ปฏิวัติเขียวรอบ 2

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27 พฤษภาคม 2557

          ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ขาดแคลนอาหารรุนแรงในเอเชีย (ยกเว้นเกาหลีเหนือ) หายไปโดยสิ้นเชิงทั้งนี้เนื่องมาจากการปฏิวัติเขียว หรือการที่ผลผลิตข้าวและข้าวสาลีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายอันเนื่องมาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดใหม่ ปัจจุบันการปฏิวัติเขียวครั้งที่สองกำลังเริ่มขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวและช่วยเหลือคนยากจนที่หลุดรอดจากการได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติครั้งแรก

          องค์การข้าวระหว่างประเทศ (IRRI-International Rice Research Institute) ซึ่งตั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ครั้งแรก ข้าวพันธุ์ IR8 (ไทยนำมาผสมกับพันธุ์พื้นเมืองและตั้งชื่อว่า กข.1) เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิวัติเขียวซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1964

          ปฏิวัติเขียวครั้งแรกทำให้ได้ข้าวต่อไร่เพิ่มหนึ่งเท่าตัวโดยเฉลี่ย กล่าวคือจากผลผลิต 1.9 ตันต่อเฮกเตอร์ (1 เฮกเตอร์ เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) ระหว่าง 1950-1964 เพิ่มเป็น 3.5 ตันต่อเฮกเตอร์ระหว่างปี 1985-1998 (สำหรับพื้นที่ซึ่งมีระบบการปลูกอย่างดี มีปุ๋ย และน้ำสมบูรณ์ ผลผลิตขึ้นไปสูงถึง 10 ตันต่อเฮกเตอร์) แต่ถึงกระนั้นก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันประชาชนที่บริโภคข้าวก็เพิ่มหนึ่งเท่าตัวเช่นเดียวกัน

          เมื่อข้าวเป็นอาหารหลักของคนเอเชียซึ่งมีประชากรรวมประมาณครึ่งหนึ่งของประชากร 7,500 ล้านคนของโลก การพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้มีผลิตภาพ (productivity) หรือผลผลิตต่อไร่สูงเท่าที่จะเป็นไปได้จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ตัวอย่างของความสำคัญของข้าวในวัฒนธรรมเอเชียเห็นกันดาษดื่น เช่น ศิลาจารึกที่ว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ Toyota หมายความว่า ‘นาที่อุดมไปด้วยข้าว’ Honda หมายถึง ‘แปลงนาข้าว’ ฯลฯ

          เมื่อมองไปข้างหน้าก็จะพบว่าโลกมีภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีทั้งสภาวะ น้ำท่วมและความแห้งแล้งรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำของเอเชียที่เป็นแหล่งผลิตข้าวสำคัญของโลกอันได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำอิรวดี ก็ประสบกับความเค็มของน้ำอันเนื่องมาจากระดับน้ำเค็มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กอบกับข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำสิ้นเปลืองกว่าธัญพืชอื่น ๆ ถึง 2-3 เท่า ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดปัญหาหนักอกเพราะในความเป็นจริงนั้นน้ำกำลังขาดแคลนในทุกแห่งหน

          เมื่อหันไปทบทวนผลจากปฏิวัติเขียวครั้งแรกก็พบว่าถึงแม้จะทำให้โลกหลุดพ้นจากการขาดแคลนอาหาร แต่คนยากจนที่ปลูกข้าวก็ไม่ได้รับผลประโยชน์มากนักเนื่องจากการปลูกข้าวพันธุ์มหัศจรรย์ IR8 ต้องการดินที่มีคุณภาพ ปุ๋ย และน้ำประกอบด้วย

          ในปัจจุบันมีคนยากจน (มีรายได้ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวัน) ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักประมาณ 580 ล้านคน จำนวนนี้ 400 ล้านคนอยู่ในเอเชียใต้ (อินเดีย บังคลาเทศ บางส่วนของพม่า) 100 ล้านคนในเอเชียตะวันออก และ 80 ล้านคนในอเมริกาใต้ และทะเลคาริบเบียน คนเหล่านี้คือผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการปฏิวัติเขียวครั้งแรก

          โดยทั่วไปคนยากจนเหล่านี้อยู่ในบริเวณที่ดินมีคุณภาพต่ำ ขาดเงินทุนในการพัฒนาที่ดิน เช่น สูบน้ำเข้านา ใส่ปุ๋ยในนา ฯลฯ บางประเทศอาจเกี่ยวเนื่องกับการอยู่ในวรรณะที่ต่ำ ถูกรังเกียจเดียดฉันจนต้องทำมาหากินในที่ดินเหล่านี้ และไม่สามารถหลุดจากกับดักนี้ได้กล่าวคือความยากจนทำให้มีที่ดินขาดคุณภาพ ที่ดินคุณภาพต่ำทำให้ยากจน และความยากจนทำให้……. ดังนั้นจึงหลุดรอดไปจากการปฏิวัติเขียวครั้งแรก

          กำลังผลิตข้าวซึ่งดูไม่มั่นคง และประชากรในบริเวณเอเชียใต้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต ทำให้ต้องหาข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ ถ้าพัฒนาพันธุ์ข้าวมหัศจรรย์แบบเดิม คนจนเหล่านี้ก็จะหลุดรอดไปอีกอยู่ดี ดังนั้นแนวคิดใหม่จาก IRRI จึงเกิดขึ้น

          เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรทุก ๆ 1,000 ล้านคนที่เพิ่มขึ้นจะต้องผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 100 ล้านตันเพื่อเป็นอาหารต่อปี ในปัจจุบันประชากรทั้งโลกบริโภคข้าวประมาณปีละ 450 ล้านตัน มีการพยากรณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 500 ล้านคนต่อปีก่อนถึง ค.ศ. 2020 และจะพุ่งขึ้นไปถึง 555 ล้านตันก่อนปี 2035 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.2-1.5 ต่อปี

          แนวคิดใหม่ก็คือจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่มิได้ให้ผลิตภาพสูงในพื้นที่ธรรมดาหากต้องเป็นพันธุ์ที่เติบโตได้ดีในบริเวณน้ำท่วม ฝนแล้งและดินเค็ม เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวแล้ว ยังจะช่วยคนยากจน 580 ล้านคนดังกล่าวด้วย

          เมื่อ 5 ปีก่อน IRR1 ได้เริ่มโครงการปลูกข้าวในพื้นที่น้ำท่วม เนื่องจากได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่สำเร็จจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาจากแถบอินเดียตะวันออกที่ทนกับน้ำท่วมได้ดีมาก แต่ทว่าเมล็ดพันธุ์นี้เป็น GMO หรือเป็นพันธุ์ข้าวที่มาจากการตกแต่ง DNA มิได้มาจากการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาตามธรรมชาติ

          GMO (Genetically Manipulated Organism) ของข้าวเกิดขึ้นได้ก็เพราะ IRRI สามารถทำแผนที่ DNA ข้าวได้สำเร็จเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว DNA ของสิ่งที่มีชีวิตก็เปรียบเสมือนโค๊ดคอมพิวเตอร์ที่สั่งให้ส่วนต่าง ๆ ขององคาพยพทำงาน การทำแผนที่ DNA ก็คือการรู้ว่าโครโมโซม (องค์ประกอบของ DNA) ตัวใดและยีนส์ (องค์ประกอบของโครโมโซม) ตัวใดที่เป็นตัวสั่งให้ส่วนใดขององคาพยพทำงาน เมื่อรู้แล้วก็ตกแต่งตามต้องการ เช่น รู้ตำแหน่งของความคงทนน้ำท่วมของพันธุ์ข้าวที่ว่าก็เอายีนส์ของมันใส่ในข้าวพันธุ์อื่นที่มีเมล็ดดกและมีคุณสมบัติดีอื่น ๆ สุดท้ายก็จะได้หลายลักษณะที่พึงปรารถนาในเมล็ดพันธุ์ใหม่

          ขอย้ำว่ามันเป็นพันธุ์ข้าว GMO ไม่ใช่ธรรมชาติ หลายคนคงรังเกียจ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นผลเสียต่อร่างกาย ไม่ว่าจะถกเถียงเรื่อง GMO กันอย่างไร แต่สำหรับคนยากจนไม่มีข้าวกินแล้ว โอหรือไม่โอไม่สำคัญ ดังนั้นเราจะเห็นข้าวลักษณะนี้มากขึ้น

          IRRI กำลังเตรียมการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ต้านความแล้งและความเค็มออกมาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นน่าจะเพิ่มผลผลิตและช่วยคนยากจนได้มาก โดยมีข้าวให้ชาวโลกบริโภคอย่างเพียงพอ

          อย่านอนใจว่าบ้านเราผลิตข้าวมากจนล้นไปหมดจนต้องดิ้นรนหาทางส่งออก ปัจจุบันภูมิอากาศเปลี่ยนไปทุกปีจนอาจทำให้เราผลิตข้าวได้น้อยกว่าอดีตก็เป็นได้ เราไม่ควรประมาทแต่คำถามสำคัญก็คือสังคมไทยเราจะยอมรับการปลูกและบริโภคข้าว GMO กันมากน้อยเพียงใด