เข้าใจเพื่อหนี Galápagos Syndrome

วรากรณ์  สามโกเศศ
12 กรกฎาคม 2559

          สิ่งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงหมู่เกาะในมหาสมุทรปาซิฟิกทางตะวันตกของประเทศอิกัวดอร์ในอเมริกาใต้ เข้ากับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในเอเชีย คือ ปรากฏการณ์ที่ชาวโลกรู้จักกันมากขึ้นในนามของ Galápagos Syndrome

          ถึงแม้หมู่เกาะ Galápagos ซึ่งประกอบด้วย 19 เกาะ มีพื้นที่รวมกันเพียง 8,000 ตารางกิโลเมตร มีคนอยู่อาศัย 26,000 คน แต่ผู้คนรู้จักชื่อกันมานาน ทั้งนี้เพราะ Charles Darwin ผู้เขียนหนังสือชื่อดังก้องโลก On the Origin of Species ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1859 เล่าเรื่องการพบต้นไม้และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่แตกต่างกว่าที่อื่นเพราะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จนเอามาเป็นหลักฐานสำคัญส่วนหนึ่งในการสนับสนุน Evolution Theory (ทฤษฎีวิวัฒนาการ)

          Charles Darwin เขย่าศาสนจักรเพราะทฤษฎีนี้ค้านทฤษฎี Creation ซึ่งสอนและมีคนเชื่อกันมานานว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นเลย ไม่ใช่วิวัฒนาการ

          ข้อสังเกตอันหนึ่งของ Charles Darwin ก็คือต้นไม้และสัตว์มีชีวิตเหล่านี้เติบโตได้ดีในหมู่เกาะแห่งนี้ แต่เมื่อเอาออกไปนอกบริเวณแล้ว การปรับตัวทำได้ไม่ดี หลายพืชพันธุ์ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้

          ลักษณะพิเศษของสิ่งมีชีวิตใน Galápagos จึงถูกมาใช้เปรียบเปรยกับ สินค้าหลายอย่างของญี่ปุ่นที่มีลักษณะแบบเดียวกัน และถูกใช้จนมีความหมายกว้างกว่าเดิม และสามารถนำมาใช้กับหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอื่นด้วย

          Galápagos Syndrome (กลุ่มอาการของโรค Galapagos) ซึ่งมีที่มาจากธุรกิจของประเทศญี่ปุ่น อธิบายได้ด้วยหลายตัวอย่างดังต่อไปนี้ (1) โทรศัพท์มือถือ 3G ของญี่ปุ่นซึ่งคือสินค้าที่ทำให้เกิดคำนี้ขึ้นมานั้นพัฒนาขึ้นมาโดยมีลักษณะพิเศษที่ก้าวหน้ากว่าแห่งอื่นในหลายเรื่อง สินค้านี้ไปได้ดีมากในญี่ปุ่นและครอบงำตลาดญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศเลย

          ผู้คนในอุตสาหกรรมนี้มีความกระวนกระวายใจซึ่งเกิดจากความไม่แน่ใจว่าพัฒนาการด้านโทรศัพท์มือถือของตนจะมีเส้นทางสอดคล้องกับที่เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ของโลกหรือไม่ และสินค้าญี่ปุ่นอย่างอื่นจะประสบชะตากรรมเดียวกันหรือไม่

          โทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่นมีลักษณะคล้ายเหล่าพืชพันธุ์ที่ Charles Darwin พบบนเกาะ Galápagos กล่าวคือมีความโดดเด่น มีคุณภาพดีแตกต่างจากชาวบ้านเขาแต่มีระบบและมาตรฐานเฉพาะเพื่อกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาตีตลาดได้ซึ่งก็ทำได้ดี แต่ก็เป็นดาบสองคมเพราะไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ หลายแบรนด์ของโทรศัพท์มือถือญี่ปุ่นจึงวนเวียนใช้กันอยู่ในประเทศเท่านั้น เพิ่งจะมีเพียงน้อยแบรนด์ที่กำลังปรับตัวผ่านการปรับระบบและมาตรฐานเพื่อส่งออก

          (2) Wallet Phone ในปี 2004 เริ่มมีการใช้ Wallet Phone ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นนวตกรรมของญี่ปุ่นเองในเรื่องการจ่ายเงินทางโทรศัพท์มือถือ ที่จริงแล้วมันเป็นต้นกำเนิดของ Apple Pay และ Google Wallet ที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นของดีแต่ก็ใช้กันอยู่ในประเทศไม่สามารถนำออกไปให้เป็นที่นิยมในโลกได้

          (3) รถยนต์ Kei ของญี่ปุ่น รถยนต์ขนาดเบาและเล็กนี้นิยมกันในญี่ปุ่นมาก มีทั้งในรูปสปอร์ต รถนั่ง ขนสินค้า แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศ

          มีตัวอย่างอีกมากมายที่เกี่ยวกับความหมาย “เก่งในบ้าน” ของ Galápagos Syndrome ทั้งนี้อาจโยงใยกับสิ่งที่ฝังอยู่ในสมองอันเนื่องมาจากการเป็น “ชาวเกาะ” ของญี่ปุ่นหรือจะด้วยเหตุผลประการใดทางธุรกิจก็ตามที

          ปัจจุบันมีการใช้คำนี้ออกมานอกเรื่องธุรกิจจนกลายพันธุ์เกิดคำใหม่ขึ้นคือ “Galápagosization” ซึ่งหมายความถึงกระบวนการตัดขาดหรือโดดเดี่ยวออกจากโลกภายนอก

          ต่อมาชาวโลกก็เอาคำเหล่านี้มาใช้กับเรื่องอื่น ๆ สำหรับความ “เก่งในบ้าน” ก็ได้แก่นักกีฬาที่เก่งแต่ในบ้าน พอไประดับโลกก็ไปไม่รอด นายทหารระดับสูงเก่งในเรื่องการทหารแต่พอถอดเครื่องแบบออกมาสมัครเลือกตั้งเล่นการเมืองก็เหี่ยวปลายเกือบทุกราย (นักวิชาการก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน) ฯลฯ

          อีกความหมายของ Galapagos ก็คือคนที่มองอะไรแคบ เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตบนเกาะนี้ที่ตัดขาดจากคนอื่น มองเห็นแต่การอยู่รอดบนเกาะนี้เท่านั้น หรือคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ งอกงามได้ดีเฉพาะบนเกาะ หากเอาไปนอกเกาะก็ไปไม่รอด

          “Galápagosization” กลายเป็นเรื่องของใครก็ได้ที่มีกระบวนการโดดเดี่ยวตัวเองออกไป อังกฤษหลังลงประชามติก็เข้าความหมายนี้ Donald Trump ก็อยู่ในกระบวนการนี้เช่นกันและเป็นคนพื้นเมืองของหมู่เกาะนี้แน่ ๆ

          ญี่ปุ่นกำลังพนันตัวเองครั้งสำคัญที่จะพยายามเป็น Hydrogen Society คือใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่แยกได้จากน้ำเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์และใช้ในชีวิตประจำวัน ปี 2020 ที่จัดกีฬาโอลิมปิกจะเป็นการเปิดตัว ถ้าชาวโลกรับเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างกว้างขวางก็เท่ากับเอาชนะGalápagos Syndrome
ทุกภาคส่วนต้องหนีให้ไกลการเป็นชาวเกาะนี้ มิฉะนั้นจะมีหนทางแคบลงในการมีชีวิตและดำรงชีวิต