เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
กรกฎาคม 2556

          เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นพลเรือเอกเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนเป็นเด็กนั้นเกเรมาก เป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ อาศัยอยู่กับลุงและป้า ไม่ยอมเรียนหนังสือ เอาแต่ชกต่อยและคบเพื่อนไม่ดีตอนเริ่มต้นวัยรุ่นจนลุงป้าและญาติ ๆ ระอา ไม่มีแววเลยว่าวันหนึ่งจะได้เป็นพลเรือเอก วันหนึ่งในตอนอายุประมาณ 15 ปี ได้มีโอกาสคุยกับพระที่นับถือ ท่านถามว่าจะ
          ทำตัวอย่างนี้ไปได้อีกกี่ปี อนาคตจะเป็นอย่างที่เป็นนี้หรือ

          จะด้วยบุญเก่าหรือวาสนาบารมี หรือการคิดเป็นก็ไม่ทราบได้ เพื่อนผมกลับตัวกลับใจกลายเป็นอีกคนหนึ่งเพื่ออยากมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เลิกคบเพื่อนเกเร ตั้งอกตั้งใจเรียนหนังสือ วางแผนชีวิตและสอบเข้าโรงเรียนนายเรือได้ ผ่านไป 40 ปี เพื่อนเก่าที่เคยคบกันมานั้นติดคุกติดตะรางก็หลายคน ถูกฆ่าตาย ติดเหล้า ติดยาก็มี เขาบอกว่าถ้าเขาไม่ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิต ชะตากรรมก็คงไม่ต่างไปจากเพื่อนเหล่านี้อย่างแน่นอน

          เมื่อฟังเรื่องจริงเรื่องนี้แล้วก็เกิดความคิดขึ้นว่ามนุษย์คงมีจุดเปลี่ยนชีวิตเช่นนี้ด้วยกันเกือบทุกคน จะขึ้นสวรรค์หรือลงนรกก็จุดนี้แหละ ถ้าได้คิดขึ้นมาและฮึดมุ่งมั่นในใจว่าตนเองต้องมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้ได้ และปฏิบัติตามแนวทางที่ตนเองคิดได้อย่างบากบั่นมานะไม่ท้อถอยแล้ว ชีวิตต้องดีกว่าเดิมแน่

          มนุษย์ทุกคนมีโอกาสคิดฮึกเหิมและปฏิบัติเช่นนี้ได้ทุกคน แต่คำถามก็คืออะไรที่จะพลิกผันให้เขาเกิดความคิดที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาได้

          คำตอบมีหลายประการ อาจมาจากคำพูดของคนที่เรารักนับถือ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เราเกิดความคิดเช่นนั้นขึ้น การอ่านหนังสือดี ๆ ที่ให้กำลังใจ การพบปะบุคคลที่มีบุคลิกจูงใจให้เปลี่ยนแปลงชีวิต การได้ดูภาพยนตร์หรือละครที่กินใจจนจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

          ไม่ว่าจะเป็นคำตอบใดก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในความคิดว่าต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ถ้าความคิดและความปรารถนานี้ไม่เกิดแล้ว “ชีวิตที่ดีกว่าเดิม” ไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

          ความต้องการที่จะมี “ชีวิตที่ดีกว่าเดิม” ประกอบด้วยอย่างน้อย 3 องค์ประกอบดังนี้ (1) การตระหนักว่าทุกคนมีชีวิตเดียวเท่านั้น มีโอกาสมีอายุ 20 หรือ 30 หรือ 40 เพียงครั้งเดียว หากปล่อยให้วันเวลาของชีวิต่ผานไปอย่างไร้ความหมายและไร้ประโยชน์แล้ว ก็จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างที่สุด เพราะมันจะไม่มีวันหวลกลับมาอีก

          (2) การคำนึงถึงความจริงว่าถ้าไม่มีการปฏิบัติที่ผิดแปลกไปจากเดิมแล้ว ผลที่เกิดตามมาก็ย่อมเหมือนเดิม เราไม่อาจหวังว่าจะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเก่าได้ ถ้าไม่ทำอะไรต่างไปจากที่เคยทำมา

          (3) การเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่าการมี “ชีวิตที่ดีกว่าเดิม” นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับ ทุกคน การมองโลกในแง่ดีเช่นนี้จะทำให้เกิดพลังใจที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชีวิต

          ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะช่วยให้ตระหนักถึงความจริงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิต คุณค่าของชีวิต การสร้างโอกาสให้แก่ตนเองในการมี “ชีวิตที่ดีกว่าเดิม” และการมีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต

          เมื่อได้คิดที่จะฮึดสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการปฏิบัติ การเพียงนั่งคิดนอนคิดว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตไม่อาจทำให้เกิดการพลักผันไปในทางที่ดี ขึ้นได้หากไม่มีการลงมือปฏิบัติจริง

          ขั้นแรกของการลงมือปฏิบัติก็คือการวางแผนว่าจะมีเป้าหมายในแต่ละขั้นตอนของชีวิตอย่างไร ใช้เวลาในการปฏิบัติยาวนานเท่าใด เช่น ปัจจุบันมีอาชีพที่ทำงานหนักและมีรายได้ไม่มากนัก การวางแผนที่อยู่บนพื้นฐานความจริงและมีความเป็นไปได้เท่านั้นที่จะทำให้เดินทางไปสู่เป้าหมายของการมีรายได้สูงขึ้นและเหน็ดเหนื่อยน้อยลงได้

          ขั้นสอง ลงมือปฏิบัติตามแผนอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง เช่น เพิ่มเติมทักษะและความรู้ของตนเอง หากขับรถบรรทุกธรรมดาก็ต้องขวนขวายเลื่อนระดับเพื่อหารายได้ด้วยการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมโดยการหัดขับรถบรรทุกสมัยใหม่ที่มีระบบไฮเท็คช่วยควบคุม

          ขั้นสาม ประเมินผลสำเร็จของแผนการที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอนอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเองและปรับการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลา เช่น การพัฒนาทักษะขับรถไฮเท็ค ถ้าพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิดก็จำเป็นต้องไปหาความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถขับรถสมัยใหม่ได้ในที่สุด

          การจะมี “ชีวิตที่ดีกว่าเดิม” ได้นั้นเป็นไปได้เสมอ ตราบที่มีความฮึดสู้เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นโดยมีแผนการปฏิบัติการอย่างชัดเจน และมีการลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง