เมืองหลวงขุดทองเถื่อนของโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 กันยายน  2557

          สร้อยคอทองคำเหลืองอร่ามที่อยู่บนคอของเรานั้นไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อทองมาจากไหนกันบ้าง เป็นไปได้ว่าบางส่วนอาจมาจากพระพุทธรูปโบราณที่ถูกหลอม บางส่วนอาจมาจากเครื่องประดับเก่าที่ถูกหลอมซึ่งก็ไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นมาจากไหน บางส่วนอาจมาจากทองแท่งซึ่งมาจากเหมืองทองในต่างประเทศ หรือแม้แต่มาจากเศษทอง “เถื่อน” ที่ชาวบ้านในอาฟริกาใต้เก็บจากเหมืองเก่า ดังเรื่องที่จะเล่าในวันนี้

          อาฟริกาใต้ดินแดนของ Nelson Mandela เคยเป็นแหล่งผลิตทองคำใหญ่สุดของโลกมายาวนาน แม้แต่ใน ค.ศ. 1970 ร้อยละ 80 ของทองคำที่ผลิตในโลกในแต่ละปีมาจากอาฟริกาใต้ ปัจจุบันตัวเลขนี้คือร้อยละ 1 เนื่องจากจีนและอีกหลายประเทศในโลกผลิตทองคำขึ้นมาแทนที่

          เมื่อก่อน ค.ศ. 1971 ราคาทองคำต่ำเพราะถูกควบคุมไว้ให้คงที่เนื่องจากเป็นสิ่งมีค่า หนุนหลังธนบัตรของสหรัฐอเมริกาโดยยอมให้คนถือธนบัตรเอามาแลกเป็นทองคำได้ แต่เมื่อสหรัฐอเมริกายกเลิกการยอมให้แลกเปลี่ยนดังกล่าวในปี 1971 ราคาทองคำก็ทะยานตัวขึ้นทันทีจากบาทละ 400 บาท (บาทหนึ่งหากเป็นทองรูปพรรณหนักเท่ากับ 15.16 กรัม) และไต่ขึ้นเป็นพัน ๆ บาท และอยู่ที่ 20,000 กว่าบาทในปัจจุบัน

          เมื่อราคาทองคำสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศทำเหมืองทองโดยการถลุงเนื้อทองคำจากสินแร่มากกว่าที่จะเก็บเศษทองที่อยู่บนผิวดินซึ่งนับวันจะมีปริมาณน้อยลงเรื่อย ๆ

          เมื่ออาฟริกาใต้มีคู่แข่งผลิตทองคำมากขึ้นจึงจำเป็นต้องปิดเหมืองกว่า 4,400 แห่งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศและมีจำนวนมากกว่าเหมืองที่กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันเกือบ 4 เท่าตัว

          เหมืองร้าง 4,400 แห่งเหล่านี้แหละคือ “เหมืองทอง” อันโอชะของบรรดาเหล่าผู้ขุด ทองเถื่อนซึ่งมีจำนวนถึง 150,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานทำเหมืองทองที่ถูกกฎหมาย

          ปัจจุบันอาฟริกาใต้กลายเป็นเมืองหลวงของโลกของผู้ขุดทองเถื่อนไปแล้ว ในแต่ละวันคนนับแสนจะไต่เชือกหรือบันไดลงไปในเหมืองร้างเหล่านี้ บ้างก็ขุดดินหาเศษทองที่อยู่ในอุโมงค์เก่าซึ่งขุดไว้ตามทางขวางในแต่ละระดับความลึก บ้างก็มองหาสินแร่ทองคำที่เห็นเป็นเกล็ดทองวาว ๆ และเอาค้อนทุบก้อนสินแร่ที่พบให้แตกเพื่อเก็บเศษทองปนหิน

          งานเหล่านี้อันตรายอย่างยิ่งเพราะเหมืองร้างอาจถล่มลงได้ทุกขณะเนื่องจากในแต่ละหลุมของแต่ละเหมืองที่ขุดลึกลงไปในแนวดิ่งอาจมีคนลงไปร่วมค้นหานับเป็นร้อย ๆ คน บ้างก็กินอยู่หลับนอนเป็นอาทิตย์ในเหมืองใต้ดินหากพบทำเลดีเนื่องจากมีปล่องระบายอากาศอยู่เป็นจุด ๆ

          ชาวอาฟริกันพื้นบ้านมุ่งมั่นบากบั่นหาเศษทองหรือสินแร่ทองเพราะเป็นหนทางไปสู่ความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ในจิตใจก็เหมือนกับผู้ขุดหาทองหรือเพชรพลอยทั่วโลกทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในออสเตรเลีย คาลิฟอร์เนีย กัมพูชา ไทย จีน ฯลฯ กล่าวคือฝันว่าวัน นั้น ๆ คือวันโชคดีที่จะพบก้อนที่ใหญ่โตจนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจนและทุกข์ยาก

          ความฝันเช่นนี้คือพลังที่ผลักดันให้เขาเหล่านี้ทำงานหนัก ไม่หวั่นต่อภัยจากเหมืองถล่ม ภัยจากโจรปล้น ภัยจากแก๊งส์คุ้มครองที่มาจากต่างถิ่น ภัยจากการถูกจับเพราะทางการห้ามเข้าไปในบริเวณเหมืองร้างเหล่านี้

          ยังไม่มีข่าวว่ามีผู้ใดพบชิ้นทองขนาดยักษ์ แต่เกือบทุกคนก็พอไปได้จากการพบเศษทอง หากโชคดีก็ได้วันละ 3-4 กรัม (ไม่เกิน 4,000 บาท) ต่อครอบครัว สาเหตุที่ยังพบทองก็เนื่องจากปิดเหมืองเพราะมีคู่แข่งผลิตทองที่มีต้นทุนถูกกว่า ไม่ใช่เพราะไม่มีเศษทองและสินแร่ทองคำอีกต่อไป

          ในโลกเรานี้ยังมีสินแร่ทองคำอีกมากหากแต่ว่าอยู่ลึกลงไปจากพื้นโลก การถลุงสินแร่ทองซึ่งปนอยู่ในหิน (หลายแห่งถลุงสินแร่ทอง 1 ตันได้ทองคำ 1 กรัม) มีต้นทุนสูง และมีผลต่อสิ่งแวดล้อม วิธีการหนึ่งที่นิยมในอาฟริกาใต้ก็คือย่อยหินที่มีสินแร่ทองคำจนละเอียดและล้างด้วยน้ำและน้ำยาฟอก จากนั้นก็เผาโดยผสมกับปรอทเหลวเพื่อให้เนื้อทองคำติดออกมากับปรอท วิธีการถลุงเช่นนี้ทำให้ผู้ขุดเถื่อนมีโอกาสสัมผัสปรอทซึ่งหลงเหลืออยู่ การหายใจไอปรอทเข้าไปเป็นภัยต่อร่างกายเพราะระบบประสาทจะถูกทำลาย

          ไม่ว่าจะอันตรายอย่างไร ผู้ขุดทองเถื่อนก็ไม่แยแส แต่ละวันก็ยังคงหลั่งไหล ผจญภัยฝ่าสารพัดอันตรายเข้าไปค้นหาทอง เจ้าของเหมืองเก่าเข้าใจว่ายังคงอาลัยอาวรณ์เพราะหวังว่าในวันข้างหน้าเมื่อราคาทองคำขึ้นสูงและแหล่งทองคำอื่นเหือดแห้งลงก็อาจกลับไปเปิดเหมืองอีกครั้ง ในระหว่างนี้จึงมักได้ยินเรื่องราวของความน่ากลัวในการไปค้นซากทองของเหมืองเก่าอยู่เสมอ อันตรายจากปรอทอาจเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘เขียนเสือให้วัวกลัว’ ก็เป็นไปได้

          ความยากจนในอาฟริกาใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนท้องถิ่นเห็นได้ชัดเจน อัตราการว่างงานในประเทศสูงถึงร้อยละ 25 ในประชากร 54 ล้านคน สลัมจำนวนมากมีให้เห็นทั้งในเมืองใหญ่ และชานเมือง ความยากจนเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดจึงมีคนกล้าไต่ลงไปในเหมืองที่มืดมิด และบางเหมืองลึกถึง 4,000-5,000 ฟุต (กว่า 1,000 หลา) โดยไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสกลับขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ สถิติการตายรายวันไม่มีใครบันทึกไว้นอกจากเมื่อเกิดการตายหมู่ขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในปี 2009 มีคนตายถึง 82 คน จากไฟไหม้เหมืองใต้ดิน

          ชาวขุดทองเถื่อนเหล่านี้เดินทางมาจากเมืองต่า งๆ มาพักอาศัยกันในเพิงไม้และเศษวัสดุโดยรวมกันอยู่เป็นกลุ่มมีลักษณะคล้ายสลัมกลางป่า กลางวันเป็นเวลาพักผ่อนไม่ทำงานเพราะมีโอกาสถูกจับ เวลาทำงานเริ่มเมื่ออาทิตย์ตกดินโดยจะแยกย้ายกันไปตามหลุมที่ขุดไว้แล้วหรือขุดใหม่เพื่อลงไปยังเหมืองใต้ดิน บนหน้าผากจะมีไฟฉายดวงใหญ่เพื่อความสะดวกในการไต่เชือกหรือ บันได และการค้นหาสมบัติ

          ปรากฏการณ์ในอาฟริกาใต้เช่นนี้มีมาเป็นเวลายาวนานกว่า 7-8 ปีแล้ว ยิ่งราคาทองคำสูงขึ้นเท่าใดกิจกรรมก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว พร้อมกับความหวังรวยที่เจิดจรัสขึ้น

          ตราบที่ความยากจนยังคงเป็นปุ๋ย ความหวังร่ำรวยเป็นเชื้อพันธุ์ การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอเป็นน้ำ ต้นไม้แห่งสารพัดภัยต้นนี้จะไม่มีวันตาย