“สัตว์เลี้ยง” เก่าแก่สุดของมนุษย์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
8 ตุลาคม 2556

          มนุษย์มี ‘สัตว์เลี้ยง’ อยู่บนตัวมานับล้าน ๆ ปีอย่างน่าอัศจรรย์และมันทำให้คันอย่างไม่ให้เหงาด้วย นอกจากนี้ยังเป็นขุมทรัพย์ของข้อมูลมหาศาลเพราะการศึกษา DNA ของมันทำให้เข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์และเพื่อนสัตว์อื่น ๆ ดีขึ้น

          “สัตว์เลี้ยง” ที่พูดถึงนี้ก็คือเหาซึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อ 130 ล้านปีก่อน ถัดมาอีก 60-70 ล้านปีก่อน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนกมีการแตกแขนงสปิชีส์ออกไปมากมายซึ่งการมีสปิชีส์ใหม่หมายถึงแหล่งที่อยู่และอาหาร (โฮสต์ หรือ Host) ใหม่ของเหาซึ่งเป็นปรสิต (parasite) ชนิดหนึ่ง เผ่าพันธุ์เหาจึงแตกหน่อแพร่กระจายไปอยู่บนตัวสัตว์ต่าง ๆ มากมายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          เวลาล่วงจนถึงเมื่อ 25 ล้านปีก่อน เหาก็ไปรุ่งเรืองอยู่บนตัวสัตว์ตระกูลลิงซึ่งเป็นต้นพันธุ์ของมนุษย์ และอีก 13 ล้านปีต่อมาเหาก็แยกออกเป็น (ก) เหาที่อยู่บนตัวลิงกอริลลาและ (ข) เหาที่อยู่บนตัวบรรพบุรุษมนุษย์และเหาชิมแปนซี จากนั้นถัดมาอีก 6 ล้านปี (เขียนราวกับว่าเพียงลัดนิ้วเดียวก็ผ่านความคันไป 6 ล้านปีแล้ว) เหาบนตัวบรรพบุรุษมนุษย์และชิมแปนซีก็แยกออกเป็นเหาชิมแปนซีและเหามนุษย์

          พูดง่าย ๆ ก็คือบรรพบุรุษของมนุษย์และชิมแปนซีร่วมกันเกาหัวเพราะเหาพันธุ์เดียวกัน เป็นเวลา 6 ล้านปี ก่อนที่เหาจะแยกพันธุ์จากกัน และมนุษย์ก็มีเหาพันธุ์เฉพาะบนตัวเราตลอด 6 ล้านปีที่ผ่านมา

          ที่รู้วันเวลาเหล่านี้ได้ชัดก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ DNA ตลอดจนหลักฐานทางชีววิทยาของการสืบทอดเผ่าพันธุ์และพัฒนาการของเหาพันธุ์ต่าง ๆ และนำมาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง จนทำให้สามารถรู้ช่วงเวลาของพัฒนาการของมนุษย์แม่นยำขึ้น

          เหาที่อยู่บนตัวมนุษย์นั้นมี 3 พันธุ์ คือ เหาศีรษะ (pediculus humanus capitis หรือ head lice) เหาตามตัว (pediculus humans humanus หรือ body lice) และเหาในที่ลับ (pthirus pubis หรือ pubic lice) งานวิจัยพบว่าเหาศีรษะนั้นอยู่กับมนุษย์มานาน ส่วนเหาตามตัวนั้นหลังจากอาศัยอยู่ในขนบนตัวมนุษย์อยู่ชั่วเวลาหนึ่งก็มาอาศัยอยู่บนเสื้อผ้าของมนุษย์เมื่อราว 100,000 ปีก่อน

          ส่วนเหาในที่ลับหรือที่เรียกว่าโลนนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์รับมาจาก ลิงกอริลลาเมื่อ 3.3 ล้านปีก่อนโดยมันอยู่อาศัยในขนหัวหน่าว (ไม่มีใครตอบได้ว่ามนุษย์ติดมาจากลิงกอริลลาได้อย่างไรเพราะหวาดเสียวเกินกว่าจะคาดเดา)

          สำหรับเหาศีรษะซึ่งเป็นเรื่องปวดหัวที่สุดนั้นอยู่บนตัวมนุษย์มานานที่สุด ถึงแม้มันจะอยู่บนหัวบรรพบุรุษมนุษย์ตลอด 25 ล้านปีที่ผ่านมา แต่มนุษย์ก็ไม่เคยเห็นมันชัด ๆ จนกระทั่งเมื่อมีการประดิษฐ์แว่นเห็บ (felea glass) ขึ้นมาเมื่อ 500 ปีก่อน และต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นกล้องจุลทรรศน์เมื่อ 350 ปีก่อน

          มนุษย์เห็นเหาผ่านกล้องจุลทรรศน์ว่ามีปากแหลมคม มีกรงเล็บชนิดที่มีตะขอที่ขาเพื่อเกี่ยวตัวไว้กับเส้นผม สามารถไต่ขึ้นลงเส้นผมอย่างรวดเร็ว ไข่เหาติดอยู่บนผมแน่นเพราะมีกาวธรรมชาติจากแม่เหาช่วยติดไว้ แถมมีเมือกเหนียวแข็งตัวเป็นเกราะรอบ ๆ ไข่อีกด้วย ดังนั้นไข่เหาจึงไม่หลุดจากเส้นผมได้ง่าย ๆ ไข่เหาใช้เวลา 10 วันที่จะกลายเป็นเหาเต็มวัย

          มนุษย์สมัยอียิปต์โบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อนสู้กับเหาโดยใช้หวีเสนียด (หวีซึ่งมีซี่ถี่ไว้ใช้สางผม) ส่วนคนจีนใช้ส่วนผสมของปรอทและสารหนูกำจัดเหาเมื่อ 3,200 ปีก่อน แต่ละสังคมใช้ภูมิปัญญาหลากหลายในการกำจัดเหา สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แตกต่างกันออกไป

          เหาเป็น ‘สัตว์เลี้ยง” ที่ยากจะกำจัดเพราะมันเป็นสัตว์อายุ 130 ล้านปี ที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับโฮสต์ได้อย่างดียิ่ง ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมงหากโดนแยกจากโฮสต์ ก็ตาม แต่ไม่ว่าในสภาพอากาศใดก็ตาม ถ้ามันอยู่กับโฮสต์ได้มันก็อยู่รอดเสมอ

          เหาตัวกับเหาศีรษะมีพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ แต่วิถีชีวิตและพฤติกรรมแตกต่างกันมาก เดิมเหาตัวอาศัยอยู่ในขนบนร่างกายและปรับตัวมาอยู่ในเสื้อผ้า และอาจอยู่ในที่พักที่ขาดสุขอนามัย เช่น เรือนจำ ศูนย์อพยพ ฯลฯ สิ่งที่น่ากลัวก็คือเมื่อเหาศีรษะแปลงกายเป็นเหาตัว มันกลับเป็นพาหะนำโรค

          มีการพบเชื้อกาฬโรค และไข้รากสาดใหญ่ (typhus) บนเหาตัวเมื่อเหาตัวสามารถอาศัยอยู่ในเสื้อผ้าได้ การย้ายถิ่นของเสื้อผ้าโดยเฉพาะเสื้อผ้าใช้แล้วและไม่สะอาดจากต่างประเทศจึงเป็นเรื่องควรระวัง

          Charles Darwin ผู้เขย่าโลกเมื่อ 154 ปีก่อนโดยเสนอทฤษฎีว่ามนุษย์พัฒนามาจากลิงบอกว่าสัตว์ที่อยู่รอดนั้นไม่ใช่สัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดหรือฉลาดที่สุด หากแต่เป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด เหามีชีวิตอยู่ในโลกมา 130 ล้านปี โดยปรับเปลี่ยนตนเองมาตลอด

          เมื่อเหาอยู่บนตัวลิงกอริลลาก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเหาบางตัวที่ทิ้งพี่น้องโดดมาอยู่กับคนโดยอาศัยอยู่ในขนตามตัวที่หยาบหนาคล้ายโฮสต์เดิมมันก็ปรับตัว และเมื่อมนุษย์มีขนตามตัวน้อยลงก็โดดไปอยู่ในเสื้อผ้า ในขณะที่ญาติเดิมที่อยู่บนตัวลิงกอริลลาก็ปรับตัวไปอีกลักษณะหนึ่ง (เมื่อเอาลักษณะใน DNA ของเหาทั้งสองกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบกันและรู้เวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของมัน ก็ทำให้ทราบได้ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์กับลิงกอริลลาแยกความสัมพันธ์กันเมื่อใด)

          เมื่อเอาการปรับตัวของเหามาเปรียบเทียบกับมนุษย์ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบก็จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของมนุษย์นั้นต้องเป็นนิรันดร์จึงจะอยู่รอดได้ ในระดับปัจเจกบุคคลนั้นใครที่ไม่ปรับตัวก็จะไม่มีโอกาสอยู่รอดได้ดีเท่าเหา

          เหากับคนแตกต่างกันตรงที่เหาเป็นสัตว์สร้างความคัน แต่มนุษย์นั้นบางส่วนของเผ่าพันธุ์เป็นผู้สร้างความแสบ