เงินเฟ้อรุนแรงนั้นร้ายสุด

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 ตุลาคม 2556

          ต่อให้ขุดหลุมลึกหนึ่งกิโลเมตรเพื่อฝังเซฟที่ใส่เงิน 5 ล้านบาทหนีสภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่ตามมาเขมือบก็ไม่มีวันรอดไปได้และไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ด้วย เงินเฟ้อทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ทำให้คนบอบช้ำได้ทั้งนั้น

          เมื่อตอนฝังเงินนั้นเงิน 5 ล้านบาทซื้อบ้านงาม ๆ ได้หนึ่งหลัง แต่หลังจากราคาสินค้าโดยทั่วไปมีระดับสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อขุดเงินนั้นขึ้นมาก็อาจพอซื้อรถยนตร์ญี่ปุ่นมือสองได้สักคันก็เป็นได้

          นี่คืออิทธิฤทธิ์ของเงินเฟ้อรุนแรงที่ร้ายกว่ายุง ร้ายกว่าเสือ ร้ายกว่าไฟไหม้บ้าน และร้ายกว่าโจรปล้นด้วย เพราะทุกคนถูกกระทบถึงแม้ในระดับที่ไม่เท่ากันก็ตาม

          เพียงแต่ราคาสินค้าแพงขึ้น 20% ในเวลาหนึ่งปี คนฐานะปานกลางและยากจนก็แย่แล้ว เพราะเงินจำนวนเท่าเก่าจะซื้อของซึ่งมีราคาแพงขึ้นได้ปริมาณน้อยลง

          อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วเรามีความพอใจจากสินค้าที่เงินซื้อหามาให้ เราไม่ได้พอใจกับตัวเงิน ยิ่งของมีราคาสูงขึ้นเราก็ยิ่งมีอำนาจซื้อน้อยลงเพราะเราจะยิ่งได้ปริมาณของน้อยลงจากเงินจำนวนนั้น

          ถ้าจะขยายขอบเขตการคิดออกไปอีกในแนวนี้ก็จะพบว่าเงินเป็นเพียงพาหะหรือตัวกลางที่นำไปสู่ความสุข ไม่ใช่ตัวความสุขเอง และบ่อยครั้งเงินก็ไม่สามารถนำมาซึ่งความสุขด้วยซ้ำ

          ถ้าเงินนำมาซึ่งความสุขเสมอ เราคงไม่เห็นมหาเศรษฐีที่รุ่มร้อนหาความสุขไม่ได้ เสาร์อาทิตย์ต้องไปไหว้พระ 9 วัด 10 วัด และพอใจกับ “รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก” เป็นแน่

          ถ้าเห็นเงินสกุลใดที่เวลาซื้อของตามปกติแล้วต้องจ่ายเงินกันเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนหน่วยแล้วละก็ บอกได้เลยว่าประเทศนั้นได้ผ่านสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง (hyperinflation) มาแล้วในอดีต เช่น เงินเยน เงินลีร์ของอิตาลี เงินโด่งของเวียดนาม เงินรูเปียของอินโดนีเซีย เงินเรียลของกัมพูชา เงินกีบของลาว เงินจั๊ตของพม่า ฯลฯ คำจำกัดความง่าย ๆ ของ hyperinflation ก็คือราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% ในเวลาหนึ่งเดือน

          บางประเทศก็มีประสบการณ์เงินเฟ้อรุนแรงมากเช่นเดียวกัน แต่ได้ปรับเปลี่ยนเงินสกุลของตนให้ดูไม่รุงรังจนเวลาซื้อของในชีวิตประจำวันไม่ต้องจ่ายเงินกันเป็นจำนวนสูงจนน่าตกใจ (ถ้าได้กินข้าว 1 มื้อในเวียดนามจะรู้สึกภูมิใจมากที่มีปัญญาจ่ายเป็นล้านคือล้านโด่ง)

          สาเหตุของ hyperinflation มักมาจากสงคราม หรือไม่ก็สถานการณ์หลังความวุ่นวายทางสังคม เช่น สงครามกลางเมือง วิกฤตที่ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีไม่ได้ วิกฤตธรรมชาติรุนแรง ฯลฯ

          ในประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ จีนในศตวรรษที่ 11 ภายใต้ราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty) มีการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ และเมื่อรัฐบาลพิมพ์ออกมามากเพื่อใช้จ่ายอย่างสนุกมือโดยเฉพาะในการทำสงคราม พลังซื้อที่เกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในขณะที่ปริมาณสินค้าไม่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นมากทันที และถ้ารัฐบาลไม่หยุดการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มก็เสมือนกับเอาน้ำมันราดลงไปในไฟ

          เมื่อราคาเพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ก็สร้างวงจรอุบาทว์ กล่าวคือเมื่อรัฐบาลเพิ่มปริมาณธนบัตรจนทำให้ข้าวของมีราคาสูงขึ้นก็จำเป็นต้องเพิ่มธนบัตรมากขึ้นอีกเพื่อเอามาซื้อของที่ราคาสูงขึ้น คราวนี้ทั้งปริมาณธนบัตรที่เพิ่มขึ้นและราคาที่เพิ่มขึ้นก็ไล่จับกัน ในสภาวการณ์เช่นนี้ประชาชนจะไม่อยากถือธนบัตรไว้เพราะอำนาจซื้อจะลดลง ประชาชนจะยิ่งรีบใช้จ่ายออกไปทันทีที่ได้ธนบัตรมา ผลที่ตามมาก็คือทำให้ราคายิ่งสูงขึ้นไปอีก

          หลายประเทศมากมายในอดีตประสบกับ hyperinflation ตัวอย่างเช่น (1) เยอรมันนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1923 hyperinflation รุนแรงจนต้องพิมพ์ธนบัตรใบละ 2 ล้าน ๆ มาร์คมาใช้เป็นเรื่องปกติ (แสตมป์มีราคา 50 ล้านมาร์ค) ธนบัตรใบที่มีมูลค่าสูงสุดคือ 100 ล้าน ๆ มาร์ค (เลขหนึ่งตามด้วยศูนย์ 14 ตัว) เนื่องจากราคาสูงขึ้นเป็นหมื่นเท่า ๆ ในเวลาไม่กี่ปี

          (2) ตุรกีเงินเฟ้อรุนแรงมากก่อนปี 2005 จนต้องปรับหน่วยเงินใหม่ให้สะดวกในการใช้ (ก่อนที่จะงงจนเสียชีวิตเพราะเลขศูนย์) โดยปรับให้ 1 lira ใหม่ = 1 ล้าน lira เก่า ดังนั้น 10 ล้าน lira เก่าจึงเท่ากับ 10 lira ใหม่

          (3) ซิมบับเวหรือชื่อเก่าว่าโรดีเชีย ในปี 2004 มีอัตราเงินเฟ้อ 624% ปี 2006 อัตราเงินเฟ้อ 1,730% และ 11,000% ในปี 2007 เหตุการณ์เลวร้ายจนในปี 2008 อัตราเงินเฟ้อ 11.25 ล้านเปอร์เซ็นต์ (ราคาเพิ่มหนึ่งเท่าตัวทุก ๆ 17.3 วัน) hyperinflation หยุดลงได้ในปี 2009 เมื่อรัฐบาลประกาศเลิกใช้เงินสกุลเดิมและให้ใช้เงินอเมริกันดอลล่าร์แทน และเมื่อรัฐบาลพิมพ์ดอลล่าร์เองไม่ได้ พลังซื้อขนาดใหญ่จึงหายไปทันที

          ในยาม hyperinflation นั้น ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องยอมเอาบ้าน ที่ดิน และทรัพย์สมบัติมาแลกกับอาหารและสินค้าเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด การดำเนินชีวิตของผู้คนทุกระดับระส่ำระสายต้องดิ้นรนให้มีชีวิตอยู่รอดท่ามกลางราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลา

          ขออย่าให้บ้านเราพานพบสภาวะน่าหวาดกลัวเช่นนี้เลย ขอให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินตามฐานะที่เก็บภาษีมาได้ ไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัวและอาจบังเอิญถูกซ้ำเติมด้วยปัจจัยสังคมทั้งในและนอกที่ควบคุมไม่ได้จนตกอยู่ในฐานะที่ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นทางออกในการใช้จ่าย

          ความรอบคอบระมัดระวังเป็นคุณลักษณะสำคัญของบรรพบุรุษเรา และเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้เราอยู่รอดและอยู่ดีกันมาจนทุกวันนี้