Infographics ช่วยการเรียนรู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 กุมภาพันธ์ 2556

          Infographics กำลังเป็นคำฮิตติดหูผู้คนอยู่ในปัจจุบัน การเข้าใจความหมายและธรรมชาติของมันอาจช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ภาพผังองค์กร แผนที่ สถิติ เครือข่าย ฯลฯ ที่มีภาพโยงใยและสีสันงดงาม เห็นแล้วเข้าใจง่ายนั่นแหละคือ infographics ซึ่งมีทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว

          ถ้าความเจ็บปวดจากน้ำท่วมครั้งที่แล้วไม่บดบังความทรงจำเรื่อง “ปลาวาฬ” เสียหมด หลายท่านคงจำคลิปครั้งนั้นที่อธิบายว่าเหตุใดน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ และสถานการณ์รุนแรงเพียงใดกันได้ motion graphics หรือ 2-D animation เช่นนั้นสร้างความประทับใจให้ประชาชนเพราะความง่ายในคำอธิบายประกอบภาพ

          การสร้าง infographics ซึ่งมาจากสองคำคือ information + graphics มีวัตถุประสงค์ง่าย ๆ คือการทำให้สิ่งที่ยากเป็นสิ่งที่ง่าย ตัวอย่างแรก ๆ ของ infographics ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็คือภาพเขียนต่าง ๆ บนผนังถ้ำเมื่อประมาณ 32,000 ปีก่อน (มนุษย์ยืน 2 ขา มีหน้าตาเหมือนคนปัจจุบันเมื่อประมาณ 150,000 ปีก่อน)

          ต่อมาเมื่อ 5,000 ปีก่อน infographics ชั้นยอดกำเนิดขึ้นที่อียิปต์ซึ่งได้แก่ อักษรจารึกของอารยธรรมอียิปต์ที่เรียกว่า hieroglyphics หรืออักษรที่เป็นภาพ infographics ยอดเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งคือภาพสเกตซ์อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายพร้อมคำอธิบายของ Leonardo da Vinci ใน ค.ศ. 1510

          ใน ค.ศ. 1786 วิศวกรชาวสก็อต ชื่อ William Playfair เป็นคนแรกที่นำข้อมูลสถิติมาแสดงเป็นรูป pie chart กราฟ แท่ง ฯลฯ จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการนำเสนอตัวเลขสถิติในรูปแบบต่าง ๆ ที่พิศดารและกว้างขวางมากขึ้น

          ระหว่าง ค.ศ. 1970-1990 infographics เป็นที่นิยมมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อความซับซ้อนของวิชาความรู้และของสังคมมีมากขึ้นควบคู่ไปกับความก้าวหน้าด้าน IT และซอฟแวร์ ในช่วงเวลานี้หนังสือพิมพ์ USA today / Time Magazine และ The Sunday Times ของอังกฤษเริ่มนำเสนอ infographics ในข่าวและบทวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น

          ในกระบวนการย่อยข้อมูลข่าวสาร มนุษย์ใช้รูปแบบการเรียนรู้ 4 แบบด้วยกันกล่าวคือ (1) การมองเห็น ใช้ภาพผัง แผนที่ ฯลฯ เพื่อการเข้าใจแทนคำพูด (2) การได้ยิน มนุษย์เรียนรู้โดยการฟังคำที่ออกเสียง (3) อ่าน / เขียน เรียนรู้โดยการอ่านและเขียน (4) ประสบการณ์ (kinesthetic) เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ด้วยการลงมือปฏิบัติ

          Infographics ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้หลายประการดังนี้ (1) ทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นในเรื่องของแนวคิด ไอเดียและข้อมูลข่าวสาร (2) เพิ่มสมรรถนะในการคิดและพัฒนา ไอเดีย (mindmapping ก็คือลักษณะหนึ่งของ infographics) (3) ทำให้จำได้ง่ายขึ้น คงอยู่นานและสามารถนำกลับมาใช้ได้สะดวกขึ้น

          Infographics เป็นการเรียนรู้ผ่านการมองเห็น (visual learning) โดยเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างการใช้กราฟิกกับข้อมูลข่าวสาร infographics ที่แสดงไว้ด้านบนของข้อเขียนนี้อธิบายได้ชัดกว่าคำพูดใด ๆ

         ซอฟแวร์สำคัญที่ทำให้เกิดการแตกตัวของ infographics มากมายจนถึงปัจจุบันก็คือ Adobe Flash ซึ่งเปิดตัวใน ค.ศ. 2000 สำหรับโปรแกรมชั้นยอดในปัจจุบันที่ช่วยสร้างสรรค์ infographics ได้แก่ Infogr.am / Piktochart และ Easel.ly

         ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของ infographics ปัจจุบันเราเห็นการนำเสนอข้อมูลสถิติที่แปลกใหม่ (พื้นที่จังหวัดใหญ่เล็กตามจำนวนประชากร) กราฟข้อมูลตามเวลา (กราฟขึ้นลงสีต่าง ๆ ที่มีความหมายและกะทัดรัด) แผนที่รถไฟใต้ดินและบนดินซึ่งถึงแม้จะซับซ้อนหลายระดับแต่ก็เข้าใจได้ง่าย การโยงใยเครือข่ายของความคิดหรือบุคคลซึ่งซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น โครงสร้างองค์กรที่เข้าใจได้ง่าย ผังและตารางต่าง ๆ ที่นำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ฯลฯ

          Infographics สร้างประสิทธิภาพในการเรียนรู้เนื่องจากมนุษย์รับรู้ข้อมูลจาก 5 แหล่ง (เห็น สัมผัส ได้ยิน กลิ่น รส) งานวิจัยพบว่าการมองเห็นสำคัญกว่าแหล่งอื่น ๆ ทั้งหมด ร้อยละ 50 ของสมองมนุษย์ถูกใช้เพื่อการทำงานด้านการมองเห็นจนสมองสามารถย่อยภาพที่ได้รับทั้งหมดในทันที แต่สำหรับข้อความนั้นสมองย่อยในลักษณะเป็นเส้นตรงกล่าวคือเริ่มจากต้นไปท้ายโดยเรียงกันไปตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่ามนุษย์ใช้เวลานานกว่าในการรับทราบข้อมูลจากข้อความ

          ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยยืนยันว่าร้อยละ 65 ของจำนวนประชากรโดยทั่วไปเป็นผู้เรียนรู้จากการมองเห็น (visual learners) เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนรู้จากการได้ยิน การอ่านเขียนและเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังนั้น infographics จึงสามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่และสามารถย่อยข้อมูลได้รวดเร็วกว่าด้วย

          ปัจจุบันการเรียนรู้ด้วยตนเองของมนุษย์นั้นสำคัญกว่าการสอนเนื่องจากการเพิ่มและกระจายตัวขององค์ความรู้อย่างรวดเร็วจนทำให้สอนอย่างไรก็ไม่มีวันตามทัน การทำอย่างไรให้เกิดความกระหายอยากเรียนรู้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งของการศึกษา