ซอฟต์พาวเวอร์มาจากหนใด

วรากรณ์ สามโกเศศ
25 มกราคม 2565

​“ลิซ่า แบล็กพิงก์” นักร้องนักเต้นของวงเกาหลีใต้ในธุรกิจบันเทิงระดับโลกทำให้คนไทยพูดถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” (SP_Soft Power) โดยชักชวนให้ดูเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง พูดกันว่าไทยมีหลายสิ่งที่สามารถเอามาใช้สร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้ ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไรและสร้างได้อย่างไร

โดยแท้จริงแล้ว SP เป็นศัพท์วิชาการด้านรัฐศาสตร์การทูตและการเมืองระหว่างประเทศ และต่อมานำมาใช้ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจ ด้านกลยุทธ์ขององค์กร หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน

ความหมายสั้น ๆ ของ SP ก็คือความสามารถในการใช้การโน้มน้าวมาเป็นพลังมากกว่าที่จะเป็นการบังคับด้วยกำลัง พูดอีกอย่างก็คือ SP เกี่ยวพันกับการสร้างแบบแผนความพึงพอใจของคนอื่นด้วยการโน้มน้าว การดึงดูดใจ และการเรียกร้อง เพื่อให้สิ่งที่เขาต้องการเป็นอย่างเดียวกับสิ่งที่เราต้องการ

ตัวอย่างก็คือประเทศ ก. อยากให้ประเทศ ข. ยอมอนุญาตให้ตั้งสถานีเรดาร์ใน ประเทศ ข. วิธีการที่ทำได้ก็คือบังคับด้วยกำลัง ติดสินบน จ่ายเงิน สร้างแรงกดดัน ฯลฯ แต่ถ้าเป็นการใช้ SP แล้วก็หมายถึงการโน้มน้าวเจรจาขอตั้งโดยอ้างความมั่นคงร่วมกันโดยมีประชาชนในประเทศ ข.สนับสนุนเพราะมีความชื่นชอบประเทศ ก. เป็นพิเศษ อาจเป็นการชื่นชอบวัฒนธรรม เลื่อมใสศรัทธาในค่านิยมการเมือง (เช่นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน) หรือนโยบายต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเป็นมิตรที่ดีกันมายาวนาน เช่น ยามมีโรคระบาดก็บริจาควัคซีนให้ ให้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน ฯลฯ ดังนั้นจึงสามารถทำให้ประเทศ ข. ต้องการในสิ่งที่ ก. ต้องการ

ผู้ทำให้แนวคิด SP ที่มีมานานนับเป็นพัน ๆ ปีแล้วชัดเจนขึ้นมากก็คือ Joseph Nye นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันโดยเริ่มแต่ปลายทศวรรษ 1980 ผ่านหนังสือหลายเล่ม เขาบอกว่าอำนาจคือความสามารถในการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนอื่นเพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ตามที่ตนเองต้องการ สองวิธีการก็คือ Hard Power คือการใช้อำนาจบังคับตรง ๆ เช่นผ่าน “กระบอกปืน” ขู่เข็ญ จ่ายเงิน ฯลฯ และ Soft Power ดังกล่าวมาแล้ว

Nye บอกว่า SP ของประเทศหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับทรัพยากร 3 ประเภท อันได้แก่ (1) วัฒนธรรมของตนเองในลักษณะที่ดึงดูดใจคนอื่น ๆ (2) ค่านิยมทางการเมือง (political values) ที่คนอื่นชื่นชอบและตนเองมีอย่างแท้จริง (3) นโยบายต่างประเทศที่คนอื่นเห็นว่าถูกกฎหมาย ยอมรับได้ และมีพลังทางศีลธรรม หากใช้ทรัพยากรทั้งหมดนี้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็สามารถทำให้คนอื่นต้องการสิ่งที่ตนเองก็ปรารถนาด้วยได้

ถ้าพิจารณาลงไปที่ทรัพยากรแรกคือวัฒนธรรมอย่างเดียวแล้ว ก็จะเห็นความทรงพลัง อย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 มี SP ที่เข้มแข็งมาก ผู้คนในโลกชื่นชมภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด วัฒนธรรมการกินอยู่แบบอเมริกัน (ครัว อาหารจานด่วน กางเกงยีนส์ เพลง ละคร ภาษา วรรณคดี) ค่านิยมอเมริกัน (เสรีภาพ โอกาส ความเท่าเทียมกัน การศึกษา) อย่างโดนใจชาวโลกจนมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้คนแทบทั้งโลกไปในแนว “pro American”

อังกฤษเป็นประเทศเก่าแก่ที่มี SP สูงมากเพราะเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมประเพณี การดำรงชีวิตและการเมืองมายาวนาน มีบทบาทสำคัญด้านการเงินของโลกและได้ฝังค่านิยมหลายอย่างในจิตใจของชาวโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความนิยมทีมฟุตบอลอังกฤษของคนทั่วโลก

หลายประเทศในโลกมีวัฒนธรรมเป็นทรัพยากรที่สำคัญของการมี SP เช่น ฝรั่งเศส (ความเก๋เเละยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรม) จีน (วัฒนธรรมอันเก่าแก่และเศรษฐกิจสมัยใหม่) อินเดีย (อิทธิพลต่อหลายศาสนาของโลก) อิตาลี (แหล่งศิลปวัฒนธรรมของโลก) ญี่ปุ่น (ความเห็นพ้องของวลี “ Cool Japan…ญี่ปุ่นสุดเจ๋ง ) ฯลฯ

ประเทศที่คนไทยสนใจจน SP เป็นประเด็นขึ้นมาก็คือเกาหลีใต้ ประเทศที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีความมั่นคงในอนาคตเพราะเป็นผลพวงของประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มประเทศคอมมูนิสต์กับกลุ่มประเทศทุนนิยมของโลกตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามเกาหลีเริ่มในปี ค.ศ. 1950 ฝ่ายหนึ่งคือสหรัฐและสหประชาชาติ อีกฝ่ายหนึ่งคือจีนโดยมีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง สู้รบกัน 3 ปีและเจรจาหยุดรบ ลงนามแบ่งเป็นเกาหลีเหนือและใต้ในปี 1953 เกาหลีใต้ตั้งอยู่ในปลายคาบสมุทรเกาหลี ทิศเหนือคือเกาหลีเหนือ และถัดไปข้างบนคือจีน ทางทิศใต้คือญี่ปุ่น ความล่อแหลมของที่ตั้งและสถานะของเกาหลีใต้เป็นประเด็นในใจคนเกาหลีใต้มาตลอดจนเกิด “Hallyu” หรือ“Korean Wave” หรือ”คลื่นบ้าคลั่งเกาหลี”ที่กระจายอยู่ทั่วโลกนับแต่ปลายทศวรรษ 1990 ตามแผนการสร้าง SP ผ่านวัฒนธรรมอย่างประสบความสำเร็จยิ่ง เกาหลีใต้ได้รับการยอมรับจากชาวโลกผ่านคลื่นนี้ที่ประกอบด้วยดนตรี ภาพยนตร์ เรื่องราวประวัติศาสตร์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรม ฯลฯ คลื่นนี้มีผลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นอย่างมากจนถือได้ว่าเป็นประเทศที่สร้าง SP ได้อย่างงดงามด้วยการใช้ทรัพยากรวัฒนธรรม

​ ไทยเรามีมวยไทย ผ้าไทย ไหมไทย อาหารไทย แหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม รอยยิ้มประจำชาติ ความรู้สึกเป็นมิตรในการยินดีต้อนรับ วัฒนธรรมอันหลากหลาย ฯลฯ เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาสร้าง SP เพื่อทำให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีกับเรา ซึ่งลักษณะนี้ก็คือการสร้างความพึงพอใจอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการซึ่งแท้จริงเราก็ได้ทำมานานแล้ว

​ ไทยสามารถสร้าง SP ที่เข้มแข็งกว่าเดิมได้หากมีการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและอย่างบูรณาการ สิ่งที่ต้องศึกษาคือประวัติศาสตร์ในการสร้าง SP ของเราเอง และตัวอย่างของเกาหลีใต้

SP มิได้เพียงนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากนำประเทศและพลเมืองไปสู่การยอมรับมากยิ่งขึ้นในเวทีโลกและในสายตาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง