วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 ตุลาคม 2556
โลกใบนี้ของเราเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของมนุษย์อาศัยอยู่นับตั้งแต่เดินหลังตรงตลอดระยะเวลา 1.7 ล้านปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 7 พันล้านคน ประชากรโลกมีลักษณะแตกต่างกันโดยเด่นชัดในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเข้าใจเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจมนุษย์ในโลกได้ดียิ่งขึ้น
โลกเรามีอายุ 4 พันล้านปี มีมนุษย์ที่มีและเคยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้รวมแล้วประมาณ 100-115 พันล้านคน ประชากรโลกได้ถึงจำนวนหนึ่งล้านคนแรกเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน เพิ่มเป็น 200 ล้านคนเมื่อ ค.ศ. 1 และอีกหนึ่งพันปีต่อมามีประมาณ 300 ล้านคน ใน ค.ศ. 1800 มีประชากรโลก 1 พันล้านคน และเพิ่มขึ้นสูงยิ่งเมื่อถึง ค.ศ. 2000 โดยมีประชากร 6 พันล้านคน
ที่น่าตกใจคือการเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงเวลา 200 ปีเศษหลังโดยเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 6 พันล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว
ถ้าจะเอาตัวเลขละเอียด ปัจจุบันโลกมีประชากร 7.108 พันล้านคน สหประชาชาติพยากรณ์ว่าโลกจะมีประชากรโลก 8.3-10.9 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2050
ในปัจจุบันมีเด็กเกิดหนึ่งคนทุก 8 วินาที ตายหนึ่งคนทุก 12 วินาที มีประชากรเพิ่มสุทธิหนึ่งคนทุก 12 วินาที
10 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เรียงลำดับดังนี้ (1) จีน 1,349 ล้านคน (2) อินเดีย 1,220 (3) สหรัฐอเมริกา 317 (4) อินโดนีเซีย 251 (5) บราซิล 201 (6) ปากีสถาน 193 (7) ไนจีเรีย 175 (8) บังคลาเทศ 164 (9) รัสเซีย 143 (10) ญี่ปุ่น 127 ล้านคน
มนุษย์เกิดมาช้ากว่าสัตว์อื่น ๆ ในโลกมาก ถ้าเอาประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาย่อให้4,000 ล้านปีเป็น 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง มนุษย์ปรากฏตัวครั้งแรกเวลา 15.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม
ถึงมาล่าช้ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่ความฉลาดอันเลิศล้ำของมนุษย์ (สัตว์ที่ฉลาด รองลงไปจากมนุษย์นั้นไม่อาจเปรียบเทียบได้เลยกับหมายเลขหนึ่ง) สามารถเอาสิ่งแวดล้อมมารับใช้ตนเอง ซึ่งต่างจากสัตว์อื่นโดยทั่วไป จึงมีโอกาสทำร้ายและทำลายโลกได้อย่างฉกาจฉกรรจ์
ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมของสมาชิกผู้ที่ฉลาดที่สุดและ “มั่งคั่ง” ที่สุดทุกคนที่จะต้องสอดส่องดูแลและรับผิดชอบโลกใบนี้ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องบินที่ล่องลอยอยู่ในท้องฟ้าให้บินอยู่ได้อย่างดีนานที่สุดเท่าที่จะนานได้
สิ่งที่น่ารู้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับประชากรโลกก็คือ ใน 7 พันล้านคนของมนุษย์นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นขอย่อจำนวนคนทั้งโลกให้เปรียบเสมือนมีอยู่ 100 คน “คิ้วคางตาจมูก” ก็เป็นดังต่อไปนี้
ใน 100 คน มีจำนวนหญิงและชายเท่ากัน (50-50 แต่เพศที่สามมิได้มีการสำรวจ) มีเด็ก 26 ผู้ใหญ่ 74 (อายุ 65 ปีและเกินกว่า 8 คน)
ในจำนวนทั้งหมดนี้มีคนเอเชีย 60 คน อาฟริกา 15 ทวีปอเมริกา 14 ยุโรป 11 สำหรับการนับถือศาสนานั้นมีคริสเตียน 33 คน มุสลิม 22 ฮินดู 14 พุทธ 7 ศาสนาอื่น ๆ 12 และอีก 12 ไม่เข้าร่วมศาสนาใด
ในเรื่องการสื่อสาร ภาษาแม่ของ 100 คนนี้คือภาษาจีน 12 คน อังกฤษและสเปน อย่างละ 5 ภาษาอาหรับ ฮินดู เบงกาลี ปอตุเกส อย่างละ 3 รัสเซียและญี่ปุ่น อย่างละ 2 และที่เหลือ 62 คน พูดภาษาอื่น ๆ
ข้อสังเกตก็คือถึงแม้มีคนใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่เพียง 5 คน แต่ก็มีคนอื่น ๆ ใช้อีกเป็นจำนวนมากและกลายเป็นภาษาสำคัญของโลก และมีศักยภาพและพลวัตรสูงมากในการเป็นภาษากลางในทุกพื้นที่ของโลก
การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคุณภาพชีวิตของชาวโลก สถิติบอกว่ามีคนอ่านออกเขียนได้ 83 คน ในจำนวน 17 คนนี้ที่อ่านและเขียนไม่ได้เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สถิติที่น่าสนใจอันหนึ่งก็คือจำนวนผู้ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ในปี 2006 มีเพียง 1 คน แต่ในปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 7 คน ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในระดับนี้ในทวีปเอเชีย
สถิติอีกตัวหนึ่งที่ทำให้สังคมโลกเปลี่ยนแปลงก็คือมีผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองมากกว่าอยู่ในเขตชนบท กล่าวคือ 51 และ 49 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้เทคโนโลยี โดยมีอยู่ 75 คน ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ 30 คน ใช้อินเตอร์เน็ต 22 คน เข้าถึงการใช้คอมพิวเตอร์ และ 78 คน มีไฟฟ้าใช้
อย่างไรก็ดียังมีผู้คนเป็นจำนวนมากในโลกที่อยู่ในสภาพยากจน กล่าวคือ 15 คน ได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ 1 คนจะตายจากการอดอาหาร 21 คนมีน้ำหนักเกินพอดี 48 คน มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 เหรียญสหรัฐ (เส้นแบ่งความยากจนของสหประชาชาติ) และเด็กครึ่งหนึ่งในโลกหรือ 13 คนจาก 26 คน อยู่ในสภาพที่ยากจน
ใครที่มีการศึกษาระดับปริญญา มีรายได้เกินกว่าวันละ 2 เหรียญสหรัฐ มีโทรศัพท์มือถือ มีคอมพิวเตอร์ ใช้อินเตอร์เน็ต ลูกไม่อยู่ในสภาพยากไร้ มีอาหารกินทุกมื้อ ชีวิตมีความหวัง ควรสำนึกในความโชคดีเพราะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าหลายพันล้านคนในโลก
ที่น่าเสียดายก็คือคนจำนวนมากไม่เห็นความจริงข้อนี้ของตัวเขา เพราะตาถูกบดบังด้วยความไม่รู้จักพอ จึงรู้สึกอยู่ร่ำไปว่าชีวิตของเขายังมีไม่เพียงพอตามที่ใจปรารถนา