Selfie ลวงตาให้เสียเงินและเจ็บตัว

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
13
มกราคม 2558

Photo by Cristina Zaragoza on Unsplash

         มนุษย์โดยทั่วไปชอบดูภาพถ่ายของตนเองอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ยุคภาพวาดในสมัยโบราณ ตามมาด้วยยุคล้างฟิลม์ก่อนอัดภาพ จนถึงยุคภาพ ‘ทันด่วน’ ของดิจิตอล เมื่อ สมาร์ทโฟนมีกล้องถ่ายรูปด้วยและสามารถถ่ายภาพตนเองได้อีกทั้งสามารถแพร่หลายผ่าน Social media ได้อย่างกว้างขวางและทันที ปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือความบ้าคลั่ง Selfie ก็บังเกิดขึ้นจนเป็นปัญหาน่าตกใจ

         มนุษย์อยากเห็นหน้าตาตนเองมาแต่ดึกดำบรรพ์ สิ่งที่ทำให้มนุษย์เห็นหน้าตนเองเป็นครั้งแรกก็คือหินขัดซึ่งมีกำเนิดจากหินภูเขาไฟเมื่อ 8,000 ปีก่อนโดยมีหลักฐานการพบใน Anatolia หรือบริเวณประเทศตุรกีในปัจจุบัน

         ต่อมาอีก 2,000 ปี มนุษย์ใช้ทองแดงขัดเงาเป็นกระจกส่อง และในสมัยอียิปต์โบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อนก็ยังคงใช้โลหะขัดเงาเช่นเดียวกัน สำหรับกระจกชนิดที่ฉาบด้วยโลหะคล้ายกระจกปัจจุบันเพิ่งใช้กันเมื่อ 2,000 ปีก่อนมานี้เอง ชาวโรมันพบเทคนิคในการฉาบกระจกด้วยตะกั่วให้เป็นกระจก ส่วนจีนรู้จักใช้เงินและปรอทฉาบกระจกเมื่อ

         1,500 ปีก่อน และสืบทอดต่อมาจนเป็นกระจกในปัจจุบันด้วยการผลิตในลักษณะเดียวกัน ในสมัยอยุธยากระจกเป็นสิ่งมีค่า มีการนำกระจกเข้าจากต่างประเทศโดยให้เป็นของขวัญที่มีค่าเพราะหายาก

         คำว่า Selfie เกิดขึ้นในปี 2002 โดยปรากฏเป็นครั้งแรกในข้อความ on-line ของคนออสเตรเลียชิ้นหนึ่ง และหลังจากนั้นมาก็มีการใช้กันมากขึ้นเป็นลำดับเพราะสะดวกสำหรับการเรียกรูปถ่ายตัวเองจากสมาร์ทโฟน

         ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียนั้นมีหลายคำชอบลงท้ายด้วย ie (สระอี) เช่น Aussie (คนออสเตรเลีย) footie (หมายถึงออสเตรเลียนฟุตบอล) barbie (หมายถึง barbecue) tinnie (เบียร์กระป๋อง) firie (พนักงานดับเพลิง) dunnie (ห้องน้ำ) ฯลฯ selfie มีรากมาจาก self และบอกด้วย ie ตามสไตล์ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย

         นับตั้งแต่ต้นปีใหม่เป็นต้นมาเราได้รับทราบข่าวคราวอุบัติเหตุอันเกิดจาก Selfie หลายรายอย่างน่าสลดใจเพราะความพลั้งเผลอสนุกกับ Selfie ปรากฏการณ์ Selfie เกิดขึ้นทั่วโลกและระบาดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุคที่มีเครื่องมือทันใจ เช่น Facebook / Instagram / Line ฯลฯ บวกความชอบดูรูปตนเองจนอาจเลยไปเป็นความหลงใหลตัวเอง (narcissism) ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีในเชิงจิตวิทยา

         การหลงใหลตัวเองนำไปสู่ความเชื่อและการเข้าใจโลกที่บิดเบี้ยวผิดไปจากความเป็นจริง (delusion) และเมื่อไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้อย่างง่ายดาย นอกไปจากนี้การหลงใหลตัวเองทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองเกินความพอดีและการยึดมั่นถือมั่นในตนเองนั้น พุทธมามกะทั้งหลายย่อมทราบดีว่าเป็นรากแห่งนานาปัญหา

         ผู้บริหาร British Association of Aesthetic Plastic Surgeons เปิดเผยว่ามีผู้ต้องการผ่าตัดเสริมความงามจำนวนมากขึ้นที่นำเอาเรื่องของ Selfie เข้ามาในการปรึกษาหารือ งานวิจัยพบว่าความกังวลมากที่สุดของคนเหล่านี้ก็คือจมูก โดยเกรงว่าเมื่อยิ้มหรือหัวเราะแล้วจมูกจะดูไม่สวย หรือปลายจมูกจะไม่เรียวงาม

         ในอังกฤษระหว่างปี 2012 ถึง 2014 มีการผ่าตัดเสริมความงามจมูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จนกลายเป็นอันดับ 5 ของการผ่าตัดเสริมความงามที่หญิงและชายนิยมมากที่สุด ส่วนการผ่าตัดเกี่ยวกับหน้า เช่น เปลือกตา ใบหู หน้าผาก ฯลฯ ก็อยู่ในความนิยมในสิบอันดับแรกเช่นกัน

         สถิติการผ่าตัดเสริมความงามหญิงและชายในปี 2013 ของอังกฤษ มีดังนี้ (1) เสริมหน้าอก 11,135 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13) (2) เปลือกตา 7,808 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14) (3) ดึงหน้าและหนังคอ 6,380 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13) (4) ลดขนาดหน้าอก 5,476 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5) (5) ผ่าตัดจมูก 4,878 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17)

         ข้อสังเกตก็คือทั้ง 5 อันดับแรกล้วนเกี่ยวพันกับหน้าตาซึ่งปรากฏใน Selfie เป็นสำคัญ ข้อมูลนี้อาจสร้างความแปลกใจว่าคนอังกฤษก็ “ทำจมูก” ซึ่งโด่งอยู่แล้วด้วยหรือ คำตอบก็คือตัวเลขอาจรวมคนชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ และไม่มีความพอใจกับอวัยวะของตนเองนั้นไม่มีพรมแดนของเชื้อชาติ

         ทางโน้มของการผ่าตัดเสริมความงามเพื่อ Selfie ของโลกตะวันตกดูจะเป็นจริงเมื่อเทียบเคียงกับสถิติของ American Academy of Facial Plastic and Reconstructive Surgery (ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 2,700 คน) ว่า 1 ใน 3 ของแพทย์เหล่านี้พบว่ามีการผ่าตัดเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความต้องการให้ดูดีขึ้นใน Social Media

         มีสถิติจากแพทย์เหล่านี้ว่ามีการ “ทำจมูก” เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในปี 2013 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า “ปลูกผม” เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และ “ทำเปลือกตา” เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทั้งหมดนี้ก็หนีไม่พ้นประเด็น Selfie

         การห่วงความงามใน Selfie อาจทำให้เสียเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และอาจทำให้หน้าตาเละเทะก็เป็นได้เนื่องจากภาพตนเองที่เห็นในสมาร์ทโฟนเป็นภาพที่บิดเบือนจากความเป็นจริง เนื่องจากเทคโนโลยีโดยทั่วไปต่ำกว่ากล้องถ่ายรูปจนทำให้เกิดความไม่พอใจเมื่อเห็นภาพตนเองและนำไปสู่การเจ็บตัวและเสียเงินทั้ง ๆ ที่ตนเองมีความงามอยู่แล้ว

         ถ้าไม่หลุดพ้นจากความบ้าคลั่ง Selfie และยึดถือ Selfie เป็นสรณะแล้ว ตัวเองก็จะไม่สามารถเห็นความงามที่แท้จริงของตนเองได้เลย

         ถ้าไม่ตระหนักว่าตนเองใส่แว่นตาสีเขียวอยู่ ก็จะไม่มีวันรู้เลยว่าโลกที่ตนมองเห็นนั้นเป็นภาพบิดเบือน และถ้าไม่รู้ว่าตนเองวนเวียนอยู่ในโลภะ โทสะ และโมหะแล้ว ก็จะไม่มีทางหลุดพ้นจากรากเหง้าของความชั่วได้เลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *