อาลัย “ทิก เญิ้ต หั่ญ”

วรากรณ์ สามโกเศศ
1 กุมภาพันธ์ 2565

การจากไปของ Thích Nhất Hạnh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) ในวัย 95 ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้สร้างความโศกเศร้าแก่ชาวโลกที่ศรัทธาในตัวท่านและคำสอน มีคนต่างชาติและคนไทยจำนวนมากเขียนถึงท่านแสดงความอาลัยและสดุดี ผู้เขียนเคยเขียนถึงท่านอยู่เนือง ๆ เพราะท่านเป็นภิกษุนิกายมหายานในพระพุทธศาสนาที่คนรู้จักมากที่สุดในโลกท่านหนึ่ง ผู้เขียนชอบเขียนเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนเขียนถึง แต่ครั้งนี้ขอเขียนถึงท่านอาจารย์ผู้มีคำสอนพิเศษที่ทำให้การดำเนินชีวิตที่แสนธรรมดามีความหมายขึ้นอย่างไม่เคยคิดมาก่อนและทำให้รู้ว่าการมีสตินั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต

ลองพิจารณาสิ่งที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งในจำนวนกว่า 100 เล่มของท่าน “………ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว

​ ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปทำงาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิม ๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดา ๆ….. เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีชีวิตธรรมดา ๆ กันทั้งนั้น

แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดี ๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรงเป็นอัมพาต

เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..

สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดา ๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา…..”

​อีกข้อความหนึ่ง “…..ทุก ๆ วันชีวิตเราเกี่ยวพันกับปาฏิหาริย์อย่างที่เรามิได้ตระหนักถึง เราเห็นท้องฟ้าสีคราม ปุยเมฆขาว ใบไม้เขียวและดวงตาสีดำอันอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อยด้วยดวงตาทั้งสองข้างของเรา…..ทั้งหมดนี้คือปาฏิหาริย์”…..” ถ้าเราไม่เห็นว่ามันเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นทุกวันแล้ว เราคงเป็นมนุษย์ที่เขลาเอามาก ๆ ทีเดียว

คำว่า Thích (ทิก) นั้น ในเวียดนามใช้เรียกพระอันมีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน Nhất Hạnh (เญิ้ต หั่ญ) เป็นชื่อทางธรรมของท่าน คนเวียดนามมักเรียกท่านว่า “ไถ่” ซึ่งแปลว่าอาจารย์เช่นเดียวกับศิษย์ต่างชาติ แต่ศิษย์ชาวเวียดนามบางส่วนเรียกท่านว่า “ซือองม์” ซึ่งแปลว่าหลวงปู่ ในที่นี้ขอเรียกท่านว่า “ไถ่”

ไถ่บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว ในเมืองเว้ เมื่ออายุได้ 23 ปี ใน พ.ศ. 2492 ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความเสนอความคิดจนถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2505 ไถ่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบและได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หลังจากนั้นไม่นานก็เดินทางกลับเวียดนามท่ามกลางสงครามเวียดนามที่เริ่มร้อนระอุ

ไถ่ต่อสู้เพื่อสันติภาพโดยไม่เข้าข้างสหรัฐอเมริกา หรือเวียดกง(กลุ่มต่อสู้จากเวียดนามเหนือ) ไถ่เป็นผู้นำพระสงฆ์ในการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสันติภาพของชาวเวียดนามทั้งมวล ไถ่ต่อสู้จนอยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนานเกือบ 40 ปี ซึ่งตลอดเวลานั้นไถ่เดินทางไปนานาประเทศเพื่อเผยแพร่คำสอนของพุทธศาสนา

ไถ่สอนพุทธศาสนาแบบไม่วางไว้บนหิ้ง หากเอามาใ่ส่ไว้ในชีวิตประจำวันอย่างสามารถเอาคำสอนมาปฏิบัติได้ เรื่องสำคัญที่ไถ่ได้สอนตลอดชีวิตก็คือการมีสติ (mindfulness) โดยหมายถึงการตระหนักถึงทุกสิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา การมีสติคือแสงสว่างที่ส่องไปยังความคิด ความรู้สึก การกระทำ และคำพูดทั้งหมดของเรา ไถ่กล่าวว่าการมีสติทำให้ตื่นตัว ตระหนักถึงความคิด การกระทำ และสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทุกขณะจิต สติคือความระลึกได้ นึกได้ ความไม่เผลอ การคุมใจไว้กับกิจหรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง

ไถ่สอนว่าการควบคุมลมหายใจ (การทำสมาธิ) คือการเชื่อมต่อระหว่างจิตใจกับร่างกายจึงเป็นหนทางที่ช่วยทำให้เกิดการมีสติขึ้น การตระหนักในการควบคุมลมหายใจช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์เช่นความโกรธ ความกลัว ความกระวนกระวายใจและ ความผิดหวังได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทำให้เกิดความสุขซึ่งมาจากข้างใน นอกจากนี้การมีสติคือหนทางไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีจริยธรรมอีกด้วย

ไถ่อุทิศชีวิตให้แก่การสร้างสันติภาพ ความเมตตากรุณา ความรักความปรารถนาดีต่อกัน และการมีความสุขของมวลมนุษย์ ด้วยความสามารถอันแตกฉานด้านภาษาอังกฤษภาษาฝรั่งเศสและภาษาจีน ทำให้การเผยแพร่คำสอนไปได้กว้างไกล ในหนังสือกว่า 100 เล่มที่เขียนนั้น 40 เล่มเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ไถ่ได้จัดตั้งหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ขึ้นในฝรั่งเศส และต่อมาในอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วยรวม 22 แห่งเพื่อเป็นชุมชนแบบอย่างแห่งการปฏิบัติธรรมที่เน้นการเจริญสติ อย่างไรก็ดีไถ่ไม่สามารถกลับเวียดนามบ้านเกิดได้จนเกือบ 40 ปีผ่านไปและตั้งแต่ 2561 เป็นต้นมาไถ่ก็ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่วัดดั้งเดิมที่เคยบวชในเมืองเว้ และก็สิ่นชีวิตที่บ้านเกิดแห่งนี้ด้วย

ในเรื่องการศึกษาที่ไถ่สนใจเป็นพิเศษก็กล่าวไว้ว่าโรงเรียนสามารถสอนได้มากกว่าการอ่าน การเขียน การคิดเลข และการเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะสามารถสอนเด็กให้สามารถจัดการความโกรธ ขจัดข้อขัดแย้ง พัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเองได้ด้วยการมีสติ โดยเริ่มจากการมีครูที่มีสติก็จะสามารถถ่ายทอดการมีสติไปสู่เด็กได้ ห้องเรียนต้องให้โอกาสที่สองแก่เด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถสร้างบรรยากาศของความรักและสิ่งแวดล้อมแห่งความสุขได้ ครูและโรงเรียนต้องช่วยกันทำให้เกิดการสื่อสารที่แฝงไว้ด้วยความเมตตากรุณาในห้องเรียน ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและสร้างการเยียวยาให้แก่เด็กเหล่านี้

ไถ่จากไปแล้วดั่งที่เคยสอนมาตลอดว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ชีวิตมาแล้วก็ไปโดยผ่านร่างที่เราอาศัยอยู่ เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง การมีสติจะช่วยให้เรามีชีวิตท่ามกลางสภาพเช่นนี้ได้อย่างมีความสุข สำหรับศิษย์แล้ว การมีสติในชีวิตประจำวันแท้จริงแล้วก็คือการบูชาคุณความดีงามที่ไถ่ได้ทำไว้ให้แก่มนุษยชาติ