สัตว์ก็มีหัวใจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
4 มีนาคม 2557

          ภาพเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เจ้าหน้าที่กำลังชำแหละร่างยีราฟหนุ่มต่อหน้าเด็ก ๆ ในสวนสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่สิงห์โต เสือ และสัตว์กินเนื้ออื่น ๆ สร้างความสะเทือนใจแก่สาธารณชน ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำต่อหน้าเด็ก ๆ ให้รู้สึกหวาดเสียว เหตุผลที่พ่อแม่พาเด็กไปสวนสัตว์ก็เพื่อให้เห็นชีวิตสัตว์ เห็นความน่ารักงดงาม เกิดความรักต่อมวลสิ่งมีชีวิตมากกว่าที่จะพาไปดูภาพอันน่าสมเพชนั้น

          เบื้องหลังภาพนี้มีเรื่องที่น่าสลดกว่าและมีประเด็นที่น่าคิดอีกหลายเรื่อง Marius คือชื่อของยีราฟเพศผู้ วัย 18 เดือน ถูกสังหารโดยปืนไฟฟ้าตามคำสั่งของ Dr.Bengt Holst ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของสวนสัตว์ Copenhagen ผู้ซึ่งบัดนี้กำลังโดนกระหน่ำหนักจากเสียงมหาชนทั่วโลก

          ก่อนหน้านี้มีความพยายามจากผู้คนในหลายประเทศที่จะหยุดยั้งการฆ่ายีราฟตัวนี้ดังที่เรียกกันว่า “การุณยฆาต” (euthanasia) กล่าวคือ Marius เป็นตัวผู้ตัวเดียวในยีราฟ 8 ตัวที่มีอยู่ในสวนสัตว์แห่งนี้ มันเกิดจากการผสมสายพันธุ์ที่ชิดกันมากจนไม่สามารถเอามาเป็นพ่อพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรให้ยีราฟหนุ่มที่มีสุขภาพดีตัวนี้อยู่ต่อไปเพราะเปลืองอาหารเปล่า ๆ และไร้ประโยชน์

          นี่คือความรู้สึกที่ได้จากคำชี้แจงของนักวิทยาศาสตร์ไร้หัวใจคนนี้ เขาบอกว่า Marius ไม่สามารถส่งผ่านยีนส์ที่ดีต่อลงไปได้เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งพันธุ์ที่ดีของยีราฟในระยะยาว ดังนั้นจึงมีหนทางเดียวสำหรับมัน

          เมื่อได้ข่าวจะฆ่าแกง Marius สวนสัตว์ Yorkshire ของอังกฤษ และสวนสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ก็ติดต่อรับเอาไปเลี้ยงโดยจะออกค่าขนส่งเองด้วย แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจนกระทั่งมีข่าวการชำแหละต่อหน้าสาธารณชน และเป็นข่าวไปทั่วโลก

          Dr.Holst บอกว่าเขาไม่ต้องการให้มีการสืบสายพันธุ์ที่ไม่ดีของยีราฟ ดังนั้นมันจึงไม่ควรไปอยู่ที่ไหนทั้งนั้น (ยกเว้นส่งไปโลกอื่น) แถมสวนสัตว์ของเขายังได้เนื้อสัตว์มาอีกนับร้อยกิโลอีกด้วยโดยไม่ทิ้งให้สูญเปล่า

          พฤติกรรมโรคจิตของ Dr.Holst เตือนใจให้นึกถึงเรื่องของนักเพาะพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะสุนัขที่ฆ่าลูกหมาไม่รู้ปีละกี่สิบกี่ร้อยตัวหากพบว่ามันมีสุขภาพไม่ดีอันเป็นผลจากพันธุ์กรรม คนเหล่านี้มีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายของงานด้วยจิตใจที่ด้อยความเมตตา (ปัจจุบันเราพบมนุษย์พันธุ์นี้มากขึ้น) และก็สามารถได้สัตว์ที่มียีนส์บกพร่องน้อยให้มนุษย์ชื่นชม

          ‘ฆาตกร’ ที่มีชื่อ Holst ตอบคำถามเกี่ยวกับทางเลือกอื่นของ Marius ว่าการตอนทำให้สัตว์เจ็บปวดทรมานสู้การุณยฆาตไม่ได้ (ก็เห็นหมาแมวจำนวนมากก็สบายดีในบ้านเรา) การปล่อยสู่ธรรมชาติจะทำให้มันอยู่รอดชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากมันเกิดในกรงไม่รู้จักหาอาหารเอง รังแต่จะเป็นอาหารของสัตว์อื่น (แล้วมันไม่เป็นอาหารสัตว์อื่นหรือเมื่ออยู่กับ ‘ฆาตกร’ Holst)

          การฆ่าสัตว์ในสวนสัตว์เพื่อควบคุมจำนวนนั้นโดยแท้จริงกระทำกันอยู่ทุกวัน แต่เขาทำกันเท่าที่จำเป็นหากไม่สามารถแลกสัตว์กับสวนสัตว์อื่นได้ และทำกันเงียบ ๆ โดยไม่เป็นข่าวครึกโครมโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เอามาชำแหละให้เด็กดูอย่างแน่นอน ยกเว้นกรณีผิดปกติเช่นที่สวนสัตว์แห่งนี้ซึ่งดูจะมุ่งฆ่าลูกเดียว ซึ่งอาจเป็นเรื่องของการเอาชนะคะคานกัน การชำแหละให้ดูก็คือการประกาศชัยชนะ

          เรื่องอื้อฉาวนี้ทำให้เกิดแง่คิดว่าสัตว์มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอย่างเป็นสุขเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่? ชะตากรรมของสัตว์ขึ้นอยู่กับความปรารถนาของเจ้าของหรือผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหรืออย่างไร? สัตว์มีสิทธิหลังการตายเช่นเดียวกับมนุษย์หรือไม่? (ไม่ละเมิดสิทธิผู้ตายด้วยการเอาภาพศพมาประจาน) การเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อสร้างสายพันธุ์ที่ ‘สมบูรณ์แบบ’ ด้วยการฆ่าสัตว์ที่มียีนส์บกพร่องนั้น ถูกต้องหรือไม่?

          ‘ฆาตกร’ Holst ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์ สำหรับเขาสัตว์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่จะจัดให้มันมีรูปแบบดังที่ต้องการใดก็ได้ ชีวิตสัตว์เป็น means หรือพาหะที่ไม่สำคัญเท่ากับ ends คือเป้าหมายแห่งความสมบูรณ์แบบของพันธุ์สัตว์

          นักวิทยาศาสตร์ไร้วิญญาณคนนี้ลืมคิดไปว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (หากสามารถให้คำจำกัดความได้) เสมอไป ทุกชีวิตมีคุณค่าในตัวของมันเอง และมันอาจมิได้ต้องการเป็นสัตว์ที่สมบูรณ์แบบ มนุษย์ต่างหากที่ต้องการความสมบูรณ์แบบของสัตว์เพื่อนำมันมารับใช้

          Denmark เสียชื่อมากว่าไร้ความปราณีต่อสัตว์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ไร้หัวใจเพียงคนเดียวสามารถทำลายชื่อเสียงประเทศได้ขนาดนี้