Cecil สิงห์โตชื่อดัง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 กันยายน 2558

          แนวคิดอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ป่าเพื่อควบคุมจำนวนและสร้างความสมดุลของป่าได้รับการยอมรับในบางกลุ่มของนักวิชาการมายาวนาน แต่เมื่อ Cecil สิงห์โตชื่อดังของ Zimbabwe ถูกฆ่าอย่างทารุณเมื่อไม่นานมานี้ แนวคิดนี้ได้กลายเป็นเป้าของผู้รักสัตว์ไป

          เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2015 สิงห์โตรูปงามวัย 13 ปี อันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและนักศึกษาสัตว์ชื่อ Cecil ถูกยิงด้วยธนูจนบาดเจ็บและอีก 40 ชั่วโมงต่อมาก็ถูกตามยิงด้วยปืนยาวจนตาย

          Cecil มีประวัติที่เลื่องลือ ในปี 2009 Cecil ซึ่งตั้งชื่อตาม Cecil Rhodes (นักค้าทาสชาวผิวขาวเมื่อ 150 กว่าปีมาแล้ว เป็นผู้บุกเบิกตั้งประเทศนี้ ชื่อของเขาถูกเอาไปตั้งเป็นชื่อประเทศ Rhodesia ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Zimbabwe) เป็นหัวโจกฝูงร่วมกับน้องชายต่อสู้สิงห์โตหนุ่มที่เข้ามาท้าทาย ทั้งสามตัวสู้กันดุเดือดจนน้องชายตาย และคู่ต่อสู้เจ็บหนักจนเจ้าหน้าที่ต้องช่วยทำลาย

          เมื่อ Cecil ชนะก็ย้ายที่และไปร่วมกับสิงห์โตตัวผู้อีกตัวชื่อ Jericho สร้างฝูงใหม่ มีลูกถึง 12 ตัว และมีอีหนูสิงห์โตในฝูง 6 ตัว เรียกได้ว่าผงาดเป็นเจ้าพ่อในป่าบริเวณนี้

          ด้วยประวัติของ Cecil และชื่อที่ตั้งทำให้เป็นสัตว์ที่มีคนสนใจ แผงคอที่มีสีดำแทรกเป็นลักษณะประจำตัว และมีแผงคอเล็กติดไว้เพื่อศึกษาติดตามการเคลื่อนไหวผ่านระบบ GPS โดยทีมนักวิจัยจาก Wildlife Conservation Research Unit แห่ง Oxford University โดยทีมนี้ศึกษามาตั้งแต่ปี 1999 และ Cecil อยู่ในโครงการศึกษามาตั้งแต่ปี 2008

          ในจำนวนสิงห์โต 62 ตัวที่ติดแผงคอนับตั้งแต่เริ่มศึกษา 34 ตัวตายไปแล้ว และในจำนวนนี้ 24 ตัวจากการถูกฆ่าโดย “นักกีฬาฆ่าสัตว์” ในบริเวณขอบอุทยานที่คนมาเที่ยวชม Cecil นั้นเชื่องมาก บางครั้งออกมาใกล้รถนักท่องเที่ยวเพียง 10 เมตร กล่าวได้ว่าเป็นสิงห์โตที่โดดเด่นที่สุด ตัวหนึ่งเนื่องจากมีคนรู้จักในจำนวน 25,000-30,000 ตัวในอาฟริกา

          Cecil ถูกยิงด้วยธนูในบริเวณนอกเขตอุทยาน เข้าใจว่าถูกล่อให้ออกมาโดยใช้เหยื่อ เมื่อยิงแล้วผู้ยิงจึงตกใจเมื่อพบว่าเป็นสัตว์ในโครงการและเป็น Cecil จึงร่วมกันแอบซ่อนแผงคอโดยตัดหัวทิ้งและรีบหนีออกมาโดยเร็ว

          ผู้ติดตามศึกษาเห็น Cecil หายไปจึงตามหาโดยใช้ GPS และเอะอะขึ้น จึงรู้ว่าผู้ยิงคือ ทันตแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Walter Palmer ซึ่งได้หนีกลับอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลุ่มผู้รักสัตว์ในโซเชียลมีเดียรุมกระหน่ำพร้อมบุกบ้านพักผ่อนในฟลอริด้า เอาป้ายไปติดหน้าบ้าน ถูกก่นด่าชนิดเสียคนไปทั่วโลก

          เมื่อทางการ Zimbabwe สืบสวนก็พบว่ามีพรานท้องถิ่น 2 คน ร่วมมือด้วยโดยหมอผู้ชอบการล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจจ่ายเงินสำหรับการยิงสิงห์โตไป 50,000 เหรียญสหรัฐ (1.7 ล้านกว่าบาท) หมออ้างว่าทุกอย่างถูกกฎหมายและจัดการโดยพรานฝรั่งที่มีใบอนุญาตเรียบร้อยในโควต้าการฆ่าของประเทศอย่างถูกกฎหมายประมาณปีละ 40 กว่าตัวต่อปี

          ก่อนหน้านี้หมอ Palmer มีประวัติถูกปรับมาก่อนเมื่อใช้ธนูยิงหมีในบริเวณที่ไกลออกไปจากบริเวณอนุญาตกว่า 60 กิโลเมตร เขาติดสินบนพรานร่วมทีม 20,000 เหรียญ (700,000 บาท) และรอดไปโดยจ่ายค่าปรับไปเพียงเล็กน้อย

          ปัจจุบันประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าการฆ่ามันถูกกฎหมายหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเป็นสิ่งที่สมควรทำหรือไม่เมื่อเอาธนูและปืนไปยิงสัตว์ป่าที่มันอยู่ของมันตามธรรมชาติอยู่ดี ๆ โดยมันไม่มีทางสู้ และก็เอาหัวของมันมาสต๊าฟติดข้างฝาผนังเพื่อแสดงความเก่งอาจอันจอมปลอมและป่าเถื่อน

          การอนุญาตให้ยิงสัตว์ป่าในอุทยานในอาฟริกานั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศเหล่านี้ (โดยเฉพาะของผู้นำ) มายาวนาน ข้ออ้างทางวิชาการซึ่งมีส่วนจริงอยู่บ้างก็คือเพื่อควบคุมความสมดุลของป่ามิให้มีสัตว์ใหญ่มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อกวาง ม้าลาย และสัตว์อื่น ๆ อีกนานาชนิด ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าเหตุใดจึงไม่จับไปปล่อยอีกอุทยานหนึ่งแทนที่จะฆ่ามัน คำตอบก็คือการปล่อยให้เศรษฐีมาล่าสัตว์แบบนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมจำนวนสัตว์และแถมได้เงินมาอีกด้วย

          กระแสที่มาแรงก็คือการต่อต้านการล่าสัตว์เช่นนี้ที่มีชื่อเรียกว่า Trophy Hunting เพราะเป็นการรังแกสัตว์ ที่ถูกวิจารณ์ก็คือในรัฐเท็กซัสและฟลอริด้ามีการซื้อสัตว์ป่าจากทั่วโลกมาปล่อยใน สวนสัตว์เปิดตามธรรมชาติส่วนตัวและให้คนเข้าไปล่าสารพัดสัตว์แปลกที่สรรหามา บ่อยครั้งที่เอาสิงห์โตหรือสัตว์อื่นที่เติบโตในกรงมาปล่อยให้เป็นเป้า การล่าครั้งหนึ่งต้องจ่ายเงินคนละเหยียบล้านบาทและมีโควต้าให้ล่าสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละครั้ง

          การ “ฆาตกรรม” Cecil ครั้งนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในการอนุญาตให้ล่าสัตว์ใน 20 กว่าประเทศอาฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่าสัตว์ชนิดเอาสัตว์มาปล่อยเพื่อล่า อย่างไรก็ดีการล่าในอาฟริกาคงเปลี่ยนแปลงได้ยากเนื่องจากทำเงินเข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำมายาวนานโดยเฉพาะตราบที่ “มนุษย์ในร่างสัตว์” (เมื่อเป็นสัตว์จึงต้องการกลับไปสู่สัญชาติล่าสัตว์ด้วยกันเอง?) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามฐานะทางเศรษฐกิจของผู้คนในหลายประเทศ

          ถ้ากลุ่มผู้รักสัตว์ในโลกสามารถสร้างกระแสต่อต้านการล่าสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การล่าสัตว์แบบ trophy hunting ชนิดซื้อสัตว์มาปล่อยแล้วล่าก็อาจประสบปัญหาได้ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงกระแสความต้องการมีปืนในครอบครองได้อย่างเสรีในบางรัฐของสหรัฐอมริกายังดำรงอยู่อย่างเข้มข้น มิใยที่ยังมีคนตายเพราะปืนอย่างง่าย ๆ อยู่ทุกวัน การห้ามล่าสัตว์ไม่ว่าในลักษณะใดก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

          Cecil เป็นเพียงสิงห์โตไร้เดียงสาที่ถูกฆ่าอย่างเจ็บปวดด้วยการทำงานของกลไกทุนนิยม (มีเงินก็ไปล่าได้) ถ้าไม่ต้องการให้ Cecil ตายอย่างไร้ประโยชน์แล้ว เราต้องช่วยกันจดจำเหตุการณ์ครั้งนี้และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้าเมื่อโอกาสมาถึง

          George Bernard Shaw (1856-1950) บอกว่า “เมื่อมนุษย์ต้องการฆ่าเสือเขาจะเรียกว่าเป็นกีฬา แต่เมื่อเสือต้องการจะฆ่าเขา เขาเรียกมันว่าความโหดเหี้ยม”