วรากรณ์ สามโกเศศ
21 มิถุนายน 2559
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron บอกว่าที่กลุ่มสนับสนุนการออกจากสมาชิก EU กล่าวว่าตุรกีจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ซึ่งจะทำให้อังกฤษต้องจ่ายเงินสนับสนุน EU เพิ่มขึ้นอีกนั้นเป็น red herring อย่างแท้จริงเพราะยังไม่มีเรื่องตุรกีจะเป็นสมาชิก EU ข้อความนี้ฟังแล้วงุนงงว่าปลา red herring (เฮอริ่งแดง) มาเกี่ยวกับเรื่องการลงคะแนนอย่างไร และน่าสงสัยว่าในบ้านเรามีปลาชนิดนี้อยู่บ้างหรือไม่
คนอังกฤษกำลังจะลงประชามติว่าจะอยู่ร่วมกับ EU ต่อไปหรือไม่ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ล่าสุดโพลหลายสำนักระบุตรงกันว่าคะแนน “ถอนตัว” นำ “คงอยู่” ร้อยละ 6 คือ 53-47 โดยล่าสุดมีคะแนนเทมาอย่างมากทาง “ถอนตัว” ถึงร้อยละ 10
ตุรกีคือred herring ในกรณีนี้ ผู้คนรังเกียจตุรกีก็เพราะมีหนี้ต่างประเทศถึงประมาณ 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (14.13 ล้านล้านบาท) หากได้เป็นสมาชิก EU สมาชิกด้วยกันก็ต้องช่วยเหลือทางการเงินมหาศาล ขณะนี้อังกฤษก็ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือ EU สุทธิปีละ 8,800 ล้านปอนด์ (458,000 ล้านบาท) อยู่แล้ว
ขอปล่อยให้คนอังกฤษถกเถียงเรื่องประชามติกันต่อไป ในที่นี้ขอกล่าวถึงสำนวน red herring ที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ในภาษาอังกฤษว่ามีความหมายอย่างไร red herring คือปลาทะเลหมักเกลือแห้งรมควันชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีแดงเพราะการรมควันและมีกลิ่นแรง
ปลา herring มีลักษณะคล้ายปลากะพงแต่ตัวเรียวยาวกว่า ความยาวปกติประมาณ 14-18 เซ็นติเมตร เป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาฃาดีน อาศัยอยู่ในน้ำเค็มบริเวณปาซิฟิกตอนเหนือ และแอตแลนติกตอนเหนือ ตลอดจนฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้ herring เป็นปลาที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์การบริโภคปลาทะเลของคนยุโรป
คนตะวันตกคุ้นเคยกับ red herring ดีจึงนำเป็นสำนวนในภาษาอังฤษซึ่งหมายถึงสิ่งซึ่งล่อให้หลงทาง หรือดึงให้หันเหไปจากประเด็นหรือเรื่องที่พูดกันอยู่ ในโลกการเขียนนิยายลึกลับ red herring ถูกใช้อย่างจงใจให้คนอ่านเข้าผิดในตอนดำเนินเรื่องแต่จบลงด้วยพล๊อตที่ต่างไปจากที่ถูกหลอกให้เชื่อ เช่น ถูกลวงให้เข้าใจว่าบุคคลหนึ่งเป็นผู้ร้าย แต่สุดท้ายแล้วอีกคนหนึ่งนั่นแหละคือฆาตรตัวจริง
ในทางการเมือง red herring อาละวาดอย่างผู้ใช้จงใจให้เป็นตัวลวงให้เข้าใจผิด ในเรื่อง Cameron นั้น กลุ่ม “ถอนตัว” (Leave) ออกข่าวว่าตุรกีจะเป็นสมาชิก EU และทำให้อังกฤษเสียเงินอีกมหาศาล ดังนั้นจึงควรรีบออกมาเสีย แต่ต่อมาก็ถอนคำพูด ดังนั้น Cameron จึงบอกว่าเรื่องตุรกีจะเป็นสมาชิก EU นั้นเป็น red herring
ในรัฐสภาไทยเราเห็น red herring กันอยู่แทบทุกวัน ผู้อภิปรายจำนวนไม่น้อยนำเรื่องอื่นซึ่งอยู่นอกประเด็นมาพูดจนฝ่ายตรงข้ามประท้วงและลืมประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันอยู่แต่แรกไป นักโต้วาทีชอบใช้ red herring เป็นเทคนิคในการลวงให้ฝ่ายตรงข้ามหลงประเด็นไปพูดในเรื่องที่ตนไม่เสียเปรียบ
สิ่งที่เรียกกันในวงการสื่อสารสาธารณะโดยเฉพาะในการเมืองอเมริกาว่า spin ในบางลักษณะก็คือ red herring นั่นเองกล่าวคือ spin (หมุน) หมายถึงการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพื่อช่วยให้เกิดการตีความเหตุการณ์หรือประเด็นอย่างให้เอนเอียงไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือกลวิธีรณรงค์เพื่อชักจูงความเห็นสาธารณะให้เหไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ
spin สื่อความหมายของแท็คติกการจัดการสื่อให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ตลอดจนการใช้กลลวงอย่างชาญฉลาดและแนบเนียนซึ่งก็คือ red herring ในรูปแบบหนึ่ง องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และกลุ่มการเมืองชอบที่จะมี spin doctor หรือมือปืนซึ่งเก่งกาจในการ spin ไว้ใช้งาน
spin doctor บ่อยครั้งใช้วิธีหันเหความสนใจของประชาชนที่มีต่อเหตุการณ์สำคัญที่เป็นลบแก่กลุ่มของตนด้วยการสร้างข่าวอื่นขึ้นมากลบ หรือให้หันไปสนใจจนการวิจารณ์ถกเถียงของสาธารณชนในเรื่องลบนั้นน้อยลงไป
ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเกือบ 12-13 ปี มีการประชุมนานาชาติระหว่างผู้นำที่เชียงใหม่ แต่ไม่มีแถลงการณ์ที่น่าสนใจเนื่องจากข้อตกลงไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นต้องการ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนไทยไม่เห็นความล้มเหลวของการประชุม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นจึงจุดประเด็นเรื่องปรับเวลาประเทศไทยให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ปรากฏว่าเกิดการถกเถียงกันสนุกสนานว่าเหมาะสมหรือไม่จนลืมเรื่องผลการประชุมเสียสิ้น
ในยุคนั้นการ spin ข่าวกระทำกันอย่างกว้างขวาง spin doctor ของรัฐบาลหลายคนรุ่งเรืองในอาชีพเนื่องจาก “เล่นข่าว” เป็นจนประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องที่สำคัญ หากถูก spin จนหัวหมุนไปหมด ข่าวเล็กก็กลายเป็นข่าวใหญ่ หรือไม่ก็มีข่าวใหญ่อื่นมากลบข่าวใหญ่ที่เป็นลบไปเสีย
ในปัจุบันสิ่งที่น่าจะเป็น red herring ได้แก่การขอตั้งศูนย์ติดตามตรวจสอบการลงประชามติ การต่อสู้ของศิษย์ไม่ให้จับธัมมชโยจนกว่าประเทศมีประชาธิปไตย ฯลฯ สาธารณชนพึงระวัง red herring ที่ออกมาจากทุกภาคส่วนเช่นเดียวกับสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคมก็ไม่ควรช่วยทำให้ red herring มีกลิ่นแรงขึ้นจนทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
เมื่อพูดถึงกลิ่นของ red herring ก็โยงใยไปถึงที่มา William Cobbett (1763-1835) เป็นนักหนังสือพิมพ์มีชื่อของอังกฤษเล่าถึงประวัติที่มาของ red herring ในหนังสือ Continental War (1807) ว่าคนอังกฤษชั้นสูงที่ชอบล่าสัตว์ใช้ red herring ซึ่งมีกลิ่นแรงเป็นตัวล่อสุนัขล่าสัตว์ที่มักจะไล่จับกระต่ายไม่เป็นที่เป็นทางให้มาอยู่กับนักล่าสัตว์ บางครั้งก็ใช้ฝึกหัดล่อลูกสุนัขให้รู้จักดมกลิ่น ดังนั้นสำนวน red herring จึงเกิดขึ้น
red herring มีความหมายทั้งการจงใจและไม่จงใจลวงล่อให้เข้าใจผิด อย่างไรก็ดีการใช้ส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางจงใจทั้งในเรื่องนวนิยายลึกลับ การเมือง การโฆษณาชวนเชื่อ spin doctor หรือแม้แต่ข้อสอบที่ชอบลวงให้ตอบผิดเพื่อฝึกฝนการคิดและทำให้มันยากยิ่งขึ้นเพื่อสะใจคนออกข้อสอบ
doctor banana (ผู้ที่จบปริญญาเอกแล้วไม่เคยทำงานวิจัยเลย เปรียบเสมือนต้นกล้วยที่ออกดอกครั้งเดียวแล้วตายเลย) “doctor ปลอม” “doctor จ้างคนทำวิทยานิพนธ์แทน ” “doctor โหล” ฯลฯ ก็มีแล้ว สังคมเราอย่ามี spin doctor มากนักเลย เพราะแค่นี้ก็หัวหมุนกันพออยู่แล้ว
red herring คือสิ่งลวงให้เข้าใจผิดนั้นมีกลิ่นแรงเป็นที่ผิดสังเกต หากสมาชิกสังคมและสื่อที่รับผิดชอบได้เค้ากลิ่นก็น่าที่จะช่วยกันกลั่นกรองก่อนที่จะเป็นเครื่องมือช่วยกระจายกลิ่นนั้นออกไปอีก