สร้างประโยชน์จากคลื่นแรงงานย้ายถิ่น

วรากรณ์ สามโกเศศ
8 กุมภาพันธ์ 2565

​วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยขนานใหญ่ ปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งที่อาจนำไปสู่ผลกระทบที่กว้างไกล และโอกาสของประเทศในการพัฒนาท้องถิ่นก็คือการที่มีผู้คนจำนวนมากอพยพย้ายกลับไปอยู่ในต่างจังหวัด และบางส่วนอาจไม่กลับไปเมืองอีก

ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้จุดประเด็นนี้ และได้แสดงความเห็นและมีข้อเสนอ โดยบอกว่าการระบาดของโควิดครั้งนี้ได้ผลักแรงงานให้เคลื่อนย้านกลับชนบทหลายล้านคนในรอบ 20 ปี ดังนั้นผู้บริหารประเทศควรเอาจริงเอาจังกับโอกาสนี้ในการเพิ่มศักยภาพของการสร้างชีวิตใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นโดยอาศัยแรงงานที่มีคุณค่าเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

ในฐานะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำรัสในงานเสวนาออนไลน์ “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” ภายใต้หัวข้อ “ใครจะอยู่รอดในสังคมแล้วจะอยู่รอดอย่างไรที่ยั่งยืน” ดร.วิรไทกล่าวว่าเหตุการณ์เช่นนี้ตรงกันข้ามกับช่วงที่บ้านเราเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 กล่าวคือครั้งนั้นแรงงานจากชนบทย้ายถิ่นเข้าเมืองจำนวนมาก จนทำให้ภาคชนบทอ่อนแอลง เหลือแต่แรงงานสูงอายุและเด็กอันส่งผลให้ผลิตภาพ (productivity) ภาคเกษตรลดต่ำลงอันเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเมืองและชนบทยิ่งขึ้น

ผู้เขียนได้ไปค้นตัวเลขของการอพยพของแรงงานครั้งนี้ และประเด็นที่เกี่ยวข้องจากสองบทความในคอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” ของกรุงเทพธุรกิจ (“คลื่นแรงงานย้ายถิ่น กับศักยภาพชุมชนท้องถิ่น” โดยเสาวณี จันทะพงษ์ และพาทินธิดา สัจจานิจการ และ “แรงงานคืนถิ่นหลังโควิด-19 จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทย” โดยเสาวณี จันทะพงษ์ และวริศ ทัศนสุนทรวงศ์) และพบว่าในภาพรวมเกิดมีแรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ทั่วประเทศรวมกันประมาณ 2 ล้านคน หลังการล็อกดาวน์สองครั้ง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี (1 ใน 3 อายุ 15-24 ปี) และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และค้าปลีก

ในมิติเชิงพื้นที่ แรงงานเหล่านี้ย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 และ ปวช. และเชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านแรงงาน และไม่มีหลักประกันทางสังคม (มากกว่าร้อยละ 65 เคยมีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน ) ข้อมูลเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยรวบรวมและวิเคราะห์พฤติกรรมการย้ายถิ่นจากฐานข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ Telco ของ True Digital Group ซึ่งเป็นวิธีการค้นคว้าสมัยใหม่ในการค้นหาข้อมูลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามและ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

คุณสุทธิชัย หยุ่น ในคอลัมน์ของไทยโพสต์กล่าวว่า “…….ดร.วิรไท ให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรหาทางสนับสนุนให้แรงงานที่เคลื่อนย้ายกลับสู่ชนบทจากผลกระทบของวิกฤตโควิดในครั้งนี้ให้สามารถคงอยู่ในชนบทได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน เพราะแรงงานที่กลับไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ และรู้จักใช้เทคโนโลยี สิ่งที่ผมพบเห็นเองในชนบทในช่วงการระบาดของโควิดคือ คนรุ่นใหม่อพยพจากเมืองกลับไปต่างจังหวัด และเริ่มสร้างอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว….. ประเทศไทยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชนบทได้ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐในส่วนท้องถิ่นในการทำงานพัฒนาโดยคำนึงถึงบริบทในเชิงพื้นที่ และควรเป็นการพัฒนาทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไปอย่างเกื้อหนุนกัน……..รัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาสังคมเช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระควรร่วมกันทำงานเพื่อสนับสนุนให้แรงงานที่กลับไปยังชนบทเป็น change agent หรือ “ผู้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง” ที่จะช่วยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้ประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนให้มีการศึกษาที่เหมาะสมในภาวะวิกฤตและในอนาคต เพราะประชาชนต้องการ reskill และ upskill ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป……รัฐควรช่วยอำนวยให้ประชาชนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ประชาชนไทยควรเปลี่ยนหลักคิด หรือ mindset จากความคิดพึ่งพาภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว การเยียวยาจากภาครัฐในวิกฤตโควิดเป็นสิ่งสำคัญในช่วงแรก ๆ แต่ไม่อาจพึ่งได้ต่อไปเมื่อวิกฤตผ่านมาถึง 2 ปีแล้ว …….รัฐสามารถสนับสนุนให้ประชาชนเริ่มพึ่งตนเองได้ด้วยการเน้นการกระจายอำนาจ และให้อำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในมือของท้องถิ่นประชาชนเองมากขึ้น…..”

ดร.วิรไทบอกอีกว่า “………จากการที่ตนทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่ประชาชนมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนา และหากได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุด ตรงตามความต้องการของพื้นที่โดยเฉพาะจากภาครัฐในระดับท้องถิ่นก็จะทำให้การพัฒนาสำเร็จลุล่วง…….ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ มาได้ในอดีตจากการน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องความพอเพียงที่มีหลักสำคัญ 3 ประการอันได้แก่ ประการแรกความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล การมีภูมิคุ้มกัน ประการที่สองการตั้งอยู่บนฐานของคุณธรรม มีความอดทน มีวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และประการที่สามการมีความรู้…. ……. วิกฤตโควิดในครั้งนี้ทำให้ประชาชนไทยเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางโลกใหม่ที่มีความผันผวนสูง……..”

หากมองภาพกว้าง บัดนี้มีคนสองล้านคนซึ่งมีการศึกษา และทักษะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีจากเมืองใหญ่ อพยพสู่ชนบท มันเป็นโอกาสทองของการสร้างประโยชน์จากวิกฤตการณ์นี้ว่าทำอย่างไรให้เขาช่วยฟื้นฟูผลิตภาพภาคเกษตรที่ตกต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า (smart หรือ precision farming) อีกทั้งสร้างเงื่อนไขให้เขาอยู่ในชนบทต่อไปอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นแรงงานผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ และเป็นผู้นำท้องถิ่นยุคใหม่ที่มีการกระจายอำนาจมากยิ่งขึ้น

การ upskill และ reskill ที่หลายมหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรอบรมจำนวนมากเพื่อภาคอุตสาหกรรมนั้น บางส่วนต้องปรับเป็นภาคเกษตรในลักษณะที่ต่างออกไปพร้อมกับให้ความรู้การใช้เครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่โดยคนที่คุ้นกับเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คนอพยพเหล่านี้ และคนไทยเป็น ผู้อยู่รอดในสังคม และรอดอย่างยั่งยืนอีกด้วยในระยะยาว