การให้และความรัก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28 ตุลาคม 2557

          “การให้มากหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับว่าเมื่อให้แล้วจะเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด” คำกล่าวนี้ทำให้เกิดความสงสัยในเรื่อง “การให้” และมูลเหตุจูงใจ

          ในโลกทุนนิยมนั้น “การให้” ทำให้เงินที่บุคคลหนึ่งเหลือสำหรับการบริโภคของเขาเองน้อยลง ความพึงพอใจก็จะน้อยลงด้วย ดังนั้นโดยแท้จริงแล้วพฤติกรรมเช่นนี้สวนกระแส คำถามที่น่าคิดก็คือก็เมื่อมีคนจำนวนมากที่ถือว่า “การให้” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา คำถามก็คืออะไรเป็นมูลเหตุจูงใจของ “การให้”

          คำตอบแรก สำหรับคนใจดีทั้งหลายก็คือ “การให้” ก่อให้เกิดความสุขเช่นเดียวกับ “การได้รับ” หรือการบริโภคของตัวเอง การพูดเช่นนี้มีความหมายว่าความสุขของคนอื่นมีความโยงใยกับความสุขของตนเอง มากหรือน้อย และระหว่างใครกับใครก็แตกต่างกันออกไป

          คนเหล่านี้มองเห็นคนอื่นเป็นเพื่อนร่วมโลกและร่วมชะตาชีวิตเพราะเกิดและมีชีวิตร่วมสมัยกัน เมื่อคนเลือกเกิดไม่ได้ เลือกสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองไม่ได้ เลือกโอกาสที่มีในชีวิตไม่ได้ เลือกที่จะมีสติปัญญามากน้อยไม่ได้ ฯลฯ ดังนั้นจึงมีคนที่มีสิ่งเหล่านี้ไม่เท่ากันและตัวเขาเองเป็นคนที่อยู่ในสภาวะที่โชคดีกว่า “การให้” แก่คนเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะเท่ากับเป็นการแบ่งความโชคดีของตนให้คนอื่น

          คนที่คิดอย่างนี้คงเชื่อในคำกล่าวที่ว่า “The heart is happiest when it beats for others” (หัวใจเป็นสุขที่สุดเมื่อมันเต้นเพื่อคนอื่น) ไม่มากก็น้อยกระมัง

          คำตอบที่สอง ก็คือ “การให้” ในวันนี้คือ “การได้รับ” ในวันข้างหน้า ดังเช่นคนที่ทำบุญซึ่งตรงกับความคิดของคนไทยจำนวนมากที่การ “ทำบุญ” คือการ “สะสมบุญ” ซึ่งเป็นความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมคำสอนที่แท้จริง

          แนวคิดนี้โดยแท้จริงแล้วไม่ใช่ “การให้” หากแต่เป็นจัดสรรการใช้เงินข้ามเวลา กล่าวคือแบ่งส่วนหนึ่งของเงินที่มีในปัจจุบันเป็นเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์ในชาติหน้า ถ้าเป็น “การให้” ที่แท้จริงแล้ว ผลตอบแทนที่ได้รับมีอย่างเดียวคือความสุขใจจากการเห็นคนอื่นมีความสุขมากขึ้น

          “การทำบุญ” ในแนวนี้ในสังคมเราก่อให้เกิดเงินบริจาคจำนวนมากมายมหาศาลในแต่ละปีแก่วัด แก่หลวงพ่อ จนทำให้พระหลายรูปเสียผู้เสียคนไปก็มี การที่เรามีวัดจำนวนมากมายในปัจจุบันที่ทั้งร้างหรือมีพระเณรไม่มากพอที่จะดูแลสิ่งก่อสร้างก็เพราะการทำบุญที่มีวัตถุประสงค์เช่นว่านี้

          ในบ้านเราการมอบเงินให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย มูลนิธิ โรงพยาบาล เด็กยากจน ฯลฯ รวมกันแล้วในแต่ละปีมีจำนวนน้อยกว่าเงินบริจาคให้วัดนับหลายเท่าตัว ซึ่งต่างไปจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่เห็นความสำคัญของการศึกษาและสาธารณสุข

          คำตอบที่สาม ในระดับบุคคลถ้าจะกล่าวไปแล้ว “การให้” มีความหมายที่ละเอียดอ่อนกว่าเป็นอันมาก วัตถุประสงค์ก็หลากหลายแตกต่างกันไป มีทั้งเพื่อหวังผลประโยชน์ในวันหน้า ให้ด้วยความเอ็นดูโดยไม่หวังผลตอบแทน ให้ด้วยความปรารถนาดีอยากให้พ้นทุกข์ ให้เพราะความผูกพันทางสายเลือด หรือการถือกันเป็นญาติ ฯลฯ ในเรื่องนี้เศรษฐศาสตร์ให้คำอธิบายในบางเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ

          เหตุใดเราจึงไม่ให้เงินสดเป็นของขวัญวันเกิดแก่คู่รักหรือคนที่เราคิดจะเอามาเป็นคู่รัก? หลายคนคงตอบทันทีว่ามันไม่โรแมนติกเลย และคนได้รับอาจโกรธและรู้สึกเสมือนว่าเป็นการดูถูกกัน

          นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าการให้ของขวัญแก่กันนั้นเป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าการ ส่งสัญญาณ (signaling) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินชีวิตและการทำงานของภาครัฐ ตัวอย่างเช่นในยามที่รัฐบาลขาดงบประมาณ ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใช้เงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณแก่คนทั่วไปว่าที่บอกว่ารัดเข็มขัดนั้นไม่ใช่เรื่องจริง หรือถ้าภาครัฐต้องการส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนเห็นว่าเอาจริงจังในเรื่องการปราบคอรัปชั่น ก็ต้องเอาคนผิดมาติดคุกให้ดู

          การที่ชายให้เงินสดในกรณีที่กล่าวแล้ว หญิงก็จะมองไม่เห็นสัญญาณว่าเขากำลังบอกรักเราหรือไม่ ถ้าเขาชอบเราจริงเขาต้องยอมเสียเวลาและแรงงานไปค้นหามาจนได้ว่าเราชอบอะไร (ท่านผู้อ่านที่มีวัยใกล้เคียงผู้เขียนคงรู้ดีว่าการส่งสัญญาณเช่นนี้ในสมัยก่อนสำคัญอย่างไร) ลองจินตนาการดูว่าถ้า (ก) มอบพวงมาลัยดอกมะลิหนึ่งพวง (ข) มอบดอกกุหลาบอย่างดีหนึ่งโหล (ค) มอบช็อกโกแลตหนึ่งกล่อง (ง) มอบแหวนหนึ่งวง สิ่งใดที่เป็นสัญญาณแรงสุดของความรัก (ถ้าตอบข้อ (ข) สงสัยว่าอาจติดมาจากนิสัยการเป็นครู)

          อย่างไรก็ดีถ้าพ่อแม่ของแฟนให้เงินสดเขาในวันเกิดกลับไม่เป็นเรื่องน่ารังเกียจแต่ประการใด เนื่องจากมันเป็นกรณีที่แน่นอนแล้วในความรัก เงินสดจึงไม่เป็นปัญหา อย่างไรก็ดีพ่อแม่อาจให้สัญญาณบางอย่างแก่ลูกได้เช่นกันในโอกาสนี้ เช่น ให้การ์ดที่เขียนด้วยถ้อยคำที่ออกมาจากใจ ให้ของมีค่าที่สร้างฐานะได้ในวันข้างหน้า ไม่ให้อะไรเลย ฯลฯ

          ประเพณีให้ของขวัญกันวันคริสต์มาสในโลกตะวันตกนั้นมีคำวิจารณ์ว่าทำให้เกิดความสูญเปล่าโดยไม่จำเป็น ดังที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่า deadweight loss ซึ่งหมายถึงช่องว่างระหว่างเงินที่ใช้จ่ายไปเพื่อซื้อของกับคุณค่าของของนั้น งานศึกษาพบว่าคนที่ได้รับของขวัญรู้สึกว่าคุณค่ารวมของมันน้อยกว่าเงินที่คนอื่นรวมกันจ่ายให้เขา ทั้งนี้เนื่องจากได้ของขวัญที่ไม่ถูกใจ ถึงแม้ญาติพี่น้องเสียเงินทองซื้อของมาแต่ไม่โดนใจผู้รับ ผู้ศึกษาเสนอว่าสมควรให้เงินสดเป็นของขวัญแทนเพื่อจะได้นำไปซื้อของให้ถูกใจตนเองซึ่งจะทำให้ความสูญเปล่าหรือ deadweight loss หายไป

          ข้อเสนอนี้ในปี 1993 ถูกโจมตียับเยินว่าไม่เชิดชูให้เห็นคุณค่าของความรักที่มนุษย์มีต่อกัน “การให้” เป็นตัวแทนของความรักปรารถนาดี ประเพณีนี้ช่วยทำให้นึกถึงคนอื่นด้วยในวันสำคัญนี้ ถึงแม้จะเกิดความสูญเปล่าดังว่าแต่มันก็คือ “ราคา” ที่สังคมจำเป็นต้องจ่าย

          “การให้” เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อาจเรียกได้ว่าฝังอยู่ใน DNA มาแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าพ่อแม่ไม่ให้ลูกและเพื่อนที่อยู่ถ้ำข้าง ๆ ไม่ให้ความเมตตา เอื้อเฟื้อกัน มนุษย์ก็คงไม่มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอน

          “การให้” มิได้เกี่ยวพันเฉพาะกับเรื่องเงินทองเท่านั้น ตราบที่เป็นความปรารถนาจากใจจริงที่ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุขแล้ว การเสียสละเวลาและแรงงาน การให้ความสนใจ การให้ความรักความเอาใจใส่ ฯลฯ ก็เป็น “การให้” ที่ประเสริฐเช่นกัน