“อุดมศึกษา” นอกคอก

วรากรณ์  สามโกเศศ
27 ธันวาคม 2559

          โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ลักษณะงานต่าง ๆ เปลี่ยนตามไปด้วย หากเรายังคงมีหลักสูตรอุดมศึกษาดังที่เคยเป็น ๆ กันมา ก็น่ากลัวเป็นอันมากว่าจะผลิตคนออกมาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ปัญหาการว่างงานและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นในอนาคต อันใกล้และอาจส่งผลรุนแรงด้วย

          เมื่อดูรอบตัวก็จะเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น (1) ธนาคารไม่มีสาขาใหญ่โต แบบเก่า แต่มีคนเพียง 3-4 คน ในสาขาส่วนใหญ่ (2) ร้านถ่ายรูป อัดรูปแบบโบราณหายไปแล้ว มีแต่อัดรูปแบบดิจิตอล (3) โรงเรียนสอนพิมพ์ดีดสาบสูญ ผู้คนหันมาฝึกฝนเองจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ดีดหาแทบไม่ได้ในที่ทำงาน (4) นิตยสารและหนังสือพิมพ์สูญพันธุ์กันทีละฉบับ เพราะคนหันไปอ่านฟรีทางเน็ต (5) ผู้คนซื้อของและทำธุรกรรมการเงินบนเน็ตมากขึ้นทุกวัน (6) โทรทัศน์มีคนดูน้อยลง เพราะหันมาดูจอสมาร์ทโฟนแทน ฯลฯ

          ตัวอย่างแค่นี้ก็ทำให้เห็นว่าลักษณะของงานต้องเปลี่ยนไปมากมายแล้ว และนับวันก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้นตามเทคโนโลยีที่ไล่เรียงกันมาอย่างกระพริบตาแทบไม่ทัน ในขณะที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย 4 ปี นั้น งานใหม่ก็กำลังเกิดขึ้นขนานกันไป จนคนจบมาไม่ตรงกับหลักสูตรที่เรียน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก คำถามก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือต้องเปลี่ยนแปลงการมีทักษะและความรู้ของบัณทิตให้ตรงกับงานใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีใครรู้ว่างานใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร (เรียนการตลาดมาแต่พอเรียนจบกลับเป็นว่าตลาดต้องการคนรู้เรื่องการตลาดดิจิตอล)

          คำตอบที่ดีกว่าในการแน่ใจว่าผลิตคนตรงตลาดก็คือการมี flexibility หรือความคล่องตัวของหลักสูตรที่ช่วยสร้างทักษะและความรู้ที่ทันเหตุการณ์

          ถ้าจะให้มี flexibility ดังว่าต้องมีอะไรบ้าง? (1) ต้องมีหลักสูตรที่คล่องตัว ไม่แข็งตัวจนผู้เรียนไม่สามารถเลือกเรียนรู้ทักษะและความรู้ดังที่ต้องการได้ (2) ต้องมีวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ใช่ถ่ายทอดจากปากสู่หู ดังที่เรียกว่า transmissive education ดังที่ใช้กันในศตวรรษที่ผ่าน ๆ มา และ (3) ผู้เรียนรู้ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีความตื่นตัวในการเรียนรู้

          ในส่วนแรก หลักสูตรที่คล่องตัวนั้นจะต้องมีวิชาที่บังคับให้เรียนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเหลือให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจและคิดว่าจะทำให้ตนเองมีทักษะและความรู้เพียงพอต่อการรับมือกับงานลักษณะใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตนเองจบออกไปแล้ว

          ส่วนวิชาบังคับที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือกลุ่ม “วิชาทั่วไป” (จริง ๆ ไม่น่าจะเรียกว่าทั่วไปควรเรียกว่า “พื้นฐาน”) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีความสามารถในการมองเห็นภาพรวมของการเป็นมนุษย์ซึ่งจะทำให้เขาเป็นคนอย่างสมบูรณ์และเข้าใจตนเอง ส่วนนี้ประกอบด้วยเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา สังคมเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ส่วนนี้ขาดไม่ได้เพราะเราต้องการบัณฑิต ไม่ได้ต้องการเพียงแรงงานที่สนองตอบความต้องการของเศรษฐกิจเท่านั้น เราต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ และต้องการมนุษย์ที่เข้าใจว่าคุณธรรมคือสิ่งค้ำจุนโลก

          กลุ่มวิชาทั่วไปนี้ในวงการอุดมศึกษาบ้านเรา มีการเข้าใจผิดกันมาก บ้างเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น บ้างเห็นว่าเป็นส่วนที่ควรใส่ทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการครองชีพ ฯลฯ โดยทั่วไปในปัจจุบันมีน้ำหนักในหลักสูตรประมาณร้อยละ 24 ของชั่วโมงที่ต้องเรียนทั้งหมด

          นอกจากกลุ่ม “วิชาทั่วไป” แล้วที่จำเป็นต้องบังคับเรียนอีกก็คือความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานและสูงในระดับที่เข้มข้นเพียงพอต่อการออกไปประกอบอาชีพ

          ถ้าเป็นหลักสูตรวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัช วิศวกรรมบางสาขา ฯลฯ ข้อเสนอในส่วนนี้ปรับได้ไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันก็ลงตัวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว

          ปัจจุบันวิชาในส่วนนี้ที่เอาไปต่อยอดทำมาหากินเพื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักประชาสัมพันธ์ งานการท่องเที่ยวโรงแรม ธุรกิจ การบริหาร ฯลฯ มีเนื้อหาในส่วนนี้ถึงร้อยละ 60

          สำหรับส่วนสุดท้ายคือที่ให้นักศึกษาเลือกเรียนได้นั้น ไม่ว่าเป็นวิชาโทหรือเลือกเสรี มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16

          ผู้เขียนเห็นว่า สัดส่วนของ กลุ่ม“วิชาทั่วไป” ในหลักสูตรที่ต้องเรียน 135 หน่วยกิตนั้น ควรอยู่ที่ร้อยละ 24 เช่นเดิม ส่วนภาคบังคับของวิชาที่จำเป็นควรอยู่ที่เพียงร้อยละ 30 และส่วนที่ให้เลือกเรียนได้อย่างเสรีนั้นควรอยู่ที่ร้อยละ 46

          ส่วนสองคือ transmissive education นั้นคือการสอนจากปากสู่หู ซึ่งตกยุคสมัยเพราะนักเรียนสามารถหาความรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้สารพัดและอย่างรวดเร็วบนเน็ต ครูปัจจุบันจึงเป็น facilitator (ผู้อำนวยการเรียนรู้) ไม่ใช่ผู้ส่งต่อความรู้อีกต่อไป

          การสอนต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้จึงจะมีประสิทธิภาพ นักศึกษาปัจจุบันเบื่อหน่ายการนั่งฟัง เขาต้องการมีส่วนร่วมในการซึมซับความรู้และเกิดทักษะ ดังที่เรียกว่า active learning ซึ่งได้แก่การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน การแบ่งกลุ่มถกแถลง การทำรายงานและวิจารณ์ การเรียนรู้นอกสถานที่ การมีสีสันในการเรียนรู้ในชั้นเรียน กิจกรรมนักศึกษานอกชั้นเรียน กิจกรรมนักศึกษา ฯลฯ

          วิธีการสร้างนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเย็น เพราะอาจารย์ปรับตัวได้ยากกว่านักศึกษา และมักจะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วย อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนการสอนเป็นการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

          ส่วนสาม หากทั้งสองส่วนอันได้แก่หลักสูตรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับวิธีการเรียนรู้ แต่ถ้าหากนักศึกษาไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ยากที่ประสบผลสำเร็จ การเปลี่ยนทัศนคติ การเรียนรู้ตลอดจนปลุกเร้าให้นักศึกษากระหายเรียนรู้เป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น การที่รุ่นพี่หางานทำไม่ได้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

          นอกจากทั้งสามส่วนแล้ว ส่วนพิเศษที่ต้องทำก็คือการบังคับนักศึกษาให้เรียนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นอีกหนึ่งภาคฤดูร้อนหรือภาคการศึกษา การเรียนจบสามปีครึ่งไม่ควรให้มีอีกต่อไป หากต้องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

          การสร้าง flexibility เช่นว่านี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้เริ่มวางแผนแล้ว เพราะมองเห็นความจำเป็นในการปรับตัว บางมหาวิทยาลัยไปไกลถึงกับคิดจะเลิกเรียกชื่อปริญญาเฉพาะแล้วเพราะต้องการให้นักศึกษามีเสรีภาพในการเลือกวิชาเรียนได้เต็มที่

          ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลงเพราะมันกระทบสภาวะปกติที่ดำรงอยู่ แต่ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ในที่สุดสภาวะปกติอันพึงปรารถนาก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้