เศรษฐศาสตร์ปราบโจรสลัด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5
สิงหาคม 2557

Photo by Zoltan Tasi on Unsplash

          ในชั่วขณะแรกเมื่อได้ยินเรื่องโจรสลัด คำตอบในใจก็คือจะปราบมันให้หมดไปได้ต้องกวาดล้างให้หมดอย่างเด็ดขาด บางคนอาจนึกไปถึงการยิงตายให้เกลี้ยงด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์มีคำตอบที่น่าสนใจสำหรับปัญหานี้

          โจรสลัดโซมาเลีย (Somalia) เป็นที่รู้จักกันดีมาเกือบทศวรรษแล้วว่าร้ายกาจขนาดหนัก ปล้นเรือทุกประเภททั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ผ่านน่านน้ำบริเวณนั้นอย่างไม่กลัวตาย มีทั้งปืนสั้น ปืนยาว และอาวุธสงครามจนเป็นที่ครั่นคร้าม ใครที่ได้ดู “Captain Phillips” ภาพยนตร์ตื่นเต้นของปีที่ผ่านมาซึ่งสร้างจากเรื่องจริงคงนึกเห็นภาพ (หัวหน้าโจรเล่นได้ยอดเยี่ยมมากจนได้รางวัลออสการ์ เขาเล่นภาพยนตร์เป็นครั้งแรกเพราะผู้สร้างเอามาจากคนโซมาเลียที่อพยพมาอเมริกา)

          โซมาเลียตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของทวีปอาฟริกา โดยด้านตะวันออกหันสู่มหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกติดเอธิโอเปีย สถานที่ตั้งของโซมาเลียเหมาะต่อการจี้เรือมากเพราะดินแดนซึ่งมีพื้นที่มากกว่าไทยร้อยละ 20 (ประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร) นี้ตั้งอยู่ตรงปากทะเลแดงที่ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียซึ่งมีชื่อเรียกว่าบริเวณอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) พอดี จึงมีเรือบรรทุกน้ำมันและสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่าน เพราะตรงขึ้นไปทางทิศเหนือคือตะวันออกกลาง (เยเมน โอมาน)

          คนโซมาเลียยากจนเช่นเดียวกับคนอาฟริกาทั้งหลาย ดังนั้นการเลือกเป็นโจรสลัดกับการเป็นชาวประมงจึงเป็นการตัดสินใจไม่ยากสำหรับคนแถบนั้นเมื่อคำนึงถึงว่าการบังคับใช้กฎหมายของประชากร 11 ล้านคน ของประเทศนี้อ่อนแออย่างมาก

          เมื่อเงื่อนไขเป็นเช่นนี้จึงเกิดเจ้าพ่อเพื่อคุ้มครองให้ความปลอดภัยในการปล้น ขายและรักษาทรัพย์สินที่ปล้นมา แต่ละกลุ่มของเจ้าพ่อจะมีชุมชนสนับสนุนอยู่ข้างหลัง

          นักเศรษฐศาสตร์สองคนคือ Anja Shortland แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และ Federico Varese แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกันเขียนบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศึกษาปัญหาโจรสลัดโซมาเลียและการหาทางออก เขาสงสัยว่าเหตุใดโจรสลัดจึงไม่หมดไป และเหตุใดเจ้าพ่อบางคนจึงให้ความคุ้มครองโจรสลัดเหล่านี้ แต่บางคนกลับไม่สนใจอาชญากรรมเช่นนี้เลย คำตอบโจทย์นี้สำคัญเพราะอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหากเจ้าพ่อทุกคนมีลักษณะดังกลุ่มหลังหมด กล่าวคือเมื่อไม่ให้ความคุ้มครอง โจรสลัดก็ไม่กล้าปล้นเพราะจะถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มอื่น ๆ จำนวนโจรสลัดก็อาจลดลงไปหรือหมดไปได้

          การศึกษาพฤติกรรมเชิงเศรษฐศาสตร์เริ่มด้วยการดูจุดในแผนที่ที่เรือถูกจี้ปล้นทั้งหมดระหว่างปี 2005-2012 เขาพบว่าเรือที่ถูกจี้ปล้นเกือบทุกลำเกิดเหตุในบริเวณที่อยู่นอกเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ นอกจากนี้บริเวณใกล้ท่าเรือใหญ่ในบริเวณนั้นแทบไม่มีการจี้ปล้นเลย

          ทั้งสองพบว่าเจ้าพ่อท้องถิ่นแบ่งกันควบคุมเส้นทางเดินเรือพาณิชย์โดยรับ ‘ค่าธรรมเนียมคุ้มครอง’ และออกใบอนุญาตให้วิ่งผ่านได้ อย่างไรก็ดีเจ้าพ่อทุกรายไม่สามารถกระทำเยี่ยงนี้ได้ใน ทุกกรณีเนื่องจากมีอุปสรรคหลายประการ เช่น เรือบางลำมีการคุ้มครองความปลอดภัยที่ดีมาก (กฎหมายห้ามเรือมีปืน ป้องกันตัวเองได้เพียงพ่นน้ำกระแสแรงจากเรือ) บางลำมีเจ้าพ่อที่เหนือกว่า เจ้าพ่อท้องถิ่นดูแล ตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มเจ้าพ่อบนฝั่งไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ

          เจ้าพ่อที่สามารถเก็บ “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” จากเส้นทางพาณิชย์ได้ก็จะปฏิเสธที่จะให้การคุ้มครองโจรเพราะผลประโยชน์ตอบแทนมันสูงกว่ามากและได้รับสม่ำเสมอ หากให้การคุ้มครองมันก็อาจไปปล้นเรือที่ตนเองประกันความปลอดภัย ผลประโยชน์จึงขัดแย้งกัน

          เฉพาะเจ้าพ่อที่ไม่มีรายได้จากค่าธรรมเนียมพิเศษจึงเป็นผู้ให้การคุ้มครองโจรสลัด และนี่คือเหตุผลอธิบายว่าเหตุใดจึงมักจี้ปล้นกันนอกเส้นทางเดินเรือพาณิชย์

          เหตุการณ์ที่พิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ในระหว่างเวลา 2000-2009 ที่ซาอุดิอาระเบีย (ตั้งอยู่ริ่มฝั่งทะเลแดงด้านใน) สั่งห้ามนำเข้าปศุสัตว์จากโซมาเลีย เกษตรกรโซมาเลียซึ่งยากจนอยู่แล้วและอาศัยรายได้จากการส่งออกเช่นนี้เป็นรายได้หลักจึงถูกกระทบหนัก เจ้าพ่อในบริเวณที่เลี้ยง ปศุสัตว์เริ่มให้การคุ้มครองโจรสลัดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และหลังจากยกเลิกคำสั่งก็ปรากฏว่าโจรสลัดเหล่านี้หายไปราวกับเสกคาถา เนื่องจากเจ้าพ่อได้รับค่าธรรมเนียบพิเศษอีกครั้งจากการค้าขายปกติ

          ถึงแม้ว่าสถานการณ์การจี้เรือในสองสามปีที่ผ่านมาในบริเวณนั้นจะลดลงไปมาก (จาก 237 รายในปี 2011 เหลือ 75 รายในปี 2012) แต่ก็ต้องมีการลงทุนป้องกันการจี้ปล้นของเรือและ ใช้เรือตรวจการณ์จำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง

          นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองมีข้อเสนอที่คิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวนั่นก็คือการสร้างถนนและท่าเรือใหม่เพื่อให้การขนส่งสินค้าเกษตรที่ผลิตไกลจากฝั่งทะเลของชาวโซมาเลียเป็นไปอย่างสะดวกและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งเป็นการสร้างการค้าขายให้เกิดขึ้นในบริเวณล้าหลังด้วย เมื่อชุมชนชาวบ้านมีรายได้ทางเลือกก็จะไม่เป็นสมุนของเจ้าพ่ออีกต่อไปจนไม่สามารถให้การคุ้มครองโจรสลัดได้

          ทั้งสองเชื่อว่าเมื่อใดที่ไม่มีเจ้าพ่อคุ้มครอง โจรสลัดก็อยู่ไม่ได้ การแก้ไขปัญหาจึงควรมุ่งไปด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ทางเลือก ตัวอย่างที่ยกมาก็คือเจ้าพ่อในบริเวณเมือง Ely เคยขอร้องให้รัฐบาลสร้างท่าเรือและสร้างถนนมายังท่าเรือนี้ โดยขอแลกกับการไม่สนับสนุนโจรสลัด เมื่อรัฐบาลปฏิเสธเพราะต้องทุ่มเททรัพยากรส่วนใหญ่ให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองหลวงคือโมกาดิชู (Mogadishu) เหล่าโจรสลัดก็ทำงานต่อไป

          ความรุนแรงอาจช่วยแก้ไขปัญหาโจรสลัดได้แต่ด้วยต้นทุนที่สูงมากแต่ไม่ยั่งยืน การเข้าใจพฤติกรรมของตัวละครที่เกี่ยวข้องและสาเหตุของการเกิดโจรสลัดเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสิ้นเชิง

          ปัญหาเดิม ๆ หากแก้ไขด้วยแนวคิดและวิธีการแบบเดิม ๆ สถานการณ์เดิม ๆ ก็จะดำรงอยู่ การค้นหาความจริงเพื่อเข้าใจสถานการณ์และใช้วิชาการมาประยุกต์เข้าด้วยเท่านั้นที่อาจแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ ได้

ฟังแต่ไม่ได้ยิน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29
กรกฎาคม 2557

Photo by Mimi Thian on Unsplash

          ท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน พูดอยู่บ่อย ๆ ว่า คนบางคนนั้น ‘ฟังแต่ไม่ได้ยิน’ ซึ่งเมื่อเรานึกถึงบางคนที่เรารู้จักแล้วมันจริงยิ่งกว่าจริง มากไปกว่านั้นก็คือบางคนอย่าว่าแต่ได้ยินเลย แม้แต่ฟังก็ยังไม่ฟัง

          การไม่ได้ยินคำพูดของคู่สนทนาเป็นเรื่องใหญ่จนปัจจุบันมีการฝึกอบรมกันในต่างประเทศที่เรียกว่า ‘mindful listening’ เพื่อพัฒนาความสามารถในการฟังเพื่อให้ได้ยิน หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ฉบับเร็ว ๆ นี้ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อสำคัญ

          งานวิจัยเมื่อปี 1987 พบว่าในการสนทนาสองต่อสองหากมีอะไรมาดึงดูดความสนใจเพียงเล็กน้อยบุคคลจะนึกออกในภาพหลังเพียงร้อยละ 10 ของสิ่งที่สนทนากัน ในโลกปัจจุบันของดิจิตอลซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งดึงดูดความสนใจไม่ว่าเสียงโทรศัพท์ มือถือ ไอแพค สมาร์ทโฟน ฯลฯ เชื่อได้ว่าตัวเลขนี้จะลดลงไปอย่างมาก

          สภาพการณ์ที่มนุษย์คิดได้เร็วกว่าพูดถึงกว่า 2 เท่าทำให้การคิดวิ่งล่องลอยไปข้างหน้า เร็วกว่าสิ่งที่ได้ฟังจนทำให้ไม่ได้ยิน และหากไม่ตรงกับสิ่งที่อยากได้ยินแล้วหูมันจะปิดทันที

          อุปสรรคสำคัญที่ทำให้มนุษย์ขาดความสามารถในการฟังจนไม่ได้ยินก็คือทางโน้มที่จะกรองและตัดสินการพูดของคนอื่นโดยอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานที่มีมาก่อน ตลอดจนสิ่งคาดหวังและความตั้งใจ เช่น มนุษย์จะมีข้อสมมุติว่าคนพูดเป็นคนตัวเล็ก ๆ จึงไม่มีความสำคัญ คาดหวังว่าคงไม่ได้เรื่อง และไม่ได้ตั้งใจว่าจะได้อะไรจากการพูดด้วย ดังนั้นเมื่อคนตัวเล็กพูด คำพูดจึงถูกกรอง ข้อเสนออาจดีแต่ถูกกรองและตัดสินว่าไม่เป็นสับปะรด ดังนั้นถึงฟังก็ไม่ได้ยินอยู่ดี

          อุปสรรคอื่น ๆ ของการได้ยินก็คือการคาดว่าผู้พูดจะพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าไม่เข้าท่า ซึ่งอาจมาจากความไม่ชอบผู้พูดด้วยบางเหตุผล หรือผู้พูดมักมีความคิดเห็นไม่ตรงกับตน หรือเชื่อว่าจะพูดสิ่งที่เคยพูดซ้ำ ๆ เมื่อผู้ฟังมีทัศนคติเช่นนี้โอกาสได้ยินสิ่งใหม่ ๆ ความคิดดี ๆ ใหม่ ๆ จากผู้พูดจึงไม่ได้ยินเพราะหูมันถูกปิดตั้งแต่แรกเสียแล้ว

          มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีอคติเป็นเจ้าเรือน หากมีลักษณะประจำตัวเช่นนี้หนักกว่าผู้อื่น ก็จะได้ยินแต่สิ่งที่ตนเองชอบ คุ้นเคย วนเวียนอยู่เช่นนี้ จะไม่มีโอกาสได้ยินสิ่งดี ๆ ซึ่งออกมาจากปากของคนที่ตนเองไม่ชอบเป็นอันขาด

          บ่อยครั้งในการฟังผู้พูดที่พูดช้า จิตใจของผู้ฟังจะแซงหน้าไปเรียบร้อย จน ‘ฟังข้าม’ การพูดไป การได้ยินจึงไม่เกิดขึ้น ยิ่งหากเป็นกรณีที่ผู้พูด ๆ ตะกุกตะกักไม่รื่นหูถึงแม้จะพูดสิ่งที่น่าสนใจก็ตามที

          อีกอุปสรรคหนึ่งของการได้ยินก็คือผู้ฟังหมกมุ่งอยู่กับการจะคิดตามคำถาม หรือคิดว่าจะพูดตอบโต้อย่างไร จนคำพูดที่ออกมาจากปากผ่านสองหูไปโดยไม่ได้ยิน

          เมื่อธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไปเป็นเช่นนี้ และเราต้องอยู่ในโลกแห่งการดึงดูดความสนใจไปยังสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่เราฟังอยู่ คำถามก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรให้ ‘ได้ยิน’ สิ่งที่ คู่สนทนาพูด

          ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการฟัง (แล้วได้ยิน) ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้ (1) ตั้งใจพูดให้น้อย ๆ และฟังมาก ๆ โดยตั้งสัดส่วนไว้ที่การฟัง 75% และการพูดตอบกลับ 25% (2) จดบันทึกไปด้วยขณะสนทนา หรือสบตาผู้พูด (หากผู้พูดหน้าตาดีอาจเป็นปัญหาหนักขึ้น) เพื่อให้จิตใจไม่ล่องลอยไปที่อื่นหรือแซงหน้าคำพูด

          (3) ระหว่างการสนทนาให้นึกถึงอักษร 4 ตัว คือ RASA กล่าวคือ R มาจาก receive (ให้ความสนใจแก่ผู้พูด) A มาจาก appreciate (ออกเสียงในลักษณะที่เห็นด้วยกับคำพูด) S มาจาก summarize (ย่อสิ่งที่เขาพูด) และ A มาจาก ask (ถามคำถามภายหลัง)

          (4) มีทัศนคติในด้านบวกด้วยการนึกถึงผู้ที่จะสนทนาด้วยในแง่ดี การมีลักษณะจิตใจที่บวกเช่นนี้จะทำให้จิตใจเปิดกว้าง และผู้สนทนาเห็นความจริงใจของผู้ฟัง

          (5) เมื่อเข้าใจธรรมชาติของตนเองในการฟังแต่ไม่ได้ยินดังกล่าวมาแล้ว หากเป็นผู้มีปัญญาที่ต้องการพัฒนาตนเองก็ต้องแก้ไขด้วยการตัดอคติออกไปให้มากที่สุด เปิดใจกว้าง ให้ความสนใจกับคำพูด และไม่ด่วนตัดสินใจสรุปไปก่อนได้ฟัง

          การกล่าวทั้งหมดมานี้เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้ยินนั้นง่าย แต่การปฏิบัตินั้นยากกว่ามาก การมุ่งมั่นฝึกหัดตัวเองเท่านั้นที่จะช่วยให้หูหายหนวกน้อยลง

          ปัญหาการฟังแต่ไม่ได้ยินนั้นมีที่มาจากเทคโนโลยีด้วย การสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาในปี 2006 พบว่าใช้เวลาที่ตนเองมีเพียงร้อยละ 24 ไปกับการฟังการสนทนาแบบตัวเป็น ๆ ซึ่งลดลงไปจากร้อยละ 53 ในปี 1980 ขนาดลดไปกว่าครึ่งระหว่าง 1980-2006 ก็น่าตกใจแล้ว ในปีปัจจุบันคือ 6 ปีหลังจากการสำรวจครั้งล่าสุด เราไม่รู้ว่าลดลงไปเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ ภาพที่เราเห็นบ่อย ๆ ของชายหนุ่มหญิงสาวหนึ่งคู่หรือพ่อแม่ลูกสี่คนนั่งกินข้าวด้วยกัน แต่ต่างคนต่างนั่ง กดสมาร์ทโฟนคงพอจะบอกเราได้ว่าทักษะในการเป็นผู้ฟังที่ดีของมนุษย์นั้นน่าจะลดลงไปมากเพียงใด

          ในการพัฒนาองค์กร การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานทุกคนของหัวหน้างานเพื่อนำมาปรับปรุงเป็นเรื่องสำคัญ แต่อุปสรรคของมันก็มีอยู่ดังที่ได้เรียนรู้จากงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมองค์กรและกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ชิ้นหนึ่งในปี 2011 ว่ายิ่งคนฟังเป็นคนที่มีอำนาจมากเพียงใด ยิ่งมีทางโน้มที่จะตัดสินว่าความคิดเห็นเข้าท่าหรือไม่ในทันที หรือโยนความคิดเห็นเหล่านั้นทิ้ง

          ในโลกที่การฟังแต่ไม่ได้ยินของมนุษย์มีอยู่ดาษดื่น การแก้ไขเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการฟังเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นหัวหน้าซึ่งมีทางโน้มที่จะไม่ได้ยินคนตัวเล็ก ๆ

          มนุษย์ที่ฟังแต่ไม่ได้ยินเป็นครั้ง ๆ โดยขึ้นอยู่กับผู้พูดและสิ่งที่คาดว่าจะได้ยินไม่ต่างอะไรไปจากคนหูพิการที่ได้ยินเสียงเป็นพัก ๆ

Gary Becker นักเศรษฐศาสตร์สังคมวิทยา

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22
กรกฎาคม 2557

ที่มา https://www.trainingjournal.com/articles/feature/tribute-gary-becker-1930-2014

          เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาโลกได้สูญเสียนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกผู้ริเริ่มการศึกษาปัญหาสังคมจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์ และได้ทิ้งมรดกทางวิชาการไว้อย่างน่าสนใจ Gary Becker นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้รับรางวัลโนเบิลในปี 1992 จากไปในวัย 83 ปี

          Gary Becker เกิดใน ค.ศ. 1930 เรียนจบปริญญาตรีจาก Princeton ในปี 1951 และจบปริญญาเอกจาก University of Chicago เมื่อมีอายุเพียง 25 ปี เขาสอนที่มหาวิทยาลัย Columbia อยู่ 11 ปี ก่อนย้ายมาสอนหนังสือที่ University of Chicago ในปี 1968 และประจำอยู่ตลอดมา จนเสียชีวิต

          อาจารย์ที่ Becker ชื่นชมและมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากคือ Milton Friedman ผู้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1972 ผู้เป็นปรมาจารย์หัวโจกของแนวคิดตลาดเสรีนิยมของแวดวงเศรษฐศาสตร์โลกซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่ University of Chicago

          คำอธิบายเหตุผลของการได้รับรางวัลของคณะกรรมการรางวัลโนเบิลก็คือ Becker เป็น ผู้ริเริ่มใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ปัญหาสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งวิธีคิดนี้มิได้คับแคบอยู่แต่ในเรื่องที่ว่าปัจเจกชนแสวงหาเพียงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากเขาได้นำเอาสิ่งที่ไม่ใช่เงินทองและการกระทำดีเพื่อคนอื่นโดยมิได้นึกถึงตนเองเข้ามาไว้ในการวิเคราะห์ด้วย

          “Becker เชื่อว่ามนุษย์ใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์ตัดสินใจโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปตามแรงจูงใจ โดย “แต่ละคนพยายามแสวงหาสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็น ‘สวัสดิการ’ (welfare) ให้มากที่สุด ซึ่ง “สวัสดิการ” ในที่นี้มิได้หมายถึงรายได้เท่านั้น หากหมายถึงความพอใจจากการทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น หรือความตื่นเต้นจากอะไรที่แหกคอกออกไปก็ตามที”

          Becker ใช้แนวคิดเช่นนี้วิเคราะห์ปัญหาของสังคมไม่ว่าเรื่องการลงทุนในมนุษย์ ครอบครัว การแต่งงาน การหย่าร้าง อาชญากรรม การเหยียดผิว ฯลฯ ในแง่มุมที่ นักสังคมวิทยาไม่เคยพิจารณามาก่อน

          ตัวอย่างแรกคือการประกอบอาชญากรรม Becker อธิบายว่าอาชญากรเกือบทั้งหมดมิใช่คนที่ผิดปกติดังที่แวดวงวิชาการเชื่อกัน หากเป็นคนมีเหตุมีผลในการลงมือประกอบอาชญากรรม เมื่อใดที่ผลประโยชน์หรือ ‘สวัสดิการ’ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน อาจเป็นความพอใจแบบบ้า ๆ ก็ได้) ที่คาดว่าจะได้รับสูงกว่าผลเสียที่คาดว่าจะเกิดจากอาชญากรรมแล้ว อาชญากรจะลงมือเสมอ

          ในฝั่ง ‘สวัสดิการ’ ที่คาดว่าจะได้รับจะประกอบด้วย 2 ตัวแปรคือ ความเป็นไปได้ในการได้รับ ‘สวัสดิการ’ กับขนาดของ ‘สวัสดิการ’ กล่าวคือถ้าอาชญากรรมนั้นง่ายก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับ ในฝั่งผลเสียก็ประกอบด้วย 2 ตัวแปรคือความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษกับบทลงโทษ Becker พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมไม่ใช่บทลงโทษหากแต่เป็นความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษซึ่งขึ้นอยู่กับการถูกจับและกระบวนการลงโทษ

          ถ้าประกอบอาชญากรรมแล้วไม่เคยมีใครถูกจับเลย ไม่ว่าบทลงโทษสูงแค่ไหน อาชญากรรมก็จะเกิดขึ้นเสมอ (คอรัปชั่นในราชการไทยก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน) ดังนั้นประสิทธิภาพของการลงโทษซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรม

          ในเรื่องครอบครัว Becker ก็วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือเขาถือว่าครอบครัวเปรียบเสมือนโรงงานเล็ก ๆ ซึ่งผลิตสินค้าพื้นฐาน เช่น อาหาร ความสนุกสนาน การอยู่อาศัย ฯลฯ โดยมีเวลาและสินค้าที่ซื้อมาจากตลาดเป็นวัตถุดิบ

          ราคาของสินค้าพื้นฐานใดสินค้าหนึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือต้นทุนโดยตรงที่มาจากการซื้อสินค้าจากข้างนอกมาเข้าโรงงาน และส่วนที่สองคือค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากเวลาที่ใช้ไปในการผลิตและบริโภคสินค้าพื้นฐาน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เท่ากับค่าจ้างคูณด้วยเวลาที่ใช้ไปในการผลิตแต่ละหน่วยสินค้าที่ออกมาจากโรงงาน

          เมื่อค่าจ้างของคนหนึ่งในโรงงานหรือครอบครัวนี้สูงขึ้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแรงจูงใจที่จะทำงานในโรงงานและการปรับเปลี่ยนสู่การผลิตและบริโภคสินค้าพื้นฐานชนิดที่ต้องใช้เวลาเข้มข้นให้น้อยลง

          พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อคนหนึ่งในครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ก็จะใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง เพราะมูลค่าเวลาที่เคยใช้กับครอบครัวนั้นสูงขึ้นกว่าเดิม (ค่าเสียโอกาสสูง) หันไปใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องซักผ้า ล้างชาม ตลอดจนใช้คนมาช่วยงาน (คนสวน คนทำความสะอาดบ้าน) เอาลูกไปฝากศูนย์เลี้ยงเด็ก การใช้บริการโรงเรียน การจ้างช่างประปา ไฟฟ้า แทนงานที่ตนเองเคยใช้เวลาทำมาก ๆ

          แนวคิดเช่นนี้ช่วยอธิบายว่าเหตุใดแม่บ้านจึงมีสัดส่วนในแรงงานของประเทศมากขึ้น เมื่อรายได้ของพ่อบ้านสูงขึ้น การใช้เครื่องทุ่นแรงที่สามารถหาซื้อมาเพื่อทดแทนแรงงานแม่บ้านก็จะเกิดขึ้น อีกทั้งสามารถมีเงินเอาลูกไปฝากศูนย์ดูแลได้ ดังนั้นแรงงานในบ้านของแม่บ้านก็เหลือพอจะออกไปทำงานนอกบ้านได้

          Becker พบว่าคนรวยจะมีอัตราหย่าร้างน้อยกว่าคนจน จะมีลูกจำนวนน้อยกว่าเพราะต้องการคุณภาพมากกว่าปริมาณเนื่องจากเข้าใจดีว่าการเลี้ยงลูกให้มีการศึกษาดีคือการลงทุนในระยะยาว และเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดของการไร้ความทุกข์ใจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากลูกขาดการศึกษาที่ดี Becker พบว่าทางโน้มนี้ล้วนเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น

          การมองปัญหาสังคมในแง่มุมที่แปลกออกไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการคิดในแนวที่แปลกออกไปของแวดวงวิชาอื่น ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยา หรือรัฐศาสตร์ Becker มีชื่อเสียงฮื้อฉาวในยุคทศวรรษ 1960 เพราะเขากล้าที่จะริเริ่มใช้การวิเคราะห์แบบข้ามสาขาวิชา ไม่แยกส่วนดังที่นิยมกันในยุคนั้น

          การวิเคราะห์ของ Becker ในเรื่องการเหยียดผิวในยุคต้นทศวรรษ 1960 ยิ่งทำให้เขาเป็นเป้าของการโจมตีจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน พวก Civil Right Movement ในสหรัฐอเมริกาชื่นชอบงานวิจัยของเขาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการเหยียดผิวก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งผู้จ้าง และผู้ถูกเหยียดผิว (“ทุกครั้งที่ผู้จ้างเหยียดผิวด้วยการปฏิเสธการจ้างคนผิวดำและจ้างคนผิวขาวแทนโดยที่ทั้งสองมีความสามารถเท่ากัน แต่คนผิวดำมีค่าจ้างถูกกว่า ผู้จ้างนั้นกำลังสูญเสีย”)

          Becker เชื่อว่ามนุษย์ตอบรับต่อแรงจูงใจเสมอโดยมีการคิดสะระตะอย่างมีเหตุมีผล (Theory of Rational Choice) มิได้เป็นมนุษย์ที่กระทำตามพฤติกรรมเป็นนิสัย ดังที่เคยเชื่อกันในสังคมวิทยา ความเชื่อใหม่นี้สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหาสังคมและพยากรณ์พฤติกรรมตลอดจนสามารถเสนอแนะนโยบายเพื่อแก้ไขและหาทางออกได้

          นักวิชาการที่ประยุกต์เศรษฐศาสตร์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมานั้นล้วนเป็นหนี้ Becker ผู้ริเริ่มการแสดงให้เห็นว่าหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้นมิได้มีอยู่แต่เฉพาะในทฤษฎีเท่านั้น หากอยู่ในชีวิตจริงด้วย

สาม “คานงัด” สังคมไทย

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15
กรกฎาคม 2557

Photo by José Martín Ramírez Carrasco on Unsplash

         มีผู้เปรียบเทียบจุดสำคัญที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วงว่าเป็นดั่ง ‘คานงัด’ ในสังคมไทยเราโดยแท้จริงแล้วมี ‘คานงัด’ ดังกล่าวอยู่ในหลายเรื่องซึ่งหากมีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพแล้วเชื่อได้ว่าจะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

          ‘คานงัด’ แรกคืออุปสรรคของธุรกิจ SME’s ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ช่วยทำให้ คนไทยจำนวนมากมีงานทำจนลืมตาอ้าปากได้ก็คือธุรกิจที่มีการจ้างงานต่ำกว่า 200 คน ซึ่งได้แก่ ธุรกิจ SME’s ที่เรารู้จักกัน กว่าร้อยละ 90 ของจำนวนธุรกิจในบ้านเรา คือ SME’s

          SME’s กินความตั้งแต่ธุรกิจซื้อมาขายไป (เช่น เอเย่นต์รับส่งวัตถุดิบอาหารให้ร้านอาหาร รับเฟอร์นิเจอร์มาขายปลีก ขายโอ่งขายไหตามหมู่บ้าน หาบขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนธุรกิจให้เช่าพระ ขายผักผลไม้ ร้านขายหนังสือพิมพ์ ขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ) จนถึงการผลิตหรือให้บริการ (เช่น ขายส้มตำ ผลิตข้าวแกงขาย โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ร้านก๋วยเตี๋ยว ผลิตของที่ระลึก ร้านนวด ร้านสปา ฯลฯ)

          อุปสรรคสำคัญของผู้ค้าขาย SME’s ก็คือความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบด้วยการเดินทางบนถนนที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัด (ถ้าตัดเรื่องความไม่สะดวกของการขนส่งด้วยรถไฟออกไปเพราะมีรางเดี่ยวแล้วก็เหลือแต่การขนส่งทางถนนที่จะกล่าวถึงในข้อเขียนนี้)

          ปัญหาปวดหัวที่ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงขึ้น และมีความไม่สะดวกในการสัญจร ได้แก่การถูกเก็บสารพัดส่วยระหว่างทาง กฎเกณฑ์เล็ก ๆ น้อย ๆ หยุมหยิมถูกหยิบขึ้นมาเป็นเครื่องมือรีดไถโดยเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งไม่ใช่ตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว

          คนที่คิดจะหากินด้วย SME’s ซึ่งต้องเกี่ยวพันกับการเดินทางดังกล่าวรู้สึกท้อใจจากการได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้จนรู้สึกแหยง ลองจินตนาการดูว่าถ้าการเดินทางเหล่านี้สะดวก ลื่นไหล และราบรื่น ชาวบ้านที่ทำธุรกิจ SME’s ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเหล่านี้จะสามารถมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้มากกว่าเดิมเพียงไร

          ปัญหาโลจิสติกส์อันเกิดจากการขนส่งเป็นปัญหาของประเทศไทยก็จริงอยู่ แต่ไม่จำเป็นว่าปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ไขกันในระยะเวลายาว ในช่วงเวลาสั้น ๆ การปราบปรามการรีดไถดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาโลจิสติกส์ได้เป็นอันมาก

          การสร้างความสะดวกในการขนส่งและเดินทางทางบกด้วยการแก้ไขปัญหารีดไถก็คือการเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการเช่นเดียวกับการมีประสิทธิภาพของระบบธนาคาร ระบบไอทีที่สนองตอบความต้องการของประชาชน (ฟรี Wi-Fi ของเมือง) การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมการเพิ่มผลิตภาพ(productivity) ในภาคเศรษฐกิจ ตลอดจนการ ลดต้นทุนไปด้วย

          คานงัดที่สอง คือการขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเวลาอันควรและอย่างมีธรรมาภิบาล ในปัจจุบันนักลงทุนไทยและเทศเบื่อหน่ายการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายที่ซ้ำซ้อนตลอดจนระบบที่มีขั้นตอนในการให้ใบอนุญาตที่ยาวและโยงใยกับความเห็นของหลายหน่วยงานเป็นโอกาสของการสร้างคอรัปชั่นในกระบวนการขออนุญาต

          ถ้าระบบเศรษฐกิจขาดโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถมีการผลิตได้ ไม่มีการ สร้างงาน และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ขึ้นได้ ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่สามารถมีโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และความต้องการของตลาดก็จะเกิดการสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งรายได้และโอกาส

          การแก้ไขคอรัปชั่นในกระบวนการให้ใบอนุญาต การปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้เกิดเส้นทางการขออนุญาตที่กระชับและอุดมด้วยธรรมาภิบาลจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้เป็นอันมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

          คานงัดที่สาม คือการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เงินเพื่อการศึกษาของประเทศไทย เราเสียเงินปีละ 400,000 กว่าล้านบาท (ปีงบประมาณใหม่นี้เข้าใจว่าเกือบถึง 500,000 ล้านบาท) แต่กลับไม่ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจจากการผลิตนี้

          กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงกว่าทุกกระทรวงสำหรับการเพิ่มคุณภาพของประชาชนแต่ไม่สามารถทำให้เกิดการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้ นี่คือโจทย์สำคัญของการศึกษาไทย

          ถ้าดูตัวเลขของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการก็จะพบว่ารายการจ่ายเงินที่ใหญ่ที่สุดคือประมาณร้อยละ 59 เป็นเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผู้ที่ไม่ใช่ครูแต่ทำงานลักษณะอื่น) และถ้ารวมเงินค่าตอบแทนการบริหารอื่น ๆ ตัวเลขนี้ก็ขึ้นไปถึงร้อยละ 76

          ถ้าครูทุกคนมีอุดมการณ์ของความเป็นครู สามารถทำงานในการเป็นครูได้อย่างเต็มที่ (ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทำรายงานตัวชี้วัด งานธุรการ เข้าประชุม อบรม) มีคุณลักษณะและความสามารถของการเป็นครูที่ดี เงินร้อยละ 76 ที่จ่ายนั้นก็มีประโยชน์

          แต่เมื่อลักษณะต่าง ๆ ของความเป็นครูไม่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เงินร้อยละ 76 นั้นก็ไม่มีประโยชน์เต็มที่ ส่วนหนึ่งของการใช้จ่ายจึงเป็นการสูญเปล่าที่น่าเสียดาย การเรียนการสอนที่มีคุณภาพสมกับเงินที่จ่ายไปจึงไม่เกิดขึ้น

          ‘คานงัด’ ในเรื่องนี้คือการพัฒนาให้ครูมีคุณภาพ สัดส่วนร้อยละ 76 นั้นไม่อาจแก้ไขได้ในเวลาอันใกล้เนื่องจากไม่อาจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่า 350,000 คน ออกจากงานได้ ถ้าจะแก้ไขก็คือการบรรจุครูใหม่ที่มีคุณภาพสูง และพัฒนาครูที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมให้จงได้ด้วยวิธีการอบรมแบบใหม่ซึ่งเกี่ยวพันการเรียนรู้โดยได้ลงมือปฏิบัติจริง

          การพัฒนาครูมิได้หมายถึงการเอาครูมาอบรมตามแบบเดิม ๆ ที่เคยทำมา หากเกี่ยวพันไปถึงการฝึกอบรมแบบใหม่ การยกเครื่องระบบการบริหารงานบุคคล (การบรรจุโอนย้ายครู) และระบบการบริหารจัดการ (ครูรับผิดและรับชอบกับคุณภาพของนักเรียน) ตลอดจนการให้ความเป็นอิสระในการบริหารงานแก่โรงเรียนที่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ฯลฯ

          อาร์คิมิดิส (Archimedes 287-212 ปีก่อนคริสตกาล) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกใน ยุคกรีกโบราณบอกว่าถ้าให้ ‘คานงัด’ ซึ่งยาวและแข็งแรงพอ เขาจะสามารถงัดโลกใบนี้ได้ เขามิได้หมายความตามนั้นจริง ๆ หากต้องการให้เห็นถึงความสำคัญเชิงฟิสิกส์ของ ‘คานงัด’  ‘คานงัด’ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมเราได้ ถ้างัดถูกจุดด้วยพลังอย่างเต็มที่โดยเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

ใหญ่แค่ไหนก็ต้องติดคุกได้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8
กรกฎาคม 2557

Photo by Bill Oxford on Unsplash

          3 ข่าวไล่เรียงกันในอาทิตย์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่นายพลระดับสูงของจีน อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส และอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียโดนเล่นงานคดีคอรัปชั่น ข่าวเหล่านี้เตือนใจให้นึกถึงการเอาคนคอรัปชั่นมาเข้าคุกในบ้านเรา

          นายพล Xu Cai-hou เป็น Vice-Chairman ของ China Central Military Commission ซึ่งเป็นตำแหน่งหนึ่งที่สูงของกองทัพถูกถอดออกจากพรรคอมมูนิสต์ และกำลังถูกดำเนินคดีคอรัปชั่น Xu เป็นผู้นำทหารยศสูงสุดที่ถูกสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นนับตั้งแต่ยุคสมัยของ Deng Xiaoping เป็นต้นมา

          คดีนี้ฮือฮามากเพราะประธานาธิบดี Xi พูดมาตลอดว่าจะปราบคอรัปชั่น นาย Bo Xilai ผู้นำคนสำคัญหนึ่งของพรรคซึ่งอาจได้รับเลือกเป็นสมาชิก Politburo Standing Committee ในสมัยประชุมที่ 18 ในปี 2012 ก็ถูกจับข้อหาคอรัปชั่น และศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว

          ข้อหาของนายพล Xu ก็คือรับเงินโดยตรงหรือผ่านญาติเพื่อเลื่อนยศทหาร และรับเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ เป็นที่รู้กันดีว่าในกองทัพประชาชนจีนนั้นมีการรับสินบนเพื่อให้ได้เป็นทหารและเพื่อขายตำแหน่งตั้งแต่ชั้นผู้น้อยขึ้นมา ผู้นำทหารเกรงว่าคอรัปชั่นลักษณะนี้จะบั่นทอนกองทัพ อย่างฉกรรจ์จนนำไปสู่การทำลายประสิทธิภาพ 

          คดีที่สองคืออดีตประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศสนั้นได้ถูกสอบสวนยาวนานกว่า 15 ชั่วโมงในเรื่องที่ว่าเขาส่งทนายส่วนตัวไปรับข้อมูลจากผู้พิพากษาคนหนึ่งที่กำลังพิจารณาคดีการ รับเงินบริจาคผิดกฎหมาย 68 ล้านเหรียญจากประธานาธิบดี Muammar el-Qaddafi ของลิเบียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2007 โดยแลกเปลี่ยนกับการเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษาคนนั้น

          คดีนี้มีการแอบดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของนาย Sarkozy กับทนายของเขา และอดีตรัฐมนตรีสองคนเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จนมีหลักฐานเพียงพอต่อการดำเนินคดี

          กรณีที่สามคือการตัดสินคดีของศาลต่อต้านคอรัปชั่นของอินโดนีเซียให้จำคุกอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญตลอดชีวิตในข้อหาคอรัปชั่นและฟอกเงิน ผู้ต้องหาคือนาย Akil Mochtar ถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะรับเงินสินบนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อช่วยการเลือกตั้งของนักการเมืองท้องถิ่น 2 คน

          ในการสอบสวนพบว่าเขารับสินบนในเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นรวมไม่น้อยกว่า 10 กรณี นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเขามีความผิดในการฟอกเงิน 15.2 ล้านเหรียญในปี 2002 ตอนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

          ทั้งสามคดีนี้สะท้อนให้เห็นการเอาจริงเอาจังกับคอรัปชั่นอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และต้องถูกดำเนินคดีอย่างเสมอหน้ากัน

          ในประเทศที่ทรงไว้ด้วยหลักนิติธรรมนั้น แม้แต่ประธานาธิบดีก็ติดคุกได้โดยเฉพาะคดีคอรัปชั่นดังที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราเอล

          อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึง 2 คนที่ติดคุกเพราะคดีคอรัปชั่น คือ Chun Doo-hwan และ Roh Tae-woo คนแรกคือ Chun Doo-hwan เป็นประธานาธิบดีต่อจาก Choi Kyu-hah (ผู้ครองอำนาจ 1979-1980 ต่อจาก Park Chugn hee) โดยเป็นประธานาธิบดีระหว่าง 1980-1988

          ส่วน Roh Tae-woo นั้นเป็นประธานาธิบดีต่อจาก Chun Doo-hwan โดยครองอำนาจระหว่าง 1988-1993 ทั้งสองโดนข้อหาคอรัปชั่นและกบฏ โดยติดคุกอยู่ 2 ปี ก่อนที่ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ Kim Young-sam (1993-1998) อภัยโทษให้ในปี 1997

          ติดคุกไปแล้ว 2 คน ยังไม่พอ ยังมีคนที่ 3 อีกคือนาย Roh Moo-hyun (2003-2008) ที่ถูกสอบสวนคดีคอรัปชั่นพร้อมกับภรรยาหลังพ้นจากตำแหน่งแล้ว แต่กรรมตามเขาไม่ทันเพราะในปีต่อมาคือ 2009 เขาก็หนีคดีที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงิน 6 ล้านเหรียญจากนักธุรกิจขณะอยู่ในตำแหน่งด้วยการฆ่าตัวตาย โดยโดดลงมาจากหน้าเผาหลังบ้านพักของเขาในชนบท โดยทิ้งจดหมายลาตายว่าไม่ต้องการให้คนอื่นต้องมาทนทุกข์ทรมานกับเขาด้วย

          ข้อสังเกตคือก่อนหน้านี้ไม่นานมีนักการเมืองในระดับชาติและท้องถิ่นที่กำลังถูกสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นถึง 4 รายที่ฆ่าตัวตายไป และอีก 1 รายหลังจากที่นาย Roh ตายไปแล้ว

          ล่าสุดเมื่อกลางปี 2012 ประธานาธิบดี Lee Myung-bak (เป็นประธานาธิบดี 2008-2013) ออกมาขอโทษขอโพยประชาชนเรื่องคดีคอรัปชั่นของพี่ชายและผู้ช่วยหลายคนที่โดนตัดสินจำคุก เขายอมรับในความไม่รอบคอบในการควบคุมดูแลคนเหล่านี้

          สำหรับไต้หวันนั้นประธานาธิบดี Chen Shui-bian และภรรยายังคงอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2009 เมื่อศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอรัปชั่นรับเงินสินบนเกือบ 14 ล้านเหรียญ

          สุดท้ายประธานาธิบดีอิสราเอล Moshe Katsav ถูกศาลตัดสินในคดีข่มขืนหญิง 3 คน ขณะเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวและเป็นประธานาธิบดี มีโทษจำคุก 7 ปี โดยอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 2011

          ทั้งหมดที่เล่ามานี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าในประเทศอื่น ๆ นั้นคนใหญ่โตเขาติดคุกกันจริง ๆ และหนักด้วยสำหรับความผิดคดีอาญาโดยเฉพาะคดีคอรัปชั่นโดยไม่มีการรอการลงอาญา ไม่มีการพิจารณาที่ยาวนานจนผู้คนลืมและลงโทษเบา ๆ แบบ “เขกเข่า” เนื่องจากเป็น “ผู้ใหญ่”

          สิ่งที่ทำให้การลงโทษคนทำผิดที่มีตำแหน่งสูงในราชการหรือการเมืองไทยในคดีคอรัปชั่นไม่เกิดขึ้นบ่อย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ mental block (กำแพงใจ) ของคนไทยเราว่า “ผู้ใหญ่” ที่เคยทำ “ความดี” มาไม่สมควรถูกลงโทษติดคุก และจุดนี้แหละที่ทำให้ไม่สามารถปราบคอรัปชั่นได้

          ทำไม “ผู้ใหญ่” ที่ทำผิดจึงติดคุกไม่ได้? ถ้าเราจะปราบคอรัปชั่นชนิดเฉพาะ “เด็ก” เท่านั้นที่ติดคุกได้ เมื่อไหร่เราจะฆ่าไอ้ปลวกร้ายที่บอนเซาะสังคมของเราได้หมด?

          คอรัปชั่นในภาครัฐซึ่งคือการเอาอำนาจที่รัฐมอบให้เอาไปใช้หาประโยชน์เข้าตัวเองจะหมดไปได้ก็ต่อเมื่อผู้คนใคร่ครวญประเมินผลที่คาดว่าจะได้รับจากคอรัปชั่นกับผลเสียที่เขาจะได้รับซึ่งได้แก่การถูกยึดทรัพย์สินและติดคุก

          ถ้าผลได้ไม่คุ้มผลเสีย ก็จะไม่คิดคอรัปชั่น ดังนั้นการป้องกันก็คือการทำให้เห็นว่าผลเสียมันสูงจริงและเกิดขึ้นจริงกับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน ด้วยการดำเนินคดีคอรัปชั่นอย่างไม่ไว้หน้า

          การปราบคอรัปชั่นต้องทำกับทุกโครงการที่ได้เกิดขึ้นในอดีตด้วย ไม่ใช่ลืมกันไปและ ยกโทษให้ ต้องให้ติดคุกกันจริง ๆ ในทุกระดับ และปรับริบทรัพย์สินเข้าหลวงให้ใกล้เคียงกับที่โกงไปด้วย

          ถ้าพวกเราไม่แก้ไขปัญหาคอรัปชั่นกันจริงจัง ใครชาติไหนจะทำให้เรา และถ้าไม่ทำกันในวันนี้ แล้วเมื่อไหร่จะทำ จะรอให้ไอ้ปลวกร้ายนี้กินบ้านหมดก่อนหรือไร 

คนตัวเล็กก็ใหญ่ได้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1
กรกฎาคม 2557

ที่มา https://www.thefamouspeople.com/profiles/images/og-stephanie-kwolek-7081.jpg

          โลกเพิ่งสูญเสียนักวิทยาศาสตร์วัย 90 ปี ผู้ทิ้งประดิษฐกรรมสำคัญไว้ให้โลก เธอประสบความสำเร็จเพราะความบากบั่นมานะ ถึงแม้จะไม่มีการศึกษาสูงส่ง เกิดมาในครอบครัวชาวบ้านธรรมดาของชนกลุ่มน้อยที่ถูกเยาะเย้ยว่าโง่เขลา แต่ทว่าสิ่งประดิษฐ์ของเธอคือใย Kevlar เป็นวัสดุประกอบสำคัญของสินค้าในชีวิตประจำวันกว่า 200 ชนิดในปัจจุบัน

          Stephanie L. Kwolek เป็นคนอเมริกันจากครอบครัวผู้ใช้แรงงาน พ่อเธออพยพมาจากโปแลนด์ ดินแดนที่คนอเมริกันคิดว่าเต็มไปด้วยคนโง่ คนอเมริกันมี Ploish Jokes ที่เป็นเรื่อง ขำขันเยาะเย้ยความโง่เขลา (“คน Polish เปลี่ยนหลอดไฟโดยพ่อจับหลอดไฟ และลูกสองคนช่วยกันหมุนตัวพ่อ”) โดยลืมนึกไปว่า Madame Curie นักวิทยาศาสตร์หญิงรางวัลโนเบิลของโลกผู้ค้นพบเรเดียมและศึกษากัมมันตภาพรังสีจนนำไปสู่ความก้าวหน้าของ nuclear physics ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ผู้เก่งกาจอีกหลายคนในประวัติศาสตร์นั้นล้วนเป็นคนโปแลนด์

          เธอสอบเข้าเรียนแพทย์ได้แต่ครอบครัวไม่มีเงินจึงเรียนเคมีแทนจนจบปริญญาตรีจากวิทยาลัยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในสมัยนั้นซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงของโลก เธอจบเพียงปริญญาขั้นต้นและไม่เคยเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา

          ในปี 1946 ที่เธอเรียนจบ เธอได้งานทำในบริษัท DuPont และทำมาตลอดจนเกษียณอายุ และที่นี่เองที่เธอได้สร้างชื่อเสียงและรายได้นับพัน ๆ ล้านเหรียญให้แก่บริษัท โดยเธอไม่ได้ร่ำรวยจากประดิษฐกรรมหลายชิ้นของเธอ เพราะในยุคนั้นในฐานะพนักงานบริษัท เธอได้ยินยอมให้สิทธิบัตรเป็นของผู้จ้าง

          สิ่งสำคัญที่เธอค้นพบในปี 1964 ก็คือใย Kevlar เรื่องเล่าก็คือในสมัยนั้นบริษัทคาดว่าจะเกิดน้ำมันขาดแคลนจึงต้องการค้นหาเส้นใยที่ใช้ผสมในยางรถยนต์ที่เหนียวเป็นพิเศษและเบาเพื่อการบริโภคน้ำมันน้อยลง เธอเป็นหญิงคนเดียวในทีมของผู้ชายที่ทำงานเรื่องนี้ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งประหลาดในยุคนั้นซึ่งมีผู้หญิงน้อยมากในงานประเภทที่เธอทำ

          ทีมของเธอพยายามพัฒนาวัสดุ polymer ครั้งหนึ่งในงานส่วนที่เธอรับผิดชอบ เธอประสบปัญหาการเปลี่ยน polymer ให้เป็นของเหลวที่เหนียวใส แต่เธอกลับได้ของเหลวสีขุ่นอย่างผิดหวัง อย่างไรก็ดีเธอรู้สึกลึก ๆ ว่ามันอาจเป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้ เธอจึงขอร้องให้เพื่อนนักวิจัยช่วยปั่นของเหลวในห้องแล็บด้วยเครื่องมือพิเศษเพื่อสกัดส่วนที่เป็นของเหลวออกและเหลือแต่วัสดุ

          สิ่งที่เธอได้มาคือใยแปลกประหลาดซึ่งมีลักษณะแข็งและเหนียวมาก โดยต่อมามีชื่อว่า Kevlar fiber เมื่อเธอทดลองความเหนียวของเส้นใยนี้ก็พบว่าด้วยน้ำหนักเท่ากันกับเหล็ก มันแข็งแรงและเหนียวกว่าเหล็กถึง 5 เท่า และยากมากจะที่ถูกหลอมโดยไฟ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าป้องกันไฟได้

          DuPont ตื่นเต้นกับสิ่งที่เธอค้นพบ และมองเห็นศักยภาพเชิงพาณิชย์ของเส้นใยนี้ที่แข็งแรงและเหนียวอย่างน่าอัศจรรย์ทันที บริษัททุ่มเงิน 500 ล้านเหรียญในการสร้างนวตกรรมจาก เส้นใย Kevlar

          นักต่อยอดผลิตภัณฑ์นำเส้นใย Kevlar มาสร้างเสื้อเกราะป้องกันกระสุน ยางรถยนต์ รองเท้ากันไฟของพนักงานดับเพลิง ถุงมือป้องกันไฟและป้องกันการโดนของคมฉีกตัด ใยแก้ว นำแสง ที่นอนที่ไฟไม่ไหม้ รถยนต์เกราะกันกระสุน ห้องป้องกันระเบิด ห้องปลอดภัยจากพายุเฮอริเคน อุปกรณ์ช่วยพยุงสะพานที่เหล็กเก่าอ่อนล้า อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ

          ปัจจุบันเส้นใย Kevlar อยู่ในสิ่งต่าง ๆ เกือบรอบตัวมนุษย์ซึ่งต้องการความแข็งแรงและเหนียวเป็นพิเศษเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพื่อป้องกันแรงอัดกระแทก ตลอดจนป้องกันการ หักเปราะ นับจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถหาวัสดุใดที่มีคุณลักษณะเหนือกว่า Kevlar ในราคาเดียวกันได้

          เธอได้รับรางวัลมากมายตลอดชีวิตสำหรับการค้นพบครั้งสำคัญนี้ คนที่ยินดีกับเธอมักลืมนึกถึงความยากลำบากของเธอกว่าที่จะมีชื่อเสียงเช่นนี้ได้ จากครอบครัวที่ยากจน ถูกเยาะเย้ย ถากถาง กัดฟันทำงานที่เธอรักในบริษัท DuPont ถึง 15 ปีกว่าจะได้เลื่อนตำแหน่ง การเป็นหญิงคนเดียวในอาชีพนักวิจัยในสาขาเคมี การมีความรู้เพียงระดับปริญญาตรีซึ่งแตกต่างจากนักวิจัยคนอื่น ๆ ซึ่งล้วนจบระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ

          เธอเอาชนะ ‘จุดอ่อน’ เหล่านี้ของเธออย่างกล้าหาญไม่หวั่นไหว หลังจากเธอประสบความสำเร็จครั้งสำคัญแล้ว เธอก็ยังคงทำงานวิจัยต่อไป ตลอดเวลา 40 ปีที่เธอทำผลงานให้ DuPont เธอยื่นขอจดสิทธิบัตร 28 ใบ และได้รับจดสิทธิบัตร 17 ใบ ในนามของบริษัท

          ในอาทิตย์ที่เธอเสียชีวิตนั้น มีผู้ซื้อเสื้อเกราะ Kevlar ตัวที่หนึ่งล้านไปใช้ ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 200 ชนิดที่ใช้เส้นใย Kevlar เป็นส่วนประกอบ (เช่น เชือก สกี เสื้อ เครื่องบิน เคเบิ้ล ไม้เทนนิส ฯลฯ) เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของเส้นใย Kevlar แล้วสามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าชีวิตของ Kwolek มีผลกระทบด้านบวกต่อชีวิตของชาวโลกอย่างยิ่ง

          เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันคิดว่าไม่มีอะไรที่นำมาซึ่งความสุขและความพอใจเหมือนกับการช่วยชีวิตคนอื่น” เธอกำลังนึกถึงเสื้อเกราะกันกระสุน Kevlar ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างกว้างขวางและป้องกันกระสุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ไม่มีใครนับว่ามันช่วยชีวิตคนได้กี่หมื่นกี่แสนคน

          ชีวิตยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องมาจากอะไรที่ยิ่งใหญ่ ตราบใดที่มีความมุ่งมั่นและสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ได้อย่างแท้จริงแล้ว ความยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้น คนตัวเล็กก็สามารถใหญ่ได้ครับ

ตัวเลขมี “จุดโหว่” เสมอ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24
มิถุนายน 2557

Photo by Mika Baumeister on Unsplash

          การคิดค้นประดิษฐ์ตัวเลขเมื่อกว่า 5 พันปีก่อนถือได้ว่าเป็นนวตกรรมของโลกที่มีความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดีตัวเลขในทุกเรื่องมี “จุดโหว่” ที่ต้องระวังทั้งสิ้นหากไม่ต้องการตกลงไปในหลุมดำแห่งความเข้าใจผิดซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้มาก

          เรื่องแรกคือเรื่อง B.M.I. (Body Mass Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดว่าบุคคลใดผอมหรืออ้วนเกินไป B.M.I. ของแต่ละคนมีค่าเท่ากับน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยค่ายกกำลังสองของความสูงที่เป็นเมตร เช่น หนัก 68 กิโลกรัม สูง 1.65 เมตร B.M.I. จะเท่ากับ 68 หารด้วย 2.7225 (มาจาก 1.65 x 1.65 = 2.7225) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 24.98

          B.M.I. คิดค้นขึ้นโดย Adolphe Quetelet นักสถิติชาวเบลเยี่ยมในปี ค.ศ. 1832 และถูกใช้อย่างกว้างขวางในอีกกว่า 100 ปีต่อมาโดยบริษัทประกันชีวิต และวงการสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าโรคเหล่านี้เกี่ยวพันกับความอ้วน

          ในปี 1998 National Institutes of Health ในสหรัฐอเมริกาให้คำจำกัดความว่าน้ำหนักเกินความเหมาะสมหาก B.M.I. เท่ากับ 25 หรือสูงกว่าสำหรับผู้ใหญ่ชาย และ 27 สำหรับผู้หญิง คำจำกัดความนี้มาจากการศึกษางานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง B.M.I. กับความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวโดยคำนึงถึงคำจำกัดความของ WHO และองค์การอื่นประกอบด้วย

          ในปัจจุบันหาก B.M.I. ต่ำกว่า 18.5 ถือว่าขาดอาหาร 18.5-24.9 ถือว่าปกติ 25-29.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน และถ้าเกินกว่า 30 ก็คืออ้วน

          ตัวเลข B.M.I. เหล่านี้ถูกใช้กันเกร่อเพราะง่ายต่อการจำและการนำไปใช้โดยไม่คำนึงถึง ว่ามันเป็นค่าที่มิได้นำเอาอายุ เผ่าพันธุ์มาพิจารณาประกอบแต่อย่างใด ผู้คนทั้งหลายต่างรับตัวเลขนี้ไปใช้อย่างขาดการไตร่ตรองในรายละเอียด

          ตัวอย่างเช่นคนผิวดำอเมริกันมีกระดูกและโครงสร้างใหญ่กว่าคนผิวขาวและคนเอเชีย ดังนั้นจึงมีน้ำหนักมากกว่าระดับปกติสำหรับคนที่มีความสูงเท่ากัน สำหรับคนเหล่านี้ถึงแม้จะมี ค่า B.M.I. สูง แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มิใช่คนอ้วนแต่อย่างใด

          ตอนที่ Arnold Schwarzenegger เป็น Mr. Universe (กล้ามใหญ่งามอย่างต่างจาก Miss Universe) B.M.I. ของเขาเท่ากับ 32 ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์นี้ถือได้ว่าเป็นคนอ้วน แต่แท้จริงแล้วมิใช่คนอ้วนอย่างแน่นอน

          หากใครเชื่อตัวเลขง่าย ๆ อย่างนี้ จากคนที่เคยคิดว่าตนเองเป็นคนรูปร่างดีพอควรและมีสุขภาพดี ก็จะกลายเป็นคนมีน้ำหนักเกินพอดีไปทันที มีความทุกข์ใจเพราะกลัวเจ็บป่วย และต้องเสียเงินลดน้ำหนัก

          แพทย์ปัจจุบันพบว่าน้ำหนักประกอบด้วยกล้ามเนื้อ กระดูก น้ำ และไขมันในร่างกาย การดูแต่เกณฑ์ B.M.I. อย่างเดียวจะผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ เพราะความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคที่กล่าวถึงนั้นผูกพันกับปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบางชนิดของไขมัน

          Visceral fat หรือไขมันที่สะสมอยู่ในช่องท้องโดยอยู่ระหว่างอวัยวะภายใน ถ้ามีมันมากก็อยู่ในสภาวะลงพุงดังที่ฝรั่งเรียกว่า pot belly หรือ beer belly กล่าวคือพุงยื่นออกมาจนมีลักษณะคล้ายลูกแอปเปิ้ลคือกลมอยู่ตรงกลาง ซึ่งแตกต่างจากพวกอ้วนไม่ลงพุงที่มีลักษณะคล้ายลูกแพร กล่าวคือไขมันสะสมอยู่บริเวณสะโพกและก้น (เรียวลงมาแล้วอ้วนที่ข้างล่าง) โดยเป็นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังและกระจายอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อซึ่งมีชื่อว่า subcutaneous fat

          มีวิธีการง่าย ๆ วัดปริมาณ visceral fat กล่าวคือถ้าเป็นชายและวัดรอบพุง (ผ่านสะดือ) ต่ำกว่า 90 เซนติเมตรและหญิงต่ำกว่า 80 เซนติเมตรก็ถือว่ามี visceral fat ในระดับที่ไม่เกินเกณฑ์

          ตัวเลขนี้ก็มีข้อบกพร่องอีกเช่นกันตรงที่ไม่คำนึงถึงอายุ และเผ่าพันธุ์ เราเห็นชาว หมู่เกาะปาซิฟิก คนอิตาเลียน คนอินเดียจำนวนมากที่ลงพุงแต่มีอายุยืน ถ้าจะให้แน่นอนว่าร่างกายมี visceral fat มากเพียงใด ในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องชั่งน้ำหนักสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยี MRI บอกน้ำหนักและขนาดของ visceral fat ในร่างกายด้วย

          ตัวอย่างที่สองที่ตัวเลขมี “จุดโหว่” ก็คือเรื่องของการยิง ณ จุดโทษของฟุตบอลระดับโลก สถิติของการยิงเข้าประตูของการแข่งขันฟุตบอลในระดับนี้คือ 75% (ความเป็นไปได้ที่จะยิงเข้าประตูได้คือ 0.75) ด้วยความเร็วประมาณ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง ระยะห่างจากประตู 12 หลา ประตูกว้าง 8 หลา สูง 8 ฟุต ด้วยความหินขนาดนี้ถ้าจะป้องกันได้ผู้รักษาประตูต้องพุ่งตัวไปด้านใดด้านหนึ่งทันทีที่ลูกถูกเตะออกมาจึงจะมีโอกาสปัดลูกได้ทันบ้าง ประเด็นจึงอยู่ที่การคาดเดาของผู้รักษาประตูว่าผู้ยิงจะยิงไปทางด้านใด

          เป็นที่ทราบกันดีจากสถิติว่าผู้ยิงมักยิงไปทางด้านขวาของผู้รักษาประตู 57% (57 ครั้งใน 100 ครั้งจะยิงไปด้านขวาเนื่องจากส่วนใหญ่ถนัดเท้าขวา) ทางด้านซ้ายของผู้รักษาประตู 41% และ ยิงตรงตัว 2%

          ถ้าเชื่อตัวเลขเช่นนี้ ผู้รักษาประตูก็ควรพุ่งตัวไปทางขวาบ่อยมาก เพราะมีโอกาสเดาถูกมากกว่าทิศทางอื่น อย่างไรก็ดีไม่มีโค้ชคนใดที่เขลาขนาดเอาตัวเลขนี้มาใช้ในทุกรณี เพราะมันเป็นตัวเลขที่มี “จุดโหว่”

          ในการดวลยิงลูกโทษเพื่อเข้ารอบหรือชิงชนะเลิศซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในแต่ละการยิงนั้น โค้ชที่ดีจะมีสถิติการยิงลูกโทษของแต่ละคนของฝ่ายตรงข้ามว่าชอบยิงไปทางทิศใดมากเป็นพิเศษเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้รักษาประตูในการพุ่งตัวออกไปทันทีในทิศทางที่มีโอกาสคาดเดาถูกต้องมากที่สุด

          “จุดโหว่” ของตัวเลขในสองเรื่องนี้เตือนใจให้ผู้ใช้ตัวเลขต้องมีสติในการใช้ตัวเลขด้วยความเข้าใจคำจำกัดความและข้อจำกัดของตัวเลขอย่างแท้จริง มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้

          ผู้ที่เชื่อตัวเลขที่อ้างอิงกันในสื่อหรือข้อเขียนอย่างสนิทใจโดยไม่ระแวงสงสัยใน ความถูกต้อง อุปมาเหมือนกับคนที่เอาผ้าผูกตาและเดินอย่างสบายใจเข้าไปในบ้านคนอื่นเพราะรู้สถิติดีว่าหมาบ้านนั้นกัดคนแปลกหน้าน้อยครั้ง

บอลโลกอื้อฉาว

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17
มิถุนายน 2557

Photo by Fauzan Saari on Unsplash

          หน้าปกนิตยสาร The Economist ฉบับ 7-13 June, 2014 เป็นรูปคนกำลังเตะฟุตบอลบนหาดทรายในบราซิลสถานที่ ๆ กำลังแข่งฟุตบอลโลก 2014 และมีอักษรตัวโตจ่าหน้าประกอบว่า Beautiful Game, Ugly Business การขึ้นปกและเขียนข้อความอย่างนี้มันคงจะต้องมีอะไรอยู่ในกอไผ่เป็นแน่

          จำเลยคนสำคัญคือ FIFA (Fédération Internationale de Football Association) ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทุก 4 ปี และทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลก โดยมีสมาชิกรวม 209 ประเทศ ไทยก็เป็นสมาชิกประเทศหนึ่ง

          การ ‘ซื้อ’ ผู้ตัดสิน ผู้เล่นบางคนหรือทั้งทีมในการแข่งขันนัดสำคัญทั่วโลกตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมาเป็น ‘ความลับที่เปิดเผย’ กันในหมู่ผู้รู้เรื่องฟุตบอล รายงานลับของ FIFA ที่ถูกแฉโดย New York Times ระบุการ ‘ซื้อ’ กรรมการเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่เจ้าพ่อนักพนันต้องการโดยผ่านสมาคมผู้จัดท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของ FIFA ในการแข่งขันหลายแมทช์มิตรภาพใน อาฟริกาใต้ในปี 2010 เพื่อประชาสัมพันธ์การแข่งขันฟุตบอลโลก

          Europol หน่วยข่าวกรองของ EU ระบุว่ามี 680 แมทช์ระหว่างปี 2008-2011 ในการแข่งขันลีกใหญ่ในยุโรป และรอบคัดเลือกเพื่อไปแข่งขันฟุตบอลโลกที่น่าสงสัยว่าจะมีทุจริต ‘ซื้อ’ ผู้ตัดสิน ผู้เล่น และ ‘ล้มบอล’ แต่ FIFA ก็ไม่เคยลงโทษใคร

          ชื่อเสียงของ FIFA เน่ายิ่งขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของอังกฤษก่อนหน้าการแข่งขันครั้งนี้ไม่กี่วันลงอีเมล์ของคนในวงในเล่าเรื่องการ ‘ซื้อ’ กรรมการหลายคนของ FIFA ด้วยเงิน 5 ล้านเหรียญเพื่อให้การ์ต้าได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2022 หลักฐานการติดสินบนมีท่วมท้นจนมีข่าวว่าหลังการแข่งขันที่บราซิลจะมีการพิจารณาทบทวนใหม่

          จะไปแข่งในการ์ต้าทำไมท่ามกลางทะเลทรายที่ไม่มีผู้คนมากมายดูและร้อนจัดจนต้องเลื่อนไปจัดในเดือนธันวาคมแทนที่จะเป็นมิถุนายนดังที่เคยจัดกันมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันที่มีความพร้อมในการจัดมากกว่าอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก็จะยิ่งเห็นความบ้ายิ่งขึ้น

          FIFA ใหญ่โตท่วมโลกเพราะมีสมาชิกมากและได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดกฎกติกา การยอมรับผลการแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียง NGO ที่ตั้งอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์และได้สิทธิพิเศษทางภาษี เหตุที่ชื่อสมาคมเป็นฝรั่งเศสก็เพราะตั้งในปารีส เมื่อปี 1904 และเติบโตมีอำนาจเป็นลำดับตามความนิยมกีฬาฟุตบอลที่เพิ่มขึ้น (มีการคำนวณว่าในปัจจุบันมี ผู้เล่นฟุตบอลจริงจังและเป็นครั้งคราวในโลกกว่า 300 ล้านคน)

          ความอื้อฉาวในเรื่องการทุจริตและความหรูหราฟู่ฟ่าของกรรมการ FIFA โดยใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มีคฤหาสน์ใหญ่โต มีความเป็นอยู่ที่เกินความพอดี ทำให้เกิดความหมั่นไส้และ เกลียดชังในหมู่แฟนฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในตัวนาย Sepp Blatter ประธานผู้มีอายุ 78 ปี ผู้ครองตำแหน่งมายาวนาน 16 ปี และกำลังจะสมัครเทอมที่ 5 อีกครั้งเพื่อต่ออายุอีก 4 ปี

          ที่น่าตกใจก็คือ FIFA เป็นที่เกลียดชังของคนบราซิลจำนวนมากก่อนและระหว่างการแข่งขัน รัฐบาลบราซิลเสียเงินไปกับการก่อสร้างสนามแข่งขันหลายแห่งถึงกว่า 15,000 ล้านเหรียญ (450,000 ล้านบาท) เงื่อนไขในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการรักษาความปลอดภัยทำให้คนจน 250,000 คน ไร้ที่อยู่ คนจนกว่า 9 คนตายเพราะการเร่งก่อสร้าง คนบราซิลไม่พอใจที่ FIFA ได้รับรายได้ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านเหรียญ (120,000 ล้านบาท) แต่ไม่แยแสผลกระทบต่อคนจน ดังนั้นครู พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานดับเพลิง คนขับรถเมล์ ฯลฯ กำลังรวมหัวกันนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสม (FIFA-quality wages) กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ดินและบ้านให้คนจน ในขณะที่พยาบาลก็เรียกร้องหา FIFA-quality hospitals ฯลฯ

          บราซิลผู้จัดฟุตบอลโลกปวดหัวกับการประท้วงและต่อต้านฟุตบอลโลก ตลอดจนการต่อต้าน FIFA ซึ่งยิ่งใกล้วันแข่งกระแสก็ยิ่งแรงขึ้นทุกที Romário นักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งบอกว่าฟุตบอลโลก 2014 ‘เป็นการปล้นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบาซิล’

          แฟนฟุตบอลโลกคงจะได้มีโอกาสเห็นการประท้วงในรูปแบบใดแบบหนึ่งในจอเป็นแน่ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ผู้เขียนเองซึ่งเป็นแฟนฟุตบอลก็เบื่อหน่ายกับความเป็นเต่าล้านปีของ FIFA เต็มประดา

          รำคาญจนขำทุกครั้งที่ใกล้หมดเวลา คนดูไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเหลืออีกกี่นาที จะมีการถือป้ายต่อเวลาเท่านั้นเท่านี้นาที มันช่างต่างจากบาสเกตบอล รักบี้ อเมริกันฟุตบอล ที่คนดูรู้ว่าเหลือเวลาเท่าใด FIFA มอบอำนาจทั้งหมดให้ผู้ตัดสินในการเป่านกหวีดหมดเวลา

          ทำไมไม่ใช้นาฬิกาที่ตรงกันระหว่างนาฬิกาผู้ตัดสินกับเวลาบนบอร์ด หากมีคนเจ็บนาฬิกาก็หยุด แข่งใหม่ก็เดินใหม่ เทนนิสก็ไปไกลจนเลิกทะเลาะเรื่องลูกออกหรือไม่ออกเพราะขอดูเทปโทรทัศน์เพื่อตัดสินได้ รักบี้ก้าวหน้ามากเพราะผู้ตัดสินพูดอะไร เตือนใคร ว่าอย่างไร คนทั้งสมาคมจะได้ยินหมด และหากสงสัยเพราะมองไม่เห็นชัดผู้ตัดสินก็จะขอให้เจ้าหน้าที่ดูเทปโทรทัศน์ที่ถ่ายทุกมุมดูทบทวนและให้ความเห็นลงมา สำหรับ FIFA แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นเพราะผู้ตัดสินผู้มีตาทิพย์มองเห็นได้แจ่มชัดในทุกกรณี สามารถเป่านกหวีดว่าเป็นลูกล้ำหน้าหรือไม่ เป็นลูกแฮนบอลหรือไม่ สมควรให้ลูกฟรีคิกหรือลูกโทษหรือไม่ ฯลฯ ในเวลาเพียง 2-3 วินาที!

          ท่ามกลางความล้าสมัย (อย่างจงใจเพื่อให้ผู้ตัดสินเป็น God?) ฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเพิ่มเทคโนโลยีใหม่สองอย่างเพื่อให้คนเห็นว่ามีอะไรใหม่เหมือนกัน อย่างแรกก็คือการติดตั้งกล้องและสร้างคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ตัดสินรู้ว่าลูกได้เข้าประตูแล้ว ถึงแม้ระบบดีอย่างไร FIFA ก็ให้กรรมการเป็นผู้ตัดสินอีกในแต่ละแมทช์ว่าจะใช้เทคโนโลยีนี้หรือไม่

          อย่างที่สองคือสีพ่นบนสนามหญ้าโดยผู้ตัดสินเพื่อให้เห็นตำแหน่งที่ฝ่ายหนึ่งต้องถอยไปไม่น้อยกว่า 10 หลา เมื่อมีการเตะฟรีคิก สีนี้จะละลายหายไปในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ดีผู้ตัดสินมีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้อีกเช่นกันในแต่ละแมทช์

          อย่าไปจริงจังซีเรียลกับฟุตบอลโลกเลยครับ ดูสนุก ๆ ถือว่ามันเป็นวาทกรรมทางธุรกิจที่เขามาเล่นให้เราดู เราไม่มีทางรู้ว่าเขามีการตกลงลับ ๆ อะไรกัน มีการ ‘ซื้อ’ และ ‘ล้ม’ กันในแมทช์ใด และมากน้อยเพียงใด

          ตั้งใจไว้ว่าถ้าได้ดูฟรีเพียง 22 แมทช์ก็จะไม่ดูสดมันเลยเพราะหมั่นไส้ แต่เมื่อได้ดูทั้ง 64 แมทช์ก็จะดูบางแมทช์ด้วยความปลงในบริบทและสิ่งแวดล้อมของมหกรรมครั้งนี้ที่เงิน 450,000 ล้านบาทของคนบราซิลน่าจะเอาไปทำอะไรให้คนจนที่มีอยู่มากมายในประชากร 200 ล้านคน ได้เข้าท่ากว่าเอามาละลายแม่น้ำเยี่ยงนี้

อ่านก่อนจะพนันฟุตบอลโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10
มิถุนายน 2557

Photo by Daniel Norin on Unsplash

          บราซิลฟุตบอลโลก 2014 ได้มาถึงแล้ว นักพนันหัวใจคันทั้งหลายพร้อมที่จะใช้เงินจำนวนมากพนันฟุตบอลอย่างระทึกใจ แต่ก่อนที่หัวใจจะต้องทำงานหนักเกินปกติ กรุณาอ่านข้อเท็จจริงในเรื่องนี้สักนิดที่อาจช่วยผ่อนคลายการทำงานของหัวใจท่านและช่วยมิให้เสียเงินไปอย่าง เขลา ๆ

          เมื่อสองปีก่อน FIFA (Fédération Internationale de Football Association) ซึ่งเป็นองค์กรโลกที่ดูแลกำกับกิจกรรมฟุตบอลของประเทศสมาชิกทั่วโลกได้สั่งให้มีการสอบสวนขุดลึกหาความจริงเกี่ยวกับการคดโกงแมทช์สำคัญที่ FIFA จัดในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่กรรมการตัดสินลำเอียงเพื่อให้ข้างใดข้างหนึ่งชนะด้วยประตูที่แตกต่างกันตามที่ถูกสั่งมา การแกล้งแพ้ของทีมหรือของผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง ฯลฯ รายงานดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ The New York Times ใครที่อ่านแล้วจะรู้สึกตกใจเกี่ยวกับการ ‘ล้มบอล’ อย่างกว้างขวางพอควรในระดับโลก

          รายงานลับฉบับนี้เปิดเผยว่าในการแข่งขันแมทช์มิตรภาพระหว่างอาฟริกาใต้กับกัวเตมาลาในปี 2010 ที่อาฟริกาใต้เพื่อโปรโมทฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีหลักฐานชัดเจนว่ากรรมการ ผู้ตัดสินรับเงินค่าจ้าง 100,000 เหรียญสหรัฐเพื่อทำให้อาฟริกาใต้ชนะ 5-0 และพบอีกว่าไม่ต่ำกว่า 5 แมทช์ในมหกรรมครั้งนั้นมีการจ้างผู้ตัดสินเพื่อบันดาลให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่เจ้าพ่อนักพนันจากสิงคโปร์ต้องการ

          รายงานเชื่อว่าในการทุจริต เจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอลอาฟริกาใต้ผู้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมีส่วนร่วมอย่างสำคัญเนื่องจากสมาคมมีปัญหาการเงินอ่อนแอ และการทำงานไม่เป็นระบบ รายงานระบุว่าอีกหลายสมาคมในโลกที่มีลักษณะอ่อนแอเยี่ยงนี้มีโอกาสสูงที่จะถูกเจ้าพ่อนักพนันยื่นข้อเสนอคดโกงให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่เขาต้องการ

          Europol ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองของ European Union (EU) ระบุว่าระหว่างปี 2000-2011 มีแมทช์น่าสงสัยว่าจะมีปัญหาดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 680 แมทช์ในการแข่งขันนัดสำคัญของประเทศยุโรป ใหญ่ ๆ เพื่อคัดเลือกทีมเข้ารอบฟุตบอลโลกตลอดจนหลายลีกที่มีชื่อเสียงของยุโรป

          ถ้าสงสัยว่าผู้ตัดสิน “ล้มบอล” ได้อย่างไรในแมทช์ใหญ่ต่อหน้าคนดูทั่วโลกเพื่อโปรโมทฟุตบอลโลกในบราซิล 2014 ครั้งนั้น เรื่องราวก็เป็นไปดังนี้ มีตัวแทนบริษัทจากสิงโปร์ให้ข้อเสนอเงินแก่สมาคม (และแน่นอนเจ้าหน้าที่สมาคมด้วย) ที่จะจัดหากรรมการผู้ตัดสินให้ทุกแมทช์ จ่ายทุกอย่างไม่ว่าตั๋วเครื่องบิน เบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ฯ และร่วมกันตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งพิจารณาชื่อผู้ตัดสิน แต่ไม่ว่าจะตกลงกันอย่างไรพอถึงเวลาจริงในนาทีสุดท้ายกรรมการที่บริษัทเตรียมไว้ก็จะเป็นผู้ตัดสินในที่สุด ทุกคน win-win หมด ยกเว้นนักพนันไร้เดียงสาทั่วโลก

          เจ้าพ่อนักพนันจ้าง ‘ล้มบอล’ ที่มักมาจากเอเชียโดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์ จะเลือก ‘ล้มบอล’ รายการแข่งขันใหญ่ ๆ ซึ่งได้แก่การแข่งขันนานาชาติที่มีปริมาณการพนันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลโลกเพราะจะได้ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษ

          การพนันที่ทำเงินมหาศาลให้คนเหล่านี้ก็คือการพนันจำนวนลูกที่ได้ของฝ่ายหนึ่งหรือได้รวมกัน และประตูที่ชนะแตกต่างกัน เนื่องจากผู้จ้าง ‘ล้มบอล’ รู้ ‘อนาคต’ ดีที่สุดจึงพนันได้หนักมือ และ ผู้ที่จะบันดาลให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพก็คือกรรมการผู้ตัดสิน

          ผู้จ้าง ‘ล้มบอล’ ชอบกีฬาฟุตบอลเป็นพิเศษเพราะความนิยมของชาวโลก และมักมาจากเอเชียก็เพราะเป็นทวีปที่แทบไม่มีการควบคุมหรือกำกับการพนันแต่อย่างใด ดังนั้นเจ้าพ่อนัก ‘ล้มบอล’ และเจ้ามือใหญ่นักพนันจากมาเลเซียและสิงคโปร์จึงโด่งดังเป็นพิเศษ (เจ้ามือพนันฟุตบอลไทยจะส่งเงินพนันต่อไปยังสองประเทศนี้เสมอ)

          ธรรมชาติการทำงานของ FIFA ก็มีส่วนช่วยนัก ‘ล้มบอล’ ด้วย กล่าวคือ FIFA ให้สิทธิขาดการตัดสินแก่กรรมการผู้ตัดสิน (ผู้ที่ต้องตัดสินการละเมิดกฏ หรือการตัดสินว่าลูกเข้าประตูหรือไม่ ภายในเวลา 2-3 วินาที) เสมือนว่าเป็นคนตาทิพย์มองเห็นอะไรได้ทุกมุมอย่างแจ่มชัด (เทนนิสปัจจุบันก็ใช้เครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์ช่วยตัดสินว่าลูกออกหรือไม่ รักบี้ก็ให้โอกาสกรรมการผู้ตัดสินใช้กรรมการข้างบนหลายคนช่วยดูโทรทัศน์บันทึกภาพจากหลายมุมกล้องและให้ความเห็นก่อนที่จะตัดสิน)

          มีผู้เสนอให้ฝังชิปเล็ก ๆ ด้านในลูกฟุตบอลเพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เฝ้าดูเส้นประตูจะได้ตัดสินได้หากสงสัยว่าลูกได้เข้าประตูแล้วหรือไม่ นอกจากนี้มีข้อเสนอให้ฝังชิปในรองเท้าฟุตบอลเพื่อช่วยตัดสินการล้ำหน้า แต่ทั้งหมดนี้ FIFA ปฏิเสธหมด ยังคงให้อำนาจเด็ดขาดแก่กรรมการผู้ตัดสินคนเดียวในการเป็นผู้ให้ฟรีคิก ไล่ผู้เล่นออกจากสนาม ให้ลูกโทษ ฯลฯ

          การ ‘ล้มบอล’ โดยผู้เล่นนั้นก็มีการทำกันอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะยิงไม่เข้า รับลูกพลาด วิ่งผิดจังหวะ ฯลฯ ซึ่งในเกมส์ฟุตบอลนั้นสามารถกระทำได้เนียนกว่าหลายประเภทกีฬา ในลีกสำคัญระดับโลกนั้นเขามีกรรมการตรวจดูเทปของทุกแมทช์หลังการแข่งขัน และมีบทลงโทษรุนแรงหากพบความผิดปกติ

          เจ้าพ่อนัก ‘ล้มบอล’ ชอบที่จะจ้างผ่านกรรมการผู้ตัดสินมากกว่าผ่านผู้เล่นบางคน เนื่องจากผลประโยชน์ตอบแทนจากการเล่นของแต่ละคนให้ดีที่สุดนั้นมันสูงกว่าเงินที่ได้จาก ‘การล้ม’ อย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นจึงสู้จ้างกรรมการผู้ตัดสินผู้มีอำนาจเด็ดขาดคนเดียวไม่ได้

          การแข่งขันฟุตบอลโลกในบราซิลครั้งนี้ FIFA จะได้ผลตอบแทนประมาณ 4,000 ล้านเหรียญ (120,000 ล้านบาท) ซึ่งดูว่าสูงมาก แต่ถ้าเทียบกับยอดเงินพนันผิดกฎหมายที่ปกติเล่นกันในเอเชียที่เชื่อกันว่าไม่ต่ำกว่าหลายแสนล้านเหรียญต่อปี (100 เท่าของรายได้ FIFA) แล้วก็จะเข้าใจทันทีว่าเหตุใดการจ้าง ‘ล้มบอล’ จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นในการแข่งขันสำคัญของโลก และจะมีอะไรเล่าที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ 4 ปีจัดขึ้น 1 ครั้ง

          เสียเงินพนันบอลเพราะพนันพลาดเนื่องจากตัดสินใจผิดเรียกได้ว่าเจ็บปวดแต่ยังไม่น่าปวดระบมเพราะเจ็บใจเท่ากับการถูกนักจ้าง ‘ล้มบอล’ รุมเหยียบเพราะเขารู้ผลกันตั้งแต่ก่อนการแข่งขันแล้ว

          ถ้าใครยังพนันฟุตบอลโลกด้วยยอดเงินสูง ๆ ก็เท่ากับว่ากำลังพนันสองชั้น กล่าวคือ ชั้นแรกเสมือนพนันว่าจะมีการ ‘ล้มบอล’ หรือไม่ ถ้าพนันถูกว่าไม่มีการ ‘ล้มบอล’ ก็ยังเหลืออีกว่าจะพนันการแข่งขันได้ถูกหรือไม่ ถ้าต้องเสี่ยงพนันถึงสองชั้นแบบนี้ละก็ไปเล่นปั่นแปะยังมีโอกาสชนะพนันมากกว่าเลย

ภาษาก็มีชีวิต

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3
มิถุนายน 2557

Photo by Jason Leung on Unsplash

          selfie ซึ่งหมายถึงการถ่ายภาพตัวเองโดยการใช้สมาร์ทโฟน เป็นคำประดิษฐ์ขึ้นใหม่ซึ่งได้กลายเป็นคำแห่งปี 2013 ของ The Oxford Dictionary คำนี้มีเพื่อนอีกมากมายที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและจากการคิดค้นขึ้นใหม่อย่างจงใจด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย

          “framily” กำลังมาแรงเพราะกินความหมายกว้างและลึก โดยมาจาก family + friend คำนี้มาจากการประดิษฐ์คำโดยบริษัทเอกชนเพื่อสร้างความสนใจ ซึ่งตั้งใจให้ลามไปถึงบริษัทผู้คิดและสินค้าของเขา

          selfie มีที่มาแตกต่างจากอีกหลายคำที่มีการตลาดแฝงอยู่ เมื่อค้นประวัติก็พบว่าคำนี้ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2002 โดยเริ่มใช้ในข้อความออนไลน์ของคนออสเตรเลียชิ้นหนึ่ง และต่อมาเป็นที่นิยมจนกระจายกันไปทั่ว

          selfie มีรากมาจาก self และบวกด้วย ie จนออกเสียงว่า “เซล-ฟี่” ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียนั้นมีหลายคำที่ชอบทำให้มันลงท้ายด้วย ie เช่น Aussie (คนออสเตรเลีย) footie (หมายถึงออสเตรเลียฟุตบอล) tinnie (เบียร์กระป๋อง) barbie (ไม่ใช่ตุ๊กตา หากหมายถึง barbecue) ฯลฯ

          การตลาดในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน social media ต้องการคำสั้น ๆ ที่สื่อความหมายแปลกใหม่ น่าสนใจ และ “กระแทกใจ” ทั้งนี้เนื่องจากความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของผู้คนมีจำกัด พื้นที่ใน social media มีจำกัด (140 อักษรสำหรับ twitter) ค่าโฆษณามีราคาสูง ฯลฯ

          ประเด็นสำคัญ คือ “การกระแทกใจ” อะไรที่ไม่ “แรง” ไม่แปลก ไม่ใหม่ ไม่น่าสนใจ ฯลฯ คนจะมองข้ามทันที เมื่อเกิดสภาวการณ์เช่นนี้ขึ้นการสื่อสารในช่วงต่อไปเพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นคำใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจกันเกลื่อนตา

          ภาษาอังกฤษไม่มีเจ้าของและไม่มีผู้ผูกขาดการใช้โดยคนเดียวเหมือนภาษาไทยเพราะมีหลายประเทศที่ใช้เป็นภาษาประจำชาติ เมื่อแต่ละประเทศอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลาย การเติบโตของภาษาจึงแตกต่างกันออกไป ดังเช่น Singlish ของคนสิงคโปร์แตกต่างไปจาก American English และ British English คำใหม่ในภาษาอังกฤษจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

          เราจึงมีเครื่องดื่ม 7up ที่บอกว่าตนเองเป็น “Uncola” “Krogering” (ช้อปปิ้งที่ซูปเปอร์มาเก็ตชื่อ Kroger ในสหรัฐอเมริกา) “Runnovation” ของรองเท้ากีฬา New Balance “Turketarian” (เนื้อไก่งวงหรือ Turkey เป็นแหล่งโปรตีนที่บางกลุ่มนิยมจึงบวกกับช่วงท้ายของ vegetarian) “Meatarian” ของบริษัทขายเนื้อ

          อย่างไรก็ดีคำที่มิได้เกิดขึ้นเชิงการตลาดก็มี เช่น texting (ส่งข้อความ) twibel (ข้อความในลักษณะที่อาจถูกฟ้องร้องได้ใน twitter) affluenza (โรคเมาวัตถุนิยมและบริโภคนิยม มาจาก affluence + influenza) carjacking (การจี้บังคับให้คนขับบังคับรถไปในทิศทางที่ต้องการ มาจาก hijacking + car) ฯลฯ

          คำใดที่ไม่มีคนใช้ในเวลาต่อไปก็จะล้มหายตายจากไปเพราะภาษามีชีวิตชีวาเหมือนต้นไม้ ตาหรือกิ่งใหม่จะออกมาตามความจำเป็นในการสื่อสารอย่างกะทัดรัดและได้ใจความ

          ทางการไทยดูจะเข้มงวดกับคำในภาษาไทยที่ทะยอยออกมาใหม่และต่อไปก็จะตายไปเป็นอันมาก ห้ามไม่ให้วลีหรือคำ เช่น “จุงเบย” “ครัชช” “อ่ะ” ปรากฏในโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เป็นอันขาด ทั้ง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ทั้งวันทั้งคืน เด็กรวมทั้งผู้ใหญ่ก็ใช้เพื่อสื่อสารกันไปทั่ว

          ที่แปลกก็คือทางการปล่อยให้มีการทำนายโชคชะตา ผลฟุตบอล หรือแม้แต่การพูดเรื่องในมุ้งในโทรทัศน์บางช่องอย่างเสรี พูดง่าย ๆ ก็คือเรายอมให้เกิดความงมงายในไสยศาสตร์และอาจถึงกามศาสตร์ได้ แต่ไม่ยอมรับความจริงในภาษาศาสตร์เป็นอันขาด
โลกมันเปลี่ยนไปทุกวัน เช่นเดียวกับทุกสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีเป็นตัวการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและหักเห ตัวอย่างเช่นเรื่องการอ่าน คนไทยส่วนใหญ่ปักใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยมาก โดยใช้คำจำกัดความของการอ่านว่าเป็นการอ่านจากหนังสือ แต่ความจริงก็คือเด็กไทยอ่านหนังสือกันมากกว่าสมัยก่อนมาก ๆ แต่รูปแบบการอ่านนั้นแตกต่างออกไป

          เด็กไทยอ่านอักษรบน face book และ line วันหนึ่งนับหลายชั่วโมง ปีหนึ่งถ้านับเป็นหน้าหนังสือก็อาจเป็นพัน ๆ หน้าได้ ถ้าใช้คำจำกัดความเก่าก็ถือว่าถูกต้องที่อ่านหนังสือน้อย แต่ถ้าใช้คำจำกัดความตามโลกแห่งความเป็นจริงของปัจจุบันแล้วก็เรียกว่าอ่านมาก ถ้าไม่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สถิติต่าง ๆ ก็สับสนจนอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด และนโยบายที่ผิดพลาดได้

          คำใหม่ ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นในภาษาอังกฤษและไทยเพื่อวัตถุประสงค์ของการค้าหรือเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นผลพวงของการขยายตัวของโลกออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ถ้ารำคาญจนปิดตาและปิดหู ไม่ยอมรับ ก็อาจกลายเป็น “หมาหลงบนทางด่วน” หรืออาจเข้าใจโลกอย่างบิดเบี้ยวก็เป็นได้