ตื่นใจกับเรื่องน่ารู้

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7
กรกฎาคม 2558 

Photo by mauro mora on Unsplash

          ในยุคที่คนไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ต้องใช้ความคิดริเริ่มขวนขวายหาอะไรใหม่ ๆ มานำเสนอผู้อ่าน เรียกว่าสู้กันเลือดสาดจนผู้อ่านได้รับรู้อะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและยากที่จะได้รู้ภายใต้เหตุการณ์ปกติ

          นิตยสาร Time ฉบับ July 6 / July 13, 2015 นำเสนอเรื่องน่ารู้มากมาย ผู้เขียนอ่านแล้วอดใจไม่ได้ ขอเลือกบางเรื่องมานำเสนอต่อในที่นี้

          สิ่งที่เขาทำก็คือเปลี่ยนข้อมูลเป็นคำตอบและนำเสนอในรูปของ infographic (information + graphic) ที่เข้าใจง่ายและงดงาม วิธีการเช่นนี้เรียกกันว่า data journalism

          เรื่องแรกคือการนำเสนอคำตอบต่อคำถามที่ว่า “นั่งตรงไหนของเครื่องบินจึงจะปลอดภัยที่สุด” การวิเคราะห์ใช้ข้อมูลจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินอย่างกว้างขวางและย้อนหลัง 30 ปี และพบว่าหลังจากเกิดอุบัติเหตุไฟอาจไหม้ทั้งลำภายใน 2-3 นาที ดังนั้นจึงมีกฎให้ทุกคนออกจากเครื่องบินภายในเวลาไม่เกิน 90 วินาที โดยประตูออกต้องห่างจากกันไม่เกิน 18 เมตร

          ส่วนที่อันตรายที่สุดคือที่นั่งริมทางเดินในบริเวณกลางลำ ส่วนที่อันตรายรองลงมาคือหนึ่งในสามของที่นั่งทั้งหมดที่อยู่ในส่วนหน้า (ชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจนั่นแหละ) ส่วนที่ปลอดภัยที่สุดคือหนึ่งในสามของที่นั่งที่อยู่ท้ายลำ ซึ่งที่ปลอดภัยมากกว่าเพื่อนก็คือที่นั่งตรงกลาง (อยากรอดตายก็ต้องทนทรมานมากหน่อยทั้งอึดอัดและโคลงเคลง) โดยเฉพาะที่นั่งตรงกลางของแถวท้ายสุดของเครื่อง

          โอกาสรอดของคนที่นั่งริมทางเดินตรงกลางลำซึ่งอันตรายที่สุดน้อยกว่าที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดซึ่งอยู่ท้ายลำร้อยละ 58 ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดของเครื่องบินคือตอน takeoff และ ตอน landing งานศึกษาพบว่าผู้โดยสารเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ดูการสาธิตการใช้อุปกรณ์ตอนฉุกเฉิน และร้อยละ 89 ของผู้โดยสารไม่อ่านใบระบุสิ่งที่ต้องทำเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินที่ใส่ไว้ในกระเป๋าหน้าที่นั่ง

          เรื่องที่สองคือคำตอบของคำถามว่า “อะไรคือการออกกำลังกายที่ได้ผลที่สุด” คำตอบคือการออกกำลังกายดีทั้งนั้น จะออกวิธีไหนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ซึ่งมีด้วยกัน 5 อย่าง

          อย่างแรกเพื่อความอึดและแข็งแรงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ (aerobic exercise ทำให้อากาศเข้าปอดได้ดีขึ้น) วิธีคือการวิ่ง ขี่จักรยาน และว่ายน้ำ อย่างที่สองคือเพื่อจิตและสมองที่คึกคัก การเดินอย่างเร็วคือวิธีการ เพราะงานศึกษาพบว่าทำให้จิตปลอดโปร่งและอาจช่วยกระตุ้นส่วนของสมองที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้

          อย่างที่สามเพื่อความคล่องตัว การยืดเส้นสายช่วยทำให้เกิดความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว โยคะคือวิธีการหนึ่งที่ได้ผล อย่างที่สี่เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เมื่อมีอายุมากขึ้นก็สูญเสียกล้ามเนื้อมากขึ้น การยกน้ำหนักช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกและเอ็นแข็งแรงขึ้น อย่างที่ห้าเพื่อลดน้ำหนัก งานศึกษาพบว่าการออกกำลังกายหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ และซ้ำ ๆ (กรรเชียง เรือบนบก หรือวิ่งอย่างเร็วและหยุดเป็นพัก ๆ) ช่วยลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี

          เรื่องที่สามคือการเอาคำในภาษาอังกฤษมาผสมกันเพื่อให้เกิดคำใหม่เพื่อสื่อความหมายได้ตรงเป้าและลึกซึ้งขึ้น ดูทันสมัยและกระชับ อย่างไรก็ดีบางคำก็ไม่เป็นที่นิยมและจางหายไปในที่สุด

          จากการสำรวจพบว่าคำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรียงลงไปมีดังนี้ sexpert (sex + expert) / bromance (brother + romance) / frenemy (friend + enemy) / dramedy (drama + comedy) / affluenza (affluent + influenza หรือรวยกันไปทั่ว)

          ส่วนคำที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อคือคำว่า framily (friends + family) / coopetition (cooperation + competition) และ swacket (sweater +jacket)

          เรื่องที่สี่คือสถิติเกี่ยวกับ Midori Goto นักเล่นไวโอลินเพลงคลาสสิกฝีมือสุดยอดระดับโลกชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น เธอเล่นเดี่ยวครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี และตั้งแต่นั้นมาจนอายุ 43 ปี ในปัจจุบันทุกการแสดงของเธอ บัตรเข้าชมจะขายหมดเกลี้ยง ชีวิตของเธออุทิศเวลาและเงินทองให้การศึกษาดนตรีและการกุศล

          ตอนเด็ก ๆ เธอฝึกซ้อมวันละ 5 ชั่วโมง ปัจจุบันวันละ 4 ถึง 6 ชั่วโมง เธอมีชุดเพลงใน CD 16 แผ่น แสดงคอนเสิร์ตสำคัญปีละ 100 ครั้ง นอนคืนละ 6 ชั่วโมง ไวโอลินของเธอสร้างเมื่อ ค.ศ. 1734 (ไวโอลินมีมูลค่ากว่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโดย Guarneri del Gesù ช่างผลิตไวโอลินมือเลิศคนหนึ่งของโลก)

          ชาวโลกรู้จักเธอในนามของ Midori เธอเกิดที่เมืองโอซาก้า แม่เธอค้นพบความอัจฉริยะทางดนตรีของเธอเมื่อเธอฮัมทำนองเพลงของ Bach ซึ่งแม่เธอเล่นไวโอลินเมื่อ 2-3 วันก่อนตอนเธออายุได้ 2 ขวบ แม่เธอจึงซื้อไวโอลินขนาดเล็กและเป็นผู้สอนให้เธอเล่นไวโอลิน เธอเล่นไวโอลินเพลงคลาสสิกในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกตอนอายุ 6 ขวบ ที่โอซาก้า เมื่ออายุได้ 11 ปี เธอกับแม่ก็ไปอยู่ที่นิวยอร์กเพื่อเรียนไวโอลินอย่างจริงจัง ที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์แห่งความน่าอัศจรรย์ของผู้หญิงเอเชียคนนี้ทางดนตรี

          สุดท้ายคือเรื่องของสัตว์ที่อันตรายที่สุด 5 ชนิด ยุงคือสัตว์ที่ดุร้ายที่สุด ฆ่ามนุษย์ ปีละ 755,000 คน รองลงมาคือหอยทาก 200,000 คน (คนกินไข่ที่อยู่ในน้ำซึ่งเข้าไปเพาะตัวจนทำให้ ตกเลือด) งู 94,000 คน และสุนัข 61,000 คน แมลงมีพิษ 12,000 คน ตัวเลขเหล่านี้อาจดูสูงแต่เมื่อดูตัวเลขรวมของการฆ่าฟันกันทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองแล้วสูงกว่าจำนวนที่สัตว์ฆ่าเป็นอันมากเพราะในแต่ละปีมีคนตายจากอุบัติเหตุรถยนต์และฆาตกรรมรวมแล้วปีละประมาณ 1.6 ล้านคน

          การแปรเปลี่ยนตัวเลขเป็นความรู้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์เผ่าพันธุ์ Homo sapiens ผู้มีความสามารถทางการคิดวิเคราะห์เป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวงอย่างไม่อาจเทียบกันได้แม้แต่หนึ่งเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ดีเผ่าพันธุ์นี้กำลังทำลายล้างโลกที่สรรพสัตว์อาศัยอยู่ด้วยกันมานับล้าน ๆ ปี ด้วยการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดความสมดุล

          ความรู้ข้างต้นและอื่น ๆ ไม่ว่าจะพิสดารและน่าตื่นใจเพียงใดก็ตามจะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าไม่มีโลกใบนี้ให้เราอยู่อาศัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *