ว่าด้วย Active Citizen

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25
สิงหาคม 2558

Photo by Jacek Dylag on Unsplash

          มีหลายคำในสังคมเราที่ผ่านหูอยู่บ่อย ๆ ที่สมควรได้รับการเจาะลึก Active Citizen เป็นหนึ่งในคำเหล่านั้น

          citizen เป็นคำที่รู้จักกันมานานและมักแปลว่า “พลเมือง” ซึ่งหมายถึง “กำลังของเมือง” (พละ + เมือง) ผู้เขียนไม่อยากเข้าไปข้องแวะกับข้อถกเถียงเรื่องการใช้คำว่า “พลเมือง” หรือ “ประชาชน” หรือ “ราษฎร” ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพียงต้องการอธิบายคำว่า Active Citizen ซึ่งใช้กันมากในวงการศึกษาไทยปัจจุบัน

          คำว่า citizen เป็นแนวคิดของตะวันตกซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนคร (city-states) ของกรีกโบราณ ซึ่งมีเมืองหรือนครที่ปกครองในหลายรูปแบบอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์ หรือระบบการเลือกบุคคล หรือคณะบุคคลขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง ฯลฯ คนที่เป็น citizen จะเป็น “สมาชิก” ของนคร และมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่นครให้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนครกับบุคคลหนึ่ง

          citizen ใช้กันเรื่อยมา (ในยุคโรมันก็เรียกว่า citizens of Rome เป็นต้น) ในประวัติศาสตร์ จนเมื่อประมาณกว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้ก็เกิดคำว่า Global Citizen ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นสมาชิกของโลก หรือคำว่า Netizen ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นส่วนหนึ่งของ internet

          ล่าสุดที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ Active Citizen คำนี้เกี่ยวพันกับ citizen ที่ active หรืออย่างไร citizen ประเภท passive หรือแม้แต่ lazy citizen รวมอยู่ด้วยหรือไม่

          Active Citizenship หรือสถานะของการเป็น Active Citizen โยงใยกับปรัชญาซึ่งนำเสนอว่าสมาชิกขององค์กร (ไม่ว่าธุรกิจหรือรัฐ) หรือของประเทศ ล้วนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบาทในด้านการปกครองเลยก็ตามที

          พูดง่าย ๆ ก็คือบุคคลทั้งหลายต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม

          เหตุผลของการกล่าวอ้างเช่นนี้ก็คือทุกคนเมื่อเกิดมาได้รับสิทธิจากรัฐและในฐานะมนุษย์ ก็ได้รับประโยชน์โดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้รับ

          ในฐานะสมาชิกของรัฐ เมื่อเกิดมาก็มีสัญชาติ และมีสิทธิได้รับประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมาย สิทธิตามกฎหมายต่าง ๆ ในฐานะพลเมือง ฯลฯ ดังนั้นในฐานะพลเมืองจึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบในการตอบแทนให้แก่รัฐ

          เมื่อเกิดมาในโลกก็เป็นสมาชิกของมนุษยชาติ หรือเผ่าพันธุ์ Homo sapien ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากทุกประเทศ ใครจะฆ่าฟันไม่ได้ (ในขณะที่หากเกิดมาเป็นสัตว์ก็ไม่ได้การคุ้มครองเช่นนี้) ดังนั้นเมื่อมนุษย์เขาอยู่กันมาโดยมีหน้าตาแบบมนุษย์ปัจจุบันประมาณ 150,000 ปี (ประมาณ 7,500 ชั่วคน) และได้ทำให้เกิดความอยู่รอดสืบทอดกันมาแถมช่วยกันพัฒนาโลกเราจนมีความสุขสบายเหนือกว่าสัตว์อื่น ๆ ทั้งปวง มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อโลกสิ่งแวดล้อม

          ประเด็นของ Active Citizenship คือเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ ความสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้เป็นสิ่งพึงปรารถนาเพราะช่วยให้เกิดความยั่งยืน

          ถ้าชาวโลกทุกคนเป็น Active Citizen อย่างเข้มแข็ง ปัญหาเรื่องโลกร้อนจะได้รับการแก้ไขอย่างง่ายดายเพราะทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเอง แต่ละคนจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เช่น ไม่เผาไหม้ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินควร ใช้พลังงานต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น อาสาสมัครร่วมรณรงค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีจิตสาธารณะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฯลฯ

          คนที่เรียกว่าเป็น Active Citizen ก็คือคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีบทบาทในชุมชน มีจิตอาสา (กระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแก่ตนเอง) และจิตสาธารณะ (มีจิตที่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก) ศรัทธาในการรีไซเคิลทรัพยากรเพื่อถนอมสิ่งแวดล้อม รักสันติภาพ ร่วมบริจาคทรัพยากรเพราะตระหนักดีว่าเป็นความรับผิดชอบของตน

          อังกฤษเป็นประเทศผู้นำในเรื่องแนวคิด Active Citizen โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลใจในเรื่องการให้ความสนใจแก่การเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ของอังกฤษในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษบังคับให้การศึกษาเรื่อง citizenship แก่เด็กทุกคนจนถึงอายุ 14 ปี

          ในปัจจุบันแนวคิด Active Citizen ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงมหาวิทยาลัย แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ว่าในอังกฤษ สก๊อตแลนด์ เดนมาร์ก คานาดา สหรัฐอเมริกา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

          Active Citizenship เป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ซึ่งอาจตรงกับวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ ของไทยในสมัยก่อน ปัจจุบันคำว่า ‘ความเป็นพลเมือง’ ดูจะมาแทนที่ “หน้าที่พลเมือง” ความเป็นพลเมืองนั้นถือว่าต้องทำให้เกิดมิใช่เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลเพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคม (“กำลังของเมือง”) ก็คือ (ก) การเคารพความแตกต่างของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าตา ความเชื่อ เชื้อชาติ (ข) เคารพสิทธิและความ เสมอภาค (ค) มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง (ง) เคารพกฎหมายและกฎกติกาของสังคม (จ) ใฝ่สันติภาพ

          Active Citizen มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะได้เรียนวิชานี้หรือท่องคำจำกัดความได้ หากเกิดจากการบ่มเพาะโดยพ่อแม่ ครู และสังคม ข้ามระยะเวลาให้ความรับผิดชอบเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ใน ตัวทุกคน

          ทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยล้วนมีฐานะเป็นพลเมืองไทย (Thai Citizen) แต่ถ้าจะเป็น Active Citizen แล้วจะต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *