การให้และความรัก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 ตุลาคม 2557

          “การให้มากหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับว่าเมื่อให้แล้วจะเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด” คำกล่าวนี้ทำให้เกิดความสงสัยในเรื่อง “การให้” และมูลเหตุจูงใจ

          ในโลกทุนนิยมนั้น “การให้” ทำให้เงินที่บุคคลหนึ่งเหลือสำหรับการบริโภคของเขาเองน้อยลง ความพึงพอใจก็จะน้อยลงด้วย ดังนั้นโดยแท้จริงแล้วพฤติกรรมเช่นนี้สวนกระแส คำถามที่น่าคิดก็คือก็เมื่อมีคนจำนวนมากที่ถือว่า “การให้” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา คำถามก็คืออะไรเป็นมูลเหตุจูงใจของ “การให้”

          คำตอบแรก สำหรับคนใจดีทั้งหลายก็คือ “การให้” ก่อให้เกิดความสุขเช่นเดียวกับ “การได้รับ” หรือการบริโภคของตัวเอง การพูดเช่นนี้มีความหมายว่าความสุขของคนอื่นมีความโยงใยกับความสุขของตนเอง มากหรือน้อย และระหว่างใครกับใครก็แตกต่างกันออกไป

          คนเหล่านี้มองเห็นคนอื่นเป็นเพื่อนร่วมโลกและร่วมชะตาชีวิตเพราะเกิดและมีชีวิตร่วมสมัยกัน เมื่อคนเลือกเกิดไม่ได้ เลือกสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองไม่ได้ เลือกโอกาสที่มีในชีวิตไม่ได้ เลือกที่จะมีสติปัญญามากน้อยไม่ได้ ฯลฯ ดังนั้นจึงมีคนที่มีสิ่งเหล่านี้ไม่เท่ากันและตัวเขาเองเป็นคนที่อยู่ในสภาวะที่โชคดีกว่า “การให้” แก่คนเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะเท่ากับเป็นการแบ่งความโชคดีของตนให้คนอื่น

          คนที่คิดอย่างนี้คงเชื่อในคำกล่าวที่ว่า “The heart is happiest when it beats for others” (หัวใจเป็นสุขที่สุดเมื่อมันเต้นเพื่อคนอื่น) ไม่มากก็น้อยกระมัง

          คำตอบที่สอง ก็คือ “การให้” ในวันนี้คือ “การได้รับ” ในวันข้างหน้า ดังเช่นคนที่ทำบุญซึ่งตรงกับความคิดของคนไทยจำนวนมากที่การ “ทำบุญ” คือการ “สะสมบุญ” ซึ่งเป็นความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสอนที่แท้จริง

          แนวคิดนี้โดยแท้จริงแล้วไม่ใช่ “การให้” หากแต่เป็นจัดสรรการใช้เงินข้ามเวลา กล่าวคือแบ่งส่วนหนึ่งของเงินที่มีในปัจจุบันเป็นเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์ในชาติหน้า ถ้าเป็น “การให้” ที่แท้จริงแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับมีอย่างเดียวคือความสุขใจจากการเห็นคนอื่นมีความสุขมากขึ้น

          “การทำบุญ” ในแนวนี้ในสังคมเราก่อให้เกิดเงินบริจาคจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละปีแก่วัด แก่หลวงพ่อ จนทำให้พระหลายรูปเสียผู้เสียคนไปก็มี การที่เรามีวัดจำนวนมากมายในปัจจุบันที่ทั้งร้างหรือมีพระเณรไม่มากพอที่จะดูแลสิ่งก่อสร้างก็เพราะการทำบุญที่มีวัตถุประสงค์เช่นว่านี้

          ในบ้านเราการมอบเงินให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย มูลนิธิ โรงพยาบาล เด็กยากจน ฯลฯ รวมกันแล้วในแต่ละปีมีจำนวนน้อยกว่าเงินบริจาคให้วัดนับหลายเท่าตัว ซึ่งต่างไปจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่เห็นความสำคัญของการศึกษาและสาธารณสุข

          คำตอบที่สาม ในระดับบุคคลถ้าจะกล่าวไปแล้ว “การให้” มีความหมายที่ละเอียดอ่อนกว่าเป็นอันมาก วัตถุประสงค์ก็หลากหลายแตกต่างกันไป มีทั้งเพื่อหวังผลประโยชน์ในวันหน้า ให้ด้วยความเอ็นดูโดยไม่หวังผลตอบแทน ให้ด้วยความปรารถนาดีอยากให้พ้นทุกข์ ให้เพราะความผูกพันทางสายเลือด หรือการถือกันเป็นญาติ ฯลฯ ในเรื่องนี้เศรษฐศาสตร์ให้คำอธิบายในบางเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ

          เหตุใดเราจึงไม่ให้เงินสดเป็นของขวัญวันเกิดแก่คู่รักหรือคนที่เราคิดจะเอามาเป็นคู่รัก? หลายคนคงตอบทันทีว่ามันไม่โรแมนติกเลย และคนได้รับอาจโกรธและรู้สึกเสมือนว่าเป็นการดูถูกกัน

          นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าการให้ของขวัญแก่กันนั้นเป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าการ ส่งสัญญาณ (signaling) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินชีวิตและการทำงานของภาครัฐ ตัวอย่างเช่นในยามที่รัฐบาลขาดงบประมาณ ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใช้เงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณแก่คนทั่วไปว่าที่บอกว่ารัดเข็มขัดนั้นไม่ใช่เรื่องจริง หรือถ้าภาครัฐต้องการส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนเห็นว่าเอาจริงจังในเรื่องการปราบคอรัปชั่น ก็ต้องเอาคนผิดมาติดคุกให้ดู

          การที่ชายให้เงินสดในกรณีที่กล่าวแล้ว หญิงก็จะมองไม่เห็นสัญญาณว่าเขากำลังบอกรักเราหรือไม่ ถ้าเขาชอบเราจริงเขาต้องยอมเสียเวลาและแรงงานไปค้นหามาจนได้ว่าเราชอบอะไร (ท่านผู้อ่านที่มีวัยใกล้เคียงผู้เขียนคงรู้ดีว่าการส่งสัญญาณเช่นนี้ในสมัยก่อนสำคัญอย่างไร) ลองจินตนาการดูว่าถ้า (ก) มอบพวงมาลัยดอกมะลิหนึ่งพวง (ข) มอบดอกกุหลาบอย่างดีหนึ่งโหล (ค) มอบช็อกโกแลตหนึ่งกล่อง (ง) มอบแหวนหนึ่งวง สิ่งใดที่เป็นสัญญาณแรงสุดของความรัก (ถ้าตอบข้อ (ข) สงสัยว่าอาจติดมาจากนิสัยการเป็นครู)

          อย่างไรก็ดีถ้าพ่อแม่ของแฟนให้เงินสดเขาในวันเกิดกลับไม่เป็นเรื่องน่ารังเกียจแต่ประการใด เนื่องจากมันเป็นกรณีที่แน่นอนแล้วในความรัก เงินสดจึงไม่เป็นปัญหา อย่างไรก็ดีพ่อแม่อาจให้สัญญาณบางอย่างแก่ลูกได้เช่นกันในโอกาสนี้ เช่น ให้การ์ดที่เขียนด้วยถ้อยคำที่ออกมาจากใจ ให้ของมีค่าที่สร้างฐานะได้ในวันข้างหน้า ไม่ให้อะไรเลย ฯลฯ

          ประเพณีให้ของขวัญกันวันคริสต์มาสในโลกตะวันตกนั้นมีคำวิจารณ์ว่าทำให้เกิดความสูญเปล่าโดยไม่จำเป็น ดังที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่า deadweight loss ซึ่งหมายถึงช่องว่างระหว่างเงินที่ใช้จ่ายไปเพื่อซื้อของกับคุณค่าของของนั้น งานศึกษาพบว่าคนที่ได้รับของขวัญรู้สึกว่าคุณค่ารวมของมันน้อยกว่าเงินที่คนอื่นรวมกันจ่ายให้เขา ทั้งนี้เนื่องจากได้ของขวัญที่ไม่ถูกใจ ถึงแม้ญาติพี่น้องเสียเงินทองซื้อของมาแต่ไม่โดนใจผู้รับ ผู้ศึกษาเสนอว่าสมควรให้เงินสดเป็นของขวัญแทนเพื่อจะได้นำไปซื้อของให้ถูกใจตนเองซึ่งจะทำให้ความสูญเปล่าหรือ deadweight loss หายไป

          ข้อเสนอนี้ในปี 1993 ถูกโจมตียับเยินว่าไม่เชิดชูให้เห็นคุณค่าของความรักที่มนุษย์มีต่อกัน “การให้” เป็นตัวแทนของความรักปรารถนาดี ประเพณีนี้ช่วยทำให้นึกถึงคนอื่นด้วยในวันสำคัญนี้ ถึงแม้จะเกิดความสูญเปล่าดังว่าแต่มันก็คือ “ราคา” ที่สังคมจำเป็นต้องจ่าย

          “การให้” เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อาจเรียกได้ว่าฝังอยู่ใน DNA มาแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าพ่อแม่ไม่ให้ลูกและเพื่อนที่อยู่ถ้ำข้าง ๆ ไม่ให้ความเมตตา เอื้อเฟื้อกัน มนุษย์ก็คงไม่มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอน

          “การให้” มิได้เกี่ยวพันเฉพาะกับเรื่องเงินทองเท่านั้น ตราบที่เป็นความปรารถนาจากใจจริงที่ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุขแล้ว การเสียสละเวลาและแรงงาน การให้ความสนใจ การให้ความรักความเอาใจใส่ ฯลฯ ก็เป็น “การให้” ที่ประเสริฐเช่นกัน

เทคโนโลยี 3D

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21 ตุลาคม 2557

          เรากำลังจะมีแว่นตา รองเท้า เก้าอี้ หมวก ฯลฯ ที่สร้างขึ้นมาอย่างเหมาะเจาะกับอวัยวะของเราเป็นการเฉพาะเนื่องจากพรินเตอร์ของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่จะสามารถพิมพ์ออกมาเป็นสิ่งของจริง ๆ หลังจากวัดสัดส่วนอวัยวะของเราแล้ว ปัจจุบันพรินเตอร์สามารถพิมพ์เป็นสิ่งของจริงในสามมิติ ไม่ใช่สองมิติซึ่งคือรูปภาพบนกระดาษดังเดิม นี่คือเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า 3D

          ในภาคอุตสาหกรรมมีการพิมพ์ออกมาเป็นสิ่งของต้นแบบเพื่อเอาไปผลิตจริงต่อไป บางครั้งก็ออกมาเป็นสินค้าจริง ๆ ที่เอาไปขายได้เลย ที่เล่ามานี้ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีนี้เริ่มมา 30 กว่าปีแล้ว

          ซอฟต์แวร์โปรแกรมที่ใส่ไว้ในเครื่องพิมพ์จะประมวลข้อมูลที่ได้รับและสั่งให้พิมพ์ออกมาโดยใช้วัสดุหลายชนิดผสมกัน บางลักษณะพิมพ์เป็นชั้น ๆ ค่อย ๆ หนาขึ้นจนเป็นรูปร่างที่จับต้องได้ ถ้าจะว่าไปแล้วพรินเตอร์ชนิดนี้จริง ๆ แล้วก็คือหุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใช้งานนั่นเอง

          เครื่องมือและวัสดุซึ่งร่วมกันสร้างเทคโนโลยี 3D ขึ้นมานั้นมีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงทศวรรษ 1980 และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเป็นลำดับจนมีพรินเตอร์หลายประเภทนับตั้งแต่ระดับอุตสาหกรรมจนถึงชนิดตั้งโต๊ะใช้ในบ้าน ราคาก็ลดลงไปเป็นอันมาก เมื่อปี 2010 พรินเตอร์ชนิด ตั้งโต๊ะมีราคา 20,000 เหรียญ (600,000 บาท) ปัจจุบันมีราคาเพียง 1,000 เหรียญ (30,000 บาท) และจะลงไปอีกเรื่อย ๆ

          ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบอกว่าเทคโนโลยี 3D มีความสำคัญต่อมนุษยชาติในการลดต้นทุนการผลิตของชิ้นหนึ่งลงอย่างมหาศาลจนมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโลก กล่าวคือแต่ดั้งเดิมมาสินค้ามีต้นทุนลดต่ำลงเนื่องจากการผลิตจำนวนมากจนเกิด “การประหยัดอันเกิดจากขนาดการผลิต” (Economy of Scale) แต่เมื่อมีเทคโนโลยี 3D การลดลงของต้นทุนก็เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกต่อไป

          ลองจินตนาการดูว่าการผลิตช้อนชั้นดีขึ้นมาชิ้นหนึ่งจะใช้แรงงานต้นทุนขนาดไหน เริ่มตั้งแต่การออกแบบให้ถือได้อย่างถนัดมือ มีขนาดเหมาะแก่การเข้าปาก ทำความสะอาดได้ง่าย น้ำหนักกำลังดี และสวยงามน่าใช้ เมื่อผลิตก็ต้องทดลองหาวัสดุมาตัด ทุบ แต่ง ฯลฯ จนได้ออกมาเป็นต้นแบบ ถ้าจะเปลี่ยนการออกแบบหรือการผลิตครั้งหนึ่งก็ต้องเริ่มวงจรใหม่ แต่สำหรับ 3D จะออกแบบกี่ร้อยพันแบบ ผลิตกี่ร้อยพันชิ้น ก็เกิดขึ้นได้ง่ายเพียงแต่ปรับข้อมูลใส่เข้าไปในโปรแกรมก็จะได้ช้อนออกมาจริง ๆ เป็นร้อย ๆ เป็นพันคันในเวลาอันสั้น เมื่อเลือกได้อันที่ชอบจึงนำมาใช้เป็นต้นแบบเพื่อเอาไปผลิตจริงอีกทีหนึ่ง

          กล่าวกันว่าเทคโนโลยี 3D มีผลกระทบต่อโลกเหมือนกับการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำในปี ค.ศ. 1750 ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพลังงานไอน้ำจนทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมโรงงานอุตสาหกรรม มนุษย์บางส่วนของสังคมจึงมีชีวิตแบบชาวโรงงานไป

          ตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี 3D ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีดังนี้ (ก) การผลิตเสื้อผ้าโดย ผู้ออกแบบอาศัย 3D ในการทดลองผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ เพื่อหาต้นแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกแบบรองเท้ากีฬาต้นแบบ และรองเท้ากีฬาประเภทที่สอดรับอย่างเหมาะเจาะกับเท้าของนักกีฬา แต่ละคน

          (ข) อุตสาหกรรมรถยนต์ อาศัย 3D ในการผลิตอะไหล่ต้นแบบจำนวนมาก หรือแม้แต่ผลิตรถยนต์ต้นแบบทั้งคัน สิ่งที่พยายามแสวงหามิใช่เพียงรูปแบบที่งดงาม หากการทำงานของอะไหล่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในราคาที่ต่ำ

          (ค) อุตสาหกรรมผลิตปืนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่และมีดีมานด์จากทั่วโลกปีละนับแสน ๆ กระบอก เทคโนโลยี 3D ช่วยออกแบบทั้งปืนสั้นและยาวที่มีขนาดกระสุนต่าง ๆ กัน เมื่อพิมพ์เสร็จออกมานั้นอาจเห็นเป็นเพียงปืนพลาสติกที่ไร้พิษสง อย่างไรก็ดีเมื่อนำไปผลิตปืนจริงอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้วก็กลายเป็นสินค้าที่น่ากลัว แต่ที่น่าหวาดหวั่นยิ่งขึ้นก็คือการลดต่ำลงของราคาปืนอันเนื่องมาจากการใช้ 3D

          (ง) อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์แพทย์ เทคโนโลยี 3D ช่วยออกแบบและผลิตอุปกรณ์การแพทย์ต้นแบบต่าง ๆ ตั้งแต่มีดผ่าตัด คีมหนีบเส้นเลือด ฟันปลอม ขาเทียม มือเทียมที่ออกแบบเฉพาะของแต่ละคน ฯลฯ

          กล่าวโดยสรุปในเรื่องอุตสาหกรรม เทคโนโลยี 3D ช่วยผลิตสินค้าจริงที่จับต้องได้เพื่อเป็นต้นแบบการผลิตต่อไป นอกจากนี้ยังผลิตสินค้าประเภท “ตามสั่ง” เพื่อให้สอดรับกับอวัยวะของผู้บริโภคแต่ละคน

          มีผู้นำเทคโนโลยี 3D ไปใช้ในการแพทย์อย่างสร้างสรรค์หลายเรื่อง ล่าสุดที่น่าตื่นเต้นก็คือการใช้ 3D ฝึกหัดการผ่าตัดสมองซึ่งเป็นงานผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนมาก วิธีการก็คือใช้ 3D จำลองกระโหลกและสมองของคนไข้ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียด เมื่อได้กระโหลกและสมองจำลองซึ่งมีลักษณะเหมือนของจริงทุกประการแล้ว แพทย์ฝึกหัดก็จะทำการผ่าตัดสมองจำลองเพื่อแก้ไขปัญหาเช่นเจาะกระโหลกเพื่อเอาท่อไปใส่เพื่อระบายน้ำในสมอง

          การฝึกหัดผ่าตัดสมองจากสถานการณ์จริงแต่ทำบนสมองจำลองทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ และสามารถประเมินทักษะและความรู้ของหมอฝึกหัดได้ชัดเจน ถึงผิดพลาดก็พิมพ์กระโหลกและสมองใหม่ขึ้นได้ การผ่าตัดสมองที่ต้องการไม่ให้มีความผิดพลาดเลยสามารถเกิดขึ้นได้จากการฝึกหัดที่ใช้เทคโนโลยี 3D เช่นว่านี้

          3D พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงกับพิมพ์โมเลกุลของสารเคมีต่าง ๆ และเซลล์ อวัยวะของร่างกายเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องโครงสร้างอันอาจนำไปสู่การผสมของโมเลกุลเพื่อสร้างยาขึ้นมารักษาเป็นการเฉพาะคน นอกจากนี้ยังมีการพิมพ์เซลล์อวัยวะจำลองขึ้นเพื่อพยายามศึกษา ต่อยอดให้เซลล์บางชนิดในอวัยวะสามารถงอกขึ้นใหม่ได้

          3D กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอยู่เงียบ ๆ อย่างลึกซึ้งในหลายด้านเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ ทั้งในด้านสุขภาพ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การศึกษา การค้นคว้าวิจัย ฯลฯ

          ถ้าเทคโนโลยี 3D สามารถช่วยให้มนุษย์มีจิตใจสูงขึ้นโดยอาศัยความคิดเชิงสร้างสรรค์ใดก็แล้วแต่ (พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ของคนดีมีคุณภาพเหนือกว่าคนเลวเสมอจนอายุยืนยาวกว่า) ชาวโลกอาจมุ่งมั่นทำความดีกันมากขึ้นก็เป็นได้

ข้อแนะนำหลีกเลี่ยงสูญเงิน

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 ตุลาคม 2557

          ความผิดพลาดเลินเล่อในอดีตที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตวันต่อวันของบางคนสามารถเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้เพื่อมิให้มีคนต้องเสียน้ำตาและเสียเงินอีก

          เรื่องแรกคือการเผลอเรอให้ธนบัตรใบใหญ่และรับเงินทอนมาเสมือนว่าได้ให้ธนบัตร ใบเล็กไป เช่น ให้ธนบัตรใบละห้าร้อยหรือพันเพื่อซื้อของ แต่คนทอนจะป้ำเป๋อเหมือนคนรับ หรือจะตั้งใจให้เงินทอนมาเสมือนว่าเป็นธนบัตรหนึ่งร้อยบาท

          ผู้เขียนมั่นใจว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นกับผู้อ่านมาแล้วหลายครั้งในชีวิต อาจรู้ตัวแต่ก็ต้องยอมรับกรรมเพราะไม่อาจเถียงได้หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ คำถามก็คือจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

          คำตอบน่าจะเป็นว่าทุกครั้งที่ให้ธนบัตรใบใหญ่แก่ผู้ขายให้พูดว่า “แบ๊งค์ใหญ่นะ” เพื่อเตือนตัวเราเองและเตือนคนขายไม่ให้คิดมั่วกับเรา นอกจากนี้เรายังเอาไว้อ้างได้หากเขาทอนมาเสมือนว่าเป็นธนบัตรร้อยบาทว่าเราได้พูดแล้วตอนที่มอบแบ๊งค์ใหญ่ให้คุณนะ

          โอกาสที่จะได้เงินทอนผิดก็คือตอนเรารีบร้อน หรือดูท่าทางใจลอยคิดอะไรอยู่ เหตุการณ์ทอนเงินธนบัตรใบใหญ่แบบนี้เกิดขึ้นวันหนึ่งนับแสน ๆ ครั้ง โอกาสรับเงินทอนผิดพลาดจึงมีจำนวนไม่น้อยครั้งและเป็นเงินที่ผู้รับเงินทอนเสียหาย

          เรื่องที่สองคือการลืมสายสร้อยคอ แหวน ตุ้มหู หรือสิ่งมีค่าที่ถอดออกมาจากร่างกายเมื่อต้องการอาบน้ำในสถานที่ไม่ใช่บ้าน อาจเป็นโรงแรม ห้องน้ำของศูนย์ฟิตเนส ห้องน้ำของสระว่ายน้ำ ฯลฯ คนจำนวนมากเสียน้ำตาเพราะความเสียดายสิ่งที่มีคุณค่าทางใจและเงินทองกันมามากแล้ว

          ข้อแนะนำก็คือจงถอดสิ่งเหล่านี้โดยวางลงบนผ้าเช็ดตัวที่เราตั้งใจจะใช้ทันทีที่อาบน้ำเสร็จ มันจะเตือนใจเราให้ใส่กลับอย่างเดิมก่อนที่จะใช้มันเช็ดร่างกาย อย่างนี้ไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางท่านอาจบอกว่าทำไม่ได้ขณะตัวเปียก ถ้าเช่นนั้นก็วางของทั้งหมดลงบนผ้าผิวเรียบ (เพื่อมิให้บางชิ้นหลบซ่อนอยู่จนมองไม่เห็น) เช่น ผ้าเช็ดหน้า และวางทับลงบนผ้าเช็ดตัวเพื่อไม่ให้ลืมใส่กลับ

          จุดที่ต้องระวังก็คือผู้ชายชอบแขวนสายสร้อยพร้อมพระไว้บนที่แขวนเสื้อบนด้านในของบานประตูห้องน้ำ เมื่อใช้ผ้าเช็ดตัวเสร็จก็แขวนทับลงบนที่แขวนเดียวกันจนมองไม่เห็นสายสร้อยจนลืมทิ้งไว้

          สำหรับสุภาพสตรีที่เคยทราบก็คือการใช้ทิชชูห่อแหวน ตุ้มหู และสิ่งมีค่าอื่น ๆ และเผลอขยำทิชชูแผ่นนั้นทิ้งขยะไปเนื่องจากทิชชูห่อหุ้มจนมองไม่เห็นของ หรือลืมทิ้งไว้เพราะมองเห็นแต่แผ่นทิชชูไม่ใช้แล้วอยู่บนโต๊ะ

          เรื่องการใช้ทิชชูห่อสิ่งของมีค่าเพื่อเก็บรักษา ไม่ว่าห่อใส่ไว้ในกระเป๋าถือ ลิ้นชัก ตู้เสื้อผ้า กระเป๋าเสื้อหรือกางเกง ต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะของที่เป็นชิ้นเล็กและมีน้ำหนักไม่มาก สุภาพสตรีโยนทิชชูเหล่านี้ทิ้งด้วยความเผลอเรอกันมานักต่อนักแล้ว เคยได้ยินว่ามีบางคนเอาของมีค่าห่อทิชชูและใส่ไว้ในช่องเล็ก ๆ ในตู้เย็น เด็กล้างตู้เย็นก็โยนทิ้งไปเพราะคิดว่าเป็นขยะ

          ตัวผู้เขียนเองเกือบเสียแว่นตาอ่านหนังสือไปหนึ่งอัน แต่ก็สูญไปอีกหนึ่งอันบนเครื่องบิน

          กล่าวคือเมื่อใช้แว่นตาเสร็จแล้วก็เอาทิชชูห่อกันช้ำและใส่ไว้ในกระเป๋าของที่นั่งที่อยู่ข้างหน้าโดยแย่งพื้นที่กับนิตยสารและถุงใส่อาจียร (ยังไม่ได้ใช้ครับ) เมื่อหลับไปและตื่นขึ้นมามันก็หายไปแล้ว ครั้งแรกเดินไปถามแอร์โอสเตสก็พบว่าเขาคิดว่าเป็นขยะเมื่อเดินผ่านมาจึงให้บริการที่ดีด้วยการหยิบไปทิ้ง ต้องคุ้ยหาในถังขยะจึงพบ ครั้งที่สองเข้าใจว่าอยู่ก้นถังจึงไม่ได้คืนมา ผู้เขียนจึงเข็ดกับการเอาทิชชูห่อของมาก บ่อยครั้งเป็นยาที่ต้องกินจึงห่อทิชชูและเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ แต่น้อยครั้งมากที่ได้กิน ดังตั้งใจเพราะมักเผลอโยนทิ้งไปเพราะนึกว่าเป็นทิชชูใช้แล้ว

          เรื่องที่สามคือโทรศัพท์มือถือตกลงไปในน้ำ จากการสังเกตก็พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากเอาโทรศัพท์ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ เมื่อก้มลงมันก็จะลื่นไถลลงมา บ่อยครั้งจะไหลลงไปในโถส้วม อ่างหรือถังน้ำ เครื่องซักผ้า บ่อน้ำหรือคูคลอง หรือแม้แต่แม่น้ำ

          ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเมื่อเอาขึ้นจากน้ำ ห้ามไปยุ่งกับมันเป็นอันขาด โดยเฉพาะการปิดเครื่องเพราะมันจะช๊อตทันทีและเสียเลย ให้เอาผ้าเช็ดภายนอกให้แห้งและไปหา “หมอโทรศัพท์” ตามศูนย์การค้าทันที บางเสียงก็บอกว่าทำเองได้โดยทำให้แห้งสนิท และเอาพัดลมค่อย ๆ เป่าให้แห้ง ทิ้งไว้อีก 1-2 วันจนน้ำที่เข้าไปในเครื่องเหือดแห้งหมด มีคนบอกว่าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความชื้นเหลืออยู่เลยในตัวเครื่องให้ห่อด้วยกระดาษทิชชูและเอาไปหมกไว้ในถังข้าวสารสัก 2-3 คืน หลังจากนั้นจึงเปิดเครื่องใช้ได้ (ภูมิปัญญาโบราณในการทำให้ความชื้นหายไป)

          ถังข้าวสารยังมีประโยชน์อื่นอีกนอกจากมีไว้ให้ตก ใครมือเปื้อนยางขนุนหากเอาไปกวนในถังข้าวสารสัก 10-20 ที ยางก็จะหายไป (แต่จะไปอยู่ในข้าวที่บริโภคแทน) มีดเปื้อนยางขนุนก็จะเข้าลักษณะเดียวกัน ส่วนมือแปดเปื้อนคอรัปชั่นคิดว่าทำอย่างไงก็ไม่หาย

          เรื่องที่สี่คือทำอย่างไรไม่ให้โดนหักเงินจากบัญชีของเราอย่างไม่มีขีดจำกัดก่อนที่เราจะรู้ตัวโดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้อินเตอร์เน็ต พวกที่อนุญาตให้หักเงินจากบัญชีบัตรเครดิตประสบความเสี่ยงเช่นว่านี้ แต่ถ้าหากเราใช้บัตรเดบิตซึ่งมีชื่อของเรา มีหมายเลขบัตร มีหมายเลขซีเคียวริตี้ หลังบัตรเหมือนบัตรเครดิตทุกประการก็จะสามารถหลุดพ้นจากสภาวะนี้ได้

          บัตรเครดิตคือการเรียกเก็บเงินจากเราในภายหลัง ส่วนบัตรเดบิตคือการหักเงินที่เรามีอยู่แล้วออกไปจากบัญชีของเรา ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิตโดยใส่เงินไว้ไม่มากก็ไม่ต้องกังวลเพราะเราจะสูญเสียอย่างมากก็แค่เงินที่เรามีอยู่ในบัญชีนั้นเท่านั้น

          วิธีนี้จะทำให้ “การหักโดยไม่จำกัด” ไม่เกิดขึ้น เราจะมีโอกาสไต่ถาม ชี้แจง และต่อรองได้ถนัดมือกว่าการใช้บัตรเครดิต เราอาจเคยบอกหมายเลขซีเคียวริตี้ของบัตรเครดิต (หมายเลขหลังบัตร) ไปทางโทรศัพท์ในหลายโอกาส (ไม่ควรทำอย่างยิ่ง) จนหวาดหวั่นว่าจะถูกโกงเงินจำนวนมาก การใช้บัตรเดบิตจะขีดวงจำกัดความเสียหายให้เราอย่างลดความกังวลไปได้มาก

          ถ้าเสียของมีค่าเพราะความเลินเล่อก็จงนึกว่าอย่างไรเสียมันก็อยู่กับเราไปไม่ได้ตลอดอยู่แล้ว ยามเมื่อเราเสียชีวิตไปก็ไม่ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไป และก็ไม่รู้อนาคตของมันเหมือนกันว่าจะไปอยู่ในมือใคร จริง ๆ แล้วการสูญเสียวันนี้ก็คือการมาถึงก่อนกำหนดเท่านั้นเอง และมันทำให้ตัวเราเบาขึ้นอีกด้วย

Digital Economy

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7 ตุลาคม 2557

          คำว่า Digital Economy เป็นที่กล่าวถึงกันมากในสังคมไทยปัจจุบัน บางท่านอาจสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ ลองมาดูความหมายและตัวอย่างกัน

          Digital Economy หมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (information Technology หรือไอที) เป็นปัจจัยประกอบ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในบ้านเราคือการซื้อขายสินค้ากันทางอินเตอร์เน็ต สติ๊กเกอร์ของ line ที่ซื้อมาเล่นกัน การจองตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรม หรือตั๋วดูคอนเสิร์ต หรือภาพยนตร์ หรือละครเวที การสั่งซื้อหนังสือทางอินเตอร์เน็ต การซื้อ e-book ที่ซื้อโดยการดาวน์โหลดได้ทันที ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า E-commerce ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ Digital Economy

          บางครั้งเราอาจรู้สึกสับสนเรื่องเทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และไอทีว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันหรือแตกต่างกันอย่างไร คำตอบง่าย ๆ ก็คือเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แต่งงานกันและออกลูกมาเป็นไอที กล่าวคือไอทีเป็นการผสมปนเประหว่างสองเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นเวลาเราถอนเงินจาก ATM นั้นเป็นการใช้ไอที คำอธิบายก็คือข้อมูลขอเบิกเงินที่เราป้อนเข้าไปจะมีคอมพิวเตอร์ประมวล และส่งเป็นข้อมูลไปทางสายโทรศัพท์ (เครือข่ายโทรคมนาคม) เพื่อวิ่งไปยังศูนย์ของธนาคาร เมื่อคอมพิวเตอร์ที่โน่นตรวจสอบแล้วว่าโค้ดถูกต้องและมีเงินฝากอยู่จริงก็จะให้คำตอบผ่านมาทางเครือข่ายโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ที่ปลายทางก็จะสั่งให้เงินไหลออกมา

          การมีระบบไอทีเช่นนี้เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเราในหลายด้าน ถ้าพิจารณาด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวก็จะก่อให้เกิดผลดีดังต่อไปนี้ (1) ความสะดวกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดต่ำลง เช่น สามารถขายของได้โดยไม่ต้องมีร้านขายของ ไม่ต้องเสียเงินลงทุนซื้อสินค้ามาเก็บไว้ในสต๊อกเมื่อใช้ E-Commerce ผู้ซื้อก็ไม่ต้องเสียเวลาและค่าโสหุ้ยในการเดินทางไปซื้อ ไปจองตั๋ว

          (2) ช่วยให้เกิดการต่อยอดในการผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น บริการฝากถอนเงินทางอินเตอร์เน็ต การใช้โทรศัพท์ชนิดมือถือสั่งอาหารในร้านเพื่อบริการที่รวดเร็วแม่นยำและสามารถเช็ครายรับตลอดจนรู้ปริมาณสต๊อกวัตถุดิบ สร้าง application ให้ประชากรเข้าไปเช็คได้ว่าตรง GPS ที่ตนเองอยู่นั้นในปีนี้ควรปลูกพืชใดเมื่อคำนึงถึงปริมาณน้ำฝนที่จะมีประกอบกับภูมิอากาศทั่วไป ฯลฯ

          (3) สนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนในทุกวัยจากข้อมูล บทเรียน ที่เข้าถึงอย่างกว้างขวางขึ้นกว่าเก่า เช่น บริการด้านข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต การเรียนภาษาต่างประเทศ การพัฒนาตนเองในทุกเรื่อง ฯลฯ

          (4) สร้างการจ้างงานในลักษณะใหม่ ๆ เช่น นักการตลาดและนักวางแผนกลยุทธ์ การตลาดทาง social media (โฆษณาสินค้าทาง line / Facebook ฯลฯ)

          การเป็น Digital Economy ทำให้เกิดงานใหม่ ๆ ที่ข้ามพรมแดน เช่น ศูนย์บริการรับโทรศัพท์เพื่อให้ข้อมูลและรับใช้ผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศแม่โดยจ้างคนอินเดียและคนฟิลิปปินส์นับแสนคนที่อยู่บ้านตนเอง

          คนเหล่านี้ให้บริการ 24 ชั่วโมงด้วยต้นทุนที่ถูก เมื่อผู้บริโภคต้องการความช่วยเหลือและบริการข้อมูลและผ่านโทรศัพท์ สัญญาณก็จะส่งไปต่างประเทศ และพนักงานต่างประเทศก็ให้บริการราวกับอยู่ในประเทศเดียวกัน

          การเป็น Digital Economy หรือการมีการผลิตที่ใช้ไอทีเป็นปัจจัยประกอบสำคัญของสังคมไทย จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและให้บริการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ

          ผู้บัญญัติศัพท์ Digital Economy คือนาย Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือยอดฮิตชื่อ “The Digital Economy: Promise and Peril In The Age of Networked Intelligence” ในปี 1995 Digital Economy มีชื่ออื่นอีกเช่น The Internet Economy / The New Economy หรือ Web Economy

          ในปัจจุบันบ้านเราก็มีความเป็น Digital Economy อยู่แล้วในระดับหนึ่งเพียงแต่ยังขาดนโยบายภาครัฐและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่จะกำกับให้เสริมไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีแผนเป็นขั้น เป็นตอน Tapscott กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของผู้คนอย่างโลกไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งการจะเป็น Digital Economy นั้นมีปัจจัยสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและไอที กฎกติกากฎหมาย การบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถในการปรับทัศนคติของประชาชนและของภาครัฐ

          Digital TV ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการเป็น Digital Economy นอกจากความสะดวกสำหรับผู้ชมในการย้อนกลับไปดูละครตอนหัวค่ำที่ไม่ได้ดูเมื่อวันก่อนแล้วยังทำให้เกิดการจ้างงานในด้านนิเทศศาสตร์ขึ้นอีกมากมาย พร้อมกับกระแสการกระจายตัวของข่าวสารและความรู้สู่สาธารณชน ไม่ว่าในด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือความรู้ในการประกอบอาชีพก็ตาม

          เมื่อผู้เขียนค้นประวัติของ Don Tapscott ซึ่งปัจจุบันเป็นกูรูให้คำปรึกษาด้านธุรกิจแก่บริษัทใหญ่ และเขียนหนังสือแนวธุรกิจยุคใหม่ถึง 15 เล่มแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะเขาเกิดวันเดียว เดือนเดียว และปีเดียวกับผู้เขียน (คนอื่นที่เกิดวันเดียวกันแต่ต่างปี คือ มาริลีน มอนโร และแพ็ต บูน)

          Digital Economy ไม่มีอะไรน่ากลัวเพราะโลกก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยผู้คนก็จะไม่รู้สึกกลัวคอมพิวเตอร์อีกต่อไป คงคล้ายกับความรู้สึกที่มีต่อตู้เย็น

มารยาทโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30 กันยายน 2557

          วันเวลาผ่านไปก็มีสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวในชีวิตเกิดขึ้น ของเดิมมีกฎกติกามารยาทของสังคมอย่างลงตัวพอควร แต่ของใหม่นั้นยังคว้างเคว้งอยู่จนก่อให้เกิดความรำคาญใจแก่ผู้คนได้มาก วันนี้ลองมาเปรียบเทียบกันว่าสิ่งที่ท่านผู้อ่านรำคาญตรงกับผู้เขียนไหม

          เรื่องที่หนึ่ง คือ โทรศัพท์มือถือ สิ่งนี้ทำลายความสงบแห่งจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง เมื่อก่อนนี้เมื่อพ้นที่บ้านหรือที่ทำงาน ไม่มีใครสามารถติดต่อได้ รู้สึกอิสระ จะเดินดูหนังสือ เดินช็อปปิ้ง เดินดูชีวิตของผู้คนตามถนนหนทาง เดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือเดินเล่นในป่าเขา มีความสุขเพราะไม่มีเสียงโทรศัพท์เข้ามาตามให้รับรู้เรื่องราวหรือต้องเลิกกิจกรรมที่กระทำอยู่

          อย่างไรก็ดีโทรศัพท์มือถือให้ความสะดวกอย่างมาก ทำให้ชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งมีคุณภาพสูงขึ้น ความเจ็บป่วยกะทันหันได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ช่วยให้ต้นทุนของสิ่งต่าง ๆ ลดลง (ยกเว้นค่าโทรศัพท์) แต่สิ่งที่ได้มาก็ต้องแลกกับสิ่งที่เป็นลบหลายอย่าง เข้าทำนอง ‘ได้ (หลาย) อย่าง เสีย (หลาย) อย่าง’ หรือ ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’

          สิ่งน่ารำคาญที่เกิดขึ้นก็คือผู้ใช้โทรศัพท์มือถือขาดมารยาทการใช้อย่างร้ายแรง เริ่มตั้งแต่ (ก) พูดเสียงดังอย่างไม่เกรงใจผู้คน ไม่ว่าบนท้องถนน ในรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน ร้านอาหาร ในลิฟต์ ฯลฯ บางครั้งพูดจาหยาบคายเป็นของแถมให้คนข้าง ๆ ได้ยิน อีกด้วย (ข) รับโทรศัพท์และสนทนากับผู้โทรเข้ามาขณะที่กำลังคุยอยู่กับคนอื่น หรือขณะกำลังพูดคุยพบปะทางธุรกิจ หรือขณะกำลังประชุมอยู่ (ผมเคยเห็นขณะที่กำลังประชุมอยู่ประธานในที่ประชุมหยุดการนำประชุมเพื่อรับโทรศัพท์มือถือที่โทรเข้ามาด้วย) ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือกระทำหลายครั้งหลายหน และกับโทรศัพท์มากกว่าหนึ่งเครื่องอย่างไม่เกรงใจใครก็เคยเห็น

          ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำในข้อ (ข) น่ารำคาญและเสียมารยาทอย่างมากเพราะเสมือนกับไม่ให้เกียรติผู้กำลังสนทนาอยู่ด้วย ยิ่งเป็นกรณีที่ขอเข้าพบเขาด้วยแล้วยิ่งแย่ไปใหญ่ (ไม่เข้าใจว่าถ้าไม่พูดโทรศัพท์สักขณะหนึ่งจะชักดิ้นชักงอตายหรืออย่างไร) สำหรับข้อ (ก) ยังพอให้อภัยได้เพราะอาจ หูตึง หรือเผลอพูดดังตามนิสัยที่เคยพูดโทรศัพท์ที่บ้านมาตลอดชีวิต

          (ค) ขณะที่พูดจากันอยู่เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นหลายครั้งมากกว่าที่เจ้าของเครื่องจะรับรู้ว่าต้องรับสาย และบ่อยครั้งเป็นเสียงเรียกที่ดังมากด้วย เคยเห็นเจ้าของเครื่องค่อย ๆ คลำหาโทรศัพท์เพื่อรับช้า ๆ อย่างไม่เกรงใจและไม่แคร์ใครทั้งสิ้นโดยเฉพาะในที่ประชุม (ถ้าจะถึงกับล่มจมหมดตัวหากไม่รับสายที่เข้ามาในทันทีก็ควรเปิดเครื่องชนิดให้มันสั่น และออกไปโทรศัพท์ข้างนอก)

          นิสัยไม่ปิดเครื่องขณะที่นั่งฟังการอภิปราย ขณะเข้าประชุม ขณะพูดคุยกับผู้อื่นอยู่ ฯลฯ โยงใยกับการเป็นคนไม่เกรงใจคนอื่นโดยยึดประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง คนเหล่านี้ถ้าจงใจเปิดเสียงทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะกระทบคนอื่นในด้านลบถือได้ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ

          เรื่องที่สอง คือ สมาร์ทโฟน สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราอย่างน่าตกใจ สำหรับหลายคนมันเหมือนกับยาฝิ่นที่ต้องเสพอยู่ตลอดเวลา วันละหลายชั่วโมง มันทำให้มนุษย์มีความเป็น ‘สัตว์สังคม’ (‘Man is a social animal’ ตามที่ Aristotle นักปราชญ์ยุคกรีกผู้มีชีวิตหลังพระพุทธเจ้าเกือบ 200 ปี เป็นผู้กล่าวไว้) ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดกันมาได้ทุกวันนี้น้อยลง ความเป็น ‘สัตว์สังคม’ ทำให้เกิดการพูดจาประสาสะจนเกิดความเป็นมิตรและเกิดการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ต่างคนต่างอยู่จนตายไปด้วยกันทั้งคู่

          เราเห็นภาพพ่อแม่ลูกนั่งรับประทานอาหารด้วยกันที่โต๊ะในร้านอาหาร แต่ละคนนั่งก้มหน้าดูสมาร์ทโฟนโดยไม่ได้คุยกัน หรือแม้แต่หญิงชายที่ไปเป็นคู่ก็เถอะ หลายคู่มากที่ต่างไปนั่งดูสมาร์ทโฟนพร้อมกับบริโภคอาหารไปด้วย (ที่จริงจะประหยัดเวลาและเงินได้มากหากแต่ละคนก็อยู่ที่บ้านของตนเองและนั่งดูสมาร์ทโฟนไปพร้อมกับรับประทานอาหารของตนเองไปด้วย)

          ผู้เขียนเคยพบร้านอาหารเล็ก ๆ ในประเทศจอร์เจีย (ประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นรัฐเก่าของสหภาพโซเวียต และเป็นบ้านเกิดของสตาลิน) เขาเขียนไว้บนกระดานดำที่อยู่หน้าร้านว่า “No wi-fi here. Talk to each other” ซึ่งผู้เขียนได้ถ่ายรูปมาเพราะถูกใจมาก

          เรื่องของความน่ารำคาญเพราะการขาดมารยาทมีดังนี้ (ก) นั่งก้มหน้าอ่านและ กดสมาร์ทโฟน โดยสันนิษฐานว่าอ่านข้อความจากโซเชียลมีเดีย และส่งข้อความในขณะที่กำลังฟังอาจารย์บรรยาย ขณะกำลังนั่งประชุมอยู่ ขณะกำลังพบปะพูดคุยกับคนอื่นอยู่ ฯลฯ หรือแม้แต่ขณะกำลังขับรถซึ่งอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นเป็นอันมาก

          การใช้สมาร์ทโฟนขณะนั่งเรียนหนังสือทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ลดลงอย่างมาก เพราะใจมิได้อยู่กับบทเรียนหากออกไปลอยล่องอยู่นอกห้อง ส่วนการใช้ตลอดเวลาในขณะที่ประชุม หรือเมื่อคนอื่นกำลังพูดเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่งเพราะไม่ให้เกียรติที่ประชุมและประธานในที่ประชุม ไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถร่วมประชุม

          พิจารณาเรื่องต่าง ๆ อย่างจริงจังรอบคอบได้พร้อมกับการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการรับรู้เรื่องราวนอกห้อง ถ้าใจไม่อยู่ในห้องแล้วสมองจะทำงานเพื่องานที่อยู่ข้างหน้าในห้องประชุมได้อย่างไร

          การเปิดสมาร์ทโฟนดูบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเช็คธุระสำคัญแล้ววางให้ห่างมือเป็นสิ่งที่พอยอมกันได้ แต่การก้มลงดูเสมอหรือตลอดเวลาในขณะที่คนอื่น ๆ พูดในที่ประชุมถือว่าเป็นการเสียมารยาทและไม่มีส่วนร่วมในการประชุมอย่างเหมาะสม

          การก้มลงดูสมาร์ทโฟนในขณะนั่งเรียนในห้อง หรือในขณะประชุมก็คือการไม่ให้ความสนใจแก่คนที่กำลังพูดและการประชุมที่กำลังเกิดขึ้น มันก็คล้ายกับพูดคุยแบบกระซิบกับคนอื่นต่อหน้าคนที่เรากำลังพูดอยู่ด้วยนั่นเอง

          ในการประชุมบอร์ดของบริษัทใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้เข้าประชุมจะต้องไม่พูดโทรศัพท์มือถือหรือก้มดูสมาร์ทโฟนทั้งสิ้นเนื่องจากถือว่าหยาบคายและผิดมารยาทสังคม ในหลายแห่งเขาไม่ให้นำสมาร์ทโฟนเข้าไปด้วยเพราะอาจมีการแอบอัดเสียงการหารือ และอาจรั่วไปถึงบริษัทคู่แข่งหรือสาธารณชน จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

          เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้สังคมของเราปรับตัวและสร้างกฎกติกามารยาทขึ้นมาไม่ทันจนทำให้เกิดความน่ารำคาญ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วผู้สร้างความรำคาญเป็นผู้เสียหายโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากในใจของคนที่ประสบเขาจะประเมินค่าคนเสียมารยาทเหล่านี้ต่ำเหมือนกับเวลาที่เราเห็นคนทำสิ่งที่ไม่ถูกมารยาท

          ในช่วงระหว่างที่ผู้คนยังไม่เข้าใจเรื่องมารยาทของการใช้โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ถ้าท่านผู้อ่านรำคาญมาก ๆ ก็ขอเสนอให้ซื้อโทรศัพท์มือถือที่เป็นยาง (ถ้าถอดออกได้เป็นชิ้น ๆ จะดีมาก) มาสัก 2-3 เครื่องเพื่อเอาไว้ปาข้างฝา หรือปาลงบนพื้นหลังจากที่ได้พบเห็นสิ่งไม่สบอารมณ์เอามาก ๆ เพื่อความสะใจครับ

เมืองหลวงขุดทองเถื่อนของโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 กันยายน  2557

          สร้อยคอทองคำเหลืองอร่ามที่อยู่บนคอของเรานั้นไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อทองมาจากไหนกันบ้าง เป็นไปได้ว่าบางส่วนอาจมาจากพระพุทธรูปโบราณที่ถูกหลอม บางส่วนอาจมาจากเครื่องประดับเก่าที่ถูกหลอมซึ่งก็ไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นมาจากไหน บางส่วนอาจมาจากทองแท่งซึ่งมาจากเหมืองทองในต่างประเทศ หรือแม้แต่มาจากเศษทอง “เถื่อน” ที่ชาวบ้านในอาฟริกาใต้เก็บจากเหมืองเก่า ดังเรื่องที่จะเล่าในวันนี้

          อาฟริกาใต้ดินแดนของ Nelson Mandela เคยเป็นแหล่งผลิตทองคำใหญ่สุดของโลกมายาวนาน แม้แต่ใน ค.ศ. 1970 ร้อยละ 80 ของทองคำที่ผลิตในโลกในแต่ละปีมาจากอาฟริกาใต้ ปัจจุบันตัวเลขนี้คือร้อยละ 1 เนื่องจากจีนและอีกหลายประเทศในโลกผลิตทองคำขึ้นมาแทนที่

          เมื่อก่อน ค.ศ. 1971 ราคาทองคำต่ำเพราะถูกควบคุมไว้ให้คงที่เนื่องจากเป็นสิ่งมีค่า หนุนหลังธนบัตรของสหรัฐอเมริกาโดยยอมให้คนถือธนบัตรเอามาแลกเป็นทองคำได้ แต่เมื่อสหรัฐอเมริกายกเลิกการยอมให้แลกเปลี่ยนดังกล่าวในปี 1971 ราคาทองคำก็ทะยานตัวขึ้นทันทีจากบาทละ 400 บาท (บาทหนึ่งหากเป็นทองรูปพรรณหนักเท่ากับ 15.16 กรัม) และไต่ขึ้นเป็นพัน ๆ บาท และอยู่ที่ 20,000 กว่าบาทในปัจจุบัน

          เมื่อราคาทองคำสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศทำเหมืองทองโดยการถลุงเนื้อทองคำจากสินแร่มากกว่าที่จะเก็บเศษทองที่อยู่บนผิวดินซึ่งนับวันจะมีปริมาณน้อยลงเรื่อย ๆ

          เมื่ออาฟริกาใต้มีคู่แข่งผลิตทองคำมากขึ้นจึงจำเป็นต้องปิดเหมืองกว่า 4,400 แห่งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศและมีจำนวนมากกว่าเหมืองที่กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันเกือบ 4 เท่าตัว

          เหมืองร้าง 4,400 แห่งเหล่านี้แหละคือ “เหมืองทอง” อันโอชะของบรรดาเหล่าผู้ขุด ทองเถื่อนซึ่งมีจำนวนถึง 150,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานทำเหมืองทองที่ถูกกฎหมาย

          ปัจจุบันอาฟริกาใต้กลายเป็นเมืองหลวงของโลกของผู้ขุดทองเถื่อนไปแล้ว ในแต่ละวันคนนับแสนจะไต่เชือกหรือบันไดลงไปในเหมืองร้างเหล่านี้ บ้างก็ขุดดินหาเศษทองที่อยู่ในอุโมงค์เก่าซึ่งขุดไว้ตามทางขวางในแต่ละระดับความลึก บ้างก็มองหาสินแร่ทองคำที่เห็นเป็นเกล็ดทองวาว ๆ และเอาค้อนทุบก้อนสินแร่ที่พบให้แตกเพื่อเก็บเศษทองปนหิน

          งานเหล่านี้อันตรายอย่างยิ่งเพราะเหมืองร้างอาจถล่มลงได้ทุกขณะเนื่องจากในแต่ละหลุมของแต่ละเหมืองที่ขุดลึกลงไปในแนวดิ่งอาจมีคนลงไปร่วมค้นหานับเป็นร้อย ๆ คน บ้างก็กินอยู่หลับนอนเป็นอาทิตย์ในเหมืองใต้ดินหากพบทำเลดีเนื่องจากมีปล่องระบายอากาศอยู่เป็นจุด ๆ

          ชาวอาฟริกันพื้นบ้านมุ่งมั่นบากบั่นหาเศษทองหรือสินแร่ทองเพราะเป็นหนทางไปสู่ความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ในจิตใจก็เหมือนกับผู้ขุดหาทองหรือเพชรพลอยทั่วโลกทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในออสเตรเลีย คาลิฟอร์เนีย กัมพูชา ไทย จีน ฯลฯ กล่าวคือฝันว่าวัน นั้น ๆ คือวันโชคดีที่จะพบก้อนที่ใหญ่โตจนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจนและทุกข์ยาก

          ความฝันเช่นนี้คือพลังที่ผลักดันให้เขาเหล่านี้ทำงานหนัก ไม่หวั่นต่อภัยจากเหมืองถล่ม ภัยจากโจรปล้น ภัยจากแก๊งส์คุ้มครองที่มาจากต่างถิ่น ภัยจากการถูกจับเพราะทางการห้ามเข้าไปในบริเวณเหมืองร้างเหล่านี้

          ยังไม่มีข่าวว่ามีผู้ใดพบชิ้นทองขนาดยักษ์ แต่เกือบทุกคนก็พอไปได้จากการพบเศษทอง หากโชคดีก็ได้วันละ 3-4 กรัม (ไม่เกิน 4,000 บาท) ต่อครอบครัว สาเหตุที่ยังพบทองก็เนื่องจากปิดเหมืองเพราะมีคู่แข่งผลิตทองที่มีต้นทุนถูกกว่า ไม่ใช่เพราะไม่มีเศษทองและสินแร่ทองคำอีกต่อไป

          ในโลกเรานี้ยังมีสินแร่ทองคำอีกมากหากแต่ว่าอยู่ลึกลงไปจากพื้นโลก การถลุงสินแร่ทองซึ่งปนอยู่ในหิน (หลายแห่งถลุงสินแร่ทอง 1 ตันได้ทองคำ 1 กรัม) มีต้นทุนสูง และมีผลต่อสิ่งแวดล้อม วิธีการหนึ่งที่นิยมในอาฟริกาใต้ก็คือย่อยหินที่มีสินแร่ทองคำจนละเอียดและล้างด้วยน้ำและน้ำยาฟอก จากนั้นก็เผาโดยผสมกับปรอทเหลวเพื่อให้เนื้อทองคำติดออกมากับปรอท วิธีการถลุงเช่นนี้ทำให้ผู้ขุดเถื่อนมีโอกาสสัมผัสปรอทซึ่งหลงเหลืออยู่ การหายใจไอปรอทเข้าไปเป็นภัยต่อร่างกายเพราะระบบประสาทจะถูกทำลาย

          ไม่ว่าจะอันตรายอย่างไร ผู้ขุดทองเถื่อนก็ไม่แยแส แต่ละวันก็ยังคงหลั่งไหล ผจญภัยฝ่าสารพัดอันตรายเข้าไปค้นหาทอง เจ้าของเหมืองเก่าเข้าใจว่ายังคงอาลัยอาวรณ์เพราะหวังว่าในวันข้างหน้าเมื่อราคาทองคำขึ้นสูงและแหล่งทองคำอื่นเหือดแห้งลงก็อาจกลับไปเปิดเหมืองอีกครั้ง ในระหว่างนี้จึงมักได้ยินเรื่องราวของความน่ากลัวในการไปค้นซากทองของเหมืองเก่าอยู่เสมอ อันตรายจากปรอทอาจเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘เขียนเสือให้วัวกลัว’ ก็เป็นไปได้

          ความยากจนในอาฟริกาใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนท้องถิ่นเห็นได้ชัดเจน อัตราการว่างงานในประเทศสูงถึงร้อยละ 25 ในประชากร 54 ล้านคน สลัมจำนวนมากมีให้เห็นทั้งในเมืองใหญ่ และชานเมือง ความยากจนเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดจึงมีคนกล้าไต่ลงไปในเหมืองที่มืดมิด และบางเหมืองลึกถึง 4,000-5,000 ฟุต (กว่า 1,000 หลา) โดยไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสกลับขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ สถิติการตายรายวันไม่มีใครบันทึกไว้นอกจากเมื่อเกิดการตายหมู่ขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในปี 2009 มีคนตายถึง 82 คน จากไฟไหม้เหมืองใต้ดิน

          ชาวขุดทองเถื่อนเหล่านี้เดินทางมาจากเมืองต่า งๆ มาพักอาศัยกันในเพิงไม้และเศษวัสดุโดยรวมกันอยู่เป็นกลุ่มมีลักษณะคล้ายสลัมกลางป่า กลางวันเป็นเวลาพักผ่อนไม่ทำงานเพราะมีโอกาสถูกจับ เวลาทำงานเริ่มเมื่ออาทิตย์ตกดินโดยจะแยกย้ายกันไปตามหลุมที่ขุดไว้แล้วหรือขุดใหม่เพื่อลงไปยังเหมืองใต้ดิน บนหน้าผากจะมีไฟฉายดวงใหญ่เพื่อความสะดวกในการไต่เชือกหรือ บันได และการค้นหาสมบัติ

          ปรากฏการณ์ในอาฟริกาใต้เช่นนี้มีมาเป็นเวลายาวนานกว่า 7-8 ปีแล้ว ยิ่งราคาทองคำสูงขึ้นเท่าใดกิจกรรมก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว พร้อมกับความหวังรวยที่เจิดจรัสขึ้น

          ตราบที่ความยากจนยังคงเป็นปุ๋ย ความหวังร่ำรวยเป็นเชื้อพันธุ์ การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเป็นน้ำ ต้นไม้แห่งสารพัดภัยต้นนี้จะไม่มีวันตาย

ต้องไม่หยุดแค่ “อ่านออกเขียนได้”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 กันยายน 2557

          การอ่านออกเขียนได้ (literacy) ซึ่งเราเคยเข้าใจกันว่าหมายถึงการอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้นั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยกินความหมายกว้างขวางขึ้นเพื่อการอยู่รอดและอยู่ดีในสังคม

          การอ่านออกเขียนได้บางครั้งก็มีคนเรียกว่า “การรู้เรื่อง” เพราะการอ่านและการเขียนนั้นโดยแท้จริงแล้ว การอ่านก็คือการถอดโค้ดที่คนได้สร้างไว้เพื่อสื่อข้อความออกมาเป็นข้อความที่เขาตั้งใจสื่อ ส่วนการเขียนคือการสร้างโค้ดเพื่อให้ออกมาเป็นข้อความที่เราต้องการสื่อ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกติกาที่ได้ตั้งกันไว้หรือไวยากรณ์ของภาษานั้น ๆ

          ลักษณะตัวอักษรแบบอียิปต์ซึ่งเป็นรูปนก รูปคน รูปสัตว์ การกระทำ ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ต่อมามนุษย์ใช้อักษรแทนความหมายเช่นอักษรภาษาจีน และต่อมาใช้การผสมอักษรเป็นคำดังเช่นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ

          แต่เดิมคนถอดและใส่โค้ดของแต่ละภาษาได้ก็คือคนอ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือได้ ต่อมาการอ่านออกเขียนได้ก็กินความไปถึงการสะกดคำ การฟังและการพูดได้ด้วย

          การอ่านนั้นก็มีหลายระดับตั้งแต่ออกเสียงได้ จับใจความได้ วิเคราะห์ใจความได้ สรุปได้ และรวมไปถึงการอ่านระหว่างบรรทัด อย่างไรก็ดีการอ่านออกมิได้หมายความว่าจะเขียนได้เสมอไป เนื่องจากทักษะทั้งสองอย่างแตกต่างกันถึงแม้ว่าจะโยงใยกันอย่างใกล้ชิดก็ตาม

          การที่คนสวีเดนมีคุณภาพชีวิตสูง ผู้คนมีการศึกษา บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1686 ที่ผู้คนแถบนั้นนับถือคริสตศาสนานิกาย Lutheran ซึ่งบังคับให้ทุกคนในครัวเรือนต้องอ่านหนังสือออก พระจะเดินทางไปตรวจตามบ้านอยู่เสมอ หากใครอ่านไม่ออกก็ไม่ทำพิธีทางศาสนาให้ เช่น แต่งงาน ทำพิธีศพ ฯลฯ และถูกประจานต่อหน้าคนในชุมชนโดยต้องออกมานั่งในที่พิเศษในโบสถ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้คนในแถบสวีเดน ฟินแลนด์ เอสโตเนีย แลทเวียร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นดินแดนของสวีเดนจึงมีอัตราคนอ่านหนังสือออกสูงมากและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

          อย่างไรก็ดีแม้ในปลายศตวรรษที่ 19 หญิงสวีเดนจำนวนมากอ่านได้แต่เขียนไม่ได้เลย แม้แต่คนอังกฤษเองใน ค.ศ. 1841 มีอยู่ถึง 1 ใน 3 ของประชาชนที่เขียนหนังสือไม่ได้ และร้อยละ 44 ของผู้หญิงเขียนชื่อตนเองไม่ได้ในใบทะเบียนสมรสจนต้องใช้เครื่องหมายประจำตัวแทน (ภาษาไทยเรียกว่าแกงได)

          การอ่านออกเขียนได้ในโลกตะวันตกในความหมายดั้งเดิมเพิ่มสูงขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อการศึกษาไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในชนชั้นสูงเท่านั้น หากกระจายไปยังประชาชนทุกกลุ่ม พูดเป็นภาษาวิชาการว่าจาก Exclusive Education กลายเป็น Inclusive Education

          ในบ้านเรายุคสมัยหลังปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 คือ พ.ศ. 2504 การอ่านออกเขียนได้ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนไทยมีการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี และเพิ่มเป็น 9 ปี (จบมัธยมศึกษาปีที่สาม) ใน พ.ศ. 2545 โดยการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ 12 ปี (จบมัธยมศึกษา ตอนปลาย)

          แนวคิดปัจจุบันในระดับโลกกำลังมีทิศทางไปที่ Functional Literacy หรือการอ่านออกเขียนได้ชนิดที่ใช้งานได้ กล่าวคืออ่านหนังสือพิมพ์ได้ เขียนได้โดยสะกดคำถูก ตีความข้อมูลเพื่อเอามาวิเคราะห์ได้ สามารถคิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ สามารถสื่อสาร สามารถคิดเลขได้ มีคุณธรรมประจำใจ จนสามารถนำมาใช้ตัดสินใจในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นพลเมือง สมาชิกในครัวเรือน คนทำงานในองค์กรธุรกิจและราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          บางประเทศ Functional Literacy ครอบคลุมไปไกลถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สมาร์ทโฟน ใช้เครื่องมือในการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต อีกด้วย

          อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะป็นการอ่านออกเขียนได้ในความหมายดั้งเดิม หรือในความหมายที่ใช้งานได้ เราต้องยอมรับว่าทักษะและความสามารถเหล่านี้ไม่คงที่ มันแปรผันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาหากมิได้ฝึกฝนอยู่เสมอ เช่น ครั้งหนึ่งอาจเคยอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ แต่เมื่อห่างไปไม่ได้อ่านและเขียนสักระยะก็จะลืมและกลายเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออกไปได้

          ประเด็นนี้ชวนให้นึกไปถึงวิธีการที่จะทำให้ประชาชนไทยมีทักษะและความสามารถอยู่ในระดับใช้งานได้อย่างยั่งยืน เพราะประวัติศาสตร์ในหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาและรักการเรียนรู้ผ่านการอ่านออกเขียนได้เป็นสังคมที่มีความกินอยู่ดี

          งานนี้ไม่ควรเป็นของกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงผู้เดียว หากเป็นความรับผิดชอบของประชาชนไทยทุกคนโดยเฉพาะพ่อแม่ และทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าธุรกิจหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร งานนี้ต้องกระทำต่อเนื่องผ่านการจัดการให้มีหนังสือและสิ่งพิมพ์ราคาถูกและเข้าถึงประชาชน ทุกหมู่เหล่าซึ่งมีความกระหายใคร่เรียนรู้ตลอดจนการสร้างระบบสนับสนุนต่าง ๆ ความสำเร็จในเรื่องนี้จะทำให้สังคมเรามีพ่อบ้านแม่เรือน พลเมือง พ่อค้านักธุรกิจ พนักงานรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพของสังคม
          การพยายามรักษา Functional Literacy ของสมาชิกในสังคมให้อยู่ยั่งยืนเป็นงานสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลยเพราะเป็นปัจจัยประกอบที่สำคัญยิ่งของความกินดีอยู่ดีของสังคมเรา

ระวัง “กับดักทางจิตวิทยา”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 กันยายน 2557

          มนุษย์ไม่ว่าจะร่ำเรียนมามากน้อยเพียงใด อยู่ในวัยใด หรืออยู่ในฐานะสังคมใดก็ มีโอกาสที่จะถูกลวงหรือมีความคิดอย่างบิดเบี้ยวได้โดยไม่ต่างกันนัก ลองมาดูหลายลักษณะของการลวงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกัน

          “บ้านหลังสุดท้าย” “จะหมดเขตลดราคาใน 7 วัน” “นาฬิการุ่น Limited Edition” “แสตมป์ชำรุดมีดวงเดียวในโลก” ข้อความเหล่านี้เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ทั้งหมดล้วนกระตุ้นความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งหายาก และสิ่งหายากมักเป็นสิ่งวิเศษเสมอ

          “rara sunt cara” หรือ “rare is valuable” (ยิ่งหายากยิ่งมีมูลค่ามาก) ชาวโรมันบอกชาวโลกมากว่า 2,000 ปีแล้ว อะไรก็ตามที่มนุษย์รู้สึกว่ากำลังจะหมดไปหรือเป็นสิ่งหายาก มูลค่าในใจที่มนุษย์ให้มันจะพุ่งปรี๊ดทีเดียว

          ตอนเราเด็ก ๆ คงจำการแย่งของที่เพื่อนชอบ หรือชิ้นที่ดูจะพิเศษกว่าชิ้นอื่น ๆ กันได้ ที่แย่งก็เพราะว่าใจเราคิดว่ามันวิเศษกว่าชิ้นอื่น ๆ และมีจำนวนจำกัด

          อะไรก็ตามที่ถูกห้าม หรือถูกกีดกัน จะยิ่งรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งน่าจะทำหรือน่าลอง เหตุหนึ่งที่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะชอบสูบบุหรี่หรือกินเหล้าให้เราเห็นกันเป็นประจำก็มาจากการมองเห็นเช่นนี้แหละ

          ปรากฏการณ์นี้ที่เรียกว่า “scarcity error” หรือผิดพลาดเพราะเข้าใจว่ามันขาดแคลนนี้ทำให้มนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดความคิดที่ผิดปกติขึ้น

          เมื่อมีคนสังเกตเห็น scarcity error ในวิจารณญาณของมนุษย์ จึงมีคนหัวแหลมนำมาใช้ในการควบคุมพฤติกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาด เช่นผู้บริโภคมักรีบตัดสินใจซื้อ เพราะถูกทำให้เห็นว่ามันกำลังจะหมดไป

          แค่นี้ยังไม่พอ มนุษย์ยังถูกลวงใจโดยตนเองอีกด้วยโดยผ่านปรากฏการณ์ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘perception is selective’ กล่าวคือการรับรู้รับทราบของเรานั้นเกิดจากการเลือกของเราเอง ตัวอย่างเช่นมนุษย์ทั่วไปเชื่ออย่างที่ตนเองอยากเชื่อ ไม่ได้เชื่อเพราะหลักฐานข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์นี้แหละจึงทำให้เราถูกหลอกกันมานักต่อนักแล้ว

          อะไรที่เรารักเราชอบมันดีไปหมด ไม่มีอะไรที่บกพร่องเลย ดังเช่นการพิจารณาตนเอง คนที่ขาดปัญญาจะเห็นว่าตัวเองนั้นสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีข้อบกพร่อง ลูกหลานตนเองนั้นเล่าก็น่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน ดีอย่างไม่มีอะไรทัดเทียม ไม่เชื่อไปถามแม่ของนักโทษประหารดูก็ได้ ถึงแม้จะถูกประหารไปแล้วก็เชื่อว่าลูกไม่ได้แย่เกินไป ยังมีความน่ารักอยู่ หรืออาจไปไกลถึงว่าลูกถูก กลั่นแกล้ง

          คำฝรั่งที่ว่า “ความรักทำให้ตาบอด” หรือ “smoke gets in your eyes” สะท้อนปรากฏการณ์นี้ หากรักชอบใครแล้วตามันมืดมัวมองเห็นแต่สิ่งดี หลวงพ่อที่ใคร ๆ ว่าเลวไม่ดี หากโดดเข้ารักนับถือแล้วตาจะบอดมืดมิดมองไม่เห็นอย่างที่คนอื่นเห็นเพราะไม่ใช้เหตุผลแต่ใช้อารมณ์ หลักฐานอะไรที่ชี้ว่าหลวงพ่อไม่ดีก็โยนทิ้งหมด รับแต่หลักฐานที่ยืนยันว่าหลวงพ่อดี

          อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือหากจะรัก จะนับถือใครแล้ว ไม่ควรโดดเข้าไปโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ควรพิจารณาดูหลักฐานทั้งสองด้านก่อนที่จะเอนเอียงตัดสินไปทางด้านใด มิฉะนั้นจะรับแต่หลักฐานด้านเดียวที่สนับสนุนความเชื่อหรือความรู้สึกที่มีอยู่

          มนุษย์นั้นถูกหลอกได้ไม่ยาก และคนที่สามารถหลอกได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ก็คือตัวเองนั่นแหละ เพราะปรากฏการณ์ ‘perception is selective’ ไม่เข้าใครออกใคร เฉพาะคนมีปัญญาเท่านั้นที่สามารถหลุดรอดจากกับดักเช่นนี้ได้

          ถ้าท่านเห็นว่ามนุษย์มีอุปสรรคในการคิดจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดอยู่ไม่น้อยแล้ว ลองพิจารณาสิ่งต่อไปนี้ดูว่ามนุษย์นั้นเผชิญกับภยันตรายอีกมากเพียงใด

          ทุกวันเราได้ยินคำพยากรณ์มากมายในแทบทุกด้านโดยหมอดู นักวิชาการ นักการเมือง ข้าราชการ ฯลฯ ทั้งในด้านดีและด้านร้าย คนทั่วไปก็จำเป็นต้องรับเอา คำพยากรณ์เหล่านี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการประกอบธุรกิจ ลงทุน หรือดำเนินชีวิต

          เหตุที่เรามีคำพยากรณ์มากมายก็เพราะคนพยากรณ์ให้คำทำนายโดยไม่เสียอะไร มีแต่จะได้ เคล็ดลับในเรื่องนี้ก็คือให้คำพยากรณ์บ่อย ๆ ห่าง ๆ สักหน่อย โดยคำพยากรณ์ขัดแย้งกันก็ยิ่งดี หากทำนายผิดผู้คนก็ไม่ถือโทษโกรธแค้น และมักจำไม่ได้ว่าพยากรณ์ไว้ว่าอย่างไร แต่ถ้าหากเกิดถูกขึ้นมาคนพยากรณ์ก็มีแต่ได้เพราะจะกลายเป็นผู้วิเศษทันที บ่อยครั้งเราเห็นนักพยากรณ์คุยโม้โอ้อวดสิ่งที่ตนทำนายถูก โดยไม่เคยเอ่ยถึงคำพยากรณ์ที่ผิดมาเกือบทุกครั้งเลย

          มีฝรั่งอยู่คนหนึ่งชื่อ Philip Tetlock ได้ประเมิน 28,361 คำพยากรณ์ในช่วงเวลา 10 ปีของผู้ตั้งตนเองเป็นกูรู 284 คน และพบว่ากูรูเหล่านี้ทำนายได้แม่นยำกว่าการเดาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

          ข้อเท็จจริงเช่นนี้จะทำให้คนที่ชอบโอนอ่อนผ่อนตามคำพยากรณ์โดยเอามันมาประกอบการตัดสินใจครั้งสำคัญต้องเผชิญกับอันตรายที่น่ากลัวด้วยความเข้าใจผิดว่าคำพยากรณ์นั้นแม่นยำอย่างปราศจากข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาจาก ‘หลวงพ่อ’ ที่นับถือยิ่ง

          อย่าเย่อหยิ่งและมั่นใจว่าไม่มีอะไรที่สามารถลวงตาหรือลวงใจท่านได้ เพราะตราบที่เป็นมนุษย์ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากกับดักทางจิตวิทยาไปได้ จะถูกลวงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้มีปัญญามากหรือน้อยเท่านั้นเอง

ความคิดเชิงสร้างสรรค์และความสะดวก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2 กันยายน 2557

          รอบตัวเราเต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเกิดจากความคิด เชิงสร้างสรรค์ ลองดูว่ามีอะไรบ้างและมีที่มาที่ไปอย่างไร และความคิดเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร

          สิ่งแรกที่เราใช้กันทุกวันแต่อาจมิได้สังเกตนั่นก็คือส้วมแบบชักโครก นับเป็นพัน ๆ ปีมาแล้วที่เรามีส้วมหลุม ทั้งชนิดที่เอาสิ่งปฏิกูลทิ้งโดยตักออกจากถังรวม และชนิดที่ทิ้งไปเลยโดยถ่ายลงไปในหลุม

          การตักอุจจาระและกากไปทิ้งเป็นเรื่องวุ่นวาย และยุ่งยากมากอีกทั้งผิดหลักสุขอนามัยอีกด้วยหากไม่ทำอย่างถูกขั้นตอน กลิ่นจากถังและหลุมถ่ายเป็นปัญหาใหญ่จนไม่อาจมีห้องส้วมอยู่ในบ้านได้ ต้องแยกออกไปไว้นอกบ้านต่างหาก มนุษย์ทำเช่นนี้กันมาเป็นเวลานานมากจนกระทั่งมีคนที่มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ช่วยทำให้เกิดความสะดวกสบายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

          ส้วมแบบชักโครก (flush toilet) ซึ่งใช้น้ำไหลแรงชำระอุจจาระผ่านลงถังเก็บเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากแนวคิดของ Sir John Harington (ค.ศ. 1561-1612) ในอังกฤษโดยเขียนบรรยายและแสดงผังการใช้น้ำไหลเพื่อชำระประกอบ เขาสร้างและติดตั้งเครื่องหนึ่งให้ Queen Elizabeth I ซึ่งเป็นแม่ทูลหัว

          ถึง Queen Elizabeth I จะทรงไม่ใช้เพราะมีเสียงดังเอิกเกริกและมีกลิ่นขึ้นมาแต่ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยระบบสุขอนามัยมาก ถึงแม้ในอังกฤษจะไม่ได้รับความนิยมนักแต่ก็มีการใช้กันในฝรั่งเศส

          เมื่อเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในประมาณช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ตามมาส่งผลให้ Alexander Cummings ประดิษฐ์ส้วมชักโครกชนิดที่เป็นต้นแบบจนถึงปัจจุบันโดยสามารถกำจัดเรื่องกลิ่นที่ขึ้นมาจากถังเก็บได้สำเร็จ ความคิดสร้างสรรค์ของเขาก็คือการประดิษฐ์ท่อทิ้งอุจจาระจากโถส้วมให้มีลักษณะเป็นคอห่าน (เป็นรูปตัวเอส) โดยมีน้ำสะอาดขังนิ่งอยู่ใน ท่อคอห่าน และน้ำส่วนนี้แหละที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกั้นกลิ่นขึ้นมาจากถึงเก็บข้างล่างเป็นอย่างดี

          ความคิดสร้างสรรค์ง่าย ๆ เช่นนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์สูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเพราะห้องส้วมสามารถอยู่ในบ้านและติดกับห้องนอนได้ ทุกเช้าที่เข้าห้องน้ำเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว กรุณานึกถึงนักประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกแห่งสุขอนามัยและความสะดวกสบายคนนี้บ้าง

          ตัวอย่างที่สองคือแม่กุญแจชนิดคล้องบานพับเพื่อป้องกันมิให้สามารถเปิดประตู ลิ้นชัก กล่อง หรือตู้ได้ เราอาจเห็นมันทุกวันจนมิได้คิดว่ามันเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ถ้าปราศจากความคิดสร้างสรรค์เรื่องแม่กุญแจแล้ว มนุษย์จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงอย่างมากทีเดียว

          แม่กุญแจ (padlock) เริ่มมีใช้ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์กาล หรือใกล้พุทธกาล ในจีนก็มีหลักฐานของการใช้ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 25-220) ทั้งหมดทำจากโลหะโดยมีกุญแจเป็นตัวบังคับการล็อคหรือปลดล็อค คำถามก็คือมนุษย์คิดได้อย่างไรในการประดิษฐ์สิ่งซึ่งมีความซับซ้อนในกลไกการล็อค ยิ่งไปกว่านั้นแม่กุญแจแต่ละตัวมีลูกกุญแจไขล็อคเฉพาะของตัวเองอีกด้วย

          เมื่อคำนึงถึงแม่กุญแจที่แข็งแรงและมีกลไกซ่อนเงื่อนซึ่งยากต่อการปลดล็อคที่เอาไปใช้ คู่กับตู้เซฟซึ่งมีกลไกปิดเปิดด้วยการหมุนลูกบิดตู้เซฟไปมาหลายรอบแล้ว ยิ่งน่าชื่นชมมนุษย์ผู้คิดค้นซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

          ตัวอย่างที่สามคือหม้อหุ้งข้าวไฟฟ้า (rice cooker หรือ rice steamer ในสหรัฐอเมริกาภาษาพูดทั่วไปเรียกว่า rice maker) ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริงของคนญี่ปุ่น

          ใน ค.ศ. 1937 กองทัพญี่ปุ่นมีการหุงข้าวในหม้อไม้สี่เหลี่ยมโดยเอาไฟฟ้าจาก 2 ขั้วแหย่ลงไปในน้ำที่มีข้าวจนน้ำเดือดและข้าวสุก วิธีการหุงข้าวแบบนี้ได้รับการพัฒนาต่อมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโดย Mitsubishi Electric ใน ค.ศ. 1945

          เจ้าแรกผู้ผลิตนี้ใช้หม้ออลูมิเนียมใส่ข้าวและมีลวดขดไฟฟ้าให้ความร้อนอยู่ด้านล่าง แต่ยังไม่มีระบบตัดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อข้าวสุก คนหุงยังต้องจับตาเฝ้ามองจนข้าวสุกจึงจะปิดสวิตช์ไฟฟ้า

          หม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่เป็นต้นแบบของปัจจุบันประดิษฐ์โดยนาย Yoshitada Minami ผู้ทำงานให้กับ Toshiba Electric Corporation ในเดือนธันวาคมของปี 1956 Toshiba ก็วางตลาด หม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ปิดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อข้าวสุกดังเช่นที่เราใช้กันในปัจจุบัน ในโลกของผู้บริโภคข้าวซึ่งมีจำนวนประชากรเกินกว่าครึ่งโลก (กว่า 3,500 ล้านคน) ในแต่ละวันหม้อหุงข้าวนับพันล้านหม้อรับใช้อย่างซื่อสัตย์

          หม้อหุงข้าวลักษณะนี้เข้ามาในบ้านเราประมาณ พ.ศ. 2500 ต้น ๆ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา น้ำข้าวซึ่งเป็นยอดอาหารก็หายไปจากชีวิตของคนไทยเช่นเดียวกับไม้ขัดหม้อ หรือ ‘ไม้ดัดนิสัยเด็ก’

          คำถามที่น่าสนใจก็คือความคิดสร้างสรรค์ที่บันดาลให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ 3 อย่างข้างต้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ในความเห็นของผู้เขียนนั้น มันเกิดขึ้นได้จาก 4 ปัจจัยด้วยกันกล่าวคือ (1) การมองเห็นประโยชน์อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์นั้น ๆ เช่น เมื่อมีความต้องการใช้ส้วมที่สะดวก กุญแจที่ช่วยป้องกันทรัพย์สิน และหม้อหุงข้าวที่ให้ความสะดวกและประหยัดเวลา (2) ความอยากรู้อยากเห็นจนทำให้เกิดจินตนาการหรือความคิดต่อยอด เช่น น้ำนิ่งขังในคอห่านเป็นตัวฉนวนกันกลิ่นได้หรือไม่ จะสร้างกลไกที่ซับซ้อนของกุญแจอย่างไร และหุงข้าวอย่างไรให้สะดวกที่สุด (3) การคิดอย่างผิดไปจากวิธีคิดแบบดั้งเดิม เช่น ส้วมชักโครกเกิดขึ้นเพราะการคิดใช้น้ำสะอาดเป็นตัวพัดชำระอุจจาระ หม้อหุ้งข้าวไฟฟ้าเกิดเพราะใช้วิธีหุงโดยใช้ไฟฟ้า และ (4) การมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนเองสนใจจนสามารถทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ ถ้าเพียงแต่คิดและไม่มีความสามารถทางช่างเลย 3 ตัวอย่างข้างต้นก็เกิดขึ้นไม่ได้

          ถ้าโลกขาดความคิดสร้างสรรค์ของคนกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ คุณภาพชีวิตของพวกเราในปัจจุบันคงไม่สูงดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และถ้าเป็นความคิดที่มิได้นำไปปฏิบัติจริงแล้ว ทั้งหมดก็คงเป็นเพียงความเพ้อฝันบวกความเพ้อเจ้อเท่านั้น
 

ออสเตรเลียลุยปลูกฝิ่น

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 สิงหาคม 2557

          โลกมีอะไรหลายอย่างที่น่าแปลกใจยิ่งขึ้นทุกวัน ทัวร์ “อุ้มบุญ” ไปอินเดียและรัสเซียกำลังได้รับความนิยมโดย ‘การอุ้มบุญ’ ทำให้เด็กที่เกิดมาไม่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวพันแต่อย่างใดกับแม่ผู้ให้กำเนิด การเสพและปลูกกัญชาในรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และล่าสุดออสเตรเลียกำลังลุยปลูกฝิ่นเพื่อสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

          รัฐทัสมาเนีย (Tasmania) เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย มีจำนวนประชากรคงตัวอยู่ที่ครึ่งล้านโดยมักไม่ย้ายไปไหนและมีคนอพยพไปอยู่น้อย และด้วยองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยและการตัดขาดจากโลกภายนอก การปลูกฝิ่นในทัสมาเนียที่ทำกันมากว่า 50 ปีแล้วจึงอยู่รอดมาได้เป็นอย่างดี

          ปัจจุบันทัสมาเนียผลิตประมาณครึ่งหนึ่งของฝิ่นทั้งโลกที่ถูกกฎหมาย เป็นหนึ่งใน 4 ประเทศในโลกที่ปลูกฝิ่นได้ถูกกฎหมายโดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมของสหประชาชาติ อีก 3 ประเทศที่ได้รับอนุญาตคือ สเปน ฝรั่งเศส และอินเดีย

          ฝิ่นเป็นยางแห้งที่ขูดออกมาจากผิวกะเปาะฝิ่นสด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากดอกฝิ่นร่วงหมดแล้วจนเหลือแต่กะเปาะ วิธีการดั้งเดิมก็คือใช้มีดกรีดกะเปาะฝิ่นสดให้เป็นแผลสัก 3-4 บั้ง และทิ้งให้ยางฝิ่นสีขาวที่ไหลออกมาแข็งตัวข้ามคืน จากนั้นก็ขูดเอายางฝิ่นแห้งออกมาเป็นฝิ่นดิบ หนึ่งกะเปาะสามารถใช้ประโยชน์ได้ 3-4 ครั้งโดยเว้นการกรีดครั้งละ 2-3 วัน

          ยางแห้งของต้นฝิ่น (Papaver somniferum) มีสารพัดโทษและประโยชน์ เพราะมันมีสาร 3 ตัวสำคัญที่ออกฤทธิ์ในทางทำให้รู้สึกสุขเคลิบเคลิ้มอย่างปราศจากความเจ็บปวด ซึ่งได้แก่ morphine / codeine และ thebaine สำหรับ morphine นั้นถ้านำไปผ่านกระบวนการเคมีก็จะได้ heroin ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงในด้านเสพติด

          แต่เดิมเข้าใจกันว่าฝิ่นปลูกได้แต่เฉพาะบนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากและไม่อยู่ในบริเวณที่หนาวเกินไป อย่างไรก็ดีการปลูกและเสพฝิ่นนั้นมีมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์นับเป็นพัน ๆ ปีก่อนคริสตกาลในทั่วทุกบริเวณทั้งหนาวและร้อนตั้งแต่ยุโรป ตะวันออกกลาง จนถึงเอเชีย

          การปลูกฝิ่นในออสเตรเลียเริ่มในปี ค.ศ. 1950 ในทัสมาเนีย เมื่อบริษัทผลิตยาระดับยักษ์ของโลกต้องการแหล่งสัพพลายวัตถุดิบที่เชื่อถือได้เพื่อนำไปผลิตยาแก้ปวด ซึ่งนับวันก็เป็นที่ต้องการของชาวโลกมากยิ่งขึ้นทุกที

          สาเหตุที่เลือกทัสมาเนียก็เพราะเชื่อว่าสามารถวิจัยค้นคว้าเพื่อผลิตฝิ่นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ในระดับที่ไม่จำเป็นต้องสูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ทนหนาวได้ดีและไม่ชื้นเฉะ ซึ่งต้นฝิ่นไม่ชอบเอามาก ๆ นอกจากมีสภาวอากาศที่เชื่อว่าเหมาะสมแล้ว ยังสามารถหลบหลีกจากสายตาชาวโลกซึ่งรังเกียจฝิ่นโดยไม่ตระหนักว่าสามารถนำมาเป็นยาแก้ปวดได้เป็นอย่างดี ประการสำคัญก็คือมีน้อยคนที่รู้ว่าทัสมาเนียนั้นอยู่ที่ใดในโลกอีกด้วย

          การเป็นเกาะเล็กมีผู้คนอาศัยอยู่น้อย ในบางเมืองในชนบทครอบครัวส่วนใหญ่รู้จักกันข้าม 3-4 ชั่วคน ทำให้การควบคุมการปลูกตลอดจนการตรวจสอบการนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          งานวิจัยพันธุ์อย่างยาวนานตลอดจนการพัฒนากรรมวิธีการผลิตที่ไม่ต้องอาศัยแรงงานอย่างมากในการกรีดกะเปาะและขูดยางฝิ่นหากแต่ใช้เครื่องจักรแยกกะเปาะออกจากเมล็ดข้างในแทน ทำให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ละปีในปัจจุบันฝิ่นสามารถทำเงินให้เกษตรกรได้มากถึงเอเคอร์ (2 ไร่ครึ่ง) ละ 4,000 เหรียญสหรัฐ (128,000 บาท) รวมเป็นเงินแก่เษตรกรถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,500 ล้านบาท) ต่อปี จนเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาคเกษตรนอกเหนือไปจากการผลิตนมและเลี้ยงวัว

          ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งก็คือ morphine และ heroin เท่านั้นที่เป็นผลผลิตที่มีค่ายิ่งของฝิ่น แต่แท้จริงแล้ว thebaine และสารเคมีอื่น ๆ ในฝิ่นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีในการขจัดความเจ็บปวด ในปัจจุบันมียาประเภทนี้ที่มีฐานมาจาก thebaine มากขึ้นทุกที

          การมุ่งสกัด thebaine จากฝิ่นทำให้นักวิจัยต้องพัฒนาฝิ่นพันธุ์ที่มีสาร thebaine มากเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้สามารถหลีกหนีผลกระทบจากการที่รัฐบาลอเมริกันมีนโยบายซื้อวัตถุดิบฝิ่นจากพันธุ์ปกติรวมร้อยละ 80 จากอินเดีย และตุรกีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี

          การปลูกฝิ่นในทัสมาเนียรุ่งเรืองและเกษตรกรรวยเงียบ ๆ มายาวนานจนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติขึ้นในพักหลังจนทำให้แหล่งผลิตนี้มีความน่าเชื่อถือน้อยลง กล่าวคือฝนเป็นศัตรูสำคัญของฝิ่น ดินที่แฉะจากฝนตกหรือน้ำขังทำให้รากเน่าได้ง่ายดาย บริษัทยาเห็นความเสี่ยงเช่นนี้จึงเริ่มหันไปปลูกในบริเวณอื่นเพิ่มเติม และทดลองในพื้นที่ตอนเหนือของทวีปคือ Northern Territory ด้วย

          บริเวณที่ขยายออกไปปลูกก็คือพื้นที่ของรัฐวิคตอเรีย ซึ่งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของทวีปออสเตรเลียโดยอยู่เหนือทัสมาเนีย การสนับสนุนของรัฐบาลรัฐวิคตอเรียอย่างหนักในการปลูกฝิ่น ทำให้ทัสมาเนียสูญเสียประโยชน์ไปมากแต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้มากนัก

          อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือวิธีการคิด หากไม่คิดว่าสามารถปลูกฝิ่นได้ในอากาศแบบ ทัสมาเนีย การปลูกฝิ่นในออสเตรเลียก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน การคิดว่ามีความเป็นไปได้และใช้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือประกอบทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

          ถ้านักวิจัยไทยไม่คิดว่าสามารถปลูกองุ่นแถบปากช่องและสระบุรีได้ อุตสาหกรรม ไวน์ไทยก็คงไม่เกิดขึ้น ถ้าโครงการหลวงคิดว่าการปลูกผลไม้เมืองหนาว การเลี้ยงปลาเทราท์ ตลอดจนการเพาะเห็ดและปลูกผักสารพัดประเภทจากต่างประเทศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทุกอย่างก็คงจบ เราคงไม่มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมายดังเช่นที่เป็นอยู่ใน

          ปัจจุบันอย่างแน่นอน และถ้าคนชิลีไม่คิดว่าการเลี้ยงปลาแซมมอนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เมื่อ 30 ปีก่อน ป่านนี้ชิลีคงไม่เป็นแหล่งผลิตปลาแซมมอนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในทุกวันนี้

          การคิดนอกแนวไปจากที่เคยเป็นอยู่และลงมือปฏิบัติจริงเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นของนวตกรรมเสมอ