100 ปี ชาตกาลอาจารย์ป๋วย

วรากรณ์  สามโกเศศ
15 มีนาคม 2559

          9 มีนาคม 2559 เป็นวันคล้ายวันเกิด 100 ปี ของท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อยู่ในหัวใจของผู้ร่วมงาน ลูกน้อง ศิษย์ และผู้คนที่รู้จักประวัติชีวิตของท่าน การจัดงานฉลอง ชาตกาล 100 ปี นี้มีความหมายอย่างไรต่อคนไทย

          ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนโครงสี่สุภาพตอนอายุ 24 ปี ไว้บทหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจในชีวิต :

          กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี
          กูเกิดมาก็ที หนึ่งเฮ้ย
          กูคาดก่อนสิ้นชี วาอาตม์
          กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น

          เมื่อเปรียบเทียบความตั้งใจในตอนนั้นกับสิ่งที่ท่านได้ทำมาตลอดจนเสียชีวิตเมื่อตอนอายุได้ 83 ปีแล้ว ก็สามารถเห็นว่าท่านได้ “ไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น” ได้อย่างแท้จริงเพราะนอกจากรางวัลแม๊กไซไซอันทรงเกียรติแล้ว ล่าสุดเมื่อปลายปี 2558 UNESCO ได้ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก

          อาจารย์ป๋วยเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2502-2514) อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อดีตประธานคณะกรรมการสารพัดตำแหน่งที่เกี่ยวกับงานสำคัญของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่งของไทย 2504-2509) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานทั้งหมดในฐานะข้าราชการด้านงานเศรษฐกิจ และนักการศึกษา

          นอกจากผลงานในด้านการริเริ่มพัฒนาชนบท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร พัฒนาระบบการศึกษาของชาติ ผลักดันไอเดียการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย อีกทั้งงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ริเริ่มจัดประชุมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยของภูมิภาค หนึ่งใน South East Asia Development Advisory Group (SEADAG) ฯลฯ ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และนักบริหารจัดการมหาวิทยาลัยซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของการชุมนุมในยามขัดแย้งด้านความคิดเห็นของประชาชนใน พ.ศ. 2519 ฯลฯ ทั้งหมดนี้มิได้หวังผลทางการเมือง หรือหาผลประโยชน์ใส่ตัวแม้แต่น้อย

          บุคลิกภาพส่วนตัวในการมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อหลักความถูกต้อง กล้าหาญทางจริยธรรม ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความนิ่มนวลในการแก้ไขข้อขัดแย้ง ความเมตตากรุณาต่อผู้น้อย ตลอดจนความจริงใจในการทำงานรับใช้ชาติ ทั้งหมดร่วมกันทำให้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผู้ศึกษาชีวิตของท่าน

          การเป็นนักเศรษฐศาสตร์ยุคแรกผู้มีความรู้ด้านวิชาการเป็นเลิศในช่วงเวลาที่เศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวางรากฐานเศรษฐกิจ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การสร้างเครื่องมือ การตัดสินใจด้านนโยบาย การดำเนินนโยบาย ฯลฯ ทำให้อาจารย์ ดร.ป๋วย มีโอกาสทำงานสำคัญ ๆ มากมาย และอย่างประสบผลสำเร็จด้วย

          งานชาตกาล 100 ปี ครั้งนี้เท่าที่ผู้เขียนเข้าใจมิได้ต้องการทำให้อาจารย์เป็นผู้วิเศษ “อยู่บนหิ้ง” ให้ผู้คนเคารพบูชา แต่ในทางตรงกันข้ามผู้จัดซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ต้องการให้อาจารย์เป็นคนธรรมดา (รูปปั้นใหม่ของท่านที่ริมน้ำของคณะเศรษฐศาสตร์จัดตั้งไว้อย่างแสนธรรมดา อาจารย์ไม่ใส่รองเท้าด้วย) ที่ทุกคนสัมผัสได้

          การเป็นสามัญชนเช่นเดียวกับคนจำนวนร้อยละ 99 ของคนไทยของท่านอาจารย์ทำให้เห็นว่าใคร ๆ ก็สามารถเลียนแบบได้จนกลายเป็นคนมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นโดยการมีคุณธรรมประจำใจเฉกเช่นเดียวกับท่านอาจารย์

          แนวคิดเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังของชาติในอนาคตสืบต่อเนื่องกันไป หากท่านกลายเป็นผู้วิเศษ การคิดจะเลียนแบบก็อาจหยุดชะงัก เพราะเข้าใจว่าเฉพาะผู้วิเศษเท่านั้นที่จะเป็นดั่งเช่นท่านได้

          เยาวชนไทยแสวงหาต้นแบบนำทางชีวิตหรือไอดอล (idol) อย่างไม่ลึกซึ้ง นักร้องนักแสดงไทย โดยเฉพาะเกาหลีกลายเป็นต้นแบบของชีวิตโดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตัวเขานอกจากชื่อและเพลงที่ร้อง การนำเอาอาจารย์ป๋วยมาเป็นตัวเลือกหนึ่งของการเป็นไอดอลให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้จึงเป็นประโยชน์ต่อสังคม

          ความดี ความงาม และความจริงซึ่งเป็นหลักชีวิตของอาจารย์ป๋วย จะได้รับการพิจารณา คิดไตร่ตรอง และเป็นปุ๋ยอันวิเศษของความคิด อาจารย์ป๋วยได้ขยายความหลักดังกล่าว ดังนี้

          “…..ความดีหมายถึงการไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริตและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
          ความงามหมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรม ความเพลิดเพลิน งานอดิเรกรวมทั้งการกีฬาประเภทต่าง ๆ
          ความจริงหมายถึงธรรมที่เราใฝ่หาทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนสัจธรรมทางสังคม…..”

          ขอแนะนำเยาวชนว่าชีวิตของท่านอาจารย์คือวัตถุดิบที่ดียิ่งสำหรับการเรียนรู้เพื่อจักหาไอดอลสักคน ถ้าอยากรู้ว่าไอดอลคนนี้มีลักษณะอย่างไร ลองอ่านคำบรรยายต่อไปนี้ของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ศิษย์คนสำคัญของท่านอาจารย์ ซึ่งเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน

          “…..เป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้ ข้าราชการตัวอย่างที่กล้าคัดค้านและกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง ผู้ใหญ่ที่โอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อยและผู้ยากไร้ นักวิชาการที่เป็นมิ่งขวัญของนักวิชาการทุกคน นักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยด้วยวิญญาณและการกระทำ ผู้ใฝ่สันติที่สอนให้คนต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสังคมที่เป็นธรรมด้วยสันติวิธี คนไทยที่รักเมืองไทยและอุทิศตนรับใช้ประเทศชาติตลอดชีวิต ผู้เสียสละที่ทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่เคยนึกถึงตนเอง คนดีที่ทำความดีไว้มาก จนเป็นที่ศรัทธาของทุกวงการ มนุษย์ซึ่งปราศจากโลภะ โมหะ และไม่เคยแสดงออกซึ่งโทสะ…..”

          ผู้คุ้นเคยกับชีวิตของท่านเสียใจที่ท่านจากเราไปเมื่อ 17 ปีก่อน แต่ก็ดีใจที่ในโอกาสวันพิเศษแห่งการจดจำนี้มีการร่วมมือร่วมใจกันนำชีวิตของท่านอาจารย์มาสู่การพิจารณาไตร่ตรองเพื่อ สืบทอดความศรัทธาในความดี ความงาม และความจริงลงไปยังลูกหลานเพื่อความสืบเนื่องต่อไป