นักต่อสู้เพื่อความสว่างแห่งปัญญา

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 ตุลาคม 2556

          ขณะที่ชายใส่แว่นตาท่าทางใจดีไม่มีพิษมีภัยกำลังเดินข้ามถนนในเมืองปูเน่ รัฐมหารัชตะในอินเดียก็ถูกมือปืนสาดกระสุน 4 นัดใส่อย่างจังจนล้มดับวูบไปพร้อมกับความหวังที่คนยากจนจะหลุดพ้นจากการถูกต้มตุ๋นเพราะความเชื่อถือในโชคลางอย่างงมงาย

          Narendra Dabholkar คือชื่อของชายวัย 67 ปี ซึ่งสิ้นชีวิตไปเมื่อเดือนก่อน ถึงแม้เขาจะเกิดในวรรณะพราหมณ์ พ่อแม่มีฐานะมั่นคง ได้รับการศึกษาในโรงเรียนชั้นดีของประเทศ เรียนจบเป็นแพทย์ แต่ก็ไม่มีความชื่นชอบในการแบ่งวรรณะของฮินดูที่ทำให้คนในวรรณะต่ำสุดคือจัณฑาลหรือ dalits ถูกกดขี่ ต้องตกระกำลำบากอย่างที่สุดมานับเป็นพัน ๆ ปี 

          คุณหมอนเรณทราทำงานในฐานะแพทย์เป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่จะมาทำงานสังคมเพื่อความเป็นธรรมในสังคมเนื่องจากมีแรงบันดาลใจที่จะช่วยคนยากไร้และมืดมนในความคิด ในปี 1989 คุณหมอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชื่อ MANS แปลเป็นอังกฤษว่า Committee for Eradication of Superstition in Maharashtra (คณะกรรมการเพื่อขจัดความเชื่อถือโชคลางในรัฐมหารัชตะ)

          อินเดียนั้นเป็นประเทศที่ผู้คนยังเชื่อถือโชคลาง สิ่งที่อยู่เหนือวิทยาศาสตร์อย่างงมงายจนคนจนถูกหลอกลวงมากมายโดยโจรที่มาในร่างของผู้ทรงศีลในสารพัดรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นความงมงายเช่นนี้คุณหมอเห็นว่าทำให้อินเดียพัฒนาประเทศไปได้ยากตราบที่คนไม่ใช้เหตุใช้ผลในการตัดสินใจ

          ความเชื่อถือโชคลางในอินเดียมีตัวอย่างเช่น (ก) เวลาบริจาคเงินจะไม่เป็นเลขลงตัว เช่น 100 รูปี แต่จะเป็น 101 รูปี โดยเชื่อว่า 1 รูปีที่เกินมานี้จะนำซึ่งความโชคดี (ข) ตัดเล็บตัดผมโกนหนวด หรือเย็บผ้าหลังตะวันตกดินจะนำความโชคร้ายมาให้ เช่นเดียวกับการกวาดบ้านเวลากลางคืน (ค) แม่หม้ายถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นกาลกิณี (ง) ห้ามกระทำพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าแต่งงานหรืออื่นใดที่เป็นมงคลในวันเสาร์ (จ) อาบน้ำในแม่น้ำคงคาจะเป็นหนทางสู่สวรรค์ ฯลฯ

          การเชื่อถือโชคลางข้างต้นนี้อาจดูน่ารัก ไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่มันสื่อความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของการคิด การไม่มีเหตุมีผล การขาดการวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งเป็นอาการของสังคมที่พัฒนาได้ลำบาก เป็นประตูสู่การหลอกลวงและสูญเสียทรัพยากรอย่างไม่สมควรอีกมากมาย

          วิธีง่าย ๆ ของการหาเงินก็คือ “ผู้วิเศษ” สามารถแก้ไขล้มล้างความโชคไม่ดี กำจัดมนต์ดำที่คนอื่นทำกับเรา หรือทำมนต์ดำกับคนอื่น ทำพิธีให้คำอธิษฐานประสบผลสำเร็จ แก้กรรม (แก้เวร) ดูอนาคต ดูอดีต ฯลฯ คนขี้โกงนั้นมักมีความคิดสร้างสรรค์และมีนวตกรรมสูงกว่าเหยื่ออยู่ หลายขุม ดังนั้นจึงมีคนถูกต้มตุ๋นเพราะความเขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่เสมอ

          มีผู้เคยวิเคราะห์ว่าการกำหนดให้กลุ่มคนในวรรณะจัณฑาลเป็นวรรณะต่ำสุดจนไม่สามารถข้องแวะกับคนวรรณะอื่นได้ ไม่ว่าจะใช้บ่อน้ำ เข้าห้องน้ำ กินอาหารโต๊ะเดียวกัน กินช้อนคันเดียวกัน นั่งติดกัน ฯลฯ ก็เพราะในอดีตบรรพบุรุษของเขาเป็นผู้ใช้แรงงานแบกหามสิ่งสกปรก เช่น ตักถังอุจจาระ ล้างสิ่งปฏิกูล เก็บขยะ สัปเหร่อ ลูกจ้างโรงฆ่าสัตว์ ฯลฯ ซึ่งทำให้ตนเองเป็นพาหะของโรคติดต่อ

          วัฒนธรรมฮินดูจึงกีดกันคนเหล่านี้ออกไปเป็นวรรณะพิเศษที่ต่ำสุด เมื่อนาน ๆ เข้าก็เลยกลายเป็นกลุ่มคนที่สังคมรังเกียจเดียดฉันท์และชิงชังอย่างมาก และมีการสืบทอดความรู้สึกเช่นนี้มาเป็นเวลานับพัน ๆ ปีจนเกิดความเคยชินในสังคมอินเดีย 

          จัณฑาลต้องรู้จักอยู่ในที่ของตัวเอง จะไปเดินเพ่นพ่านตามถนนผ่านบ้านที่มีงานมงคลหรือบริเวณพิธีเปิดร้านขายของริมถนนไม่ได้ เพราะอาจเจ็บตัวเนื่องจากเขาถือว่าเป็นตัวซวย ร้านอาหาร ที่พัก ร้านค้า โรงเรียน ก็ต้องเป็นสิ่งที่พวกเดียวกันใช้บริการและอยู่ในบริเวณที่พวกเดียวกันอาศัยอยู่ แม้แต่คูหาเลือกตั้งก็เคยมีข้อเสนอให้แยกออกต่างหาก ไม่จำเป็นต้องบอกว่าโอกาสในการได้รับการศึกษาของจัณฑาลเป็นอย่างไร จนเป็นกลุ่มที่ถูกต้มตุ๋นง่ายที่สุดและไม่มีปากมีเสียง

          ที่ผ่านมามีจัณฑาลเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอินเดียเท่านั้นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รักของคนอินเดียถัดจากมหาตมะ คานธี คือ Dr.Ambedkar บิดาของรัฐธรรมนูญอินเดียในยุคอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Dr.Ambedkar หลุดพ้นจากชะตากรรมของจัณฑาลไปก็เพราะตอนเป็นเด็กได้รับการอุปถัมภ์ให้เรียนหนังสือ จนเรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเปีย และเป็นนักการศึกษา นักการศาสนา นักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ที่มีชื่อเสียงของสังคมอินเดีย

          Dr.Ambedkar ไม่เคยลืมกำพืดตัวเอง ประกาศว่าตนเองเป็นจัณฑาล และขอเลิกการเป็นฮินดู ประกาศจะนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเพราะไม่มีการถือชั้นวรรณะ ทุกคนเท่าเทียมกัน และในการชุมนุมประกาศเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธในปี ค.ศ. 1956 นั้นมีจัณฑาลกว่า 500,000 คน มาร่วมพิธี 

          คุณหมอนเรนทรา เจริญรอยตามความคิดของมหาตมะ คานธี คือต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง และสานต่องานที่ Dr.Ambedkar ได้ทำไว้โดยต่อยอดไปในเรื่องการกำจัดความเชื่อถือโชคลาง

          คุณหมอเปิดโปงการเล่นกลว่าเป็น “ผู้วิเศษ” หลอกเงินชาวบ้าน จนคุณหมอมีศัตรูอยู่มาก เหล่าฮินดูหัวโบราณกล่าวหาว่าคุณหมอกำลังทำลายวัฒนธรรมฮินดูที่เชื่อถือเทพเจ้าหลายองค์ คุณหมอบอกว่าท่านไม่ได้ต่อต้านการนับถือเทพเจ้า แต่ต่อต้านการเอาเทพเจ้ามาเป็นเครื่องมือหลอกลวง 

          คุณหมอพยายามมาหลายปีในการผลักดันกฎหมายของรัฐลงโทษผู้ใช้ความเชื่อถือโชคลางเป็นเครื่องมือหลอกลวงประชาชน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีผู้เสียประโยชน์ขัดขวาง ล่าสุดการตายของคุณหมอทำให้นักการเมืองถูกแรงกดดันและดูเหมือนว่าร่างกฎหมายจะใกล้ความจริงมากขึ้น

          รัฐมหารัชตะอยู่ทางตะวันตกโดยมีเมืองมุมไบ (หรือชื่อเก่าบอมเบย์) เป็นเมืองหลวง มีประชากร 110 ล้านคน เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง (มีพื้นที่ 3 ใน 5 ของไทย) และเป็นรัฐรวยที่สุดในอินเดีย คุณหมอหวังว่าหาก MANS ต่อสู้ได้สำเร็จก็อาจมีผลแพร่กระจายไปยังรัฐที่เหลือของอินเดียได้

          การทำพิธีต่าง ๆ ที่หรูหราฟุ่มเฟือยเสียเงินเสียทองตามประเพณีหรือตามแนวความเป็นมงคลดังที่ “ผู้วิเศษ” บอกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณหมอต่อต้าน ลูกของคุณหมอ 2 คน แต่งงานด้วยพิธีง่าย ๆ ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นแทนที่จะทำกันเป็นวัน ๆ การเสียประโยชน์ของ “ผู้วิเศษ” และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทำให้คุณหมอต้องต่อสู้อย่างหนักตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา
 

          บ้านเรายังไม่มีนักต่อสู้เพื่อสังคมในการกำจัดความงมงายในการเชื่อถือโชคลาง การสูญเสียคุณหมอน่าจะกระตุกให้ทั้งโลกนึกถึงสิ่งที่คุณหมอนเรนทราเชื่อว่าเป็นการสูญเสียที่ใหญ่ยิ่งของมนุษยชาติ นั่นก็คือความสว่างแห่งปัญญา