบ่อย ๆ ซึ่งก็มักตอบไปว่ามันมีเหตุผลและอยากเขียนเรื่องที่ไม่ค่อยซ้ำกับคนอื่นจึงเลือกเขียนหลากหลายเรื่องเพื่อให้อะไรใหม่ ๆ แก่ผู้อ่าน วันนี้ขอเขียนเรื่องเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้เห็นเหตุผลที่กล่าวถึง

          เศรษฐกิจคือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหาภาค ซึ่งโยงใยกับ GDP การเจริญเติบโตของ GDP การว่างงาน เงินเฟ้อ การส่งออก การลงทุน การนำเข้า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงิน ฯลฯ ในขณะที่เศรษฐศาสตร์เกี่ยวพันกับเรื่องที่กว้างไกลกว่าเศรษฐกิจ กล่าวคือกินไปถึงเรื่องจุลภาคเช่นเรื่องราคาของสินค้าในระดับย่อย พฤติกรรมสมาชิกเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาส ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การบริโภคและการผลิตในระดับย่อย ฯลฯ

          ในเรื่องเศรษฐกิจสิ่งซึ่งฮิตที่สุดก็คือภาวะเศรษฐกิจและพยากรณ์เศรษฐกิจ (ปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวกี่เปอร์เซ็นต์) นักธุรกิจและผู้สนใจให้ความสำคัญกับบทวิเคราะห์เหล่านี้มากจนมีผลกระทบต่อราคาหุ้น กระทบต่อการคาดคะเนซึ่งผูกโยงกับการลงทุน หรือแม้แต่กระทบการเมือง

          อย่างไรก็ดีผู้รับสารจำนวนมากจากข้อเขียนหรือบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการพยากรณ์เศรษฐกิจ มักมิได้ตระหนักถึงความจริงหลายประการที่แอบซ่อนอยู่ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอดังต่อไปนี้

          (1) GDP คือมูลค่าผลผลิตและบริการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยในรอบ 1 ปี (คำนวณ ณ ราคาของปีหนึ่งซึ่งใช้เป็นปีฐาน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเมื่อมูลค่าสูงขึ้นนั้นเป็นผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมิได้มาจากราคา) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าคือรายได้ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 1 ปี

          GDP เป็นตัวเลขที่รวมเฉพาะมูลค่าผลผลิตซึ่งก็คือรายได้ที่เกิดจากการผลิตเท่านั้น (ไม่รวมรายได้จากการโอนกัน เช่น ให้กัน ถูกหวย ชนะพนัน ฯลฯ) อีกทั้งยังต้องเป็นการผลิตที่ผ่านการซื้อขายในตลาดและถูกกฎหมายอีกด้วย

          สิ่งที่มิได้ผ่านตลาด เช่น ปลูกผักกินเอง ผลไม้ที่เก็บกินเองในบ้าน งานแม่บ้านของภรรยา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มิได้ถูกรวมไว้ใน GDP นอกจากนี้สิ่งผิดกฎหมาย เช่น มูลค่าการผลิตยาเสพติด รายได้ของหญิงบริการ รายได้ของแรงงานผิดกฎหมาย ฯลฯ ก็มิได้ถูกรวมไว้ใน GDP ด้วย

          การเพิ่มขึ้นของ GDP ข้ามปี ซึ่งหมายความถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จึงเป็นตัวเลขที่มีความหมายในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะสิ่งที่มิได้ผ่านตลาดและผิดกฏหมายก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งทำให้ธุรกิจคึกคัก ทำให้ผู้คนเกิดรายได้ในกระบวนการเช่นกัน แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมิได้คำนึงถึงส่วนนี้

          ถ้ารัฐบาลต้องการให้ GDP เพิ่มขึ้นมาก ๆ ข้ามปี หรือเศรษฐกิจขยายตัวสูง ก็เพียง ออกกฎหมายให้การผลิตยาเสพติด หญิงบริการในทุกกรณี บริการจัดเล่นพนัน ฯลฯ ถูกกฎหมาย เท่านั้นเอง

          ส่วนของเศรษฐกิจที่มิได้รวมไว้ใน GDP คือสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจใต้ดิน ซึ่งมีทั้งกิจกรรมผิดกฎหมาย หนีภาษี หลุดรอดจากระบบภาษี ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ทั้งสิ้น งานศึกษาเรื่องนี้ของบ้านเราเคยพบว่ามีขนาดถึงร้อยละ 30 ของ GDP ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจต่ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจรวมอาจมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าตัวเลขที่พูดกัน

          (2) ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเลข GDP ของปีปัจจุบันที่พูดกันนั้นมันผิดหรือถูก ทั้งนี้เพราะ GDP เป็นการรวมตัวเลขประมาณการทั้งสิ้น GDP ประกอบด้วยการบริโภคของครัวเรือน (C) การลงทุนของภาคเอกชน (I) การใช้จ่ายของภาครัฐ (G) มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้า (เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออก) มิใช่ตัวเลขที่แม่นยำเหมือนเวลาที่เกิดสุริยุปราคา

          ตัวเลข C และ I นั้นประมาณการบนสมมุติฐานที่เชื่อว่ามีเหตุมีผล (ถ้าสมมุติฐานผิด ตัวเลขประมาณการก็ผิดและพิสูจน์ไม่ได้ 100% ว่าถูกแค่ไหน) ตัวเลข G มูลค่าการส่งออกและนำเข้าพอเชื่อถือได้เพราะมาจากการจัดเก็บของทางการตามลักษณะธรรมชาติของมันซึ่งสามารถบันทึกได้ (มูลค่าการบริโภคของครัวเรือนไม่มีใครสามารถบันทึกได้ครบถ้วน)

          ถ้าหน่วยงานของภาครัฐไม่ละอายใจก็สามารถเล่นกลได้โดยการเลือกเปลี่ยนราคาปีฐานในการคำนวณ GDP เพื่อให้ได้ซีรี่ย์ของมูลค่า GDP ใหม่ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

          สรุปก็คือตัวเลข GDP ที่เราพูดถึงกันทุกวันนั้นจริง ๆ แล้วก็คือ GDP ที่แท้จริง (Real GDP) ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าถูกต้องแม่นยำเพราะไม่มีทางพิสูจน์ได้ 100% ว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างดีก็พออนุมานได้ว่าต่างจาก GDP ที่พยายามวัดจากด้านอี่น เช่น จากด้านรายจ่ายมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

          เมื่อผ่านไปแล้วหลายปีเมื่อมีการปรับสถิติตัวเลขใหม่จึงพอจะประเมินได้ว่า GDP ที่เคยวัดในปีก่อน ๆ หน้านั้นน่าจะผิดจากความจริงกี่เปอร์เซ็นต์

          (3) ในเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจนั้นใครที่เชื่อคำพยากรณ์โดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ โดยรับเอาไว้ดังคำของพระเจ้า กรุณาอ่านธรรมชาติของการพยากรณ์เศรษฐกิจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

          ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดสามารถรู้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจริง ๆ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร เนื่องจากว่าข้อมูลสถิติที่เอามาใช้ประเมินสภาวะปัจจุบันแบบ real time นั้นเป็นไปไม่ได้ โดยทั่วไป เร็วสุดของตัวเลขก็คือเมื่อ 3 เดือนก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นอย่างไรนั้นล้วนตีความจากตัวเลขเมื่อ 3 เดือนก่อนหรือนานกว่านั้นทั้งสิ้น

          การพยากรณ์เศรษฐกิจจึงหมายความว่านักเศรษฐศาสตร์ใช้ข้อมูล 3 เดือนก่อนหรือนานกว่านั้นเอามาใช้พยากรณ์อนาคตทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้จริง ๆ จากตัวเลข (ประมาณการอีกนั้นแหละ) เลยว่าสภาวะการปัจจุบันเป็นอย่างไร พยากรณ์อากาศง่ายกว่าเพราะเราเห็นอากาศวันนี้จริง ๆ จนพอคาดเดาสถานการณ์พรุ่งนี้โดยใช้สถิติและสภาวะของวันนี้เป็นข้อมูลสำคัญ

          ถ้านักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์เศรษฐกิจได้แม่น ทำไมจึงแทบไม่มีใครในระดับโลกออกมาทำนายเลยว่าเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาร้ายแรงในปี 2008 และ “ต้มยำกุ้ง” ของไทยในปี 1996 ก็เหมือนกัน กว่าจะรู้กันว่าจะแย่ก็ก่อนวิกฤตไม่กี่อาทิตย์เท่านั้น

          นักเศรษฐศาสตร์พยายามสร้างโมเดลเศรษฐมิติที่ประกอบด้วยตัวแปรนับร้อย เอาข้อมูลสถิติเก่า ๆ ข้ามเวลานานปีของตัวแปรเหล่านี้มาสร้างความสัมพันธ์โยงใยกันเพื่อใช้พยากรณ์ ถึงแม้จะพิสูจน์แล้วว่าโมเดลแม่นยำด้วยการลองเอาตัวเลขของบางปีในอดีตใส่เข้าไปและใช้พยากรณ์เศรษฐกิจปีต่อมาซึ่งได้เกิดขึ้นจริงแล้วก็ปรากฏว่าใกล้เคียงความจริงจนน่าเชื่อถือมาก อย่างไรก็ดีพอถึงการพยากรณ์ในอนาคตจริง ๆ กลับไม่สามารถให้ผลที่แม่นยำได้

          อย่าเข้าใจผิดว่าผู้เขียนดูหมิ่นดูแคลนศาสตร์แห่งการพยากรณ์เศรษฐกิจ ผู้เขียนเพียงแต่ชี้ให้เห็นธรรมชาติของมันตลอดจนข้อระมัดระวังของการตีความ สิ่งที่ควรกระทำก็คือการ “ฟังหูไว้ สองหู” เมื่อได้ยินคำพยากรณ์ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของตัวมัน บ่อยครั้งที่พยากรณ์อากาศแม่นยำกว่าพยากรณ์เศรษฐกิจมาก

          อย่าหดหู่สิ้นหวังกับสภาวเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โลกของเราไม่มีอะไรหยุดนิ่ง มีพลวัตรและความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตราบที่เราให้กำลังใจกัน ไม่ก่นด่าเพราะความมันส์อย่างไร้เหตุผล และช่วยกันคนละไม้คนละมือในการช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งยอมเสียประโยชน์ส่วนตัวกันบ้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ปัญหาเศรษฐกิจของเราก็อาจแก้ไขลุล่วงและปรับโครงสร้างใหม่ได้           ตัวเลขต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจสมควรแก่การรับฟังและขบคิด แต่ไม่ควรหลับตาเชื่อโดยไม่ตระหนักถึงความหมาย ที่มาและข้อจำกัดของมัน

มหาภัยจาก “ถุงลม”

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4
พฤศจิกายน 2557

ที่มา https://www.mottoraka.com/knowledge/airbag-ซ่อนหลังพวงมาลัยฝากคว/

          Air bag หรือถุงลมกันกระแทกในรถมีคุณอนันต์ แต่สำหรับถุงลมที่พองออกในรถด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 1 ใน 20 ของวินาทีเมื่อมีการกระแทกแรง ๆ จากภายนอกก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน

          ‘ถุงลม’ เป็นนวตกรรมที่ช่วยชีวิตคนไว้ได้มากมายถึงกว่า 6,300 ชีวิต และช่วยบรรเทาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้นับไม่ถ้วนในช่วงเวลา ค.ศ. 1990-2000 ที่มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกา ในจำนวน 3.3 ล้านครั้งที่ ‘ถุงลม’ ทำงาน นอกจากสร้างประโยชน์ดังกล่าวแล้วก็ทำให้เกิดการตายถึง 175 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ 104 ราย

          เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการนั่งข้างหน้าคู่คนขับในรถที่มี ‘ถุงลม’ คู่ กล่าวคือ นอกจากคนขับแล้วยังมีอีกหนึ่งถุงสำหรับคนนั่งคู่ เมื่อเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี หนักไม่ถึง 30 กิโลกรัม ถูก ‘ถุงลม’ ที่พองออกอย่างรุนแรงอัดเข้าศีรษะและอกในช่วงเวลาก่อนถึงจุดที่ถุงจะพองออกเต็มที่ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บ บางรายถึงกับคอขาดก็มี

          ไอเดียของ ‘ถุงลม’ ก็คือให้มันพองออกเมื่อเกิดการกระแทกขึ้นในทิศทางตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวของรถเพื่อให้เป็นเบาะลมช่วยรับแรงกระแทกอันเกิดจากการที่ร่างกายถูกเหวี่ยงไปข้างหน้า อย่างไรก็ดีหากร่างกายถูกเหวี่ยงไปปะทะก่อนที่ ‘ถุงลม’ พองออกเต็มที่มันก็จะไม่ทำหน้าที่เป็นเบาะหาก เป็นสิ่งที่พุ่งออกมาปะทะเต็มแรง

          เด็กอายุน้อย ๆ ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับแรงต้านของ ‘ถุงลม’ มักชอบนั่งข้างหน้าใกล้กระจกหน้าเพื่อให้เห็นวิว ซึ่งตำแหน่งนี้ใกล้กับจุดที่ถุงลมจะพองออกมาด้วยแรงเต็มที่ และเมื่อไม่รัดเข็มขัดนิรภัยด้วยเพราะชอบเต้นไปมาไม่อยู่นิ่งตามประสาเด็ก ‘ถุงลม’ จึงเป็นภัยต่อเด็กเหล่านี้ อย่างยิ่ง

          คำแนะนำก็คือให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีนั่งข้างหลังตรงกลาง และถ้าหากต้องการเห็นวิวก็ให้หาที่นั่งเสริมให้สูงขึ้นและรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย หากต้องนั่งคู่ข้างหน้ากับคนขับจริง ๆ ก็ให้ถอยเบาะออกมาไกลที่สุด และรัดเข็มขัดนิรภัย

          ที่น่ากลัวที่สุดก็คือการเอาเบาะที่นั่งทารก (ซึ่งหันทางศีรษะไปข้างหน้าเพื่อป้องกัน คอบาดเจ็บหากมีการชนเกิดขึ้น) ไปวางบนที่นั่งคู่คนขับโดยหัวทารกตรงกับจุดที่ ‘ถุงลม’ จะพองออกมา

          ไม่เพียงแต่ทารกเท่านั้นที่อันตรายในการนั่งข้างหน้าคู่คนขับ คนบางกลุ่มก็อาจตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกัน งานวิจัยของ Craig Newgard แห่ง Oregon Health & Science University ซึ่งนำเสนอต่อ The Society for Academic Emergency Medicine Annual Meeting พบว่า ‘ถุงลม’ ปลอดภัยในที่นั่งข้างหน้าเฉพาะคนมีความสูงระหว่าง 157-177 เซนติเมตร อันตรายมักเกิดกับคนที่เตี้ยกว่า 147 เซนติเมตร และสูงกว่า 188 เซนติเมตร ข้อเท็จจริงนี้พบจากการเก็บข้อมูล 11 ปีของคนขับและคนที่นั่งคู่ 67,284 คนที่ประสบอุบัติเหตุ เหตุผลก็คือคนตัวเตี้ยและสูงเกินไปจะไม่ได้รับประโยชน์จาก ‘ถุงลม’ อันเนื่องมาตำแหน่งของอวัยวะส่วนหัวและลำตัวที่อาจปะทะ ‘ถุงลม’

          ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ของ ‘ถุงลม’ ก็พบว่าไอเดียของการมีถุงรองรับแรงกระแทกมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1941 แต่ที่ใช้ได้จริงเกิดใน ค.ศ. 1953 โดยนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันชื่อ Walter Linderer และชาวอเมริกันชื่อ John Hetrick ใช้ลมเป็นตัวอัดเข้า ‘ถุงลม’ ซึ่งไม่สามารถเอามาใช้ได้จริงเนื่องจากกลไกที่ปลุกให้ถุงทำงานมาจากการสัมผัสบังโคลนหรือคนขับเป็นผู้บังคับเองดังนั้นจึงช้าไม่ทันการณ์

          นักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Yasuzaburou Kobori ประดิษฐ์ ‘ถุงลม’ ที่ทำงานได้ดีกว่า แต่ก็ยังคงใช้ลมอัดเช่นเดียวกัน ในปี 1967 นักวิชาการชาวอเมริกันชื่อ Allen Breed พลิกผันแนวคิด ‘ถุงลม’ โดยประดิษฐ์กลไกที่เป่าลมเข้าถุงได้รวดเร็ว และลมที่อัดเข้าถุงคือกาซไนโตรเจนอันเกิดจากการระเบิดของสาร sodium azide เมื่อถูกกระแทก

          กลไกแนวนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจน ‘ถุงลม’ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในสหรัฐอเมริกาการติดตั้งในรถบางรุ่นเริ่มต้นในทศวรรษ 1970 และตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมามีการใช้ ‘ถุงลม’ ในรถเกือบทุกรุ่น สำหรับยุโรปนั้นเริ่มใช้ในต้นทศวรรษ 1990 ส่วนรถญี่ปุ่นนั้น ‘ถุงลม’ เริ่มใช้กันเป็นกอบเป็นกำในทศวรรษ 1980 และพัฒนาขึ้นจนเป็นอุปกรณ์บังคับของรถทุกรุ่นในปัจจุบัน

          ในปัจจุบัน ‘ถุงลม’ ส่วนใหญ่ใช้กาซอาร์กอนในการเติมถุงลม และมีกลไกอัดลมที่มีประสิทธิภาพมาก ในรถราคาสูงหลายรุ่นมิได้มีเพียงถุงลมเฉพาะที่นั่งข้างหน้าเท่านั้น ยังมี ‘ถุงลม’ เหนือประตู ‘ถุงลม’ ตรงกลางที่นั่ง และอีกหลายตำแหน่งในรถ บางรุ่นของรถ SUV มี ‘ถุงลม’ ที่จะพองออกภายในรถหากรถพลิกคว่ำอีกด้วย

          รถบางยี่ห้อมีสวิทซ์ปิดเปิดถุงลมสำหรับที่นั่งคู่คนขับเพราะตระหนักดีถึงภัยที่เกิดจากการพองออกในภาวะที่มิได้พึงประสงค์ มีคำเตือนว่าหลังอุบัติเหตุรถชนกัน หากต้องเข้าไปที่นั่งหน้ารถจะต้องระวังให้ดีเพราะ ‘ถุงลม’ อาจพุ่งออกมาได้หลังจากเกิดอุบัติเหตุแล้วพอควรเนื่องจากกลไกยังค้างอยู่

          ข่าวล่าสุดที่ฟังแล้วน่าตกใจก็คือมีคนขับรถในสหรัฐอเมริกาสองรายที่เสียชีวิตเนื่องจากถังจุดปฏิกิริยาสร้างลมระเบิดออกมาแรงมากจนถังอัดแตกเป็นเศษเหล็กและฝังเข้าซอกคอคนขับหญิงทั้งสองคนจนเสียชีวิต เมื่อตรวจเช็คก็พบว่า ‘ถุงลม’ ที่จ้างผลิตโดยบริษัท Takata ในญี่ปุ่น โดยหลายบริษัทรถยนต์นั้นบกพร่อง จำเป็นต้องมีการเรียกเข้ามาแก้ไข

          รถหลายรุ่นของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ใช้ ‘ถุงลม’ ของบริษัทดังกล่าว ดังนั้น รถกว่า 20 ล้านคันในสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในคิวที่จะต้องแก้ไข ระหว่างนี้คนขับก็ขับไปลุ้นไป ส่วนคนที่ไม่ต้องลุ้นก็คือคนในประเทศที่ไม่มีการตรวจสำรวจว่า ‘ถุงลม’ ในรถรุ่นต่าง ๆ ที่วิ่งกันอยู่นั้นเกี่ยวพันกับบริษัท Takata มากน้อยเพียงใด…..พูดง่าย ๆ ก็คืออะไรที่ไม่รู้ก็ไม่ต้องลุ้น

          ‘ถุงลม’ ที่ทำงานเสมออย่างไว้ใจได้และไม่มีส่วนประกอบจาก Takata เจือปน ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและเปลี่ยนอะไหล่ทุก 10-14 ปี เพราะทุกอย่างย่อมมีการเสื่อมสลายเป็นธรรมดา

          ไม่มีอะไรที่ดีไปเสียทั้งหมดโดยไม่มีการต้องเอาบางสิ่งไปแลก ‘ถุงลม’ นั้นดีเมื่อเสริมกับการใช้เข็มขัดนิรภัย แต่ก็มีจุดเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กและผู้ใหญ่ได้หากไม่ระวังการใช้ให้ดี

          ทั้งหมดนี้กำลังจะบอกว่า ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’ เพราะทุกอย่างได้มาด้วยการต้องเอาบางสิ่งไปแลกทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงว่าชีวิตของมนุษย์ประสบกับ trade-off คือได้แลกกับเสียอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จึงสมควรกระทำด้วยความรอบคอบยิ่ง

ชีวิตเต็มไปด้วยการ “ส่งสัญญาณ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28
ตุลาคม 2557

Photo by Chinh Le Duc on Unsplash

         ถ้าไม่มีสาเหตุทางชีววิทยาที่บังคับให้ทุกคนในโลกนี้พูดความจริงตลอดเวลาแล้ว ความเท็จปนความจริงก็จะมีอยู่ทั่วไป และสถานการณ์เช่นนี้ก็จะทำให้มนุษย์จำเป็นต้อง ‘ส่งสัญญาณ’ ถึงคนอื่นเพื่อเข้าใจว่าตนเองพูดความจริง หรือเพื่อให้เข้าใจอย่างที่ตนเองต้องการ โลกเช่นนี้จะบังคับให้ภาครัฐต้อง ‘ส่งสัญญาณ’ ในเรื่องการปฏิรูปสังคมและนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

          เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง The Invention of Lying (2009) ก็คือไม่มีการโกหกในโลก ทุกคนพูดความจริงในทุกโอกาส ดังนั้นความไม่แน่นอนในเรื่องว่าเป็นความจริงหรือเท็จจึงไม่มี ความเข้าใจผิดไม่เกิดขึ้น ต่างคนต่างรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอย่างไรกับตน การ ‘ส่งสัญญาณ’ (signaling หรือ signalling คำแรกเป็นการสะกดแบบอเมริกัน) ซึ่งเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งจึงไม่ใช่เรื่องปวดหัวอีกต่อไป

          อย่างไรก็ดีโลกแห่งความแน่นอนในการเข้าใจซึ่งกันและกันนั้นไม่มี ประเด็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน ความรัก การหาคู่ การทูต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

          ในบทความสำคัญในปี 1973 ที่มีส่วนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 2001 ร่วมกับ George Akerlof และ Joseph Stiglitz นั้น Michael Spencer (ปัจจุบันอายุ 70 ปี) เสนอแนวคิดในเรื่อง signaling (การส่งสัญญาณ) ซึ่งมีรากมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อมูลอสมรูป’ (asymmetric information)

          ธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินกันได้เป็นอย่างดีนั้นมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย กล่าวคือทั้งสองฝ่ายเข้าใจในเรื่องเนื้อหาและคุณภาพของสิ่งที่ซื้อขายอย่างเท่าเทียมกัน (ในการซื้อไอศครีม ผู้ซื้อมีข้อมูลสินค้าที่ซื้ออย่างทัดเทียมกับผู้ขาย เช่น มีป้ายสินค้าระบุส่วนผสมของวัตถุดิบ การซื้อขายจึงเป็นไปอย่างปกติ) อย่างไรก็ดีในหลายโอกาสทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันเนื่องจากลักษณะของสินค้าหรือบริการ

          ตัวอย่างเช่นการซื้อขายประกันสุขภาพ ผู้ซื้อประกันเป็นผู้ที่รู้สถานะสุขภาพของตนเองดีกว่าบริษัทรับประกัน หากได้ประกันสุขภาพถึงแม้ตนเองจะใกล้ตายก็จะได้ประโยชน์มาก คนรับกรรมก็คือผู้ประกันคนอื่น ๆ ดังนั้นในเวลาต่อไปเบี้ยประกันจะสูงขึ้น หากปล่อยไว้เช่นนี้ธุรกรรมซื้อขายประกันสุขภาพไม่อาจดำเนินไปได้อย่างดี จำเป็นต้องมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์จากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงเพื่อช่วยให้การประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้ (เช่น กำหนดเงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การบังคับให้ผู้ซื้อตรวจสุขภาพก่อนซื้อประกัน ฯลฯ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือการ ‘ส่งสัญญาณ’ ในรูปแบบหนึ่งของภาครัฐ ในด้านผู้ซื้อประกัน การ ‘ส่งสัญญาณ’ ก็เกิดขึ้นเช่นกันเพื่อให้ตนได้เบี้ยประกันที่เหมาะสม

          อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่เรื่องการจ้างงาน ผู้สมัครทำงานมีความรู้ดีว่าตนเองมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ในขณะที่ผู้จะจ้างมีความรู้เกี่ยวกับผู้สมัครน้อยกว่า ดังนั้นการมีใบรับรองความสามารถ ใบปริญญา จึงเป็นสิ่งช่วยให้ผู้จะจ้างทราบข้อมูลมากขึ้นอีกในระดับหนึ่ง

          ความเชื่อมั่นในคุณภาพของหลักสูตรที่เรียนจบโดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล จดหมายรับรองการทำงาน resume หรือ CV ของผู้เรียนจบ ทรานสคริปของการทำกิจกรรมระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย เรียงความที่แต่งประกอบใบสมัครทำงาน ความสามารถในการสอบสัมภาษณ์ ฯลฯ ล้วนเป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ ทั้งสิ้นให้แก่ผู้จะจ้างซึ่งจะตีความสัญญาณที่ส่งมาเหล่านั้นเพื่อการตัดสินใจว่าจะจ้างหรือไม่ต่อไป

          Spencer วิเคราะห์เรื่อง “ข้อมูลอสมรูป” กับการศึกษาและการจ้างงานอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ผู้เขียนขอเสนอความเห็นบางประการซึ่งเกี่ยวพันดังต่อไปนี้ (1) การเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปีเต็มอาจเป็นการ ‘ส่งสัญญาน’ ให้ผู้จะจ้างบางรายเห็นว่าผู้สมัครมีความอดทนจนได้รับความรู้ในระดับสูง อีกทั้งมีความบากบั่นในการเรียนจนถึงกับได้รับปริญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์คุณภาพในระยะยาวได้ดีกว่าผู้ที่ไม่จบปริญญา ถึงแม้ทั้งสองน่าจะมีความสามารถทัดเทียมกันก็ตาม (2) การทำกิจกรรมนักศึกษาในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างบุคลิกภาพ เช่น เรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ การเล่นกีฬา ฯลฯ น่าจะเป็น “สัญญาณ” ที่เป็นคุณในการสมัครงาน (3) การเรียนรู้เพิ่มเติมนอกหลักสูตรโดยเกิดจากความสมัครใจของตนเอง เช่น เรียนภาษาอาเซียน การฝึกอบรมการฝึกพูด การฝึกบุคลิกภาพ ฯลฯ เป็น “สัญญาณ” ซึ่งแสดงให้ผู้จะจ้างเห็นว่าเป็นผู้ที่ความพยายามในการฝึกฝนพัฒนาตนเองซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ผู้จะจ้าง พึงปรารถนา

          อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องความรักซึ่งมีความสัมพันธ์กับการ ‘ส่งสัญญาณ’ อย่างสำคัญ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก กล่าวคือได้คนที่ตนรักมาเป็นคู่ครองจะบอกได้ว่าในระหว่างที่กำลังจะชอบพอกันนั้นการ ‘ส่งสัญญาณ’ คือทุกสิ่งทุกอย่าง ในสมัยโบราณไทยการให้ชานหมากจากปากของหญิง การให้สไบที่เธอใช้แล้ว การให้ดอกจำปีที่เคยซุกไว้กลางอก (โอ้! แม่เจ้า) ฯลฯ ล้วนเป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ ทั้งสิ้น

          ถ้าชายใดให้มาม่าห่อใหญ่แก่หญิงที่ตนเองกำลัง ‘คั่ว’ อยู่แทนที่จะให้ดอกกุหลาบสีแดงใน วันวาเลนไทน์ก็สมควรกลับไปเรียนเศรษฐศาสตร์ 101 ที่สอนเรื่องการ ‘ส่งสัญญาณ’ อีกสักหน เพราะโดยแท้จริงแล้วมันเป็นวันแห่งโอกาสที่ดียิ่งของการ ‘ส่งสัญญาณ’ ความรัก (บางคนอาจบอกว่าเป็นโอกาสแห่งธุรกิจการค้ามากกว่า)

          กล่าวโดยสรุปก็คือ การ ‘ส่งสัญญาณ’ ให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจหรือรู้สิ่งที่ตนต้องการให้เข้าใจหรือรู้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากการตัดสินใจของอีกฝ่ายขึ้นอยู่กับการตีความสัญญาณที่ได้ส่งไปให้

          ถ้าข้อมูลที่ต้องการจะสื่อถือว่าเป็น “น้ำยา” (substance) ส่วนวิธีการ ‘ส่งสัญญาณ’ ถือว่าเป็น “ท่วงท่า” (style) ทั้งสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกันอย่างดีจึงจะสามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการ ‘ส่งสัญญาณ’ เช่น ถ้าภาครัฐมีนโยบายรัดเข็มขัดบนกระดาษที่น่าเชื่อถือ แต่ข้าราชการชั้นสูงใช้เงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่าย การ ‘ส่งสัญญาณ’ นั้นก็จะล้มเหลว

          งานสำคัญที่นักการทูตต้องกระทำอยู่ทุกวันก็คือการทำให้คนต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์และสภาวการณ์ของประเทศตนดังที่ต้องการให้เข้าใจ นอกเหนือจากการมี “น้ำยา” จะให้แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้ ‘ท่วงท่า’ อันได้แก่กลวิธีและลักษณะของการ ‘ส่งสัญญาณ’ อันแยบยลประกอบไปด้วย

          ในการทำให้ประชาชนและคนต่างประเทศเข้าใจเรื่องการปฏิรูปประเทศ การแก้ไขปัญหาสังคมไทย ตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ นอกจากการให้ข้อมูลแล้ว การ ‘ส่งสัญญาณ’ ที่แสดงถึงความจริงใจและความตั้งใจจริงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าสัญญาณชัดและแรงเหมือน ‘เน็ต’ (นักศึกษาหอพักบอกว่าน้ำไหลไม่แรงไม่ว่า ตราบที่ ‘เน็ต’ แรงเป็นใช้ได้) ก็จะบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีคลื่นอื่น ๆ อันเกิดจากความร้อนวิชา การปรารถนาแสดงความคิดเห็นก่อนเวลาอันควรและในวาระที่ไม่เหมาะสมมาแทรกรบกวนมากเกินไป

          การ ‘ส่งสัญญาณ’ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องการความต่อเนื่องและการโยงใยถักทอกันโดยมียุทธศาสตร์เป็นตัวกำกับ

หลอด LED รับรางวัลโนเบิล

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21
ตุลาคม 2557

ที่มา https://www.mobindyshop.com/article/8/led-คือ-อะไร

          หลอดไฟแบบเผาไหม้ที่คิดค้นขึ้นได้เมื่อ 136 ปีก่อนให้ความสว่างแก่มนุษย์ในศตวรรษที่ 20 แต่หลอดไฟ LED จะทำหน้าที่เดียวกันในศตวรรษที่ 21 และด้วยเหตุนี้ผู้ร่วมกันสร้างสรรค์หลอดไฟ LED ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่น 3 คน จึงได้รับรางวัลโนเบิลเมื่อเร็ว ๆ นี้

          LED (Light-Emitting Diode) เป็นหลอดไฟที่ให้แสงสว่างโดยตรงจากกระแสไฟฟ้า ในขณะที่หลอดไฟแบบเผาไหม้ที่เรียกกว่า incandescent light ซึ่งคิดค้นโดย Thomas Edison ในปี ค.ศ. 1878 ให้แสงสว่างทางอ้อม กล่าวคือกระแสไฟฟ้าไปเผาไหม้ไส้และไส้เปล่งแสงสว่าง ดังนั้นสำหรับความสว่างเท่ากันจึงกินไฟฟ้ามากกว่าเมื่อเทียบกับหลอดไฟ LED

          นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันค้นพบว่ามีการประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าแบบเผาไหม้ก่อน Edison ไม่น้อยกว่า 22 สิ่งประดิษฐ์ หากแต่ว่าสิ่งประดิษฐ์ของ Edison นั้นมีคุณภาพเหนือกว่าเพราะได้ทดลองไส้หลอดไฟฟ้าจากวัสดุนับร้อย ๆ ชนิด จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จจากถ่านไม้ไผ่ ต่อมามีการพัฒนาปรับปรุงโดยนักประดิษฐ์จำนวนมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในทศวรรษแรกของ ค.ศ. 1900 จนในที่สุด tungsten เป็นสารที่ใช้ได้ผลดีที่สุดในการเอามาทำไส้

          ต่อมามีการต่อยอดโดยอัดก๊าซ halogen เข้าไปผสมกับไส้ในและได้แสงสว่างที่ขาวนวลเหมือนกลางวันเป็น white light แต่ถึงจะประหยัดไฟได้มากกว่าเดิมแต่ก็มีราคาแพงกว่าพอควร

          ยังมีหลอดไฟประเภทสองที่เรียกว่า fluorescent หรือหลอดนีออน ใช้วิธีผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในหลอดบรรจุก๊าซเพื่อให้เกิดไอระเหยของปรอท ซึ่งผลิตรังสีอุลตร้าไวโอเลตให้ไปทำปฏิกิริยากับ phosphor ซึ่งฉาบอยู่ในหลอดและเกิดแสงสว่างขึ้น

          หลอดนีออนมีการต่อยอดเป็นหลอดที่เรียกว่า CFL (Compact Florescent Lamp) ซึ่งหน้าตาคล้ายหลอดไฟแบบเผาไหม้ แต่เป็นหลอดนีออนซึ่งเสียบเข้าไปในเต้าและใช้ได้เลยโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์บัลลาสต์ และสต้าตเตอร์ให้รุงรัง CFL มีหลอดแก้วเป็นไส้ขดไปมาภายในหรือเป็นขาอยู่ข้างใน ปัจจุบัน CFL เป็นที่นิยมในบ้านเรา

          อย่างไรก็ดีหลอดประเภทที่สามที่กำลังจะเป็นหลอดไฟของศตวรรษที่ 21 คือ LED หลอดไฟชนิดนี้กำลังจะมาแทนที่ดังที่เกิดขึ้นแล้วในบางอาคารในบ้านเราและในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เพราะกินไฟน้อยมาก และมีอายุทนทานมาก

          หลอด LED สีแดงและเขียว มีผู้ประดิษฐ์ได้แล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1960 แต่ยังไม่มีใครสามารถประดิษฐ์หลอด LED ที่ให้สีน้ำเงินซึ่งเมื่อผสมกับสองสีก่อนหน้าก็สามารถเกิดเป็นไฟสีขาวและ สามารถเอามาใช้เป็นหลอดไฟในบ้านแทนหลอดไฟแบบเผาไหม้และไฟนีออนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก

          ศาสตราจารย์ Isamu Akasaki (อายุ 85 ปีในปัจจุบัน) สามารถผลิตหลอด LED ที่ให้ แสงไฟสีน้ำเงินได้ในปี 1981 ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นโลกตะวันตกเชื่อว่าทำไม่ได้ก็ตามที แต่แสงที่ผลิตได้ก็อ่อนจนไม่สามารถเอาไปทำประโยชน์อะไรได้เนื่องจากเกร็ดละอองแก้วซึ่งใช้เป็นวัสดุหลักในการทำขั้วไฟในหลอดยังไม่ดีพอ ต่อมาเขาได้

          นักศึกษาปริญญาเอกชื่อ Hiroshi Amano (ปัจจุบันอายุ 54 ปี) มาทำงานทดลองใช้วัสดุนานาชนิดเพื่อผลิตละอองแก้วอย่างบากบั่นมานะ จนในที่สุด LED ก็สามารถผลิตแสงไฟสีฟ้าสว่างจ้าได้สำเร็จในปี 1985

          ในฟากของเอกชน Shuji Nakamura (ปัจจุบันอายุ 60 ปี) แห่งบริษัทขนาดเล็กผลิตหลอดไฟฟ้าชื่อ Nichia Corp ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคการดูถูกเยาะเย้ยว่าไมได้มีส่วนช่วยงานบริษัท สามารถนำสิ่งประดิษฐ์หลอด LED สีฟ้ามาผลิตเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จโดยเป็นลำแสงสีขาวสว่างจ้าในปี 1990

          ทั้งสามคนจึงได้รับรางวัลโนเบิลสาขาฟิสิกส์ร่วมกันประจำปี 2014 ยิ่งเป็นที่ภาคภูมิใจแก่คนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก สามคนนี้ทำให้ญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบิลรวมทั้งสิ้น 22 รางวัล (10 ในฟิสิกส์ 2 ในสาขาแพทย์ 7 ด้านเคมี 2 ด้านวรรณกรรม และ 1 ด้านสันติภาพ)

          ศาสตราจารย์ Akasaki สอนหนังสือและวิจัยที่ Meijo University (ไม่ใช่แม่โจ้ที่เชียงใหม่) และ Nagoya University เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ Amano ส่วนคนที่สามคือ Nakamura ปัจจุบันสอนอยู่ที่ University of California, Santa Barbara โดยปัจจุบันแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน

          ศาสตราจารย์ Nakamura เป็นสีสรรค์ของรางวัลนี้เพราะบอกว่าได้รางวัลมาเพราะ ‘ความโกรธ’ บริษัทนายจ้าง Nichia Corp เขาเห็นบริษัทได้กำไรจากความสำเร็จของเขานับพัน ๆ ล้านเยนในทศวรรษ 1990 ในขณะที่เขาได้รับเงินรางวัลเพียง 6 พันบาท (20,000 เยน) เขาจึงฟ้องเรียกร้องผลตอบแทนจนชนะได้เงินมา 250 ล้านบาท เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปัจจุบันก็ยังเป็นคดีความกันอยู่เพราะเขาถูกบริษัทฟ้องกลับ (ปัจจุบันอาจรีบถอนฟ้องแทบไม่ทันเพราะคงต้องการโหนรางวัลโนเบิลนี้)

          หลอดเผาไหม้มีอายุเพียงประมาณ 1,000 ชั่วโมง หลอดนีออนและ CFL ประมาณ 10,000 ชั่วโมง ส่วน LED นั้นคงทน 100,000 ชั่วโมง สำหรับการกินไฟนั้นน้อยกว่าหลอดเผาไหม้ประมาณ 6-7 เท่าตัว และน้อยกว่าหลอดนีออนและ CFL ประมาณกว่าเท่าตัว สำหรับราคานั้น LED เคยแพงกว่า CFL ประมาณ 4-5 เท่า แต่ปัจจุบันนั้นสัดส่วนนี้ลดลงเป็นลำดับเมื่อมีคนนิยมใช้หลอด LED มากขึ้น ในบ้านเราหลอด LED สามารถซื้อหาได้ในราคาต่ำกว่า 300 บาทในปัจจุบัน

          จอสมาร์ทโฟน จอโทรทัศน์ชนิดแบน ไฟประดับตกแต่งร้าน ไฟที่ส่ว่างจ้า หน้ารถยนต์บางยี่ห้อ ไฟบนเวที ไฟจราจร ไฟแสดงตัวเลขบนจอของเครื่องมือต่าง ๆ ไฟป้ายที่สว่างต่าง ๆ ฯลฯ ล้วนเป็นหลอด LED ทั้งสิ้น เพราะคงทน กินไฟน้อย และสว่างเป็นพิเศษ

          ในบ้านเราการใช้หลอดไฟ LED เพื่อความสว่างในบ้านยังมีน้อยอยู่ แต่มั่นใจว่าจะมีมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อราคาหลอดลดลง การใช้ก็สะดวกเพียงแต่เปลี่ยนหลอดเข้าไปในเต้าปกติเท่านั้น

          นักฟิสิกส์ทั้งสามสร้างประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างมหาศาลเพราะช่วยให้เกิดการประหยัดไฟฟ้า ประหยัดวัสดุ (จอโทรทัศน์ที่แบนได้ก็เพราะสามารถใช้หลอด LED แทนนีออน) ประหยัดพลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้าและวัสดุ ลดการใช้หลอดนีออนซึ่งมีผลกระทบทางด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยิ่งก็คือประหยัดเงินของครอบครัว (เมื่อหลอดไฟ LED มีราคาถูกเช่นเดียวกับหลอดเผาไหม้ก็จะเห็นชัดเจนขึ้น)

          ความมุ่งมั่นบากบั่นมานะ ไม่ย่อท้อกับความผิดหวัง และความโกรธสามารถผสมกันจนผลักดันให้เกิดสิ่งประดิษฐ์สำคัญต่อมนุษยชาติได้