คนอินเดียเลือกวัวเหนือเงิน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 ตุลาคม 2556

          โลกนี้มีหลายสิ่งที่น่าพิศวงในความขัดแย้ง คำอธิบายมีทั้งตัวเลข เหตุผล เชิงวิชาการ บ่อยครั้งที่มักมองข้ามสิ่งที่ใกล้ตัว

          อินเดียมีวัวกว่า 280 ล้านตัว นอกจากจะเป็นสัญญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความเข้มแข็ง ความอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ ในสังคมฮินดูแล้ว คนอินเดียยังเลี้ยงวัวเพื่อกินนม ให้มูลที่ใช้ทำได้สารพัดประโยชน์ และเลี้ยงลูกเพื่อขายอีกด้วย

          นักเศรษฐศาสตร์สามคนนำโดย Santosh Anagoo เขียนรายงานวิจัยชื่อ “Continued Existence of Cows Disproves Central Tenet of Capitalism?” (September, 2013) ของ National Bureau of Economic Research (NBER) เสนอสิ่งน่าพิศวง

          นักวิจัยสามคนพบว่าผลประโยชน์ตอบแทนเฉลี่ยจากการเลี้ยงวัวในชนบทตอนเหนือของอินเดีย คือ -64% เมื่อเอาค่าแรงเลี้ยงวัว ค่าอาหาร ค่ายา ค่าดูแล ฯลฯ ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดมาคำนวณรวมกัน

          ข้อสงสัยก็คือเมื่อผลประโยชน์ตอบแทนมันต่ำมากเช่นนี้จนถือว่าเป็นการลงทุนที่ต่ำ มาก ๆ เหตุใดเกษตรกรจึงยังคงเลี้ยงวัวกันไปทั่ว พฤติกรรมมันค้านกับเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์

          วัวตัวหนึ่งถึงแม้จะกินหญ้ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 รูปีต่อปี (ประมาณ 5,000 บาท) ต้องมีการดูแลเป็นอย่างดีเพราะวัวมิใช่สัตว์ที่ทนทานต่อความเจ็บป่วย แต่มันก็ช่วยไถนา ช่วยขนส่ง และเดินทาง มีนมให้เป็นอาหาร ออกลูกขายได้อีก (ไม่มีการฆ่ากินเป็นอาหารเด็ดขาดเพราะคนฮินดูไม่กินเนื้อ และการฆ่าวัวนั้นสุดบาป) มูลวัวนั้นสุดวิเศษเพราะสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง เชื่อมต่ออิฐและสร้างผนังบ้าน ปูพื้นดินให้เรียบเพื่อทำกิจกรรมเกษตร ไม่ว่าฝัดข้าว ตากข้าว ซ้อมข้าว ปุ๋ยใส่ต้นไม้ ฯลฯ 

          การศึกษาได้ทำการคำนวณอย่างละเอียด ทั้งวัวและควาย (ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะวัวเท่านั้น) และได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก ๆ ดังกล่าว งานวิจัยได้พยายามอธิบายสาเหตุของความพิศวงไว้ดังนี้

          (1) ในบริเวณหมู่บ้านที่สำรวจนี้มีสาขาธนาคารจำนวนน้อยมาก (ทั้งอินเดียร้อยละ 7 ของจำนวนหมู่บ้านเท่านั้นที่มีสาขาธนาคาร) ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรขาดกลไกการออมสำหรับเงินที่เขามีเหลือ เมื่อไม่รู้ว่าจะเอาไปฝากไว้ที่ไหนนอกเหนือการซุกไว้ใต้ที่นอนหรือฝังดิน การลงทุนซื้อวัวเก็บไว้จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ

          (2) เกษตรกร (โดยเฉพาะเมียเกษตรกร) คงเห็นว่าเงินที่หามาได้มีโอกาสหมดไปกับการบริโภค (ฮินดูกินเหล้าและเล่นการพนันก็มีแยะ) ง่าย ๆ ในระยะสั้น ดังนั้นจึงทำให้มันไปจมอยู่ในตัววัว ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นเงินสดได้ยาก เงินออมเช่นนี้จะอยู่คงทนกว่าเงินฝากในธนาคารซึ่งถึงแม้จะอยู่ไกลแต่ก็มีความเป็น liquid สูงกว่าวัวซึ่งเป็น illiquid asset (แปรเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงินได้ยาก)

          นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์ซึ่งทำให้มองเห็นความสุขในระยะสั้น ๆ มากกว่าประโยชน์ในระยะยาวว่า ““สายตาสั้น” (myopia) การลงทุนในตัววัวบังคับให้เกษตรกรมีอาการ “สายตาสั้น” น้อยลง

          (3) ในจิตใจของคนฮินดู การเลี้ยงวัวทำให้เกิดความสุขเชิงจิตวิญญาณอย่างสูงถึงแม้จะให้ผลตอบแทนต่ำก็ตามที

          (4) เกษตรกรเลี้ยงวัวเพื่อให้นมคุณภาพดี (ร้อยละ 68.4 ของนมที่ขายในอินเดีย มีการสำรวจและพบว่าไม่ได้มาตรฐาน) แก่ครอบครัวแทนที่จะซื้อจากตลาดและไม่ขาย (ในงานศึกษาร้อยละ 12 ของเกษตรกรเท่านั้นที่ขายนม)

          ในความเห็นของผู้เขียนเอง นักวิจัยได้ละเลยสิ่งที่ประเมินเป็นตัวเลขได้ยาก (ในที่นี้ไม่ได้ประเมินเลย) และมีความสำคัญต่อการเลี้ยงวัวไว้ นั่นก็คือความสะดวกจากการมีมูลวัว

          ใครที่คุ้นเคยกับสังคมอินเดียจะสังเกตเห็นว่าการมีมูลวัวไว้ประจำบ้านซึ่งสามารถนำมาใช้ได้อย่างสะดวกตลอดเวลานั้นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการยอมลงทุนในตัววัว ตราบที่เกษตรกรอินเดียต้องการปุ๋ยไว้ปลูกผัก เพาะเห็ด ไถนา เทียมเกวียน ต้องการมูลวัวแห้งไว้เป็นเชื้อเพลิง ฯลฯ ตราบนั้นวัวจะเป็นการลงทุนที่ขาดไม่ได้

          ผู้เขียนไม่เชื่อว่าอัตราผลตอบแทนของการเลี้ยงวัวจะต่ำเป็นลบมากขนาดนั้นหากสามารถประเมินความสะดวกของการมีวัวไว้ในบ้านออกมาเป็นตัวเลขและรวมอยู่ในการคำนวณนี้
 

          การเข้าใจการเกิดของข้อพิศวงสามารถช่วยในเรื่องนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นที่ชัดเจนว่าการแจกวัวหรือให้กู้ยืมเพื่อเลี้ยงวัวไม่ใช่หนทางแก้ไขความยากจนเนื่องจากผลตอบแทนทางการเงินต่ำมาก การสร้างกลไกการเก็บรักษาเงินออม (ธนาคารเคลื่อนที่ สหกรณ์ออมทรัพย์) ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและสามารถนำไประดมให้กู้ต่อเพื่อสร้างผลิตภาพ (productivity) ของเกษตรกรด้วยกันเองน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า