คุกญี่ปุ่นน่าอยู่แต่โหดร้าย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 มกราคม 2559

          หากใครไปเยี่ยมคุกญี่ปุ่นก็จะเห็นว่าสะอาด เป็นระเบียบ สงบเงียบ เหมือนบ้านเมืองญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีหากเจาะลึกลงไปแล้วก็จะพบความน่าสังเวชใจของนักโทษอย่างไม่น่าเชื่อ ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมต่ำมาก ตำรวจออกตรวจโดยขี่จักรยานและเหน็บไม้กระบองไปทั่วเพราะไม่มีถนนไหนที่น่ากลัวเป็นพิเศษเหมือนประเทศอื่น ๆอาชญากรรมจากปืนแทบไม่มีคนรู้จัก การจี้ปล้นแทบไม่มี เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่เพราะมีความปลอดภัยสูง

          ในกลุ่มประเทศพัฒนาด้วยกันแล้ว ญี่ปุ่นมีอัตรานักโทษต่อประชากร 100,000 คน ต่ำสุดคือ 49 ในขณะที่ตัวเลขสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา 698 คน สิงคโปร์ 220 อังกฤษ 148 จีน 119 คานาดา 106 ฝรั่งเศส 100 เกาหลีใต้ 104 เยอรมันนี 78 ไทย 457

          ระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายโดยทั่วไปรุนแรง เนื่องจากเน้นการปรับตัวเป็นคนดี ทั้งตำรวจและศาลจะช่วยกันไม่ให้คนทำผิดครั้งแรกติดคุก ถ้าทำผิดเล็กน้อยครั้งแรกก็จะถูกตักเตือนและปล่อยตัว ภาครัฐจะพยายามประสานกับครอบครัวเพื่อให้คนที่ทำผิดกลับเข้าสู่เส้นทางคนดี และหากถูกส่งเข้าคุก ข้างในคุกดูเผิน ๆ ก็เหมือนโรงเรียนประจำชั้นดี

          อย่างไรก็ดีท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มีจุดอ่อนที่ทำให้นักโทษญี่ปุ่นอาจเป็นนักโทษที่น่าสงสารกว่าหลายประเทศ กล่าวคือระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นเน้นการสารภาพเป็นหลัก โดยถือว่าการสารภาพคือก้าวแรกของการกลับตัวเป็นคนดี

          สำหรับอาชญากรรมที่รุนแรงเช่นฆ่าคนตาย ระบบยุติธรรมไม่ปล่อยให้หลุดออกมาหากเล่นงานหนักมาก ตำรวจจะสอบสวนอย่างหนักเพื่อรีดคำสารภาพให้ได้ จนมีสถิติว่า 89 คดีใน 100 คดีที่อัยการฟ้องนั้นมีการสารภาพและเกือบทั้งหมดถูกลงโทษจนทำให้อัตราถูกลงโทษในจำนวนที่ฟ้องสูงถึงร้อยละ 99.8

          เมื่อการบังคับให้สารภาพเป็นหัวใจของการดำเนินงาน ปัญหาก็เกิดตามมาคือผู้ต้องสงสัยหลายคนยอมสารภาพเพื่อหลีกหนีการถูกสอบสวนชนิดหนักหนาสาหัสของตำรวจญี่ปุ่น ตำรวจและอัยการสามารถกักขังผู้ต้องสงสัยไว้ได้นานถึง 23 วัน โดยไม่มีการตั้งข้อหา ซึ่งนานกว่าที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ กักขังผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเสียด้วยซ้ำ

          การสอบสวนใช้เวลานานติดต่อกันกว่า 8 ชั่วโมง โดยบังคับให้อยู่ในท่าเดียว ไม่ให้หลับนอน ถูกข่มขู่ ตะโกนใส่พร้อมคำถามข่มขู่เพื่อให้สารภาพ น้อยคนที่เจอสภาพอย่างนี้แล้วจะไม่สารภาพเพื่อให้พ้น ๆ ไปจากความทรมาน ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ต้องสงสัยจะพบกับการถูกสอบสวนเพื่อให้สารภาพเช่นนี้โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก และไม่มีการต่อต้านให้เปลี่ยนแปลง

          ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน หลายคดีผุดขึ้นมาว่านักโทษมิได้กระทำอาชญากรรมจริงหากถูกศาลตัดสินเพราะคำสารภาพ มีอยู่รายหนึ่งถูกจำคุก 46 ปี เพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อไม่นานมานี้เพราะศาลพบว่าตำรวจและอัยการร่วมมือกันสร้างหลักฐานเท็จจนต้องยอมรับสารภาพ เขาบอกว่าเขาถูกสอบสวนวันละ 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 23 วัน แถมถูกนวดด้วยกระบองและถูกเข็มทิ่มเวลาเขาง่วงหลับ

          มีหลายคดีที่ติดคุกนับสิบ ๆ ปีเพราะคำสารภาพที่ไม่จริง และหลุดได้ในเวลาต่อมาเพราะการพิสูจน์ DNA รายการโทรทัศน์ของ Asahi เมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดโปงเรื่องน่าสังเวชใจเช่นนี้จนเริ่มปลุกสาธารณชนญี่ปุ่นให้หันมาสนใจระบบยุติธรรมที่เน้นการสารภาพ มีประมาณการว่าร้อยละ 10 ของนักโทษติดคุกเพราะยอมสารภาพทั้งที่มิได้กระทำผิดจริง

          พฤติกรรมของอัยการก็มีส่วนทำให้เกิดสภาพการณ์เช่นนี้ สถิติการชนะคดีที่ฟ้องของอัยการถือเป็นเรื่องใหญ่ จนบางคนต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ชนะ การตรวจสอบการทำงานของอัยการก็มีน้อยและการเป็นอัยการในญี่ปุ่นนั้นเป็นสถานะอันทรงเกียรติ

          การปฏิรูประบบยุติธรรมของญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวด้วยการตัดสินคดีแบบมีลูกขุนโดยให้ประชาชนร่วมพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2009 นับถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมเป็นลูกขุนประมาณ 50,000 คน สำหรับคดีอาชญากรรมร้ายแรง

          ในคุกญี่ปุ่นนั้นนักโทษก็ถูกระทำอย่างโหดร้ายทางจิตวิทยา ถึงแม้จะมีสภาพแวดล้อมเป็นเยี่ยมก็ตาม นักโทษห้ามสบตาผู้คุมเด็ดขาด มีโอกาสอ่านหนังสือน้อย นักโทษคนหนึ่งบอกว่ามีอิสรภาพอย่างเดียวคือหายใจ ไม่ว่าจะทำสิ่งใดต้องขออนุญาตเสียก่อนแม้แต่การยืน นักโทษส่วนใหญ่นั่งกับพื้นจนเนื้อที่สัมผัสพื้นนาน ๆ ด้านจนเป็นแผล การถูกขังเดี่ยวโหดร้ายมากเพราะไม่ให้ทำอะไรนอกจากเพ่งมองประตูแต่เพียงอย่างเดียว

          นักโทษประหารนั้นยิ่งโหดร้ายมาก เพราะไม่บอกวันประหาร นักโทษต้องรออย่างไม่รู้วันตาย หัวใจเต้นแรงทุกครั้งที่ผู้คุมเดินผ่านหน้าประตูท่ามกลางความเงียบสงัด นักโทษหันไปทางใดก็มีแต่ความเงียบและไม่มีอะไรให้ทำถึงแม้จะกินดีอยู่ดีก็ตาม

          นักวิชาการญี่ปุ่นบอกว่าผู้คนในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีทางโน้มที่มองจากแง่ของเหยื่อมากกว่าที่จะมองจากมุมของผู้ต้องสงสัยเช่นไม่พิจารณาสภาพแวดล้อมของผู้ต้องสงสัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรมขึ้น เมื่อแนวคิดเป็นเช่นนี้ผลลัพธ์จึงเป็นไปในทิศทางของการลงโทษรุนแรง ถึงแม้จะอ้างว่าไม่ใช่การแก้แค้นหากเป็นการพยายามทำให้ปรับตัวเป็นคนดีก็ตาม

          การบังคับให้สารภาพเพื่อเอาผิดเป็นวิธีการแบบโบราณทั่วโลกเมื่อหลายร้อยหลายพันปีก่อน ถึงแม้จะได้คนสารภาพแต่ก็มิได้หมายความว่าได้ความจริงว่าใครเป็นคนผิด ในประวัติศาสตร์ของไทยมีคนถูกลงโทษผิด ๆ เพราะคำสารภาพเนื่องจากการทรมานมีมากมาย

          บางสิ่งที่เราเห็นว่าดีจากข้างนอกนั้นบ่อยครั้งเมื่อเจาะลึกลงไปก็อาจพบสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เป็นได้ การไว้ใจตาของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้สมองและจิตใจที่พยายามค้นหาความจริงประกอบจึงเป็นเรื่องที่สมควรใคร่ครวญโดยแท้

พฤติกรรมแปลกของมนุษย์มีคำอธิบาย

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 ธันวาคม 2558

          พฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ บริโภคอาหารที่เป็นอันตราย เสพยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่มนุษย์ก็ยังกระทำกัน ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจจะมีสุขภาพดี มีอายุยืนนาน ความขัดแย้งในตัวเองกันเช่นนี้ทำให้นักวิชาการในหลายสาขาพยายามเข้าใจเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในที่สุด

          ปัญหาใดก็แล้วแต่จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนก็ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจธรรมชาติของปัญหา สาเหตุของปัญหา ตลอดจนทุกเรื่องที่ผูกพันโยงใย แล้วจึงวิเคราะห์เพื่อสร้างความเข้าใจ และในที่สุดก็อาจได้คำตอบ

          มนุษย์มีหลายพฤติกรรมที่เข้าใจยาก ผู้เขียนขอนำเสนอหลายตัวอย่างที่พบในชีวิตประจำวันเพื่อให้เข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผู้เขียนใช้ข้อมูลบางส่วนจากข้อเขียนของ Dan Ariely ในหนังสือชื่อ Behavioural Economics Saved My Dog(2015) โดยมีคำโปรยหัวว่า Life Advice for the Imperfect Human ตัวอย่างมีดังต่อไปนี้

          (1) เรามักยอมให้ความสุขจากการบริโภคอาหารในระยะเวลาสั้น ๆ เอาชนะเป้าหมายในระยะยาวของการลดน้ำหนัก บ่อยครั้งการควบคุมอาหารล้มเหลวในขณะที่เราสามารถเลิกบุหรี่ เลิกเหล้าได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ

          การควบคุมอาหารต่างจากการเลิกเหล้าและบุหรี่ เนื่องจากการเลิกสองอย่างนี้สามารถกระทำได้ชัดเจน กล่าวคือเลิกก็คือเลิก ไม่มีให้ดื่มหรือให้สูบก็เกิดเป็นผล การต่อสู้มันเป็นขาวและดำ ส่วนการควบคุมอาหารนั้นเราต้องบริโภคอาหารทุกวัน ต้องเห็นมันทุกวัน ดังนั้นจึงยากกว่ามากเพราะเส้นแบ่งระหว่างความพอดี แตกต่างจากกรณีของเหล้าและบุหรี่

          Dieting นั้นโดยแท้จริงแล้วมันตรงข้ามกับธรรมชาติที่อยู่ในตัวมนุษย์ที่ต้องบริโภคเพื่อความอยู่รอด แผนการนั้นมีแน่นอนแต่เมื่อเผชิญกับอาหารหรือของหวานที่เราชอบมาวางอยู่ข้างหน้า ใจที่มั่นคงตั้งใจก่อนหน้านั้นหลายวันว่าจะไม่แตะเลย หรือบริโภคเพียงชิ้นเดียวก็เปลี่ยนไป ในทางวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘present-focus bias’ หรือ “ความเอนเอียงสู่การเน้นปัจจุบัน” ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์มีความโน้มเอียงสู่สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ดังเช่น (ก) การบริโภคขนมโปรดที่วางอยู่ข้างหน้าทั้งที่ตั้งใจในอดีตว่าจะไม่แตะอีก (ข) เอนเอียงโปรดปรานคนที่เห็นหน้าอยู่บ่อย ๆ มากกว่าคนที่ปิดทองหลังพระ (ค) สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า “out of sight, out of mind” คือถ้าห่างจากสายตาก็ห่างจากหัวใจ (ง) ตัดสินใจโดยนำปัจจัยปัจจุบันมาพิจารณาโดยมองข้ามปัจจัยสำคัญในอดีตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (จ) ใช้จ่ายเงินเพื่อหาความสุขในปัจจุบันมากกว่าคิดเรื่องการออมโดย อนาคตนั้นถูกผลักออกไปอยู่นอกการพิจารณา

          ถ้าจะให้ dieting ได้ผลนั้นต้องไม่ทำให้เกิด “present” ขึ้น กล่าวคืออย่าเก็บอาหารที่ชอบหรือสามารถเข้าถึงอาหารที่ชอบได้โดยง่าย วิธีกำจัด “present” ที่ได้ผลก็คือการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา (พระสงฆ์ไม่บริโภคมื้อเย็น คริสตังบริโภคปลาในวันศุกร์)

          (2) การผลัดวันประกันพรุ่งเป็นสมบัติของมนุษยชาติมานานแสนนาน ในทุกสังคม เราเห็นการซื้อตั๋ว การยื่นแบบฟอร์ม การตอบจดหมาย การส่งผลงาน การเข้าประกวด ฯลฯ มักกระทำกันในวันท้าย ๆ ใกล้หมดกำหนดกันเสมอ (รวมทั้งข้อเขียนนี้ด้วย) และก็มักเป็นดังนี้กันในทุกสังคม อาการหนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่ค่านิยมของสังคมนั้น ๆ และของแต่ละบุคคล การไม่ตรงต่อเวลาก็คือลักษณะหนึ่งของการผลัดวันประกันพรุ่ง

          งานศึกษาหลายชิ้นพบว่ามนุษย์มีนิสัยเช่นนี้เพราะไม่ประสงค์รับ “ความเจ็บปวด” จึงผลัดออกไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ไม่อาจผลัดได้อีกต่อไป “ความเจ็บปวด” ที่ว่านี้ก็ได้แก่การต้องเสียเงินเพิ่มเมื่อชำระภาษี การต้องออกแรงกรอกแบบฟอร์ม ฯ การเลื่อน “ความเจ็บปวด” เหล่านี้ออกไปจนถึงเวลาที่กำหนด หรือการผลัดวันประกันพรุ่ง จึงเป็นเรื่องที่อธิบายได้

          การบ่มเพาะสร้างค่านิยมแห่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพ การฝึกฝนไม่ให้กลัว “ความเจ็บปวด” เพราะประสิทธิภาพมีความสำคัญกว่า การฝึกหัดนิสัยให้ไม่คำนึงถึง “ความเจ็บปวด” เพราะเป็นหน้าที่ ฯ เป็นทางออกของนิสัยผลัดวัน มิฉะนั้นมนุษย์ก็จะเข้าหรอบเดิมเสมอ

          (3) มนุษย์กลัวภัยใกล้ตัวมากกว่าไกลตัวเสมอ ถ้าเอาปืนจ่อศีรษะเขาไม่ให้ สูบบุหรี่ กินเหล้า เขาก็จะไม่ทำ เพราะหากขัดขืนก็ตายทันที แต่ถ้าไม่มีปืนเขาก็จะสูบ และดื่ม ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าเป็นภัยต่อร่างกาย แต่ในใจเขาแล้วนั่นมันเป็นสิ่งที่อยู่ไกลออกไปและอาจมีข้อยกเว้นไม่เป็นจริงสำหรับเขาด้วยเพราะเขามีพันธุกรรมหรือพรจากพระเจ้าที่เหนือกว่าคนอื่น

          อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาว่าคนสูบบุหรี่ตระหนักดีถึงภัยต่อสุขภาพแต่ก็คิดว่าวันหนึ่งในเวลาข้างหน้าเขาจะเลิกบุหรี่ แต่วันนั้นก็ไม่มาถึงสักที เพราะการเลิกคือ “ความเจ็บปวด” ดังนั้นจึงผลัดวันประกันพรุ่งในการเลิกอยู่เสมอ

          เมื่อมนุษย์สูบบุหรี่อย่างไม่กลัวภัยไกลตัว กลุ่มสนับสนุนการเลิกบุหรี่จึงดึงเอาภัยเข้ามาใกล้ตัวด้วยการพิมพ์ภาพที่น่าเกลียดของคนเป็นโรคกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไว้บนซองบุหรี่เสียเลย แต่ก็ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น งานศึกษาพบว่า “ภัยใกล้ตัว” ที่มีผลที่สุดต่อผู้สูบบุหรี่ก็คือภาษีที่เก็บจากบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่เทียบเคียง “ภัยจากการเสียเงิน” ว่าเป็น “ภัยใกล้ตัว” ที่ร้ายแรงเพราะเห็นผลทันที (ได้เงินทอนกลับมาจากแบงค์ 100 ที่ซื้อบุหรี่น้อยลงอย่างน่าตกใจ)

          คลิปประชาสัมพันธ์อันตรายจากการดื่มสุรา จากการเดินก้มหน้าดูสมาร์ทโฟน (ตกท่อ หกล้ม เดินตกลงไปในช่องลิฟต์ที่ไม่มีตัวลิฟต์ ถูกรถไฟชนเพราะไม่ได้ยิน) โทรศัพท์หรือส่งข้อความขณะขับรถ ล้วนเป็นวิธีการนำเอาภัยไกลตัวมาให้อยู่ใกล้ตัวที่น่าสนับสนุนทั้งสิ้น

          มนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ที่มีความไม่สมบูรณ์ (Imperfect Human) อยู่มาก มนุษย์มีความเอนเอียงของจิตอย่างไม่ตั้งใจ มีทั้งวิธีคิดที่ทำให้อยู่ในโลกแห่งความฝัน มีการประเมินความสามารถของตนเองที่เกินความเป็นจริง มีความมั่นใจในตัวเองสูงอย่างไม่สัมพันธ์กับความสามารถจริง ฯลฯ แต่นี่คือลักษณะของมนุษย์ตลอด เวลา150,000 ปี ที่ผ่านมาของความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ ถ้าจะแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของพวกเรากันได้ก็ต่อเมื่อยอมรับความจริงและตระหนักเสมอในจุดอ่อนเหล่านี้ของมนุษย์

เพชรของ Josephine

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 ธันวาคม 2558

          เรื่องราวของเพชรเป็นที่สนใจของมนุษย์เสมอโดยเฉพาะสุภาพสตรี เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 มหาเศรษฐีฮ่องกงซื้อเพชรให้ลูกสาวชนิดสะเทือนโลกและสะเทือนใจผู้นิยมชมชอบเพชรเพราะไม่มีโอกาสได้เป็นลูกสาว

          ในการประมูลเพชรที่เจนีวา Joseph Lau มหาเศรษฐีฮ่องกงประมูลเพชรสีน้ำเงิน หนัก 12.03 กะรัต (1 กะรัต = 0.2 กรัม) ราคา 48.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,730 ล้านบาท) ซึ่งมีชื่อว่า “Blue Moon” เพื่อให้ลูกสาววัย 7 ขวบ ทันทีที่ประมูลได้เขาก็ประกาศตั้งชื่อเพชรเม็ดนี้ใหม่ว่า “Blue Moon of Josephine” ตามชื่อลูกสาว

          แค่นี้ยังไม่พอ ก่อนหน้านี้หนึ่งวันเขาประมูลได้เพชรสีชมพู หนัก 16.08 กะรัต ในราคา 28.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,019 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเพชรสีชมพูหายากเม็ดใหญ่ที่สุดที่เคยมีการประมูลกันมา เขาตั้งชื่อมันใหม่ว่า “Sweet Josephine”

          Sotheby’s ซึ่งเป็นบริษัทประมูลใหญ่ของโลกที่จัดการประมูลเพชร “Blue Moon” บอกว่าเพชรเม็ดนี้ทำลายสถิติราคาประมูลที่เคยมีมา และทำให้เป็นเพชรที่มีราคาแพงที่สุด (ไม่คำนึง ถึงสี) และแพงที่สุดเท่าที่เคยมีการประมูลกันมา นอกจากนี้ราคาต่อกะรัตก็สูงที่สุดอีกด้วย

          สถิติก่อนหน้านี้ของการประมูลเพชรที่เรียกว่าราคาสูงมากก็คือ เพชร “Graff Pink” ในปี 2010 น้ำหนัก 24.78 กะรัต ราคา 46.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,652 ล้านบาท) ซึ่งถึงแม้หนักสองเท่าของ “Blue Moon of Josephine” แต่ก็ซื้อในราคาต่ำกว่า

          ใครที่อยากรู้ว่าคนอะไรมันจะรวยและบ้าอีกทั้งโง่ขนาดนั้นได้และลูกสาว Josephine อยู่ที่ไหนจะได้ไปอุ้มมาดูแลสักหน่อย ต้องอดใจฟังเรื่องราวสักนิดครับ เพราะความดังของเขายังไม่หมด

          ในปี 2009 เขาจ่ายเงิน 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (340 ล้านบาท) ซื้อเพชรสีน้ำเงิน ซึ่งตั้งชื่อใหม่ว่า “Star of Josephine” รวมแล้วไอ้หนูตัวเล็ก Josephine อายุ 7 ขวบตอนนี้มีเพชร 3 เม็ดใหญ่ ตั้งชื่อตามตัวเองไปแล้ว

          Joseph Lau ปัจจุบันอายุ 64 ปี รวยมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกง เป็นประธานกรรมการบริษัท Chinese Estates Holdings ที่เขาถือหุ้นอยู่ร้อยละ 61 นิตยสาร Forbes ประมาณว่าเขามีทรัพย์สินสุทธิประมาณ 11,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (411,175 ล้านบาท) ในปัจจุบัน

          เขาเคยมีภรรยา ชื่อ Bo Wing-kam อยู่กินกันมา 22 ปีก่อนที่จะหย่า มีลูกชายหนึ่ง ลูกสาวหนึ่ง (คนนี้ไม่มีเพชรที่ตั้งชื่อตามเพราะมีชื่อว่า Jade) ลูกชายคนโตกำลังจะมาทำงานแทนเขา Lau อยู่กับหญิงอีก 2 คน คนแรกเขาพบตอนเธอมีอายุ 24 ปี หลังจากหย่าจากภรรยามา 9 ปี เขามีลูกกับเธอ 2 คน คือหญิงหนึ่งชายหนึ่ง Lau มีลูกกับหญิงคนที่สามซึ่งเป็นลูกน้องเก่า มีลูก 2 คน หญิงหนึ่งชายหนึ่งอีกเช่นกัน และลูกสาวจากแฟนคนนี้แหละคือ Josephine รวมแล้วเขามีลูกทั้งหมด 6 คน ชาย 3 หญิง 3 ในหญิง 3 คนนี้ Josephine อายุน้อยที่สุดและดูจะเป็นสุดที่รักของเขา

          Joseph Lau เป็นคนอื้อฉาวเพราะขณะนี้เขาหนีคดีอาญาที่มาเก๊า ในปี 2012 ศาลมาเก๊า (ดินแดนจีนที่เช่าโดยโปตุเกส) ระบุว่าเขาเกี่ยวพันกับการติดสินบนรัฐมนตรีก่อสร้าง 20 ล้านเหรียญฮ่องกงเพื่อให้ได้ที่ดินสวยหลายแปลงตรงข้ามสนามนานาชาติมาเก๊า นอกจากนี้เขายังโดนข้อหาฟอกเงินอีกด้วย ในปี 2014 ศาลตัดสินว่าเขาผิดจริง ถูกจำคุก 5 ปี เขาอุทธรณ์แต่ศาลไม่รับ จึงหนีไปอยู่ฮ่องกงอย่างลอยนวลเนื่องจากทั้งสองไม่มีสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

          เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้คนจึงมองการประมูลเพชรเหล่านี้ว่ามีเลศนัย มีการ ยอมจ่ายเงินซื้อเพชรซึ่งน่าจะแพงกว่าราคาที่เป็นจริงอยู่ไม่น้อยเพื่อฟอกเงิน (โอนความมั่งคั่งจากเงินไม่สะอาดข้ามเวลา กล่าวคือซื้อเก็บไว้แล้วขายในช่วงเวลาอื่นในอนาคต) สะสมความมั่งคั่งไว้ในรูปที่สามารถขนหนีได้ง่ายและสะดวก แฝงความเลศนัยไว้ในชื่อลูกสาว ฯลฯ

          ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพชร 3 เม็ดดังนี้อยู่ในมือเขา เม็ดเด่นที่สุดคือ “Blue Moon of Josephine” นั้นเพิ่งพบในเหมืองใกล้เมือง Cullinan ของประเทศอาฟริกาใต้เมื่อปี 2014 นี้เอง

          เพชรที่มีชื่อเสียงมากจากเมืองนี้คือ Cullinan Diamond น้ำหนักก่อนเจียระไนหนัก 3.10675 กิโลกรัม (ก้อนเดียวนะครับ) เป็นเพชรระดับคุณภาพก้อนใหญ่ก่อนเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบกันมา ต่อมามีการเจียระไนออกเป็นเพชร 105 เม็ด เม็ดหนึ่งที่มีชื่อมากคือ Cullinan I หรือ Great Star of Africa (530.2 กะรัต) อีกเม็ดหนึ่งคือ Cullinan II หรือ Lesser Star of Africa (317.4 กะรัต) ทั้งสองเม็ดปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ British Crown Jewels

          เพชรเป็นสิ่งงดงามและมีค่ายิ่งมายาวนาน เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิคตอเรียของอังกฤษ (ค.ศ. 1837-1901) อย่างไรก็ดีภาพลักษณ์ในใจของเพชรที่โยงใยกับความรักและความโรแมนติกนั้นเพิ่งเกิดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาอันเป็นผลพวงจากแผนการตลาดของบริษัท De Beers ผู้ครองตลาดโลกในเรื่องเพชร

          การหมั้นหมายและแต่งงานโดยใช้เพชรเป็นตัวแทนของความรักนั้นเป็นวัฒนธรรมฝรั่งที่เข้ามาในบ้านเราและดูจะกลายเป็นเรื่องปกติในทุกสังคม ในปัจจุบันสิ่งที่ต้องระวังให้มากก็คือเพชรเทียม (Synthetic Diamond) ซึ่งผลิตในห้องทดลองได้เหมือนของจริงมาก และสร้างขนาดใหญ่ขึ้นได้ทุกที เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถผลิตเพชรเทียมได้ดีมากจนแม้ในระดับโมเลกุลไม่มีความแตกต่างจากเพชรธรรมชาติแต่อย่างใด เฉพาะการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษเท่านั้นจึงจะบอกได้ว่าเป็นเพชรธรรมชาติ

          ส่วนใหญ่ของเพชรเทียมจะมีสีเหลือง อย่างไรก็ดีสีอื่น ๆ เช่น น้ำเงิน เขียว และชมพู ก็สามารถผลิตได้เช่นกัน เพชรเทียมมิได้ตั้งใจผลิตเพื่อการหลอกลวง หากเอาไว้ใช้ในอุตสาหกรรมเพราะความแกร่ง ในปี 2010 มีการผลิตเพชรเทียมประมาณ 5,000 ล้านกะรัต (1,000 ตัน) เกือบทั้งหมดใช้ในงานอุตสาหกรรม และประมาณครึ่งหนึ่งของ 133 ล้านกะรัตที่ขุดได้จากธรรมชาติในแต่ละปีก็ใช้ในอุตสาหกรรมเช่นกัน

          เพชรของ Josephine เป็นสิ่งมีค่ายิ่งของเธอผู้ที่จะเติบโตเป็นสาวในเวลาไม่เกิน 10 ปี สิ่งที่เธออาจหาได้ยากตลอดชีวิตก็คือความจริงใจเพราะทุกคนจะรู้จักเธอเพราะเพชรงาม ความมั่งคั่งที่ไหลล้นออกมาจากกายจะดึงดูดผู้คนให้เห็นแต่เพชรโดยอาจมองข้ามความเป็นมนุษย์ของเธอเสียสิ้น

เลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 ธันวาคม 2558

           ฟิลิปปินส์เพื่อนที่สำคัญของไทยใน ASEAN กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ การหาเสียงเลือกตั้งจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 การเลือกตั้งครั้งนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการเมืองระดับโลกทีเดียว

          ฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก ๆ 6 ปีในวันจันทร์ที่สองของเดือนพฤษภาคม และประธานาธิบดีเริ่มทำงาน 30 มิถุนายน การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับเป็นเวลา 30 ปีนับตั้งแต่ ค.ศ. 1986 เป็นต้นมา

          ทวนความจำกันเล็กน้อย หลังจากการเมืองวุ่นวาย มีปฏิวัติ มีการประท้วง ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Marcos ในที่สุดในปี 1986 ก็ได้นาง Corozon Aquino เป็นประธานาธิบดี ต่อด้วย Fidel Ramos / Joseph Estrada / นาง Gloria Arroyo และ Benigno Aquino III ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้รับเลือกตั้งในปี 2010 ดังนั้นจึงหมดวาระในปี 2016 เนื่องจากเป็นได้วาระเดียวเท่านั้นคือ 6 ปี

          ในช่วงเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เป็นประเทศใหญ่ใน ASEAN ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ระดับเครดิตของประเทศในระดับโลกได้รับการปรับขึ้นโดยองค์กรจัดเครดิตใหญ่ทุกแห่ง ถึงแม้จะยังอยู่หลังหลายประเทศใน ASEAN เนื่องจากมีประชากรขนาดใหญ่ (ครั้งหนึ่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อนมีประชากรใกล้เคียงกับไทยคือ 45 ล้านคน แต่ปัจจุบัน 100 ล้านคน) การขยับตัวทางเศรษฐกิจจึงต้องการการลงทุนขนาดใหญ่มากทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริการสาธารณะ บริการสาธารณสุข ฯลฯ

          อย่างไรก็ดีประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งมีชื่อเล่นว่า Noynoy เป็นลูกชายของนาง Corozon Aquino ก็ทำได้ดีมาก เศรษฐกิจพลิกผันจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เมื่อวาระสิ้นสุดลงผู้คนจึงมีคำถามว่าแล้วใครจะมาเป็นต่อเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายที่ได้วางไว้มีการสานต่อ

          ตลอดปี 2015 มีการต่อสู้ทั้งลับและแจ้งเพื่อแย่งชิงการสนับสนุนจากประธานาธิบดี เพราะหากได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยก็จะได้เปรียบอย่างมากเนื่องจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้รับความนิยมจากผลงานเศรษฐกิจและการปราบปรามคอรัปชั่น

          การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์นั้นแปลกกว่าหลายประเทศ กล่าวคือประชาชนสามารถเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ต่างพรรคกันได้ ดังนั้นบ่อยครั้งที่ตัว รองประธานาธิบดีขัดแย้งกับประธานาธิบดีเพราะมาจากกลุ่มสนับสนุนคนละกลุ่ม

          ฝุ่นได้จางลงแล้วจนพอเห็นภาพว่าจะมีใครเป็นผู้สมัครคนสำคัญที่พอมีสิทธิ์ลุ้นเป็นประธานาธิบดี ในการเมืองฟิลิปปินส์ไม่อาจอ้างอิงการเป็นตัวแทนพรรคได้เพราะพรรคเกิดและตายกันเป็นว่าเล่น ชื่อพรรคแทบจะไม่มีความหมายเพราะประชาชนนิยมตัวบุคคล ไม่ใช่พรรค เมื่อนิยมตัวบุคคลใดก็นิยมลงไปถึงลูก หลาน ภรรยา ญาติ ด้วย ดังนั้นจึงเป็นการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ของกลุ่มเครือญาติ และของกลุ่มคนชอบพอกันเป็นพิเศษ และข้ามหลายชั่วคนด้วย

          คนแรกสุดที่มาแรงเป็นหญิงชื่อ Grace Poe อายุ 47 ปี เป็นละอ่อนทางการเมืองเพราะ เพิ่งเป็นวุฒิสมาชิกในปี 2013 แต่ที่ดังก็เพราะในปีนั้นเธอได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างถล่มทลาย สาเหตุหนึ่งที่เธอได้รับความนิยมก็เพราะเธอเป็นลูกสาวบุญธรรมของ Farnando Poe (FPJ) ราชาพระเอกหนังยอดนิยมในอดีต

          FPJ เป็นที่รักและชื่นชมของคนฟิลิปปินส์มาก เขาลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1992 แข่งกับนาง Gloria Arroyo อย่างสูสี เชื่อกันว่าในครั้งนั้นมีการโกงเลือกตั้งกันแหลกลาญซึ่ง โดยแท้จริงแล้วเขาควรได้เป็นประธานาธิบดีด้วยซ้ำ

          Grace Poe ขณะนี้ได้รับความนิยมในโพลสูงสุดคือร้อยละ 26 ซึ่งไม่ทิ้งห่างคนอื่นมากนัก เธอเรียนจบรัฐศาสตร์และเป็นนักธุรกิจ เรียนจบ University of the Philippines (UP) และ Boston College เธอถูกโจมตีว่าอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ไม่ครบ 6 ปี ก่อนสมัครเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบังคับ

          คนที่สองคือ Jejomar Binay อายุ 73 ปี ปัจจุบันเป็นรองประธานาธิบดี เคยเป็นนายกเทศมนตรีของ Metro Makati เป็นนักการเมืองเก่าแก่ ขณะนี้บัญชีในธนาคารถูกอายัดเพราะถูกสอบสวนข้อหาคอรัปชั่นสมัยเป็นนายกเทศมนตรี คนนี้กำลังเป็น “ผู้ร้าย” ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้

          คนสุดท้ายน่าสนใจมากเพราะในที่สุดแล้วตำแหน่งประธานาธิบดีน่าจะไม่พ้นมือเขาเพราะพื้นฐานการศึกษา ผลงานในอดีต และความเป็น “ลูกท่านหลานเธอ” ในการเมืองฟิลิปปินส์ ชื่อของเขาคือ Manuel Roxax II หรือชื่อเล่นว่า Mar (นักการเมืองฟิลิปปินส์มีชื่อเล่นทุกคน บ้านเราก็มีและเรียกแบบนับญาติโดยมีตั้งแต่พี่ลุงป้าน้าอารวมทั้งไอ้ด้วย)

          Mar อายุ 58 ปี เรียนจบ Wharton พ่อเป็นอดีตวุฒิสมาชิก และเป็นหลานปู่ของอดีตประธานาธิบดี Roxas ส่วนตานั้นเป็นมหาเศรษฐีอุตสาหกรรม Mar เคยเป็น ส.ส. และ ส.ว. และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญหลายกระทรวง เช่น คมนาคม พาณิชย์ ฯลฯ

          ในปี 2010 เขาเป็นตัวเก็งที่จะลงแข่งเป็นประธานาธิบดีเพราะชื่อเสียงจากผลงาน และพื้นฐานนิยมในการเป็นหลานปู่ของอดีตประธานาธิบดี แต่เมื่อ Corazon Aquino เสียชีวิตในปี 2009 อารมณ์ความรู้สึกของคนฟิลิปปินส์ที่อาลัยรักเธอเทให้ลูกชายของเธอคือ Noynoy ซึ่งไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนจนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

          ครั้งนั้น Mar ถอนตัวจากการลงสมัครหลังจากหารือกับ Noynoy และสมัครเป็น รองประธานาธิบดีคู่กันแต่ไม่ได้รับเลือกเพราะพ่ายแพ้แก่ Binay ใน 6 ปีที่ผ่านมาเขาเป็นรัฐมนตรีคู่คิดของประธานาธิบดี และในที่สุดเมื่อกลางปี 2015 ประธานาธิบดีก็ประกาศสนับสนุนเขาให้เป็นทายาท

          เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าผู้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเขาเป็นผู้หญิง คือ Leni Robredo เป็นภรรยายหม้ายของอดีตรัฐมนตรี Jesse Robredo ซึ่งมีชื่อเสียงและน่าจะเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีด้วยหากไม่เสียชีวิตเสียก่อนเมื่อมีอายุเพียง 54 ปี Leni เรียนจบเศรษฐศาสตร์จาก UP และต่อมาเรียนกฎหมาย ปัจจุบันเธอเป็น ส.ส. อายุ 51 ปี มีลูก 3 คน

          การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญเพราะประธานาธิบดีคนปัจจุบันมีนโยบายแข็งกร้าวกับจีนโดย ต่อสู้เรื่องการครอบครองหมู่เกาะทะเลจีนใต้ (สิ่งที่อยู่ใต้ทะเลในรัศมี 200 ไมล์ทะเล เป็นสมบัติของผู้เป็นเจ้าของเกาะ) โดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเต็มที่ ขณะนี้ฟิลิปปินส์พร้อมที่จะให้สหรัฐอเมริกากลับมาตั้งฐานทัพใน Subic Bay และ Palawai นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ได้ฟ้องจีนในศาลโลกด้วยในกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะนี้โดยมีกองเชียร์แข็งขันในโลก

          หาก Binay ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นโยบายก็จะเปลี่ยนเพราะเขาระบุว่าต้องการการประนีประนอมกับจีน ส่วน Poe และ Mar นั้นหากได้รับเลือกก็คงสานนโยบายเดิมต่อไป

          การหาเสียงมีเวลา 3 เดือน เริ่มต้นกุมภาพันธ์จนถึงกลางพฤษภาคม 2016 ดังนั้นจึงมีเวลายาวนาน ความผันผวนของความนิยมนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ยากในช่วงเวลาที่ยาวเช่นนี้ การขุดประวัติและเรื่องอื้อฉาวในอดีตขึ้นมาถล่มกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนมาตรฐานการหาเสียงทั่วโลก

          ผลจากโพลความคิดเห็น (Opinion Poll) นั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามความนิยม ณ จุดนั้นของเวลาและวิธีการทำโพล ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือเท่าการลงคะแนนกันในวันเลือกตั้ง (Poll)

Emojis สื่อความหมาย

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8 ธันวาคม 2558 

          ท่ามกลางความเมามันของการส่งภาพ Good Morning Good night กันใน Line บ่อยครั้งก็มีภาพของคนแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ปรากฏในกรอบรูปกลมและเหลี่ยมบ้าง บ้างก็เป็นภาพลายเขียนเครื่องหมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับอารมณ์ทั้งสิ้น ไอ้ตัวที่ว่านี้เรียกกันว่า emojis ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจอยู่เบื้องหลัง

          ผู้เริ่มใช้ emojis คือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญี่ปุ่น เช่น NTT / DoCoMo / Softbank Mobiles ฯลฯ emojis มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น “e” (picture) + “moji (character) ซึ่งหมายถึงรูปภาพของลักษณะคน (ในอารมณ์ต่าง ๆ)

          บังเอิญคำว่า emojis ไปคล้ายกับ emotion (อารมณ์) ในภาษาอังกฤษจึงทำให้เข้าใจได้ง่ายว่าเป็นการสื่ออารมณ์ emojis อันแรกสุดมีมาแต่ ค.ศ. 1998 ในญี่ปุ่น สมาชิกคนหนึ่งของทีมที่ทำงานเรื่องโทรศัพท์มือถือของ NTT ชื่อ Shigetaka Kurita ได้ความคิดมาจากคำพยากรณ์อากาศซึ่งใช้สัญลักษณ์เป็นตัวแทนสภาพอากาศ และจากการ์ตูนซึ่งใช้สัญลักษณ์อยู่เป็นประจำเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึก เช่น หลอดไฟแสดงถึงการปลุกเร้าให้เกิดแรงจูงใจ Kurita สร้าง emojis ชุดแรก 180 ตัว เป็นตัวแทนของความรู้สึกต่าง ๆ ที่เขาสังเกตเห็นจากผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

          อีกฟากหนึ่งของโลกตะวันตกก็มีสิ่งซึ่งเรียกว่า emoticons ในโลกของโทรศัพท์เครื่องที่ซึ่งใช้เลขหรือเครื่องหมายต่าง ๆ ของภาษา เช่น วงเล็บ จุด ขีด ฯลฯ เอามาประกอบกันเป็นความหมาย เช่น 🙂 หมายถึงรอยยิ้ม หรือ ^^ หมายถึงความสุข ทั้ง emoticons และ emojis มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการสื่อความหมาย เพียงแต่ emojis ใช้รูปภาพ

          emoticon ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนมีคอมพิวเตอร์ กล่าวคือในศตวรรษที่ 19 มีคู่มือการส่ง โทรเลขของอเมริกาในปี 1857 ระบุว่าเลข 73 ในสัญลักษณ์ Morse code สื่อว่า “love and kisses” ต่อมาใช้เลข 88 แทน

          เมื่อ emojis ปรากฏอยู่ใน Apple’s iPhone ในปี 2007 จึงได้รับความนิยมขึ้นอย่างรวดเร็วจนโทรศัพท์มือถือระบบอื่นต้องเลียนแบบ และใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่นั้นมา

          emojis ให้ความสะดวกแก่ผู้ส่งข้อความผ่านอินเตอร์เน็ต เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์ข้อความยืดยาวเพื่อสื่อว่ากำลังมีความรู้สึกหรือปฏิกิริยาอย่างไรต่อข้อความที่คนอื่นส่งมา นอกจากนี้ยังสามารถโต้ตอบได้รวดเร็ว และอาจสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่าคำพูด

          บ่อยครั้งที่ผู้ใช้ไม่แน่ใจว่าจะส่งข้อความกลับไปอย่างไรเพื่อให้เป็นการสื่อสารที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ก็มักใช้ emojis เป็นคำตอบ

          เมื่อ emojis ไม่ใช่ขนม moji จึงมิใช่เรื่องง่ายนักในการใช้ emojis เพื่อสื่อข้อความอย่างที่ตนเองต้องการเสมอไป การเลือก emojis จากรูปที่มีอยู่ทั้งหมดโดยไตร่ตรองอย่างรอบคอบจึงเป็นคำแนะนำที่ควรแก่การรับฟัง

          รูปภาพเดียวกันภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็มีความหมายต่างกัน โชคดีที่ emojis จำนวนมากเป็นเพียงรูปหน้าคนเท่านั้นความเข้าใจผิดจึงมีไม่มากเพราะหน้าตามนุษย์นั้นแสดง ความรู้สึกเหมือนกันในทุกวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความพอใจ ความดีใจ ความเสียใจ รอยยิ้ม ฯลฯ

          หากมีการสื่อความหมายต่าง ๆ โดยมือ นิ้ว แขน ฯลฯ ประกอบด้วยแล้วอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้โดยง่ายในวัฒนธรรมซึ่งไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นการยกนิ้วโป้งขึ้นดังเช่นการกด like ถือว่าหยาบคายในโลกอาหรับ (สัญลักษณ์ like ของ Facebook คงไม่ได้เช็คก่อนนำออกมาใช้)

          เมื่อ emojis ได้รับความนิยม ตลาดก็ตอบสนองด้วยการผลิต emojis ออกมาอีกหลายชุดซึ่งแสดงอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นและมีความหมายหลากหลาย

          ในปี 2015 Oxford Dictionaries ซึ่งทำการสำรวจทุกปีต่อเนื่องกันมายาวนานเพื่อค้นหา “คำแห่งปี” และก็ได้ประกาศผลออกมาซึ่งในตอนแรกนำความแปลกใจมาสู่ชาวโลก เนื่องจากในปีนี้ มิใช่เป็นคำ ๆ ดังที่เคยเป็น หากเป็น pictograph หรือ emojis ซึ่งมีชื่อทางการว่า “Face with Tears of Joy” กล่าวคือเป็นรูปวงกลมซึ่งมีหน้าตาที่ยิ้มแย้ม (ปากโค้งเปิด คิ้วปาดลง) และมีหยดน้ำตา 2 หยดออกจากตาทั้ง 2 ข้าง

          ความหมายของ emojis “คำแห่งปี” นี้ก็คือมีความสุข ดีใจ ปลื้มใจ สนุก จนน้ำตาเล็ด อย่างนี้เรียกว่า ‘สุดสุข’ ซึ่งมีผู้คนใช้กันมากมายในโลกเพื่อสื่อความหมายของความสุขจนถือได้ว่าเป็น emojis ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดในโลก การสำรวจของบริษัทรับจ้างของ Oxford Dictionaries พบว่า emojis ตัวนี้มีคนใช้เป็นร้อยละ 20 ของ emojis ทั้งหมดนี้ที่มีการใช้กันในอังกฤษในปี 2015 และ ร้อยละ 17 ของ emojis ทั้งหมดที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และ 9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2014

          วัยรุ่นมิใช่เป็นผู้ใช้ emojis เท่านั้น หากผู้ใหญ่จำนวนมากก็นิยมใช้เช่นกันโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในทางการเมือง Hillary Clinton ผู้สมัครแข่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงสมัครประธานาธิบดีในปี 2016 ถามผ่านข้อความในอินเตอร์เน็ตว่า “รู้สึกอย่างไรกับหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินไปเรียนมหาวิทยาลัย” โดยขอให้ตอบมาโดยใช้ emojis ไม่เกิน 3 อัน ปรากฏว่ามีคนส่งกันมากมายด้วย emojis ที่สื่อหลากหลายอารมรณ์

          emojis แท้จริงแล้วไม่ต่างไปจากการเอากระสุนปืนไปใส่ในกล่องจดหมายเพื่อขู่เข็ญหรือในสมัยโบราณของไทยที่มีประเพณีคายชานหมากของหญิงให้ชายเพื่อสื่อความปิ๊งจากหญิง และ การเอาดอกไม้ที่เหน็บไว้กลางอกให้ชาย ก็คือการสื่อความหมายทำนองเดียวกัน ถึงไม่มี emojis คนเขาก็สื่อความรักถึงกันได้

          emojis อาจสื่อความหมายที่ดีมากจากฝ่ายผู้ส่ง แต่อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกไซเบอร์ที่ทุกอย่างอาจหลอกลวงกันได้หมดแม้แต่อารมณ์ที่แท้จริง ดังนั้นจึงต้องพยายามรู้ทันการใช้ emojis

หมอผ่าตัดตามหัศจรรย์จากเนปาล

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 ธันวาคม 2558

           คงจะหาใครในโลกที่สร้างกุศลแก่ผู้มีสายตาพิการได้ทัดเทียมคุณหมอ Sanduk Ruit ชาวเนปาลผู้ซึ่งผ่าตัดตามาไม่ต่ำกว่า 100,000 คนได้ยาก มันเป็นเรื่องราวเหลือเชื่อที่ทำให้คนหายจากตาพิการได้ในเวลา 1 วัน ด้วยการผ่าตัดที่ใช้เวลาเพียง 5 นาที

          ทุกวันจะมีคนเฒ่าคนแก่ตาพิการเพราะมีต้อบังตาอยู่นับร้อยคนเดินทางมาจาก ทั่วสารทิศมาหาคุณหมอเพื่อช่วยให้มองเห็น สำหรับคนยากจนเหล่านี้การมองไม่เห็นคือการจบสิ้นของชีวิตเพราะไม่สามารถเก็บฟืน หาของป่า ช่วยเลี้ยงลูกหลาน ทำกับข้าว หรือช่วยเหลือตัวเองได้ การเป็นภาระแก่ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วเป็นการซ้ำเติมที่ทำให้ชีวิตของทุกคนลำบากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่คุณหมอทำจึงเท่ากับเป็นการช่วยฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวโดยตรง

          หมอมหัศจรรย์ท่านนี้มิใช่หมอผีรดน้ำมนต์พ่นน้ำหมากรักษาตาพิการ หากเป็นหมอ ที่เรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อของอินเดีย และมีโอกาสไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา สิ่งที่หมอ Sanduk นำเสนอคือทางเลือกที่ง่ายและมีราคาถูก

          ปัจจุบันหมอ Sanduk อายุ 60 ปี มีภรรยาเป็นพยาบาลเชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดตา บ้านเกิดของหมออยู่ท่ามกลางหุบเขาในชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของเนปาล โรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุดต้องใช้เวลาเดิน 11 วัน พ่อแม่ของหมอมิได้เรียนหนังสือมามาก แต่การเป็นนักค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพ่อทำให้รู้ว่าการศึกษาของลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงสนับสนุนการศึกษาของลูกทุกวิถีทาง

          เขาเข้าโรงเรียน St. Robert’s School ที่ Darjeeling อันเป็นเมืองของโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงของอินเดียมายาวนาน ตอนมัธยมปลาย Sanduk เรียนจบจากโรงเรียนใน Kathmandu เมืองหลวงของประเทศในปี 1969 และได้ศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์

          Sandak ได้พบกับศาสตราจารย์ชาวออสเตรเลียชื่อ Fred Hollows และได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเขา ทั้งสองร่วมกันค้นคว้าหาวิธีผ่าตัดตาเอาต้อกระจกที่เป็นตัวการทำให้มองไม่เห็นออกด้วยวิธีที่ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำมาก

          การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก (cataract surgery) ก็คือการเอาเลนส์ตาธรรมชาติซึ่งเกิดแผ่นขุ่นฝ้าขึ้นซึ่งเรียกว่าต้อกระจกออก เหตุที่เกิดขุ่นฝ้าหรือสิ่งที่เรียกว่า opacification ก็เนื่องมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิซึมของเยื่อบนเลนส์ข้ามเวลายาวนานจนนำไปสู่การเกิดต้อกระจกและทำให้ขาดความโปร่งใสของเลนส์จนมองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็นทั้งหมดในที่สุด

          แสงแดดจ้าซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลตแอบแฝงอยู่ โดยเฉพาะในบริเวณที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก เช่น ทิเบต เนปาล เร่งกระบวนการเกิดต้อกระจกซึ่งเกิดผลเต็มที่ใน คนสูงอายุ ถ้าเป็นคนมีเงินหรืออยู่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่มีปัญหาเพราะการผ่าตัดถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาแล้วโอกาสเข้าถึงเครื่องมือราคาแพงเป็นไปไม่ได้

          หลักการของการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันก็คือเอาเลนส์ตาเก่าที่ฝ้ามัวออกและเอาเลนส์ใหม่ที่เป็นกระจกหรือพลาสติกใส่เข้าไปแทน การผ่าตัดมี 2 วิธีใหญ่ อย่างแรกเรียกว่า phacoemulsification (phaco) ก็คือการผ่าเป็นแผลยาว 2-3 มิลลิเมตรเพื่อเอาเลนส์ตาออกโดยใช้การสั่นสะเทือน (vibration) เพื่อให้เลนส์เก่าแตกเป็นของเหลวออกมา และเอาเลนส์ใหม่ใส่แทนโดยไม่มีการเย็บแผล ปัจจุบันมีการใช้เลนส์พลาสติกที่ม้วนสอดผ่านรูที่เจาะ เมื่อเลนส์เข้าไปก็จะขยายตัวออกซึ่งทำให้ไม่ชอกช้ำมาก วิธีนี้ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาแพงประกอบ

          อีกวิธีคือผ่าตาด้วยแผลกว้างกว่าคือ 10-12 มิลลิเมตร และเอาเลนส์ที่มีปัญหาออก ใส่เลนส์ใหม่แล้วต้องเย็บ อย่างไรก็ดีปัจจุบันไม่ดุเดือดขนาดนั้น สามารถผ่าเป็นแผลเล็กมาก สอดเลนส์ใหม่เข้าไปโดยไม่ต้องเย็บ

          ตรงนี้แหละคือวิธีของหมอ Sanduk ที่พัฒนาขึ้นมาต่อจากอาจารย์ของเขาโดยใช้เครื่องมือที่ราคาถูกกว่าผ่าตัดเป็น microsurgery คุณหมอผ่าสองแผลด้านข้างเล็กมากโดยดูผ่านกล้องจุลทรรศน์และเลื่อนเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์ใหม่เข้าไป ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 5 นาที และแกะเปิดตาได้ในเวลา 1 วัน มีต้นทุน 25 เหรียญสหรัฐต่อคน หมออธิบายว่าคล้ายกับเข้าไปเจาะหาไข่แดงใน ไข่ต้ม ต้องกว้านเปิดกว้างด้วยแผลเล็ก ควักเอาเลนส์ออกและใช้เครื่องดูดทำความสะอาดที่เหลือ ของดวงตา แล้วจึงเอาเลนส์ใหม่ใส่เข้าไปแทน โดยไม่มีการเย็บแผลเนื่องจากแผลเล็กมาก

          ในตอนแรกวิธีนี้เป็นที่เยาะเย้ยขบขันของหมอทั่วโลกว่าเสี่ยงและไม่ได้ผล แต่เมื่อนานวันเข้ามีหมอจากทั่วโลกไปดูงาน โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาเพื่อพิสูจน์ความจริง และในที่สุด ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ผลและมีประโยชน์อย่างยิ่ง

          American Journal of Ophthalmology ตีพิมพ์บทความที่ติดตามผลการผ่าตัดของหมอภายใน 6 เดือน และยืนยันว่าได้ผล 98% เหมือนวิธี phaco ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก

          หมอ Sanduk ตั้งสถาบัน Tilganga Institute of Ophthalmology ซึ่งดูแลโรงพยาบาล ธนาคารดวงตา ผลิตเลนส์ (ราคาอันละ 3 เหรียญ เปรียบเทียบกับ 200 เหรียญในโลกตะวันตก) หาเงินจากการรักษาคนรวยมาช่วยคนจนแบบฟรี

          สิ่งที่หมอภูมิใจมากที่สุดคือเป็นตัวกระจายวิธีใหม่นี้ไปสู่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ยากจน มีหมอจากไทย อินเดีย อาฟกานิสถาน กานา เอธิโอเปีย และอีกนับสิบ ๆ ประเทศไปฝึกฝนกับหมอเพื่อนำไปช่วยคนยากจนที่ตาพิการ จนอาจนับได้ว่าช่วยคนเป็นล้าน ๆ คนในโลกที่มีคนตาบอดทั้งสิ้นประมาณ 39 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มีสาเหตุจากต้อกระจก อีก 246 ล้านคนตาพิการบางส่วน

          ขณะนี้วิธีผ่าตาของหมอ Sanduk กำลังเริ่มใช้กันในสหรัฐอเมริกา หมอ Sanduk ผ่าตัดโดยใช้รถเคลื่อนที่ไปหาคนยากจนบนภูเขา เพราะเครื่องมือไม่ซับซ้อนและถูกกว่าเครื่องมือในโลกตะวันตกเป็นอันมาก ถึงดูหวาดเสียวกว่าแต่ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน (ภาพที่คนผ่าตัดเห็นผ่านเลนส์หลังผ่าตัดอาจสู้ภาพจากเครื่องมือผ่าตัดสมัยใหม่ไม่ได้เพราะเลนส์ถูกกว่าแต่ก็เพียงพอสำหรับคนตาพิการในโลกกำลังพัฒนาที่แค่มองเห็นก็นับว่าเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่แล้ว)

          มีคนถามหมอ Sanduk ว่าถ้าท่านไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้วคงรวยไม่รู้เรื่อง หมอตอบว่าที่ทำอยู่นี้ดีกว่าเงินทองมากมาย เพราะเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่จะช่วยคนจำนวนมากให้มีความสุข เงินมาก ๆ ที่ได้มาไม่ได้ทำให้สุขเท่าอย่างแน่นอน

          หมอ Sanduk ทำงานในบริเวณภูเขาหิมาลัยซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความคิดเรื่องสวรรค์ของคนตะวันออก หมอได้ผ่าตัดบนสวรรค์ก่อนตายมานานแล้วอย่างมีความสุขและปลาบปลื้มใจ

“คุณแม่” กับเลือกตั้งเมียนมาร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24 พฤศจิกายน 2558

          “คุณแม่” ของชาวเมียนมาร์ชนะเลือกตั้งชนิดถล่มทลายเกินความคาดหมายของใคร ๆ ทั้งหมด และอาจแม้แต่ของตัว “คุณแม่” เองด้วยซ้ำ ชัยชนะเช่นนี้หมายความอย่างไรและมีอะไรในกอไผ่หรือไม่เพียงใด

          อองซาน ซูจี หรือเรียกอย่างเคารพเป็นทางการว่า “ดอร์ ซูจี” เป็นหัวหน้าพรรค NLD (National League for Democracy) สู้กับพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของกลุ่มทหารที่ครองเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 หรือ 53 ปีก่อน ขณะที่เขียนนี้มีการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปประมาณร้อยละ 50 ของจำนวน ส.ส. ที่เลือกตั้งกัน NLD ได้ ส.ส. ไปประมาณร้อยละ 90 พรรค USDP ร้อยละ 5 ซึ่งคาดว่าส่วนที่เหลือก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          เรา “มาถึงตรงนี้กันได้อย่างไร” เป็นประโยคที่วัยรุ่นไทยชอบใช้กันใน Facebook ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้พอดี

          หลังจากการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. 1962 พม่า (ชื่อในขณะนั้น) ก็ปิดประเทศ คนพม่า คนไหนอยากออกนอกประเทศก็ไปได้เลย แต่ห้ามเอาสมบัติออกไปด้วย ระบบเศรษฐกิจนั้นทหารเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการเองเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการขนานแท้โดยนายพลเนวิน (ไม่ใช่คนที่อยู่ทางอีสาน) ต่อมาเมื่อมีการประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 8 เดือน 8 ของปี 1988 ทหารก็ถอยและยอมให้มีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 1990

          ครั้งนั้นพรรค NLD ซึ่งนำโดยอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นลูกสาวของนายพลอองซาน (ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า และเป็นวีรบุรุษต่อสู้จนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948) ก็ชนะอย่างขาดลอย ได้ร้อยละ 80 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด แต่รัฐบาลทหารก็ไม่ยอมคืนอำนาจ กลับจับเธอขังไว้ในบ้าน ผู้นำนักศึกษาจำนวนมากถูกทรมานและฆ่าตาย และถูกจับใส่คุกเป็นจำนวนมาก

          เมื่อกระแสการเมืองโลกต่อต้านรัฐบาลหนักขึ้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งในปี 2010 แต่อองซาน ซูจีกับพวกคว่ำบาตรไม่ลงเลือกตั้งด้วย พรรค USDP ก็ได้ผู้แทนเข้ามาเกือบเต็มสภา ต่อมาประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มองเห็นว่าถ้ากลุ่มของเธอไม่ร่วมมือด้านการเมืองด้วย เมียนมาร์ก็ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เพราะแรงกดดันจากต่างประเทศให้ปล่อยเธอและให้มีเลือกตั้งสูงมาก

          พรรค NLD ก็กลับมาอีกครั้ง ลงเลือกตั้งซ่อมในเขตใกล้ย่างกุ้ง ในจำนวน 45 ที่นั่ง NLD กวาดไปเกลี้ยง 43 ที่นั่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ “คุณแม่” ผู้ก้าวเข้ามาเป็น ส.ส. ด้วย นั่นคือสัญญาณเล็ก ๆ ว่าพรรค NLD มีผู้นิยมมากเพียงใด และเมื่อการเลือกตั้งใหม่มาถึงอีกครั้งในปี 2015 คราวนี้พรรค NLD ก็ลงเลือกตั้งเต็มตัว

          อย่างไรก็ดี ถึงแม้ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นแต่หนทางที่จะได้อำนาจคืนมาสมบูรณ์ก็ ตีบตันเพราะรัฐธรรมนูญเขียนดักทางไว้หลายชั้น เช่น (ก) คนจะสมัครเป็นประธานาธิบดีได้ต้องไม่มีสามีหรือลูกที่ถือสัญชาติอื่น (หมายถึงเธอเพราะแต่งงานกับชาวอังกฤษและลูกชาย 2 คนถือสัญชาติอังกฤษ) (ข) ทหารมีโควต้าผู้แทนอยู่แล้วร้อยละ 25 ของจำนวนผู้แทนทั้งหมด (จำนวนสภาบนและสภาล่างรวมกัน) (ค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและมหาดไทยซึ่งคุมตำรวจและความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อย ผู้บัญชาการกองทัพเป็นคนเลือก (ง) ในภาวะฉุกเฉินสภาความมั่นคงและ การป้องกันประเทศสามารถยึดอำนาจคืนจากรัฐบาลได้ (ฟังดูคุ้นหูจัง)

          รัฐธรรมนูญมาตรา (59 f) เรื่องสัญชาติคือตัวกีดกันที่ทำให้ “คุณแม่” ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ ถึงแม้พรรค NLD จะชนะได้ที่นั่งมากมายเพียงใดก็ตาม “คุณแม่” บอกก่อนเลือกตั้งว่าหากชนะจะเป็นคนที่ “เหนือกว่าประธานาธิบดี” ซึ่งไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเธอหมายถึงอะไร จะชักหุ่นอยู่เบื้องหลัง? (ซึ่งอาจผิดรัฐธรรมนูญ) หรือจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร?

          ลองมาดูจำนวนที่นั่งเลือกตั้งกันว่าพรรค NLD ชนะขาดอย่างไร เมื่อรวมสภาบนและ สภาล่างแล้วจะมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 664 คน ในจำนวนนี้มีโควต้าของทหารได้อยู่แล้วโดยไม่ต้อง ลงแข่งร้อยละ 25 หรือ 166 คน ดังนั้นจึงมีการเลือกตั้งเพียง 498 ที่นั่ง

          ในจำนวน 498 ที่นั่งนี้คาดว่าพรรค NLD จะชนะร้อยละ 80-90 ซึ่งหมายถึงได้จำนวนที่นั่งประมาณ 398-488 ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ 664 คน หรือ 332 คน อยู่มาก ดังนั้นพรรค NLD จึงไม่ต้องอาศัยพรรคอื่นเลย (ลงสมัครกันกว่า 90 พรรค ผู้มีสิทธิออกเสียง 30 ล้านคน มาลงคะแนนกัน ร้อยละ 80)

          ที่ขยายความเรื่องจำนวนที่นั่งก็เพราะการเลือกประธานาธิบดีจะกระทำกันในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือใกล้มีนาคม โดยแต่ละกลุ่ม (กลุ่มทหาร สภาบน และสภาล่าง) เสนอชื่อ 1 คน เป็น ประธานาธิบดี และนับเสียงจากการลงคะแนนของ 664 คนว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี คนได้คะแนนรองมา 2 คน เป็นรองประธานาธิบดี

          เมื่อพรรค NLD ได้ถึง 398-488 ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งไปมากจึงเป็นที่แน่นอนว่าชื่อที่ NLD เสนอจะต้องได้เป็นประธานาธิบดี คำถามก็คือใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ก็มีคนพูดถึงชื่อนายพล Tin Oo อดีตผู้บัญชาการทหาร ซึ่งรักใคร่สนิทสนมกับ “คุณแม่” แต่ก็มีอายุถึง 88 ปี ถึงแม้จะยังแข็งแรงอยู่ก็ตาม

          ช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญตั้งใจเว้นไว้นานถึง 3 เดือนก่อนเลือกประธานาธิบดีก็เพื่อช่วยในเรื่องการต่อรองเพื่อร่วมกันทำงานเพราะไม่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลก็ไม่อาจทำงานได้โดยไม่ร่วมมือกับฝ่ายทหารซึ่งยังมีอำนาจอยู่มาก อย่างไรก็ดีไม่มีใครนึกว่า “คุณแม่” จะชนะอย่างฟ้าถล่มดินทลายเช่นนี้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ “คนแม่” เป็นประธานาธิบดีแลกกับเงื่อนไขที่ฝ่ายทหารพอใจก่อนการเลือกในเดือนมีนาคม 2559

          ผู้แทนจากสภาล่างและสภาบนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่หมดวาระจนถึงตอนก่อนเลือกประธานาธิบดี ดังนั้นจึงสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และก็มีความชอบธรรมด้วยเมื่อคำนึงถึงความประสงค์อันชัดเจนอย่างยิ่งของประชาชนเมียนมาร์

          เมียนมาร์มีชนกลุ่มน้อยอยู่ไม่ต่ำกว่า 120 กลุ่ม (7 กลุ่มใหญ่) รวมกันเป็น 1 ใน 3 ของประชากรประมาณ 52 ล้านคน ในอดีตแต่ละรัฐของชนกลุ่มน้อยต้องการปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มทหารไม่เห็นชอบ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องเจรจาหาทางออกเพื่อหยุดการสู้รบกับรัฐบาลกลางซึ่งมีมายาวนานกว่า 50 ปี ให้ได้เพื่อสร้างความสงบ

          ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ ธุรกิจต่างประเทศที่ไปลงทุนในเมียนมาร์ คนชั้นกลางและคนเมียนมาร์ทั่วไปต่างมีความหวาดหวั่น กังวลและคาดหวังแตกต่างกันไปเพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และจะไปได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ดีผู้นำการเมืองเมียนมาร์ทุกฝ่ายได้เห็นบทเรียนจากหลายประเทศเพื่อนบ้าน และคงเรียนรู้ว่าการร่วมมือกันอย่างเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเท่านั้นที่จะเป็นทางออกสำหรับชาวเมียนมาร์ที่ได้ออกมาแสดงความประสงค์ของตนเองอย่างท่วมท้นที่ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

ใคร่ครวญ “การผ่าคลอด”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิตย์
17 พฤศจิกายน 2558

          ไม่ว่าถามคนท้องคนไหนในบ้านเราในเวลานี้ว่าจะคลอดอย่างไร คำตอบที่ได้รับอย่างเรียกได้ว่าท่วมท้นก็คือ “ผ่าท้อง” ได้ยินน้อยคนมากในกรุงเทพฯ ที่บอกว่าจะคลอดแบบธรรมชาติ ปรากฏการณ์นี้น่าตกใจเพราะคุณแม่เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงและอันตรายแอบซ่อนอยู่มากกว่าการคลอดแบบปกติ

          ปรากฎการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา หากเกิดเกือบทั้งโลก จากสัดส่วนการคลอดแบบผ่าที่อยู่ประมาณเลขตัวเดียว กลายเป็น 20, 30 และถึง 50 ของจำนวนการคลอดทั้งหมดในแต่ละปีก็ยังมีภายในช่วงเวลา 15-20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 5 ปีหลัง

          จีนนั้นโดดขึ้นไปจากอัตรา “ผ่าคลอด” ที่ต่ำมากในทศวรรษ 1970 จนขึ้นไปถึงร้อยละ 47 ของจำนวนการคลอดทั้งหมดในหนึ่งปี ในระดับโลก “การผ่าคลอด” เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีสัดส่วนอยู่ประมาณร้อยละ 40 เช่นเดียวกับอินเดีย และเวียดนามร้อยละ 36

          “การผ่าคลอด” นั้นภาษาอังกฤษเรียกว่า Caesarean section หรือสั้น ๆ ว่า C-sections เดิมเชื่อกันว่า Gaius Julius Caesar ยอดขุนพลและรัฐบุรุษโรมันซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนเกิดจาก “การผ่าคลอด” จึงเรียกชื่อการผ่าแบบนี้ตามชื่อของเขา แต่หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าแม่ของเขาไม่ตายหลังคลอดเขา ดังนั้นจึงไม่น่าเกี่ยวพันด้วย

          ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะในสมัยนั้นเมื่อแม่กำลังจะตายหรือพึ่งตายเท่านั้นที่เด็กอาจเกิดจาก C-sections ได้ กล่าวคือรีบผ่าออกเลย (ทางการแพทย์บอกว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 37 อาทิตย์ในระยะเวลาการท้องประมาณ 40 อาทิตย์ของมนุษย์จึงจะผ่าแล้วมีโอกาสรอด) C-sections จึงไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับ Julius Caesar เช่นเดียวกับ Caesar salad

          วัฒนธรรมจีนและอินเดียก็มีการกล่าวถึง C-sections อย่างไรก็ดีเป็นเวลาอีกนานมากกว่าที่ C-Sections จะปลอดภัยแม้แต่ในอังกฤษประเทศที่พัฒนาที่สุดในสมัยนั้น ใน ค.ศ. 1865 (สมัยรัชกาลที่ 4) แม่ยังตายถึงร้อยละ 85 พอจะอยู่รอดบ้างก็เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ค.ศ. 1917 เป็นต้นมา ปัจจุบัน C-sections พัฒนามาไกลมากจนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในหลายเรื่อง

          ในเบื้องต้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหนีความเจ็บปวด อันมนุษย์นั้นเมื่อมีความกินดีอยู่ดีสูงขึ้น ความอดทนต่อความเจ็บปวดจะน้อยลง ประการที่สอง เป็นเครื่องมือในการให้ทารกเกิดในฤกษ์ดีตามหลักโหราศาสตร์ (“ดวงเกิด” ถูกแทนที่ด้วย “ดวงถูกบังคับให้เกิด” การพยากรณ์จะแม่นยำได้อย่างไรยังสงสัยอยู่) หรือเกิดในฤกษ์ที่เป็น

          ประโยชน์ เช่น เกิดก่อน 17 พฤษภาคม จะได้เข้าโรงเรียนได้เร็วขึ้น หรือเกิดหลัง 1 ตุลาคม เวลาเกษียณอายุจะได้แถมอีก 1 ปี (คิดอะไรไกลขนาด 60 ปีล่วงหน้า)

          สาม เป็นเครื่องมือในการสร้างความสะดวกให้แก่ทั้งผู้คลอด (รู้แน่ว่าคลอดเมื่อใด จะได้กลับบ้าน และไปทำงานวันใด) และแพทย์ (หมอว่างพอดีในตอนนั้น หมอไม่ต้องคอยการเจ็บท้องจนไปไหนไม่ได้ หมอไม่ต้องถูกตามตัวกลางดึก ฯลฯ) สี่ เป็นเครื่องมือแสดงว่าเป็นคนสมัยใหม่อยู่ในเทรนด์และมีฐานะ (พอที่จะมีเงินหนีความเจ็บปวดได้) และห้า ในหลายกรณีเป็นเครื่องมือในการทำให้คุณแม่และคุณพ่อต้องจ่ายเงินเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าการคลอดแบบธรรมชาติและทำให้โรงพยาบาลมีรายได้สูงขึ้น

          C-sections ดูเผิน ๆ สะดวก ปลอดภัย และไม่มีผลเสียต่อทารก อย่างไรก็ดีงานศึกษาวิจัยล่าสุดหลายชิ้นพบหลักฐานว่ามีผลเสียต่อทารกในหลายเรื่องอย่างน่ากังวล

          ในเรื่องความเสี่ยง สถิติของประเทศพัฒนาแล้วสำหรับครรภ์ทั่วไปที่ไม่มีปัญหาระบุว่าความเสี่ยงในการเสียชีวิตจาก C-sections อยู่ประมาณ 13 ต่อ 100,000 การคลอด แต่สำหรับการคลอดธรรมชาตินั้นตัวเลขคือ 3.5 ต่อ 100,000 สรุปได้สั้น ๆ ว่า C-sections มีความเสี่ยงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติกว่า 3 เท่าตัว

          สิ่งที่ทำให้ C-sections เสี่ยงกว่าก็คือโอกาสในการติดเชื้อ แผลปริหลังผ่าตัด เสียเลือดขนาดหนัก ปัญหาจากการวางยาสลบ มีปัญหากับท้องต่อไป ฯลฯ ในขณะที่การคลอดแบบธรรมชาตินั้นถึงมีปัญหาก็มี ‘ก๊อกสอง’ คือทำ C-sections ได้ WHO แนะนำให้ทำ C-sections เฉพาะในกรณีที่มีปัญหาจากการคลอดปกติ เช่น ท่าของทารกทำให้คลอดยาก แม่มีปัญหาสุขภาพ เจ็บท้องอยู่นานมาก รกอยู่ในลักษณะที่ขัดขวางการคลอด หัวใจและความดันของแม่และ/หรือทารกอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ฯลฯ

          สิ่งที่งานวิจัยล่าสุดพบเกี่ยวกับ C-sections นั้นน่าสนใจมาก กล่าวคือพบว่า (1) การคลอดแบบปกติทำให้ทารกมีโอกาสได้รับ microbiota (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อยู่ร่วมในร่างกายมนุษย์ เช่น แบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยย่อยอาหาร) ของแม่มากกว่า ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของทารกในเวลาต่อไป (2) เมื่อทารกขาด microbiota จากแม่อาจทำให้สิ่งที่เรียกว่า bifidobacteria probiotics ซึ่งอยู่ในลำไส้ของทารกไม่เติบโตเต็มที่ ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถย่อยสลายสารอาหารที่อยู่ในนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารรุนแรงจนการเจริญเติบโตของทารกสะดุดได้ ทารกลักษณะนี้เมื่อโตขึ้นมีทางโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคไต และโรคเบาหวาน

          (3) C-sections อาจเป็นตัวไปกระทบ microbiota ที่ทารกมีแต่แรกจนทำให้เกิดการปรับระบบภูมิคุ้มกันของทารกไปในทางลบจนอาจเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดเมื่อโตขึ้นหรือแม้แต่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

          (4) การเปลี่ยนแปลงของ microbiota ในลำไส้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานเมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจมีสาเหตุมาจาก C-sections

          ปัจจุบันทารกจีนเกือบครึ่งหนึ่งในแต่ละปีลืมตาดูโลกด้วยวิธี C-sections และพบว่าในขณะเดียวกันก็มีการพุ่งสูงขึ้นของโรคเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็กอย่างผิดสังเกต งานศึกษาเชื่อว่า C-sections กับโรคเบาหวานในเด็กน่าจะมีความผูกพันกัน มีความเป็นไปได้สูงว่าเมฆทะมึนข้างหน้าของโรคเบาหวานในอนาคตของพลเมืองจีนมี C-sections เป็นตัวจุดประกายตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

          การแพร่กระจายของ C-sections ทั่วโลกเป็นเรื่องหนักอกขององค์การสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกซึ่งเชื่อว่ามีพิษแอบแฝงอยู่โดยที่คุณแม่ทั้งหลายยังไม่ทราบกันกว้างขวางนัก

          ที่น่าตกใจก็คือการที่ C-sections อาจกลายเป็นตัวชี้วัดฐานานุภาพในสังคมของ ครอบครัวจนทำให้เลือก C-sections อย่างขาดวิจารณญาณ และมองข้ามความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ

          มนุษย์ทนความเจ็บปวดในการให้กำเนิดลูกโดยสำนึกว่าเป็นตัวแทนของความรักที่มีให้ลูก แต่เมื่อมนุษย์มีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ความเจ็บปวดจากการเป็นแม่ก็แปรเปลี่ยนเป็นเรื่องของความไม่สะดวกไปอย่างน่าเสียดาย

หมวกกันน็อคจักรยานจำเป็นหรือไม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 พฤศจิกายน 2558

          คิด ๆ ไปแล้วก็รู้สึกแปลกใจ ทำไมเมื่อสมัยก่อนผู้คนเขาก็ขี่จักรยานกันตามปกติไม่เห็นต้องใส่หมวกกันน็อคดังปัจจุบัน แต่ก็เห็นประชากรโลกเพิ่มไม่หยุดจนปัจจุบันถึง 7,000 ล้านคน และคาดว่ากลางศตวรรษนี้ก็อาจขึ้นไปถึง 9,000 ล้านคน

          หมวกกันน็อคของจักรยานเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? คำตอบนี้มีผลกระทบกว้างไกลในหลายแง่มุม สมควรแก่การขบคิด

          ในเชิงการแพทย์มนุษย์ตายได้ไม่ยากผ่านแรงกระทบส่วนของกระโหลกมนุษย์ที่เป็นจุดอ่อน โบราณบอกว่าเตะหรือตี “ทัดดอกไม้” จัง ๆ นั้นทำให้ตายได้ “ทัดดอกไม้” ก็คือบริเวณเหนือใบหูที่ใช้ทัดดอกไม้นั่นแหละ บริเวณนี้มีเส้นเลือดไปสมองอยู่ระหว่างแผ่นกระโหลกบาง ๆ 2 แผ่น ถ้าบริเวณนี้ถูกแรงกระแทก เช่น ตกจักรยาน หกล้ม ถูกเตะ ถูกไม้ตี ฯลฯ แผ่นบาง 2 แผ่นนี้ก็อาจบีบกระแทกเส้นโลหิตจนทำให้แตกได้ เลือดก็จะซึมสู่สมอง อาจรู้สึกปวดหัวอยู่ วันสองวันและก็ตายเลยได้ แต่ถ้ารู้ตัวทันก็สามารถผ่าตัดให้เลือดที่คั่งไม่ไปทำอันตราย

          การใส่หมวกกันน็อคของจักรยานก็เพื่อป้องกันการกระแทกในบริเวณนี้ หลายประเทศจึงออกกฎหมายบังคับ แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่ง Amsterdam เป็นเมืองหลวงของจักรยานโลก ไม่บังคับให้ใส่ และก็ไม่มีใครใส่ด้วย ยกเว้นนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่ขบขันของชาวเมืองนั้น

          ในยุคทศวรรษ 1950 และ 1960 คนขี่จักรยานใน Amsterdam ถูกรุกไล่ทั้ง ๆ ที่ขี่กันมานานหนักหนาเพื่อให้พื้นที่แก่รถยนต์ที่มีจำนวนมากขึ้นทุกที ตึกรามบ้านช่องถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นถนนให้รถยนต์จนการใช้จักรยานลดลงร้อยละ 6 ต่อปี ใคร ๆ ก็คาดว่าจักรยานคงจะสูญพันธุ์แน่

          อย่างไรก็ดีสถิติอุบัติเหตุจากรถยนต์พุ่งสูงขึ้นถึง 3,300 คน ใน 1971 ในจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 400 คน เป็นเด็ก ข้อเท็จจริงเช่นนี้นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มต่าง ๆ ที่เห็นว่ามีจำนวนเด็กตายด้วยรถยนต์มากเกินไป ในช่วงทศวรรษ 1970 ประชาชนตื่นตัวออกมาประท้วงเรื่องการใช้รถยนต์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และแล้วประชาชนก็หันมาให้ความสนใจแก่รถจักรยาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในปี 1973 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าตัว จักรยานจึงเป็นคำตอบสำหรับการเดินทางในแต่ละเมืองซึ่งไม่ใหญ่โตในประเทศที่มีพื้นที่เพียง 41,500 ตารางกิโลเมตร (น้อยกว่า 1 ใน 10 ของไทย) และประชากรประมาณ 17 ล้านคนในปัจจุบัน

          หลายเมืองเริ่มทดลองสร้างทางจักรยานเป็นเส้นทางคมนาคม และในที่สุดก็เกิดโมเม็นตั้มของความนิยมจักรยาน ซึ่งต่อมาเป็นกระแสแรงมากในทุกเมือง จนปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีเส้นทางจักรยานยาว 22,000 ไมล์ มากกว่าหนึ่งในสี่หรือร้อยละ 25 ของจำนวนเที่ยวการเดินทางของคนทั้งประเทศใช้จักรยาน (ในอังกฤษมีเพียงร้อยละ 2) สำหรับเมือง Amsterdam ตัวเลขนี้ขึ้นไปถึงร้อยละ 38

          ใน Amsterdam ปัจจุบันจะเห็นคนขี่จักรยานยั้วเยี้ยไปหมด จนพูดได้เต็มปากว่าคน ขี่จักรยานยนต์ครองเมืองนี้อย่างแท้จริง คนขี่จักรยานจำนวนหนึ่งไม่สนใจกฎจราจรนัก ตัดหน้ารถยนต์ไปมาอย่างไม่เกรงใจ ควบคู่ไปกับการขี่จักรยานตามเส้นทางจักรยานยนต์ที่จัดไว้ให้เป็นอย่างดี ลูกเด็กเล็กแดงขี่กันเต็มไปหมด เครือข่ายคมนาคมของจักรยานอยู่ทุกแห่งหน และไม่ใช่เพียง Amsterdam เท่านั้น หากครอบคลุมไปถึงทุกเมืองของประเทศนี้ด้วย

          สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือเมือง Amsterdam ไม่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานใส่หมวกกันน็อค ยกเว้นเด็ก ทุกคนพร้อมใจกันไม่ใส่เพราะคิดว่าไม่จำเป็นเนื่องจากตระหนักดีว่าการขี่จักรยานในประเทศนี้ปลอดภัยอย่างที่สุดแล้ว (จำนวนคนขี่จักรยานเสียชีวิตต่อการเดินทางหนึ่งไมล์ต่ำที่สุดในโลก)

          สำหรับข้อถกเถียงว่าควรใส่หมวกกันน็อคเมื่อขี่จักรยานหรือไม่ คนดัชท์กลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าไม่ควรโดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้ (1) การไม่ใส่หมวกคือเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่แบกหมวกพะรุงพะรังอย่างไม่มีประโยชน์เพราะถนนของเราปลอดภัยอยู่แล้ว (2) หมวกเป็นประโยชน์เฉพาะเวลาจักรยานล้มเองเท่านั้น หากชนกับรถยนต์แล้วก็ไม่ต้องพูดถึง

          (3) การใส่หมวกมีผลด้านลบ กล่าวคือทำให้ผู้ขี่ประมาทและกระทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเพราะคิดว่ามีสิ่งสร้างความปลอดภัยกว่าปกติ (4) งานวิจัยของอังกฤษพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์จะให้พื้นที่ยามแซงแก่ผู้ขี่จักรยานที่มีหมวกกันน็อคน้อยกว่าผู้ขี่จักรยานที่ไม่ใส่หมวก ดังนั้นการใส่หมวกจึงเป็นเชื้อเชิญอันตรายให้มาเยือน

          (5) การบังคับให้ใส่หมวกอาจทำให้จำนวนผู้ขี่จักรยานมีน้อยลง (ตัวเลขจากออสเตรเลียยืนยันปรากฏการณ์นี้) เพราะมีผู้คิดว่าการขี่จักรยานเป็นสิ่งอันตรายอีกทั้งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นสิ่งที่ดีเพราะงานวิจัยการขี่จักรยานในสหรัฐอเมริกาพบว่ายิ่งถนนมีผู้ขับขี่มากเท่าใด ก็ยิ่งมีสถิติอุบัติเหตุจากจักรยานลดลงมากเพียงนั้น

          อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ขี่จักรยานในเมือง Seattle รัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาที่ถูกบังคับให้ทุกคนในทุกวัยใส่หมวกกันน็อคมา 12 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

          Seattle เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองใหญ่ในโลกที่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานต้องใส่หมวกกันน็อค (ในสหรัฐอเมริกากฎหมายบังคับให้ใส่หมวกกันน็อคแตกต่างกันแล้วแต่รัฐ) ถึงแม้จะมีงานวิจัยพิสูจน์ว่าการใส่หมวกทำให้ปลอดภัยขึ้นก็ตาม ผู้ไม่เห็นด้วยสงสัยว่าถ้าจะให้ปลอดภัยกว่านี้ก็ต้องใส่สนับศอก เข่า และเสื้อแบบขับขี่มอเตอร์ไซต์ด้วยหรือไม่

          ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยนั้นต้องยอมรับว่าความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่มี ถ้าต้องการความปลอดภัยที่สุดก็คือนอนอยู่กับบ้าน (แต่ก็ไม่แน่เพราะมีกรณีที่ผู้โดดร่มไม่กาง หล่นทะลุหลังคาบ้านมาทับตายก็มี) หมวกกันน็อคนั้นให้ความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง

          ความปลอดภัยของผู้ขับขี่นั้นโดยแท้จริงแล้วอยู่ที่สภาพของถนนที่ใช้ว่ามีช่องทางจักรยานเป็นพิเศษหรือไม่ ความระมัดระวังของผู้ขับขี่ยานยนต์มีมากเพียงใด มีวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นมากเพียงใด การเคารพกฎจราจรของสังคมนั้นเป็นอย่างไร หมวกกันน็อคเพียงใบเดียวช่วยความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

          กฎหมายไทยปัจจุบันไม่เอาผิดกับผู้เมาสุราแล้วขับขี่จักรยาน ดังนั้นถ้าคิดว่าจะเมาก็จงจูงจักรยานไปร้านเหล้าเพื่อเอาไว้ขี่กลับบ้าน แต่ต้องให้แน่ใจเวลาออกมาจากร้านว่าจักรยานยังคงอยู่ และยังขี่จักรยานเป็นอยู่

เคเนดี้พิการที่ถูกแอบซ่อน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3 พฤศจิกายน 2558

          ตระกูลเคเนดี้ของ Joseph และ Rose Kennedy นั้นเป็นที่รู้กันทั่วว่ามีลูกรวม 9 คน มีถึง 8 คน ที่มีบทบาทเป็นที่รู้จักกันแต่มีอยู่ 1 คน ที่ไม่มีใครเคยเห็นแม้แต่รูปถ่ายของเธอในตอนแรก ๆ ครอบครัวปิดบังเธอมืดมิด สาธารณชนพอรู้เรื่องราวของเธอบ้างหลังจากที่พี่ชายเป็นประธานาธิบดี ทำไมเธอจึงถูกแอบซ่อนและชีวิตของเธอเป็นอย่างไร

          Rosemary คือชื่อของเธอโดยเลียนแบบแม่ซึ่งมีชื่อว่า Rose โชคชะตาคนบางครั้งก็ถูกกำหนดแบบชุ่ย ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ Joe พี่ชายคนโตและ John พี่ชายคนรองซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เกิดที่บ้านโดยหมอเดินทางมาทำคลอดให้ แต่เมื่อถึงคิวเกิดของเธอหมอเกิดไม่อยู่แต่เธอกำลังจะเคลื่อนร่างออกมา พยาบาลจึงสั่งให้แม่ไขว้ขาและบีบขาให้แน่นเพื่อคอยหมอ การกระทำเช่นนี้ถึง 2 ชั่วโมง ทำให้เธอขาดออกซิเจน สมองบางส่วนจึงถูกทำลายไปอย่างน่าสมเพช

          Rosemary เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัว เป็นที่ชัดเจนเมื่อโตขึ้นว่าเธอเรียนช้ากว่าปกติ IQ อยู่ประมาณ 60-70 (ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็มีอายุสมองเท่ากับเด็กอายุ 8-12 ปี) Rosemary เกิดใน ค.ศ. 1918 ในยุคที่คนมีความผิดปกติอย่างเธอเป็นเรื่องที่ไม่เปิดเผยกัน Rose แม่ของเธอทำเสมือนว่าเธอเป็นเด็กปกติ บุคคลนอกครอบครัวจะไม่รู้สภาพที่แท้จริงของเธอเลยเพราะถือเป็นความลับ

          พ่อส่งเธอเข้าโรงเรียนที่สอนเป็นพิเศษตัวต่อตัวแบบเข้มจนเธออ่านออกเขียนได้แต่ก็ช้ากว่าเพื่อน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพี่น้องในตระกูลเคเนดี้ที่ถูกสอนให้มีเป้าหมายในชีวิต ต้องแข่งขัน ต้องบากบั่นมานะ ฯลฯ

          หนังสือชื่อ Rosemary The Hidden Kennedy Daughter (2015) เขียนโดย Kate Clifford ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เล่าเรื่องชีวิตที่น่าสงสารของเธอ โดยเก็บข้อมูลจากคนดูแล พี่เลี้ยง ฯลฯ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการเขียนถึงเธออย่างละเอียดเช่นนี้มาก่อน

          เมื่อ Joseph ไปเป็นทูตสหรัฐอเมริกาประจำอังกฤษในปี 1938 Rosemary ในวัย 20 ปี สวยสดงดงามมากในหมู่ของสาวไฮโซ เธอก้าวหน้าขึ้นมากในด้านความสามารถในการใช้ภาษา ในการเข้าสังคม ฯลฯ จนเป็นที่สนใจของชายหนุ่มในแวดวงไฮโซอังกฤษ

          อย่างไรก็ดีหลังจากพ่อเธอกลับจากอังกฤษมาพำนักในวอชิงตัน ดี.ซี. สภาพร่างกายและจิตใจของเธอก็เปลี่ยนแปลง อารมณ์ของเธอแกว่งไปมา ก้าวร้าว ควบคุมพฤติกรรมยากขึ้นฯลฯ อาการเหล่านี้ซึ่งเชื่อว่ามาจากความสมดุลของฮอร์โมนของวัยสาวเต็มที่ของเธอหนักขึ้น

          ในยุคทศวรรษ 1930 มีการรักษาความผิดปกติทางจิตแบบที่ Rosemary เป็นด้วยเทคนิคสมัยใหม่ของยุคนั้นที่มีชื่อว่า Lobotomy ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยแพทย์ชาวปอร์ตุเกส ชื่อ Antonio Moniz ในปี 1935 (ได้รับรางวัลโนเบิลจากการคิดค้นนี้ใน ค.ศ. 1949)

          ในสหรัฐอเมริกา นายแพทย์ Walter Freeman เป็นมือเอกผ่าตัดสมองเพื่อรักษาด้วยวิธี Lobotomy เขาผ่าประมาณ 3,500-5,000 ราย ของกรณี Lobotomy ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประมาณ 50,000 ราย นับจนถึงต้นทศวรรษ 1960 วิธีการของ Lobotomy ก็คือเจาะรูสมองสองรูจากด้านบนแล้วใช้ใบมีดสอดเข้าไปตัดเนื้อเยื่อสมอง และใช้ใบมีดผ่าไปเรื่อย ๆ พร้อมกับให้คนไข้ท่องบทสวดมนต์หรือนับถอยหลัง เพื่อให้รู้ว่าจะผ่าตัดไปได้ไกลแค่ไหน เมื่อถึงจุดที่พูดไม่รู้เรื่องหมอก็จะหยุด

          ในกรณีของ Rosemary ในปี 1941 นั้น การรักษาแบบ Lobotomy ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลังการรักษาเธอพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ และมี IQ เท่ากับเด็กอายุ 2 ขวบ พ่อของเธอเป็นผู้อนุญาตให้หมอผ่าตัดโดยมิได้หารือภรรยาและต้องปิดบังไม่ให้ใครรู้ว่าเธอเป็นอะไรหลังการรักษาเพราะเกรงว่าจะไปบดบังหรือทำลายอนาคตการเมืองหรือชีวิตของลูกคนอื่น Joseph เสียใจจากเหตุการณ์ “ทำลาย” ลูกครั้งนี้มาก เขาเสียชีวิตในปี 1969

          ในยุคนั้นการป่วยโรคจิตเป็นเรื่องน่าอับอายของญาติพี่น้อง การมีสภาวะ “ปัญญาอ่อน” ยังเป็นเรื่องน่าอับอายน้อยกว่า และสำหรับ Joseph Kennedy สิ่งที่น่าอับอายมากสุดก็คือเป็นเหยื่อของ Lobotomy ที่ผิดพลาดจากการตัดสินใจ

          เมื่อ Lobotomy ล้มเหลว พ่อส่งเธอเข้าโรงพยาบาลที่สร้างเป็นพิเศษเพื่อ “ฝัง” เธอไว้ แม่เธอเองไม่เคยไปเยี่ยมเป็นเวลา 20 ปี ส่วนพ่อนั้นไม่ไปหาเธอตั้งแต่ปี 1948 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Joseph ตัดสินใจทำ Lobotomy ก็คือพฤติกรรมของเธอเมื่อเป็นสาว เธอหนีจากโรงเรียนกินนอนออกไปเที่ยวตอนกลางคืน และสามารถควบคุมเธอได้น้อยลงทุกที การเกรงว่าจะเกิดเรื่องฮื้อฉาวทางเพศจนบั่นทอนอนาคตทางการเมืองของลูกชายผลักดันให้ตัดสินใจรักษา

          ชีวิตของเธอถูกเปิดเผยขึ้นหลัง John ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยให้ข่าวกันว่าเธอพิการ “ปัญญาอ่อน” แต่ก็ไม่เคยมีรูปของเธอให้เห็น น้องสาวของเธอที่สนิทกันมากที่สุดคือ Eunice Shriver ได้ใช้สิ่งที่เห็นจากชีวิตเธอเป็นแรงกระตุ้นการออกกฎหมายช่วยผู้พิการทางสมองหลายลักษณะ โดยเฉพาะในช่วงที่พี่ชายเป็นประธานาธิบดี

          ในปี 1970 ซึ่งหลังจาก Lobotomy กว่า 20 ปี พี่น้องก็มารับเธอกลับไปเที่ยวบ้านบ้าง และเมื่อเป็นผลดีก็เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เธอสนุกและดีอกดีใจเพราะเธอพัฒนาขึ้นมากจนเดินได้แต่ก็ยังพูดไม่ได้ เธอใช้ชีวิตอยู่ในคลินิกพิเศษเป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปี จนเสียชีวิตเมื่ออายุ 86 ปีในปี 2005 ส่วน Rose แม่ของเธอจากไปในปี 1995 ด้วยวัย 104 ปี

          Rosemary เกิดท่ามกลางความมั่งคั่งและชื่อเสียงของครอบครัว แต่ชะตากรรมทำให้เธอเป็นคนด้อยสุดในทางสติปัญญาในหมู่พี่น้องเคเนดี้ที่มีความสามารถสูง นอกจากนั้นเธอยังโชคร้ายที่ความด้อยได้แปรเปลี่ยนเป็นการป่วยทางจิต ซึ่งบังเอิญที่ช่วงเวลานั้นสังคมไม่ยอมรับการเจ็บป่วยเช่นนี้ พ่อแม่รักเธอมาก พยายามรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ใหม่สุดของยุค แต่ก็ล้มเหลวกลายเป็นคนที่พึ่งตนเองไม่ได้

          ความทะเยอทะยานของครอบครัวที่จะผลักดันลูก ๆ สู่การเมืองทำให้ต้องแอบซ่อนเธอไว้ให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ชีวิตของเธอเป็นอุปสรรค โชคดีที่เธอไม่รู้และไม่เข้าใจเธอจึงไม่เจ็บปวด เชื่อได้ว่าทั้งพ่อและแม่เจ็บช้ำจนไม่อาจเผชิญหน้ากับ “ความล้มเหลว” ของตนเองได้จึงไม่ไปเยี่ยมเป็นเวลานาน

          ไม่มีใครรู้ว่า Lobotomy มีผลเสียมากแค่ไหนในตอนนั้น เพราะผู้คนตื่นเต้นกับวิธีการใหม่รักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท (schizophrenia) มีหลายกรณีที่ประสบผลสำเร็จและล้มเหลว หมอใช้ Lobotomy เป็นวิธีรักษามานานจนในที่สุดถูกทดแทนด้วยยาประเภทที่เรียกว่า antipsychotics ในยุคทศวรรษ 1960 ปัจจุบันผู้คนเห็นว่า Lobotomy เป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน

          อย่างไรก็ดีในหลายประเทศในโลกในปัจจุบัน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ Lobotomy ในรูปแบบฟอร์มใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างมากมายที่เรียกว่า NMD (Neurosurgery for Mental Disorder) ก็ยังเป็นวิธีรักษาท้ายสุดหากทุกอย่างล้มเหลวหมดแล้วในผู้ป่วยที่ซึมเศร้าอย่างรุนแรง และในกรณีอื่น ๆ ที่เรียกว่า anxiety and obsessive-compulsive disorder (ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความกระวนกระวายรุนแรงและกระทำสิ่งที่ตนเองควบคุมไม่ได้) มี 2 โรงพยาบาลในอังกฤษผ่าตัดรักษาแนวนี้ 10 ครั้งต่อปี ในรอบสิบปีที่ผ่านมา

          Rosemary คือ “โครงกระดูกในตู้” ของครอบครัวเคเนดี้ แต่โครงกระดูกที่น่าสงสารนี้มีประโยชน์มากเพราะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกฎหมายที่ทำให้เข้าใจคนป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเคเนดี้ น้องสาวของเธอคนหนึ่ง คือ Eunice Kennedy Shriver ก่อตั้ง Camp Shriver สำหรับผู้ป่วยและความคิดพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการจัด Special Olympics สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ประเภท Intellectual Disabilities ผู้สนับสนุนการเงินและการจัดการคือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Special Olympics โดยมี Eunice เป็นประธาน ปัจจุบันมีนักกีฬาจาก 170 ประเทศ จำนวน 4.5 ล้านคนเข้าร่วมแข่งขัน ทุกวันทั่วโลกมีการแข่งขันนับรวมได้ 94,000 รายการแข่งขันต่อปี (คนละอันกับ Paralympic Games)

          แรงกระตุ้น และแรงปลุกเร้าให้ทำสิ่งดี ๆ อาจมาจาก “โครงกระดูกในตู้” ก็เป็นได้