post-truth ท้าทายสังคม

วรากรณ์  สามโกเศศ
20 ธันวาคม 2559

         ผู้บูชา “ความดี ความงาม ความจริง” ทั้งหลายคงรู้สึกอึดอัดกับแนวโน้มของสภาพการณ์ในปัจจุบันในระดับโลกที่ดูจะให้ความสนใจกับเรื่องอารมณ์มากกว่า “ความจริง” อันสอดคล้องกับคำว่า post-truth ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นคำแห่งปี 2016 โดย Oxford Dictionaries

          Post-truth สะท้อนปรากฏการณ์ 2 อย่างที่เกิดขึ้นในโลกไล่เรี่ยกัน นั่นก็คือการลงประชามติของอังกฤษในเรื่องออกจาก EU หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brexit และการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump

          Brexit ชนะก็เพราะกลุ่ม Leave หาเสียงโดยใช้ข้อมูลที่กึ่งเท็จ เช่น บอกว่าการเป็นสมาชิก EU ทำให้อังกฤษต้องจ่ายเงินถึงอาทิตย์ละ 350 ล้านปอนด์ (15,750 ล้านบาท) มิใยที่คนจะบอกว่าอังกฤษก็ได้รับกลับคืนมามากเหมือนกัน ตัวเลขนี้จึงบิดเบือนเพราะเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้หักกลบลบกับที่ได้รับคืนมา แต่ฝ่าย Leave ก็ไม่สนใจและใช้ตัวเลขนี้ปลุกอารมณ์ขึ้นมาให้อยู่เหนือเหตุผล

          ในกรณีของสหรัฐอเมริกามีสถิติว่า Trump นั้นพูดโกหกทุก 4 นาทีครึ่งของการหาเสียง และร้อยละ 70 ของข้อมูลที่เขาเอามาอ้างนั้นอยู่ในระดับที่ไม่จริงบ้าง จนถึงไม่จริงอย่างที่สุด แต่กระนั้นก็มีผู้คนชื่นชมเขาจนได้รับเลือกถึงแม้คะแนนเสียงโดยรวมจะน้อยกว่า Hillary ถึงกว่า 2 ล้านเสียงก็ตาม (ถ้า Hillary มีคะแนนอีกไม่กี่หมื่นเสียงในรัฐ Wisconsin / Pennsylvania และ Michigan เธอก็จะเป็นผู้ชนะแทนเพราะจะทำให้ได้คะแนน electoral votes สูงกว่า)

          ตลอดการหาเสียงประธานาธิบดีอันยาวนาน Trump ปลุกอารมณ์ของคนตกงาน คนกลัวว่าจะตกงานเพราะเทคโนโลยี และคนไม่พอใจกับบทบาทของอเมริกาในหลายเรื่อง เช่น “ความแหย” “ความไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม” “การเป็นไก่รองบ่อนในเวทีโลก” “การสูญเสียงานเพราะการค้าเสรี” ฯลฯ โดย Trump เป็นคนปลุกเร้าด้วยความจริงปนเท็จ และความเท็จล้วน ๆ จนมีคนสนับสนุนทั้งที่เขาไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองระดับโลก ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีประวัติอันสะอาดงดงาม ฯลฯ แต่คนจำนวนมากก็เลือกเขาทั้งๆที่รู้ว่าหลายเรื่องเป็นเท็จทั้งสิ้น

          ปรากฏการณ์เหล่านี้ตรงกับคำว่า post-truth ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์หมายถึง “มีลักษณะของการเกี่ยวพันหรือมีการแสดงให้เห็นสภาวะซึ่งสิ่งที่เป็นความจริงมีอิทธิพลน้อยกว่าอารมณ์และความเชื่อส่วนตัวในการสร้างความเห็นสาธารณะ” พูดง่าย ๆ ก็คือความรู้สึกและความเชื่ออยู่เหนือความจริงอย่างชนิดที่ “ฉันไม่แคร์”

          post-truth ต่างจากคำพวก post-war หรือ post-match ซึ่งคำหน้า ว่า post หรือที่เรียกว่า prefix หมายถึงช่วงเวลาภายหลังเหตุการณ์หรือสถานการณ์ เมื่อเติมเข้ากับคำไหนก็หมายถึงช่วงเวลาหลัง เช่นหลังสงคราม หลังการแข่งขัน ฯลฯ แต่ post ใน post-truth นั้นหมายถึงว่า “truth มิใช่เรื่องพึงสำคัญไปแล้ว” (อารมณ์ และความเห็นส่วนตัวสำคัญกว่า)

          post-truth มิใช่คำใหม่ รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1992 โดยผู้เขียนบทละครชื่อ Steve Tesich ใช้ในการเขียนเรียงความลงในนิตยสาร Nation แต่มาได้เป็นคำแห่งปี 2016 ก็เพราะในปี 2016 คำนี้มีการใช้มากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 2,000 เปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากปรากฏ Brexit และ Donald Trump

          ในสหรัฐอเมริกานั้นแม้แต่ในปัจจุบันก็มีคนเชื่อตามที่ Trump กล่าวหามาหลายปีว่าประธานาธิบดี Obama มิได้เกิดในสหรัฐอเมริกา (ถึงแม้ Obama จะเอาใบเกิดมาโชว์ แต่เขาก็บอกว่าเป็น ใบปลอม) อีกทั้ง Obama และ Clinton เป็นคนก่อตั้งกลุ่ม ISIS ส่วน Climate Change หรือสภาวะโลกร้อนนั้นไม่ใช่เรื่องจริง มันเป็นเรื่องลวงโลกที่จีนเป็นผู้ก่อ นอกจากนี้มีผลการสำรวจว่าร้อยละ 20 ของผู้สนับสนุนเขาเห็นว่าอเมริกาไม่ควรเลิกทาส ฯลฯ

          การมีหลักมีเกณฑ์ของคนอเมริกันในเรื่องบูชาความจริงมายาวนานกำลังหายไป โดยถูกจุดประกายโดยปัจจัยแวดล้อมและซ้ำเติมโดยนักการเมืองโกหกพกลม เหตุผลที่ประธานาธิบดี Nixon ลาออกเมื่อปี 1974 เพราะกำลังจะถูก impeach (ประนามโดยสองสภาจนต้องหลุดจากตำแหน่ง) ก็เพราะการโกหกว่าไม่รู้เรื่องกรณีดักฟังสำนักงานของพรรคเดโมแครตแต่ถูกจับได้คาหนังคาเขาเพราะเทปอัดเสียงที่ตนเองแอบอัดไว้ ที่จริงเรื่องที่ได้แอบอัดเสียงฝ่ายตรงข้ามนั้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ที่คนอเมริกันรับไม่ได้ในตอนนั้นก็เพราะเขาโกหกซึ่งเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งประธานาธิบดี

          อย่างไรก็ดีในเวลา 24 ปีต่อมา ประธานาธิบดี Clinton ก็โกหกแบบกระต่ายขาเดียวว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเจ้าหน้าที่ฝึกหัดของทำเนียบขาวทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานแน่นหนา เขารอดจากการถูก impeachไปได้ และก็ยังมีหน้ามีตาในสังคม เป็นสามีของคนที่เกือบได้เป็นประธานาธิบดีเสียด้วย

          ในปี 1994 กรณีของ O.J. Simpson อีกเช่นกันที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของ post-truth เรื่องมีอยู่ว่าฮีโร่กีฬาผิวสีคนนี้คนอเมริกันรักบูชา แต่เมื่อภรรยาผิวขาวและแฟนใหม่ถูกฆ่าโดยมีหลักฐานมัดตัวเขาแน่น คนผิวสีเกือบทั้งประเทศเชื่อว่าเขาบริสุทธิ์ แต่ที่ถูกจับก็เพราะถูกรังแกโดยคนผิวขาว ในที่สุด O.J. Simpson ก็หลุดในศาลด้วยการปลุกเร้าอารมณ์ลูกขุนและประชาชนในการสู้ความว่าถูกคนขาวกลั่นแกล้ง

          การบูชา “อารมณ์และความเห็นส่วนตัว” มากกว่า “ความจริง” เป็นเรื่องน่าตกใจและถ้าระบาดไปทั่วโลกแล้ว โลกของเราคงจะน่าอยู่น้อยลงเป็นอันมากเพราะ “ความจริง” เป็นฐานของจริยธรรม ดังจะเห็นได้ว่าความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความเป็นธรรม หลักนิติธรรม ความยุติธรรม ความสัตย์ซื่อ (integrity ซึ่งครอบคลุมทั้งความซื่อสัตย์และความมั่นคงในหลักคุณธรรม) ล้วนอยู่บนพื้นฐานของ “ความจริง” ทั้งสิ้น

          สังคมใดที่ใช้อารมณ์และความเห็นส่วนตัวเป็นสรณะ จะวุ่นวาย หาความสงบสุขได้ยากเพราะสมาชิกขาดเหตุขาดผล เมื่อไม่แคร์ว่าอะไรเป็นจริง อะไรเป็นเท็จ คุณธรรมอันเป็นฐานของความสงบสุขก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

          ปัจจัยแวดล้อมใดที่ทำให้เกิด post-truth? เมื่อมองไปรอบตัวในปัจจุบันเราเห็นข้อมูล ท่วมท้นไปหมดจากการสื่อสารสมัยใหม่ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวการ จากที่เราเคยเป็น “สังคมแห่งข้อเท็จจริง” (society of facts) กำลังเปลี่ยนผ่านเป็น “สังคมแห่งข้อมูล” (society of data) และช่วงเวลาปัจจุบันกำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านนี้ ดังนั้นผู้คนจึงย่อมมีความสับสนเป็นธรรมดา
          smart technologies ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ การเก็บข้อมูลบน cloud ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดข้อมูลชนิดที่เรียกว่า big data ซึ่งบางส่วนจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นบางข้อเท็จจริง (facts) ในเวลาต่อไป แต่ด้วยขนาดอันมหึมาของมันจึงทำให้การแปรเปลี่ยนนี้ช้า ข้อมูลจึงท่วมท้นใจเรา โดยเฉพาะที่ถูกบิดเบือนเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ของเราโดยการประชาสัมพันธ์จากบุคคลที่หาประโยชน์จากเรา ฯลฯ ในช่วงเวลาอันสับสนนี้ post-truth จึงผงาดขึ้นมา

          ผู้เขียนเชื่อว่าคุณธรรมเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และงดงามในโลก ดังนั้น “ความจริง” จะต้องกลับมาครองโลกเสมอ และเป็น “society of truth” ในที่สุด …….ระหว่างนี้ก็ปล่อยให้ post-truth เขาใหญ่ไปก่อน