ลูกคนเดียว “ทำร้ายจีน”

วรากรณ์  สามโกเศศ
16 กุมภาพันธ์ 2559

         การตัดสินใจดำเนินนโยบายในระดับชาติอย่างสมเหตุสมผล ณ จุดหนึ่งของเวลาอาจก่อให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงในระยะยาวก็เป็นได้ ดังนโยบาย “ลูกคนเดียว” (One-child Policy) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

          ระหว่างปี 1978-1980 ทางการจีนมีการเตรียมการในเรื่องวางแผนครอบครัวอย่างแข็งขันและประกาศใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” ในปี 1980 อย่างเด็ดเดี่ยว และมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น

          ในปี 1949 เมื่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรประมาณ 540 ล้านคน แต่เมื่อถึงปี 1976 ประชากรก็พุ่งขึ้นเป็น 940 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวในเวลาเพียง 27 ปี

          ตัวเลขนี้ยิ่งน่ากลัวเมื่อคำนึงถึงว่าระหว่างปี 1959-1961 มีคนจีนตายเพราะความอดอยากไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน (ทางวิชาการประมาณว่าอาจถึง 30 ล้านคนด้วยซ้ำ) ทางการจีนเห็นว่าจำนวนประชากรจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า เพราะจะต้องให้ปัจจัยสี่ซึ่งต้องการทรัพยากรมากมาย การมีประชากรขนาดใหญ่มากและสามารถตายได้ถึง 15-30 ล้านคนเพราะขาดอาหารในช่วงเวลา 2 ปี เป็นบทเรียนที่มีราคาแพงที่ต้องหลีกหนี

          ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ1970 มีการพูดกันมากในระดับโลกถึงเรื่องประชากรจะล้นโลก หนังสือชื่อ Limit to Growth สนับสนุนโดย Club of Rome และ Sierra Club เสนอโมเดลแสดงจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นมากและก่อให้เกิดความอดอยากอย่าง น่ากลัว พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อได้มีประสบการณ์อันเลวร้ายจากความอดอยากครั้งใหญ่ และข้อมูลการถกเถียงในระดับโลกจึงออกนโยบายที่เฉียบพลันและรุนแรง นั่นก็คือบังคับให้แต่ละครอบครัวมีลูกเพียงหนึ่งคนเท่านั้น

          ในตอนแรกนโยบายนี้ซึ่งผู้รับผิดชอบคือมณฑลต่าง ๆ เป็นไปอย่างเข้มข้นหากข้าราชการหรือสมาชิกพรรคเกิดมีลูกเกินกว่า 1 คน อาจถูกไล่ออก ครอบครัวจะถูกปรับเป็นเงินก้อนใหญ่ (ทั้งพ่อและแม่จ่าย) ผู้ใช้แรงงานสูญเสียสวัสดิการ ถูกไล่ออกจากงานดี ๆ และเลยเถิดไปถึงการบังคับให้ทำแท้ง การบังคับให้ทำหมัน ตลอดจนการลุแก่อำนาจต่าง ๆ เพราะแต่ละท้องถิ่นสามารถใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติได้ เมื่อเป็นดังนี้จึงเกิดการคอรัปชั่น และความไม่พอใจของประชาชน แต่ไม่กล้าแสดงออก

          ปัญหาสังคมที่เกิดตามมาก็คือการลักขโมยเด็กผู้ชาย บางกรณีมีความพยายามอยากได้ ลูกชายโดยฆ่าเด็กหญิงลูกคนแรก ไม่มีการรับเด็กกำพร้าไปเลี้ยง (ลูกตนเองก็มีได้และมีได้แค่หนึ่งจะหาเรื่องไปเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงทำไม) มีการขายลูกชาย ฯลฯ

          สังคมจีนเห็นภาพการทำแท้งเด็กในครรภ์อายุ 7 เดือน ที่เต็มไปด้วยเลือด มีประสบการณ์น้ำตาตกเมื่อขออนุญาตแต่งงานและมีลูกไม่ได้ (ทุกอย่างต้องขออนุญาตทางการ) เศร้าโศกเพราะถูกบังคับให้ทำแท้งท้องที่สอง สารพัดความทุกข์ของประชาชนที่ต้องการความเป็นธรรมชาติของการมีครอบครัว

          ในช่วงเวลาต่อมาคือกลางทศวรรษ 1980 ทางการจีนจึงเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น เข้มงวดกับคนที่อยู่ในเมืองโดยเฉพาะชาติพันธุ์ฮั่น (คนจีน) สำหรับคนที่อยู่ในชนบทไม่ว่าจะเป็นฮั่นหรือไม่สามารถมีลูกได้ 2 คน เฉพาะชาติพันธุ์ไม่ใช่ฮั่นเท่านั้นที่มีลูกได้ 2 คนในเขตเมือง เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเขตห่างไกลเช่น ทิเบตจะมีลูกกี่คนก็ได้

          จีนมีประชากร 1,008 ล้านคนในปี 1982 (เพิ่มจากปี 1976 เพียงประมาณ 60 ล้านคน) พรรคคอมมูนิสต์จีนรู้ว่าเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจสูงในหมู่ประชาชน ดังนั้นในปี 1987 จึงยอมให้ครอบครัวที่พ่อและแม่เป็นลูกโทนสามารถมีลูกได้ 2 คน บางมณฑลที่ลูกคนแรกเป็นหญิงก็ให้ขออนุญาตเพื่อมีลูกคนที่สองได้ (ควบคุมให้ลูก 2 คนมีอายุห่างกัน 3-4 ปี)

          ทางการจีนเห็นตัวเลขประชากรว่าในปี 2000 มี 1,266 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 257 ล้านคน จากปี 1982 หรือในเวลา 18 ปี) และ 1,340 ล้านคน ในปี 2010 (เพิ่มขึ้น 74 ล้านคนในเวลา 10ปี) ดังนั้นจึงเริ่มผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น ในปี 2013 จึงประกาศให้คู่ที่พ่อหรือแม่เป็นลูกโทนขออนุญาตมีลูกได้ 2 คน (กฎนี้สำหรับคนในเมือง ส่วนพวกในชนบทนั้นมีลูกได้ 2 คน อยู่แล้ว)

          สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือถึงแม้จะอนุญาตเช่นนี้ แต่ใน 11 ล้านคู่ฃึ่งอยู่ในข่ายที่จะมีลูกคนที่สองได้นั้นในปี 2014 มีเพียง 1 ล้านคู่เท่านั้นที่ขออนุญาต ความจริงนี้ทำให้ทางการจีนตัดสินใจว่าถึงเวลาของการยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ได้แล้วโดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2016 เป็นต้นไป โดยทุกครอบครัวสามารถขออนุญาตมีลูกคนที่ 2 ได้เสมอหน้ากันหมด

          เหตุที่ทางการใจดีนั้นมิใช่เพราะต้องการให้ประชาชนพอใจพรรค หากเหตุผลใหญ่ก็คือเมื่อมองไปข้างหน้าแล้วจีนจะประสบปัญหาด้านประชากรที่หนักหน่วงเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ก่อนปี 2030 จีนจะสูญเสียคนในวัยแรงงานไป 67 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนสูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว (ก่อน 2050 หนึ่งในสามของประชากรจีนจะมีอายุเกิน 60 ปี)

          นอกจากนี้ประชากรจีนก็มีแต่จะลดลงในอนาคตจนทำให้แรงงานมีจำนวนน้อยลง มีคนประเมินว่าในปี 2030 ประชากรจีนจะมีจำนวนสูงสุดที่ประมาณ 1,429 ถึง 1,346 ล้านคน และจะลดลง

          แน่นอนว่าโครงสร้างประชากรเช่นนี้เป็นผลพวงจากนโยบาย “ลูกคนเดียว” โดยไม่ต้องสงสัย อัตราเจริญพันธุ์ (จำนวนลูกโดยเฉลี่ยของผู้หญิงหนึ่งคนในขีวิต) ของจีนอยู่ที่ประมาณ 5เมื่อต้นทศวรรษ 1970 ลดลงเหลือ 1.6 ในปัจจุบัน (ของไทยคือ 1.41)

          การเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ไม่สามารถช่วยทดแทนแรงงานที่หายไปจำนวนมาก เพราะมีหลักฐานให้เห็นว่าต่อให้มีลูก 2 คน ได้ก็มีหลายครอบครัวมากที่ไม่ยอมมี เหตุผลง่าย ๆ ก็คือการมีลูกอีกคนนั้นต้องใช้จ่ายเงินอีกมากมาย และทำให้เสียเวลา เสียโอกาสในการทำมาหารายได้ (ในสมัยจีนเก่าที่ไม่มีงานให้ทำ การมีลูกคนที่สองไม่ทำให้เสียโอกาสในการหารายได้)

          โรงเรียนของรัฐที่ดีก็มีจำนวนที่นั่งจำกัดและอาจต้องจ่ายเงินพิเศษหรือถ้าเข้าโรงเรียนเอกชนก็มีราคาแพงกว่ามาก ค่าครองชีพก็สูงโดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง ดังนั้นการยกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” จึงไม่เป็นผลทำให้ครอบครัววิ่งไปขออนุญาตมีลูกคนที่สองกันมากมาย

          ความบิดเบี้ยวของการมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 30 ล้านคน ในปี 2020 เป็นผลพวงจากนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่เกิดจากความพยายามมีลูกผู้ชายให้ได้เพราะมีได้เพียงคนเดียว (บ้านเราปัจจุบันมีหญิงมากกว่าชาย 800,000 คน ตัวเลขนี้อาจถึง 1 ล้านคนในเวลาไม่นาน

          การมีแรงงานจำนวนมากจนค่าแรงในประเทศต่ำและผลิตสินค้าในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง เป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจจีน หากต้องการเดินไปในทิศทางที่ประสบผลสำเร็จเช่นที่ผ่านมาแรงงานก็จะขาดแคลนในเวลาไม่เกิน 15-20 ปี การจะนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศหรือการอพยพเข้าจีนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเพราะไม่มีความคุ้นเคย และจำนวนที่ขาดนั้นเป็นล้าน ๆ คนต่อปี

          จำนวนชายที่มากกว่าหญิงเป็นสิบ ๆ ล้านคนจนหาภรรยาได้ยากขึ้น อาจนำไปสู่ปัญหาทางเพศในสังคม ปัญหาค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ

          Malthus (ค.ศ. 1766-1834) นักประชากรยุคแรกบอกว่าอำนาจอันยิ่งใหญ่ในการเพิ่มขึ้นของประชากรไม่อาจหยุดยั้งได้โดยปราศจากความปวดร้าวและความชั่วร้าย