ลงทุนอย่างทันสมัย และสุขใจด้วยแนวคิด Noble Obligation

โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
จาก The Leader of WEALTH (SCB ไทยพาณิชย์) Issue 01, 2012

“การสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมควรเป็นเป้าหมายอันสูงส่งของเจ้าของความมั่งคั่งนั้น”

การรู้จักบริหารความมั่งคั่งนำสู่ความมั่นคงในชีวิตและเหนือกว่าความมั่นคงคือความสุขในชีวิต ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เจ้าของผลงาน เงินทองของ(ไม่)หมู,เงินต่อเงิน, เงินไหลมา ฯลฯ และหนังสือเกี่ยวกับการจัดการการเงินส่วนบุคคลที่ติดอันดับหนังสือขายดีอีกหลายเล่มมอบแนวความคิดการลงทุนต้อนรับปี 2555 เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม

ผู้นำแห่งความมั่งคั่ง

ผมขอให้คำจำกัดความของ “wealth”หรือ “ความมั่งคั่ง”ว่าคือฐานที่จะทำให้เกิดความ มั่นคงในชีวิต มนุษย์จะมีความสุขได้ต้องมีทรัพย์สินเงินทองเป็นพื้นฐานระดับหนึ่งและรู้จักนำสิ่งที่มีนั้นเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสุขการมีทัศนคติที่ถูกต้องในการบริหารจัดการความมั่งคั่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ในความเห็นของผม ผู้นำแห่งความมั่งคั่งควรมีแนวคิดเรื่อง Noble Obligation ซึ่งหมายถึงการต้องมีความผูกพันและรับผิดชอบอันสูงส่งในการนำความมั่งคั่งไปสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคม

ผู้ที่มีความมั่งคั่งคือคนที่โชคดีมาก ยิ่งมีมากยิ่งต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าผู้อื่นอย่าลืมว่าความมั่งคั่งสามารถสร้างอันตรายให้ผู้คนได้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งต้องระวังอันตรายมาก การมีแนวคิดNoble Obligationซึ่งผมถือว่าเป็นศีลธรรมในระดับสูงสุดที่มนุษย์ควรมุ่งไปให้ถึงหรือศีลธรรม ระดับ 6* นั่นคือกระทำด้วยการสำนึกว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำ ไม่ต้องให้ใครหรืออะไรมาบังคับ เป็นสิ่งที่เกิดจากความสำนึกของตนเอง เป็นศีลธรรมระดับสูงสุดที่ควรต้องเข้าไปอยู่ในใจของผู้เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง รวมถึงการส่งต่อความคิดนี้ให้ลูกหลานของผู้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งด้วย

สู่ความสำเร็จด้านการลงทุน

การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการคิดถึงสิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต การลงทุนที่ดีในทัศนะผม หนึ่ง ต้องเป็นการลงทุนที่มีเป้าหมาย ทำให้ทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาโดยเบียดเบียนผู้อื่นอย่างตั้งใจน้อยที่สุด สอง รู้จักประมาณตนคือลงทุนอย่างพอเพียงเหมาะกับตนเอง ไม่เสี่ยงมากเกินไป ถ้าหวังจะได้ผลตอบแทนสูงต้องตระหนักว่ามีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และสาม มีสติรู้เท่าทันรู้จักเครื่องมือ รู้จักทางเลือก รู้จักจังหวะในการลงทุนซึ่งต้องไม่ละโมบโลภมากจนเกินตัวและความพอดี

สำหรับผมแล้ว การลงทุนที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง (invest in yourself) นั่นก็คือบุคคลต้องใฝ่หาความรู้และทักษะตลอดเวลาและพัฒนาบุคลิกภาพที่นำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จ หากมีเงินลงทุนก็ให้คิดถึงอนาคตเป็นอันดับแรกและลงทุนอย่างผสมผสานทั้งที่มีความเสี่ยงมากและน้อย โดยมีหลักสำคัญคือการลงทุนในขนาดของการสูญเสียที่สามารถยอมรับได้ และควรเลือกใช้บริการกับสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจ มีประวัติของความสำเร็จที่ผ่านมา รวมถึงคำนึงถึงระบบธรรมาภิบาลขององค์กรเหล่านั้น

รูปแบบการลงทุนที่ทันสมัย

เนื่องจากปัจจุบันไม่มีธุรกิจใดที่สร้างความมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปีนับจากนี้ แม้จะมีการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแต่การผันผวนของเศรษฐกิจนั้นเป็นนิรันดร์ ไม่มีสิ่งใดที่เชื่อมั่นได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงควรลงทุนด้วยความรอบคอบระมัดระวัง การลงทุนที่ทันสมัยสำหรับผมแล้วก็คือแนวคิดในเรื่อง Noble Obligation ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างคุณค่าที่แท้จริงเพราะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อสังคมถือเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้สังคมและตนเองในอนาคต ผู้มีความมั่งคั่งเป็นผู้ที่มีทั้งปัญญาและโอกาส การมี Noble Obligation จะทำให้เกิดการลงทุนที่ไม่สร้างความทุกข์ระทมใจอย่างตั้งใจแก่ผู้อื่นในระยะยาว หากรู้จักนำความมั่งคั่งมาต่อยอดและแบ่งปัน

เคล็ดลับการลงทุนอย่างยั่งยืน

ผมเป็นคนเชื่อมั่นในพลังของการออม เพราะการออมเป็นหัวใจของการสร้างอนาคต และสำหรับอนาคตนั้นใคร ๆ ก็คิดหวังอยากมีความสุข ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการออมจะทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย มีพลังและเกิดความมั่นใจ ไอน์สไตน์บอกว่าสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขไม่ใช่สิ่งที่คุณมีหรือสิ่งที่คุณเป็นหากขึ้นอยู่กับการคิดของคุณเป็นสำคัญ

ตัวผมเองมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตอย่างต่ำกว่าฐานะทางเศรษฐกิจ แล้วนำเงินที่เหลือหรือเงินออมออมไปลงทุนในสิ่งที่ช่วยสร้างคุณค่าในระยะยาว เช่น การศึกษาของครอบครัว การลงทุนในกิจการที่มีความมั่นคงและเป็นประโยชน์ต่อสังคม การทำให้เงินทำงานรับใช้ (ผลตอบแทนได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ) แม้จะไม่มีเงินให้ดูแลมาก แต่ก็มีความสุขเพราะผมนำกฎเกณฑ์ของความพอดีและความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีมาใช้เสมอ

การจัดการความมั่งคั่งอย่างมีอุดมการณ์ของความรับผิดชอบและการแบ่งปันจะช่วยสร้างความหมายและคุณค่าให้แก่ชีวิตและความมั่งคั่งนั้น

ระดับศีลธรรม ถือกำเนิดโดย Lawrence Kohlberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-ยิว ซึ่งมีแนวคิดว่าการที่บุคคลหนึ่งๆ ทำสิ่งดีๆ นั้น มาจากแรงจูงใจที่แตกต่างกัน 6 ระดับ ประกอบด้วย   1. ทำดีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ       2. ทำดีเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น รางวัล    3. ทำดีเพื่อให้บุคคลอื่นและสังคมยอมรับ   4. ทำดีเพราะมี ระเบียบกฎเกณฑ์กำหนดไว้    5. ทำดีเพราะตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม    6. ทำดีเพราะตระหนักว่าเป็นสิ่งถูกต้องสมควรทำ