post-truth ท้าทายสังคม

วรากรณ์  สามโกเศศ
20 ธันวาคม 2559

         ผู้บูชา “ความดี ความงาม ความจริง” ทั้งหลายคงรู้สึกอึดอัดกับแนวโน้มของสภาพการณ์ในปัจจุบันในระดับโลกที่ดูจะให้ความสนใจกับเรื่องอารมณ์มากกว่า “ความจริง” อันสอดคล้องกับคำว่า post-truth ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นคำแห่งปี 2016 โดย Oxford Dictionaries

          Post-truth สะท้อนปรากฏการณ์ 2 อย่างที่เกิดขึ้นในโลกไล่เรี่ยกัน นั่นก็คือการลงประชามติของอังกฤษในเรื่องออกจาก EU หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brexit และการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump

          Brexit ชนะก็เพราะกลุ่ม Leave หาเสียงโดยใช้ข้อมูลที่กึ่งเท็จ เช่น บอกว่าการเป็นสมาชิก EU ทำให้อังกฤษต้องจ่ายเงินถึงอาทิตย์ละ 350 ล้านปอนด์ (15,750 ล้านบาท) มิใยที่คนจะบอกว่าอังกฤษก็ได้รับกลับคืนมามากเหมือนกัน ตัวเลขนี้จึงบิดเบือนเพราะเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้หักกลบลบกับที่ได้รับคืนมา แต่ฝ่าย Leave ก็ไม่สนใจและใช้ตัวเลขนี้ปลุกอารมณ์ขึ้นมาให้อยู่เหนือเหตุผล

          ในกรณีของสหรัฐอเมริกามีสถิติว่า Trump นั้นพูดโกหกทุก 4 นาทีครึ่งของการหาเสียง และร้อยละ 70 ของข้อมูลที่เขาเอามาอ้างนั้นอยู่ในระดับที่ไม่จริงบ้าง จนถึงไม่จริงอย่างที่สุด แต่กระนั้นก็มีผู้คนชื่นชมเขาจนได้รับเลือกถึงแม้คะแนนเสียงโดยรวมจะน้อยกว่า Hillary ถึงกว่า 2 ล้านเสียงก็ตาม (ถ้า Hillary มีคะแนนอีกไม่กี่หมื่นเสียงในรัฐ Wisconsin / Pennsylvania และ Michigan เธอก็จะเป็นผู้ชนะแทนเพราะจะทำให้ได้คะแนน electoral votes สูงกว่า)

          ตลอดการหาเสียงประธานาธิบดีอันยาวนาน Trump ปลุกอารมณ์ของคนตกงาน คนกลัวว่าจะตกงานเพราะเทคโนโลยี และคนไม่พอใจกับบทบาทของอเมริกาในหลายเรื่อง เช่น “ความแหย” “ความไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม” “การเป็นไก่รองบ่อนในเวทีโลก” “การสูญเสียงานเพราะการค้าเสรี” ฯลฯ โดย Trump เป็นคนปลุกเร้าด้วยความจริงปนเท็จ และความเท็จล้วน ๆ จนมีคนสนับสนุนทั้งที่เขาไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองระดับโลก ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีประวัติอันสะอาดงดงาม ฯลฯ แต่คนจำนวนมากก็เลือกเขาทั้งๆที่รู้ว่าหลายเรื่องเป็นเท็จทั้งสิ้น

          ปรากฏการณ์เหล่านี้ตรงกับคำว่า post-truth ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์หมายถึง “มีลักษณะของการเกี่ยวพันหรือมีการแสดงให้เห็นสภาวะซึ่งสิ่งที่เป็นความจริงมีอิทธิพลน้อยกว่าอารมณ์และความเชื่อส่วนตัวในการสร้างความเห็นสาธารณะ” พูดง่าย ๆ ก็คือความรู้สึกและความเชื่ออยู่เหนือความจริงอย่างชนิดที่ “ฉันไม่แคร์”

          post-truth ต่างจากคำพวก post-war หรือ post-match ซึ่งคำหน้า ว่า post หรือที่เรียกว่า prefix หมายถึงช่วงเวลาภายหลังเหตุการณ์หรือสถานการณ์ เมื่อเติมเข้ากับคำไหนก็หมายถึงช่วงเวลาหลัง เช่นหลังสงคราม หลังการแข่งขัน ฯลฯ แต่ post ใน post-truth นั้นหมายถึงว่า “truth มิใช่เรื่องพึงสำคัญไปแล้ว” (อารมณ์ และความเห็นส่วนตัวสำคัญกว่า)

          post-truth มิใช่คำใหม่ รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1992 โดยผู้เขียนบทละครชื่อ Steve Tesich ใช้ในการเขียนเรียงความลงในนิตยสาร Nation แต่มาได้เป็นคำแห่งปี 2016 ก็เพราะในปี 2016 คำนี้มีการใช้มากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 2,000 เปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากปรากฏ Brexit และ Donald Trump

          ในสหรัฐอเมริกานั้นแม้แต่ในปัจจุบันก็มีคนเชื่อตามที่ Trump กล่าวหามาหลายปีว่าประธานาธิบดี Obama มิได้เกิดในสหรัฐอเมริกา (ถึงแม้ Obama จะเอาใบเกิดมาโชว์ แต่เขาก็บอกว่าเป็น ใบปลอม) อีกทั้ง Obama และ Clinton เป็นคนก่อตั้งกลุ่ม ISIS ส่วน Climate Change หรือสภาวะโลกร้อนนั้นไม่ใช่เรื่องจริง มันเป็นเรื่องลวงโลกที่จีนเป็นผู้ก่อ นอกจากนี้มีผลการสำรวจว่าร้อยละ 20 ของผู้สนับสนุนเขาเห็นว่าอเมริกาไม่ควรเลิกทาส ฯลฯ

          การมีหลักมีเกณฑ์ของคนอเมริกันในเรื่องบูชาความจริงมายาวนานกำลังหายไป โดยถูกจุดประกายโดยปัจจัยแวดล้อมและซ้ำเติมโดยนักการเมืองโกหกพกลม เหตุผลที่ประธานาธิบดี Nixon ลาออกเมื่อปี 1974 เพราะกำลังจะถูก impeach (ประนามโดยสองสภาจนต้องหลุดจากตำแหน่ง) ก็เพราะการโกหกว่าไม่รู้เรื่องกรณีดักฟังสำนักงานของพรรคเดโมแครตแต่ถูกจับได้คาหนังคาเขาเพราะเทปอัดเสียงที่ตนเองแอบอัดไว้ ที่จริงเรื่องที่ได้แอบอัดเสียงฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ที่คนอเมริกันรับไม่ได้ในตอนนั้นก็เพราะเขาโกหกซึ่งเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งประธานาธิบดี

          อย่างไรก็ดีในเวลา 24 ปีต่อมา ประธานาธิบดี Clinton ก็โกหกแบบกระต่ายขาเดียวว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเจ้าหน้าที่ฝึกหัดของทำเนียบขาวทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานแน่นหนา เขารอดจากการถูก impeachไปได้ และก็ยังมีหน้ามีตาในสังคม เป็นสามีของคนที่เกือบได้เป็นประธานาธิบดีเสียด้วย

          ในปี 1994 กรณีของ O.J. Simpson อีกเช่นกันที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของ post-truth เรื่องมีอยู่ว่าฮีโร่กีฬาผิวสีคนนี้คนอเมริกันรักบูชา แต่เมื่อภรรยาผิวขาวและแฟนใหม่ถูกฆ่าโดยมีหลักฐานมัดตัวเขาแน่น คนผิวสีเกือบทั้งประเทศเชื่อว่าเขาบริสุทธิ์ แต่ที่ถูกจับก็เพราะถูกรังแกโดยคนผิวขาว ในที่สุด O.J. Simpson ก็หลุดในศาลด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ลูกขุนและประชาชนในการสู้ความว่าถูกคนขาวกลั่นแกล้ง

          การบูชา “อารมณ์และความเห็นส่วนตัว” มากกว่า “ความจริง” เป็นเรื่องน่าตกใจและถ้าระบาดไปทั่วโลกแล้ว โลกของเราคงจะน่าอยู่น้อยลงเป็นอันมากเพราะ “ความจริง” เป็นฐานของจริยธรรม ดังจะเห็นได้ว่าความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความเป็นธรรม หลักนิติธรรม ความยุติธรรม ความสัตย์ซื่อ (integrity ซึ่งครอบคลุมทั้งความซื่อสัตย์และความมั่นคงในหลักคุณธรรม) ล้วนอยู่บนพื้นฐานของ “ความจริง” ทั้งสิ้น

          สังคมใดที่ใช้อารมณ์และความเห็นส่วนตัวเป็นสรณะ จะวุ่นวาย หาความสงบสุขได้ยากเพราะสมาชิกขาดเหตุขาดผล เมื่อไม่แคร์ว่าอะไรเป็นจริง อะไรเป็นเท็จ คุณธรรมอันเป็นฐานของความสงบสุขก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

          ปัจจัยแวดล้อมใดที่ทำให้เกิด post-truth? เมื่อมองไปรอบตัวในปัจจุบันเราเห็นข้อมูล ท่วมท้นไปหมดจากการสื่อสารสมัยใหม่ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวการ จากที่เราเคยเป็น “สังคมแห่งข้อเท็จจริง” (society of facts) กำลังเปลี่ยนผ่านเป็น “สังคมแห่งข้อมูล” (society of data) และช่วงเวลาปัจจุบันกำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านนี้ ดังนั้นผู้คนจึงย่อมมีความสับสนเป็นธรรมดา
          smart technologies ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ การเก็บข้อมูลบน cloud ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดข้อมูลชนิดที่เรียกว่า big data ซึ่งบางส่วนจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นบางข้อเท็จจริง (facts) ในเวลาต่อไป แต่ด้วยขนาดอันมหึมาของมันจึงทำให้การแปรเปลี่ยนนี้ช้า ข้อมูลจึงท่วมท้นใจเรา โดยเฉพาะที่ถูกบิดเบือนเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ของเราโดยการประชาสัมพันธ์จากบุคคลที่หาประโยชน์จากเรา ฯลฯ ในช่วงเวลาอันสับสนนี้ post-truth จึงผงาดขึ้นมา

          ผู้เขียนเชื่อว่าคุณธรรมเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และงดงามในโลก ดังนั้น “ความจริง” จะต้องกลับมาครองโลกเสมอ และเป็น “society of truth” ในที่สุด …….ระหว่างนี้ก็ปล่อยให้ post-truth เขาใหญ่ไปก่อน

Michelle Obama สร้างตัวอย่าง

วรากรณ์  สามโกเศศ
2 สิงหาคม 2559 

          เมื่อตอนสาว ๆ Michelle Roboinson มีชาย 2 คนให้เลือกเป็นสามี คนหนึ่งเป็นนักธุรกิจฐานะดี อีกคนเป็นนักกฎหมายที่ทำงานเพื่อสังคม เธอตัดสินใจเลือกคนหลังซึ่งชื่อ Barack Obama หลังจากสามีเธอเป็นประธานาธิบดีแล้วมีคนถามเธอว่าถ้าแม้นว่าเธอเลือกคนแรก เธอก็ไม่ได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาสิ เธอตอบว่าไม่หรอกเพราะยังไงเธอก็จะต้องทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีจนได้ นี่คือความหลักแหลมในการตอบของเธอ และเมื่อได้ฟังสุนทรพจน์ของเธอเมื่อเร็ว ๆ นี้ในการประชุมเพื่อเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกว่าเธอไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง ลองฟังเรื่องต่อไปนี้เกี่ยวกับเธอที่มีแง่มุมให้คิด

          ในการพูดสุนทรพจน์ เธอบอกว่าเธออาศัยอยู่ในบ้านที่ใช้แรงงานทาส (ผิวดำ) สร้างมา 8 ปี เห็นลูกสาวสุดรักของเธอ 2 คน วิ่งเล่นหน้าบ้านแล้วรู้สึกภาคภูมิใจที่เธอและสามีได้รับโอกาสให้เป็นตัวอย่างเพื่อเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาได้เลียนแบบ เธออยากเห็นเด็กอเมริกันเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรัก มิใช่ความเกลียดชัง การแบ่งแยกผู้คน (กำลังด่า Donald Trumpโดยไม่เอ่ยนามอย่างนิ่มและเนียน) การเป็นตัวอย่างแก่เด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต

          เมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้ Michelle ได้กระทำสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดแง่คิดในเรื่องการให้กำลังใจแก่เด็กในการใฝ่การศึกษา เรื่องก็มีอยู่ว่าในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของเธอในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เธอไปเยี่ยมโรงเรียนรัฐบาลหญิงในลอนดอน ชื่อ Elizabeth Garrett Anderson School โรงเรียนนี้ 3 ใน 4 ของนักเรียนมีฐานะยากจนจนมีสิทธิได้รับอาหารกลางวันฟรี

          เธอบอกเด็กเหล่านี้ว่าเธอมาจากครอบครัวที่ยากจน (พ่อเป็นพนักงานทำงานโรงประปา และแม่ทำงานเลขานุการ) ต้องต่อสู้ชีวิตจากถิ่นยากจนของชิคาโกจนได้เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ (เธอจบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยา จาก Princeton และจบกฎหมายจาก Harvard) ได้ทำงานบริษัทกฎหมายมีชื่อ และได้มา “ยืนอยู่ตรงนี้ก็เพราะการศึกษาโดยแท้” เธอบอกว่า “การเป็นคนเก่งเป็นสิ่งที่เก๋กว่าอะไรทั้งหมดในโลก”

          Michelle มิได้พูดเพียงครั้งเดียวกับเด็กกลุ่มนี้ เธอติดต่อถามไถ่อย่างต่อเนื่อง อีก 2 ปีต่อมาเมื่อเธอไปเยือนมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เธอก็เชิญเด็กเหล่านี้ไปพบด้วย เธอบอกว่า “พวกเราทั้งหมดเชื่อว่าหนูทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนี้” ยิ่งไปกว่านั้นในปีต่อมาเธอเชิญเด็กกลุ่มนี้ 12 คน บินไปหาเธอที่ White House (“บ้านสีขาว” ที่สร้างโดยทาสผิวดำนี้ สร้างใน ค.ศ. 1792 หรือ พ.ศ. 2335 ซึ่งเป็นเวลา 10 ปี หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์)

          สิ่งที่เกิดตามมาเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ นักเศรษฐศาสตร์แห่ง University of Bristol ชื่อ Simon Burgess ได้ตีพิมพ์บทความเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2016 วิเคราะห์ผลการสอบของเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอายุ 15-16 ปีจากการสอบ GCSE ของอังกฤษ และพบว่ามีผลการเรียนดีกว่าเด็กรุ่นก่อนหน้าเป็น อันมาก ระหว่างปี 2011-12 ซึ่งเป็นเวลา 3-4 ปีหลังจากที่ Michelle พบเด็กครั้งแรก คะแนนที่สอบได้พุ่งสูงขึ้นอย่างเทียบได้กับการที่เด็กแต่ละคนได้เกรด C 8 วิชา เป็น A 8 วิชา คะแนนที่เพิ่มขึ้นนี้สูงกว่าการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดในลอนดอน จนกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นเฉพาะที่โรงเรียนแห่งนี้อย่างเด่นชัด

          ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากที่จะบอกอย่างแน่ชัดว่าการกระทำของ Michelle เป็นสาเหตุ แต่จากการศึกษาวิเคราะห์โดยควบคุมตัวแปรต่าง ๆ Burgess เชื่อว่าคะแนนที่สูงขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องของความฟลุ๊กอย่างแน่นอน เขากล่าวว่า “ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่มันจะเกิดขึ้นจากความบังเอิญ”

          ถ้าสมมุติว่า Michelle เป็นสาเหตุจริง เรื่องนี้ก็น่าคิดมากว่าการให้กำลังใจ การคาดหวัง และการปลุกเร้าให้เกิดความทะเยอทะยานด้วยคนที่น่าเชื่อถือ มีพื้นฐานคล้ายกันสามารถมีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ในอังกฤษการประสบความสำเร็จของเด็กที่พ่อแม่เป็นอินเดีย และในสหรัฐอเมริกาที่พ่อแม่เป็นคนเอเชีย มาจากการเอาใจใส่และความคาดหวังอย่างสูง สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนให้เด็กเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ใช้การศึกษาเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

          การสัมภาษณ์เด็กกลุ่มนี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า Michelle Effect นั้นมีจริง เด็กบอกว่าเมื่อ “เธอทำได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน มันมิใช่เรื่องที่เป็นเพียงคำพูด หากเรารู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ”

          วันนี้ท่านให้กำลังใจลูกหลาน ท่านหรือยังครับ

Clinton หรือ Trump

วรากรณ์ สามโกเศศ
9 สิงหาคม 2559

         ใคร ๆ ก็อยากรู้อนาคต สถิติเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการพยากรณ์ในเรื่องการเลือกตั้งโดยโพลเป็นวิธีการที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่เราก็เห็นกันแล้วว่าทุกครั้งของการเลือกตั้งไทยเราเห็นคนทำโพลหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บกันอยู่เป็นประจำ สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 58 ในวันอังคารที่สองของเดือนพฤศจิกายน หรือ 8 พฤศจิกายน 2016 มีผู้ใช้วิธีการพยากรณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างน่านำมาเล่าสู่กันฟัง

          Nate Silver เป็นผู้ที่กลุ่มผู้สนใจติดตามเรื่องนี้นึกถึงเป็นคนแรก เขาดังมากจากการที่พยากรณ์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ที่ Obama ชนะได้ถูกต้องทุกรัฐ โดยมิได้ทำโพลเองเลย หากใช้โพลที่มีคนทำมาประกอบการพิจารณาหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการลงคะแนนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สิ่งแวดล้อมทางการเมือง สัดส่วนของผู้มาลงคะแนน ประวัติศาสตร์ความจงรักภักดีต่อพรรค บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ

          ในครั้งนี้เขาใช้หลากหลายวิธีการ เช่น สร้างโมเดลทางสถิติของเขาเองในหลากหลายลักษณะ และใช้ผลโพลที่น่าเชื่อถือมาประกอบวิจารณญาณ ถึงแม้จะเหลือเวลาอีกประมาณ 100 วันก่อนเลือกตั้ง แต่เขาก็ทำนายว่า Clinton มีความเป็นไปได้เกินกว่าร้อยละ 59 ที่จะชนะ (probability ที่จะชนะมีมากกว่า 0.59) หรืออาจถึงร้อยละ 69 ด้วยซ้ำ

          มีอีกวิธีการพยากรณ์ผลการเลือกตั้งที่น่าสนใจมาก เจ้าของคือ Allan Lichtman ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ แห่ง American University กับ Voladia Keilis-Borok นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ไม่มีการใช้โมเดิลทางสถิติหรือโพลใด ๆ หากใช้การตอบคำถาม 13 ข้อที่เขาคิดค้นขึ้น หากตอบว่า “ถูกต้อง” เกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 7 ข้อขึ้นไปแล้ว ผู้แข่งขันที่มาจาก “พรรคที่อยู่ในอำนาจ” (พรรคสังกัดของ ผู้เป็นประธานาธิบดีซึ่งคือพรรคเดโมแครตในปัจจุบัน) จะเป็นผู้ชนะ วิธีการนี้เขาใช้พยากรณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีถูกทุกครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา

          คำถามมีดังต่อไปนี้ (1) หลังจากการเลือกตั้งกลางเทอมประธานาธิบดีครั้งหลังสุดแล้ว พรรคที่อยู่ในอำนาจมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าการเลือกตั้งกลางเทอมก่อนหน้านั้น (2) ไม่มีการแข่งขันที่จริงจังเพื่อเป็นตัวแทนพรรคของพรรคที่อยู่ในอำนาจ (3) ตัวแทนพรรคที่อยู่ในอำนาจที่ลงแข่งขันคือตัวประธานาธิบดี (4) ไม่มีผู้แข่งขันที่มาจากพรรคที่ 3 หรือแข่งแบบอิสระที่มีความสำคัญ (5) เศรษฐกิจไม่อยู่ในภาวะตกต่ำในช่วงเวลาของการหาเสียง (6) รายได้ต่อหัวที่แท้จริงขยายตัวในช่วงวาระของการเลือกตั้ง(2ปี)ที่ผ่านมาเท่ากับหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของ 2 วาระก่อนหน้า

          (7) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของนโยบายในระดับชาติ (8) ไม่มีความไม่สงบเรียบร้อยทางสังคมระหว่างวาระการเลือกตั้งที่ผ่านมา (9) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจไม่มีมลทินจากเรื่องฉาวโฉ่ (10) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจไม่ประสบความล้มเหลวสำคัญในด้านทหารหรือการต่างประเทศ

          (11) รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจประสบความสำเร็จที่สำคัญในด้านทหารหรือการต่างประเทศ (12) ตัวแทนจากพรรคอยู่ในอำนาจมีเสน่ห์ หรือเป็นวีรบุรุษ (หรือวีรสตรี) ของชาติ และ (13) ตัวแทนจากพรรคคู่แข่งไม่มีเสน่ห์ หรือไม่ใช่วีรบุรุษ (หรือวีรสตรี) ของชาติ

          ในการแข่งขันครั้งนี้ Hilary Clinton เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ในอำนาจ หากพยายามลองตอบคำถามข้างต้นโดยเอาที่สามารถตอบได้ชัด ๆ ก็จะเห็นว่าที่สามารถตอบได้ว่า “ถูกต้อง” คือ ข้อ (2), (4), (5), (7), (8), (9) และ (13)

          สำหรับข้อ (2) อาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันกับ Bernie Sanders ไม่จริงจังเพราะ Clinton ชนะขาดโดยไม่มีช่วงเวลาใดที่น่าหวาดหวั่นว่าจะแพ้เลย สำหรับข้อ (7) และข้อ (8) นั้นบางคนอาจบอกว่าไม่จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อ (9) นั้นต้องยอมรับว่าจริงอย่างยิ่งเนื่องจาก Obama ไม่มีเรื่องฉาวโฉ่ ใด ๆ ส่วนข้อ (13) นั้นสามารถตอบได้เต็มปากเพราะ Donald Trump นับวันยิ่งเป็นตัวตลกยิ่งขึ้น

          เมื่อสามารถตอบได้ว่า “ถูกต้อง” 7 ข้อซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงหมายความถึงชัยชนะของ Clinton แต่ก็เป็นไปอย่างฉิวเฉียดภายใต้วิธีพยากรณ์นี้

          ลองดูกันต่อไปว่าอาจารย์ 2 คนนี้จะผิดพลาดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1988 เมื่อ George H. Bush (ผู้พ่อ) ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหรือไม่

Brexit…มาถึงตรงนี้ได้อย่างไร?

วรากรณ์  สามโกเศศ
28 มิถุนายน 2559

          คนอังกฤษ 17.6 ล้านคนลงมติสวนทิศทางที่ผู้รู้ทั้งหลายทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ หรือนักการเมืองเห็นตรงกันว่าการออกจาก EU คือการทำลายตนเองโดยแท้ อะไรทำให้อังกฤษมาถึงตรงนี้ได้

          ในการลงประชามติมีผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด 46.73 ล้านคน แต่มาลงคะแนนเสียง 33.55 ล้านคน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 71.8 ในจำนวนนี้คนที่ต้องการออกจาก EU มี17.41 ล้านคน ต้องการอยู่ต่อ 16.14 ล้านคน ดังนั้นในจำนวนประชาชนที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่มีวิจารณญานทั้งหมดจึงมีคนแสดงความต้องการออกจาก EU จริง ๆ ร้อยละ 37.3 (17.41 ÷ 46.73) x 100) ที่เหลือคือคนที่ไม่ต้องการออกและผู้ที่ไม่มาลงคะแนนเสียง

          การเฉือนชนะกันด้วยคะแนน 1.27 ล้านคน (17.41 – 16.14) ในผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง 46.73 ล้านคน ซึ่งมีคนแสดงความต้องการชัดเจนว่าต้องการออกจาก EU 17.41 ล้านคน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 37.31 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด เป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าตกใจ

          ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งโลกเกือบร้อยละร้อยเห็นตรงกันว่า Brexit จะทำให้อังกฤษเสียหายครั้งใหญ่ อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นจะลดลงร้อยละ 2.9 และเลวร้ายกว่านี้ในระยะยาว การค้าระหว่างประเทศจะลดน้อยลง (อังกฤษส่งออกไป EU ร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะลดลง ค่าเงินปอนด์ลดลง ฯลฯ ทั้งหมดก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภาพ (productivity) ซึ่งเป็นหัวใจของความมั่งคั่งของเศรษฐกิจอังกฤษ

          ไม่ว่าจะชนะกันด้วยคะแนนเท่าใด มีผู้มาลงคะแนนเสียงกี่คน กติกาของระบอบประชาธิปไตยก็คือเสียงส่วนใหญ่ทั้งนี้เพื่อให้มีคำตอบอย่างไม่ต้องใช้กำลังหรือความรุนแรง ซึ่งการมีคำตอบนี้มีราคาแพงมากในกรณีนี้ เพียงร้อยละ 37 ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดแสดงความประสงค์ชัดเจนว่าต้องการออก ระบอบประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้การแสดงเจตจำนงค์ลาออกของ David Cameron นายกรัฐมนตรีทันทีที่รู้ผลคือความงดงามของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบซึ่งสะท้อนเสียงของประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริงก็ตาม เมื่อ “เสียงส่วนน้อย” แสดงความเห็นชัดเจนก็ต้องเป็นไปตามกลไกนี้ ช่วยไม่ได้กับคนอีก 13.8 ล้านคนที่เขาให้โอกาสแล้วแต่ไม่มาลงคะแนนเสียง

          Josep Carmona Coca สื่ออังกฤษให้เหตุผล 8 ข้อว่าเหตุใดฝ่ายต้องการออกจาก EU (Leave) จึงชนะฝ่ายต้องการอยู่ต่อ (Remain) ข้อ (1) การขู่ให้กลัวด้านเศรษฐกิจของฝ่าย Remain ไหม้มือตัวเอง สาธารณชนได้รับข้อมูลด้านลบจากแหล่งต่างๆมากมายเช่นจาก IMF /OECD / ธนาคารกลาง / นักวิชาการ / นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรี / สารพัดผู้รู้ แม้แต่ประธานาธิบดี Obama ยังบินมาบอกว่าถ้าออกละก็อาจต้องไปเข้าคิวใหม่เพื่อให้ได้เงื่อนไขการค้าที่ดี ในที่สุดฝ่าย Leave ก็ไม่เชื่อ ทั้งหมดนี้มิได้เป็นแต่เพียงการปฏิวัติต่อกลุ่มคนหรือความเชื่อเก่า เดิม ๆ (Anti-establishment) เท่านั้น แต่ฝ่าย Leave ส่วนหนึ่งกลายเป็นเชื่อว่าพวกตรงข้ามคือพวกคนรวย พวกชนชั้นนำทางสังคมซึ่งมีผลประโยชน์จากการอยู่ใน EU การชนะของ Leave แสดงว่ามีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งมิได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเป็นสมาชิก EU ดังนั้นจึงไม่แคร์

          (2) ในตอนต้นฝ่าย Leave อ้างว่าการออกจาก EU จะทำให้รัฐบาลมีเงินในมือเพิ่มขึ้นอาทิตย์ละ 350 ล้านปอนด์ฃึ่งสามารถเอามาช่วยด้านสาธารณสุขได้มาก แต่ต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวเลขที่เกินจริง อย่างไรก็ดีคนลงคะแนนได้ตัวเลขนี้ฝังลงไปในหัวแล้วดังนั้นจึงเห็นว่าทำไมจะต้องจ่ายเงินมากขนาดนี้ให้ EU

          (3) การมีคนอพยพเข้าประเทศมากขึ้นทำให้ กลุ่ม Leave รู้ดีว่าคนอังกฤษกังวลที่มีคนอพยพเพิ่มมากขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนอังกฤษซึ่งเป็นคนอนุรักษ์นิยมโดยธรรมชาติจึงไม่พอใจ เมื่อมีคนมาบอกว่าตรุกีจะเป็นสมาชิก EU และจะนำไปสู่การอพยพเข้ายุโรปโดยเฉพาะอังกฤษด้วยอีกมากมายในอนาคตอันใกล้ตามเงื่อนไขของการเป็นสมาชิก EU (กว่า 1 ล้านคนในปีที่ผ่านมามีคนอพยพเข้าสู่ยุโรปจากซีเรีย ตุรกี และหลายประเทศ) ฟางเส้นสุดท้ายคือตัวเลข 100,000คนที่คนต่างชาติอพยพเข้าอังกฤษในปีที่ผ่านมา

          (4) คนเลิกฟังนายกรัฐมนตรี David Cameron การยอมเสี่ยงเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของพวก Remain โดยการอ้างว่าขอให้เชื่อใจเขาเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ได้ผล การไปเจรจากับ EU เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขอังกฤษกับ EU ในเรื่องเพดานการจ่ายเงินและอื่น ๆ ก่อนลงประชามติเพื่อช่วยฝ่าย Remain ก็ไม่มีผลทางใจต่อสาธารณชน คนหมดศรัทธาในความสามารถของเขาในการขอการผ่อนปรนจาก EU จนเชื่อว่าการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่าง EU กับอังกฤษไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หนทางเดียวก็คือการออกมาจาก EU เสีย

          (5) ถึงแม้กว่าร้อยละ 90 ของ ส.ส. พรรค Labour สนับสนุน Remain แต่ก็ไม่อาจโน้มน้าวแรงงานซึ่งเป็นฐานเสียงให้เห็นตามได้เนื่องจากแรงงานเหล่านี้กลัวถูกแย่งงานโดยพวกอพยพใหม่

          (6) เมื่อ Michael Gove รัฐมนตรียุติธรรมของรัฐบาล และ Boris Johnson ส.ส.ของพรรครัฐบาล อดีตนายกเทศมนตรีลอนดอน (ลอนดอนแบ่งพื้นที่ทำให้มีนายกเทศมนตรี 2 คน) โดดลงช่วยสนับสนุน Leave ทำให้กลุ่มนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีเพราะความเป็นที่นิยมของทั้งสองคน และเมื่อรวมกับผู้นำกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจึงเกิดโมเมนตั้มขึ้น

          (7) ผู้สูงอายุพากันไปลงคะแนนมากเป็นพิเศษ กลุ่มต่ำกว่า 35 ปีสนับสนุน Remain กันเกินครึ่ง แต่ในกลุ่ม 55 ปีขึ้นไปสนับสนุน Leave ถึง 3 ใน 5 เป็นที่ชัดเจนในการลงประชามติครั้งนี้ว่าเสียง Leave ส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจชั้นกลาง ในขณะที่คนหนุ่มมีทางโน้มที่จะอยู่กลุ่ม Remain

          (8) อังกฤษไม่เคยมีความสัมพันธ์กับยุโรปแนบแน่น ในปี 1975 อังกฤษก็เคยมีประชามติเรื่องจะอยู่กับยุโรปใน EEC (ตลาดร่วมยุโรปก่อนที่จะพัฒนามาเป็น EU) หรือไม่ และกลุ่มอยู่ชนะท่วมท้น แต่กระนั้นความคลางแคลงในการเป็นสมาชิก EU ก็ไม่เคยหมดไป

          กล่าวโดยสรุปได้ว่า Leave ชนะก็เพราะคนอังกฤษ “กลัวเสียเงิน” แบบไม่เข้าท่า “กลัวพวกอพยพ” ในรูปแบบของการก่อการร้ายและแย่งงาน และ “กลัวสูญเสียอธิปไตย” ต้องการกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้โดยไม่ถูกบังคับโดยกฎหมาย EU

          เด็ดดอกไม้ดอกเดียวยังกระทบถึงดวงดาว แล้วอังกฤษอดีตมหาอาณาจักรผู้ยิ่งบารมีและมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของ EU ออกจาก EU จะไม่ให้ชาวโลกหนาวสั่นได้อย่างไร

100 ปี ชาตกาลอาจารย์ป๋วย

วรากรณ์  สามโกเศศ
15 มีนาคม 2559

          9 มีนาคม 2559 เป็นวันคล้ายวันเกิด 100 ปี ของท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อยู่ในหัวใจของผู้ร่วมงาน ลูกน้อง ศิษย์ และผู้คนที่รู้จักประวัติชีวิตของท่าน การจัดงานฉลอง ชาตกาล 100 ปี นี้มีความหมายอย่างไรต่อคนไทย

          ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนโครงสี่สุภาพตอนอายุ 24 ปี ไว้บทหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจในชีวิต :

          กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี
          กูเกิดมาก็ที หนึ่งเฮ้ย
          กูคาดก่อนสิ้นชี วาอาตม์
          กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น

          เมื่อเปรียบเทียบความตั้งใจในตอนนั้นกับสิ่งที่ท่านได้ทำมาตลอดจนเสียชีวิตเมื่อตอนอายุได้ 83 ปีแล้ว ก็สามารถเห็นว่าท่านได้ “ไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น” ได้อย่างแท้จริงเพราะนอกจากรางวัลแม๊กไซไซอันทรงเกียรติแล้ว ล่าสุดเมื่อปลายปี 2558 UNESCO ได้ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก

          อาจารย์ป๋วยเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2502-2514) อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อดีตประธานคณะกรรมการสารพัดตำแหน่งที่เกี่ยวกับงานสำคัญของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่งของไทย 2504-2509) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานทั้งหมดในฐานะข้าราชการด้านงานเศรษฐกิจ และนักการศึกษา

          นอกจากผลงานในด้านการริเริ่มพัฒนาชนบท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร พัฒนาระบบการศึกษาของชาติ ผลักดันไอเดียการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย อีกทั้งงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ริเริ่มจัดประชุมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยของภูมิภาค หนึ่งใน South East Asia Development Advisory Group (SEADAG) ฯลฯ ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และนักบริหารจัดการมหาวิทยาลัยซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของการชุมนุมในยามขัดแย้งด้านความคิดเห็นของประชาชนใน พ.ศ. 2519 ฯลฯ ทั้งหมดนี้มิได้หวังผลทางการเมือง หรือหาผลประโยชน์ใส่ตัวแม้แต่น้อย

          บุคลิกภาพส่วนตัวในการมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อหลักความถูกต้อง กล้าหาญทางจริยธรรม ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความนิ่มนวลในการแก้ไขข้อขัดแย้ง ความเมตตากรุณาต่อผู้น้อย ตลอดจนความจริงใจในการทำงานรับใช้ชาติ ทั้งหมดร่วมกันทำให้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผู้ศึกษาชีวิตของท่าน

          การเป็นนักเศรษฐศาสตร์ยุคแรกผู้มีความรู้ด้านวิชาการเป็นเลิศในช่วงเวลาที่เศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวางรากฐานเศรษฐกิจ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การสร้างเครื่องมือ การตัดสินใจด้านนโยบาย การดำเนินนโยบาย ฯลฯ ทำให้อาจารย์ ดร.ป๋วย มีโอกาสทำงานสำคัญ ๆ มากมาย และอย่างประสบผลสำเร็จด้วย

          งานชาตกาล 100 ปี ครั้งนี้เท่าที่ผู้เขียนเข้าใจมิได้ต้องการทำให้อาจารย์เป็นผู้วิเศษ “อยู่บนหิ้ง” ให้ผู้คนเคารพบูชา แต่ในทางตรงกันข้ามผู้จัดซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ต้องการให้อาจารย์เป็นคนธรรมดา (รูปปั้นใหม่ของท่านที่ริมน้ำของคณะเศรษฐศาสตร์จัดตั้งไว้อย่างแสนธรรมดา อาจารย์ไม่ใส่รองเท้าด้วย) ที่ทุกคนสัมผัสได้

          การเป็นสามัญชนเช่นเดียวกับคนจำนวนร้อยละ 99 ของคนไทยของท่านอาจารย์ทำให้เห็นว่าใคร ๆ ก็สามารถเลียนแบบได้จนกลายเป็นคนมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นโดยการมีคุณธรรมประจำใจเฉกเช่นเดียวกับท่านอาจารย์

          แนวคิดเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังของชาติในอนาคตสืบต่อเนื่องกันไป หากท่านกลายเป็นผู้วิเศษ การคิดจะเลียนแบบก็อาจหยุดชะงัก เพราะเข้าใจว่าเฉพาะผู้วิเศษเท่านั้นที่จะเป็นดั่งเช่นท่านได้

          เยาวชนไทยแสวงหาต้นแบบนำทางชีวิตหรือไอดอล (idol) อย่างไม่ลึกซึ้ง นักร้องนักแสดงไทย โดยเฉพาะเกาหลีกลายเป็นต้นแบบของชีวิตโดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตัวเขานอกจากชื่อและเพลงที่ร้อง การนำเอาอาจารย์ป๋วยมาเป็นตัวเลือกหนึ่งของการเป็นไอดอลให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้จึงเป็นประโยชน์ต่อสังคม

          ความดี ความงาม และความจริงซึ่งเป็นหลักชีวิตของอาจารย์ป๋วย จะได้รับการพิจารณา คิดไตร่ตรอง และเป็นปุ๋ยอันวิเศษของความคิด อาจารย์ป๋วยได้ขยายความหลักดังกล่าว ดังนี้

          “…..ความดีหมายถึงการไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริตและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
          ความงามหมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรม ความเพลิดเพลิน งานอดิเรกรวมทั้งการกีฬาประเภทต่าง ๆ
          ความจริงหมายถึงธรรมที่เราใฝ่หาทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนสัจธรรมทางสังคม…..”

          ขอแนะนำเยาวชนว่าชีวิตของท่านอาจารย์คือวัตถุดิบที่ดียิ่งสำหรับการเรียนรู้เพื่อจักหาไอดอลสักคน ถ้าอยากรู้ว่าไอดอลคนนี้มีลักษณะอย่างไร ลองอ่านคำบรรยายต่อไปนี้ของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ศิษย์คนสำคัญของท่านอาจารย์ ซึ่งเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน

          “…..เป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตามได้ ข้าราชการตัวอย่างที่กล้าคัดค้านและกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง ผู้ใหญ่ที่โอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อยและผู้ยากไร้ นักวิชาการที่เป็นมิ่งขวัญของนักวิชาการทุกคน นักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยด้วยวิญญาณและการกระทำ ผู้ใฝ่สันติที่สอนให้คนต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสังคมที่เป็นธรรมด้วยสันติวิธี คนไทยที่รักเมืองไทยและอุทิศตนรับใช้ประเทศชาติตลอดชีวิต ผู้เสียสละที่ทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่เคยนึกถึงตนเอง คนดีที่ทำความดีไว้มาก จนเป็นที่ศรัทธาของทุกวงการ มนุษย์ซึ่งปราศจากโลภะ โมหะ และไม่เคยแสดงออกซึ่งโทสะ…..”

          ผู้คุ้นเคยกับชีวิตของท่านเสียใจที่ท่านจากเราไปเมื่อ 17 ปีก่อน แต่ก็ดีใจที่ในโอกาสวันพิเศษแห่งการจดจำนี้มีการร่วมมือร่วมใจกันนำชีวิตของท่านอาจารย์มาสู่การพิจารณาไตร่ตรองเพื่อ สืบทอดความศรัทธาในความดี ความงาม และความจริงลงไปยังลูกหลานเพื่อความสืบเนื่องต่อไป

9 คำที่พ่อสอน

วรากรณ์  สามโกเศศ
8 พฤศจิกายน 2559

         “9 คำที่พ่อสอน” ซึ่งเป็นผลงานของทีมที่มีชื่อว่า Lovefitt ดังปรากฏในอินเตอร์เน็ต มาจากการรวบรวมพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย ในหลาย ๆ โอกาส มีดังต่อไปนี้

         (1) ความเพียร
การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันที่ 27 ตุลาคม 2516)

         (2) ความพอดี
ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 18 ธันวาคม 2540)

         (3) ความรู้ตน
เด็ก ๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่าง ๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน (พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี 2521)

         (4) คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้ (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521)

         (5) อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ
ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 มิถุนายน 2496)

         (6) พูดจริง ทำจริง
ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม (พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540)

         (7) หนังสือเป็นออมสิน
หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมาแต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้าย ๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้ (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2514)

         (8) ความซื่อสัตย์
ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็ก ๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง (พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปีพุทธศักราช 2531)

         (9) การเอาชนะใจตน
ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้ จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ (พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 12 ธันวาคม 2513)

         สมบัติอันล้ำค่าวางอยู่ข้างหน้าแล้ว ถ้าไม่นำไปขบคิดต่อและปฏิบัติ ก็จะเป็นการเสียโอกาสในชีวิตอย่างยิ่ง
 

 “อุดมศึกษา” นอกคอก

วรากรณ์  สามโกเศศ
27 ธันวาคม 2559

          โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ลักษณะงานต่าง ๆ เปลี่ยนตามไปด้วย หากเรายังคงมีหลักสูตรอุดมศึกษาดังที่เคยเป็น ๆ กันมา ก็น่ากลัวเป็นอันมากว่าจะผลิตคนออกมาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ปัญหาการว่างงานและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นในอนาคต อันใกล้และอาจส่งผลรุนแรงด้วย

          เมื่อดูรอบตัวก็จะเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น (1) ธนาคารไม่มีสาขาใหญ่โต แบบเก่า แต่มีคนเพียง 3-4 คน ในสาขาส่วนใหญ่ (2) ร้านถ่ายรูป อัดรูปแบบโบราณหายไปแล้ว มีแต่อัดรูปแบบดิจิตอล (3) โรงเรียนสอนพิมพ์ดีดสาบสูญ ผู้คนหันมาฝึกฝนเองจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ดีดหาแทบไม่ได้ในที่ทำงาน (4) นิตยสารและหนังสือพิมพ์สูญพันธุ์กันทีละฉบับ เพราะคนหันไปอ่านฟรีทางเน็ต (5) ผู้คนซื้อของและทำธุรกรรมการเงินบนเน็ตมากขึ้นทุกวัน (6) โทรทัศน์มีคนดูน้อยลง เพราะหันมาดูจอสมาร์ทโฟนแทน ฯลฯ

          ตัวอย่างแค่นี้ก็ทำให้เห็นว่าลักษณะของงานต้องเปลี่ยนไปมากมายแล้ว และนับวันก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้นตามเทคโนโลยีที่ไล่เรียงกันมาอย่างกระพริบตาแทบไม่ทัน ในขณะที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย 4 ปี นั้น งานใหม่ก็กำลังเกิดขึ้นขนานกันไป จนคนจบมาไม่ตรงกับหลักสูตรที่เรียน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก คำถามก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือต้องเปลี่ยนแปลงการมีทักษะและความรู้ของบัณทิตให้ตรงกับงานใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะไม่มีใครรู้ว่างานใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร (เรียนการตลาดมาแต่พอเรียนจบกลับเป็นว่าตลาดต้องการคนรู้เรื่องการตลาดดิจิตอล)

          คำตอบที่ดีกว่าในการแน่ใจว่าผลิตคนตรงตลาดก็คือการมี flexibility หรือความคล่องตัวของหลักสูตรที่ช่วยสร้างทักษะและความรู้ที่ทันเหตุการณ์

          ถ้าจะให้มี flexibility ดังว่าต้องมีอะไรบ้าง? (1) ต้องมีหลักสูตรที่คล่องตัว ไม่แข็งตัวจนผู้เรียนไม่สามารถเลือกเรียนรู้ทักษะและความรู้ดังที่ต้องการได้ (2) ต้องมีวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ใช่ถ่ายทอดจากปากสู่หู ดังที่เรียกว่า transmissive education ดังที่ใช้กันในศตวรรษที่ผ่าน ๆ มา และ (3) ผู้เรียนรู้ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีความตื่นตัวในการเรียนรู้

          ในส่วนแรก หลักสูตรที่คล่องตัวนั้นจะต้องมีวิชาที่บังคับให้เรียนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเหลือให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจและคิดว่าจะทำให้ตนเองมีทักษะและความรู้เพียงพอต่อการรับมือกับงานลักษณะใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตนเองจบออกไปแล้ว

          ส่วนวิชาบังคับที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือกลุ่ม “วิชาทั่วไป” (จริง ๆ ไม่น่าจะเรียกว่าทั่วไปควรเรียกว่า “พื้นฐาน”) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษามีความสามารถในการมองเห็นภาพรวมของการเป็นมนุษย์ซึ่งจะทำให้เขาเป็นคนอย่างสมบูรณ์และเข้าใจตนเอง ส่วนนี้ประกอบด้วยเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา สังคมเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ส่วนนี้ขาดไม่ได้เพราะเราต้องการบัณฑิต ไม่ได้ต้องการเพียงแรงงานที่สนองตอบความต้องการของเศรษฐกิจเท่านั้น เราต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ และต้องการมนุษย์ที่เข้าใจว่าคุณธรรมคือสิ่งค้ำจุนโลก

          กลุ่มวิชาทั่วไปนี้ในวงการอุดมศึกษาบ้านเรา มีการเข้าใจผิดกันมาก บ้างเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น บ้างเห็นว่าเป็นส่วนที่ควรใส่ทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการครองชีพ ฯลฯ โดยทั่วไปในปัจจุบันมีน้ำหนักในหลักสูตรประมาณร้อยละ 24 ของชั่วโมงที่ต้องเรียนทั้งหมด

          นอกจากกลุ่ม “วิชาทั่วไป” แล้วที่จำเป็นต้องบังคับเรียนอีกก็คือความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานและสูงในระดับที่เข้มข้นเพียงพอต่อการออกไปประกอบอาชีพ

          ถ้าเป็นหลักสูตรวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัช วิศวกรรมบางสาขา ฯลฯ ข้อเสนอในส่วนนี้ปรับได้ไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันก็ลงตัวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว

          ปัจจุบันวิชาในส่วนนี้ที่เอาไปต่อยอดทำมาหากินเพื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักประชาสัมพันธ์ งานการท่องเที่ยวโรงแรม ธุรกิจ การบริหาร ฯลฯ มีเนื้อหาในส่วนนี้ถึงร้อยละ 60

          สำหรับส่วนสุดท้ายคือที่ให้นักศึกษาเลือกเรียนได้นั้น ไม่ว่าเป็นวิชาโทหรือเลือกเสรี มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16

          ผู้เขียนเห็นว่า สัดส่วนของ กลุ่ม“วิชาทั่วไป” ในหลักสูตรที่ต้องเรียน 135 หน่วยกิตนั้น ควรอยู่ที่ร้อยละ 24 เช่นเดิม ส่วนภาคบังคับของวิชาที่จำเป็นควรอยู่ที่เพียงร้อยละ 30 และส่วนที่ให้เลือกเรียนได้อย่างเสรีนั้นควรอยู่ที่ร้อยละ 46

          ส่วนสองคือ transmissive education นั้นคือการสอนจากปากสู่หู ซึ่งตกยุคสมัยเพราะนักเรียนสามารถหาความรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้สารพัดและอย่างรวดเร็วบนเน็ต ครูปัจจุบันจึงเป็น facilitator (ผู้อำนวยการเรียนรู้) ไม่ใช่ผู้ส่งต่อความรู้อีกต่อไป

          การสอนต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้จึงจะมีประสิทธิภาพ นักศึกษาปัจจุบันเบื่อหน่ายการนั่งฟัง เขาต้องการมีส่วนร่วมในการซึมซับความรู้และเกิดทักษะ ดังที่เรียกว่า active learning ซึ่งได้แก่การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน การแบ่งกลุ่มถกแถลง การทำรายงานและวิจารณ์ การเรียนรู้นอกสถานที่ การมีสีสันในการเรียนรู้ในชั้นเรียน กิจกรรมนักศึกษานอกชั้นเรียน กิจกรรมนักศึกษา ฯลฯ

          วิธีการสร้างนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเย็น เพราะอาจารย์ปรับตัวได้ยากกว่านักศึกษา และมักจะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วย อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนการสอนเป็นการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

          ส่วนสาม หากทั้งสองส่วนอันได้แก่หลักสูตรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับวิธีการเรียนรู้ แต่ถ้าหากนักศึกษาไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ยากที่ประสบผลสำเร็จ การเปลี่ยนทัศนคติ การเรียนรู้ตลอดจนปลุกเร้าให้นักศึกษากระหายเรียนรู้เป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น การที่รุ่นพี่หางานทำไม่ได้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

          นอกจากทั้งสามส่วนแล้ว ส่วนพิเศษที่ต้องทำก็คือการบังคับนักศึกษาให้เรียนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้นอีกหนึ่งภาคฤดูร้อนหรือภาคการศึกษา การเรียนจบสามปีครึ่งไม่ควรให้มีอีกต่อไป หากต้องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

          การสร้าง flexibility เช่นว่านี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้เริ่มวางแผนแล้ว เพราะมองเห็นความจำเป็นในการปรับตัว บางมหาวิทยาลัยไปไกลถึงกับคิดจะเลิกเรียกชื่อปริญญาเฉพาะแล้วเพราะต้องการให้นักศึกษามีเสรีภาพในการเลือกวิชาเรียนได้เต็มที่

          ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลงเพราะมันกระทบสภาวะปกติที่ดำรงอยู่ แต่ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ในที่สุดสภาวะปกติอันพึงปรารถนาก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

 “หญิงบริการ” กับ “ความมั่นคงระหว่างประเทศ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
12 มกราคม 2559

          “หญิงบริการ” “ความมั่นคงระหว่างประเทศ” “ความปลอดภัยของโลก” สามคำนี้สามารถมีความสัมพันธ์กันได้อย่างน่าแปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าเรื่องของ “หญิงบริการ” เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 80 ปีมาแล้ว แต่สองคำหลังนั้นเกี่ยวกับโลกปัจจุบัน

          “หญิงบริการ” ในที่นี้มาจากคำว่า “Comfort Women” (หญิงให้ความสบาย) ซึ่งแปลมาจากภาษาญี่ปุ่น เป็นคำสุภาพแทนคำว่า “หญิงโสเภณี” ซึ่งในกรณีนี้เกี่ยวพันกับการลักพาตัว การบังคับ หลอกลวง ล่อหลอก หญิงจำนวนมากให้เป็น “หญิงบริการ” ให้ทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945)

          เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2015 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้มีข้อตกลงกันในประเด็น Comfort Women (CW) ซึ่งเรื้อรังมายาวนาน และเป็นเรื่องที่ทำให้สองประเทศนี้กินแหนงแคลงใจกันมากว่า 20 ปี จนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ แทนที่จะประสานร่วมมือกันคานอิทธิพลของจีนและต่อต้านศัตรูร่วมกันคือเกาหลีเหนือก็มัวแต่หมางใจกัน จนเพิ่งตกลงกันได้ในครั้งนี้

          เรื่อง CW นี้ก็มีอยู่ว่า กองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นเมื่อยึดเซี่ยงไฮ้ได้ในปี 1937 ก็มีการตั้ง Comfort Stations (CS____ ซ่องนั้นแหละแต่เรียกอย่างสุภาพ) ขึ้นโดยหาอาสาสมัครจากหญิงญี่ปุ่นให้มาเป็น “หญิงบริการ” ให้ทหารผู้หาญกล้า มีการจัดอย่างเป็นระบบ มีการตรวจโรค มีที่เป็นสัดส่วน (ในค่ายทหารและในแนวหน้า) แต่เมื่อลัทธิทหารของญี่ปุ่นแพร่กระจายก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมากขึ้นก็มีจำนวนทหารมากขึ้น จำนวน CW สัญชาติญี่ปุ่นก็ไม่เพียงพอและทางการเห็นว่าสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีดังนั้นจึงต้องหันมาหาสัพพลายจากท้องถิ่นเนื่องจากมี CS มากขึ้นเป็นลำดับในหลายประเทศ

          กระบวนการจัดตั้ง CS ขึ้นนี้ก็กระทำอย่างเป็นระบบ และไม่ขัดกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งยอมรับเรื่องการมีหญิงโสเภณีในสังคมอย่างเปิดเผยมายาวนาน สำหรับสัพพลายในเขตเมืองทางการอาศัยคนกลางเป็นคนหาและมีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน อย่างโจ่งแจ้ง อย่างไรก็ดีที่หาง่ายที่สุดก็คือหญิงท้องถิ่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ยึดครองของญี่ปุ่นอันได้แก่เกาหลี (ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นระหว่าง 1910-1945) บางเมืองของจีน และต่อมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นแล้ว ฯลฯ

          ต่อมาเมื่อมี CS รวมถึง 2,000 แห่ง ไปทั่วพื้นที่ยึดครองในเอเชียจึงต้องใช้การบังคับและลักพาตัวเสียเลย กองทัพญี่ปุ่นกระทำเรื่อง CW อย่างกว้างขวางจนมีตัวเลขซึ่งถกเถียงกันมากว่ามีจำนวนเท่าใดแน่ ในปัจจุบันก็ตกลงกันได้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 200,000 คน ซึ่งเป็นคนเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลย์ ไต้หวัน (ญี่ปุ่นยึดครอง 1895-1945) พม่า ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ พื้นที่เป็นอินโดนีเซียในปัจจุบัน แม้แต่คนดัชและออสเตรเลีย (ไทยแตกต่างกว่าที่อื่นเพราะเป็นประเทศร่วมรบกับญี่ปุ่นเพราะประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร)

          ชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้น่าสงสารมาก CW มีที่มาจากการฉุดไปจากบ้านทั้งแม่และลูกสาว (ไม่เว้นแต่ยังไม่เป็นสาว) จากการล่อหลอกว่าไปทำร้านอาหารและโรงงานอุตสาหกรรมจากการบังคับ จากพวกอาสาไปเองโดยไม่รู้ว่าจะต้องรับใช้ทหารถึงวันละ 25-35 คน ส่วนใหญ่ทำงาน 6 เดือนก็ถูกปลดระวาง มีสถิติว่าสามในสี่เสียชีวิต ที่รอดมาก็ประสาทหลอนเพราะถูกซ้อมและละเมิดทางเพศ วัน ๆ พบแต่ความรุนแรง

          วัตถุประสงค์ของทางการในการมี CW ก็คือเพื่อไม่ให้ทหารไปข่มขืนชาวบ้าน (เลยลักพาลูกสาวชาวบ้านมาเองเสียเลย) จนทำให้ระคายใจประชาชนในพื้นที่ถูกยึดครอง ป้องกันโรคโกโนเรีย และซิฟิลิส และควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ อย่างไรก็ดีนักวิจัยญี่ปุ่นวิจารณ์ว่าแท้จริงแล้วต้องการเอาผู้หญิงมายัดเยียดให้เพื่อไม่ให้คิดกบฏ ลุกฮือขึ้นต่อต้านการเป็นทหารเพราะจำนวนมากรู้สึกขุ่นใจที่ถูกบังคับให้มารบ

          ทหารเมื่อรู้สึกกลัวตาย เผชิญความเครียด รู้สึกโกรธแค้น มีความโมโห มีความเกลียดชัง (ที่ต้องมาเป็นทหารและเผชิญกับความเลวร้ายต่าง ๆ) จึงมาระบายกับ CW ผ่านอารมณ์ทางเพศ CW จึงเป็นเป้ารับความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ

          เมื่อตอนแพ้สงคราม หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับ CW และ CS ถูกญี่ปุ่นทำลายไปเกือบหมด แต่ปัจจุบันมีหลักฐานจากจีน จากหญิงดัช จากสหรัฐอเมริกา ที่ยืนยันถึงความโหดร้ายของเรื่องนี้มากขึ้นทุกที จากหลักฐานที่พอมีนักวิจัยคนหนึ่งประมาณการว่าใน 200,000 คนของ CW มีเกาหลีอยู่ร้อยละ 52 จีนร้อยละ 36 และญี่ปุ่นเองร้อยละ 12

          ในปี 1951 หลังสงครามไม่นานเกาหลีก็เรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดเชยค่าเสียหายเกี่ยวกับการถูกบังคับใช้แรงงานแต่ไม่พูดตรง ๆ เรื่อง CW ในปี 1965 ญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงินกู้ผ่อนปรน 800 ล้านเหรียญสหรัฐแก่เกาหลี

          ในปี 1993 ทางการญี่ปุ่นยอมรับว่ามีการบังคับหญิงให้มาเป็น CW และขอโทษที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และในปี 1994 ก็มีการชดเชยให้ CW ผ่านกองทุนกึ่งเอกชนประมาณ 500 คน กองทุนนี้เลิกไปในปี 2007

          เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเกาหลีใต้มากเพราะเป็นฝ่ายถูกระทำมาก่อนหน้าสงครามหลายปีด้วย ดังนั้นจึงเป็นประเทศที่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนญี่ปุ่นเองในบางกลุ่มเช่นพวก ชาตินิยมก็ปฏิเสธว่าไม่มีเหตุกาณ์นี้ (Abe ในตอนแรกก็กล่าวทำนองนี้ แต่ตอนหลังเงียบไป)

          ญี่ปุ่นพบว่าประเด็น CW ขวางทางในเรื่องการทูตต่างประเทศ ไม่ว่ามีการประชุมผู้นำครั้งใดเกาหลีใต้ก็จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาตำหนิญี่ปุ่นเพื่อให้ยอมรับความผิดชอบทางกฎหมายและศีลธรรม นอกจากนี้ CW กลายเป็นประเด็นระดับโลกของกลุ่ม Women Activists หลายหน่วยงาน เช่น UN สภา EU รัฐสภาอเมริกันต่างมีมติกดดันให้ญี่ปุ่นแก้ไขเรื่อง CW

          ผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นต้องต่อสู้กับพวกชาตินิยมในประเทศที่ไม่ต้องการให้เงินชดเชยความเสียหาย ไม่ต้องการยอมรับว่ามี CW และรัฐบาลต้องระวังการยอมรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะจะมีการเรียกร้องตามมากันอีกหลายประเทศ

          ญี่ปุ่นอยากให้เรื่องนี้จบไปเสียทีจึงตกลงกันได้ในที่สุด โดยยอมให้เงิน 300 ล้านบาทผ่านกองทุน ยอมรับและให้คำขอโทษ CW ทั้งหลาย ฝ่ายเกาหลีก็รับว่าจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว และจะยอมย้ายอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึง CW ซึ่งตั้งอยู่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล (ในสหรัฐอเมริกาก็มีอนุสาวรีย์ CW ถึง 3 แห่ง) แต่ถึงวันนี้มีข่าวว่าคนเกาหลีก็ยังไม่พอใจ คิดว่าได้มาน้อยไป ประธานาธิบดีปาร์คบอกว่าต้องรีบตกลงเพราะมี CW เหลืออยู่เพียง 46 คน ในปีนี้ตายไป 9 คนแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกิน 85 ปี

          ลึกลงไปกว่านี้ ประเทศที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีข้อตกลงนี้ก็คือสหรัฐอเมริกา ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐหลายคนพยายามที่จะให้ 2 ประเทศนี้มานั่งคุยกัน มีความร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแบ่งปันข้อมูลลับในเรื่องความมั่นคงอันเกิดจากเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะ CW เป็นหนามที่ตำอยู่

          การที่มีมหามิตร 2 ประเทศ มีพรมแดนติดกันและติดกับจีน แต่ไม่ยอมร่วมมือกันถือได้ว่าสะท้อนการไร้ประสิทธิภาพด้านการทูตของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อตกลงครั้งนี้กันได้จึงเท่ากับเป็นการปูพื้นไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในคาบสมุทรเกาหลีทันที เช่น การร่วมมือกันป้องกันการทดลองระเบิดปรมาณูของเกาหลีเหนือ (การทดลองที่ทำให้แผ่นดินไหวเมื่อเร็ว ๆ นี้คือตัวอย่างของความคุกคามโดยตรงต่อโลก) การร่วมมือกันต่อสู้จีนในเรื่องข้อพิพาทหมู่เกาะจีนตอนใต้ การช่วยกันคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ ฯลฯ

          เหตุการณ์ CW ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ทำไว้ในอดีตจะย้อนกลับมาทิ่มตำปัจจุบันเสมอ บทเรียนจากอดีตจะช่วยลดความรุนแรงของสงครามในอนาคตได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้เห็นความเลวร้ายของสงครามอย่างกว้างขวางเท่านั้น
 

“โลกเขียว” กับ Promession

วรากรณ์  สามโกเศศ
19 เมษายน 2559

          เมื่อไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ มนุษย์จึงจำต้องหาวิธีกำจัดร่างคนตาย ซึ่งแต่ ดึกดำบรรพ์มีอยู่ 2 วิธีคือฝังและเผา วิธีแรกกินพื้นที่โลกและจะเป็นปัญหามากในสถานการณ์ที่ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน เมื่อสิ้น ค.ศ. 2100 (ปัจจุบันประชากรโลกเพิ่ม 1 ล้านคนทุก ๆ 5 วัน) วิธีที่สองทำให้ปัญหาโลกร้อนหนักหน่วงยิ่งขึ้น ไม่ว่าหันไปทางไหนก็เป็นปัญหาทั้งสิ้น จนกระทั่งมีคนหัวดีเสนอทางเลือกที่สามซึ่งเรียกว่า promession

          การฝังลึก 6 ฟุต ในโลงหรือห่อผ้ามิได้กินพื้นที่อย่างเดียวเท่านั้น หากก่อปัญหาโลกร้อนอีกด้วยเพราะเมื่อร่างเน่าเปื่อยในสภาพที่ขาดออกซิเจนก็จะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็น greenhouse gas อันมีผลในทางลบต่อภาวะโลกร้อนเป็น 20 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ และถ้าสร้างหลุมศพใหญ่โตก็จะเป็นภาระแก่โลกเพราะ กระบวนการผลิตทั้งหลายก็ไม่หนีผลิตคาร์บอนไดออกไซด์อีก

          การเผาแบบดั้งเดิมต้องใช้ไม้ฟืน และถ้าใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซซึ่งเพิ่งใช้กันมาเพียงหนึ่งร้อยปี (ในบ้านเราเพิ่งใช้กันไม่นาน) ก็สร้างปัญหาการสูญเสียพลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมก๊าซพิษที่คนไม่ตระหนักอีกมาก

          ในประเทศตะวันตกที่การเผาศพมีความนิยมมากขึ้นทุกที หลังจากเผาไป 90 นาที ที่อุณหภูมิ 700-800 องศาเซลเซียส เขาก็จะหยุดเพราะหากเผาต่อไปควันจากปรอท (สารอุดฟัน) และโซเดียมคลอไรด์ที่อยู่ในร่างจะเป็นอันตรายต่อคนทำงานเพราะเป็นสารพิษ จากนั้นก็เอาเถ้ากระดูกที่เผาไม่หมดออกมาเข้าเครื่องปั่นจนเป็นผงละเอียด

          การฝังและเผาไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนอีกต่อไปสำหรับโลกข้างหน้าเพราะจะช่วยซ้ำเติมภาวะ โลกร้อน วิธีการใหม่ที่มีผู้เสนอในนามของ promession (มาจากคำว่า promessa ในภาษาอิตาลีซึ่งหมายถึง promise) ก็คือการรีไซเคิลร่างกายมนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติโดยทำร้ายโลกน้อยที่สุด กระบวนการนี้เปรียบเสมือนการให้สัญญาว่าจะช่วยทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นจากการจากไป

          เจ้าของไอเดียนี้คือ Susanne Wiigh-Mäsak นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน ชาวสวีเดน เธอศึกษากระบวนการนี้มา 20 ปี และตั้งบริษัทส่วนตัวในปี 2005

          ไอเดียของ promession ก็คือ (ก) แช่แข็งร่างที่ -18 องศาเซลเซียส ประมาณ 24-48 ชั่วโมง (ข) เอาร่างแช่ลงในถังที่บรรจุไนโตรเจนเหลวประมาณ 83 ลิตร เพื่อให้เย็นจัดถึง -196 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ร่างกายจะเปราะเสมือนเป็นแก้ว (ค) ใช้อุลตร้าซาวน์สั่นสะเทือนร่างเป็นเวลา 1 นาที จนแตกละเอียดเป็นผงไปทั้งหมด (ง) นำผงเหล่านี้ผ่านความร้อนจนน้ำระเหยไปหมดเหลือแต่ผงแห้งไม่มีกลิ่น ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 30 ของน้ำหนักร่างในตอนแรก (จ) ใช้แม่เหล็กและวิธีการดูดโลหะและสารแปลกปลอมออกจากผงเพื่อให้เป็นอินทรียวัตถุ (organic) อย่างแท้จริง (ฉ) บรรจุผงนี้ลงในภาชนะที่ทำจากเปลือกข้าวโพดหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ จากนั้นอาจอัดเป็นแผ่นหรือเป็นกล่อง หรือเป็นขวด แล้วนำไปฝังดินตื้น ๆ เพื่อให้ย่อยสลาย ซึ่งภายใน 6-12 เดือนจะกลายเป็นดินเป็นปุ๋ยของต้นไม้ไปในที่สุด

          เธอได้ทดลองกับซากหมูนับเป็นร้อย ๆ ครั้งอย่างประสบความสำเร็จแต่ยังไม่เคยใช้กับมนุษย์เพราะยังมีปัญหากับกฎหมายสวีเดน ขณะนี้มีอยู่ 12 รายที่คอยวิธีการ promession อยู่ตามความประสงค์ของผู้ตาย ทางการสวีเดนกำลังตรวจสอบเพื่อความแน่ใจและจักได้พิจารณาแก้ไขกฎหมายในเรื่องการฝังศพด้วยวิธีใหม่นี้ต่อไป

          promession ได้รับความสนใจจาก 60 กว่าประเทศโดยเฉพาะเยอรมันนี อังกฤษ เวียดนาม อาฟริกาใต้ คานาดา เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา (รัฐคาลิฟอร์เนีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้ซึ่งมีการออกกฎหมายยอมรับวิธีการฝังแบบใหม่นี้แล้ว

          อุปสรรคของเธอที่ทำให้ promession เคลื่อนไหวไปได้ช้าถึงแม้หลายหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมสนใจเป็นอย่างมากก็ตาม อุปสรรคของเธอคือผู้ประกอบอุตสาหกรรมเผาศพทั้งหลายในโลกรวมไปถึงธุรกิจฝังศพด้วย เนื่องจากตระหนักดีว่าหาก promession ได้รับการยอมรับแล้วก็จะกระทบธุรกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก

          promession ช่วยในเรื่อง “โลกเขียว” หลายประการดังต่อไปนี้ (ก) ไนโตรเจนเหลว เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตออกซิเจน ซึ่งออกมาเป็น 4 เท่าของออกซิเจนที่ผลิตได้ เมื่อระเหยก็หายไปในชั้นบรรยากาศอย่างไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ข) สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมของโลกน้อยกว่าการฝังและ การเผา ทั้งในแง่มุมของการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ค) สร้างการรีไซเคิลโดยทำให้มนุษย์มีค่ายิ่งขึ้นเมื่อตายไปแล้วโดยช่วยสภาพของดินให้มีคุณภาพดีขึ้น

          ถ้าเรานึกถึงการใช้กระบวนการนี้กับคนที่ตายถึงเดือนละประมาณเกือบ 5 ล้านคนในโลกก็จะเห็นภาพของการประหยัดพลังงานและการช่วยให้ “โลกเขียว” ขึ้นได้ชัดเจนขึ้น

          กระบวนการนี้ไม่สอดคล้องกับบางศาสนาที่ต้องใช้วิธีฝัง แต่สำหรับกลุ่มที่ใช้ วิธีเผา (ในสวีเดนร้อยละ 77 ของผู้ตายใช้การเผา) อยู่แล้วมีโอกาสที่จะเกิดได้โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งรุนแรงและอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์ครั้งที่หกในรอบ 200,000 ปี ก็เป็นได้ (รายละเอียดดูหนังสือ “The Sixth Extinction” โดย Elizabeth Kolbert สำนักพิมพ์ openworlds .2559 .แปลโดยสุนันทา วรรณสินธ์ เบล)

          ทางเลือกที่สามนี้สำหรับชาวพุทธแล้วน่าจะเป็นวิธีการที่ยอมรับได้เพราะเปรียบเสมือนกับการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต เมื่อชีวิตหนึ่งจากไปก็เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ให้งอกงามขึ้นมาแทนที่เถ้าถ่านของตนเองส่งเสริมให้ต้นไม้เติบโตอย่างสนับสนุนโลกให้ดำรงอย่างยั่งยืน ชีวิตตนเองจึงไม่สูญไปหากแต่กลับมาอีกในรูปลักษณ์อื่นที่งดงามอย่างไม่ต่างจากชีวิตที่จากไป

          ชาวธิเบตอาจเถียงว่ายังมีอีกวิธีของการกำจัดร่างที่ไร้วิญญาณ นั่นก็คือวิธี ‘Sky Burial’ ฃึ่งเป็นประเพณีของผู้อยู่อาศัยบางแห่งในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย กล่าวคือนำคนตายหรือใกล้ตายไปทิ้งไว้บนยอดเขา และมีผู้ทำพิธีผ่าท้อง ตัดไส้ แขนขา ฯ ให้เป็นชิ้นๆ เพื่อให้อีแร้งมาลงกิน ซึ่งหมายความว่า ร่างเป็นอาหารของนก และเมื่อถ่ายออกมาก็ย่อยสลายเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ เมื่อนกตายสัตว์อื่นก็มากินซากพร้อมกับเป็นอาหารของหนอน การตายจึงเป็นการสนับสนุนการรีไซเคิลของธรรมชาติซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่ต่างไปจาก promession เพียงแต่หวาดเสียวและสยดสยองกว่า

          ถ้าทุกคนที่ตายไปญาติพี่น้องต่างปลูกต้นไม้ตรงที่ฝังผงจากร่างซึ่งผ่านกระบวนการ promession เราคงมีต้นไม้ที่เขียวครึ้มกันทั้งโลกเป็นแน่ โดยไม่ต้องสูดควันไฟตลอดจนเศษผงจากการเผาไหม้ และอาจไม่ต้องทนกับอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนก็เป็นได้

“โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” สมบัติมีค่าของสังคมไทย

วรากรณ์  สามโกเศศ
14 มิถุนายน 2559

          การจากไปของคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ในวัย 73 ปี ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง แต่ก็มิได้ทำให้คุณค่าของท่านด้อยลงไปแม้แต่น้อยเพราะชีวิตที่สร้างสรรค์นั้นยังคุณค่าแห่งการเป็นตัวอย่างให้แก่อนุชนรุ่นต่อไปเสมอ

          แผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยเริ่มในปี พ.ศ. 2504 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ งานสำคัญของแผนนี้คือการวางโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ฃึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งจนทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูง สังคมไทยในเมืองเพลิดเพลินกับ “ความร่ำรวยใหม่” อยู่หลายปีอย่างมองข้ามเพื่อนในชนบท

          ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือได้ว่าเป็นบุคคลแรก ๆ ซึ่งเกี่ยวพันกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น นอกจากการเขียนและพูดแล้ว ท่านได้ตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยขึ้นใน พ.ศ. 2510 ที่จังหวัดชัยนาท โดยใช้ที่ดิน 33 ไร่เศษที่คุณเสนาะ นิลกำแหง ซึ่งเป็นเพื่อนท่านและญาติร่วมกันบริจาค

          มูลนิธิได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในการบูรณะชนบท 13 แห่งตามหมู่บ้านในตำบลใกล้เคียงเพื่อหาข้อมูล และบูรณาการการเรียนรู้ตามความต้องการของชุมชนในเรื่องสุขภาพ การศึกษา อาชีพ และสหกรณ์ หลังจากนี้ก็นำแนวคิดจาก “ล่างสู่บน” ดังกล่าวไปใช้ในโครงการลุ่มน้ำแม่กลองในปี 2518 โดยเป็นโครงการร่วมมือของ 3 มหาวิทยาลัยคือธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และมหิดล โดยคาดว่าจะสรุปเป็นแผนปฏิบัติและนำเสนอต่อรัฐบาลได้ในกลางปี 2520 เพื่อเป็นรูปแบบการพัฒนาชนบทแบบใหม่ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นเสียก่อน ทุกอย่างจึงหยุดชะงักไป

          ในปี 2508 คุณโฆสิต เข้ารับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในขณะที่คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยบุคคลเปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ เช่น คุณบุญมา วงศ์สวรรค์ มล.เดช สนิทวงศ์ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ โดยมี คุณประหยัด บูรณศิริ เป็นเลขาธิการ ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคุณโฆษิต

          ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ท่านลาออกจากราชการไปทำงานที่ธนาคารโลกที่สหรัฐอเมริกา โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการเงินกู้ของบังคลาเทศ ซึ่งจุดนี้เองทำให้ได้รับประสบการณ์โดยตรงในเรื่องความยากจน

          ดร.เสนาะ อูนากูล ผู้ได้รับความเคารพอย่างยิ่งจากคุณโฆสิต ก็โอนไปเป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ หลังจากคลื่นลมสงบ ดร.เสนาะย้ายกลับมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ และได้เรียกคุณโฆสิตกลับเมืองไทยเพื่อให้มาเป็นผู้อำนวยการกองศึกษาภาวะเศรษฐกิจ และดำรงตำแหน่งอยู่ระหว่าง 2517-2523

          ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะนั้น แผนพัฒนาฉบับที่ 5 (2525-2529) ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก ฯก็เกิดขึ้น โดยตลอดเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรี (2523-2531) สภาพัฒน์ภายใต้การนำของ ดร.เสนาะ อูนากูลได้รับความไว้วางใจอย่างสูง และทีมงานคนหนึ่งที่รับผิดชอบงานสำคัญก็คือคุณโฆสิต โดยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาชนบทและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นแห่งชาติ

          งานสำคัญของการพัฒนาชนบทอยู่ในมือของคุณโฆสิต ภายใต้การชี้นำของ ดร.เสนาะ ปิยมิตรรุ่นน้องของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และหลังจากที่มีการสะดุดชะงักมานานปี ช่วงเวลาทองของสังคมไทยและของคุณโฆสิตคือการวางกรอบการพัฒนาชนบท การเก็บข้อมูลหลายลักษณะสำคัญของทุกตำบล(ที่เรียกกันว่า “จปฐ” หรือ “ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน” ของประชาชน) เพื่อประเมินความยากจน และแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระดับภาพรวมและท้องถิ่น

          คุณโฆสิตสร้างและสะสมชื่อเสียงในด้านความเป็นมืออาชีพของเทคโนแครต ความซื่อสัตย์ ความรู้ความสามารถรอบด้านที่สะสมมาจากงานหลายตำแหน่งในสภาพัฒน์และต่างประเทศ ตลอดจนความสุภาพอ่อนโยน ความเป็นมิตร ความมีเหตุมีผล การให้เกียรติผู้อื่น ฯลฯ ปรากฎให้นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการตลอดจนคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้สัมผัส (ผู้เขียนซึ่งรู้จักท่านมากว่า 40 ปี ในฐานะนักวิชาการสามารถยืนยันได้เต็มที่)

          จากตำแหน่งรองเลขาธิการฯ สภาพัฒน์ คุณโฆสิตลาออกไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในปี 2535 เป็นเวลาสั้น ๆ ต่อด้วยการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดียวกันในรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน

          ในปี 2538 คุณโฆสิต รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน พ.ศ. 2540 และใน พ.ศ. 2542 รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ท่านรับตำแหน่งการเมืองครั้งสุดท้ายในปี 2549 โดยเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารในรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

          ความเป็นเทคโนแครตของคุณโฆสิตมาจากพื้นฐานการศึกษาคือรัฐศาสตร์การคลังในระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ตลอดจนประสบการณ์จากงานวางแผนและศึกษาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมายาวนาน

          อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้เขียนความประทับใจในตัวคุณโฆสิตจากการได้สัมภาษณ์ในหลายโอกาสไว้ ดังนี้ ……….”คุณโฆสิตเคยบอกผมว่าไม่ว่าจะสวมหมวกอะไร ท่านก็คงเป็นเทคโนแครต โดยสามัญสำนึก หากให้ไปทำธุรกิจเองก็คงเจ๊งเพราะท่านสนุกกับการคิดมากกว่าการทำ แต่ตัวท่านก็ไม่ใช่เทคโนแครตแบบเด็ก ๆ อีกแล้ว ไม่ได้ไปอ่านไปหาเครื่องมือจากตำรามาใช้ทำมาหากิน ท่านศึกษาเรียนรู้จากความจริงในโลกจริง แล้วใช้สามัญสำนึก ใช้วิธีคิดเรื่องการพัฒนาเป็นกรอบในการเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหา สำหรับคุณโฆสิตการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และท่านพูดเสมอว่างานพัฒนาคืองานชั่วชีวิตของท่าน

          ผมเคยถามคุณโฆสิตว่า สวมหมวกทำงานมาหลายหมวก เคยดำรงตำแหน่งทั้งในระบบราชการ บริษัทเอกชน และคณะรัฐมนตรี งานอะไรที่มีความสุขที่สุด ท่านตอบแบบไม่ลังเลว่าสมัยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ……. ช่วงนั้นคุณโฆสิตเป็นกำลังหลักของภาครัฐในด้านการพัฒนาชนบทและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ท่านสนุกกับการลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหาจริง และทำงานกับชาวบ้าน

          เท่าที่ผมได้รู้จัก คุณโฆสิตเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ มองโลกในแง่ดี ไม่มีพิธีรีตอง และเมตตา ให้เกียรติคนรุ่นหลังเสมอ แม้ท่านจะจริงจังเรื่องงาน แต่ก็สัมผัสได้ถึงการปล่อยวางตามธรรมชาติ ดังที่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องหลักคิดในการทำงานไว้ว่า คนเราทำทุกอย่างไม่ได้และไม่สามารถทำทุกอย่างได้ดีหมด งานบางอย่างถ้าเราเริ่มแล้วอาจทำไม่สำเร็จแม้ทำเต็มที่แล้วก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือดับความโลภตรงนี้ แล้วหาทางส่งต่อความคิดนี้ให้คนอื่นสืบสานต่อไป โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนอื่นหันมาสนใจในงานที่เราให้คุณค่า

          เช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่ได้สนทนากัน คำพูดของคุณโฆสิตที่ผมได้ยินบ่อยจนติดหูจึงเป็นคำว่า “การพัฒนา” “ระยะยาว” “มองไกล” สมกับความเป็นนักพัฒนาชั่วชีวิต และความเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึกของท่าน…”

          ชีวิตมนุษย์นั้นสมควรแห่งการเลียนแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวอย่างนั้นอุดมด้วยความคุณธรรมและบุคคลิกภาพอันน่าพึงประสงค์ สำหรับเยาวชนทั้งหลายนี่คือต้นแบบที่เหมาะสม อย่าไปมัวเสียเวลามองหาไอดอลในเน็ตหรือจากวงนักร้องต่างประเทศอยู่เลย