กลเม็ดลดการสูบบุหรี่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 สิงหาคม 2556

          หลายสังคมพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลง ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมือนใคร เมื่อปลายปี 2555 กฎหมายออสเตรเลียบังคับให้ใช้รูปน่าเกลียดของการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ อันเป็นผลจากการสูบบุหรี่แทนที่ตรายี่ห้อบุหรี่ การกระทำเช่นนี้จะมีผลหรือไม่ต่อการสูบบุหรี่ของประชาชน

          การสูบบุหรี่โดยแท้จริงแล้วเป็นสมบัติของมนุษยชาติ มนุษย์รู้จักการสูบบุหรี่ตั้งแต่ 5,000 ปี ก่อนคริสตกาลในหลายวัฒนธรรม ในตอนแรกนั้นการสูบบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับการสูบใบยาสูบเพื่อความสุขของคนสูบนั้นแพร่หลายไปทั่วโลกหลังจากการพบทวีปอเมริกาเมื่อ 500 ปีก่อน

          ในยุคสมัยก่อนการใช้ยาสูบ มนุษย์สูบกัญชา ใบกระท่อม ใบไม้ชนิดต่าง ๆ ส่วนการสูบใบยาสูบและฝิ่นได้กลายเป็นเรื่องปกติในหลายวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 19

          ในทศวรรษ 1920 มีการผลิตบุหรี่กันเป็นกอบเป็นกำในยุโรป อย่างไรก็ดีผลเสียจากการสูบบุหรี่เริ่มเป็นที่รู้กันดี ในปี 1929 นักวิจัยชาวเยอรมันตีพิมพ์บทความแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และมะเร็งในปอด กลุ่ม Nazi ในเยอรมันมีแนวคิดต่อต้านการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดีเมื่อเยอรมันพ่ายแพ้สงครามแนวคิดนี้ก็ตกไป

          การสูบบุหรี่เป็นที่นิยมอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1964 ทางการของสหรัฐอเมริการายงานความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และมะเร็งในปอดโดยมีหลักฐานที่แน่นหนามากขึ้น และในยุคทศวรรษ 1980 หลักฐานเหล่านี้ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที

          อัตราจำนวนผู้สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาลดลงจากร้อยละ 42 ในปี 1965 เหลือร้อยละ 20.8 ในปี 1970 แต่จำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันเพิ่มจาก 22 เป็น 30 ม้วนต่อวันระหว่างช่วงเวลานี้

          ในประเทศพัฒนาแล้วอัตราจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประชากรลดลง ในขณะที่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.4 ต่อปี ในปัจจุบันประเทศที่บริโภคยาสูบต่อหัวมากที่สุดคือรัสเซีย และไล่ลงไปตามลำดับคือ อินโดนีเซีย ลาว ยูเครน เบลารุส กรีก ออสเตรีย และจีน

          สำหรับไทยนั้นอัตราการสูบบุหรีในหมู่ประชากรผู้ใหญ่ลดลงเป็นลำดับ กล่าวคือ ในปี 2534 มีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 32 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2554 ตัวเลขดังกล่าวเหลือเพียงร้อยละ 21.4 ในระหว่าง พ.ศ. 2533-2536 มียอดจำหน่ายบุหรี่เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านซอง (!) ในขณะที่ระหว่าง พ.ศ. 2537 -2544 ยอดขายเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านซอง และระหว่าง 2545-2556 ยอดขายเท่ากับ 1,933 ล้านซองต่อปี

          ออสเตรเลียแก้ไขปัญหาสูบบุหรี่ตามสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้ค้นพบ นั่นก็คือมนุษย์ไม่กลัวสิ่งที่อยู่ห่างตัวออกไป แต่จะกลัวสิ่งที่ทำให้เห็นผลในปัจจุบันมากกว่า

          การเอารูปน่าเกลียด เช่น รูปปอดที่เป็นมะเร็ง รูปแผลในปาก รูปถุงลมโป่งพอง ฯลฯ อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่มาแสดงไว้บนซองบุหรี่อย่างเต็มที่นั้น ทำให้เสมือนกับเห็นผลเสียที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่อย่างทันใจ การบอกล่าวด้วยตัวอักษรว่าการสูบบุหรี่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายด้วยการเป็นโรคต่าง ๆ นั้นไม่เป็นผลเท่ากับการแสดงรูปที่เห็นผลเสียชัด ๆ

          รูปภาพเช่นนี้อาจทำให้เกิดความกลัวการสูบบุหรี่ขึ้นมาทันที โดยเฉพาะในกรณีที่ ภาพน่าเกลียดบดบังตรายี่ห้อบุหรี่ทั้งหมดจนทำให้ลดการปลุกเร้าความซื่อสัตย์ที่มีต่อยี่ห้อของบุหรี่ลง นักสูบยอมรับว่าการปิดปังตรายี่ห้อด้วยภาพดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกริยาที่เป็นลบต่อยี่ห้อที่ตนเป็นทาส มานาน และนี่คือสิ่งที่นักต่อสู้การสูบบุหรี่ต้องการ

          การกระทำเช่นนี้ของภาครัฐออสเตรเลียก่อให้เกิดฟ้องร้องจากต่างชาติในเรื่องการประกอบการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่รัฐบาลก็ไม่ย่อท้อเพราะเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่สังคม ออสเตรลียโดยอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการบรรจุหีบห่อ (packaging) มีผลกระทบต่อการบริโภค การบังคับให้มีหีบห่อที่น่าเกลียดน่ากลัวคู่ขนานไปกับราคาบุหรี่ที่แพงระดับโหดเหี้ยมเพราะภาษี (ราคาบุหรี่ซองละ 440 บาท) น่าจะช่วยลดภาระที่บุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนลงได้ในระดับหนึ่ง

          เวลาจะเป็นตัวตัดสินว่าการออกกฎหมายบังคับเช่นนี้จะมีผลหรือไม่ในการลดการสูบบุหรี่ของประชาชน

          คนสูบบุหรี่ตระหนักดีถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ เพียงแต่ยังไม่อยากเลิกสูบบุหรี่ เพราะเชื่อว่าเขาสามารถเอาชนะความป่วยไข้ได้ หรือไม่ก็คิดว่าจะเลิกได้ในอนาคตอันใกล้ ระหว่างนี้ก็ขอสูบไปก่อน และขอบอกว่าจะ ๆ ๆ ๆ เลิกในอนาคตอย่างแน่นอน