วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ธันวาคม 2556
งานศึกษาเรื่องการมีชีวิตอยู่รอดอย่างดีในศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2000-2100) พบว่าทักษะในการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในงานศึกษานี้เขาแบ่งสิ่งที่พบว่าเป็นทักษะสำคัญออกเป็น 3 กลุ่มคือ (1) กลุ่มทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ (2) กลุ่มทักษะ 4 C’s และ (3) กลุ่มทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร ส่วนอีกกลุ่มความรู้ที่ต้องมีนอกเหนือจากความรู้วิชาหลัก ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา ฯลฯ ก็คือความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การเป็นผู้ประกอบการ สุขภาพ การเข้าใจการเชื่อมต่อของส่วนต่าง ๆ ในโลก การเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
กลุ่มที่ (1) คือ ทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็นในการครองชีวิตทั้งในด้านการครองตนและหารายได้เลี้ยงชีพ สำหรับกลุ่มที่สองคือ 4 C’s นั้นได้แก่ทักษะในด้าน creativity (การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์) communication (การสื่อสาร) collaboration (การทำงานร่วมมือกับผู้อื่น) และ critical thinking (การคิดวิเคราะห์หรือคิดเป็น)
กลุ่มที่ 3 คือทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร ซึ่งหมายถึงทักษะในการใช้สื่อทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน หรือการใช้สื่อสมัยใหม่อื่น ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
ในเรื่องทักษะในการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเศรษฐกิจนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะภาคบริการซึ่งต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นพิเศษนั้นเป็นภาคที่มีอิทธิพลมากขึ้นเป็นลำดับในระบบเศรษฐกิจ
ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์นั้นประกอบด้วยหลายองค์ประกอบด้วยกัน ประการแรกได้แก่การมีความอยากรู้อย่างเห็น ถ้าไม่มีสิ่งนี้ในเบื้องต้นการจะเกิดความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อนำไปประยุกต์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ถ้ากัปตันเครื่องบิน Northwest Airline คนหนึ่งในทศวรรษ 1980 ไม่อยากรู้อยากเห็นว่าจะทำอย่างไรให้มีล้อใต้กระเป๋าชนิดสามารถลากและเดินไปด้วยอย่างสะดวกแล้ว ป่านนี้กระเป๋าชนิดที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบันก็ไม่เกิดขึ้นเป็นแน่
ประการที่สองได้แก่การคิดต่อยอด ในโลกเรานี้ในระดับมหภาคไม่มีอะไรที่เป็นความคิดใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน มีแต่สิ่งที่คนคิดไว้แล้วแต่ยังไม่มีใครเอาไปคิดต่อยอดในระดับย่อยเท่านั้น ก่อนหน้ากัปตันคนนี้ กระเป๋าขนาดใหญ่ก็มีล้อใช้กันอยู่แล้วในทศวรรษ 1970 เพียงแต่เป็นลักษณะของล้อที่ใช้สำหรับการลากกระเป๋าขนานกับพื้นซึ่งไม่สะดวกต่อการลาก
ประการที่สามได้แก่การคิดแปลกออกไปจากแนวคิด วิธีคิด หรือสิ่งที่เป็นอยู่ ถ้ากัปตันคนนี้ไม่คิดนอกกรอบ ไม่ปรับการใช้สี่ล้อใต้กระเป๋าเพื่อลากชนิดราบไปกับพื้นมาเป็นการ ติดล้อขนาดเล็กใต้กระเป๋าด้านข้างเล็กเพื่อลากในแนวตั้ง โดยลากกระเป๋าแบบเอียงซึ่งสะดวกต่อ การลาก เราคงยังไม่มีกระเป๋ามีล้อใช้กันอย่างสะดวกในปัจจุบัน
การอยากรู้อยากเห็น การคิดต่อยอด และการคิดแปลกไปจากเดิม ประกอบกันเป็นการคิดอย่างสร้างสรรค์ซึ่งทำให้เกิดนวตกรรมขึ้น เช่น การสร้าง K-wave ของเกาหลีเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของเกาหลี เราเห็นการใช้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ดนตรี อันนำไปสู่การท่องเที่ยวและการยอมรับความเป็นเกาหลีในเวทีโลก
การจะมี 3 องค์ประกอบนี้ได้ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะในการมีความอยากรู้อยากเห็น (เช่น ทักษะภาษาเพื่อเข้าสู่ข้อมูลตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น) ทักษะในการคิดต่อยอดของเก่า (เช่น นำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาขยายเป็นเรื่องเล่าอมตะ) และทักษะในการคิดแปลกออกไปจากเดิม (เช่น ไม่สร้างภาพยนตร์เรื่องแม่นาคพระโขนงสไตล์เดิมคือแม่นาคกับการดัดแปลงพล็อตเรื่อง หากย้ายความสนใจจากแม่นาคไปที่พี่มากแทน)
ในปัจจุบันทักษะการคิดอย่างริเริ่มสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างรายได้ และการจ้างงาน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจต้องการการผลิตที่มีความหลากหลายเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคอันหลากหลายและซับซ้อน ต้องการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งการใช้ทรัพยากรและพลังงานมากแบบดั้งเดิม ต้องการหลีกเลี่ยงการแข่งขันผลิตสินค้าแบบเดียวกัน ฯลฯ
การฝึกฝนทักษะเหล่านี้ไม่ควรทิ้งให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในการหว่านและบ่มเพาะทักษะเหล่านี้ในตัวลูกตั้งแต่ยังเยาว์วัยด้วย