จราจรจาการ์ต้าให้บทเรียน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27 สิงหาคม 2556

          รถติดเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในรูปของการใช้พลังงาน การสูญเสียเวลา การเผาไหม้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ความสึกหรอของเครื่องยนต์เกินจำเป็น โอกาสที่เสียไปจากการเลือกเมืองอื่น ๆ ในการท่องเที่ยวและการประชุม ฯลฯ การแก้ไขก็ทำกันในหลากหลายรูปแบบอย่างน่าสนใจ

          จาการ์ต้าของอินโดนีเซียเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในอาเซียนและมากที่สุดเมืองหนึ่ง ของโลก กรุงเทพมหานครของเรานั้นถึงแม้รถจะติดมากในความรู้สึกของเรา แต่ก็ถือได้ว่ายังไม่อยู่ในภาวะวิกฤติและไม่อยู่ในลีกเดียวกับจาการ์ต้า

          จาการ์ต้ามีประชากรใกล้เคียงกรุงเทพมหานครคือ 10 ล้านกว่าคน แต่ถ้านับประชากรในปริมณฑลเข้าด้วยแล้ว ตัวเลขก็จะขึ้นไปถึง 28 ล้านคน โดยอยู่ในอันดับ 17 ของ 200 เมืองใหญ่ในโลก (ขึ้นไปจากอันดับ 171 เมื่อ 4 ปีก่อน) จาการ์ต้าเติบโตในด้านประชากรเร็วกว่าปักกิ่ง กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 1960 จาการ์ต้ามีประชากรเพียง 1.2 ล้านคนเท่านั้น

          คนทำงานในจาการ์ต้าส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเมืองซึ่งมีค่าเช่าถูกกว่าในเมือง เดินทาง มาทำงานใช้เวลาหนึ่งเที่ยว 1.5 ถึง 2 ชั่วโมง โดยใช้เวลายืนบนรถเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง และต่อรถเมล์เล็ก (minivans) อีก 0.5 ถึงเกือบชั่วโมง และเดินอีก 5-10 นาที

          ข้อมูลสำรวจการเดินทางของคนจาการ์ต้าพบว่าในจำนวนเที่ยวทั้งหมดของการเดินทางในแต่ละวัน ร้อยละ 40 หมดไปกับการเดินเท้า ร้อยละ 21 ใช้ไปกับรถเมล์ขนาดเล็ก ร้อยละ 13 กับรถมอเตอร์ไซต์ ร้อยละ 7.5 กับรถส่วนตัว ร้อยละ 5.4 กับรถเมล์ขนาดกลาง ร้อยละ 3.3 กับรถเมล์ขนาดใหญ่ ร้อยละ 2.9 กับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ร้อยละ 2.1 กับจักรยาน ฯลฯ

          เหตุที่เราไม่เห็นการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เช่นรถไฟบนดิน รถไฟ ใต้ดิน รถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นระบบ ฯลฯ ก็เพราะจาการ์ต้าไม่มีให้ใช้ การลงทุนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาหมดไปกับการสร้างถนนเพื่อรองรับการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว

          จาการ์ต้ามีชื่อเสียงในเรื่องรถติดอย่างชนิดที่ชาวต่างชาติไม่ว่านักท่องเที่ยว นักลงทุน หรือนักธุรกิจครั่นคร้าม ถึงแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาจราจรในเกือบทุกลักษณะแต่ก็ยังไม่เป็นผล

          เรื่องแรกที่ใช้แก้ไขปัญหาจราจรก็คือการสร้างเลนด่วนสำหรับรถโดยสารสาธารณะ ดังเช่นที่ใช้ได้ผลในอิสตันบุล นิวเจอร์ซี บริสเบน กวางเจา และหลายเมืองในอเมริกาใต้ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อรถติดมากรถส่วนตัว มอเตอร์ไซต์ รถเมล์ขนาดเล็ก ก็จะเข้าไปวิ่งในเลนพิเศษนี้อัดกันแน่นจนรถโดยสารสายด่วนวิ่งไม่ได้

          เรื่องสองคือการเก็บค่าผ่านทางในบางถนนที่ติดขัดมากเพื่อทำให้มีโสหุ้ยเพิ่มขึ้นในการผ่านเข้าไปโดยเชื่อว่าจะจูงใจให้คนใช้ถนนนี้หันไปใช้เส้นทางอื่น อย่างไรก็ดีเมื่อทางการโดนคนสวดหนักก็ต้องเลิกไปในที่สุด เช่นเดียวกับการเลิกระบบห้ามรถที่มีบางเลขทะเบียนลงท้ายไม่ตรงกับวันที่กำหนดให้วิ่งในบางสาย

          ความคิดในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (electronic road price) เพื่อจงใจให้มี ค่าโสหุ้ยสูงขึ้นในการเข้ามาวิ่งในเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนนั้นใช้ได้ผลในหลายประเทศเนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีบันทึกการวิ่งผ่านจุด จนปัจจุบันเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ (ประเทศแรกที่เริ่มใช้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน) ลอนดอน สตอกโฮล์ม โตรอนโต มิลาน ดูไบ ฯลฯ การจะใช้ให้ได้ผลนั้นจำเป็นต้องมีเส้นทางอื่นที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นทางเลือกจึงจะได้รับความร่วมมือ ปัจจุบันคนจาการ์ต้ากำลังรอรัฐบาลตัดสินใจวิธีแก้ไขปัญหาจราจรโดยใช้ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์นี้อยู่

          เรื่องสามคือการพยายามแก้ไขปัญหาจราจรสารพัดรูปแบบที่ทำกัน ไม่ว่าจะเป็น ไฟจราจรอัตโนมัติ ตำรวจช่วยโบกรถ เพิ่มพื้นที่และช่องจราจร เพิ่มทางลัด ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้ผลเนื่องจากจาการ์ต้าไม่มีระบบทางด่วน ไม่มีรถไฟใต้ดิน ไม่มีระบบถนนวงแหวนรอบเมือง ฯลฯ

          เมื่อประชาชนอดทนกับการเดินทางแบบโหดร้ายทารุณเช่นนี้ไม่ไหว (บ้านเราเมื่อยี่สิบ ปีก่อนก็อยู่ในสภาพเดียวกัน) ก็เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาล และเมื่อฐานะการคลังของประเทศมั่นคงขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจอินโดนีเซียดีขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลก็ตัดสินใจใช้เงิน 4,000 ล้านเหรียญลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดินช่วงแรก ทางด่วน รถไฟด่วน ทางยกระดับ รถไฟรอบเมือง ฯลฯ โดยเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจร

          อย่างไรก็ดีโครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะเห็นผล และในช่วงเวลาของการก่อสร้างก็จะยิ่งทำให้การจราจรของสารพัดยานพาหนะที่วิ่งอยู่กว่า 9 ล้านคันในแต่ละวันติดขัดมากยิ่งขึ้น

          การจราจรมิได้แก้ไขได้ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง การเพิ่มผิวถนน สร้างระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ แต่เพียงอย่างเดียว การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน การใช้รถยนต์ร่วมกัน ฯลฯ ตลอดจนการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์จากเจ้าของผู้ได้อานิสงส์จากการเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนในบริเวณใกล้เคียง และเอาทรัพยากรนั้นมาช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ก็ควรกระทำไปพร้อมกันด้วย

          การลงทุนแก้ไขปัญหาจราจรนั้นจะให้ผลตอบแทนมีมูลค่านับเป็นสิบเท่าในระยะเวลายาว ปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันก็คือการหาเงินทุนในระยะสั้นเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของผู้อยู่อาศัยใน เขตเมือง

          การวางแผนการจราจรในทุกมิติก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาจราจรคือทางออกที่เหมาะสม การคอยให้เกิดปัญหาแล้วแก้ไขทำให้ปัญหารุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้น และยากต่อการแก้ไขยิ่งขึ้น