รักของมกุฎราชกุมารรัสเซียและดาราบัลเลต์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 กรกฎาคม 2559

          ความรัก การเมืองระหว่างประเทศ อำนาจ และการ “ห่างตาก็ห่างใจ” ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการหลุดรอดจากเงื้อมมือของเจ้าอาณานิคมตะวันตกของสยามอย่างไม่น่าเชื่อ ท่านผู้อ่านอาจบอกว่าความรักน่ะหรือจะมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย กรุณาอ่านต่อไปและจะเห็นว่าสิ่งที่มีพลังนี้ช่วยสยามได้อย่างไร

          ลัทธิจักรวรรดินิยมในเอเชียเริ่มขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 15 โดยชนชาติยุโรปตะวันตกเข้ามายังบริเวณหมู่เกาะอินเดียตะวันออกเพื่อสำรวจเส้นทางการค้ากับจีน ชาติเหล่านี้มีทั้งโปรตุเกส ดัตช์ ฝรั่งเศสและอังกฤษ การแย่งชิงดินแดนรุนแรงยิ่งขึ้นในปลายคริสตศตวรรษที่ 18 และลามมาจนถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 19

          สยามอยู่ในฐานะล่อแหลมมากในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวียดนาม บางส่วนของพม่า กัมพูชา ลาว ก็ตกเป็นอาณานิคมไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายผูกมิตรกับมหาอำนาจ ซึ่งรัสเซียดูเหมาะสมมากเพราะมิได้เป็น ตัวละคร และสามารถอยู่ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยได้เป็นอย่างดี

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เสด็จในฐานะราชทูตพิเศษเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปถวายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียเพื่อผูกมิตรกับรัสเซีย และต่อมาเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่ามีผลประโยชน์ยิ่งต่อสยามก็คือการพยายามให้มกุฎราชกุมารรัสเซียซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินทางเรือผ่านอ่าวสยามในกิจกรรมวางศิลาฤกษ์ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียมาเยือนสยามด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างมิตรภาพและสร้างความประทับใจให้กับพระราชอาคันตุกะ

          ตรงนี้แหละที่ความรักเข้ามามีบทบาทสำคัญ เรื่องก็มีอยู่ว่าเจ้าชายนิโคลัสที่ 2 (มกุฎราชกุมารหรือซาเรวิตซ์แห่งรัสเซียพระองค์นี้) ตกหลุมรักอันเป็นรักแรกในวัย 22 ปี กับดาราบัลเลต์ (ballerina) เอกวัย 18 ปีแสนสวยของรัสเซียอย่างหัวปักหัวปำในปี 1890 และได้เธอเป็นหม่อมลับ ๆ ชื่อของเธอคือ Mathilde Kschessinska

          ความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่เป็นที่ถูกพระทัยของพระบิดาและพระมารดาอย่างมากเพราะเธอมีเชื้อสายโปแลนด์ ซึ่งถือว่าต่ำต้อยในสายตาของคนยุโรป โดยเฉพาะคนยุโรปชั้นสูง ความรู้สึกนี้ติดพันตลอดมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สองและลามไปถึงคนอเมริกัน (ทั้ง ๆ ที่คนโปแลนด์หลายคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดที่ได้รับรางวัลโนเบิล เช่น Madam Curie ได้รับรางวัลโนเบิลถึง 2 ครั้งในสาขาฟิสิกส์ และเคมี)

          การกีดกันความรักของคนในวัยนี้เป็นเรื่องยากแต่ก็จำเป็นต้องทำ หลังจากเป็นหม่อมลับอยู่ได้ไม่นานพระบิดาก็ทรงให้เป็นตัวแทนเดินทางทางเรือไปวางศิลาฤกษ์ส่วนสำคัญของทางรถไฟสายทรานไซบีเรียในปี ค.ศ. 1890 ที่เมือง Vladivostok และแวะเสด็จเยือนญี่ปุ่นด้วย นี่คือแผนการที่จะแยกนางเอกบัลเลต์ฝีมือเยี่ยมคนนี้ออกจากมกุฎราชกุมารโดยใช้การ “ห่างตาก็ห่างใจ” เพราะการเดินทางใช้เวลากว่าหนึ่งปี

          สยามต้องการโน้มน้าวให้เสด็จแวะไทยให้ได้ดังกล่าวแล้วเพื่อสร้างความเกรงขามและความเกรงใจ (สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษเป็นลูกพี่ลูกน้องกับมกุฎราชกุมาร) แต่ก็ประสบอุปสรรคมากมาย อังกฤษกุข่าวว่าอหิวาตกโรคระบาดในสยามก่อนที่มกุฎราชกุมารจะทรงตอบรับคำเชิญ

          รัชกาลที่ 5 ทรงร้อนพระทัยจึงทรงมอบให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงเดชานุภาพเสด็จสิงคโปร์เชิญพระราชหัตถเลขาไปพระราชทานมกุฎราชกุมารบนเรือที่ทอดสมอหน้าเมืองสิงคโปร์ และเมื่อทรงตรวจสอบข่าวและพบว่าเป็นเรื่องที่อังกฤษกุขึ้นก็ทรงรับพระราชประสงค์ที่จะเสด็จมากรุงเทพ ราชสำนักสยามหายใจโล่งอกเพราะถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งในการประคองตัวให้พ้นจากปากเหยี่ยวปากกา

          มกุฎราชกุมารทรงประทับใจอย่างยิ่งกับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ของสยามแบบไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ดีเมื่อเสด็จกลับรัสเซียแล้ว แผนการ “ห่างตาก็ห่างใจ” ก็ยังไม่ได้ผล ทั้งสองยังติดต่อกันรวมเป็นเวลาเกือบ 3ปีก่อนที่ฃาเรวิตฃ์จะทรงอภิเษกกับ Princess Alix of Hesse-Darmstadtในปี 1894 ภายหลังจากที่พระราชบิดาสวรรคตได้ไม่นานโดยมีพระนามเต็มว่า Nicholas Alexandrovich Romanov

          ชีวิตคู่ของ “Nicholas และ Alexandra” (ชื่อหลังแต่งงานคือ Alexandra Feodorovna Romanova) เป็นไปด้วยดี ( ทั้งคู่มีโอรสหนึ่งและธิดาสี่ ) จนทั้งหมดถูกฆาตกรรมหมู่ในปี 1918 หลังการปฏิวัติบอลเชวิค ซึ่งทำให้รัสเซียเปลี่ยนเป็นคอมมูนิสต์

          สำหรับชีวิตของ Matilde นั้น ก็เหมือนคนสวยชนะรางวัลความงามทั่วไปคือมักจะเป็นกรณีของ “มาลัยสามชาย” หรือมากกว่านั้นเสมอ หลังจากฃาเรวิตซ์แล้วเธอก็มีสัมพันธ์กับ Grand Dukes แห่งราชวงศ์ Romanov อีก 2 คนคือSergei Mikhailovich และลูกพี่ลูกน้องของเขาคือ Andrei Vladimirovich

          ในปี 1902 เธอคลอดลูกชายชื่อ Vladimir โดยไม่บอกว่าใครเป็นพ่อ ลูกของเธอคนนี้เมื่อตอนมีอายุก็บอกว่าเขาไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นพ่อ ชีวิตเธอดิ้นต่อไปหลังจากได้รับรางวัลสูงสุดของการเป็น ballerina ในปี 1896 โดยอพยพไปอยู่ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติในปี 1917

          ในปี 1921 เธอแต่งงานกับ Grand Duke Andrei Vladimirovich ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับรักแรกของเธอ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีชีวิตหรูหราเหมือนตอนอยู่ในรัสเซีย แต่ก็อยู่อย่างสบายและมีความสุขอีกยาวนานหลังจากที่รักแรกของเธอและครอบครัวประสบเคราะห์กรรมหมู่ที่น่าสังเวชใจในปี 1918

          เธอเปิดโรงเรียนสอนบัลเลต์ และได้สอน ballerina ระดับโลกหลายคน เช่น Dame Margot Fonteyn / Dame Alicia Markova / Tamara Toumanova เป็นต้น เธอแสดงครั้งสุดท้ายตอนอายุได้ 64 ปี สำหรับงานการกุศล

          ในตอนปลายชีวิต เธอประสบปัญหาการเงินอยู่บ้างแต่ก็ดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีจวบจนสิ้นอายุขัยที่ 99 ปี ในปี 1971

          ถ้าสมมุติว่าซาเรวิตซ์ไม่พบรักกับเธอ ก็ไม่มีการถูกแยก ไม่ถูกพ่อสั่งไปวางศิลาฤกษ์รถไฟแดนไกล ไม่มีโอกาสเดินทางมาสยาม สยามก็ไม่มีโอกาสได้ประโยชน์จากซาเรวิตซ์ เมื่อไม่ได้ประโยชน์ก็ถูกเหล่าหมาป่า………. นี่แหละคือบทบาทของความรักกับการอยู่รอดของสยามเมื่อ 120-130 ปีก่อน