วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 กุมภาพันธ์ 2556
การบ้านของนักเรียนไทยกำลังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในปัจจุบันว่ามีมากไปหรือไม่ หากมีก็ควรมีลักษณะใด ใช้เวลานานเท่าใดในแต่ละวัน เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเด็กหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้หลายคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องรอง พราะความสำคัญอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการมีการบ้าน
ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ แห่งสถาบันรามจิตติยืนยันในรายงานวิจัย “ปรับการเรียนเปลี่ยนการบ้าน ประสบการณ์และแนวโน้มนานาประเทศ” ว่าทั่วโลกกำลังมีกระแสต่อต้านการบ้าน (เด็กร้องไชโย) ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 3 เดือนก่อนทางการประกาศยกเลิกนโยบายมีการบ้าน สิงคโปร์ก็ไม่ ประกาศไม่เอาการบ้าน กระแสสังคมจีนหนุนให้ลดการบ้าน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น มีทางโน้มลดการบ้านลงอีก
ครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1901 รัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายยกเลิกการบ้านของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่สอง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันการบ้านในสหรัฐอเมริกาก็กลับมา อีกครั้งและดูจะหนักขึ้นในทุกชั้นเรียน แต่ถึงจะหนักอย่างไรก็คงสู้เด็กไทยในโรงเรียนที่มีการแข่งขันกันสูงโดยเฉพาะในเมืองไปไม่ได้
เด็กไทยในโรงเรียนเหล่านี้ในช่วงชั้นประถมปลายต้องทำการบ้านกัน 5 คืนต่ออาทิตย์ ใช้เวลาคืนละไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง ยิ่งในชั้นมัธยมปลายยิ่งหนักขึ้นเพราะต้องแข่งขันกันสู่อุดมศึกษา
จุดประสงค์ดั้งเดิมของการบ้านก็คือการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและความสามารถของเด็ก การบ้านที่เหมาะสมควรถูกออกแบบเพื่อสนับสนุนเพิ่มเติมสิ่งที่นักเรียนได้เรียนไปแล้ว เตรียมตัวสำหรับบทเรียนที่ยากในวันถัดไป ต่อยอดสิ่งที่ได้รู้โดยนำไปประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่ ตลอดจนนำความสามารถหรือทักษะที่ได้รับไปบูรณาการ
การบ้านที่ดีในยุคปัจจุบันและยุคต่อไป ต้องเน้นเรื่องของการเรียนรู้ผ่านการฝึกทักษะ ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านการรับข้อมูลหรือองค์ความรู้ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้แตกตัวขยายองค์ความรู้มากมายอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีไอทีในปัจจุบัน ความรู้หลายเรื่องอาจผิดในวันข้างหน้า (เช่นไม่มีภาวะเรือนกระจก) และเด็กสามารถหาอ่านได้เองจากอินเตอร์เน็ต
ตัวอย่างเช่น ทักษะชีวิต ซึ่งได้แก่ความสามารถในการอดกลั้น ความสามารถในการทำให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ ความสามารถในการพูดโน้มน้าว ความสามารถในการเอาตัวรอดในสิ่งแวดล้อมที่ลำบาก ฯลฯ นักเรียนอาจมีทักษะเช่นนี้ได้จากการทำการบ้าน ในการฝึกหัดทักษะเหล่านี้ผ่านเกมส์ ข้อสอบทางจิตวิทยา แบบฝึกหัดทดลองสถานการณ์ออนไลน์ การอ่านหนังสือที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนการฝึกฝนกับครอบครัว
การบ้านที่ไม่ดีคือการส่งเสริมการท่องจำ การรับความรู้โดยไม่ผ่านการใช้เหตุใช้ผลหากใช้ความจำ การทำแบบฝึกหัดที่เน้นผลลัพธ์โดยไม่ได้สนใจกระบวนการคิด
ปัจจุบันมีการเชื่อว่าการบ้านคือการเตรียมตัว ฝึกฝนทักษะเพื่อจะไปรับการเรียนรู้ที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น กล่าวคือเรียนด้วยตนเองที่บ้านแต่ไปทำโครงงานหรือเข้ากระบวนการเรียนรู้กับ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน
การบ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของครู เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การบ้านไม่ควรเป็นเครื่องมือของการหารายได้พิเศษของครูในตอนเย็นหลังโรงเรียนเลิกแล้ว โดยพ่อแม่จำเป็นต้องยอมจ่ายเงินเพื่อลดภาระของตนเองหรือเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับครูจนลูกของตนเองเสียประโยชน์
กฎที่ใช้กันของเวลาในการทำการบ้านในแต่ละวันของเด็กก็คือ เพิ่มขึ้น 10 นาที ทุกชั้นเรียนของเด็ก เช่น ประถมสามควรทำการบ้านคืนละ 30 นาที แต่เมื่อขึ้นไปเรียนประถมสี่ ควรทำการบ้านคืนละ 40 นาที ดังนี้เรื่อยไป กฎ “10 นาที” นี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ดีปัจจุบันเวลาที่ทำการบ้านดูจะไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาการบ้านนั้นใช้ทำอะไร ถ้าเป็นการบ้านที่ส่งเสริมการท่องจำถึงแม้จะใช้เวลานานก็ไม่มีประสิทธิภาพต่อการเป็นผู้มีการศึกษาเมื่อเติบโตขึ้น เท่ากับการบ้านที่ใช้ไปในการเตรียมพร้อมต่อการฝึกฝนและรับทักษะสำคัญเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้ และเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริงในเวลาต่อไป
การมีความทุกข์จากการทำการบ้านมากเกินไปของเด็กตั้งแต่เยาว์วัย อาจสะสมจนทำให้เกลียดการเรียนรู้ในเวลาต่อไปซึ่งเท่ากับว่าการบ้านเป็นตัวทำลายการเป็นคนมีการศึกษาซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการเรียนหนังสือ