Margaret Thatcher : แม่มด หรือนางฟ้า

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 เมษายน 2556  

          ถึงจะมีงานศพใหญ่โต มีผู้คนบางส่วนแซ่ซ้องสรรเสริญว่าเป็นรัฐบุรุษ (สตรี) คนสำคัญของอังกฤษ แต่กระนั้นก็ตามมีคนอีกมากมายเกลียดชังเธอ…….ตกลง Margaret Thatcher เป็นแม่มดหรือนางฟ้ากันแน่

          เสียงเพลง “Ding Dong the Witch is Dead” จากภาพยนตร์ “The Wizard of Oz” กระหึ่งขึ้นทันทีหลังจากที่ MT (ชื่อที่สามีเรียกเธอ) ถึงแก่อสัญกรรม คนที่ร้องรำทำเพลงยินดีกับการจากไปของเธอได้รอคอยวันที่จะได้ตบหน้าเธอในลักษณะนี้มานานกว่า 20 ปี

          จะเข้าใจความรู้สึกของพวก Ding Dong เหล่านี้ได้ก็ต้องดูการเมืองอังกฤษ นับตั้งแต่ปี 1964 ถึง 1979 พรรค Labor ครองอำนาจมาตลอด (ยกเว้น 4 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1970-1974 ที่รัฐบาลพรรค Conservative มาคั่น) ตลอดเวลาเหล่านี้อุดมการณ์โซเซียลลิสถูกแปรรูปเป็นนโยบายออกมาเป็นชุดเพื่ออุ้มคนรายได้น้อยไม่ว่าในด้านสาธารณสุข การศึกษา บริการสาธารณะ สวัสดิการสังคม ฯลฯ

          นอกจากนี้สหภาพแรงงาน แรงงานคนทำเหมือง แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก มีอำนาจมากจนมีการสไตร์ดบ่อยครั้งมาก ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งมวลชน ขนส่งท่าเรือ โรงพิมพ์ ขนขยะแม้แต่สัปเหร่อ ส่วนข้าวของก็แพง (กลุ่มประเทศอาหรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในปี 1973) รัฐบาลเข้าแทรกแซงค่าจ้างและราคา แถมภาษีก็สูง ฯลฯ สรุปได้ว่าผู้คนเริ่มระอากับแนวคิดโซเชียลลิสในอังกฤษที่มีติดต่อกันมา 35 ปีและเป็นกระแสที่แรงต่อเนื่องในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

          Niall Ferguson นักประวัติศาสตร์ดาวรุ่งชาวสก๊อตในวัยปลาย 40 ที่ได้รับการยอมรับมากในระดับโลก (เจ้าของหนังสือ Civilization (2011) และ The Great Degeneration (2012) อันเลื่องลือ) ได้เขียนชื่นชม MT เขาเล่าว่าในปี 1979 ที่เธอเริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อัตราเงินเฟ้อคือร้อยละ 17 คนอังกฤษสิ้นหวังและเบื่อหน่ายกับชีวิตหลังการล่มสลายของอาณาจักรอังกฤษ มองไปแล้วไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของอังกฤษดังที่เคยเป็น

          Ferguson บอกว่าเธอได้สร้างความหวังให้คนอังกฤษอีกครั้งด้วยการ U-Turn นโยบายของพรรค Labor เกือบทั้งหมด (“นารีขี่ม้าขาว” ตัวจริง) และแทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยม ชื่นชมทุนนิยม อันได้แก่ การใช้กลไกตลาด ความเป็นเสรีของตลาด เสรีภาพของหน่วยเศรษฐกิจและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เธอเอาบ้านที่รัฐสร้างให้คนมีรายได้น้อยเช่ามายาวนาน (council houses) ขายให้เป็นสมบัติของผู้อยู่อาศัย ทำการ privatize อุตสาหกรรมที่ถูกยึดมาเป็นของรัฐในยุครัฐบาล Labor โดยการขาย แปรรูป หรือยุบทิ้ง

          ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการกลับลำ ความสามารถในการสื่อสารโดยเฉพาะในการพูดโต้ตอบกับกลุ่ม ส.ส. ชายทั้งหลาย กับเกย์ กับกลุ่มพลังสิทธิสตรี กับสหภาพแรงงาน กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเธอ กับกลุ่มโซเซียลลิส ฯลฯ ทำให้เธอสามารถทำงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจโดยใช้กลไกตลาดได้สำเร็จพอควร แต่ก็มีศัตรูมากมายโดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่าความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมสำคัญกว่าประสิทธิภาพ

          คำพูดของเธอแสบคัน สะใจแฟนคลับแต่สร้างความเกลียดชังในใจศัตรู เช่น “พวกนี้ติดโรคโซเซียลลิสคือชอบทำให้เงินของคนอื่น (ที่เอามาทำโปรแกรมสังคม) หมดไป” “ปัญหาของคุณก็คือกระดูกสันหลังของคุณมันไม่ยาวไปถึงสมอง” “ดิฉันไม่ใช่นักการเมืองประเภทแสวงหาความเห็นพ้อง (consensus politician) หากเป็นนักการเมืองประเภทมีความมุ่งมั่นในความเชื่อ (conviction politician)”

          ตลอดเวลา 11 ปีที่เป็นนายกรัฐมนตรี (ยาวที่สุดสำหรับนายกฯ ในศตวรรษที่ 20 และเป็นคนแรกและยังเป็นคนเดียวที่เป็นผู้หญิงของอังกฤษ) ระหว่าง 1979-1990 เธอได้รับความชื่นชมจากการชนะศึก Falklands (เกาะของอังกฤษและถูกบุกยึดโดยอาเยนตินา) ในปี 1982 ได้รับคำสรรเสริญในการทำให้เศรษฐกิจอังกฤษกลับฟื้นตัวขึ้นมา และในการทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ในใจของชาวโลก

          MT นั้นไม่เป็นที่รักของผู้นำยุโรป (Francois Mitterrand บอกว่าปากเธอเหมือน Marilyn Monroe) เพราะเธอไม่ต้องการให้อังกฤษร่วมลงเรือลำเดียวกับสมาชิกยุโรปอื่น ๆ (ไม่ยอมใช้เงินยูโร ไม่ยอมการใช้วีซ่าร่วมที่เรียกกันว่า Schengen Visa ไม่สนับสนุนไอเดียการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี) เธอไม่เห็นด้วยกับการเป็นสมาชิก EU อย่างเต็มตัวของอังกฤษ

          ใครที่อยากดูภาพยนตร์ชีวประวัติของเธอในแนวชื่นชม ต้องไม่พลาด “The Iron Lady” (ไม่ใช่หญิงนักรีดผ้าหากเป็นหญิงเหล็ก) ซึ่ง Merlyn Streep เล่นเป็นตัวเธอได้สุดยอดจนได้รางวัล ตุ๊กตาทอง ในเรื่องนี้เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องการก็คือการมีชีวิตที่ช่วยทำให้เกิดความแตกต่าง (make a difference) และเธอก็ได้ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้สำเร็จจริง ๆ

          อังกฤษในปัจจุบันมีอิสรภาพในการใช้ค่าเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (หากร่วมใช้เงินยูโรป่านนี้คงถูกโซ่ที่ผูกขาร่วมกันดึงลงน้ำไปแล้ว) มีระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพผ่านกลไกตลาดเสรีถึงแม้ว่าจะได้มาด้วยการทำให้ช่องห่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างมากขึ้นก็ตามที

          เธอบอกว่า “คนอาจเกลียดฉันในปัจจุบัน แต่อีกหลายชั่วคนจะขอบคุณฉัน” และก็เป็นจริงดังที่เธอคาด เธอถูกเขี่ยออกจากหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. 1990 เพราะพรรคกลัวว่าเธอจะนำไปสู่ความปราชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเพราะผู้คนเริ่มเบื่อการไม่ฟังเสียงคนอื่นของเธอ อย่างไรก็ดีปัจจุบันผู้คนจำนวนมากก็ชื่นชมสิ่งที่เธอได้ทำไป ชื่อ MT ทั้งในตอนที่มีชีวิตอยู่และจากไปแล้วสามารถปลุกความรู้สึกชอบและไม่ชอบขึ้นได้ทุกครั้ง

          ไม่ว่าจะชอบเธอหรือไม่ก็ตาม คนที่มีใจเป็นธรรมคงเห็นว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างประวัติศาสตร์ เธอรักชาติ เธอกล้าหาญ เธอไม่เคยมีชื่อเสียงมัวหมองในเรื่องเบียดบังเงินทอง ไม่เคยเห็นประโยชน์ส่วนตัวสำคัญกว่าส่วนรวม และประการสำคัญเธอให้ความหวังแก่คนที่เลือกเธอมาเป็นนายกรัฐมนตรี

          สำหรับคนที่ชื่นชอบ เธอคือ “นางฟ้า” แต่สำหรับศัตรูแล้ว เธอคือ “แม่มด” ……….อะไรที่ทำให้เธอแปลงร่างได้ขนาดนั้น……… การตัดสินใจเลือก “ประสิทธิภาพ” แทน “ความ เท่าเทียม” ของเธอคือสิ่งที่ตัดสินเธอในใจของแต่ละคน