ปวดหัวกับศิลปะวัตถุปลอม

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 พฤษภาคม 2557

          การปลอมงานศิลปะไม่ว่าภาพเขียนหรือศิลปะวัตถุนั้นฟังดูเผิน ๆ เป็นเรื่องง่าย ๆ ของอาชญากรรมธรรมดา ๆ แต่ถ้าเจาะลึกลงไปแล้วมันสลับซับซ้อนกว่านั้นมาก

          ในสมัยโรมันเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว การปลอมรูปปั้นหรือศิลปะวัตถุไม่มีเพราะคนโรมันไม่เข้าใจว่าการปลอมคืออะไร รูปปั้นเทพเจ้าที่งดงามก็ปั้นกันมาโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ผู้ปั้น รูปปั้นใดเห็นสวยก็ลอกเลียนกันเรื่อย ๆ มา ศิลปะวัตถุเช่นถ้วยเหล้า รูปปั้น เชิงเทียน มีด ฯลฯ ใช้ในพิธีทางศาสนา ในชีวิตประจำวัน และเพื่อความสวยงาม

          เมื่อถึงยุค Renaissance ระหว่างศตวรรษที่ 14-17 ความมั่นคั่งร่ำรวยเกิดขึ้นเกือบ ทั่วยุโรป เศรษฐีก็เกิดอารมณ์อยากได้งานศิลปะที่งดงาม จึงเกิดการค้าขายงานศิลปะเหล่านี้ขึ้น ชื่อเสียงของศิลปินที่สร้างผลงานงดงามก็เป็นที่รู้จัก มีผลงานออกมาให้ซื้อขายกัน และนับแต่นั้นมาคำว่า ‘ปลอม’ จึงเกิดขึ้น

          Michelangelo ศิลปินโด่งดังของโลกผู้สร้างรูปปั้นเดวิดเมื่อ 510 ปีก่อนก็มีเรื่องถูกนินทาว่าบ่อยครั้งที่เขาวาดเลียนแบบภาพจริงที่มีชื่อเสียงซึ่งคนให้เขามาซ่อมแซม และเอาภาพปลอมไปใส่ภาพจริง เมื่อซ่อมแซมของจริงเสร็จก็แอบเอาไปขาย (เรื่องนี้ห้ามเอาไปถามไกด์แถวโรมเป็นอันขาดเพราะที่นั่นเขาเป็นเสมือนเทพเจ้า ต่างจาก Da Vinci ที่ดังแถบเมืองฟลอเรนซ์)

          แค่เรื่องนี้ก็ปวดหัวแล้วว่าใครเป็นเจ้าของผลงานชิ้นไหนกันแน่ Michelangelo ไม่เคยลงชื่อของเขาบนผลงานศิลปะ (ยกเว้นครั้งเดียวของประติมากรรมสลักหินอ่อนที่มีชื่อว่า Pietà ซึ่งมีชื่อเขาสลักอยู่บนสายพาดบ่า) แค่งานวาดภาพของ Michelangelo ที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีอยู่น้อยชิ้นแต่อีกฝ่ายบอกว่ามีผลงานปลอมภาพคนอื่นอีกจำนวนหนึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ปวดหัวแล้ว

          ภาพวาดปลอมนั้นผู้คนก็ทำกันมานับร้อย ๆ ปีแล้ว ปลอมจนบางภาพกลายเป็นของจริงหากแขวนอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลาย ๆ ร้อยปีเข้า หรือปลอมได้ดีจนภาพปลอมของเขาดัง ผู้คนแสวงหาด้วยราคาแพงดังเรื่องของ Han Van Meegeren ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นนักปลอมรูปภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก

          เขาดังในยุคทศวรรษ 1920 เพราะวาดภาพปลอมได้เหมือนของจริงอย่างมาก จนผู้เชี่ยวชาญถูกหลอกมานักต่อนัก และในที่สุดก็หันมาชื่นชมอัจฉริยภาพของเขา เขาใช้ผ้าใบที่ใช้กันในยุคสมัยเดียวกับภาพจริงและวาดทับลงไป เช่น ภาพเขียนหนึ่งของ Vermeers (ประมาณ ค.ศ. 1665) เขาปลอมจนขายได้ราคาถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (947 ล้านบาท) เขาหลอกต้มมาหมดตั้งแต่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ Herman GÖring ผู้นำนาซี ฯลฯ

          ภาพที่ผู้คนรู้ว่าปลอมของเขาดังจนมีตลาดซื้อขายกันในราคาสูง จนต่อมามีผู้ปลอมภาพเขียนปลอมของเขาอีกที โดยลูกชายของเขาร่วมหากินด้วยการออกใบยืนยันว่าเป็นผลงานของพ่อเปรอะไปหมด พูดง่าย ๆ ก็คือภาพจริงมีหนึ่งภาพ แต่มีภาพปลอม 2 ภาพขึ้นไป โดยภาพหลัง ๆ สุดเป็นความพยายามปลอมภาพปลอมที่สอง (อ่านแล้วอย่างงนะครับ โลกที่ไม่จริงมันยุ่งเหยิงอย่างนี้แหละ)

          ที่สนุกกว่านี้ก็คือ “การปลอม” โดยไม่ปลอมของจริงหากใช้วิธีผลิตเพิ่ม งานนี้เป็น คำสารภาพของนาย Robert Driessen ปฏิมากรชาวดัชผู้กำลังอาศัยอยู่ที่เกาะสมุย ครั้งหนึ่งเขารวยมากเพราะผลิตงานปั้นสไตล์ของปฏิมากรชาวสวิสที่มีชื่อเสียงมากคือ Alberto Giacometti (ชิ้นที่ดังมากมีชื่อว่า Trois Homes Qui Marchenti ประมูลไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ในราคา 13 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 410 ล้านบาท เป็นรูปปั้นสูงประมาณ 1.5 ฟุต เป็นรูปโครงร่างคนในอิริยาบถต่าง ๆ)

          Driessen ศึกษาสไตล์ แนวคิด วิธีปั้นของ Giacometti อย่างทะลุปรุโปร่ง และปั้นขึ้นมาจำนวน 1,300 ชิ้น โดยไม่ลอกเลียนรูปปั้นใดเป็นพิเศษ และประทับชื่อตราโรงหล่อที่ Giacometti ใช้ประจำก่อนที่เขาจะตายไปในปี 1966 ผู้คนซื้อขายงานเหล่านี้กันเป็นว่าเล่นผ่านแก๊งอาชญากรข้ามต่างประเทศที่เกี่ยวพันกับงานศิลปะ ได้เงินกันมาเป็นร้อย ๆ ล้านเหรียญ เหตุที่เขาทำได้ก็เพราะศิลปินคนนี้ทำงานไม่เป็นระบบ ไม่เคยจดบันทึกว่าได้ปั้นอะไรไว้บ้าง Driessen จึงเติมผลงานให้อีก 1,300 ชิ้น (อย่างนี้เรียกว่า “ปลอม” อย่างสร้างสรรค์)

          ปัจจุบันตลาดงานศิลปะร้อนแรงมากในระดับโลกเพราะมีเศรษฐีใหม่คือคนจีนเข้ามาร่วมเป็นผู้ซื้อ ราคาภาพเขียนสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ รูปภาพชื่อ Femme au Costume Turc Dans un Fanteful ของ Pablo Picasso เขียนในปี 1955 มีผู้ประมูลไปในราคา 28 ล้านเหรียญสหรัฐ (884 ล้านบาท)

          มูลค่าซื้อขายศิลปวัตถุทั้งโลกในแต่ละปีมีทั้งบนดินและใต้ดิน ไม่อาจประเมินได้แม่นยำ แต่ FBI คาดว่าในแต่ละปีโลกมีการต้มตุ๋นผลงานศิลปะมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านเหรียญ ของปลอมระบาดไปทั่วหมดจนเชื่อว่าร้อยละ 40 ของงานศิลปะทั่วโลกเป็นของปลอม โดยเฉพาะในตลาดจีนนั้นเชื่อว่ามีของปลอมอยู่ถึงร้อยละ 70

          เมื่อของปลอมระบาดไปทั่ว ผู้เชี่ยวชาญจึงพยายามหาหนทางพิสูจน์ว่าอะไรเป็นของจริงด้วยสายตาและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นเวลานานมาแล้วที่ใช้สายตากล่าวคือ สังเกตแบบแผน สไตล์การสร้าง การใช้อุปกรณ์ ฯลฯ ของเฉพาะตัวศิลปิน ตลอดจนอายุของวัสดุไม่ว่าโลหะ กระเบื้อง กรอบ สี หรือผ้าใบ เมื่อนักปลอมแปลงมีความรู้ทันผู้เชี่ยวชาญ งานจึงยากขึ้นทุกที

          ปัจจุบันใช้เครื่องเอกซเรยภาพเพื่อหาภาพเก่าที่ซ้อนอยู่ ใช้แสงไฟที่เรียกว่า x-ray fluorescence เพื่อพิจารณาผิว เม็ดสี แบบแผนการวาดและการใช้วัสดุ นอกจากนี้ก็ใช้ ultra violet fluorescence และ infrared analysis ตลอดจน carbon dating เพื่อประเมินอายุและค้นหาข้อมูลอื่น ๆ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

          ที่ปวดหัวกว่านี้ก็คือมีจิตกรมีชื่อเสียงหลายคนในอดีตที่ให้คนอื่นเขียนรูปสไตล์ของตนและเซ็นชื่อว่าเป็นงานของตน เมื่อพิสูจน์ก็เห็นว่าลายเซ็นนั้นใช่แน่นอน แต่งานเขียนไม่เหมือนเสียทีเดียว หรือจ้างจิตรกรมีชื่อวาดภาพให้เพื่อเป็นผลงานของคนจ้าง ประเด็นเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญต้องนำมาประเมินประกอบ แต่ก็ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ บ้างก็ตั้งใจประเมินภาพปลอมว่าเป็นภาพจริงเพื่อให้มี ‘ของ’ มาซื้อขายกันในตลาดมาก ๆ จะได้มีผู้ซื้อบริการของตนอยู่ตลอดเวลา

          นักปลอมภาพชาวจีนก็มีอยู่มากที่หมู่บ้าน Dafen ทางเหนือของฮ่องกง ครั้งหนึ่งเคยมีนักปลอมภาพ 5,000-8,000 คน ทำงานกันเต็มมือ จะเอาภาพอะไรของใครไม่ว่าจะเป็น Monet / Picasso / Rembrandts / Warhols ฯลฯ ผลิตได้ทั้งนั้น และเหมือนของจริงมากด้วย ราคาก็แค่ 40 เหรียญแถมกรอบให้ด้วย

          คนจ้างก็คือคนจีน “รวยใหม่” ทั้งหลาย 2-3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจไม่เฟื่องฟูเหมือนเก่าเพราะลูกค้าจำนวนหนึ่งกลายเป็นคนรวยจึงหันไปซื้อภาพจริงกัน ซึ่งถ้าจะว่าไปก็คือการหันไปซื้อภาพจริงที่มีโอกาสถูกหลอกสูงจนเสมือนว่าเป็นการซื้อภาพปลอมในราคาที่แพงกว่าเก่ามาก ๆ

          ศิลปะวัตถุชิ้นเลิศของโลกมีจำนวนจำกัด แต่เมื่อมีคนต้องการจำนวนมากขึ้นเพื่อเอาไป “ซุก” และโชว์ความร่ำรวย ฟอกเงิน ติดสินบน เก็งกำไร ฯลฯ ราคาจึงพุ่งทะยาน และการปลอมแปลงจึงเกิดขึ้นมากเป็นเรื่องธรรมดา