รู้จักทัวร์ “อุ้มบุญ” ในโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12
สิงหาคม 2557

Photo by freestocks on Unsplash

          ข่าวเรื่องการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ หรือการจ้างท้องในบ้านเราเมื่อเร็ วๆ นี้อาจสร้างความแปลกใจอยู่บ้าง แต่ที่น่าประหลาดใจจริง ๆ ก็คือความกว้างขวางที่กระทำกันในจีน โดยเฉพาะในอินเดียและรัสเซีย ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดตามมาอีกมาก

          ‘อุ้มบุญ’ หรือ Surrogacy คือการท้องของหญิงคนหนึ่งอย่างตั้งใจเพื่อสามีภรรยาคู่อื่น ‘อุ้มบุญ’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) Traditional Surrogacy หมายถึง Surrogate หรือ ‘แม่อุ้มบุญ’ ท้องโดยการฉีดสเปิร์มไม่ว่าเป็นของสามีคู่นั้นหรือที่ใช้รับบริจาคมาเข้าไปในมดลูก หรือผสมไข่ของ ‘แม่อุ้มบุญ’ กับสเปิร์มกันในหลอดแก้วก่อนที่จะฉีดเข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะมีพันธุกรรมของ ‘แม่อุ้มบุญ’ ปนอยู่ด้วย

          (2) Gestational Surrogacy หมายถึง ‘แม่อุ้มบุญ’ ท้องโดยเอาไข่กับสเปิร์มที่ผสมแล้วใส่เข้าไปในมดลูก ลูกที่ออกมาจะไม่มีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘แม่อุ้มบุญ’ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

          เรื่อง ‘อุ้มบุญ’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลังจาก 1978 ซึ่งเด็กหลอดแก้วคนแรกเกิดจากกระบวนการผสมสเปิร์มและไข่ในหลอดแก้วก่อนที่จะใส่เข้าไปในมดลูกศักราชของ ‘อุ้มบุญ’ ประเภท ที่ 2 ก็เปิดทันทีเพราะเกิดความคิดเรื่องเอาไข่ผสมแล้วไปใส่มดลูกคนอื่นที่ไม่ใช่แม่ ในปี 1985 โลกก็ได้เห็นเด็กคนแรกจากการ ‘อุ้มบุญ’ ชนิดนี้ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการเกิดการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ก็ตามมาโดยธรรมชาติ

          การ ‘อุ้มบุญ’ แบบ Traditional คือเอาสเปิร์มของสามีไปใส่ในหญิงอื่นโดยภรรยารู้เห็นเป็นใจมีมาแต่ดึกดำบรรพ์นับเป็นพันปี เช่นเดียวกับการ ‘อุ้มบุญ’ แบบสามีแอบไปทำเองโดยภรรยาไม่รู้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำให้หัวแตกกันมาแยะแล้ว

          กรณีของน้องแกมมี่ที่เกิดในบ้านเรานั้นสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ชนิดที่ 2 เรื่องก็คือสามีภรรยาออสเตรเลียมาจ้างหญิงไทยท้องในราคา 350,000 บาท เพราะภรรยาไม่อาจท้องได้ เมื่อเป็นลูกแฝดหญิงชาย ทารกหญิงเป็น down syndrome (ที่สมัยก่อนเรียกว่า ‘ปัญญาอ่อน’) แต่ทารกชายปกติ พ่อแม่ที่จ้างก็รับไปแต่เด็กปกติ ทิ้งให้เธอต้องเลี้ยงน้องแกมมี่คนเดียว ถึงแม้เรื่องนี้จะฟังสะดุด ๆ อยู่บ้างแต่ก็ชี้ให้เห็นปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น

          เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในออสเตรเลียวิพากษ์วิจารณ์กันหนักและมีการรณรงค์บริจาคเงินช่วยรักษาน้องแกมมี่ซึ่งเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดด้วย พ่อปรากฏตัวแต่เอเย่นต์หายตัวไปแล้ว มีแต่หญิงไทยที่ให้ข่าวและไม่รู้จักชื่อพ่อแม่ที่จ้าง

          การจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ทั้งหมดเป็น Surrogacy ประเภทที่ 2 ซึ่งในบ้านเราเป็นที่ทราบกันว่ามีการจ้างกันกว้างขวางพอควรโดยมีเอเย่นต์แสวงหา ‘แม่อุ้มบุญ’ ไทยที่ต้องการเงินทองผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ก็มีกรณีของคนต่างชาติเดินทางมา 3 คน หญิง 2 ชาย 1 มาให้หมอไทย ฝังตัวอ่อนเข้าไปในมดลูกของหญิงที่สามีภรรยาพามา และก็เดินทางกลับบ้านเพื่อไปฟูมฟักเด็กต่อไป คนจีนไม่น้อยที่ทำอย่างนี้เพราะต้องการให้ ‘แม่อุ้มบุญ’ เป็นคนจีนด้วยกัน

          คาดเดาว่าในไทยมีจำนวนการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ กันมากพอควรเพราะกฎหมายไทยยังเป็น สีเทาอยู่ แต่ที่ทำกันกว้างขวางกว่ามากก็คือจีน อินเดีย และรัสเซีย

          นโยบายผ่อนปรนให้มีลูกเกิน 1 คน ได้ ฐานะทางเศรษฐกิจทีดีขึ้น ความอยากมีลูก การแต่งงานช้า สิ่งแวดล้อมที่เชื่อว่าไม่เอื้ออำนวยให้มีภาวะเจริญพันธุ์สูง ฯลฯ ทำให้เกิด ‘ลูกอุ้มบุญ’ ในจีนไม่ต่ำกว่า 10,000 รายต่อปีอย่างผิดกฎหมายโดยมีเอเย่นต์รับงานกันเป็นร้อย ๆ แห่งในหลายเมือง ค่าจ้าง ‘อุ้มบุญ’ มีตั้งแต่ 500,000-700,000 บาท

          สำหรับอินเดียและรัสเซียนั้นจัดได้ว่าเป็นแหล่งทัวร์ ‘อุ้มบุญ’ ใหญ่ อินเดียนั้นเป็นแหล่งทัวร์ใหญ่ที่สุดเนื่องจากถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเลือกผู้หญิงอินเดียที่ไม่เสพยาและไม่กินเหล้าเป็น ‘แม่อุ้มบุญ’ ได้ไม่ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในราคาที่ถูกมากคือทั้งแพ็กเกจทั้งการผสม ค่าจ้างอุ้มท้อง ค่าคลอดลูกที่โรงพยาบาล ค่าที่พัก ค่าเดินทางโดยเครื่องบิน ในราคาประมาณ 800,000 บาท ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามของราคาในประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบันมีสามีภรรยาจากทุกมุมโลกไปใช้บริการ

          รัสเซียก็เป็นอีกแหล่งของทัวร์ ‘อุ้มบุญ’ ทุกอย่างถูกกฎหมายหมด และแถมใส่ชื่อ พ่อแม่จริงทางชีววิทยาให้ในใบเกิดอีกด้วย ทั้งสองประเทศนี้มีระบบการใช้เอเย่นต์เป็นผู้จัดการให้ทุกอย่าง

          เรื่องที่ฟังดูง่ายนี้จริง ๆ แล้วมีปัญหาเกิดขึ้นมาก เช่น (1) กรณีที่คลอดออกมาแล้วไม่เอาลูก (2) แม่ ‘อุ้มบุญ’ ท้องแล้วอุ้มท้องหนี (3) คลอดออกมาแล้วรู้สึกผูกพันจนไม่ยอมให้ลูก (4) แม่ ‘อุ้มบุญ’ หายไปกับพ่อเจ้าของสเปิร์ม (5) แม่ ‘อุ้มบุญ’ เบี้ยวสัญญาโดยโก่งราคาเพิ่มขึ้นระหว่างท้อง (6) สามีภรรยากับ ‘แม่อุ้มบุญ’ ขัดแย้งกันหนักในเรื่องการดูแลเด็กในท้องจนไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ฯลฯ

          ปัญหาที่ปวดหัวทางกฎหมายก็คือ การจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ควรถูกกฎหมายหรือไม่ และใครเป็นแม่ในทางกฎหมาย สองประเด็นนี้มีกฎหมายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในกรณีของการอุ้มบุญโดยไม่มีการว่าจ้าง กฎหมายในหลายประเทศไม่ห้ามแต่ห้ามกรณีของการจ้าง ส่วนประเทศที่ถูกกฎหมายเรื่องการจ้าง ‘อุ้มบุญ’ ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย จอร์เจีย ยูเครน บางรัฐในสหรัฐอเมริกา ส่วนไทยนั้นมีความพยายามออกกฎหมายใหม่แต่ขณะนี้ยังไม่มีการถูกจับจึงทำกันแบบกล้า ๆ กลัว ๆ แต่ดูจะกล้ามากกว่ากลัว

          สำหรับประเด็นใครเป็นแม่นั้น ศาลในประเทศส่วนใหญ่เช่นเดียวกับไทยถือว่าผู้ให้กำเนิดคือแม่โดยไม่นำพากับประเด็นการเป็นพ่อแม่ทางชีววิทยา (biological parents) หนทางเดียวที่ผู้ไม่ได้ให้กำเนิดจะเป็นแม่

          ได้ก็ด้วยการรับเป็นลูกบุญธรรมเท่านั้น ดังนั้นผู้จ้าง ‘อุ้มบุญ’ จึงใช้วิธีรับเป็นบุตรบุญธรรมหลังการคลอดเพื่อการเป็นพ่อแม่อย่างถูกกฎหมาย

          เรื่องการเป็นแม่ของผู้จ้างทางกฎหมายนั้นเป็นปัญหาหากการรับเป็นบุตรบุญธรรมไม่เกิดขึ้นดังเรื่องฮื้อฉาวในปี 1986 ที่เรียกว่ากรณี “Baby M” ในสหรัฐอเมริกา แม่ ‘อุ้มบุญ’ ทำสัญญากับสามีภรรยา แต่ผิดสัญญาเมื่อ Baby M คลอดโดยฟ้องศาลว่าเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมาย ศาลตัดสินว่าเพื่อเป็นประโยชน์กับเด็กมากที่สุดให้ “Baby M” อยู่ในความดูแลของสามีภรรยาผู้เป็นพ่อแม่ทางชีววิทยา

          ในปี 1990 ศาลคาลิฟอเนียร์ในกรณีคล้ายกันตัดสินให้พ่อแม่ทางชีววิทยาเป็นผู้ดูแล และให้คำจำกัดความของแม่ที่แท้จริงว่าคือคนที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาและเลี้ยงดูอบรม ข้อสังเกตก็คือศาลไม่ได้บอกว่า แม่ ‘อุ้มบุญ’ มิได้เป็นแม่ตามกฎหมาย

          การ ‘อุ้มบุญ’ จะเป็นปัญหาทางกฎหมาย ทางประเพณี และทางศีลธรรมไปอีกนาน ตราบที่มนุษย์ยังไม่เห็นตรงกัน การแก้ไขต้องใช้เวลาและใช้เหตุและผลทางปรัชญา สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญก็คือความเชื่อทางศาสนา

          การเป็นเพียงพ่อแม่ทางชีววิทยา ไม่อาจเปรียบเทียบทางจริยธรรมได้เลยกับพ่อแม่ที่ตั้งใจทุ่มเทฟูมฟักเลี้ยงดูเด็กด้วยความรัก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *